26 พ.ค. 2021 เวลา 09:21 • ปรัชญา
ก่อนทำหนังสือทางทรายใกล้ทะเลสาบ(๑)
.
วิสาขบูชาปีนี้ ขอนำบทสนทนาของดิฉันกับครู-อ.โกวิท เขมานันทะ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๒ มาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน
สวิสเซอร์แลนด์ ๒๕๒๘ (อายุ ๔๗ ปี)
.
ในช่วงนั้นดิฉันกำลังเตรียมทำหนังสือชีวประวัติอาจารย์โกวิท ซึ่งภายหลังอาจารย์ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวท่านเองว่า “ทางทรายใกล้ทะเลสาบ”
.
ก่อนที่จะมีการสัมภาษณ์อ.โกวิทอย่างจริงจังต่อเนื่องเฉพาะเรื่องของชีวประวัติท่าน นับเป็นแรมเดือนที่ดิฉันได้ไปนั่งสนทนากับอาจารย์อยู่บ่อยๆ เพื่อให้เห็นทิศทางที่จะคุยกันให้รู้เรื่องได้เสียก่อน เพราะสำหรับการเขียนหนังสือชีวประวัติเพื่อถ่ายทอดมิติลึกซึ้งของด้านในแห่งชีวิตนั้น ไม่เหมือนการสัมภาษณ์ปกติ หรือเขียนหนังสือชีวประวัติแบบปกติทั่วไป เนื่องจากหากไม่คุ้นเคย ไม่รู้จักทิศทางของวาระจิตกันแล้ว ไม่มีทางที่จะ “ไว้ใจ” และ “วางใจ” ซึ่งกันและกัน มากพอในการบอกเล่าเรื่องลึกในใจ ให้ก่อรูปขึ้นมาเป็นประติมาของชีวิตใครได้
.
บทสนทนากับอ.โกวิท เฉพาะตอนก่อนทำหนังสือชีวประวัติท่าน ดิฉันบันทึกเทปไว้ร่วม ๒๐ ม้วน ถอดเทปไว้ทั้งหมด แต่ข้อมูลหายไปบ้าง พังไปกับการชำรุดของฮาร์ดดิสค์บ้าง แต่ก็ยังมีเหลืออยู่อีกมาก วันไหนสบโอกาสเหมาะดิฉันจะทยอยเรียบเรียงออกมา
.
วันนี้ ดิฉันจึงขอเล่าไว้ในประเด็นที่อาจารย์พูดถึงความแก่ อายุที่ล่วงเลย และระบบการศึกษาโบราณของครูกับศิษย์ในวิถีของGurudom
.
ปีที่คุยกับอ.โกวิท ดิฉันอายุ ๓๓ ปี อ.โกวิท อายุเต็ม ๖๐ ปี พอดี
ถ่ายภาพนี้ที่ริมทะเลสาบสงขลา ๒๕๔๒ (อายุ ๖๐ ปี)
.
จากนี้คือเรื่องของครูเฒ่า คุยกับศิษย์รุ่นหลัง ที่ครั้งนั้นศิษย์คนนี้เพิ่งเริ่มลงทำงานภาคสนามในพื้นที่ของชาวนา ชาวเขา ชาวบ้านไทย กับลุยกระหน่ำไปเขตสงครามฟากชายแดนไทย-เขมร ได้ไม่กี่ปี, เธอยังไม่ได้เข้าไปเป็นนักข่าวสงครามเต็มตัว,เพิ่งเขียนหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คของตัวเองแค่ ๑ เล่ม(บันทายฉมาร์และเดียงพลาโต), ยังไม่เป็นผู้หญิงใจร้าย ที่ถูกพี่ชายนักหนังสือพิมพ์เขี้ยวลากคนหนึ่งด่าเอาว่า อย่าไปทำอย่างนี้กับใครเขาอีกล่ะ เขาจะสะเทือน!
.
และเวลานั้น เธอก็ยังไม่ได้ฝึกฝนวิชาสายพลังจิต ยังไม่แก่ ไม่เป็นอีป้าแก่ๆ เหมือนในปัจจุบัน
.
มองกลับไป การประสีประสากับชีวิตของดิฉันในช่วงนั้น ยังเต็มไปด้วยการบ้าความรู้ อยากรู้มันทุกเรื่อง การได้มาพบครูทางปัญญาและจิตวิญญาณ จึงเสมอด้วยพบขุมทรัพย์เลอค่า ที่ดิฉันโชคดียิ่งกับนิสัยบ้าจด บ้าจำ บ้าบันทึก
.
จึงทำให้เรื่องราวที่เก็บงำไว้จากอาจารย์โกวิท ยังพร้อมมูลเต็มฮาร์ดดิสค์ เต็มสมุดบันทึกมาถึงปัจจุบัน ดังที่จะเล่าให้ฟัง นับจากนี้ ที่คุยกับอาจารย์ไว้เมื่อ ๒๒ ปีก่อน
อ.โกวิท : อาจารย์สวนโมกข์(ท่านพุทธทาส) เคยพูดกับผมเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ไม่เข้าหูผม แต่พออายุมากขึ้นก็ยากจะลืม ปีนั้นผมอายุ ๔๐ ท่านบอก คุณกำลังจะแก่แล้วนะ มีอะไรรีบทำซะ
.
เดี๋ยวนี้ผมอายุ ๖๐ เพิ่งนึกออก-คำเตือนนี้มีค่ามากเลย คือเมื่อเราเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือในอุดมการต่างๆ เราจะไม่รู้วันเวลา ภาษาฝรั่งเรียกว่า burn out มันเผาผลาญไปเรื่อย หมดไปเรื่อยนะ ทุก ๆ ขณะนี่มันคือการหมด เลยทำให้ผมอยากบอกคนหนุ่มสาวว่า... รีบทำนะ เร่งหน่อย เพราะตอนเราหนุ่มสาวเราจะเพลิน มีเรื่องดอกไม้ให้ดมเยอะทีเดียวนะ มีเรื่องเพลิดเพลินสนุกสนาน
.
พริบตาเดียวจริง ๆ เราจะกลายเป็นคนแก่เฒ่า จิตใจเรายินดีหรือไม่-อีกเรื่องหนึ่ง
นิพัทธ์พร : เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกตัวว่าแก่คะอาจารย์ ตอนอายุประมาณเท่าไหร่ ที่อาจารย์บอกได้เลยว่าแก่ ทั้งในอารมณ์ความรู้สึก ผสานกับสังขารที่เปลี่ยนไป
.
อ.โกวิท : ผมรู้สึกมันเหมือนเราขับรถมาในถนนสายใหญ่สายยาวที่ปลอดโปล่ง เราขับเพลิดเพลินไปเรื่อย แต่พอมาถึงชุมชนแออัด การจราจรคับคั่งขึ้น เราจะเริ่มรู้สึกว่า น่าจะไปไม่ทันกำหนดการ ผมเปรียวชีวิตเหมือนกันนะครับ ตอนหนุ่ม ๆ คล้าย ๆ ถนนโล่งมีพลังเหยียบเท่าไรก็ไม่กลัว หรือแม้แต่จะหยุด หรือเกิดอุบัติเหตุก็ยังไม่เกรงขามอะไรทั้งนั้น ด้วยความมั่นใจว่าเราจะไปให้ทัน
สวนโมกข์กรุงเทพ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ (อายุ ๗๕ ปี)
.
แต่แล้วชีวิตก็ไม่ปลอดโปร่งตลอดเวลา ร่างกายสังขารทั้งหมดออกจะเร่งรัด ๆ แล้วสังขารทั้งหมดนี่มันมีวันเสื่อม มีอายุขัย อายุที่ธรรมชาติกำหนด ส่วนตัณหานี่เรากำหนด เรื่องความอยาก ความเร็ว ความอะไรต่างๆ เรื่องของ standard อะไรต่าง ๆ รวมทั้งเป้าหมายด้วย เรากำหนดขึ้น แต่พอเราไม่ประสีประสากับลักษณะหรือกำหนดของสังขารตามครรลองธรรมชาติ พูดภาษาง่าย ๆ ก็คือ ความแก่เฒ่าถูกกำหนดโดยธรรมชาติ เรากำหนดเองไม่ได้ ดังนั้นพอมาถึงจุดหนึ่ง ความอ่อนล้าของร่างกาย ของสมอง สมองเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ความอ่อนล้าเหล่านี้มันจะเริ่มบอกเราว่า งานกินเลี้ยงที่เรามุ่งมาดจะไปให้ถึง กำลังถูกขัดขวาง
.
มันเหมือนกับรถติด มันหนัก แล้วเราจะโกรธใครก็ไม่ได้ คือรถติดยิ่งโกรธนี่ยิ่งกัดกินตัวเอง ขณะนี้ ในวัยนี้ ผมเองรู้สึกมาก ๆ อยากทำงาน อยากเคลื่อนไปข้างหน้า แต่พร้อมกันนั้นสังขารมันบอกว่า เวลาของเธอน่าจะหมดแล้ว
.
ทีนี้มันก็เกิดการปรับ คำถามก็เกิด แล้วงานอะไรล่ะที่เหมาะกับช่วงรถติด งานอะไร ชีวิตแบบไหน
.
รถติดหนัก ๆ คุณจะทำอะไรได้ แล้วควรจะเลิกอะไร อันนี้ผมว่าสำคัญนะ ควรจะเลิกอะไร ควรจะเริ่มอะไร
.
เลิกนี่อย่างหนึ่ง เริ่มนี่อีกอย่างหนึ่ง ก็เพียงเล่าถึงชีวิตซึ่งเป็นช่วง ๆ ชีวิตช่วง ๆ นั้นเราคิดตามได้ แต่มีลักษณะหนึ่งของชีวิตที่พริบตานี่มันแปลกมาก ความรู้สึกของเราที่เป็นอยู่เมื่อตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ เราจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างคงที่
.
จริงอยู่ ในทัศนะของเรา เรารู้ว่ามันเปลี่ยน แต่โดย sense โดยความเป็นอยู่ของเรา เราจะไม่เฉลียวใจ ว่าทุกขณะคือการเปลี่ยนแปลง หัวใจที่เต้นนั้นทุกจังหวะคือการเปลี่ยนแปลง แต่เรากลับรู้สึกว่า นั่นคือความมั่นคง หัวใจยังเต้นอยู่ ฉันยังเป็นฉันอยู่ตลอดเวลา
.
ในโครงสร้างสำนึกอันนี้ เรามาเห็นจุดเปลี่ยน ๓๐ ปีให้หลังเราพบว่ามันเปลี่ยน แต่ที่จริงมันเปลี่ยนตลอดเวลา มันเปลี่ยนแปลงชนิดเราไม่รู้ตัว เลยมีคำเตือนของอาจารย์สวนโมกข์ที่ผมรู้สึกว่า ดังขึ้นทุกปี ... คุณจะทำอะไรก็รีบทำ คุณกำลังจะแก่แล้ว
.
ตอนฟังครั้งแรกผมมีความรู้สึกว่า เอ๊ะมันไม่จริงนี่ ผมยังแข็งแรงอยู่ ผมยังตอกตะปูสามนิ้วเข้าไปในไม้แข็ง ๆ ได้อยู่ ยังไม่รู้สึกอะไร แต่มีครั้งหนึ่งเมื่ออายุ ๔๐ ผมตอกตะปู แต่ผมตอกไม่เข้า ตอนนั้นกำลังทำงานก่อสร้างกันอยู่ เอ๊ะ ยังโมโหตัวเอง ทำไมเป็นแบบนี้
.
เราไม่เฉลียวใจครับว่า ในเซลล์ของเราทุก ๆ เซลล์กำลังเสื่อม ความเจริญเป็นภาวะอำพรางของความเสื่อมนั้น
.
มันเจริญ แต่ว่ามันเจริญเพื่อจะเสื่อม ภาษาบาลีเขาเรียกเจริญวัยครับ วัยก็คือคำว่า"วาย" คำหนึ่งด้วย นั้นแหละ เจริญเพื่อที่จะเสื่อม
.
นิพัทธ์พร : การได้เห็นได้รู้อะไรมาก ๆ หรือเข้าใจอะไรมาก ๆ ในวัยที่อายุเยอะ ๆ อย่างนี้ แล้วก็กำลังจะจากไป ว่าตรงๆก็คือ กับคนทั่วไปเลยนะคะ จะมาเข้าใจตอนแก่ ตอนกำลังจะตาย มันมีประโยชน์อะไรล่ะ ทำไมไม่ไปเข้าใจซะตั้งแต่ตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ มันจะได้ทำอะไรได้มากกว่านี้
.
อ.โกวิท : นี่เป็นเงื่อนทางวัฒนธรรมของมนุษย์ คือประสบการณ์สั่งสมมา แล้วได้มารู้ลึกรู้จริงเมื่อวัยเฒ่า แต่ว่าช้าไปแล้วที่จะทำอะไรทั้งหมดด้วยตัวเอง บทบาทหลักคือการถ่ายทอดสู่อนุชน ตรงนี้เป็นเงื่อนทางวัฒนธรรมที่สำคัญนะครับ ดังนั้นช่องว่างระหว่างอนุชนกับผู้ใหญ่, ระหว่างพ่อกับลูก พูดแคบเข้ามา ถ้ามันเกิดช่องว่างในการสูญเสียทรัพย์สมบัติทางภูมิปัญญาที่คนหนึ่งสั่งสมมาตลอดชีวิต แล้วขาดผู้สืบทอด ปัญญาที่สั่งสมไว้มันจะสูญสลาย
.
นี้เป็นเงื่อนทางวัฒนธรรมเลยนะครับ ไม่ว่างานฝีมือช่าง งานสร้างโบสถ์ หรือขนบประเพณีอันทรงเสน่ห์ หรือสิ่งที่พ่อคร่ำหวอดมา แต่ว่าลูกปฏิเสธ เป็นการสูญเสียอย่างใหญ่ อย่างมโหฬารเลยนะครับ ผมคิดว่า สายสัมพันธ์ระหว่างอนุชนกับคนเฒ่า น่าจะมีไม่เพียงแต่หลักความจริงต่างๆ หากควรจะเป็นทักษะ มโนธรรม อะไรทั้งหลาย มันถ่ายทอดได้ ซึมซาบได้ครับ เหมือนที่ระบบคุรุดอม (Gurudom)โบราณท่านใช้อยู่ คุรุดอมเห็นชัดในระบบช่างครับ ตัวช่างกับลูกศิษย์
.
คุรุดอมคือ ศิษย์จะเป็นเหมือนลูกครู ซักผ้านุ่งให้เมียครู ศิษย์ไปเป็นเด็กรับใช้ครู ครูใช้ให้ทำอะไรก็ทำ เรียกระบบคุรุดอม
.
ผมยุให้อาจารย์คนหนึ่งซึ่งชอบฟ้อนโนรามาก ตั้งอาศรมคุรุดอม เพราะว่าการพึ่งอิงระบบวิทยาลัยครูนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ โลกโบราณคนภาคใต้นี้ ครูโนราเขาเอาเด็กข้างถนนมาเลย มาเลี้ยงเป็นลูก แล้วถ่ายทอดการฟ้อนตั้งแต่เด็ก ๆ สอนกันทุกมิติของชีวิต
.
ระบบคุรุดอมเป็นรากฐาน เป็นรากเหง้าของมธุรสทางวัฒนธรรม คือวัฒนธรรมที่จะมีรสชาติอิ่มเอิบจริง ๆ ต้องผ่านระบบคุรุดอม ความสัตย์ซื่อภักดีต่อครู ซึ่งเราพบในเรื่องขององคุลีมาล นี้เป็นตัวอย่าง แม้จะดูเลวร้ายก็จริง แต่อย่ามองแคบนะครับ ที่จริงพระพุทธเจ้าก็สร้างระบบคุรุดอม ท่านเรียกพระอรหันต์ว่า ปุตตะชิโนรส ลูกท่านเลย พระอรหันต์นี่ท่านเรียกลูกทั้งนั้น มีที่พระปุถุชนติเตียนพระอรหันต์โดยไม่รู้จัก ท่านได้ปกป้องว่า อย่าติเตียนลูกเรา ท่านใช้คำว่า"โอรส"เลยนะครับ ศากยบุตร ใช้คำว่า"ศากยบุตร" บุตรของศากยมุนี
.
ความรู้สึกที่คนรุ่นก่อนแผ่ความเมตตากรุณามานั้น เป็นสื่อของภูมิปัญญา ผมเองโดยส่วนตัวชอบคนแก่ เจอคนแก่เหมือนพบเจดีย์ เจดีย์กำลังจะพังแล้ว กำลังสึกกร่อนลงแล้ว แต่เจดีย์มันไม่มีร่มเงานะเพราะยอดมันแหลม มันไม่เหมือนเพิงหรือปราสาท แต่เจดีย์เป็นหลักชัย เป็นอะไรบางอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์ การที่ผมรู้สึกคนโบราณศักดิ์สิทธิ์นี่ คงเป็นอารมณ์ romantic ของผมนะ (หัวเราะ) ที่จริงท่านก็คือชาวบ้านธรรมดา เหมือนเด็ก ๆ เราถูกสอนให้มองพ่อแม่เหมือนพระเจ้า พอหิวขึ้นมาก็ดูดนมแม่ ซึ่งรน้ำนมจากอกแม่เหมือนเนรมิตขึ้นมา การเห็นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เป็นพระเจ้านั้น มันดีในช่วงต้น ๆ ครับ แต่เมื่อพัฒนาภูมิปัญญาถึงระดับหนึ่งแล้ว เรารู้ว่าท่านเป็นพระเจ้าที่ร้องไห้เป็น เมื่อเติบโตแล้ว อ๋อที่จริงแม่เราก็ร้องไห้เป็นเหมือนกัน
.
นิพัทธ์พร: ใช่ค่ะ กว่าจะมองพ่อแม่เป็นปุถุชนได้นี่ ต้องต่อสู้อย่างหนักเลยนะคะ
.
อ.โกวิท : อืม... ต่อสู้ภายในของเราเองนะ ต่อสู้ภายในอย่างหนัก ที่จะยอมรับได้ว่า แม่ก็ร้องไห้เป็นเหมือนกัน วีรบุรุษของเราก็คือคนธรรมดานั่นเอง
.
หลายสิบปีมาก กว่าผมจะลดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าลง จนสามารถมองท่านในภาพของความเป็นธรรมดาได้ แต่ก่อนผมเถียงกับเพื่อนนี่ถึงขั้นโมโหเลยนะครับ คือจำได้ว่าคน ๆ หนึ่งไม่รู้ว่าจะออกชื่อดีหรือไม่ดี เขาแสดงมติว่า พระพุทธเจ้าไม่จำเป็นต้องฉลาดที่สุด ไม่จำเป็นต้องสรุปว่า พระพุทธเจ้าดีที่สุด ผมโกรธมาก
.
แต่ตอนนี้รับได้ครับ รับได้ว่า อ๋อ ถ้อยคำที่เขาพูดนั้น เป็นถ้อยคำมองในแง่ของภูมิปัญญา ไม่ใช่ลบหลู่อะไร การที่เรามองพระพุทธเจ้าเป็นเทพหรือเป็นภาพสูงส่งอะไรนั้น มันเป็นอารมณ์ romance ของเราเอง ไม่ใช่ความเป็นจริงที่ท่านเป็น
.
ความจริงที่ท่านเป็นนั้น ผมเชื่อว่า รากฐานของท่านคือความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ทรงภูมิปัญญา ถ้ามีใครพูดว่า พระพุทธเจ้าไม่จำเป็นต้องฉลาด ก็ย่อมมีพระพุทธเจ้าที่เหนือพระพุทธเจ้าไปอีก ก็ไม่ว่าอะไรนะ เมื่อเป็นอย่างนั้น พระพุทธศาสนาวางรากฐานไว้ว่า มีพระพุทธเจ้าหลายองค์ แล้วแต่ละยุค พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็มาโปรดเพื่อความเหมาะสมตามบริบทแห่งยุค อันนี้รับได้
โฆษณา