26 พ.ค. 2021 เวลา 11:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Singer Thailand (SINGER)
Singer เป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างเก่าแก่และอยู่คู่คนไทยมานานกว่าร้อยปี ภาพของ Singer ที่ผมจำได้ในสมัยเด็กคือแบรนด์จักรเย็บผ้า ซึ่งที่บ้านของผมมี ในปัจจุบันภาพของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะหลังจากที่ JMART เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และพลิกฟื้น Singer ให้กลับมาโตอีกครั้ง
ปัจจุบัน SINGER มี 2 ธุรกิจหลัก
ธุรกิจแรกคือขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Singer แบบผ่อนชำระ มีสินค้าสำหรับที่ใช้ในบ้าน (แอร์ ทีวี ตู้เย็น) และสำหรับเขิงพาณิชย์ (ตู้แช่แข็ง ตู้เติมเงิน ตู้เติมน้ำมัน)
ธุรกิจที่สองคือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยเน้นการปล่อยกู้ให้รายย่อยที่ใช้รถบรรทุก รถกระบะ ในเชิงพาณิชย์ (คู่แข่งหลักคือ ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) เงินติดล้อ (TIDLOR) เป็นต้น)
กลุ่มลูกค้าหลักของทั้งสองธุรกิจคือ คนที่อยู่ต่างจังหวัดและกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการกู้เงินกับธนาคาร ไม่มีบัตรเครดิต (Story เดียวกันกับพวก non-bank อย่าง SAWAD, TIDLOR, MTC ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา)
นับตั้งแต่ JMART เข้ามาถือหุ้นใหญ่และทำการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ Loan portfolio ของ Singer ก็กลับมาเติบโตได้ดีทั้งส่วนที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อน (Hire Purchase - HP) และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Car for Cash - C4C) ในขณะเดียวกัน อัตราหนี้เสียก็ลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทพลิกจากขาดทุนมามีกำไรในปี 2019 และกำไรในปี 2020 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปีนี้ (2021) บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อเป็น 10,000 MB จาก 6,600 MB ที่ทำได้เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้บริษัทยังวางแผนที่จะเพิ่มยอดสินเชื่อเป็น 15,000 MB และ 20,000 MB ในปี 2022 และ 2023
แผนการเติบโตของบริษัทค่อนข้าง aggressive (เหมือนบริษัทอื่นในเครือ JMART) ผมคิดว่า การเติบโตของ Singer จะมาจากปัจจัยต่างๆ ใน 2 ธุรกิจหลักดังนี้
กลุ่มธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อนชำระ
กลุ่มลูกค้าของ Singer เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและไม่คงที่ และมีความต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ ทั้งใช้เองที่บ้านและใช้ในการประกอบการหารายได้
สินค้าขายดีของ Singer มีราคาที่สูง (เช่น แอร์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง) ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ซื้อเงินสดไม่ไหว Singer เข้ามาแก้ pain point ตรงจุดนี้
กลยุทธ์ขายของ Singer ใช้ Sales Agent (ไม่ได้เป็นพนักงาน) เข้าไปขายของให้ลูกค้าโดยตรง (นึกถึงคนขายประกันชีวิตของ AIA) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (น่าจะไปเก็บเงินด้วย) กลยุทธ์แบบนี้อาจเหมาะกับคนต่างจังหวัดก็เป็นได้ และจะว่าไปการขายแบบนี้เป็นการขายแบบ direct-to-consumer (DTC) อย่างนึง และเป็นวิธีที่บริษัทรีเทลชั้นนำกำลังทำกันมากขึ้น (ตัดคนกลางอย่างห้างสรรพสินค้าหรือ special category store ออกไป) ซึ่งจะทำให้บริษัทมีข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น
บริษัทตั้งเป้าเพิ่ม Sales Agent 1 เท่าตัวในปีนี้ จากราวๆ 2,000 ราย ไปเป็น 4,000 ราย เพื่อเจาะเข้าไปในทุกอำเภอ ทุกตำบลของประเทศ
บริษัทใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ทำให้ Sales ขายได้ง่ายขึ้น พิจารณาการให้เครดิตได้เร็วขึ้น และติดตามเก็บเงินได้อย่างมีระบบ (ไม่รั่วไหลเหมือนแต่ก่อน)
การดึง โน้ตอุดม มาเป็น brand ambassador (และโฆษณา บัตรประชาชนใบเดียวก็ซื้อผ่อนกับ Singer ได้) สร้าง awareness ให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่คิดจะซื้อสินค้า Singer เลย บวกกับการสร้างร้านออนไลน์ ใน Line Official Account (กำลังจะ launch) และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น หม้อทอด (สินค้ามีช่วงราคาที่ลดลง) น่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้
ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
Singer ต้องถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการ เพราะเริ่มปล่อยสินเชื่อตรงนี้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ตลาดที่ Singer เข้าไปเจาะเป็นตลาดรถบรรทุก รถกระบะ รถยนต์ในเชิงพาณิชย์ (logistics, agriculture เป็นต้น) ด้วยความที่ฐานยังเล็ก บวกกับตลาดที่ fragment ทำให้ Singer ขยายพอร์ตสินเชื่อตรงส่วนนี้ได้รวดเร็ว
แม้ว่าจะมีคู่แข่งเยอะ แต่ตลาดนี้โดยรวมยังเติบโตได้ดีอยู่จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ e-commerce ผู้บริหารค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าที่วางไว้
ข้อเสียเปรียบของ Singer ในธุรกิจปล่อยกู้คือ เงินทุน ถ้าต้องการขยายพอร์ตให้เร็ว ก็ต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งก็จะกู้ได้ถึงระดับนึงเท่านั้น ทำให้ Singer วางแผนที่จะเอาบริษัทลูกที่ชื่อ SG Capital (ที่ทำหน้าที่ในการปล่อยกู้) เข้าจดทะเบียนในตลาดภายในปีหน้า (Singer ถืออยู่ 100%) ปีนี้ SGS เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1,450 MB เป็น 2,450 MB
ผมคิดว่า หลัง spin off แล้ว Singer จะยังถือ SGS อยู่ไม่น้อยกว่า 75% นั่นคือว่า SGS จะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกประมาณ 800 MB
ผมคาดว่าในปี 2023 Singer อาจมีกำไรสูงถึง 900 MB ซึ่งส่วนหลักๆจะมาจาก SGS ถ้าให้ Forward PE สำหรับ SGS ที่ 25-30 เท่า ก็หมายความว่า SGS จะมีมูลค่าประมาณ 20,000 - 25,000 MB ดังนั้น เงินเพิ่มทุนใน SGS จะอยู่ราว 5,000 - 6,000 MB
เงินทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้พอร์ตสินเชื่อขยายได้ใหญ่ขึ้น และมีค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง
อีกประเด็นที่จะสร้างการเติบโตคือ การมี synergy ระหว่างบริษัทในเครือ JMART ซึ่งจะทำให้มีช่องทางการขาย และแหล่งรายได้อื่นเพิ่มขึ้น เช่น
- การขายมือถือของ J Mobile ผ่าน Sales Agent ของ Singer
- การได้ค่านายหน้าประกันภัยจากการขายประกันภัยรถ ซึ่งมีความเป็น recurring income (เหมือน Tidlor)
- Know how การเก็บเงินและติดตามหนี้จาก JMT และการขายหนี้เสียให้ JMT (ที่จะได้มูลค่าสูงกว่าขายให้คนอื่น)
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงนอกเหนือจากการบริหารจัดการคุณภาพของสินเชื่อและหนี้เสียแล้ว ประเด็นเรื่องการแข่งขัน เช่นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ไม่ควรมองข้าม
การจับมือกันระหว่าง SAWAD และธนาคารออมสินที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ อาจทำให้แบงค์ใหญ่วางแผนเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้นก็เป็นไปได้ บริษัทที่ไม่มีแบงค์สนับสนุนอาจจะลำบากในระยะยาว
แม้ SINGER จะไม่มีแบงค์สนับสนุนโดยตรง แต่อาจได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในอนาคตจากกลุ่ม KB Kookmin (ธนาคารสัญชาติเกาหลีใต้) ที่เข้ามาร่วมลงทุนกับ JMART ผ่านบริษัทลูกที่ชื่อ KB Kookmin Card ในบริษัท KBJ Capital (J Fintech เดิม) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง
ในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่ JMART (และบริษัทในเครือ) จะทำ banking agent หรือไม่ก็ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์สร้าง payment platform ขึ้นมา ซึ่ง SINGER จะกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญมากเพราะมีข้อมูลลูกค้าในมือนั่นเอง
My Valuation
ผมประเมินมูลค่า Singer ได้ประมาณ 39 บาทต่อหุ้น โดยวิธี Discounted Excess Return Method
ผมสมมติให้ Loan portfolio ทำได้ 20,000 MB ในปี 2023 (ตามเป้าที่บริษัทตั้งไว้) และเพิ่มเป็น 30,000 MB ในปี 2027 และ 40,000 MB ในปี 2030
ในระหว่างนี้ บริษัทมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆลดลง
ผมใช้ Cost of Equity ที่ 10% ในช่วง 5 ปีแรก และลดลงเหลือ 8% ในช่วง 5 ปีหลังเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ลดลงจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น
รายละเอียดการคำนวณอยู่ในภาพ
โฆษณา