27 พ.ค. 2021 เวลา 07:05 • ปรัชญา
กรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
คนเราจะอยากหมดกรรมก็ต่อเมื่อรู้สึกเป็นทุกข์ อยากพ้นจากทุกข์ จึงมีคนจำนวนมากแสวงหาวิธีที่จะหมดกรรม ตั้งแต่อ้อนวอน บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กราบไหว้สิ่งต่างๆ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างลบหลู่ และคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยเหลือดลบันดาลให้สิ่งที่เราต้องการได้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะมีความรู้เรื่องกรรมผิดไปจากความเป็นจริง การที่เราจะสิ้นกรรมได้มีหนทางให้เดินอยู่ ดังนี้
ภิกษุ ท. ! กรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่วกัน.กรรม ๔ อย่าง อย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มีอยู่. ภิกษุ ท. ! กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีอยู่. ภิกษุ ท. ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ก็มีอยู่. ภิกษุ ท. ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ; ผัสสะทั้งหลาย อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขาซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไปด้วยความเบียดเบียน ; เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนา ที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว, ดังเช่นพวกสัตว์นรก. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ.
ภิกษุ ท. ! กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน, ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน; ผัสสะทั้งหลาย ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลก อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ; เขาอันผัสสะที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน อัน เป็นสุขโดยส่วนเดียว, ดังเช่นพวกเทพสุภกิณหา.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่ากรรมขาว มีวิบากขาว.
ภิกษุ ท. ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง, ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง, ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง, ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ; ผัสสะทั้งหลาย ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ; เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนา ที่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง อันเป็นเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เจือกัน, ดังเช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว.
ภิกษุ ท. ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล กรรม ๔ อย่าง ที่เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่วกัน.
- จตุกฺกฺ. อํ. ๒๑/๓๒๐-๓๒๑/๒๓๗.
โฆษณา