27 พ.ค. 2021 เวลา 08:03 • ประวัติศาสตร์
ในช่วงของยุควิกฤติได้ทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องล้มพับอับจนหรือดำเนินชีวิตไปอย่างยากลำบากในสถานการณ์เช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีบุคคลจำนวนมากซึ่งมั่นใจว่ารวมถึงผู้อ่านด้วยที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและพยายามที่จะหาทุกช่องทางเพื่อฝ่าฟันช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ไปให้ได้ อย่างน้อยที่สุดแค่ให้พอเอาตัวรอดให้ได้ก็พอ
ดังนั้นเราจึงจะพาไปดูว่าในช่วงเวลาของยุควิกฤติโลกร้ายแรงที่ผ่านมาอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างหายนะไปทั่วทุกหัวระแหงได้ส่งผลให้ผู้คนหลาย ๆ คนพลิกวิกฤตินี้ให้กลายเป็นโอกาสได้อย่างไร ซึ่งการการพลิกวิกฤติในครั้งนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจและวงศ์ตระกูลของพวกเขาได้กลายเป็นตระกูลนักธุรกิจสำคัญที่ยืนยงมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
สำหรับเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หลาย ๆ ท่านก็อาจจะพอเดาได้แล้วว่าเรากำลังพูดถึง “เศรษฐีสงคราม” โดยต้องกล่าวก่อนว่าเราอาจจะมีภาพจำต่อคำดังกล่าวนี้ในด้านลบ แต่หากเรามองในมุมกลับกันอาจจะกล่าวได้ว่าพวกเขานั้นก็ไม่ได้เป็นไปในด้านลบเสียทีเดียว เพียงแต่เขาได้เห็นโอกาสและเข้าสวมโอกาสนั้นซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดาทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะต้องเท้าความสักหน่อยในประเด็นนี้
กล่าวได้ว่าในระบบเศรษฐกิจไทยตั้งแต่สมัยหลังจากที่เราทำสนธิสัญญาเบาว์ริงค์เป็นต้นมา (ร.4) ระบบเศรษฐกิจไทยนั้นถูกดำเนินการโดยแบ่งอย่างกว้าง ๆ โดยคน 2 กลุ่ม นั่นก็คือนายทุนจีนกับนายทุนตะวันตกซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็ได้มีการแข่งขันทางธุรกิจกัน แต่ต้องกล่าวว่าธุรกิจของนายทุนจีนนั้นต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายประการไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนั้นที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของชาวตะวันตก
อีกทั้งเราจะเห็นได้ว่าในรัฐบาลไทยสมัยก่อนยังมีการให้ชาวตะวันตกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจก็ได้รับการวิจารณ์ว่าได้ทำให้สินค้าตะวันตกขยายตัวมากขึ้นในเมืองไทย โดยหลาย ๆ คนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือพวกเขาในการต่อสู้กับทุนตะวันตกเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ ท้ายสุดกลุ่มนายทุนจีนหลาย ๆ กลุ่มก็ต้องประสบปัญหาทางการเงินไปตาม ๆ กัน
หลายบริษัทหยุดชะงักและต้องขายทอดกิจการให้ชาวตะวันตก หลายครอบครัวนายทุนจีนได้ทิ้งธุรกิจของตนและหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานแทนเพื่อให้คนเหล่านี้ได้กลายเป็นข้าราชการต่อไปในอนาคตไม่ต้องมาเผชิญความผันผวนแบบเดียวกับตน
โดยครอบครัวเหล่านี้ปัจจุบันก็ยังปรากฏอยู่ให้เห็น ได้แก่ สารสินท์, ฮุนตระกูล, ประจวบเหมาะ, เวชชาชีวะ, โสภโณดร, พิศาลบุตร, ณ ระนอง, เลาหะเศรษฐี เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนจีนอีกหลายคนที่ได้เลือกเข้าไปรวมธุรกิจกับตะวันตก หรือส่งบุตรหลานที่มีการศึกษาเข้าไปเป็นแรงงานที่มีฝีมือให้กับบริษัทตะวันตกด้วยเช่นกัน
ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามแม้ธุรกิจของชาวยุโรปจะเป็นเสมือนเงายักษ์ใหญ่ที่บดบังธุรกิจของนายทุนจีน แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศไทยได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น !!!
กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าชาวตะวันตกนั้นอยู่คนละฝากฝั่งกับญี่ปุ่นในมหาสงครามครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อไทยได้ตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นและให้ใช้ประเทศเป็นเส้นทางผ่านทัพไปยังพม่า ก็ทำให้ชาวตะวันตกนั้นละทิ้งธุรกิจของตนเพื่อหนีภัยสงครามครั้งนี้ไปด้วย
การละทิ้งธุรกิจในครั้งนี้มันได้ทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นภายในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ซึ่งแน่นอนว่านายทุนจีน-ไทยผู้ที่อยู่ภายใต้เงาตะวันตกมานานก็ได้ใช้โอกาสนี้เข้าทดแทนธุรกิจของตะวันตกไม่ว่าจะเป็นธุรกิจธนาคาร การขนส่งสินค้าทางเรือ โรงสีข้าว รวมไปถึงธุรกิจนำเข้าและค้าปลีกอื่น ๆ และการที่ธุรกิจตะวันตกถอนตัวออกไปและจากภัยสงครามในครั้งนี้ก็ยังทำให้ “นักลงทุนหน้าใหม่” เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ภาพสาวชาวบ้านค้าขายให้ทหารญี่ปุ่นใน อ.ขุนยวม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้ว่าในภาพจำของเราจะเห็นว่าชาวจีนนั้นไม่ถูกกันกับญี่ปุ่น แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อค้าชาวจีนกับญี่ปุ่นก็มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก โดยความสัมพันธ์นี้ก็มีอยู่หลายลักษณะ เช่น อาจจะยอมร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้ธุรกิจตน หรือร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่ฉากหลังก็ทำการต่อต้านญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กัน หรือบางคนก็แสดงฉากหน้าว่าต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อให้คนจีนยอมรับแต่ฉากหลังก็กลับไปค้าขายกับญี่ปุ่น เป็นต้น
การเข้าไปร่วมทำธุรกิจกับญี่ปุ่นกล่าวได้ว่าทำให้นายทุนจีน-ไทยเหล่านี้สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เช่นนายสหัส มหาคุณ ที่ในระหว่างสงครามได้เข้าไปขอประมูลย่อยหินส่งกองทัพญี่ปุ่น นายแผน สิริเวชชะพันธ์ พ่อค้าในจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดหาวัสดุบางอย่างส่งให้กองทัพญี่ปุ่นโดยตรง
บริษัทฮงที่มีนายตันซิวเม้ง หวั่งหลี ถือหุ้นและมีทุนญี่ปุ่นร่วมด้วย ก็ได้รับให้จัดหาข้าวส่งให้กับบริษัทของญี่ปุ่นที่โชนัน หรือนายเทียน ทวีสิน และนายมา บูลกุล ประธานกรรมการและกรรมการบริษัทไทยนิปปอนเดินเรือก็ได้รับให้จัดหาไม้และต่อเรือไม้ให้กับกองทัพญี่ปุ่นใช้ปฏิบัติการในน่านน้ำเขตนี้
ในขณะเดียวกันนี้ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ นอกกรุงเทพก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันด้วย โดยนายทุนท้องถิ่นได้เข้าไปทำธุรกิจกับญี่ปุ่นถึงกับสามารถสะสมทุนจนก้าวขึ้นมามีบทบาทในระดับประเทศได้ในเวลาต่อมา เช่นในภาคเหนือตอนล่างที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่นายสวัสดิ์ ไม้ไทย ที่ทำการรับเหมาก่อสร้างกับญี่ปุ่นจนท้ายที่สุดได้กลายเป็นเจ้าของโรมแรมสวัสดิ์ไม้ไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันขยายกิจการและเป็นที่ตั้งของโรงแรมไอราวัณ
นายเฮงหลิมและนายชุ่นเส็ง (อโนดาต) ก็รับเหมาก่อสร้างกับญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน หรือตระกูลศิริวิริยะกุล ก็สามารถสะสมทุนจากการตั้งร้านขายของชำทั้งค้าปลีกและส่ง เมื่อได้โอกาสก็รับซื้อโรงงานน้ำตาลที่กำลังล้มเลิกกิจการแล้วตั้งบริษัท รวมผลอุตสาหกรรม จำกัด จนต่อมาได้กลายเป็นนายทุนอุตสาหกรรม
1
พ่อค้าคนอื่น ๆ ที่มั่งคั่งอย่างมากจากการทำธุรกิจในช่วงสงครามยังมีอีกหลายคนด้วยกัน เช่นนายเทียม โชควัฒนา ซึ่งทำการกักตุนกาแฟโดยซื้อกาแฟค้างสต๊อกของบริษัท เอ.อี นานา จำกัด จำนวน 3,000 กระสอบ โดยเขาคาดว่ากาแฟน่าจะขาดตลาดเนื่องจากเรือสินค้าของฝ่ายพันธมิตรไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่ไทยได้ และปรากฏว่าในเวลาเพียง 3 เดือน ราคากาแฟก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว !!! ทำให้นายเทียม โชควัฒนาได้กำไรอย่างมากและขยายการลงทุนไปในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแทนการนำเข้า
ภาพชาวบ้านค้าขายให้ทหารญี่ปุ่นใน อ.ขุนยวม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะบอกว่าก็เพราะเขาพวกนี้มีทุนเดิมอยู่แล้วไง จึงทำให้สามารถมีช่องทางลงทุนได้ เดี๋ยวก่อนครับ !!! อย่างเพิ่งคิดอย่างนั้น เพราะในวิกฤติสงครามครั้งนี้คนลืมตาอ้าปากไม่ได้มีแค่นายทุนเท่านั้น “แต่ชาวบ้านก็ได้รับโอกาสลืมตาอ้าปากจากวิกฤตินี้ด้วย”
โดยจะเห็นได้ว่าในสภาวะวิกฤติดังกล่าวนี้กลับมีประชาชนจำนวนไม่น้อยสามารถสะสมทุนได้ด้วยการผลิตและการค้า แม้แต่ในราษฎรที่ห่างไกล เช่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งในชนบทภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครพนม ฯลฯ สามารถปลูกฝ้ายและทอผ้าขายในสภาวะที่กำลังขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ไทยเคยสั่งซื้อจากตะวันตกเพื่อมาขายในกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างรายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันแม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานก็ตาม
นอกจากนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อาศัยในหมู่บ้านที่ใกล้กับที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่นก็สามารถขายสินค้าอุปโภคบริโภคได้ไม่น้อย เช่น ชาวบ้านแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการค้ากับทหารญี่ปุ่นและรับจ้างแรงงาน ซึ่งทำให้บางครอบครัวได้เงินมากพอถึงขนาดที่สามารถนำเงินไปไถ่ถอนที่นาคืนได้ !!!
เช่นเดียวกับชาวสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีการค้าขายสินค้าหลายชนิดให้กับทหารญี่ปุ่น ชาวบ้านบางคนตั้งร้ายขายก๋วยเตี๋ยวจนสามารถตั้งตัวและใช้ทุนนั้นไปลงทุนประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในสันป่าตองในเวลาต่อมาอีกด้วย
พิธีเปิดธนาครกรุงเทพ สำนักงานใหญ่พลับพลาไชย โดยมีนายห้างชิน โสภณพนิช    ยืนอยู่ท้างซ้าย
จากที่กล่าวไปนี้จะเห็นว่าในช่วงเวลาวิกฤติก็ได้มีอีกหลายคนที่สามารถจะพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสจนตัวเองสามารถที่จะลืมตาอ้าปากและวางรากฐานไว้ให้ลูกหลานของพวกเขาในปัจจุบัน
มาถึงตรงนี้อาจมีคนสงสัยแล้วว่าภาพที่บทความนี้กล่าวถึงนั้นทำไมเศรษฐกิจมันดูครึกครื้นทั้งที่เป็นช่วงเวลาของสงครามซึ่งมันควรจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากไม่ใช่หรือ ?
ก็ต้องบอกตามตรงด้วยว่าในช่วงเวลานี้ก็มีผู้คนประสบกับความยากลำบากด้วยเช่นกัน แต่กลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนส่วนใหญ่และมากที่สุดนั้นก็คือกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน !!!
นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งในประเทศไทยแล้วก็ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าจากประเทศไทยจำนวนมากเพื่อเลี้ยงกองทัพและเชลยศึก จึงทำให้สินค้ามีราคาแพงเพราะมีความต้องการที่มากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังได้พิมพ์เงินออกมาใช้มากกว่าปกติก็ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง สินค้าขาดแคลนก็มีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยทั่วไปจึงไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้นั่นเอง
บทความนี้ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าช่วงเวลาวิกฤตินั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีแต่อย่างใด แต่เพียงอยากที่จะให้กำลังใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากและเพื่อให้มองเห็นว่าคนในเมื่อก่อนนั้นก็สามารถที่จะก้าวผ่านความลำบากและพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสมาอย่างไรเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเราจำเป็นที่จะต้องมองไปข้างหน้าอยู่เสมอไม่ว่าปัจจุบันจะย่ำแย่แค่ไหนก็ตาม
รายการอ้างอิง
สายชล สัตยานุรักษ์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่: ประวัติศาสตร์สังคมไทย. สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2558.
ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว. “จาก “ทุนนิยมโดยรัฐ” สู่ “รัฐทุนนิยม” ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม กับการเมืองไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2.” วารสารมนุษยศาสตร์สาร 13, ฉ. 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2555): 1-36.
พรรณี บัวเล็ก. ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2457-2482 : บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม. กรุงเทพฯ : พันธกิจ, 2545.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่ : ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์บุคส์), 2542.
โฆษณา