27 พ.ค. 2021 เวลา 11:09 • ประวัติศาสตร์
ประวัติสะพานควาย
เอนก นาวิกมูล เขียนเมื่อ 11.30น. วันพฤหัสที่ 27 พค2564
ยายทองอยู่บอกผมว่า จะไปเล่นเพลงฉ่อยงานศพเจ้าอาวาสวัดไส้ตัน ริมคลองบางซื่อ อาทิตย์ 23 เมษายน 2521
งานเดียวกับที่มีโขนหลวงราชพงษ์เล่นด้วยและได้เขียนถึงไปแล้วเมื่อ25พค64
แกไม่พูดว่าไผ่ตันที่คนยุคหลังคุ้นหู กลับพูดว่าวัดไส้ตัน ทำให้ฟังดูแปลกคิดว่าแกเรียกผิดไปตามประสาคนแก่
ที่จริงมันก็วัดเดียวกัน อยู่เลยสี่แยกประดิพัทธ์-สะพานควายขึ้นไปหน่อยหนึ่ง
เอาแผนที่เก่า 2453 ,2474 มาเปิดดู เรียกวัดไส้ตันทั้งนั้น คำว่าไผ่ตันต่างหาก มาเรียกเพี้ยนทีหลัง
ต่อจากวัดไส้ตันขึ้นไปอีกหน่อยก็เป็นตลาดนัดหมอชิตเก่า +ขนส่งหมอชิตเก่า(อยู่ทางขวา) และตลาดนัดจตุจักร
เรื่องตลาดนัดหมอชิต เคยเขียนถึงไปแล้วในหนังสือถนนสายอดีต 1 สำนักพิมพ์สายธารของสถาพร ลิ้มมณี จัดพิมพ์ 2547
ส่วนเรื่อง “สะพานควาย” เห็นมีคนพูดถึงในอินเตอร์เนตหลายครั้ง
บางคนว่า พวกค้าควายเอาควายมาปล่อยแถวนี้มากมาย จนสามารถใช้ควายเป็นสะพานเดินข้ามน้ำที่เจิ่งอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้สะพานจริง
บางคนก็ว่าสะพานควายก็คือสะพานไม้ธรรมดา สำหรับให้ควายเดินข้ามห้วยหรือคลองเล็กๆไปได้ แต่ไม่มีหลักฐานพยาน
คำว่าห้วยนั้นอย่าคิดว่ามีเฉพาะแถบภูเขา ทางพื้นราบก็มีใช้ ขอให้นึกถึงชื่อ “วัดห้วยขวาง” ที่อยู่ห่างสะพานควายไปไม่ไกล
เรื่องห้วยขวางก็เคยเขียนไปแล้ว ให้ดูในหนังสือชื่อนานาสถาน ปกสีเหลือง
ยุคก่อน 2489 ยังไม่มีถนนพหลโยธินหรือถนนไปสะพานควาย มีแต่ทุ่งนา
(นึกถึงยุค 2515-2520 ที่ผมนั่งรถเมล์ไปซอยเสนานิคม สองข้างทางเหนือสะพานควาย-แยกลาดพร้าวขึ้นไปเป็นทุ่งนาทั้งนั้น)
ถนนพญาไทที่ตัดมาจากจุฬาฯไปสุดอยู่แค่สนามเป้า หรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ตัดให้สั้น.... วิกิพีเดีย ให้ข้อมูลว่า ถนนพหลโยธินเดิมชื่อถนนประชาธิปัตย์
เริ่มตัดจากสนามเป้าถึงแค่ดอนเมืองเมื่อ พ.ศ.2479 ระยะทาง 22 ก.ม.
พ.ศ.2481 ตัดต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ขอข้ามรายละเอียด
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เปลี่ยนชื่อถนนเป็นพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
นับแต่ตัดถนนแล้ว ทุ่งนาก็ค่อยๆถูกแทนที่ด้วยบ้านเรือนและตึกรามบ้านช่อง...
บริเวณที่เรียกว่าสะพานควาย อยู่บริเวณแยกประดิพัทธ์
มีตลาดสะพานควาย และซอยสุทธิสารวินิจฉัย โรงภาพยนตร์เฉลิมสิน เป็นหลักหมายสำคัญ ถัดขึ้นไปอีกหน่อยจึงเป็นวัดไส้ตัน
ผมเองไม่มีความรู้เรื่องสะพานควายโดยตรงเพราะเกิดไม่ทัน ต้องอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าให้ฟัง ไม่อยากเขียนอะไรลอยๆ ใครเขียนอะไรลอยๆไม่บอกที่มาที่ไป ผมไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่ารู้มาจากไหน ตรวจสอบยาก
ลุงชุบ ยุวนะวณิชย์ เกิด พ.ศ.2451 มาดูรายการแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์เป็นประจำ
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2534 ลุงชุบอายุ 83 ปีตอบคำถามผมเรื่องตลาดนัดหมอชิต ในฐานะเคยไปสอนวิชาช่างโรงเรียนแถวนั้น
ตอบเรื่องละครร้องแม่นากพระโขนงที่บ้านขมิ้น และตอบเรื่องสะพานควายว่าทำไมจึงเรียกสะพานควาย
คุณลุงตอบสั้นๆดังนี้
“ ทุ่งนาหน้าน้ำ น้ำจะเจิ่งไปหมด เขาจะให้ควายเดินทาง ก็ทำสะพานไว้ใช้ชั่วคราวพอให้ควายเดินได้ เลยเรียกกันว่าสะพานควายเรื่อยมา
ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดถนนจากสี่แยกสนามเป้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นมา
ตรงที่เป็นสนามเป้า พวกทหารหรือพวกเสือป่าต้องไปฝึกยิงเป้าที่นั่น ถึงได้เรียกว่าสนามเป้า
ช่วงสะพานควายนี่ไม่มีคลอง ต้องเลยไปอีกราวกิโลเมตรจึงจะถึงคลองบางซื่อที่มีวัดไส้ตันหรือวัดไผ่ตัน
ตรงสะพานควายเป็นทุ่งนา เขาทำสะพานให้ควายเดิน ลัดไปได้ ข้ามห้วยข้ามอะไรพวกนี้ มันไม่ใช่สะพานใหญ่โตอะไรหรอก พอให้ควายเดินข้ามไปได้ “
นายเอนกถามว่าทำไมไม่ให้ควายลุยน้ำไปเองเล่า ควายก็ว่ายน้ำเป็น
ลุงชุบตอบว่า
“ก็เพื่อให้สะดวกรวดเร็ว ควายไม่ต้องไปย่ำน้ำท่องน้ำให้เสียเวลา ปกติควายมันไม่ได้ไปเองหรอก ต้องมีคนจูงไป ขี่ไป”
สรุปแล้วชื่อสะพานควายมาจากสะพานที่คนทำให้ควายข้าม คำนี้น่าจะก่อตัวขึ้นในยุค 2470 -2480 ถ้าจะให้ดีควรหาคนเก่าและแผนที่ยุค 2480 มาช่วยยืนยัน​ ไม่จำเป็นต้องเชื่อผมทั้งหมด
 
ประวัติสะพานควาย
เอนก นาวิกมูล เขียนเมื่อ 13.30น. วันพฤหัสที่ 27 พค2564
คำบรรยายภาพ
1.ยายทองอยู่ รักษาพล กำลังว่าเพลงฉ่อย งานศพเจ้าอาวาสวัดไผ่ตัน เอนก นาวิกมูล ถ่าย BW-0152-022-อา23เมษา2521
2.ลุงชุบ ยุวนะวณิชย์ นำไม้ตะขาบสำหรับตีหัวตลกๆในละครมาบริจาคที่ศูนย์สังคีตศิลป์ เอนก นาวิกมูล ถ่าย BW-1181-014-ศ13กย2528
3.แผนที่2474 วัดมะกอก​อนุสาวรีย์ชัย​ ถึงวัดไส้ต้นยังไม่ได้ตัดถนนพหลโยธิน​และยังไม่มีคำว่าสะพานควาย
4.แผนที่สะพานควาย กับวัดไส้ตันหรือไผ่ตัน ริมคลองบางซื่อ จากแผนที่กรุงเทพโดยยรรยง จรียภาส พ.ศ.2513
โฆษณา