28 พ.ค. 2021 เวลา 06:09 • ท่องเที่ยว
วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
“วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร” หรือชื่อเดิมว่า “วัดท้ายตลาด” ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่
กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร .. เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อพุทธศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้สร้าง เหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาดเนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี
ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน .. จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่ จึงนับได้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยราชกาลที่ ๑
เมื่อมีการสร้างและบูรณะเสนาสนะเสร็จแล้ว โปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาทั้งวัดท้ายตลาด ทรงตั้งพระมหาศรี เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นพระเทพโมลี พร้อมคณะพระอันดับมาครองวัดท้ายตลาด นับเป็นปฐมเจ้าอาวาสในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "‌วัดพุทไธสวรรย์" หรือ "วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร" ทรงเจริญพระราชศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาสวัดนี้ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เนื่องจากสมัยนั้นสถานศึกษาวิชาการอยู่ตามวัด โปรดให้พระราชโอรสหลายพระองค์เสด็จมาทรงพระอักษรกับเจ้าประคุณสมเด็จรูปนี้ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
 
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งทั้งพระอารามให้บริบูรณ์งดงามยิ่งขึ้นกว่าเก่า สิ้นพระราชทรัพย์ห้าร้อยเก้าสิบหกชั่งแปดตำลึง ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง" เรียกสั้น ๆ ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธาราม" ซึ่งต่อมา เรียกว่า “วัดโมลีโลกยาราม”
นับได้ว่า วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยและโบราณคดี เนื่องจากเป็นวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษา มีความสำคัญต่อประเทศชาติและเกี่ยวข้องกับราชวงศ์
วัดโมลีโลกยารามเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้นๆ ของประเทศ
ตุ๊กตาหินตรงทางเข้าสู่พื้นที่ด้านในของวัด
สิ่งก่อสร้างสำคัญๆ
พระอุโบสถ ... สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีหรือสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ (นาก) พระอัครมเหสีในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1สร้าง เป็นพระอุโบสถขนาดกลาง ทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะวิจิตรงดงาม หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้าใบระกาไม้สักลงรักปิด กระจกภายในผนังและเพดานเขียนภาพทรงข้าวบิณฑ์ ประตูและหน้าต่างแกะสลักลายกนกลงรักปิดทองงดงาม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงบูรณะพระอุโบสถโดยพระราชทานตราไอยราพรต ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินสมัยนั้นประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย
มีพระประธานปางมารวิชัยทรงฉัตร 7 ชั้น พระนามว่า "พระพุทธโมลีโลกนาถ" และพระอัครสาวกขวา-ซ้าย โดยหลักฐานตามพระราชพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ยืนยันได้ว่า สร้างในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระวิหาร (พระวิหารฉางเกลือ) ... ลักษณะทรงไทยคล้ายผสมจีน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบดินเผา ช่อฟ้าใบระกาปั้นด้วยปูน สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
.. ด้านหลังมีรูปปั้นขุนนางจีน 2 ตัว
ด้านในกั้นเป็น ๒ ห้อง
ด้านหลังเป็นห้องเล็กมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ คือ "พระปรเมศ" และพระอัครสาวกประทับผินพระพักตร์ไปทางพระอุโบสถผนังและเพดานเขียนลวดลายงดงาม
ด้านหน้าเป็นห้องใหญ่หันออกคลองบางกอกใหญ่ … ตรงกลางมีแท่นชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประมาณ ๒๐ องค์ ผนังฉาบปูน ประตูและหน้าต่างทุกช่อง เขียนลายรดน้ำงดงามแต่ชำรุด เพดานเขียนลวดลายเป็นกลุ่มดาว สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน เพียงเล่าสืบกันมาว่า สมัยกรุงธนบุรีโปรดให้ใช้เป็น ฉางเกลือ จนมีผู้เรียกว่า "พระวิหารฉางเกลือ" มาจนถึงปัจจุบัน
หอสมเด็จ ... แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นฐานและชั้นตัวหอ ชั้นฐานรับหอสมเด็จและพระเจดีย์
แบ่งเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องมีรูปทหารแบกส่วนฐานไว้ สันนิฐานว่าเป็นรูปทหารฝรั่งเศสเนื่องจากสร้างบนส่วนของป้อมทหารฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยอยุธยา (บริเวณเดียวกับป้อมวิไชยประสิทธิ์) มีบันได้ขึ้นลง ๒ ทาง
ส่วนบนประกอบด้วยพระเจดีย์ทรงลังการอบด้าน ๆ มุมละ 1 องค์ รวมเป็น ๔ องค์ ... ว่ากันว่า เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเมาฬีของรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ... ด้านหน้าเป็นรูปอุโมงค์ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
ตัวหอสมเด็จ เป็นอาคารทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประตูและหน้าต่างเขียนภาพลายรดน้ำงดงาม .. ภายในประดิษฐานรูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเบื้องต้นแด่พระโอรสในรัชกาลที่ ๒ แทบทุกพระองค์ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อมรณภาพแล้ว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้หล่อขึ้น เป็นรูปหล่อสำริดนั่งขัดสมาธิมีขนาดเท่าองค์จริง ประดิษฐานอยู่บนแท่น
หอพระไตรปิฎก หรือ หอไตร ... เป็นอาคารไม้ ทรงไทยพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้อง เคลือบใช้ปูนปั้นรูปเจดีย์แทนช่อฟ้า ประตู หน้าต่าง และผนังด้านในเขียนภาพลายรดน้ำสวยงามภาพถ้วยชามเครื่องใช้จีนสวยงามยิ่ง สันนิษฐานว่า คงสร้างในรัชกาลที่ ๓ ต่อมา รัชกาลที่ ๕ โปรดให้บูรณะขึ้นอีกครั้งสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแห่งนี้ให้ดูสวยงามดังเดิม
ศาลาการเปรียญ ... สร้างด้วยไม้ล้วน หลังคามุขลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้องไทย
นอกจากปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นสังหาริมทรัพย์วัตถุซึ่งได้รับพระราชทานไว้สำหรับวัดคือ
๑. พระไตรปิฏกฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ พร้อมตู้บรรจุ จำนวน ๑ จบ
๒. พระไตรปิฏกสยามรัฐ ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ในรัชกาลปัจจุบัน จำนวน ๑ จบ
๓. พระบรมรูปหล่อพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก
๔. ธรรมาสน์ลายทอง ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ด* ในคราวงานถวายพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕. คัมภีร์ภิกขุปาฏิโมกข์พร้อมทั้งตู้และธรรมาสน์สำหรับนั่งสวด ซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา