29 พ.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ความเชื่อโบร่ำโบราณของไทยต่อดาวหางนั้นมีอยู่ว่า เมื่อมีดาวหางปรากฎขึ้นในที่ใดก็จะเกิดเหตุต่าง ๆ แก่ผู้นำในระดับประเทศหรืออาจที่จะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ในที่นั้น ๆ และกล่าวได้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับดาวหางนี้ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
สำหรับสังคมไทยในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกจะเจริญก้าวหน้ารวมไปถึงได้มีชาวสยามทั้งเจ้านายและขุนนางไปศึกษาที่ต่างประเทศจนได้ความคิดใหม่ ๆ กลับมาพัฒนาปกครองบ้านเมืองก็ตาม
แต่ลึก ๆ แล้วก็อดไม่ได้ที่จะมีความเชื่อเหล่านี้อยู่บ้างเหมือนกันแม้จะไม่ได้เชื่ออย่างงมงายเหมือนอย่างในอดีตแล้วก็ตาม ดังจะเห็นได้จากข้อสังเกตของรัชกาลที่ 6 ที่มีต่อดาวหางแฮนลีย์ โดยจะเป็นอย่างไรนั้นเรามาติดตามไปพร้อมกัน
กล่าวได้ว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาความคิดในเรื่องของวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ได้มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัชกาลที่ 4 พระองค์นั้นทรงเชี่ยวชาญในด้านของดาราศาสตร์เป็นอย่างมากจนสามารถที่จะคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำหรือที่เรารู้จักกันในชื่อเหตุการณ์สุริยุปราคาที่หว้ากอ ซึ่งสร้างความประทับใจแกมประหลาดใจแก่ผู้คนทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าความรู้ในด้านดาราศาสตร์ในสมัยของพระองค์จะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่สังคมในขณะนั้นก็ยังไม่วายที่จะอยู่กับความเชื่อในเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติหรือเรื่องราวดวงดาวบอกเหตุอะไรทำนองนั้นอยู่แบบเดิม ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้รัชกาลที่ 4 จึงต้องทรงออกประกาศเรื่อง “ดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก” โดยมีใจความว่าดาวหางนั้น...
“...เปนของสัญจรไปนานหลายปีแล้วก็กลับมาได้เหนในประเทศข้างนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกันแลคิดวิตกเล่าฦๅไปต่าง ๆ ด้วยว่ามิใช่จะได้เหนแต่ในพระนครนี้ แลเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ ย่อมได้เหนทุกบ้านทุกเมือง ทั่วพิภพอย่างได้เหนนี้แล...”
ใจความสำคัญของประกาศข้างต้นนี้ก็คือดาวหางนั้นเป็นของสัญจรที่จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้อีกข้างหน้า และก็ไม่ใช่ว่ามีแค่เราที่เห็นเพียงที่เดียวเท่านั้น แต่ที่อื่น ๆ ก็เห็นเหมือนกันด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวิตกแต่อย่างใด
การทำให้ดาวหางได้กลายเป็นเรื่องที่ธรรมดาทั่วไปนั้นไม่ได้มีแค่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 เท่านั้น แต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ก็ยังได้มีประกาศเพื่อไม่ให้ราษฎรหวาดหวั่นต่อดาวหางด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังบอกด้วยว่าดาวหางนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งมหัศจรรย์แต่อย่างใดเพราะมีอยู่แทบทุกปี บางครั้งก็อาจจะเห็นได้ในประเทศอื่นแต่ประเทศเราไม่เห็นหรือบางครั้งก็อาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือต้องส่องกล้องดูเท่านั้นถึงจะเห็น
โดยรวม ๆ แล้วปรากฎการณ์ดาวหางก็เป็นแค่เรื่องธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องลี้ลับจากดาวหางได้เสื่อมคลายลงไปอย่างมากแล้วในความคิดของบรรดาชนชั้นนำไทย
ภาพดาวหางแฮนลีย์ในปี พ.ศ. 2529
อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2453 อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ดาวหางขึ้นนั่นก็คือ “ดาวหางแฮนลีย์” ซึ่งได้เคลื่อนตัวผ่านมาใกล้กับโลก โดยจากข้อมูลนั้นดาวหางแฮนลีย์จะมีรอบโคจรประมาณ 75-76 ปี นั่นหมายความว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์บางคนอาจจะไม่เคยพบเห็นกับดาวหางนี้เลยก็เป็นได้
ถึงแม้ว่าชนชั้นนำในเวลานั้นจะคลายความเชื่อในเรื่องของดาวหางว่าจะนำไปสู่เหตุภัยพิบัติเป็นอย่างมากแล้ว ดังจะเห็นได้จากประกาศต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้หยิบยกไป แต่สำหรับเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธหรือต่อมาคือรัชกาลที่ 6 นั้น กล่าวได้ว่าในใจลึก ๆ ของพระองค์กลับมีข้อสงสัยและข้อสังเกตต่อดาวหางนี้
โดยข้อสังเกตนี้ได้ปรากฎชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ไปแล้ว โดยพระองค์ได้ทรงย้อนกลับมาทำความทำความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2453 แล้วก็ทรงตั้งข้อสังเกตว่าดาวหางแฮนลีย์น่าจะมีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองสยามและต่างประเทศในเวลานั้น
อีกทั้งพระองค์ยังได้ย้อนกลับไปดูประวัติของการมาถึงของดาวหางดวงนี้ในช่วงเวลาก่อน ๆ ด้วยและก็พบว่าความเชื่อที่ว่าดาวหางจะส่งผลให้เกิดเรื่องร้ายแรงไม่ได้มีแค่ในเมืองไทยเท่านั้นแต่ทางยุโรปเองเขาก็เชื่อด้วย !!! เนื่องจากได้มีการสังเกตกันว่าเมื่อดาวหางแฮนลีย์เข้าใกล้โลกเมื่อใดก็จะเกิดเหตุการณ์ร้ายใหญ่ ๆ ขึ้น เช่นเหตุการณ์กรุงคอนสแตนติโนเปิลแตกก็นับว่าประจวบเหมาะกับการมาถึงของดาวหางดวงนี้พอดี
ด้วยแนวคิดเช่นนี้เองจึงทำให้รัชกาลที่ 6 ได้เริ่มที่จะลองไล่เลียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2453 หลังการมาถึงของดาวหางแฮนลีย์ และเมื่อไล่เลียงออกมาแล้วก็พบว่ามีเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังนี้
"เหตุการณ์ในเมืองสยาม"
1.วันที่ 22 เมษายน, เห็นดาวหางแฮนลีย์เป็นครั้งแรก
2.วันที่ 7 พฤษภาคม, เวลา 7.55 เกิดเพลิงไหม้ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากดินปืนที่เก็บไว้นั้นระเบิด
3.วันที่ 28 พฤษภาคม, กลุ่มคนจีนปิดประกาศชักชวนให้พวกคนจีนนัดปิดร้านและหยุดงาน
4.วันที่ 1-8 มิถุนายน, จีนปิดร้านและหยุดงาน
5.วันที่ 2 มิถุนายน, เกิดความเรื่อง “พระยาระกา” ขึ้น (สำหรับใครที่สนใจลองค้นหาอ่านดูได้ครับ) รวมถึงข้าราชการกระทรวงยุติธรรมได้นัดกันลาออกตามกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
6.วันที่ 8 มิถุนายน, พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในคดี “พระยาระกา” และสั่งลงโทษพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ให้ขังไว้ในพระบรมมหาราชวัง 1 ปี ฐานแต่งเรื่องหมิ่นประมาทกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นอกจากนี้ยังให้ถอดพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) จากบรรดาศักดิ์ เพราะเป็นหัวหน้าพวกกลุ่มข้าราชการที่ลาออก
7.วันที่ 15 กรกฎาคม, เวลา 8 นาฬิกา เกิดเพลิงไหม้โรงภาพยนตร์ที่เรียกว่า “รัตนภาพยนตร์ปีระกา” ของนายซุ่นใช้ รัตนมาลา ลุกลามเป็นเพลิงไหม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ
8.วันที่ 23 ตุลาคม, เวลาเที่ยงคืนล่วงแล้ว 45 นาที พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จสวรรคต
ภาพดาวหางแฮนลีย์ในปี พ.ศ. 2453 จากเหตุการณ์นี้ได้ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งข้อสังเกตว่าดาวหางเป็นที่มาของเหตุการณ์ร้าย
สำหรับ "เหตุการณ์ในต่างประเทศ" มีดังนี้
1.วันที่ 4 พฤษภาคม, คนงาน 25,000 คน นัดหยุดงานที่จังหวัดดันเคอร์ก ประเทศฝรั่งเศสและก่อจลาจล
2.วันที่ 6 พฤษภาคม, สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งจักรวรรดิอังกฤษเสด็จสวรรคต
3.วันที่ 11 พฤษภาคม, เกิดเหตุภัยใหญ่ที่บ่อถ่านหินเว็ลลิงตัน แคว้นเวลส์ มีผู้เสียชีวิต 136 คน
4.วันที่ 26 พฤษภาคม, เรือดำน้ำในกองทัพเรือฝรั่งเศสชื่อ “ปลีวิโย๊ส” ถูกเรือกลไฟชนจมที่ริมฝั่งน้ำเมืองคาเลส์
5.วันที่ 7 มิถุนายน, แผ่นดินไหวทางทิศตะวันออกที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี มีผู้เสียชีวิต 20 คน
6.วันที่ 14 มิถุนายน, ลำน้ำอาหร์ในประเทศเยอรมนีท่วมล้นฝั่งอย่างรวดเร็วมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
7.วันที่ 18 มิถุนายน, รถไฟเป็นอันตราย (เนื่องจากพระองค์ระบุดังนี้เลยไม่ทราบชัดว่าอันตรายจากเหตุใด) ใกล้ตำบลแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิต 16 คน
8.วันที่ 26 มิถุนายน, พวกอนาธิปไตย (Anarchists) จำนวน 100 คนได้ถูกจับกุมที่นครบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เนื่องจากก่อเหตุปาระเบิดในโรงละคร
9.วันที่ 4 กรกฎาคม, รถไฟเป็นอันตรายที่ตำบลเคย์ตัน แคว้น (รัฐ)โอไฮโอ สหปาลีรัฐอะเมริกา (สหรัฐอเมริกา) มีผู้เสียชีวิต 25 คน
10.วันที่ 11 กรกฎาคม, เกิดเหตุเพลิงไหม้เมืองแคมเบ็ลล์ตัน แคนนาดา ประมาณการเสียหายราว 600,000 ปอนด์
เหตุการณ์จากต่างประเทศที่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงบันทึกไว้ยังมีอีกมาก แต่หากนำมากล่าวไว้ก็เกรงว่าจะยืดยาว แต่การที่พระองค์ได้ทรงบันทึกอย่างละเอียดนี้นัยหนึ่งก็น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์นั้นทรงฝังพระทัยกับดาวหางแฮลลีย์อยู่ไม่น้อย
เราอาจจะแย้งได้ว่าเหตุการณ์ที่พระองค์ได้ทรงจดบันทึกนี้ก็เป็นเหตุการณ์ข่าวอุบัติเหตุทั่ว ๆ ไปซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วพอมารวม ๆ กันหลาย ๆ ประเทศก็อาจะทำให้ดูว่ามีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นเยอะ โดยทั้งหมดนี้ก็อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับดาวหางแฮลลีย์ก็ได้
แต่เชื่อว่าการที่พระองค์ได้ย้อนกลับมาตั้งข้อสังเกตต่อดาวหางแฮนลีย์ก็เป็นเพราะว่าในปีเดียวกันนี้พระองค์ต้องสูญเสียพระราชบิดาของพระองค์ เลยน่าจะทำให้พระองค์นั้นฝังพระทัยกับดาวหางแฮลลีย์อยู่ไม่น้อย ประจวบเหมาะกับการที่จักรวรรดิอังกฤษก็ได้สูญเสียพระเจ้าแผ่นดินเช่นกัน ก็น่าจะเป็นการย้ำให้ความเชื่อของพระองค์ที่ว่าดาวหางจะนำมาซึ่งเหตุการณ์ร้ายนั้นหนักแน่นยิ่งขึ้น
แล้วผู้อ่านละครับคิดเห็นอย่างไรกับความเชื่อนี้บ้าง ? หากใครมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องราวทำนองนี้ก็สามารถนำมาเล่าสู่กันฟังได้นะครับ
รายการอ้างอิง
ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.
ประกาศ เรื่อง ดาวหาง ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 9 ตอนที่ 6 วันที่ 8 พฤษภาคม 2435 หน้า 39
ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 4 เรื่อง ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก.
โฆษณา