29 พ.ค. 2021 เวลา 05:30 • ประวัติศาสตร์
• คอมมิวนิสต์กับสังคมนิยม เหมือนกันหรือไม่?
นี่เป็นอีกหนึ่งในคำถามที่ได้สร้างความสงสัยให้กับใครหลายต่อหลายคนเป็นอย่างมาก กับคำถามที่ว่าระหว่างคอมมิวนิสต์ (Communism) กับสังคมนิยม (Socialism) ทั้งสองเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ดังนั้นในบทความนี้ แอดมินจะขออธิบายในแบบคร่าว ๆ กันนะครับ
โดยก่อนอื่นเราจะต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า "ทุนนิยม" (Capitalism) กันเสียก่อน เพราะทุนนิยมคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ขึ้นมา
ทุนนิยมคือรูปแบบของเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ที่มีการปล่อยให้เอกชน (Private) ซึ่งก็คือคนรวยหรือนายทุน สามารถเป็นเจ้าของกิจการและทรัพยากรต่างๆ ได้ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงและปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันได้อย่างเสรี ทุนนิยมจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และทุนนิยมมักจะใช้ควบคู่กับการปกครองที่มีเสรีภาพอยู่เสมอ
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนนิยมก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่อยู่ในชนชั้นกรรมกรและแรงงาน
1
นั่นก็เพราะแรงงานกรรมกรรวมไปถึงเกษตรกรชาวนา พวกเขาจะต้องทำงานให้กับเหล่านายทุน ซึ่งส่วนมากพวกเขามักจะถูกกดขี่จากพวกนายทุนอยู่เสมอ
พวกนายทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นและร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับแรงงานที่รายได้เท่าเดิมและยากจนลง ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมาก ระหว่างคนรวยกับคนจน
2
และนี่เองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแนวความคิดอย่างคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมขึ้นมา โดยทั้งสองแนวคิดต่างก็มีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากทุนนิยมนั่นเอง
1
ถ้าถามว่าทั้งสองมีความแตกต่างกันหรือไม่ คำตอบก็คือแตกต่างกัน นั่นก็เพราะทั้งคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ต่างก็มีวิธีการในการแก้ไขปัญหาจากทุนนิยมที่แตกต่างกัน
สำหรับคอมมิวนิสต์นั้นมีแนวคิดหลักมาจากนักปรัชญาชาวเยอรมันนามว่า คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) โดยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากทุนนิยมนั้น จะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติ" (Revolution)
Karl Marx ผู้ให้กำเนิดลัทธิคอมมิวนิสต์
การปฏิวัติในแนวคิดของคอมมิวนิสต์ คือการยึดเอาทรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างจากพวกนายทุน และนำทรัพยากรที่ได้มานั้นมาแจกจ่ายให้กับผู้คนอย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้จะต้องทำการล้มล้างชนชั้นต่าง ๆ ภายในสังคม รวมไปถึงทุนนิยมให้ออกไปจากสังคมให้หมดสิ้น โดยให้เหลือไว้เพียงแค่ชนชั้นกรรมกรเท่านั้น
พูดง่าย ๆ คือ คอมมิวนิสต์มีเป้าหมายสำคัญ คือการล้มล้างทุนนิยมและชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมให้หมดสิ้นไปนั่นเอง
ซึ่งการปฏิวัติดังกล่าวจะต้องมีผู้นำที่เรียกว่า "เผด็จการโดยชนชั้นกรรมกร" (Dictatorship of the Proletariat) ซึ่งก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party) ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จะทำหน้าที่ซักจูงและนำพาให้สังคมเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมกลายเป็นคอมมิวนิสต์แบบเบ็ดเสร็จ
และเมื่อการปฏิวัติสำเร็จลงจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ยูโทเปีย" (Utopia) ซึ่งก็คือสภาวะที่สังคมไม่มีชนชั้น ไม่มีเงินตรา ไม่มีกฎหมายกฎระเบียบใด ๆ ผู้คนจะอยู่อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด อยู่อย่างสงบสุขและมีสิทธิเสรีภาพ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
2
และนี่ก็คือเป้าหมายสูงสุดของคอมมิวนิสต์ ซึ่งด้วยแนวความคิดแบบนี้ จึงทำให้คอมมิวนิสต์ถูกมองว่ามีความสุดโต่ง และฝืนธรรมชาติของความเป็นมนุษย์
ที่สำคัญก็คือสังคมแบบยูโทเปียที่ว่านี้ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ๆ บนโลกของเราเลย เพราะตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ชาติคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ บนโลกนี้ ล้วนกลับกลายสภาพเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จแทน
แต่สำหรับแนวคิดแบบสังคมนิยมแล้ว แนวคิดนี้ไม่ได้มีแนวคิดสุดโต่งแบบคอมมิวนิสต์ และไม่ได้อาศัยการปฏิวัติเพื่อล้มล้างทุนนิยมหรือชนชั้นในสังคม แต่สังคมนิยมจะอาศัยการประนีประนอมกับทุนนิยมมากกว่า
สังคมนิยมมีแนวคิดที่จะยึดครองทรัพยากรของนายทุนเช่นกัน แต่จะยึดครองเพียงแค่บ้างส่วนเท่านั้น โดยคำนึงถึงความต้องการของสังคมเป็นหลักสำคัญ (จึงเป็นที่มาของชื่อ สังคมนิยม) ตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ที่จะยึดครองทรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่สนใจว่าทรัพยากรนั้นมีคุณประโยชน์หรือมีความจำเป็นหรือไม่
2
สังคมนิยมมองว่าการที่จะทำให้ผู้คนเท่าเทียมกันไดินั้นไม่ใช้การปฏิวัติล้มล้าง แต่เป็นการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกต่างกันให้ได้น้อยที่สุด นายทุนและคนรวยจะต้องทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตน และรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ในการทำให้ผู้คนในทุกชนชั้นมีความเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านทางนโยบายต่าง ๆ อย่างเช่น รัฐสวัสดิการ การเรียกเก็บภาษีจากนายทุนในจำนวนที่สูง เป็นต้น
บางครั้งสังคมนิยมจึงถูกนำไปใช้ควบคู่กับการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ จึงเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม" (Democratic Socialism) ซึ่งถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น กลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวีย (ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็มีสถาบันกษัตริย์ แต่พวกเขาก็สามารถใช้สังคมนิยมในการปกครองได้) เป็นต้น
1
ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้ว่า ทั้งคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมต่างก็เกิดขึ้นมาจากทุนนิยม ด้วยคอมมิวนิสต์มองว่าปัญหาจากทุนนิยมสามารถแก้ไขได้ด้วยการ "ปฏิวัติ" และ "ล้มล้าง"
ในขณะที่สังคมนิยมมองว่าปัญหาของทุนนิยมสามารถแก้ไขได้ด้วยการ "ประนีประนอม" และ "ลดความเหลื่อมล้ำ" ให้ได้มากที่สุด
** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา