29 พ.ค. 2021 เวลา 10:46 • หนังสือ
📚 Book Review Ep.2 : วิชาวางแผนการทำงาน สิ่งสำคัญที่ไม่มีใครเคยสอน
ตั้งแต่เรียนจบมา การวางแผนการทำงานช่วยให้เราบรรลุสิ่งที่เราตั้งใจไว้ แต่ดันไม่มีคนมาสอนนี้สิ
มันเป็นเหมือนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราจะหาได้จากประสบการณ์การทำงานของตัวเอง แต่กว่าจะเก็บครบก็สะบักสะบอมกันเป็นแถวๆ
แต่…..หนังสือเล่มนี้สอนค่ะ “วิชาวางแผนการทำงาน สิ่งสำคัญที่ไม่มีใครเคยสอน” โดย มานาบุ มิซุโนะ Creative Director และ Creative Consultant ผู้มีผลงานมากมาย เล่มนี้จะช่วยให้การทำงานของคุณง่ายไปอี๊กกกกก
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มบางๆ เพียงแค่ 186 หน้า อ่านง่าย ย่อยดี นำมาปรับใช้กับงานเราได้ทันที ถ้าใครสนใจเรื่องการวางแผน การจัดการงาน แนะนำให้ซื้อเลยค่ะ สำหรับคนที่ยุ่งๆ ไม่ว่าจะทำงาน หรือ ทำวิทยานิพนธ์ ถ้านำสิ่งนี้ไปใช้ จะช่วยผ่อนแรงสมองให้เรามากๆ ค่ะ
ส่วนเนื้อหานั้นในเล่มนั้น หลัก ๆ จะ เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอในการทำงานค่ะ เช่น จัดการงานที่เข้ามาไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มเคลียร์งานไหนก่อน ทำให้เราเหนื่อย และเครียดเวลาทำงาน โดยเล่มนี้จะมีเทคนิคดีๆ ง่ายๆ ช่วยสร้างรูปแบบการทำงานที่ดี ทำให้เราทำงานอย่างเป็นระบบ และลดความผิดพลาดในการทำงานได้
มาดูเนื้อหากันเลย เล่มนี้จะมี บทนำ 1 บท และ บททั่วไปอีก 5 บท ค่ะ และ บทสุดท้ายสั้นๆ อีก 1 บท
บทนำ
บทนี้จะเน้นย้ำว่าการวางแผนงานที่ดี คือ การทำให้เป็นรูทีน ตอนแรกฟังแล้วก็ยังเอ๊ะๆ เพราะเราจะคิดเสมอว่างานเราไม่เห็นเป็นรูทีนตรงไหน ทำกี่โปรเจ็คก็ไม่ซ้ำกัน แล้วจะทำยังไง แต่ผู้เขียนซึ่งทำอาชีพ Creative บอกว่า แม้ว่าแต่ละโปรเจ็คแม้ดูว่าไม่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วทุกวันของเขา แทบไม่มีสิ่งใหม่เลย โดยงานทั้งหมดนั้นจะมีโครงสร้าง และเนื้อแท้ของมันเหมือนกันหมด อาจจะมีบางอย่างที่เป็นเรื่องฉุกเฉินเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็จะอยู่ในขอบเขตที่เขาคาดการณ์ไว้แล้ว
หากเราวางแผนให้มันเป็นรูทีนได้….งานก็จะสำเร็จค่ะ
ส่วนอีกสิ่งนึงที่ผู้เขียนย้ำคือ การวางแผน แม้จะดูน่าเบื่อ เสียเวลา แต่หากเรายอมใช้เวลากับการวางแผนงาน เราจะไม่เหนื่อยในอนาคตแน่นอน
2
บทที่ 1 : กำหนด “จุดหมายปลายทาง”
บทแรกนั้นผู้เขียนจะเล่าถึงการวาดภาพ จินตนาการงาน ก่อนที่จะลงมือทำ โดยขั้นตอนแรกเรานั้นจำเป็นต้องกำหนด “จุดหมายปลายทาง” ให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่เราจะทำคืออะไร เพราะถ้าเป้าหมายเราผิดตั้งแต่แรก เราก็อาจจะสร้างอะไรที่ผิดๆ ออกมา นอกจากนี้ยังต้องมีรายละเอียดของงานที่เราจินตนาการอย่างชัดเจน รวมถึงให้จินตนาการถึงงานที่เสร็จแล้วว่างานที่เราทำออกมา “มัน Work จริงๆ หรือไม่ ?” และสุดท้าย กลุ่มเป้าหมายของงานเราคือใคร ? ชอบอะไร ? เพื่อที่จะได้สร้างงานออกมาได้ตรงจุดมากที่สุด
บทที่ 2 : วาด “แผนที่ไปจนถึงจุดปลายทาง”
อย่างที่เกริ่นไปยังบทนำผู้เขียนบอกว่า งานทุกงานเหมือนกันหมด (ที่เราแอบแย้งตอนแรก 555 ว่ามันจะเหมือนได้ยังไงฮะ ) คือ 1. งานทุกอย่างล้วนมีเส้นตาย 2. การทำงานแต่ละส่วนให้เสร็จสมบูรณ์ก็เป็นพื้นฐานที่เหมือนกันทุกงาน โดยเราจะแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ
เพราะฉะนั้นหากเรามีทั้งสองอย่างนี้ จะช่วยให้แผนที่งานของเราชัดขึ้น เช่น
การทำงานออกแบบ จะแบ่งออกเป็น
...
หาข้อมูล --- > กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ---> กำหนดขั้นตอนเขียนใบเสนองาน ---> ทำเป็นลายลักษณ์อักษร --> ใส่ภาพประกอบ ---> เสร็จสมบูรณ์
...
หรือการเช่าบ้าน
ตรวจเงื่อนไขโดยละเอียด --> เลือกบ้านที่สนใจ -->ดูสตรีทวิว --> ดูตัวบ้าน --> ต่อรองเงื่อนไข ---> ตัดสินใจ
....
ในการทำงานแต่ละครั้งล้วนมีขั้นตอนคงเดิมคือ รูทีน เพราะฉะนั้นหากเรากำหนดรูปแบบของมันออกมาแล้ว เราจะไม่เสียเวลาไปคิดถึงการวางแผนให้ปวดหัวอีกเลย นอกจากนี้หากเรามีขั้นตอนแรก และเราลงเวลาในการทำงานของเรา ก็จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น
บทที่ 3 : มุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด - เวลา และประสิทธิภาพ
บทนี้จะให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาเวลา และความสำคัญของเวลา ผู้เขียนเน้นว่า การรักษาเวลาสำคัญมากกว่าการสร้างผลงานที่ดี หากเรามีเส้นตายเราควรจัดการงานให้เรียบร้อยก่อนเส้นตาย และ หากงานบางงานไม่มีเส้นตาย ให้เราจง “สมมุติ” มันขึ้นมา
ชอบที่สุดคือในบทนี้ผู้เขียนเปรียบเรื่องการจัดการเวลาเหมือนกับการ “เล่นไพ่นกกระจอก” โดยผู้เขียนจะวางไพ่ซึ่งแทนงานแต่ละชิ้นโดยให้ความสำคัญแรกอยู่ทางซ้าย และเรียงตามลำดับลงไปเรื่อยๆ เมื่อลูกค้ามีงานใหม่เข้ามาแทรก และบอกว่าช่วยหน่อย ผู้เขียนจะเคลียร์งานเก่าให้เสร็จหนึ่งอย่าง และดึงไพ่เก่าออกเพื่อสร้างช่องว่าง จากนั้นเอามาลำดับในการทำงานที่ได้มาให้เหมาะสมว่าควรอยู่ตรงไหน จากนั้นถึงจะวางไพ่ลงไป
ผู้เขียนบอกว่า “ทั้งเตตริส” และ “ไพ่นกกระจอก” สามารถประยุกต์เอามาใช้จัดการเวลาได้ [ เห็นภาพเลยยยย 5555 ]
บทที่ 4 : วางแผนการทำงานเพื่อสร้าง “ที่ว่าง” ในสมอง
เมื่อเรามี List งานเยอะๆ ในหัว เราอาจจะเครียดจนสมองแตก (ตายไปเสียก่อน อันนี้เพิ่มเอง 555 ) เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงแนะนำว่าให้สร้างพื้นที่ในสมองโดยการเอา List ทั้งหมดออกมาจากหัวค่ะ ซึ่งวิธีที่เขาแนะนำง่ายๆ คือ เขียนใส่กระดาษ , ใส่สมาร์ทโฟน ไม่ก็ ฝากให้คนอื่นทำ
ยิ่งเรามีพื้นที่ว่างเท่าไหร่…..งานยิ่งออกมาดีเท่านั้น…….
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังแนะนำอีกว่า การต่อสู้กับอารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราคิดแล้ว เราจงทำ อย่าให้อารมณ์ขี้เกียจมายืดเวลาการทำงานออกไป เพราะไม่งั้นแล้วมันจะส่งผลต่องานอื่นๆ เป็นทอดๆ อีกด้วย
บทที่ 5 : ทำงานเป็นทีมจนกว่าจะถึงที่หมาย
บทสุดท้ายจะเน้นในเรื่องของการทำงานเป็นทีม และการจัดการงานร่วมกัน โดยหนังสือเน้นว่า การทำงานเป็นทีมที่ดีนั้นทุกคนจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี มองเป้าหมายเหมือนกัน เมื่อสร้างสัญญาเวลาว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ก็พยายามให้เสร็จตามเวลานั้น และการแบ่งปันช่วยเหลือ ถ้าหากอีกฝ่ายไม่สามารถทำได้ แล้วเราช่วยเขาได้ก็จะช่วยเพิ่มความถูกต้องในการทำงาน
และเรื่องที่อยากจะกดไลค์ 5,000 ครั้งที่สำคัญต่อการทำงานเป็นทีมมากๆ นั้นก็คือ “เรื่องของการสื่อสารอย่างจริงใจ”
ผู้เขียนบอกว่าการทำงานเป็นทีมนั้นเราจะต้องมีการสื่อสารกันเสมอ หากทำงานไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ เพื่อให้คนอื่นเข้ามาช่วย หรือให้คนแนะนำ และหากเวลามีงานใหม่แทรกเข้ามาในระหว่างที่เราทำงานเก่าอยู่นั้น ให้เราถามทันทีว่าอยากได้เมื่อไหร่ เพราะเมื่อเราไม่รู้เวลา เราก็จะประเมินเวลาของตัวเองไม่ได้
ส่วนในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ก็จบได้อย่างน่าประทับใจค่ะ ผู้เขียนบอกว่า “งานของคุณ จะสร้างความสุขให้กับผู้อื่น” หากเราตั้งใจทำงานที่อยู่ตรงหน้า สร้างผลงานที่ดีออกมา มันก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกใบนี้ได้ เหมือนทฤษฎีที่เรียกว่า “Butterfly Effect” ได้แล้วค่ะ
สำหรับคนที่อยากจัดสรรเวลางานของตัวเอง หรือวางแผนงานของตัวเองเพื่อให้งานที่ออกมาดีมากขึ้น ง่ายมากขึ้น ขอแนะนำเล่มนี้เลยนะคะ มันดีจริงๆ และจะไม่ผิดหวังเลยค่ะ
1
โฆษณา