29 พ.ค. 2021 เวลา 10:53 • ท่องเที่ยว
มัสยิดต้นสน (กุฎีใหญ่)
“มัสยิดต้นสน” หรือ “กุฎีบางกอกใหญ่” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กุฎีใหญ่” … เป็นมัสยิดซุนนีที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองตรงข้ามวัดโมลีโลกยารามโดยมีคลองคูเมืองและกำแพงเมืองคั่น
คำว่า “กุฎี” หรือ ‘กะดี’ ... หมายถึงโรงที่ประชุมทำพิธีฝ่ายศาสนาอิสลาม หรือศาสนสถานของชาวมุสลิม โดยสันนิษฐานว่าคำนี้น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเดินทางมาสู่ราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี
จากการบอกเล่าและบันทึกต่างๆ ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้น่าจะมีชุมชนมุสลิมมาตั้งแต่ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ ... โดยพระยาราชวังสันสนีย์ (มะหมุด) บุตรเจ้าพระยารามเดโชชัย ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือที่ถูกส่งมากำกับการสร้างป้อมร่วมกับทหารฝรั่งเศส ได้สร้างไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ดังนั้น ... ประวัติมัสยิดและชุมชนแห่งนี้ มีเรื่องราวย้อนไปถึงเมืองบางกอก ฝั่งธนบุรี เมืองท่าหน้าด่านในริมแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตชุมชนการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ดึงดูดพ่อค้าและผู้คนหลากหลายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รวมถึงกลุ่มชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อสาย
เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.2310 กลุ่มชาวมุสลิมที่เรียกกันว่า ‘แขกแพ’ (ชาวมุสลิมที่อาศัยเรือนแพประกอบอาชีพค้าขายในกรุงศรีอยุธยา) ได้ถอดแพอพยพหนีลงมาสมทบกันอยู่ที่ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ และเนื่องจากพื้นที่บางกอกใหญ่ เป็นชุมชนมุสลิมและมีศาสนสถานดั้งเดิมตั้งอยู่แล้ว ชุมชนแห่งนี้จึงขยายตัวและมีความสำคัญในฐานะเป็นนิวาสถานของบรรดาขุนนางแขกและพ่อค้ามุสลิมจำนวนมาก
‘กะดี’ ที่ชาวมุสลิมนำมาเผยแพร่บนแผ่นดินอยุธยา จึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี และทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอยุธยา
ตลอดสี่ศตวรรษที่ผ่านมามัสยิดต้นสนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และออกแบบก่อสร้างใหม่จนมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ... ในแต่ละครั้งองค์ประกอบต่างๆ ของมัสยิดล้วนออกแบบให้สวยงามสมกับที่เป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์และพึงเคารพ
อาคารสุเหร่าเดิมสร้างเป็นเรือนไม้สักยกพื้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา รูปลักษณ์ยังเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม เหมือนพระอุโบสถวัดในศาสนาพุทธ .. เป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมอิสลามจากต่างถิ่น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการสร้างมัสยิดใหม่อีกครั้ง โดยสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและปลูกต้นสนคู่ไว้ที่หน้าประตูกำแพงมัสยิด ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า “มัสยิดต้นสน”
สิ่งสำคัญภายในมัสยิด
“มิหร็อบ” (mihrab) .. คือพื้นที่สำหรับให้อิหม่ามเข้าไปนำละหมาด (การนมัสการพระผู้เป็นเจ้าของมุสลิม) มักทำ เป็นซุ้มโค้งที่มีขนาดพอให้คนคนหนึ่งเข้าไปนั่งหรือยืนได้ มิหร็อบจะตั้งอยู่ตรงกลางกำแพงฝั่งหนึ่งในมัสยิดที่เรียกว่ากำแพงกิบลัต เป็นเครื่องหมายระบุทิศทางสู่ศาสนสถานนามว่า “กะอ์บะฮ์” อันเป็นศูนย์รวมศรัทธาของมุสลิมทั่วโลก ณ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย อันเป็นทิศทางที่มุสลิมต้องหันไปในยามละหมาด ด้วยเป็นศาสนศิลป์ที่มีความสำคัญมิหร็อบจึงได้รับการออกแบบอย่างดีเสมอ
1
มิหร็อบของมัสยิดต้นสนมีมาแล้วทั้งหมด 3 หลัง
มิหร็อบหลังที่ 1 .. เป็นศาลาทรงไทยประเพณี จำหลักหน้าบันเป็นลายกระจังก้านขด ยกช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองสวยงามแบบไทยๆ คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและใช้งานมาจนถึง พ.ศ. 2495
มิหร็อบหลังที่ 2 สร้างใน พ.ศ. 2497 ... มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์กับอาหรับประยุกต์ มิหร็อบหลังนี้รับใช้ชุมชนมาจนถึง พ.ศ. 2552
มิหร็อบหลังปัจจุบันของมัสยิดต้นสน .. สร้างขึ้นเมื่อมัสยิดต้นสนได้รับการออกแบบปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2552 ภายใต้แนวคิดที่ว่ามัสยิดต้นสนเป็นมัสยิดเก่าแก่และเป็นศูนย์กลางของชนมุสลิมในฝั่งธนบุรีเฉกเช่นมัสยิดสำคัญในประเทศมุสลิมต่างๆ รวมถึงการสื่อถึง “การเป็นประชาชาติอิสลาม” ควบคู่ไปกับภาพลักษณ์ของมัสยิดที่เห็นเด่นชัดจากสถาปัตยกรรมอิสลามทั่วไป ทำให้การสร้างมิหร็อบหลังใหม่ทำด้วยศิลปะอิสลามในประเทศมุสลิม
จากการศึกษาพบว่าสถาปนิกออกแบบมิหร็อบของมัสยิดต้นสนโดยนำแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมอิสลามในประเทศอิหร่านและประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นรูปแบบของมัสยิดที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มิหร็อบของมัสยิดต้นสน ... ทำจากหินอ่อนและปูนปั้นสีขาว มีลักษณะเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเจาะเข้าไปในกำแพงเป็นซุ้มรูปช่องโค้งยอดแหลม มีความสูงใหญ่และมีพื้นที่กว้างพอให้คนคนหนึ่งเข้าไปนั่งหรือยืนได้อย่างสะดวก
ภายในมิหร็อบนั้นว่างเปล่า มีเพียงศาสนภัณฑ์ที่จำ เป็นในการประกอบศาสนกิจวางอยู่ อาทิ แท่นวางคัมภีร์อัลกุรอานและพรมละหมาดสำหรับอิหม่าม พื้นของมิหร็อบมีการลดระดับให้ต่ำลงกว่าระดับพื้นของโถงละหมาดภายในมัสยิดเล็กน้อย ที่สองข้างของมิหร็อบยังมีช่องโค้งทรงเดียวกันแต่มีขนาดเล็กกว่าขนาบอยู่ทั้งสองข้างและมีโคมไฟตั้งอยู่ภายใน
ภายในมิหร็อบตกแต่งด้วยลายอักษรประดิษฐ์ ลายพรรณพฤกษา และลายเรขาคณิตอยู่ตลอดทั่วพื้นผิว โดยเริ่มจากด้านบนของมิหร็อบที่เป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
การประดับมิหร็อบของมัสยิดต้นสนด้วยข้อความที่เสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่มิหร็อบ การใช้โครงสร้างของช่องเว้าช่วยขยายเสียงของอิหม่าม การใช้ลายประดับที่สื่อถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า การปรากฏข้อความสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าสำหรับกล่าวขณะละหมาด การออกแบบมิหร็อบให้แลดูคล้ายช่องประตูที่เปิดไปสู่สวรรค์ เหล่านี้ ได้เสริมสร้างความศรัทธาให้แก่มุสลิมในยามละหมาดอีกด้วย
มิมบัร หรือแท่นแสดงธรรม ... เป็นที่ให้อิหม่าม หรือ คอเต็บ (ผู้แสดงธรรม) ขึ้นกล่าวคุตบะฮ์ (แสดงธรรม) หรือแจ้งข่าว หรือปราศรัยในโอกาสที่จะมีการละหมาดในวันศุกร์ .. มีลักษณะเป็นแท่นยืน มีที่นั่งพีก และบันไดขึ้น มีตวามสูงเพียงพอที่จะให้คนอยู่ไกลมองเห็นและได้ยินทั่วถึง
มิมบัร ของมัสยิดต้นสน .. มีลักษณะสวยงาม หลังคาโคงรูปครึ่งวงกลม ที่หน้าจั่วแกะสลักลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม และมีแผ่นกระดานใหญ่ ซึ่งมีรอยแกะสลักภาษาอาหรับและรูปวิหารกะบะ รวมทั้งผังของมัสยิดในนครเมกกะ เป็นหลักฐานที่พบในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สุสานประวัติศาสตร์มัสยิดต้นสน
สุสานของชาวมุสลิม เรียกว่า “กุโบร์” ... เป็นส่วนประกอบสำคัญของชุมชนมุสลิม มักตั้งอยู่ติดกับมัสยิด ชาวมุสลิมจะถือว่า กุโบร์คือสวนแห่งความเงียบสงบที่คุ้นเคย
‘กุโบร์มัสยิดต้นสน’ เป็นสุสานประวัติศาสตร์ ... เป็นสถานที่หลับใหลตลอดกาลของบุคคลสำคัญเชื้อสายเปอร์เซีย ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระราชดำเนินมาร่วมประกอบพิธีฝังศพเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) สมุหนายกคนแรกในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกท่านว่า “เจ้าพระยาจักรีแขก” และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และพระราชทานที่ดินขยายพื้นที่กูโบร์จากเดิม
กุโบร์มัสยิดต้นสน ... ตั้งอยู่ในบริเวณด้านหลังและด้านข้างของมัสยิด ปกคลุมด้วยแมกไม้เขียวขจีเปรียบเสมือนปอดเล็กๆ ของเมือง ภายในพบกับป้ายปักหลุมศพที่คนในชุมชนเรียก ‘ไม้นีซ่าน’ (มาจากคำว่า Nisan ภาษามลายู) จำนวนมากเรียงรายเป็นทิวแถว ทั้งเป็นระเบียบบ้าง ทั้งซ้อนเกยกันบ้างแน่นขนัด
ป้ายชื่อสกุลปีชาตะ-มรณะ บนไม้นีซ่านเหล่านี้ ... บางอันแสดงถึงความเก่าแก่ ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว ด้วยเป็นสถานที่ร่างของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเคยมีบทบาทในวงการราชการ การทหาร ศาสนา ค้าขาย หรือสร้างคุณูปการอื่นๆ หรือบรรพบุรุษสายตระกูลต่างๆ ล้วนฝังร่างอยู่ที่นี่
กุโบร์นั้นแบ่งออกเป็น 2 โซนหลักๆ บริเวณพื้นที่ด้านที่ติดกับตัวมัสยิดเป็นสุสานของมุสลิมนิกายซุนนี ... ที่โดดเด่นเป็นที่สะดุดตา คือกลุ่มไม้นิซ่านหินทรายโบราณขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายใบเสมาซึ่งถูกล้อมรั้วไว้
บริเวณตรงกลางกุโบร์คือสถานที่ฝังร่างของเหล่าขุนนางแขก เช่น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา ผู้มีบทบาทสำคัญเป็นทหารคู่พระทัยพระเจ้าตากสินมหาราชปราบชุมนุมต่างๆ และนำไปสู่การสถาปนากรุงธนบุรี
นอกจากนี้ ยังมีหลุมศพของ พระยาราชบังสัน (ฉิม) แม่ทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 2 ขุนรามฤทธิไกรบุตรพระลักษมณา (หม่าน) และตวนน้อยบุตรพระลักษมณา
ในบริเวณใกล้เคียงนี้ยังมีบุคคลสำคัญอีกหลายท่าน เช่น หลวงเสน่ห์สรชิต (อาหมัด) เจ้ากรมพระแสงปืนต้นขวา หลวงโกชาอิศหาก (นักโกด่าอาลี) ผู้ทำหน้าที่ล่ามหลวงรับรองเซอร์จอห์น ครอเฟิร์ด ผู้แทนของอังกฤษครั้งเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาพระราชไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 3 พันเอกพระยากัลยาณภักดี (ยะกูบ กัลยาณสุต) ผู้นำอิหม่ามมัสยิดต่างๆ ในจังหวัดพระนครและหัวเมืองสำคัญเข้าถวายพระพรไชยมงคลรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2458 – 2459 พร้อมได้รับพระราชทานเสื้อครุยประจำตำแหน่งอิหม่าม
รวมไปถึงปูชนียบุคคลอื่นๆ และบรรพบุรุษของคนในชุมชนมัสยิดต้นสนอีกมากมาย อาทิ มานะจิตต์, มุขตารี, โยธาสมุทร, สิทธิวณิช, ชลายนเดชะ, ภู่มาลี ฯลฯ (และอีกมากมายที่ไม่ยกมากล่าวได้ทั้งหมด ผู้เขียนขออภัยทายาทมา ณ ที่นี้) และไปเกี่ยวดองกับชุมชนมุสลิมอื่นๆ ในฝั่งธนบุรีในโซนบางกอกน้อย และบางอ้อ-บางพลัด ด้วยเช่นกัน
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อปรับปรุงกุโบร์ มีการค้นพบแท่นก่ออิฐถือปูนคล้ายฐานชุกชี มีรูปทรงปูนปั้นศิลปะอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลาย ซึ่งก็สันนิษฐานกันว่าเป็นแท่นเหนือหลุมศพ (มะก่อม) ของขุนนางมุสลิมสำคัญในสมัยอยุธยา บ้างคาดเดาว่าน่าจะเป็นของพระยาราชวังสันเสนีย์ (มะหมู๊ด) จางวางกรมอาสาจาม อันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในหลุมศพที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังพอมีหลักฐาน
กุโบร์ที่ผู้คนต่างสำนัก ต่างความคิดฝังอยู่ร่วมกัน
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของกุโบร์มัสยิดต้นสนซึ่งหาที่เปรียบเทียบได้ยาก คือการเป็นกุโบร์ที่รวมความแตกต่างทางด้านสำนักคิดของชาวมุสลิมนิกายซุนนี-ชีอะฮ์ (เจ้าเซ็น) อยู่ร่วมกัน เป็นเครื่องยืนยันความถ้อยทีถ้อยอาศัยของผู้คนในอดีตถึงปัจจุบันมายาวนานร่วม 300 ปี
ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของกุโบร์ของมุสลิมชีอะฮ์ ด้วยเหตุที่ในช่วงแรกเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะเพิ่งจะอพยพจากอยุธยากันมา ชาวมุสลิมทั้งสองนิกายจึงใช้กุฎีใหญ่ (มัสยิดต้นสน) ในการประกอบพิธีทางศาสนาด้วยกัน แต่ด้วยความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาแตกต่าง ส่งผลให้แขกเจ้าเซ็นหรือมุสลิมชีอะฮ์ขอพระราชทานที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อแยกตัวออกไปสร้าง “กุฎีหลวง” (แต่เดิมตั้งอยู่ปากคลองมอญ) และ “กุฎีล่าง” หรือ “กุฎีเจริญพาศน์” ในปัจจุบัน ดังนั้นมัสยิดของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในย่านนฝั่งธนบุรีจึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนมัสยิดต้นสน โดยมีกุโบร์ของบรรพบุรุษเป็นตัวเชื่อมนั่นเอง
2
ที่นี่ยังเป็นที่ฝังศพแขกเจ้าเซ็นมีบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลุมศพของพระยาจุฬาราชมนตรีสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จำนวน 9 ท่าน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด ขุนนางเปอร์เซียในสมัยอยุธยา รวมถึงขุนนางสายเจ้าเซ็นอื่นๆ อีก
ในบรรดาไม้นิซ่านของกลุ่มนี้ ชิ้นที่โดดเด่นคือแผ่นไม้สักทองแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม ปักอยู่บนหลุมศพของ พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ผู้เป็นบิดาของ เจ้าจอมละม้าย (อหะหมัดจุฬา – ซึ่งก็ฝังอยู่ที่กุโบร์นี้เช่นกัน) ในรัชกาลที่ 5
ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ถวายงานใกล้ชิดในกรมท่าขวาและกระทรวงยุติธรรม จนเมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2453 ได้รับพระราชทานไม้นิซ่านชิ้นนี้ไว้ปักเหนือหลุมศพนั่นเอง โดยน่าจะเป็นคนเดียวในที่ได้รับพระราชทานไม้ปัก ส่วนมากจะเป็นดินพระราชทาน
เจ้าจอมองค์สำคัญที่เป็นชาวมุสลิม ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ถูกฝังไว้ที่นี่ด้วย คือ .. เจ้าจอมหงส์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่๑ .. เจ้าจอมจีบในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ .. เจ้าจอมละม้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕
ในแง่ของประวัติศาสตร์โบราณคดี ... กุโบร์มัสยิดต้นสนยังอนุรักษ์ไม้ปักหลุมศพจำนวนมากเหล่านี้ไว้ให้เกิดคุณค่า และมีความหมายว่าเป็น ‘หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์กล้างแจ้ง’ สำหรับคนไทยเกี่ยวกับคนมุสลิมที่มีอดีตอันยาวนานบนผืนดินนี้
อาคารสมาคมสนธิอ้สลาม ... สร้างขึ้นใน พศ. 2458 เป็นอาคารรับเสด็จเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมมีสยิดต้นสน และชาวชุมชน พร้อมด้วยพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เมื่อ 26 เมย. 2489 ครั้งนั้นได้มีการปรับปรุงอาคารไม้ 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยาประดับลวดลายขนมปังขิง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา