29 พ.ค. 2021 เวลา 12:12 • ปรัชญา
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์
15 เมษายน ·
อธิษฐานจิตเพื่อผู้อื่น จิตย่อมว่างสงบร่มเย็นเป็นสุข
อธิบายคำศัพท์ภาษาไทย “เร่าร้อน” มิใช่ “รุ่มร้อน”
เช้าของวันใหม่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๔ วันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์นี้ ข้าพเจ้าตื่นสายไปสักหน่อย เหตุเพราะปลุกปล้ำแสดงธรรมตัดต่อทำคลิปวิดีโอต่อเนื่องกันไปกินเวลายาวนานมากเกือบถึงเวลาจำวัดคือ ๒๐.๐๐ น. รู้ทั้งรู้ว่าการทำงานทางด้านมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ที่แสงรังสีฉายออกมากระทบสรีระ “แสงเข้าตา” จะส่งผลทำให้ตนพักผ่อนนอนหลับลำบาก มันจะไม่หลับได้ง่ายๆ แต่เพราะมีปกติเป็นคนทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ เรียกว่า “ไม่เสร็จไม่เลิก” จึงเป็นเหตุให้ไม่คำนึงถึงข้อเสียอะไรเลย แม้จะส่งผลกระทบให้ตนจำวัดหลับได้ยากลำบากก็ตาม
ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาในวันที่ ๑๕ ทำสรีรกิจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระลึกถึงกิจวัตรประจำวันในช่วงเช้า คือการไปเดินจงกรมที่ช่องทางเดินไปมาด้านหลังองค์พระพุทธนรสีห์ ตรีโลกเชษฐ์ มเหทธิศักดิ์ ประทับเป็นประธานอยู่อย่างตระหง่านงามภายในพระอุโบสถวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจขึ้นมาทันที ดีใจที่จะได้ไปเดินจงกรมที่ช่องทางเดินไปมาด้านหลังองค์พระประธานนั้น เอ ทำไมจึงเกิดความดีใจก็ไม่รู้ เพราะอะไร ข้าพเจ้าพิจารณาดูกรรมที่ตนกระทำคือ การเดินจงกรม นั่งกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ทางด้านสติปัฏฐานภาวนานั้น ก็ถึงบางอ้อร้องอ๋อขึ้นมาทันทีว่า เพราะการเดินจงกรมนั่งกำหนดอารมณ์กรรมฐานเป็นการกระทำกรรมที่ให้ผลเป็นสุข (สุขอย่างแท้จริงด้วย) ถ้าทำอะไรแล้วมีผลความสงบร่มเย็นเป็นสุขตอบแทน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จิตมันจะเกิดความดีใจ โสมนัสชื่นบาน ตั้งแต่ก่อนที่จะทำ ขณะที่ทำ และทำเสร็จแล้ว
ข้อนี้เป็นความจริงอย่างถึงที่สุด ไม่เชื่อก็ลองบำเพ็ญกิจนี้ให้ได้แม้นเหมือนข้าพเจ้าดูสิ
ข้าพเจ้านุ่งสบงทรงจีวรห่มดองด้วยผ้าจีวรผืนเดียวไม่ทาบพาดผ้าสังฆาฏิ (ถ้าทาบพาดผ้าสังฆาฏิ น้ำหนักของข้าพเจ้าก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นกิโล เพราะผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มหนักเอาการ) ออกจากกุฏิเดินไปที่พระอุโบสถหยุดยืนที่ซุ้มของช่องทางเดินไปมาด้านหลังองค์พระประธานประนมมือน้อมไหว้พร้อมกับเปล่งวาจาอธิษฐานจิตไปด้วยว่า
“พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พุทฺโธ เม นาโถ ธมฺโม เม นาโถ สงฺโฆ เม นาโถ ข้าพเจ้าเกล้ากระผมขอปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม เดินจงกรม นั่งกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์หลวงพ่อปู่ พระพุทธนรสีห์ ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ ขอให้เป็นกุศลอันยิ่ง เพื่อประโยชน์แก่ญาติโยมสาธุชนชาวพุทธทั้งหลายที่ได้มาทำบุญกุศลถวายวัตถุทานไทยธรรมให้แก่ข้าพเจ้าเกล้ากระผม ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ร่มเย็นในร่มเงาของพระพุทธศาสนา มีความสุขปราศจากทุกข์โรคภัยอุปัทวันตรายทั้งหลายทั้งสิ้นด้วยเทอญ”
ขณะตั้งจิตอธิษฐานอยู่นี้ข้าพเจ้าสัมผัสความว่างของจิต ความเย็นของจิตแกมความโสมนัสชื่นบานใจได้เป็นอย่างดี ไม่มีกลิ่นอายแห่งความร้อนที่ต้นกำเนิดมันมาจากราคะ โทสะ โมหะเลย
ข้าพเจ้ารู้สึกฉงนสงสัยว่า “เอ ทำไมดวงจิตที่สมมติว่าเป็นของเรานี้จึงตกอยู่ในลักษณะอาการว่างเย็นอย่างนี้ได้นะ” ข้าพเจ้าได้คำตอบทันทีเลยว่า “เพราะเราเป็นบรรพชิตมีชีวิตเนื่องด้วยคนอื่น เมื่อจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ก็ต้องทำให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น มิได้ทำให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ‘ปรารถนาเพื่อคนอื่น ดีกว่าปรารถนาเพื่อตนเอง’ จิตมันจึงเกิดอาการปล่อยวาง ว่างเย็น ไม่เกิดโลภะโลภอยากได้ของของใคร การตั้งจิตอธิษฐานเพื่อผู้อื่นอย่างนี้ จะเกิดความรุ่มร้อนเพราะไฟแห่งราคะ ไฟแห่งโทสะ ไฟแห่งโมหะ ย่อมมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้”
ข้าพเจ้าขอแทรกอธิบายคำคำหนึ่งไว้ในตรงนี้สักหน่อย คือคำว่า “เร่าร้อน” มิใช่ “รุ่มร้อน” (เร่าร้อนกับรุ่มร้อนต่างกันอย่างสิ้นเชิง) คำว่า “เร่าร้อน” นี้ เราสัมผัสเซ้นส์ในทางภาษาไทยได้ว่า “ร่านเร่ารุมเร้าด้วยกามราคะ เรียกว่าถูกไฟกามราคะกำหนัดใคร่ในกาม อยากเสพกามกลุ้มรุมสุมทรวงให้ร่านเร่าร้อนอยู่อย่างนั้น” คำความอธิบายนี้ไปตรงกับคำมาคธีภาษาบาลีที่อยู่ในอาบัติสังฆาทิเสสข้อกายสังสัคคะถึงการเคล้าคลึงกับด้วยกายของมาตุคามสตรีเพศแม่ว่า “โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน” แปลว่า “มีจิตแปรปรวนกำหนัดย้อมด้วยราคะ”
ดังนั้น คำว่า “เร่าร้อน” ในภาษาไทยนี้จึงสื่อความหมายไปทางชั่วหยาบ เป็นคำหยาบโลนมากๆ ด้วย โดยเฉพาะคำว่า “ร่าน” “เร่า” ฆราวาสคนใดใช้เขียนแสดงเป็นคำพูดนี้ออกมาก็เท่ากับสะท้อนย้อนกลับไปถึงตัวของเขานั่นเองแหละว่า “เขามักเป็นคนมีปกติเร่าร้อนด้วยราคะ กำหนัดใคร่ (เงี่ยน) อยู่บ่อยๆ และมักจะบำบัดความใคร่ของตนเองได้อยู่บ่อยๆ”
หากเขาใช้คำว่า “เร่าร้อน” นี้พาดพิงไปถึงพระภิกษุผู้ซึ่งถือว่าละกามออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิตอนาคาริกไม่เรือนแล้ว ก็หมายถึงส่อเจตนาร้าย กล่าวร้ายพระภิกษุรูปนั้นไป ท่านเรียกว่า “กล่าวตู่ด้วยถ้อยคำที่เป็นเท็จ”
อาบัติสังฆาทิเสสสองสามข้อต้นๆ นั้น ท่านถือว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ พระภิกษุที่จะต้องอาบัติสองสามข้อนั้นได้ก็ต้องเป็นคนมีจิตชั่วหยาบ คือ “โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน” แปลว่า “มีจิตแปรปรวนกำหนัดย้อมด้วยราคะ” นั่นเอง
รู้สึกว่าจะมีคนใช้คำว่า “เร่าร้อน” นี้กับข้าพเจ้า สมัยที่วิวาทะกันในเรื่องวัดพระธรรมกายที่เกิดเป็นกรณีโด่งดังก่อนหน้านั้น คนนั้นขออนุญาตเอ่ยนามให้ทราบในที่นี้สักหน่อย คงไม่เป็นไร คือ “ศ. (พิเศษ) ดร. บรรจบ บรรณรุจิ” โดยเขียนโต้ตอบในหน้าวอลล์ของท่านพาดพิงมาถึงตัวข้าพเจ้าโดยตรง และเขียนพาดพิงมาอยู่ได้เรื่อยๆ จนข้าพเจ้าทนไม่ไหวต้องแปลงร่างเป็นนกอินทรีย์บินเดี่ยวโฉบลงไปที่รังของท่าน คนทั้งหลายที่คอยชมเชียร์แชร์ ศ. (พิเศษ) ดร. บรรจบ บรรณรุจิ สมัยนั้น เมื่อทราบว่าพระที่ดร. บรรจบ เขียนพาดพิงถึงบ่อยๆ แท้ที่จริงก็คือพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ นี่เอง ก็หยุดชะงักเงียบกันไปเลย พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นพระมหาป.ธ. ๙ นาคหลวง วัดสร้อยทอง แต่ไม่ใช่ กลายเป็นพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ไปได้อย่างไร
ในเวลานั้น ศ. (พิเศษ) ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ก็ยังเขียนเรื่องราวประหนึ่งเป็นนิยายเรื่องสั้นโดยอ้างว่า “ผมสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้วลงนอนหลับฝันไปตื่นขึ้นมาก็ทบทวนความฝันนั้นได้ว่า มีพระหนุ่มรูปหนึ่งเอาหนังสือกรณีศึกษาพระภิกษุณีมาให้ผมอ่าน.....” เป็นตุเป็นตะ เรียกว่าปั้นน้ำเป็นตัวไปเรื่อย บทความที่เขียนนั้นมีเจตนาพาดพิงถึงตัวข้าพเจ้าพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์โดยเฉพาะ และชาวธรรมกายก็ช่วยกันแชร์บทความที่เป็นเท็จนั้นออกไปมาก ถึง ๕๐๐-๖๐๐ ครั้ง
ในเวลาต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบข่าวจากดร. ในมจร. คนหนึ่งที่มักจะไปเยี่ยมไข้ดร. บรรจบ อยู่บ่อยๆ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ ดร. บรรจบ ล้มป่วยลงถูกแอดมิดนอนอยู่ในโรงพยาบาล ตอนนั้นดร. บรรจบก็ฝักใฝ่การเมือง เล่นการเมืองอยู่ ให้ชื่อเป็นพรรคของพระพุทธศาสนา หาเสียงเพื่อจะไปสมัครลงเลือกตั้งได้เป็นสส. แล้วก็จะเข้าไปออกกฎหมายเพื่อพระพุทธศาสนาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ทว่าก็ไปไม่ถึงฝันนั้น พวกอดีตนักบิณฑ์ทั้งหลายถูกล้มกระดานลงระเนระนาด แพ้ราบคาบ ยุติบทบาททางการเมืองกันไปทั้งหมดเลย
ข้าพเจ้ายังคิดไปว่า เพราะดร. บรรจบ มาใช้คำว่า “เร่าร้อน” ซึ่งส่อเจตนาร้ายต่อข้าพเจ้าหรือเปล่า และที่สำคัญแต่งเรื่องเท็จปั้นน้ำเป็นตัวเป็นตุเป็นตะให้คนแชร์ออกไปมากมาย จึงมาประสบกับชะตากรรมล้มป่วยลง กว่าจะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติได้ดังเดิมก็ใช้เวลายาวนานมาก
และอีกคนหนึ่งขออนุญาตสงวนนามไว้ (จำชื่อไม่ได้ด้วย) อดีตมัคคุทายกวัดชนะสงครามคนก่อน เสียชีวิตไปนานแล้ว สมัยนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์มีความดำริให้จัดปฏิบัติธรรมทำกรรมฐาน เจ้าประคุณฯ พูดกับข้าพเจ้าในเช้าของวันหนึ่งว่า “วัดของเรามีมหาเปรียญธรรมมากแล้ว แต่ไม่มีการทำกรรมฐานเจริญภาวนาเลย ถ้าจะพาทำกรรมฐานเจริญภาวนา เจ้าอาวาสก็ต้องออกนำทำก่อน” ในปีแรกนั้น เจ้าประคุณสมเด็จก็ให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบแสดงธรรม เรื่อง “สติปัฏฐานภาวนา” และมอบหมายให้มัคคุทายกวัดคนนั้นทำหน้าที่อาราธนาและฟังธรรม
มัคคุทายกวัดคนแก่วัดก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มักจะแสดงภูมิความรู้ของตนเอง และโต้แย้งข้าพเจ้า บางทีก็มีอคติโต้แย้งข้าพเจ้าไปต่างๆ นานา ต่อมาๆ ก็ได้ทราบข่าวมัคคุทายกวัดชนะฯ คนนั้นล้มป่วยลง ถึงกับลิ้นจุกปาก พูดอะไรไม่ออก ถูกแอดมิดนอนอยู่ในโรงพยาบาล โยมนภาเพ็ญไปเยี่ยมไข้กลับมาหาข้าพเจ้าที่กุฏิพูดด้วยความกลัวว่า “ท่านอย่าทำอะไรโยมเลยนะ โยมกลัว เห็น.....ออกไมค์โต้แย้งเถียงท่านอยู่บ่อยๆ สุดท้ายกลายเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร นอนป่วยลิ้นจุกปากเลย”
สมัยนั้นข้าพเจ้าก็เป็นพระปฏิบัติทำกรรมฐานอยู่เรื่อยๆ เหมือนทุกวันนี้แหละ การกล่าวพาดพิงถึงพระปฏิบัติทำกรรมฐานส่อเจตนาร้าย โดยเฉพาะใช้คำว่า “เร่าร้อน” นั่นแหละ น่ากลัวมาก คนที่กล่าวพาดพิงมาถึงตัวข้าพเจ้าก็เป็นเจ้าของกรรมชั่วหยาบนั้นไปเรียบร้อยแล้ว แก้คืนน่าจะไม่ได้ เพราะมันสำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตั้งแต่เขาเขียนข้อความและข้าพเจ้าก็ได้อ่านเจอแล้ว ตามกรณีวิบากกรรมของสองคนที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนั้น ชะตากรรมของชายคนนั้นที่เขียนคำว่า “เร่าร้อน” พาดพิงถึงตัวข้าพเจ้าโดยเฉพาะจะเป็นอย่างไรต่อไป น่าติดตามดูมากๆ
วกกลับมาหาเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล ชวนให้โสมนัสเบิกบานใจดีกว่า
หลังจากข้าพเจ้ายืนประนมมือน้อมไหว้องค์พระประธานหลวงพ่อปู่พร้อมกับเปล่งวาจาตั้งจิตอธิษฐานอย่างนั้นแล้ว ก็ออกเดินจงกรมที่ช่องทางเดินไปมาด้านหลังองค์พระประธานนั้นทันที ข้าพเจ้าสืบเท้าก้าวออกไปอย่างเนียบเรียบและเชื่องช้าอย่างได้สติสมาธิดีมาก จนเลี้ยวเดินจงกรมเข้าไปทางด้านข้างซ้ายมือขององค์พระประธานที่มีอ่างน้ำมนต์ตั้งเรียงรายอยู่ ๓ อ่าง ข้าพเจ้าพลันคิดขึ้นได้ถึงถ้อยคำสนทนากันระหว่างคุณศักดิ์เกษมกับข้าพเจ้าในวันหนึ่งว่า
“อาตมามองว่า น้ำพระปริตรธรรมที่อาตมานั่งกรรมฐานจับด้ายสายสิญจน์และสวดพระปริตรธรรม มีรัตนสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้นนี้ดีกว่าน้ำมนต์ในพระอุโบสถนะ อ่างน้ำมนต์ในพระอุโบสถนั้นเขาผูกโยงด้ายสายสิญจน์ไว้กับองค์พระประธานเท่านั้น พระไม่ได้จับด้ายสายสิญจน์นั้นสวดพระปริตรธรรมอะไรเลย และการลงทำวัตรเข้าเย็นของพระก็ไม่ได้สวดปริตรธรรมอย่างเป็นกิจลักษณะเหมือนอาตมาสวดอยู่ทุกวันนี้”
คุณศักดิ์เกษม ตอบว่า
“น้ำมนต์ในพระอุโบสถ ผมมองไปถึงอานุภาพขององค์พระประธานและของเทวดาที่รักษาพระประธานพระอุโบสถไว้ มิได้มองไปถึงพระว่าท่านจะจับด้ายสายสิญจน์สวดพระปริตรหรือไม่ได้จับด้ายสายสิญจน์สวดพระปริตร ส่วนน้ำปริตรธรรมในกุฏิของหลวงพี่ (เรียกอย่างให้เกียรติ คุณศักดิ์เกษมมีอายุมากกว่าอาตมาประมาณ ๕-๖ ปี) ผมมองว่าเป็นน้ำมนต์จากพระปฏิบัติ”
ความจริงข้าพเจ้าก็คิดมาหลายวันแล้วว่า “เอาไงดี เราจะมาตักเอาน้ำมนต์ในพระอุโบสถนี้ไปนั่งกรรมฐานพร้อมกับสวดพระปริตรในกุฏิของเราหรือเปล่า อย่าเลย ประเดี๋ยวจะกลายเป็นการ ‘คิหิวัจจะ’ ขวนขวายเพื่อคฤหัสถ์มากไป”
ข้าพเจ้ายังตัดสินใจไม่ได้ แต่พอถึงวันนี้ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้แล้ว “โยมเขาก็ถวายความอุปถัมภ์บำรุงให้แก่เรามาเป็นเวลายาวนาน เรื่องแค่นี้ทำไมจะทำไม่ได้ เราก็มีปกติทำให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศลเป็นมงคลแก่ญาติโยมทั้งหลายอยู่แล้วมิใช่หรือ”
หลังจากเสร็จจากการเดินจงกรมนั้นแล้วข้าพเจ้าก็รีบกลับมาเอาบาตร ๙ นิ้ว ไปเติมน้ำดื่มจากเครื่องกรองน้ำตราแอมเวย์จนเกือบใกล้เต็มขอบปากบาตร เอาสายบาตรคล้องคอพร้อมกับอุ้มประคองเดินไปจนถึงภายในพระอุโบสถ เทน้ำดื่มจากเครื่องกรองน้ำตราแอมเวย์ลงในอ่างน้ำมนต์หนึ่งก่อน ยกบาตรเปล่าไม่มีน้ำเหลือติดอยู่ในนั้นมาตั้งไว้ที่อ่างน้ำมนต์แรก แล้วตักน้ำมนต์เทใส่ลงในบาตรจนเกือบใกล้เต็มขอบปากบาตรเหมือนเดิม
ขณะที่ข้าพเจ้าใช้สายบาตรคล้องคอและอุ้มประคองเดินกลับมากุฏิก็มีผู้ชายคนหนึ่งจะเอาข้าวของใส่บาตร ข้าพเจ้าห้ามว่า “นี่บาตรน้ำนะโยม ไม่มีอาหารอยู่ในนี้เลย” เขาตอบว่า “ไม่เป็นไรครับ” ข้าพเจ้าจึงรับข้าวของของเขาบนฝาที่ปิดบาตรอยู่นั่นเอง
พอกลับมาถึงกุฏิแล้วข้าพเจ้าก็จัดบาตรใหญ่ ๙ นิ้ว และบาตรเล็ก ๖ นิ้ว ตั้งเอาไว้ให้เรียบร้อย ถ่ายภาพบันทึกเป็นประวัติศาสตร์การตักน้ำมนต์ในพระอุโบสถใส่บาตรเดินนำกลับมา (แดดร้อนเปรี้ยงได้เหงื่อไหลซก หอบเหนื่อยหายใจแรง เป็นการออกกำลังกายอย่างดีเลย) ถือด้ายสายสิญจน์นั่งกรรมฐานเจริญภาวนาและสวดพระปริตรธรรมต่อ
วันที่ ๑๕ เมษายน ๖๔ นี้ ข้าพเจ้าไม่คาดคิดมาก่อนว่า คุณศักดิ์เกษม โยมศุทธีรา พร้อมญาติมิตรจะมารดน้ำดำหัวให้แก่ข้าพเจ้า เพราะคุณศักดิ์เกษมบอกว่า “ร้านผมปิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๑๒-๑๕ เมษายน วันอังคารกับวันพฤหัสบดีคงไม่ได้มาส่งเพลนะครับ”
แต่กลายเป็นว่าบุญสมพงศ์กัน บุญอาหารมาประชุมกัน ตอนอธิษฐานจิตอุทิศส่วนบุญกุศลภาวนาสวดพระปริตรธรรมไปให้โยมอุปัฏฐากทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็ยกคุณศักดิ์เกษม โยมศุทธีรา เตียไม้ไทย ขึ้นเป็นประธานเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าพร้อมกับญาติโยมอุปัฏฐากทั้งหลายทั้งที่ปวารณาทั้งที่ไม่ได้ปวารณานานๆ มาทำบุญที่กุฏิข้าพเจ้าสักครั้งหนึ่งให้ได้รับเอาบุญกุศลภาวนาสวดพระปริตรธรรมนี้ไปแล้ว
คุณศักดิ์เกษม โยมศุทธีรา สองสามีภรรยาผู้ใฝ่บุญใฝ่ธรรมคู่นี้ก็มาพร้อมกับญาติมิตรของตน ทำบุญถวายทานภัตตาหารเพลปิ่นโตในวันนี้ได้ และก็ได้ตักเอาน้ำมนต์น้ำพระปริตรธรรมในบาตรใหญ่ ๙ นิ้วนั้นไป
ข้าพเจ้าเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้คุณศักดิ์เกษม และโยมศุทธีราฟังแล้ว ก่อนจะกล่าวว่า “น้ำมนต์สองต่อนี้ ต่อแรกในพระอุโบสถ ต่อสองอาตมาจับด้ายสายสิญจน์นั่งกรรมฐานและสวดพระปริตร อุทิศส่วนบุญกุศล น่าจะขลังมากนะ”
คุณศักดิ์เกษมพูดแกมหัวเราะว่า “เพิ่มฤทธิ์ให้อีกน่ะหลวงพี่ ขอบพระคุณ” พร้อมกับยกมือไหว้เดินออกจากกุฏิไป
น่าอนุโมทนากุศลจิตกุศลศรัทธาของ คุณศักดิ์เกษม โยมศุทธีรา เตียไม้ไทย คู่สามีภรรยาผู้ใฝ่บุญใฝ่ธรรมทั้งสองท่านนี้ว่าช่างดีจริงๆ.
หมายเหตุ : การถ่ายภาพด้วยเลนส์ 24 f1.4 เป็นเลนส์มุมกว้าง ไม่ว่าค่ายไหน จะเกิด distortion คือการบวมบิดเบี้ยวของภาพ ในที่นี้ตัวต้นแขนข้าพเจ้าจึงดูใหญ่ขึ้นผิดปกติไปสักหน่อย นี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่าคิดอะไรมาก (มีส่วนจากการทรมานกายด้วย).
โฆษณา