29 พ.ค. 2021 เวลา 14:49 • ศิลปะ & ออกแบบ
ศิลปะคืออะไร? เราจะนิยามบริบทของศิลปะได้อย่างไร หากศิลปะไม่ได้เป็นสิ่งสวยงาม เรายังจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นศิลปะอยู่หรือไม่ ศิลปะเป็นการเมืองได้หรือเปล่า? วาทกรรมทางศิลปะถือเป็นงานศิลปะด้วยหรือไม่
ประเด็นต่างๆเหล่านี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาผ่านผลงานหลายต่อหลายชิ้นในทศวรรษที่ 1960 อันเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสงสัย ว่าศิลปะคืออะไรกันเเน่
หลายคนอาจนึกไปถึงภาพวาดบนผืนผ้าใบ ภาพถ่ายบนฝาผนัง ผลงานที่เเขวนอยู่ในหอศิลป์ รูปปั้นในสวนสาธารณะ ชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์ หรือบางคนอาจนึกไกลไปถึง "อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์"
แต่จะมีใครเชื่อบ้างไหมว่า โถฉี่ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งซากศพ ผัดไทย อุจจาระ ก็กลายเป็นศิลปะได้เหมือนกัน
One and Three Chairs (1965) by Joseph Kosuth. Source Wikimedia Commons
ใช่แล้วค่ะ เรากำลังจะพูดถึงงานศิลปะที่ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต หรือเเม้เเต่สิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างเวลาเเละสถานการณ์ ก็มีโอกาศที่จะกลายเป็นศิลปะได้พอๆกัน งานศิลปะแบบนี้นี่เอง ที่สร้างความงุนงงสงสัย และความไม่เข้าใจให้เเก่ผู้ชมงาน มากที่สุดประเภทหนึ่ง
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับศิลปะที่เรียกว่า "คอนเซ็ปชวลอาร์ต" กันค่ะ ไปดูกันเล้ย
"คอนเซ็ปชวลอาร์ต" เริ่มต้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960 จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา ยุโรป และกระจายมาถึงเอเชีย ศิลปินประเภทนี้มักทำงานในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แฮพเพนนิ่ง บอดี้อาร์ต แลนด์อาร์ต ศิลปะการจัดวาง ศิลปะการเเสดงสด ศิลปะการถ่ายภาพ ฯลฯ
ตัวอย่างศิลปะ Body art
ศิลปินคอนเซ็ปชวล ปฏิเสธแนวทางเเละขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของศิลปะอย่างสิ้นเชิง พวกเขามองว่าความคิดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดและพอเพียงเเล้วสำหรับศิลปะ
ส่วนสิ่งอื่น อย่างความงาม สุนทรี ทักษะ ฝีมือของศิลปิน หรือแม้เเต่การเเสดงออกทางอารมณ์ และมูลค่าทางการตลาด เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนส่วนใหญ่อาจมองว่า คอนเซ็ปชวลอาร์ต "ไม่ใช่ศิลปะ"เลยด้วยซ้ำไป
"คอนเซ็ปชวลอาร์ต" ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวทางศิลปะแบบดาดา และศิลปินอย่าง "มาร์เชล ดูชองป์" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงาน "เรดี้เมดส์" ของเขา ที่สั่นสะเทือนทุกนิยามของศิลปะ เเละทำลายกรอบและกฎเกณฑ์เดิมๆ ในวงการศิลปะลงอย่างลาบคาบ
‘Fountain’ (1917) by Marcel Duchamp (replica). Source Wikimedia Commons
ด้วยการหยิบเอาข้าวของเก็บตกเหลือใช้มาทำให้เป็นศิลปะ โดยแทบจะไม่มีการดัดแปลงอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่เขาหยิบเอา "โถฉี่" ธรรมดาๆที่วางขายในร้านสุขภัณฑ์มาวางเป็นงานศิลปะหน้าตาเฉย
ศิลปิน"คอนเซ็ปชวล"ไม่เพียงละทิ้งความงาม หากแต่ยังต่อต้านและลดทอนความสูงส่งของศิลปะ และปฏิเสธค่านิยมที่มองว่าศิลปะต้องทำจากทักษะอันเลิศล้ำชำนาญของศิลปินแต่เพียงผู้เดียวอย่างสิ้นเชิง
Le Vide (The Void) exhibition displayed at the Iris Clert Gallery. Source
เพราะพวกเขามองว่าศิลปะไม่ได้เป็นเพียงอาหารตา เเละความเชี่ยวชาญชำนาญก็สร้างได้แต่เพียงผลงานที่สวยงามซึ่งเกิดจากความเคยชิน แต่ไม่สามารถสื่อสารความคิดออกมาได้
ถึงเเม้ศิลปินคอนเซ็ปชวลจะได้รับอิทธิพลมาจากความเรียบง่าย การละทิ้งรายละเอียดในผลงานและการไม่แสดงออกทางอารมณ์ของศิลปิน "มินิมอลลิสม์" แต่พวกเขาก็ไปสุดทางกว่านั้น ด้วยการปฏิเสธแม้เเต่รูปแบบพื้นฐานที่สุดในการสร้างงานศิลปะ
IKB 191, monochromatic painting by Yves Klein. Source Wikimedia Commons
อย่างการทำงานประติมากรรมหรือจิตรกรรม สำหรับะวกเขางานศิลปะไม่จำเป็นต้อง ดูเหมือนงานศิลปะอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้า หรือแม้เเต่ไม่จำเป็นต้องมีผลงานให้เห็นเลยก็ได้
ยกตัวอย่างศิลปินชาวอเมริกัน "โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก" เจ้าของผลงาน "Erased de kooning Drawing (1953)"
Erased de Kooning Drawing, 1953
เป็นการที่เขาไปขอภาพวาดเส้นของ "เดอ คูนนิง" มาเพื่อลบให้เหี้ยนเต้ ถ้าจะถามว่าทำไมเขาถึงไม่ลบผลงานตนเองไปลบผลงานคนอื่นทำไม นั่นเป็นเพราะเขาเชื่อว่า ถ้าจะทำให้ความคิดกลายเป็นศิลปะ ผลงานที่ถูกลบต้องเป็นของคนอื่น เพราะถ้าเขาลบผลงานของตน ผลลัพธ์ก็จะไม่เป็นอะไรมากไปกว่าการลบงานตนเองทิ้ง!
ผลงานครั้งนี้ของเราเชนเบิร์กตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตนอยู่ของศิลปะ และท้าทายผู้ชมให้ครุ่นคิดว่า การที่ศิลปินคนหนึ่งลบผลงานของศิลปินอีกคนทิ้ง เป็นกระบวนการสร้างงานศิลปะตรงไหน แล้วที่เป็นศิลปะได้ ก็เพราะมันทำโดยศิลปินชื่อดังอย่างเราเชนเบิร์กหรือเปล่า
สุดท้ายนี้มันไม่สำคัญค่ะว่างานศิลปะจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะถ้ามันมีรูปทรงทางกายภาพ มันก็ต้องมีลักษณะที่คล้ายกับบางสิ่งบางอย่างอยู่ดี และท้ายที่สุดไม่ว่ามันจะมีลักษณะยังไงศิลปะก็ต้องเริ่มต้นด้วยความคิดเสมอ
หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วยนะคะ ยินดีต้อนรับทุกคำติชมค่ะ ขอบคุณค่ะ😊
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : google
: Pinterest
โฆษณา