30 พ.ค. 2021 เวลา 05:54 • ท่องเที่ยว
กะดีเจริญพาศน์ และ มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม
1
“กะดีเจริญพาศน์” .. เป็นกะดีเก่าแก่ของแขกเจ้าเซ็น กะดีแห่งนี้มีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า “กะดีกลาง” หรือ “กะดีล่าง” เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งยังหลงเหลืออยู่
“กะดีเจริญพาศน์” .. ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ใกล้กับสะพานเจริญพาศน์ เป็นอิมามบาระฮ์ชีอะฮ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง ถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์
ปัจจุบันนับได้ว่ากะดีแห่งนี้เป็นตัวแทนที่สามารถถ่ายทอดภาพลักษณ์ของอาคาร “กะดีชาวมุสลิมนิกายชีอะห์” ที่เคยสร้างขึ้นในอดีต ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันแผ่นดินรัตนโกสินทร์ด้วย
ประวัติ
“กะดีเจริญพาศน์” .. เดิมเรียกว่า กุฎีล่าง สร้างโดยพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถือเป็นกุฎีแห่งที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนกุฎีแห่งแรกคือ “กุฎีหลวง” ซึ่งสร้างในรัชกาลเดียวกัน
บุรพชนของชาวชีอะฮ์เชื้อสายเปอร์เซียในบริเวณกุฎีนี้มาจากเมืองกุม ประเทศอิหร่าน ถือเป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานอันเก่าแก่และในปัจจุบันก็ยังมีผู้สืบเชื้อสายอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าที่อื่น ๆ ด้วยมีมัสยิดอีกสองแห่งที่อยู่ใกล้เคียงคือ “มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม” และ “มัสยิดดิลฟัลลาห์”
… ด้วยเหตุนี้กุฎีล่างจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "กุฎีกลาง" เพราะตั้งอยู่ระหว่างมัสยิดทั้งสอง และด้วยที่เป็นชุมชนชีอะฮ์ขนาดใหญ่ ผู้คนจึงเรียกชุมชนมุสลิมนี้อย่างรวม ๆ ว่า "พวกสามกะดีสี่สุเหร่า"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างสะพานเจริญพาศน์ 33 ในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุครบ 33 พรรษา จึงได้ตั้งชื่อสะพานดังกล่าว เมื่อสะพานแล้วเสร็จ กุฎีล่างจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อทางการเป็น "กุฎีเจริญพาศน์" ตามชื่อสะพานมาจนถึงปัจจุบัน
สถาปัตยกรรม
“กะดีเจริญพาศน์” .. เป็นเรือนมนิลาประดับด้วยไม้ฉลุ มีศิลปะแบบขนมปังขิง หลังคาประดับกระเบื้องโมเสกสีสันสดใส
พิธีแห่เจ้าเซ็น
เมื่อถึง “เดือนมะหะหร่ำ” จะมีพิธีที่ไทยเรียกว่า "พิธีเจ้าเซ็น" หรือ "แห่เจ้าเซ็น" ที่กระทำในสิบวันแรกของเดือน เพื่อระลึกถึงอิหม่ามฮุเซ็น หลานของนบีมุฮัมมัด ที่ถูกสังหารที่กัรบะลาอ์
ในพิธีจะมีการแห่ตุ้มบุด หรือ โต๊ะราบัด ซึ่งคือเครื่องจำลองคานหามบรรจุศพอิหม่ามฮุเซ็นมาแห่ และมีการแสดงความเสียใจด้วยการทุบอก เรียกว่า มะต่ำ พร้อมกับการขับโศลกเรียกว่า มะระเสี่ย
มีการสวมเครื่องแต่งกายด้วยผ้าคลุมสีขาวเรียกว่า กัฟฟาหนี่ ซึ่งแทนผ้าห่อศพอิหม่ามฮุเซ็น นอกจากนี้ยังมีการแห่แหนสิ่งที่รำลึกถึงการตายของอิหม่าม รวมทั้งมีการเดินลุยไฟ และการควั่นหัวเพื่อแสดงศรัทธา
ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีหมายรับสั่งให้นำพิธีกรรมดังกล่าวไปถวายให้ทอดพระเนตรในพระบรมมหาราชวังหน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ติดต่อกันถึงสองปี (ในปี พ.ศ. 2358 และ พ.ศ. 2359) และมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จชมพิธีดังกล่าวอยู่เสมอ
ครั้งหลังสุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทอดพระเนตร ณ กุฎีเจริญพาศน์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496
ระบั่น
ระบั่น … เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่งที่พี่น้องชาวมุสลิมชีอะห์ (เปอร์เซีย) บรรจงทำขึ้นเฉพาะในเทศกาลเจ้าเซ็นเพียงเท่านั้น เรียกว่า “ระบั่น” งานเครื่องหอมศาสตร์ดั้งเดิมเก่าแก่ที่เกิดจากภูมิปัญญาชนิดนี้ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือผู้ที่สืบสานต่อจากผู้ที่ทำในอดีต จัดว่าเป็นงานเครื่องหอมที่รู้กันในหมู่พี่น้องชาวชีอะห์ (เปอร์เซีย) ไม่ได้แพร่หลาย เนื่องจากทำใช้ในพิธีเจ้าเซ็นเท่านั้น
ในค่ำคืนเดือนมุฮัรรอม หรือที่คนไทยเรียกว่า มะหะหร่ำ ที่ “3 กุฎี 4 สุเหร่า” คือ กุฎีหลวง กุฎีเจริญพาศน์ กุฎีปลายนา (มัสยิดดิลฟัลลาห์) และมัสยิดผดุงธรรม จะอบอวลด้วยกลิ่นควันหอมในทุกช่วงของพิธีกรรม ซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะที่บรรดาแขกเจ้าเซ็นจะตระเตรียมและใช้ในการประกอบพิธีเจ้าเซ้นเท่านั้น … เครื่องหอมดังกล่าวเรียกขานกันในหมู่แขกเจ้าเซ็นว่า “ระบั่น”
“ระบั่น” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาฟาร์ซี (ภาษาอิหร่านในปัจจุบัน) หมายถึง เครื่องหอม หรือ กลิ่นหอม … การใช้ระบั่นของแขกเจ้าเซ็นนั้นมีมาตั้งแต่สมัยครั้งกรุงศรีอยุธยา.. ดังปรากฏในจารึกจดหมายเหตุรายวันการเดินทางสู่ประเทศสยาม ในปี คศ. 1865 และ 1866 โดยบาทหลวง เดอ ซัวซีย์ ที่บรรยายถึงพิธีกรรมของพวกแขกมัวร์ว่า “… พวกแขกมัวร์ที่มั่งมีศรีสุข ก็ตั้งโต๊ะบูชาที่หน้าบ้านของตน เผาเครื่องหอม กำยาน กระแจะจรุณจันทร์ ..”
รานละเอียด “ระบั่น” ของกุฎีหลวง ประกอบไปด้วย อ้อยแดง ใบชะลูดแห้ง จันทน์หอม เนื้อไม้อย่างดีหรือกัลปังหา กำยาน และน้ำตาลทรายแดง
นำอ้อยมาปอกเปลือกออกแล้วสับให้ละเอียด ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำใบชะลูดแห้ง จันทน์หอม กัลปังหา มาสับให้เป็นเศษเล็กๆ ส่วนกำยานที่มาเป็นก้อนก็ต้องตำให้ละเอียด
เมื่อทุกอย่างพร้อม ให้นำน้ำตาลทรายแดงมาเคี้ยวในกระทะให้เหนียวข้น แต่อย่าให้ถึงกับแห้ง แล้วนำเครื่องปรุงทุกอย่างมาคลุกเคล้าในกระทะ พร้อมกับเอาผงกำยานซึ่งไม่ต้องตำให้ละเอียดนัก โรยปนเคล้าลงไป และเมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ตักขึ้นใส่ในถาด เอาไปตากแห้งเพียงแดดเดียว แล้วเก็บใส่ภาชนะเคลือบที่เก็บกลิ่นได้ดี
การใช้ “ระบั่น” ในพิธีกรรม จะเตรียมถ่านที่ติดไฟจนเป็นถ่านแดง นำ “ระบั่น” มาโรยลงไปบนถ่านที่เตรียมไว้ จะเกิดควันที่ส่งกลิ่นหอมอบอวลและขรึมขลังไปทั่วบริเวณงานพิธี พร้อมทั้งยะงร่ำเสื้อผ้าอาภรณ์ของผู้มาร่วมงานอีกด้วย
มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม
มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม ... เป็นสุเหร่าแห่งแรกของ แขกสามกะดี – สี่สุเหร่า
มัสยิดผดุงธรรมแห่งนี้แต่เดิมตั้งอยู่ด้านหลังวัดเครือวัลย์วรวิหารซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับสถานที่ตั้งกะดีหลวงซึ่งมักจะเรียกกันติดปากว่า บ้านปากคลองมอญ
มัสยิดผดุงธรรมเป็นสุเหล่าแห่งแรกของชาวมุสลิมเชื้อสายชีอะห์ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 อีกทั้งยังก่อตั้งขึ้นในนามของมัสยิดอีกด้วย
เรามีโอกาสรับประทานอาหารกลางวันร่วมพร้อมเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงพิเศษรสชาติสไตล์เปอร์เซียแต่มีการปรับให้เข้ากับรสชาติแบบไทยเรา เมนูมื้อกลางวันในวันนี้นี้ คือ ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ (ใส่หญ้าฝรั่น) ไก่กะบับ เครื่องดื่มชะระบัต และของว่างคืออินทผาลัม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา