31 พ.ค. 2021 เวลา 06:23 • หนังสือ
"ความแตกต่างระหว่างคนรุ่นสงครามเย็นและคนรุ่นโบว์ขาวเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ขณะที่คนรุ่นสงครามเย็นยังคงยอมรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง คนรุ่นหลานของเขากำลังถูกท้าทายด้วยโลกแห่งการดิสรัปต์ (disruptive eorld) ได้รับการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านพ่อแม่รุ่นใหม่ที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น พร้อมกับเข้าถึงวื่อแบบใหม่ที่สร้างให้พวกเขามีโลกทัศน์แตกต่างจากคนรุ่นสงครามเย็น พวกเขาเต็มไปด้วยความกลัว ความกัวล และความโกรธ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ และอนาคตที่ไม่แน่นอน..."
สงครามเย็น (ใน)ระหว่าง โบว์ขาว, กนกรัตน์ Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน
เราตัดสินใจอยู่สักพักว่าจะหยิบหนังสือเล่มนี้มารีวิวยังไงดี เริ่มจากตรงไหนก่อน ตัดส่วนไหนออกได้บ้าง เพราะคิดว่าหากใครที่อยากจะทำความเข้าใจถึงความขัดแย้งทางการเมือง "ระหว่างรุ่น" ในปัจจุบัน คงไม่อาจพลาดเล่มนี้ไปได้
นี่เป็นหนังสือที่ทำให้เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สู่แนวความคิดของคนแต่ละวัย
ในหนังสือเล่มนี้ได้แบ่งคนออกเป็น 3 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ (1) คนรุ่นสงครามเย็น (Baby boomer) (2) คนรุ่น(ใน)ระหว่าง (GenX) และ (3) คนรุ่นโบว์ขาว (GenZ) ที่มีความแตกต่างกันจากสภาพสังคมไทยและสังคมโลกที่ได้หล่อหลอมตัวตนของพวกเขาให้มีความคิด แนวทางการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน และความต่างที่มีช่องว่างระหว่างกันเยอะได้ทำให้จูนกันไม่ติด และเกิดความขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้น
เราอาจจะไม่พูดถึงว่าคนแต่ละรุ่นที่ว่ามาแตกต่างอะไรบ้าง เพราะก่อนหน้าเราเคยนำเสนอภาพไปแล้ว แต่วันนี้เราจะพูดถึงหนังสือว่าเล่มนี้มีอะไรบ้าง และให้คำตอบในคำถามอะไร
เอาล่ะ เราชอบการแบ่งพาร์ทของเล่มนี้ที่ค่อย ๆ ไล่สเต็ปไปว่าที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นอย่างไร อย่างเช่น วัยเด็กของคนรุ่นสงครามเย็นที่เติบโตในยุคที่ประเทศไทยเป็น "เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย" หากลองนึกภาพตามการที่ได้เติบโตมาในประเทศที่กำลังรุ่งเรือง จีดีพีมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมันคงจะมีความหวังเต็มประดาเลยใช่ไหมล่ะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากในสภาวการณ์ของบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความหวังเช่นนั้นจะมีความไม่ลงรอยของประชาธิปไตย เพราะมีการสลับสับเปลี่ยนการปกครองรัฐบาลเผด็จการทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เศรษฐกิจยังคงเติบโตเรื่อย ๆ จะทำให้คนยุคนั้นพึงพอใจกับสังคมที่เป็นอยู่ และไม่อยากให้โลกเปลี่ยนแปลง
ต่อด้วยการพูดถึงการเติบโตของคนรุ่นโบว์ขาวที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บทที่ 2 นี้เปิดมาด้วยความหมายของคำศัพท์อย่างบทก่อนหน้า (และบทอื่น ๆ ก็เปิดด้วยคลังศัพท์ที่เกี่ยวข้อง) เช่น disuption, Articial Intelligence (AI) ที่เรา ๆ คุ้นเคยกันดี และออกจะหวาดกลัวว่ามันจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์อย่างที่เราคาดไม่ถึง การฉายให้เห็นสภาพสังคมไทยจากจุดที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน แล้วกราฟค่อย ๆ ดิ่งลงอย่างน่ากลัว เศรษฐกิจ สังคมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงลงสู่ที่ต่ำ ขณะที่คนรุ่นสงครามเย็นยังอยู่ในโลกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเส้นขนานมันไม่มีทางมาบรรจบกันได้ บทนี้จึงใช้การเปรียบเทียบผ่านตัวละคร 2 ตัว นั่นคือ ตัวแทนของคนรุ่นสงครามเย็นกับตัวแทนของคนรุ่นโบว์ขาว (เราเข้าใจว่าผู้เขียนดัดแปลงคพูดมาจากบทสัมภาษณ์ของคนแต่ละรุ่น) ให้เห็นความแตกต่างทางความคิด เช่น ตัวละครคนยุคสงครามเย็นที่มีชีวิตมหาวิทยาลัยปี 4 เจอญาติผู้ใหญ่ที่ทำงานในบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นซึ่งกำลังเติบโตเพราะตลาดภายในและตลาดส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็ว กับตัวละครคนรุ่นโบว์ขาวในวัยม.4 ที่ยังคงต้องรีบตื่นแต่หัวรุ่งเพื่อขึ้นรถเมล์ให้ทันเข้าแถวตอนเช้า และเจอกับญาติผู้ใหญ่ที่บ่นว่าตอนนี้ยอดขายทีวีลดลงมาก เพราะมันกำลังถูกมือถือดิสรัปต์ ส่วนตลาดส่งออกตอนนี้บริษัทต่างชาติได้ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามกันหมด ลงงานจะถูกปิดลงในไม่ช้า นั่นหมายความว่าตลาดภายในไม่เติบโตแล้ว ตลาดส่งออกยังไหลออกนอกประเทศไปอีกด้วย
นี่ก็พอทำให้เห็นภาพได้แล้วว่ามีความแตกต่างในเชิงเศรษฐกิจมหภาคขนาดไหน และยังมีความแตกต่างด้านอื่นๆ จนเกิดโลกที่ไม่ยอมเปลี่ยนและโลกที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ต่อด้วยเข้าสู่การเมืองคลังศัพท์ที่เราคุ้นหูกันดีนั่น คือ IO, ignorance อย่างที่รู้กันว่าก่อนหน้านี้คนรุ่นโบว์ขาวใช้สื่อออนไลน์ในการต่อสู้โดยการแสดงความคิดเห็น ส่งเสียงผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีคนรุ่นนี้จำนวนมากที่อ่านและสะสมข้อมูลผ่านทางโซเชียลมีเดียซึ่งรวดเร็วและรับได้อย่างกว้างขวาง บทนี้มีการพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างเป็นลำดับ การยุบพรรคอนาคตใหม่ การอุ้มหายวันเฉลิม จนถึงการถูกดับฝันด้วยโควิด-19 ซึ่งนั่นเป็นอนาคตที่คนรุ่นโบว์ขาวเห็นแล้วว่าไม่อาจฝากความหวังไว้กับรัฐบาลปัจจุบันได้
จากความหวังที่ไม่มีหวังก็เริ่มมีพัฒนาการสู่การเมืองบนท้องถนน แฟลชม็อบ มีการเสนอข้อเรียกร้อง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รวมถึงมีการใช้แอชแท็กในโลกออนไลน์ไปพร้อมกัน
บทนี้ยังได้อธิบายภาพการขยายตัวของการชุมนุม มีกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้น จนถึงวันที่มีการจับกุมแกนนำ จนเกิดการชุมนุมไร้แกนนำ
การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่มันยังเคยเกิดมาก่อนในประเทศอื่น ซึ่งหลังจากที่หนังสือเบ่มนี้ฉายภาพการชุมนุมที่ผ่านมาแล้ว ก็ได้นำเสนอเคสจากประเทศอื่น ๆ เหตุการณืทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ มานำเสนอให้เราเข้าใจเหตุการณ์มากขึ้น
มันอาจจะทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์บาดแผลของการต่อสู้ อาจจะคิดว่าการได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องต่อสู้กันทั้งนั้น แต่เดี๋ยวก่อน ในเมื่อเราเห็นแล้วว่ามันมีบาดแผลเกิดขึ้นก่อนจะถูกกลบด้วยความเจริญงอกงาม แล้วเราจะเลือกไม่สร้างบาดแผล แต่ช่วยกันลงสีสันของความงดงามนั้นกันเลยไม่ได้เหรอ?
บทสุดท้ายเป็นการพูดถึงความหวังของการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้คนรุ่นสงครามเย็นกับคนรุ่นโบว์ขาวเข้าใตกันมากขึ้น ซึ่งอาจตะเรียกได้ว่าต้องหาสะพานทอดเข้าสู่คนทั้งสองรุ่น และจะเป็นใครไปไม่ได้เลยหากไม่ใช่คนรุ่น(ใน)ระหว่างที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของเบบี้บูมเมอร์ และก็เป็นพ่อแม่ของคนรุ่นโบว์ขาว เพราะดูเหมือนว่าคนรุนนี้จะมีความเข้าใจ และยังได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยีอีกด้วย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็มีข้อเสนอถึงคนรุ่น(ใน)ระหว่างสำหรับการวางตัวในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สุดท้ายภาคผนวกของหนังสือยังได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างละเอียดอีกด้วย
เคยมีคนแนะนำหนังสือเล่มนี้ว่าเหมาะกับการซื้ออ่านเองและซื้อฝากผู้ใหญ่ที่บ้าน หลังจากที่อ่านแล้วเราคิดว่าคำแนะนำนั้นไม่ผิดเลย สำหรับเราเล่มนี้เป็นหนังสือที่เหมาะกับทุกช่วงวัยที่อยากเปิดใจทำความเข้าใจระหว่างกัน
อีกเรื่องหนังสือปรับมาจากงานวิจัย แต่รับรองเลยว่าเข้าใจไม่ยาก ภาษาถูกปรับให้เข้าถึงเนื้อหาได้ง่าย มีกราฟ มีภาพไม่น่าเบื่อจนเกินไปด้วย
โฆษณา