31 พ.ค. 2021 เวลา 10:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วัฏจักรเศรษฐกิจแต่ละช่วงลงทุนอะไรดี?
วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นการเปลี่ยนแปลง 4 ระยะที่หมุนวนเป็นวัฏจักรเสมอ ครบรอบวัฏจักรก็ประมาณ 5-10 ปี การเรียนรู้วัฎจักรแต่ละช่วงจึงค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่จะดำเนินไปกับการดำเนินชีวิตของเราเสมอ การวิเคราะห์นี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ช่วยในการเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการลงทุนนะคะ
ระยะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว (Early Recovery) เป็นช่วงที่ตลาดเริ่มกลับมาคึคักอีกครั้ง อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีค่าต่ำ และจากทฤษฎีนะคะอัตราดอกเบี้ยจะมีการแปรผกผันกับราคาตราสารหนี้ ราคาหุ้นอยู่เสมอ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น การลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มเติบตามวัฏจักรเศรษฐกิจจึงเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากค่ะ
และหากผู้ลงทุนไม่มีความชำนาญในการลงทุนก็อาจเลือกเครื่องมือในการลงทุนอย่างกองทุนรวมหุ้น หรือกองทุนรวมผสมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เนื่องจากมีการลงทุนในตราสารหนี้ร่วมด้วยได้ค่ะ
โดยระยะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวสามารสังเกตระยะนี้ได้จากค่า GDP Growth ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาสค่ะ
ระยะเศรษฐกิจเฟื่องฟู (Peak) เป็นช่วงที่มีการผลิตและการขายอย่างเต็มที่เลยค่ะ แนวโน้มตลาดหุ้นก็มีโอกาสทำถึงจุดสูงสุด มีความเสี่ยงที่ตลาดจะกลับตัวลงเป็นขาลงในไม่ช้า อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยก็มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ, แร่, วัตถุดิบในการผลิต,...) จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เนื่องจากราคาของสินค้าโภคภัณฑ์จะมีการปรับตัวตามอัตราเงินเฟ้อ ฉะนั้นถึงแม้จะหลุดช่วงวัฏจักรนี้ก็ยังไม่ทำให้ขาดทุนหรือได้ผลตอบแทนลดลงได้ค่ะ
โดยระยะเศรษฐกิจเฟื่องฟูสามารถสังเกตจากค่า GDP Growth ที่มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วเริ่มมีการชะลอตัวให้เห็นค่ะ
ระยะเศรษฐกิจเริ่มถดถอย (Early Recession) ช่วงนี้การผลิต การขาย ทุกอย่างชะลอตัวลงไปหมดเลยค่ะ ตลาดหุ้นก็มีการปรับตัวเป็นขาลงอย่างต่อเนื่อง กลับกันกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนช่วงนี้ราคาของตราสารหนี้ก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกันค่ะ
2
การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นจึงอาจสร้างผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ และด้วยที่ตราสารหนี้ระยะสั้นมีความเสี่ยงในด้านความผันยผวนของราคาต่ำ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคามากนัก ถือเป็นที่พักเงินที่ปลอดภัยอย่างยิ่งค่ะ
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนที่ยังคงมีความสนใจในตราสารทุนก็อาจมีการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำต่อภาวะเศรษฐกิจได้ค่ะ เช่น กลุ่มด้านอุปโภคบริโภค, กลุ่มยาและสุขภาพ เป็นต้นค่ะ
โดยระยะเศรษฐกิจเริ่มถดถอยสามารถสังเกตจากค่า GDP Growth ที่มีการปรับตัวลงติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ถ้าไม่มีการติดลบอาจเป็นการชะลอตัวลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆได้ค่ะ
ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ (Trough) ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดตกต่ำถึงขีดสุดค่ะ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยก็มีการปรับตัวเป็นขาลง แต่อย่างไรก็ตามช่วงต้นวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงมีค่าสูงอยู่ดี จากทฤษฎีแปรผกผันของอัตราดอกเบี้ยกับราคาหุ้น ราคาตราสารหนี้ ราคาจึงยังคงต่ำและมีแนวโน้มเป็นขาลงอยู่ การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวจึงสามารถสร้างผลตอบแทนไดดีกว่าเมื่อเทียบกับระยะสั้น
เนื่องจากในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ตราสารหนี้ระยะยาวก็ยังคงให้ดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอมีโอกาสให้ผลตอบแทนจากส่วนต่างมูลค่าในอนาคตหรือช่วงครบกำหนดไถ่ถอนได้ และในช่วงนี้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในตลาดไทยค่อนข้างต่ำจึงส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท จะสามารถแลกกลับมาได้มากขึ้นได้
โดยระยะเศรษฐกิจตกต่ำสามารถสังเกตจากค่า GDP Growth ที่มีการปรับตัวลงจึงถึงจุดต่ำสุด มีการว่างงานถึงจุดสูงสุดค่ะ
การลงทุนในต่างประเทศ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ จากสถานการณ์ Covid-19 ในครั้งนี้ยังคงมีหลากหลายประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ จึงอาจต้องมีการเลือกลงทุนในประเทศที่สามารถควบคุมโรคระบาดภายในประเทศได้แล้ว และตลาดกับมาสู่ภาวะปกติ ก็คาดว่าอาจทำให้สามารถสร้างผลตอบที่ดีได้ค่ะ
แต่ก็ยังคงควรศึกษาสิ่งที่คิดจะลงทุนอย่างถี่ถ้วนก่อน แม้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นจะเป็นของประเทศที่กลับมาสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม เพราะทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยงเฉพาะตัวของมันด้วยค่ะ
บทความนี้เป็นทฤษฎีที่ทำการวิเคราะห์ขึ้นนะคะ ใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจนะคะ ขอบคุณค่ะ
โฆษณา