31 พ.ค. 2021 เวลา 12:14 • สิ่งแวดล้อม
เลิกสูบบุหรี่ ช่วยรักษาตัวคุณและท้องทะเล
วันนี้เป็นวัดงดสูบบุหรี่โลก (World No Tabacco Day) ซึ่งความจริงแล้วขยะจากก้นบุหรี่ถือเป็นขยะชิ้นเล็กๆอีกประเภทที่สร้างปัญหาให้กับทะเลอย่างมาก
เชื่อไหมว่าทุกปีมีการผลิตบุหรี่ขึ้นกว่า 5.6 ล้านล้านมวนทั่วโลก บุหรี่ทุกมวนมาพร้อมกับก้นกรอง ซึ่งทำจากเส้นใยอาซีเตด cellulose acetate ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพชนิดที่ย่อยสลายไม่ได้ หรือต้องใช้เวลานานนับสิบๆปี ภายในก้นกรองยังปนเปื้อนสารเคมีหลายชนิดที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาสูบ ก้นกรองบุหรี่จึงเป็นขยะพลาสติกที่อันตรายกว่าที่คิด
มีข้อมูลว่าราวหนึ่งในสามของบุหรี่เหล่านี้ถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่าก้นบุหรี่เกือบ 2 ล้านล้านมวนถูกทิ้งอยู่ในระบบนิเวศทุกปี
กิจกรรมเก็บขยะชายหาดที่จัดขึ้นโดย Ocean Conservancy ที่จัดต่อเนื่องมามากว่า 30 ปีพบว่าก้นบุหรี่เป็น ขยะที่เก็บได้มากที่สุดจากชายฝั่งทั่วโลก โดยรวมมากกว่า 60 ล้านชิ้น จำนวนนี้รวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าภาชนะพลาสติก พลาสติก Wrap ฝาขวดน้ำ ช้อนส้อมพลาสติก รวมกันทั้งหมด
ก้นบุหรี่อาจถูกทิ้งลงสู่ทะเลโดยตรงจากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลและลูกเรือประมง แต่อีกจำนวนมากถูกพัดพามากทางบกลงสู่แหล่งน้ำ
ก้นบุหรี่เหล่านี้จะแตกตัวเป็นชื้นเล็กชิ้นน้อยที่เรียกว่าไมโครพลาสติก ซึ่งสัตว์ชนิดต่างๆ หลงกินเข้าไป และส่งต่อไปเรื่อยๆในห่วงโซ่อาหาร ไม่น่าแปลกใจที่พบขยะทะเลในเต่าทะเลทุกชนิด และนกทะเลกว่า 70%
จากการสุ่มตรวจในชายหาดที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย 5 แห่ง เช่นหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หาดบางแสน จ.ชลบุรี หาดชลาทัศน์​ จ.สงขลา หาดแม่พิมพ์ จ.ระยอง พบก้นบุหรี่ทั้งสิ้นมากกว่า 1 แสนชิ้น โดยเฉลี่ย 1-3 ชิ้นต่อตารางเมตร
ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่องนี้คือ นโยบายห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้เริ่มมาได้ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2561 โดยกำหนดโทษสูงสุดถึง ปรับ 1 แสนบาท จำคุก 1 ปี
การงดสูบบุหรี่บนชายหาดเป็นก้าวแรกที่สำคัญ​ แต่ยังมีปัญหาด้านอื่นๆ อีกมากเพราะสิงห์อมควันจำนวนมากเข้าใจว่าก้นบุหรี่ย่อยสลายได้ และนิยมทิ้งก้นบุหรี่นอกถัง ในอนาคต อุตสาหกรรมยาสูบ ควรต้องหาวัสดุทางเลือกที่สามารถย่อยสลายได้ แทนก้นบุหรีแบบเดิม
จริงๆถ้าๆเลิกสูบบุหรี่ได้คงเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่หากยังไม่ได้ต้องช่วยกันสะกิดให้บรรดานักสูบ รับผิดชอบก้นบุหรี่ของตัวเองด้วย
ข้อมูล: Ocean Conservancy
โฆษณา