1 มิ.ย. 2021 เวลา 01:34 • ประวัติศาสตร์
1 มิถุนายน - เริ่มให้นักเรียนใช้เครื่องแบบนักเรียน "ชุดยุวชนทหาร" เป็นครั้งแรก ถือเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศที่ได้กำหนดให้มีเครื่องแบบยุวชนทหาร
.
เมื่อจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านมีนโยบายให้ รับนักเรียนเข้ารับการฝึกวิชาทหารเพื่อเป็นกําลังสํารองของชาติ โดยกําหนดความมุ่งหมายไว้ใน ระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ว่าด้วยนักเรียนที่จะเข้ารับการฝึกวิชาทหาร ว่ามีความจําเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง
.
เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2478 โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ตั้งหน่วยยุวชนทหารขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังการเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2477 การได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลําดับจึงเกิด กรมยุวชนทหารบก สังกัดกระทรวงกลาโหมในปีพ.ศ.2480
.
ในระยะแรกของหน่วยยุวชนทหาร สันนิษฐานว่านักเรียนชั้นมัธยมปลายที่ได้เข้าร่วมกองกำลังจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนหรือลูกเสือ จนกระทั่งโรงเรียนเทพศิรินทร์ถือเป็นโรงเรียนแรกของประเทศ ที่ได้กำหนดให้มีเครื่องแบบยุวชนทหารขึ้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2479 ในวันนี้ (1 มิถุนายน พ.ศ.2563) จึงถือว่าครบ 84 ปี แห่งการถือกำเนิดชุดยุวชนทหารของโรงเรียนเทพศิรินทร์
.
ต่อมากระทรวงกลาโหมจึงได้ตรากฎกระทรวงขึ้นเพื่อกำหนดให้กองกำลังยุวชนทหารทุกกองแต่งเครื่องแบบอย่างเดียวกัน ประกาศใน “กฎกระทรวงกลาโหม ออกความตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบยุวชน พุทธศักราช 2480 (ฉบับที่ 2),” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55, (27 กุมภาพันธ์ 2481): 936 – 940.
.
เครื่องแบบยุวชนทหารตามที่กระทรวงประกาศ มีลักษณะเดียวกันกับที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ประกาศให้ใช้ ซึ่งมีลักษณะอย่างคร่าวๆ ดังนี้
.
เครื่องแบบยุวชนนายสิบ ยุวชนทหาร และยุวชนทหารสํารอง ในหน่วยทหารบก แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) เครื่องปกติ 2) เครื่องหัด 3) เครื่องสนาม 4) เครื่องยศ
เครื่องปกติ ประกอบด้วย
เสื้อ
เสื้อผ้าสีกากีแกมเขียวผ่าอกตลอด ที่อกเสื้อทําเป็นสาบ มีดุมขนาดใหญ่ 5 ดุม แขนยาวรวบที่ข้อมือ และมีดุมขนาดเล็กขัดในแนวดิ่งข้างละ 2 ดุม กระเป๋าติดแนวราวนมทั้งสองข้าง ข้างละ 1 กระเป๋า มีอินทรนูสีเดียวกับเสื้อเย็บเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียวจากด้านไหล่ไปทางคอ ติดอยู่เหนือบ่าทั้งสองข้าง
.
หมวก
หมวกทรงหมอตาลผ้าสีกากีแกมเขียวมีกระบังและสายรัดคางหุ้มผ้าสีเดียวกับหมวก สายรัดคางกว้าง 1 เซนติเมตร กับมีดุมขนาดพิเศษติดที่ข้างหมวก ข้างละ 1 ดุม ขอบหมวกมีสักหลาดสีแดงพันรอบ ที่กึ่งกลางด้านหน้าของหมวก ตรงขอบหมวกติดตราทําด้วยโลหะสีทอง ลายดุนเป็นรูปวงจักร กับสมอไขว้ ตรงกลางวงจักรมีรูปอุณาโลมมีลายเปลวล้อมภายนอก ในขอบวงจักรมีอักษรเป็นลายฉลุว่ารักชาติยิ่งชีพ กับมีสักหลาดสีแดงซับไว้ด้านใน
.
กางเกง
กางเกงผ้าสีกากีแกมเขียว รูปกางเกงขาสั้นปลายตัดเพียงเข่า ผ่าตรง ส่วนหน้ามีดุมขัดซ่อนดุมไว้ข้างใน และมีกระเป๋าข้างตามแนวตะเข็บ ด้านละ 1 กระเป๋า ขากางเกงกว้างพองามและปลายขาสอบเล็กน้อย กางเกงที่กล่าวนี้ให้สวมทับชายเสื้อไว้ให้กระทัดรัดเรียบร้อย
.
เข็มขัด
ทําด้วยหนังสีน้ําตาล หัวทําด้วยโลหะสีทองเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบน และมีเข็มกลัดกับมีปลอกหนังสีเดียวกันสําหรับสอดปลายเข็มขัด 1 ปลอก เข็มขัดนี้เวลาคาดให้คาดทับกางเกงและสอดเข็มขัดภายในห่วงกางเกงทั้งสามห่วง
.
ถุงเท้า
ถุงเท้ายาวสีดํา มีสายรัดขอบถุงสนิทกับขาเพื่อกันย่น
.
รองเท้า
รองเท้าหุ้มข้อหรือหุ้มส้น หนังสีดํา ไม่มีลวดลาย ชนิดผูกเชือก
.
ส่วนเครื่องแบบ 3 ประเภทที่เหลือส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกัน แตกตางกันในรายละเอียดเล็กน้อย
.
หลังจากนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ล่วงมาในปีพ.ศ.2490 องค์การยุวชนแห่งชาติได้ถูกยุบลง เมื่อจบสงครามมหาเอเชียบูรพา เครื่องแบบยุวชนทหารก็เป็นอันยกเลิก กรมยุวชนทหารบกจึงเปลี่ยนเป็นกรมรักษาดินแดนจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา