5 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • กีฬา
Westbrook กับ Triple Double ของง่ายๆ ที่ทำได้เกือบทุกเกม
ในสัปดาห์สุดท้ายของบาสเกตบอล NBA มีอีกหนึ่งสถิติที่เราได้เห็นเจ้าของคนใหม่นั่นคือ รัสเซลล์ เวสต์บรูก ที่ทำ Triple Double มากที่สุดตลอดกาลที่ 182 ครั้ง ทำลายสถิติเดิมของออสการ์ โรเบิร์ตสัน ที่ 181 ครั้ง และไม่เคยมีใครทำได้มาถึง 47 ปี
เรื่มต้นจากไม่กี่ครั้ง
แรกเริ่มนั้น เวสต์บรูก ไม่ใช่ผู้เล่นที่ทำ Triple Double ได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่คนดูเห็นในทุกวันนี้ เพราะจากสถิติของ NBA บันทึกไว้ใน 6 ฤดูกาลแรกของเจ้าตัว ระหว่างปี 2009/10- 2014/15 เวสต์บรูกทำสถิติรวมได้แค่ 8 ครั้งเท่านั้นหรือทำได้แค่ 1-2 ครั้งต่อฤดูกาล โดยมีแค่ฤดูกาล 2011/12 ฤดูกาลเดียวที่เจ้าตัวทำไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว เทียบกับของโรเบิร์ตสันที่ทำในช่วง 6 ปีแรกที่ทำได้ถึง 148 ครั้ง
การที่เวสต์บรูกทำสถิติได้เร็วและมีจำนวนมากกว่าคนอื่นในปัจจัยสำคัญอย่างนึงคือ ความเร็ว โดยเอ็ดดี้ แม็ตซ์ นักเขียนจาก ESPN เคยนำข้อมูลในฤดูกาล 2014/15 จาก NBA Stats ที่บันทึกความเร็วของเวสต์บรูกในจังหวะ Trasition ที่นักบาสมีโอกาสให้ทำความเร็วได้มากที่สุดซึ่งเจ้าตัวเคยวิ่งเร็วสูงสุดถึง 21.6 ไมล์ (34.7 กิโลเมตร) และด้วยความเร็วนี้ทำให้เขาสามารถวิ่งจากเส้นขอบสนาม (Baseline) จากฝั่งนึงไปอีกฝั่งในเวลาเพียง 3.3 วินาที ทำให้ลูกบาสแต่ถึงพื้นสนามทุกระยะ 16.2 ฟุต
ซึ่งมันส่งผลดีต่อการเล่นทั้งเกมรับที่ทำให้เขาเข้าไปเก็บ Defensive rebound ค่อนข้างมากและสร้างช็อตเองต่อได้เร็วขึ้นแถมยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เจ้าตัวครองสถิติทำ Triple Double ได้เร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ NBA โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที ในเกมพบ Philadelphia 76ers เมื่อปี 2014 ซึ่งเขาทำ Triple Double ได้ทั้งหมด 11 ครั้ง
ภาพ nba.com
ความสูงไม่ใช่ปัญหา
การทำ Triple Double ของเวสต์บรูกเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นชัดเจนในฤดูกาล 2015/16 เวสต์บรูกที่สูง 6.3 ฟุต (191 ซม.) กลับจบฤดูกาลโดยมีค่าเฉลี่ย 23.5 แต้ม 7.8 รีบาวด์ 10.4 แอสซิสต์ต่อเกม โดยค่าเฉลี่ยรีบาวด์ 7.8 ครั้งต่อเกม ทำให้เขาแทบจะมีค่าเฉลี่ยเท่าเอเนส คานเตอร์ ผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์และเควิน ดูแรนต์ ที่เก็บได้ 8.1 และ 8.2 ครั้ง ตามลำดับ ส่วนค่าเฉลี่ยแอสซิสต์ เวสต์บรูกนำทีมถึง 10.4 ครั้งต่อเกม ส่วนในลีกตามหลังแค่ราชอน รอนโด ที่ทำได้ 11.7 และแต้มเฉลี่ยที่ 23.5 อยู่อันดับ 8 ของลีกเป็นรองเพียงเควิน ดูแรนต์ อันดับ 3 ที่ทำได้ 28.2
โดยในฤดูกาลดังกล่าวมีการทำ Triple Double ทั้งหมดเฉพาะในฤดูกาลปกติทั้งหมด 75 ครั้ง ซึ่งเป็นของเวสต์บรูกไปแล้ว 18 ครั้ง รั้งอันดับหนึ่งตามมาด้วยเดรย์มอนด์ กรีน ที่ 13 ครั้ง และราชอน รอนโด ที่ทำได้ 6 ครั้ง แถมยังเป็นฤดูกาลที่สองติดกันเจ้าตัวทำสถิติได้ถึงหลัก 10
.
การย้ายทีมของดูแรนต์สู่การสร้างประวัติศาสตร์ของเวสต์บรูก
ในช่วงที่อยู่กับ Oklahoma City Thunder การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของทีมเกิดขึ้นหลังจบฤดูกาล 2015/16 ที่ทีมไปได้แค่รอบชิงแชมป์สาย เควิน ดูแรนต์ปฏิเสธที่จะต่อสัญญากับทีมและย้ายไปอยู่กับ Golden State Warriors รองแชมป์ NBA ในปีนั้น การย้ายตัวครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แฟนๆ Thunder มากเพราะเจ้าตัวอยู่กับทีมมาตั้งแต่ถูกดราฟต์ในปี 2007 และพัฒนาตัวเองจนก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักควบคู่กับเวสต์บรูกที่ถูกดราฟต์ตามมาหนึ่งปีให้หลัง
ถึงอย่างนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเกือบเดือน รอยซ์ ยัง จาก ESPN รายงานว่า “ทั้งคู่ไม่เคยติดต่อหากันเลยนับตั้งแต่มีข่าว แถมตัวเวสต์บรูกยังโกรธมากที่ดูแรนต์ไม่ยอมโทรมาคุยกับเขาเรื่องย้ายทีมด้วยตัวเองและเขายังไม่ได้เตรียมที่จะกลายเป็นตัวหลักเพียงคนเดียว” ทำให้หลายคนเชื่อว่าเรื่องนี้ทำให้เวสต์บรูกมีความมุ่งมั่นมากขึ้นและเซ็นสัญญาฉบับใหม่อยู่กับทีมต่ออีก 3 ปี
เริ่มฤดูกาลมา 20 เกมแรก Thunder ชนะ 12 แพ้ 8 เวสต์บรูกทำ Triple Double ไป 9 ครั้ง ซึ่งเป็นผลงานที่ดีมากและกลายเป็นบทพิสูจน์ที่ว่า เขาสามารถแบกทีมได้โดยไม่ต้องมีดูแรนต์ แถมในระหว่างเกมที่ 17-23 ของฤดูกาล เวสต์บรูกยังทำ Triple Double ได้ถึง 7 เกมติด ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นคนแรกนับจากไมเคิล จอร์แดน ที่เคยทำได้ในฤดูกาล 1988/89 โดยอันดับหนึ่งคือ วิลต์ แชมเบอเลน ที่ทำได้ถึง 9 เกมติดในฤดูกาล 1967/68
จากนั้น 40 เกมผ่านไป ทีมชนะ 24 แพ้ 16 เวสต์บรูกทำสถิติรวม 18 ครั้ง ซึ่งเท่ากับที่ทำไว้ในฤดูกาลก่อนทั้งฤดูกาลและยังช่วยให้ทีมเก็บชัยชนะได้ถึง 16 เกม หลังจบเกมสถิติผู้เล่นที่ทำ Triple Double ได้มากที่สุดในหนึ่งฤดูกาลของออสการ์ โรเบิร์ตสัน ที่ทำไว้ 41 ครั้งในปี 1962 ถูกนำมาพูดถึงทันทีและด้วยจำนวน 18 ครั้งที่เขาทำได้ก็พาเขาขึ้นสู่อันดับ 6 ร่วมกับเมจิก จอห์นสัน และหากดูฟอร์มก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะก้าวผ่านสถิติของตำนานทั้งวิลต์ แชมเบอเลนและออสการ์ โรเบิร์ตสัน
ภาพ Twitter: ESPN Stats and Info
ความท้าทายคือ มันก็ไม่ใช่ทุกเกมที่เขาจะทำ Triple Double ได้ เพราะกว่าจะทำสถิติครั้งที่ 41 ได้ก็ปาเข้าไปเกมที่ 77 แล้ว แม้จะเหลืออีก 5 เกม แต่อีก 2 เกมถัดมาเขาก็ทำได้แค่ Double Double แต่ท้ายที่สุดเวสต์บรูกก็ทำสถิติใหม่ได้ในเกมที่ 80 เมื่อ Thunder ไปเยือน Nuggets
เกมในคืนนั้นสูสีกันมากกระทั่ง Thunder ได้โอกาสเล่นเพลย์สุดท้ายและเวสต์บรูกยิง 3 แต้มลงในวินาทีสุดท้ายพาทีมพลิกชนะ Nuggets ไป 106-105 และจบเกมด้วยการทำไป 50 แต้ม 16 รีบาวด์ 10 แอสซิสต์ เป็น Triple Double ครั้งที่ 42 แซงออสการ์ โรเบิร์ตสัน ขึ้นเป็นผู้เล่นที่ทำได้มากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล
พร้อมพาทีมจบอันดับ 6 ของสายตะวันตกด้วยสถิติชนะ 47 แพ้ 35 ส่วนเขาเองก็กลายเป็นผู้เล่นคนแรกตั้งแต่จากออสการ์ที่มีค่าเฉลี่ย Triple Double ทั้งฤดูกาลที่ 31.6 แต้ม 10.7 รีบาวด์ 10.4 แอสซิสต์ต่อเกม พร้อมคว้าแชมป์ทำแต้มเฉลี่ยสูงที่สุด ติดทีมรวม All-NBA First Team และคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมไปครอง
ภาพ Twitter: NBA
สนใจแต่สถิติ
เวสต์บรูกยังคงทำผลงานส่วนตัวได้อย่างยอดเยี่ยมในอีก 2 ฤดูกาลถัดมา 2017/18 เขาทำ Triple Double ไป 25 ครั้ง และจบฤดูกาลด้วยค่าเฉลี่ยเฉลี่ย 25.4 10.1 10.3 ส่วนในปี 2018/19 เขาทำไป 34 ครั้ง ซึ่งมีเกมหนึ่งเขาทำได้ถึง 20 แต้ม 20 รีบาวน์ 21 แอสซิสต์ ในเกมพบ Lakers ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นเพียง 2 คน คู่กับวิลต์ แชมเบอเลน ที่สามารถทำ Triple Double โดยมีจำนวนแต้ม รีบาวน์ และแอสซิสต์ ถึงอย่างละ 20 ในเกมเดียว
และในฤดูกาลนี้ก็ยังเป็นปีที่เขาทำสถิติแซงเจสัน คิดด์ ขึ้นไปอยู่อันดับสามจากการทำสถิติครั้งที่ 108 และจบฤดูกาลด้วยค่าเฉลี่ย 22.9 11.1 10.7 ทำให้เขามีค่าเฉลี่ย Triple Double สามปีติดต่อกันเป็นคนสองในลีก
สิ่งที่ทำได้ทั้งหมดเป็นเรื่องดีแต่กลับกันในช่วงสามปีที่เขายังถูกเสียงวิจารณ์จากแฟนๆ เพราะจำนวนสถิติที่ทำได้มากกว่าผู้เล่นคนอื่นทำให้เขาถูกมองว่าสนใจที่จะทำแต่สถิติทั้งการหาจังหวะเก็บรีบาวด์เพื่อนำไปส่งบอลให้เพื่อนทำแต้มเพื่อเพิ่มแอสซิสต์ให้ได้เร็วที่สุดโดยไม่สนใจจังหวะเกม อย่างในปี 2018 ที่เขาทำได้ 25 ครั้ง อันดับสองคือ เลบรอน เจมส์ ทำได้ 18 ครั้ง และในปี 2019 ก็เป็นนิโคล่า โยคิช ที่ตามมาด้วยจำนวน 12 ครั้ง แม้ทีมจะมีสถิติโดยรวมที่ดีแต่ Thunder ก็ไปได้ไม่ไกลในรอบ Playoffs เพราะทีมของเขาแพ้ในรอบแรกทั้ง 3 ปีติดเช่นกัน
ภาพ Twitter: OKC Thunder
อาการเจ็บฉุดฟอร์ม
หลังจบฤดูกาล Thunder เข้าสู่กระบวนสร้างทีมใหม่ที่ไม่มีเวสต์บรูกที่ทีมตัดสินใจเทรดเจ้าตัวไปให้ Rockets แลกกับคริส พอล ซึ่งทำให้เราได้เห็นการจับคู่กันของสองพอยต์การ์ดที่ดีที่สุดคู่หนึ่งนั่นคือ รัสเซลล์ เวสต์บรูกกับเจมส์ ฮาร์เดน
แต่ด้วยอาการบาดเจ็บสะสมที่นิ้วมือและต้นขาที่แม้จะได้รับการผ่าตัดช่วงปิดฤดูกาลยังไม่หายขาดทำให้เวสต์บรูกทำผลงานได้ไม่ค่อยดีและมีโอกาสลงเล่นให้ Rockets รวมในรอบ Playoffs แค่ 65 เกม และทำ Triple Double ไปเพียง 8 ครั้งเท่านั้น แต่มันก็เพียงพอที่จะแซงหน้า สถิติรวมของเมจิก จอห์นสัน ที่ทำไว้ 138 ครั้ง ขึ้นมาอยู่อันดับ 2
เวสต์บรูกถูกเทรดมา Washington Wizards ซึ่งเป็นทีมที่ 3 ในอาชีพพร้อมสถิติ Triple Double 146 ครั้ง เขาเปิดตัวด้วยการทำ Triple Double ในเกมแรกทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นคนที่ 6 ในลีกที่ทำสถิติได้ตั้งแต่เกมแรกของทีมแถมยังทำต่อเนื่องถึง 4 เกมแรกติดกัน แต่ด้วยชุดผู้เล่นในฤดูกาลนี้นอกจากเขาก็มีแต่แบรดลีย์ บีล ที่พึ่งพาได้ ทีมแพ้ 5 เกมแรกของฤดูกาลและจมอยู่ท้ายตารางของสายตะวันออกถึงอย่างไรอาการเจ็บที่เขามีก็ยังไม่หายไป เขาลงเล่นได้แค่ 14 เกมจาก 20 เกมแรกและทำสถิติได้ 5 ครั้ง
.
จะทำได้อีกครั้ง
แม้อาการเจ็บจะไม่หายดีแต่ฟอร์มของก็เริ่มกลับมาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งทำได้ 8 ครั้ง โดยเฉพาะในวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งเป็นการเล่นเกมที่ 38 ของเขาให้ทีม เวสต์บรูกทำ Triple Double ครั้งที่ 16 ในเกมพบ Indiana Pacers ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่ทำสถิติให้กับ Wizards มากที่สุดเหนือสถิติของดาร์เรลล์ วอล์คเกอร์ ที่ทำไว้ 15 ครั้ง แต่ใช้เวลาถึง 283 เกมหรือกว่า 4 ฤดูกาล
มันเป็นเวลารวดเร็วมากจนแทบเชื่อไม่ได้และต่อมาระหว่างเกมที่ 41-60 เขาทำสถิติได้ 15 ครั้ง หลังจากเกมที่ 60 เขามีจำนวนรวมในฤดูกาลนี้ 28 ครั้ง และจำนวนรวมตลอดทั้งอาชีพ 174 ครั้ง ขาดอีกแค่ 7 ครั้งจากการทาบสถิติออสการ์ ซึ่งมันก็ง่ายซะเหลือเกินเพราะในเกมที่ 67 ที่ Wizards บุกไปเยือน Toronto Raptors เวสต์บรูกทำไป 13 แต้ม 17 รีบาวด์ 17 แอสซิสต์ ทาบสถิติของออสการ์ได้แล้ว
ภาพ Twitter: NBA
สองคืนให้หลัง Pacers กลายเป็นเหยื่อของการทำสถิติใหม่อีกครั้ง เวสต์บรูกทำอีก 33 แต้ม 19 รีบาวด์ 15 แอสซิสต์ กลายเป็นผู้เล่นที่ทำ Triple Double ได้มากที่สุดตลอดกาลที่ 182 ครั้งในเวลาเพียง 939 เกมน้อยกว่าออสการ์ทำไว้ 181 ครั้งใน 1,040 เกม ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยการได้ 184 ครั้งและทำให้เขามีค่าเฉลี่ย Triple Double เป็นหนที่ 4 ใน 5 ปีหลังที่ 22.2 แต้ม 11.5 รีบาวด์ 11.7 แอสซิสต์ ซึ่งนอกจากเขาแล้วคนที่ทำแบบนี้ได้อีกคนเดียวก็ยังเป็นออสการ์ โรเบิร์ตสัน อีกเหมือนกัน
และหากนำสถิติที่น่าสนใจของเวสต์บรูกนอกจากที่กล่าวถึงในบทความมาสรุปก็จะได้เป็น
-ทำสถิติครั้งที่ 1 วันที่ 2 มี.ค. 2009
-ทำสถิติครั้งที่ 100 วันที่ 14 มี.ค. 2017
-อันดับ 2 ผู้เล่นที่ทำแต้มในสถิติได้มากที่สุด 58 แต้ม
-อันดับ 1 ผู้เล่นที่ทำสถิติติดต่อกันมากที่สุด 11 ครั้ง
-ผู้เล่นคนแรกที่ทำสถิติโดยมีจำนวนแต้มถึง 35 แต้ม 10 รีบาวด์ 20 แอสซิสต์ โดยทำไป 35 แต้ม 14 รีบาวด์ 21 แอสซิสต์
มาจนถึงตรงนี้การจะเป็นผู้เล่นคนแรกและคนเดียวทำสถิติถึง 200 ครั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเทียบกับผลงานในตอนนี้และด้วยอายุ 32 รวมกับสภาพร่างกายที่หากไม่เจ็บจนไม่ได้ลงเล่นเราอาจจะได้เห็นทำได้ถึง 250 หรือมากกว่านั้นก็คงต้องรอตัวเขาเองที่จะเป็นคนให้คำตอบ
โฆษณา