1 มิ.ย. 2021 เวลา 10:02 • หนังสือ
เคล็ดวิชา # 7
ก่อนจะเริ่มฝึก หาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่าทักษะนั้นเป็นทักษะทางตรงหรือทักษะทางอ้อมขั้นตอนแรกของการฝึกฝนทักษะก็คือ ทำความเข้าใจว่าเรากำลังพัฒนาทักษะแบบไหน ทั้งนี้ทักษะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ทักษะทางตรง (hard skills) และทักษะทางอ้อม (Soft skills)
1
ทักษะทางตรงคือการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องและเสมอต้นเสมอปลาย โดยจะมีหนทางไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ทักษะแบบนี้จะเน้นความแม่นยำที่ทำได้ และมักเป็นทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะทักษะทางกาย ตัวอย่างเช่น
• การหวดไม้ของนักกอล์ฟ การเสิร์ฟลูกของนักเทนนิส การรู้ตลูกโทษของนักบาสเกตบอล หรือการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของนักกีฬาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและต้องใช้ความแม่นยำ
• การคิดเลขพื้นฐาน (เช่น การบวกหรือการท่องสูตรคูณ)
• การเล่นไวโอลินแต่ละคอร์ด
• การทำความเข้าใจตัวอักษรแล้วผสมเป็นคำขึ้นมาของเด็ก ๆ
• การประกอบชิ้นส่วนในสายการผลิตของคนงาน
เป้าหมายของคุณคือการฝึกฝนทักษะให้ทำงานเหมือนกับนาฬิกาสวิส นั่นคือ เชื่อถือได้ เที่ยงตรงแม่นยำ และทำได้แบบเดิมทุกครั้งโดยอัตโนมัติ หลักการของทักษะทางตรงคือ ABC ซึ่งย่อมาจาก Always Being Consistent (ทำให้ได้อย่างเดิมทุก ๆ ครั้ง)
1
ในทางกลับกัน ทักษะทางอ้อมจะมีหนทางมากมายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา มันจึงไม่ใช่เรื่องของการทำสิ่งเดิมให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกครั้ง แต่เป็นเรื่องของความคล่องแคล่วและการตอบสนองต่อสถานการณ์ โดยต้องมองแบบแผนให้ออกและเลือกการตอบสนองอย่างชาญฉลาดและฉับไว ทักษะทางอ้อมส่วนใหญ่ไม่ใช่ทักษะเฉพาะด้าน และมักเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น
• นักฟุตบอลสัมผัสได้ถึงช่องโหว่ของแผงกองหลังและตัดสินใจเลี้ยงลูกฝ่าเข้าไปทำประตู
• นักลงทุนมองเห็นโอกาสที่แฝงอยู่ในวันซื้อขายที่ปั่นป่วน
• นักเขียนนิยายใช้สัญชาตญาณสร้างจุดหักมุมของโครงเรื่องที่สลับซับซ้อน
• นักร้องตีความท่วงทำนองเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ออกมาอย่างกินใจ
• ตำรวจที่ออกตรวจตราตอนดึก ๆ ประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
•ซีอีโอประเมินท่าทีของคนทั้งห้องในการประชุมหรือการเจรจาต่อรองที่ตึงเครียด
ทักษะแบบนี้ไม่ต้องอาศัยความเที่ยงตรงเหมือนกับนาฬิกาสวิส แต่ต้องอาศัยความสามารถในการมองเห็นแบบแผนหรือโอกาสอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเอาชนะอุปสรรคที่ปรากฏขึ้น ทั้งนี้ ทักษะทางอ้อมเกี่ยวข้องกับหลักการ 3R ได้แก่ การประเมิน (Reading) การเล็งเห็น (Recognizing) และการตอบสนอง (Reacting)
1
ประเด็นสำคัญของเคล็ดวิชานี้คือการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างทักษะทางตรงกับทักษะทางอ้อม (เนื่องจากวงจรประสาทในสมองที่ใช้สั่งการทักษะทั้งสองแบบมีโครงสร้างต่างกันนั่นเอง) ดังนั้น การพัฒนาทักษะก็ต้องอาศัยกลยุทธ์การฝึกฝนอย่างล้ำลึกที่แตกต่างกันตามไปด้วย
เริ่มต้นด้วยการถามตัวเองก่อนว่า มีทักษะอะไรบ้างที่ทำ 100 ครั้งต้องออกมาเหมือนเดิมทั้ง 100 ครั้ง มีทักษะอะไรที่ต้องอาศัยความแม่นยำราวกับเครื่องจักร นั่นล่ะทักษะทางตรง
จากนั้นให้ถามต่อว่า มีทักษะอะไรบ้างที่ต้องการความยืดหยุ่น ความหลากหลาย และการตอบสนองต่อสถานการณ์ มีทักษะอะไรที่ต้องอาศัยการมองเห็นแบบแผนและเลือกการตอบสนองที่เหมาะสมที่สุดแบบทันทีทันใด นั่นล่ะทักษะทางอ้อม
แต่ถ้าพิจารณาแล้วก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดี คุณสามารถถามตัวเองง่าย ๆ ว่า ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกฝนทักษะ คุณต้องอาศัยความช่วยเหลือจากครูหรือผู้ฝึกสอนหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นทักษะทางตรง แต่ถ้าคำตอบคือไม่ นั้นก็น่าจะเป็นทักษะทางอ้อมมากกว่า นักไวโอลินและนักสเก็ตลีลามักจะมีครูคอยสอน แต่ซีอีโอและนักพูดเดี่ยวไมโครโฟนไม่มี เคล็ดวิชา 3 ข้อถัดจากนี้ไปจะอธิบายเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การฝึกฝนแบบใดที่ใช้ได้ผลกับการพัฒนาทักษะแต่ละแบบมากที่สุด
1
โฆษณา