Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Histofun Deluxe
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2021 เวลา 10:41 • ประวัติศาสตร์
"ชาติ" ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีความหมายว่าอะไร?
ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แนวความคิดที่ว่า "ชาติ" คือ "พระมหากษัตริย์" เริ่มเกิดความสั่นคลอนอย่างหนัก อันเป็นผลพวงจากการที่เหล่าปัญญาชนและขุนนางชาวสยามรุ่นใหม่ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ต่างพากันเชื่อว่า "ชาติ" ของพวกเขาคือ "ราษฎร" มิใช่ "กษัตริย์" ตามที่เชื่อถือยึดมั่นกันมานาน
จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์จึงต้องแสวงหาวิธีการในการทำให้ความหมายของ "ชาติ" กลับมาเป็นของ "พระมหากษัตริย์" อีกครั้งหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงให้กำเนิดคำขวัญ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
ในผลงานพระราชนิพนธ์หลายเรื่องของรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้มีการระบุถึงความหมายของชาติอย่างชัดเจนไว้ว่าผู้ที่เป็นคนไทยหรือ "เชื้อชาติไทย" คือผู้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของไทย ผู้ใดที่ไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย คนเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนไทยอย่างแท้จริง
1
พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้ที่ทำให้ประชาชนในชาติที่มีความแตกต่างกันสามารถรวมกันเป็นเอกภาพได้ ดังนั้นชาติไทยจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากพระมหากษัตริย์
ที่สำคัญพระองค์ยังได้นำเอา "พระพุทธศาสนา" มาเชื่อมโยงกับความหมายของ "ชาติ" ด้วย พระองค์ทรงเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับชาติไทยมาเป็นเวลาช้านานจนเป็นอัตลักษณ์ของชาติไทยจนแยกไม่ออก
ซึ่งนั่นก็ได้นำไปสู่การที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างคำขวัญอย่าง "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เพื่อใช้อธิบายความหมายโดยรวมของชาติ คำขวัญดังกล่าวจะสร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมของไทยมาจนถึงทุกวันนี้
ธงไตรรงค์นับเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการถ่ายทอดคำขวัญ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
** "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ของรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับอิทธิพลมาจากคำขวัญ "God, King and Country" ของอังกฤษ
แน่นอนว่าความหมายของ "ชาติ" ตามแนวความคิดของรัชกาลที่ 6 นั้น ก็ได้สร้างรอยแตกร้าวให้กับกลุ่มคนที่ยึดมั่นในความหมายของคำว่า "ชาติ" ที่หมายถึง "ราษฎร" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มทหารหนุ่ม"
กลุ่มทหารหนุ่มที่เป็นกลุ่มนายทหารหัวสมัยใหม่ที่จบการศึกษาตามแนวทางของตะวันตก พวกเขามีความเชื่อที่เหมือนกับคนรุ่นใหม่หลายคนในช่วงเวลานั้นว่า "ชาติ" คือ "ราษฎร"
กลุ่มทหารหนุ่มยึดมั่นมาโดยตลอดว่าเงินเดือนของพวกเขานั้นได้มาจากภาษีของ "ราษฎร" ดังนั้นพวกเขาจึงควรซื่อตรงต่อ "ราษฎร" ทั้งชาติ มิใช่กตัญญูเพียงแค่ "ใครคนใดคนหนึ่ง" เท่านั้น
กลุ่มทหารหนุ่มจึงได้เสนอแนวทางของชาติไทยใหม่ว่าควรจะปกครองแบบประชาธิปไตย (Democracy) มิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่ถูกมองว่าเป็นระบบที่ "อยู่เหนือกฎหมาย"
และพวกเขาก็ต้องการให้สยามมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) ระบอบการปกครองที่ "ราษฎร" มีอำนาจสูงสุดในชาติ
ในปี พ.ศ. 2454 หรือปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 130 กลุ่มทหารหนุ่มจึงได้เริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม บัดนี้พวกเขาได้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า "คณะกบฎ ร.ศ. 130"
กลุ่มทหารหนุ่มหรือ "คณะกบฎ ร.ศ. 130"
ทว่าในท้ายที่สุด ความพยายามในการก่อการเปลี่ยนแปลงสยามของกลุ่มทหารหนุ่มก็ประสบกับความล้มเหลวเนื่องจากแผนการณ์รั่วไหลเสียก่อน
สมาชิกของกลุ่มทหารหนุ่มกว่า 300 คน ถูกจับกุมตัวและถูกพิพากษาในฐานะที่เป็น "กบฎต่อแผ่นดิน" ซึ่งมีโทษร้ายแรงตั้งแต่ถูกจำคุกจนถึงขั้นประหารชีวิต แต่สุดท้ายกลุ่มผู้ก่อการทั้งหมดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษและถูกปล่อยตัวออกมาทั้งหมด
เหตุการณ์ที่กลุ่มทหารหนุ่มหรือ "คณะกบฎ ร.ศ. 130" วางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ แม้ว่าผลสุดท้ายจะประสบกับความล้มเหลว แต่ก็นับเป็นแนวทางและต้นแบบสำคัญ ที่ทำให้กลุ่ม "คณะราษฎร" ได้ก่อการอภิวัฒน์สยามจนประสบผลสำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
*** Reference
- หนังสือ ปลดแอดชาติ-ราชา (ชาตินิยม) สำนักพิมพ์มติชน
-
https://pridi.or.th/th/content/2020/06/289
-
https://www.silpa-mag.com/history/article_45086
#HistofunDeluxe
8 บันทึก
13
9
8
13
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย