12 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Bond Yield ขึ้น ทำไมตราสารหนี้ หุ้น และทองคำ ถึงร่วง?
1
ทำความรู้จัก Yield กันก่อน
Yield คือ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ ดังนั้น Bond yield ก็คือ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจากการถือครองตราสารหนี้หรือพันธบัตรจนครบอายุ คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) / ราคาตราสารหนี้หรือพันธบัตร โดยตราสารหนี้หรือพันธบัตรจะจ่ายดอกเบี้ยคงที่ตามอัตราที่กำหนดไว้ ซึ่งเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) นอกจากนี้ตราสารหนี้หรือพันธบัตรยังซื้อขายได้ในตลาดรองเหมือนหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นราคาจึงเคลื่อนไหวได้ในแต่ละวันตามความต้องการซื้อขายในตลาดรอง
1
เช่น พันธบัตร A มีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 5% ซื้อขายกันที่ราคาพาร์ 1,000 บาท แสดงว่าพันธบัตร A มี Bond yield หรืออัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 5% แต่ถ้ามีความต้องการจากนักลงทุนมากขึ้น ทำให้ราคาพันธบัตร A ซื้อขายด้วยราคาที่สูงขึ้นไปที่ 1,250 บาท ซึ่งอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วยังคงที่ที่ 5% แต่ Bond yield จะลดลงไปที่ 4%
ในการคำนวณนี้บ่งบอกว่าเมื่อราคาตราสารหนี้หรือพันธบัตรปรับตัวขึ้น Bond yield จะลดลง ในทางกลับกันเมื่อราคาปรับตัวลง Bond yield จะเพิ่มขึ้น หรือก็คือ ราคาตราสารหนี้หรือพันธบัตรแปรผกผันกับ Bond yield นั่นเอง
1
ผลกระทบต่อตราสารหนี้
จากการคำนวณในหัวข้อก่อนหน้า สะท้อนว่าเมื่อ Bond yield ปรับตัวขึ้น ราคาพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดรองจะลดลง สะท้อนความต้องการซื้อที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต
Source: https://www.rba.gov.au/education/resources/explainers/bonds-and-the-yield-curve.html
โดยสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนมีมุมมองเช่นนั้น เพราะนักลงทุนเลือกที่จะเก็บเงินลงทุนเอาไว้รอลงทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่จะออกมาใหม่ในอนาคต ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับขึ้น และเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดมีมุมมองที่เหมือนกันเช่นนั้น ก็ทำให้ราคาตราสารหนี้หรือพันธบัตรลดลง Bond yield จึงเพิ่มขึ้นต่อไป
1
ในช่วงเวลาเดียวกันก็จะมีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่รอให้ Bond yield เพิ่มขึ้นต่อไป จนถึงระดับที่เห็นว่าใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่จะออกมาใหม่ในอนาคตซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แล้วจึงเข้าซื้อ
2
ผลกระทบต่อหุ้น
หุ้นเป็นสินทรัพย์การเงินที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะมีวิธีการประเมินมูลค่าที่เปรียบเทียบหรือใช้ความน่าสนใจของสินทรัพย์การเงินที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตร ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 2 วิธื ดังนี้
การคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow)
เป็นการประเมินมูลค่าโดยการนำกระแสเงินสดไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสดอิสระหรือเงินปันผลของตลาดหุ้น มาคิดลดด้วยต้นทุนของเงินลงทุน ซึ่งต้นทุนของเงินลงทุนก็เคลื่อนไหวขึ้นหรือลงโดยอ้างอิงจาก Bond yield
ดังนั้นหาก Bond yield ปรับตัวขึ้น ต้นทุนของเงินลงทุนก็เพิ่มขึ้น และส่งผลให้มูลค่าปัจจุบันของหุ้นลดลง นักลงทุนก็จะขายหุ้นออกหรือซื้อน้อยลง เนื่องจากมูลค่าปัจจุบันของหุ้นอาจต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาด หรือหากมูลค่าปัจจุบันของหุ้นยังสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาด ผลตอบแทนที่คาดหวังก็ลดลงไปตามมูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่ลดลง (Upside ลดลง)
Earning Yield Gap
เป็นประเมินมูลค่าของตลาดหุ้นด้วยการเปรียบเทียบความน่าสนใจของตลาดหุ้นกับพันธบัตร ใช้ส่วนต่างระหว่าง Earing yield ของตลาดหุ้น กับ Bond yield ของพันธบัตร (Earing yield - Bond yield) โดยที่ Earing Yield คือส่วนกลับของ P/E Ratio หรือ Earning per share / Price
Source: Bloomberg.com
หาก Earning Yield Gap อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แสดงว่าความน่าสนใจของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับพันธบัตร ซึ่งอาจเกิดจากตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นจนระดับราคาสูง (P/E Ratio สูงขึ้น E/P จึงต่ำลง) หรือ Bond yield ปรับตัวขึ้นมาก็ได้
เมื่อ Bond yield ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนตลาดหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับพันธบัตรที่เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำไม่มากพอ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) เม็ดเงินจากนักลงทุนที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นก็น้อยลง หรืออาจมีการขายหุ้นมากขึ้น กดดันให้ตลาดหุ้นต้องปรับตัวลง
จากการประเมินมูลค่าตลาดหุ้นไม่ว่าวิธีใด ผลลัพธ์บ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าการปรับตัวขึ้นของ Bond yield ส่งผลกดดันให้ระดับราคาของตลาดหุ้นปรับตัวลง
ผลกระทบต่อทองคำ
Source: https://fred.stlouisfed.org/
ก่อนอื่นต้องเริ่มด้วยสมการที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง (Real yield) ความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อ (Breakeven Inflation rate) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ก็คือ Real yield = Bond yield - Breakeven Inflation rate ซึ่งสมการนี้จะช่วยอธิบายว่าทำไมบางช่วงเวลาที่เงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้น ราคาทองคำกลับไม่ปรับตัวขึ้นอย่างที่ตำราเคยกล่าวไว้
จากรูปข้างต้นจะเห็นว่า Real yield (เส้นสีฟ้า) มีการเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับราคาทองคำ (เส้นสีแดง) ซึ่งเมื่อใดที่ Real yield ปรับตัวขึ้น ราคาทองคำก็จะร่วง และเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันแม้อัตราเงินเฟ้อจะมีสัญญาณปรับตัวขึ้นเนื่องจากการกลับมาเปิดเมือง
เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเมื่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักลงทุนจึงเลือกเก็บเงินลงทุนเอาไว้รอลงทุนพันธบัตรที่จะออกมาใหม่ในอนาคตซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) สูงขึ้น ดังนั้น Bond yield จึงเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของ Breakeven Inflation rate ทำให้แม้ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้น ราคาทองคำก็ปรับตัวลงได้
สรุปให้ง่ายขึ้นก็คือ พันธบัตรและทองคำต่างก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ พันธบัตรมีการจ่ายผลตอบแทนที่แน่นอนในรูปแบบของดอกเบี้ย ส่วนทองคำไม่มีการจ่ายผลตอบแทนที่ชัดเจน ดังนั้นแม้จะอยู่ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้น แต่เมื่อใดที่ Bond yield เพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จะส่งผลให้พันธบัตรมีความน่าสนใจมากกว่าทองคำ ความต้องการซื้อทองคำจึงลดลงส่งผลให้ราคาทองคำปรับลง
1
จะเห็นว่าเมื่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond yield) เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาพันธบัตรและตราสารหนี้ และกดดันราคาหุ้นเนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนของเงินลงทุน นอกจากนี้ยังทำให้การลงทุนในหุ้นและทองคำดูน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตร
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
1
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane คลิกเลย
1
โฆษณา