3 มิ.ย. 2021 เวลา 09:33 • ศิลปะ & ออกแบบ
"เขียนถึง Sunday on the Banks of the River Marne. 1930:
อิริยาบถสามัญ การพักผ่อน และชัยชนะของเสรีนิยม"
Henri Cartier-Bresson. Sunday on the banks of the river Marne.1938
จะว่าไปแล้วมันเป็นเรื่องราวธรรมดาสามัญที่พบได้ในสังคม การสื่อความตามภาพคงเป็นเรื่องง่ายดายเมื่อพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ โดยองค์รวม มันก็คือการพักผ่อน หรือปิกนิคกันของสามีภรรยาสองคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชื่อภาพ Sunday on the Banks of the River Marne (1938) ได้ทำการกำกับประทับตราความหมายอยู่ ผลกระทบของความรู้สึกนึกคิดที่บอกว่าวันอาทิตย์คือวันแห่งการพักผ่อนก็จู่โจมความเข้าใจในทันที ในขณะที่เราลืมไปว่าบุคคลทั้ง 4 คนในภาพ อาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กันฉันท์สามีภรรยา อาจจะเป็นพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรืออาจจะไม่รู้จักกันมาก่อนเลย และเมื่อพิจารณาในแง่ของสัมพันธภาพระหว่างคนสี่คนที่ไม่ได้ปรากฏอย่างโจ่งแจ้งในภาพ จะเห็นได้ว่าความหมายในภาพจะเปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์ที่เรา “เพิ่มเติม” เข้าไปโดยการกำหนดจากมุมมองและกรอบความคิดหรือทัศนคติที่สั่งสมมา
ใน Camera lucida (1980) นั้น โรลองต์ บาร์ธส์ กล่าวว่าการถ่ายภาพถูกหลอกหลอนจากจิตวิญญาณของจิตรกรรม และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งภาพ Sunday on the Banks of the River Marne (1938) ของ Henri Cartier-Bresson ศิลปินชาวฝรั่งเศสก็มีส่วนของความคล้ายคลึงกับงานจิตรกรรมจำพวกอิมเพรสชั่นนิสม์ หรือโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์อยู่ก้ำกึ่งกัน เช่น งานของ Edgar Degas (1834-1917) และ Georges-Pierre Seurat (1859-1891) ชี้ความคล้ายด้วยลักษณะการฉีกกรอบการสร้างสรรค์ภาพผลงานในสตูดิโอออกไปยังพื้นที่โล่งแจ้ง เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สามัญธรรดาที่สุดให้เปิดเผยมุมมองที่ไม่สามัญ นำเสนอความงามแบบธรรมดาที่พบได้ในชีวิตนี้หาใช่ความงามในอุดมคติ การปิกนิคของคน 4 คนนี้จึงเป็นภาพชีวิตในวันหยุดอันสามัญธรรมดาที่ถูกนำเสนอให้เกิดการมุมมองและการตีความที่ไม่ธรรมดา
 
ความไม่ธรรมดาในภาพถ่ายที่แสนธรรมดานี้อยู่ที่วัตถุและองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพและไม่ได้อยู่ในภาพ ทั้งสองประการนี้หล่อหลอมให้เกิดคำถามจากคำถามแรกที่ตั้งไว้คือเรื่องของความสัมพันธ์ซึ่งไม่ปรากฏในภาพ ต่อมาคือสิ่งที่ปรากฏในภาพ ได้แก่ การรินไวน์ในมือชายวัยกลางคนด้านซ้ายของภาพ ในฐานะที่ไวน์ของสิ่งสำคัญทางวัฒนธรรมชาวคริสต์ที่อาจถูกเชื่อมโยงไปสู่ความนัยต่าง ๆ ในวันของพระเจ้า และเรือตกปลาในแม่น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ที่ว่าด้วยการเดินทางและความตาย ตลอดจนอากัปกริยาการหันหลังของบุคคลทั้ง 4 ในภาพถ่าย วัตถุต่างๆ นี้สามารถบอกเล่าความเชื่อมโยงถึงสัมพันธภาพและความหมายไว้ ซึ่งการพักผ่อน หรือปิคนิคของบุคคลทั้ง 4 คนที่เกิดขึ้นในเวลาว่างจากวันหยุดงานที่สามารถบอกเล่าถึงสามัญลักษณะที่พวกเขาจะพบเจอ นั่นคือ “ความตาย” หรือการพักผ่อนอันยาวนานหลังการทำงานชั่วชีวิต
ผลงานภาพถ่ายของ Henri Cartier-Bresson มักเป็นภาพข่าว-สารคดี เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เป็นภาพธรรมดาสามัญที่พบเห็นในชีวิตจริงในพื้นที่ และเวลาหนึ่งๆ ภาพถ่ายของ อ็องรีการ์ตีเย-แบรซง เน้นการตอบสนองของสมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สัญชาตญาณ สุนทรีศาสตร์ความรู้เรื่องบริบทของสังคมการเมือง การรอคอย และเลือกที่จะบันทึกมุมมองหนึ่ง ๆ ของตนโดยการตัดสินใจในเศษเสี้ยวของวินาที (The Decisive Moment) เพื่อบันทึกเรื่องราว ณ ขณะจิตนั้นให้ตรงตามโลกทัศน์ที่เขามอง หรือเห็นมากที่สุด เพราะเขาตระหนักได้ว่าความสามารถของการถ่ายภาพนั้นสามารถบันทึกความเป็นนิรันดร์ของเรื่องราวเอาไว้ได้ และด้วยความที่เขาเกิดเป็นชนชั้นกลางที่มีอันจะกินทำให้เขาสามารถเดินทางไปยังที่อื่นๆ และมีส่วนร่วมสำคัญต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกเสมอ
ด้วยความที่แบรซงถ่ายภาพแนวข่าว หรือสารคดีที่ให้ข้อเท็จจริงเขาใช้เทคนิค “ถ่ายแบบตัวแบบไม่รู้ตัว” (candid) ทำให้เห็นอารมณ์ที่ชัดเจนของคน ดังนั้นใน Sunday on the Banks of the River Marne. 1938 เขาปล่อยให้กิจกรรมของตัวแบบดำเนินไปแล้วกดชัตเตอร์ โดยจัดวางองค์ประกอบให้คล้ายกับงานจิตรกรรมแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (แบรซงเป็นคนที่ชื่นชอบวานรูป และงานจิตรกรรม) แรกทันทีที่มองภาพ มันก็คือเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน คน 4 คนหรือ 5 คนในภาพอาจเป็นสามีภรรยาหรือเพื่อนที่มานั่งปิคนิกกันในวันหยุดงาน สิ่งที่เป็นกำแพงปิดกั้นความเข้าใจในรูปภาพคือช่วงเวลาที่ฉาบทับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และพื้นเพตัวแบบในภาพ
อย่างไรก็ตามไขมันที่ย้วยออกมาจากตัวแบบ ชวนให้ข้าพเจ้านึกถึงชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ใช้เวลาสบายๆ ริมแม่น้ำในกรุงปารีส แต่ผิดถนัด! นั่นเป็นภาพการพักผ่อนหย่อนใจของ ”ชนชั้นแรงงาน” ในฝรั่งเศสที่เพิ่งจะได้รับการประกาศให้มีวันหยุดอย่างเป็นทางการ
นำไปสู่บริบททางประวัติศาสตร์ในปี 1929 -1939 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด The Great Depression in France ที่ได้ลากสภาพเศรษฐกิจฝรั่งเศส และยุโรปตอนกลางให้ตกต่ำลงอย่างหนัก ในช่วงฤดูหนาวปี 1932-33 ตามท้องถนนในกรุงปารีสมีคนตกงานและอดอยากจำนวนมากนำไปสู่การชุมนุมของกลุ่มแรงงานเสมอ ดังมีประโยคที่กล่าวไว้ว่า
“ฤดูหนาวที่ข้าใช้ไปบนท้องถนน – ฤดูหนาวของปี 32-33 – ก็ไม่ได้หนักหรือเบากว่าฤดูหนาวในที่อื่นๆ ; สายลมเย็นเยียบดังความปวดร้าวของกรรมกร – ไม่ว่าจะกินเวลายาวนาน นานขึ้น หรือสั้นลงของคาบเวลาที่ความเจ็บปวดจำนวนนั้นดำรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวที่หิมะโหมและเยียบแข็ง ชายหลายพันถูกบังคับให้ออกจากงานของพวกเขาโดยวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยื้อยุทธเอาเงินเพนนีสุดท้ายไปจนสุดปัญญาของพวกเขา ในความสิ้นหวัง, ก็ละทิ้งการต่อสู้”
นี่เป็นประโยคสำคัญเพราะในการเรียกร้องของกระบวนการงาน คือ การกำหนดสิทธิแรงงานในส่วนของค่าตอบแทน เวลางาน และวันหยุดเพื่อบรรเทาความต้องการบรรเทาความต้องการทางสังคมในช่วงที่ยากเย็นนี้
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1932 สูญเสียเสถียรภาพ ซึ่งบีบคั้นให้ประชาชนต้องแสวงหาตัวเลือกทางการเมืองในความสิ้นหวังจากนโยบายการเงินกับพฤติกรรมยักยอกฉ้อโกงที่ที่ถูกเปิดเผย พวกนักชาตินิยม คอมมิวนิสต์ และตำรวจเกิดความระหองระแหงกันเนืองๆ จนนำไปสู่การจลาจลกลางกรุงปารีสในเหตุการณ์ 6 February 1934 crisis หลังจากการจลาจลนี้กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย จับมือกันสู่กลุ่มการเมืองที่ชื่อว่า Popular Front ซึ่งกลุ่มนี้จะกลายเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งปี 1936 โดยนโยบายของพวกเขา คือ การร่างกฎหมายแรงงานใหม่ และเนื้อหาที่สำคัญคือการจำกัดเวลาในการทำงานเป็นมาตรฐาน คือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ซึ่งทำให้สามารถมีเวลาพักผ่อนที่ชัดเจนได้) การกำหนดค่าจ้าง และการประกาศให้มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ 12 วันในหนึ่งปีอย่างเป็นทางการ
Sunday on the Banks of the River Marne จึงเป็นเหตุการณ์สามัญที่แสนปกติในวันอาทิตย์ ช่วงปี 1936-38 ที่ทุกคนหยุดงาน ภาพของแบรซงจึงเป็นเสมือนภาพแทนของผลจากนโยบายของฝ่ายซ้าย มีความเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกฉาบโดยศิลปะการถ่ายภาพแบบสตรีต-อาร์ท แล้ววิธีการ Candid หรือการซ่อนกล้องโดยมีเหตุผลว่าเพื่อเก็บกิจกรรมที่ตัวแบบในภาพกำลังทำให้สมจริงตามอารมณ์ที่เป็นอยู่ที่สุด ยิ่งทำให้เห็นการเคลื่อนที่ของ “ชัยชนะของแรงงาน” ที่ยอมให้อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมาเป็นผู้นำ เพราะในช่วงปี 1936-38 สิ่งที่ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกากำลังหวาดกลัวคือการลัทธิฟาสซิสม์ที่เริ่มแพร่ขยายไปในฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี แบรซงซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักจากการได้แสดงงานในอเมริกา ก็มีส่วนทำให้ภาพของเขากลายเป็นภาพที่สร้างชุดข้อมูลบางอย่างขึ้นมา ประกอบกับผลของนโยบายเพิ่งเกิดใหม่ผู้คนยังชินและเห่อแนวนโยบายนี้ ดังนั้นข้าพเจ้ามองว่าภาพนี้กำลังทำหน้าที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อในตัวเอง เพื่อให้ผู้รับชมที่อยู่ฝั่งอเมริกา หรือฝรั่งเศสเห็นถึงผลของนโยบายฝ่ายซ้ายที่ และสนับสนุนในการต่อต้านฟาสซิสม์
และนี่คือเหตุที่เนื้อหนัง และไขมันของตัวแบบทั้ง 4 คนได้พาข้าพเจ้ามาไกลขนาดนี้ ใช่ความอุดมสมบูรณ์เจ้าเนื้อแบบชนชั้นมีอันจะกิน เวลาว่าง การพักผ่อน และภาพนี้คือกิจกรรมที่ดำเนินอยู่โดยที่ช่างภาพไม่ได้แทรก พักผ่อนนัยนี้มันคือการเย้ยหยันคู่ตรงข้ามลัทธิทางการเมืองอย่างเป็นตัวของเอง เหมือนมันกำลังตะโกนก้องออกมาว่า
“Left liberal I’m lovin’n it”
โฆษณา