4 มิ.ย. 2021 เวลา 12:12 • หนังสือ
ตอนที่ตัดสินใจซื้อนิยายเรื่อง "เธออยู่ร้อยปี ฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี" ของ senorita-p นั้น ผมยอมรับว่าไม่ได้สนใจที่เนื้อหา หรือชื่อคนเขียน หรือรีวิวต่างๆ จากที่ใดเลย เลือกซื้อมาด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าปกสวยดีเท่านั้น แทบไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าคนเขียนคือใคร มาถึงบางอ้อว่าคือ senorita-p ที่เคยมีผลงานออกกับสำนักพิมพ์อรุณในเครืออมรินทร์ฯ สองเรื่อง คือ “เอริกะกับปริศนาซากุระ” และ “เอริกะกับพันธะวิญญาณ” (แต่ผมไม่เคยอ่านนะ และก็ไม่ได้ซื้อมาสะสมไว้ในกองดองด้วย จำได้ว่าเห็นผ่านๆ ตาในร้านนายอินทร์เท่านั้น)
หลังจากที่ช่องทางในการอ่านหนังสือมีการปรับเปลี่ยน เกิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ใช้อ่านนิยายมากมาย senorita-p ก็เป็นนักเขียนอีกคนที่ผันตัวเองไปนำเสนอนิยายผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ยังตีพิมพ์นิยายของตัวเองออกมาขายเองโดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์อีกด้วย ลักษณะของนิยายแบบนี้ ที่นักเขียน เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเองเรียกว่า “นิยายทำมือ” ซึ่ง “เธออยู่ร้อยปี ฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี” ก็เป็นหนึ่งในนิยายทำมือที่ผู้เขียนทำขายเองด้วยเช่นกัน
1
จุดเด่นในงานเขียนของ senorita-p คือการเขียนนิยายญี่ปุ่นที่มีตัวละคร ฉากหลัง และรายละเอียดเชิงวัฒนธรรมเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด มีแม้กระทั่งชื่อเรื่องที่เป็นภาษาญี่ปุ่นอีกต่างหาก ทั้งที่คนเขียนเป็นคนไทย นิยายเล่าเรื่องความรักโรแมนติกที่เกิดขึ้นระหว่าง อุเอฮาระ มิจิรุ นักเขียนนิยายโรแมนติก นิสัยโลกสวย กระทั่งถูกติงว่านิยายของเธอน่าจะมีความแปลกใหม่หรือดึงดูดให้มากกว่านี้หน่อยหากต้องการประสบความสำเร็จมากกว่านี้ ด้วยความบังเอิญที่เธอย้ายบ้านมาพักตรงข้ามกับบ้านของมาซามุเนะ จิอากิ นักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดัง ผู้เป็นคนขวานผ่าซากและมองว่าทุกอย่างรอบตัวคือวัตถุดิบชั้นดีที่เขาสามารถหยิบจับไปใช้ในการเขียนนิยายได้ทั้งหมด มิจิรุจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากจิอากิและตกปากรับคำเป็นผู้ช่วยให้เขา หลังจากผ่านความเข้าใจผิด ความวุ่นวายยุ่งเหยิงต่างๆ ทั้งสองคนก็ค่อยๆ รู้จักตัวตนของกันและกัน พร้อมกับตกหลุมรักกันทีละนิดละน้อย แต่ด้วยความที่ทั้งคู่แตกต่างกันมาก กว่าที่จะปรับจูนจนเข้าใจกันได้นั้นก็ทำให้คนรอบตัว (และคนอ่านอย่างผม) อดลุ้นอยู่นาน (จนเกือบจะจบเล่มเลยมั้ง)
ปกติแล้ว ผมไม่ค่อยอินกับนิยายญี่ปุ่น แม้จะซื้อนิยายญี่ปุ่นมาอ่านและเก็บอยู่ในกองดองเยอะมาก แต่มีเล่มที่ชอบ ที่ประทับใจจริงๆ น้อยมาก ขนาดนักเขียนที่คิดว่าอ่านแล้วน่าจะรู้สึกชอบอย่าง อาคากาวะ จิโร ที่เขียนแมวสามสียอดนักสืบนั้น ผมก็ยังชอบแค่บางเล่ม แถมบางเล่มนี่ไม่ชอบถึงขนาดแหวะยี้เลยก็มีนะ หรือฮิงาชิโนะ เคโงะที่ดังมากๆ ในบ้านเรา บางเล่ม ผมได้อ่านแล้วก็เฉยๆ ซะงั้น หากพูดถึงนิยายญี่ปุ่นแล้ว คงจะมีเพียงแค่งานเขียนของโยโคมิโซะ เซชิ ผู้เขียน คินดะอิจิ ยอดนักสืบล่ะมั้งที่คิดว่าอ่านแล้วชอบ จดจำได้ และไม่ผิดหวัง แต่ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผมประทับใจการ์ตูนคินดะอิจิยอดนักสืบ (รุ่นหลานปู่) มาก่อนก็เป็นได้ แต่ "เธออยู่ร้อยปี ฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี" ทำให้ผมรู้สึกประทับใจตั้งแต่แรกอ่าน แม้จะไม่ถึงกับวางไม่ลงก็เถอะ (ก็บอกแล้วว่าไม่อินนิยายญี่ปุ่น)
ความสนุกที่ทำให้เราอ่านนิยายเรื่องนี้ได้อย่างเพลิดเพลินมีหลายประการ แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “ความสวยงาม” ที่เกิดขึ้นจากความรักที่ถูกบ่มเพาะทีละนิดระหว่างหนุ่มสาวผู้ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ต้องยอมรับว่า senorita-p เก่งมากที่ถ่ายทอดเรื่องราวหวานละมุนอันเกิดจากความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ได้อย่างชัดเจน งดงาม และจริงใจ แถมยังให้อารมณ์ประดุจว่าคนอ่านได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นจริงๆ ไม่มีกลิ่นหรือรสสัมผัสใดๆ แสดงให้เห็นเลยว่านี่คืองานจากนักเขียนไทย ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าคนเขียนเป็นคนไทย ก็อาจเข้าใจได้ว่าคนเขียนเป็นคนญี่ปุ่นจริงๆ ไปเลย
นอกจากอารมณ์ละเมียดละไมแล้ว ในเรื่องยังแทรกสอดมุกตลกอันเกิดจากความแตกต่างของพระนางเข้ามาเป็นระยะ ให้อารมณ์ Opposite Attraction ที่ทำให้เราทั้งขำ และซาบซึ้งในเวลาเดียวกัน บางมุกก็เป็นมุกที่อาจส่งผลให้ฟินจิกหมอนได้ (น่าจะกับสาวๆ นะ กับผมไม่สำเร็จ) กรณีนี้ยกข้อดีให้คนเขียนได้อีกหนึ่งจุดที่สามารถสร้างตัวละครที่มีมิติ และมีความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างหมดจด ยิ่งนิยายเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความแตกต่างระหว่างพระนาง การสร้างตัวละครได้อย่าง “เข้าถึง” เนี่ย มีผลต่อรสชาติของนิยายเป็นอย่างยิ่ง และนิยายเรื่องนื้ทำได้ “ถึง” จริงๆ
ผมเชื่อเสมอว่านิยายที่ดีคือนิยายที่สื่อสารกับคนอ่านได้ อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมอ่าน “เธออยู่ร้อยปี ฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี” ได้อย่างเพลิดเพลินคือนิยายเรื่องนี้มีตัวละครที่สื่อสารกับผมได้อย่างสนิทแนบแน่น ตัวละครที่ว่าก็คือ "จิอากิ" นั่นเอง จิอากิเป็นนักเขียนที่ชอบชีวิตเงียบๆ ไม่ชอบยุ่งกับคนจำนวนมากๆ และปากร้าย ปลอบคนไม่เป็น ก็ไม่รู้สินะ เวลามองเห็นภาพของตัวละครจิอากิขณะที่อ่านแล้วมีภาพตัวเองซ้อนทับอยู่จางๆ มันก็เป็นอะไรที่แปลกดี น้อยครั้งมากที่อ่านนิยายแล้วผมจะรู้สึกว่ามีสายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างตัวเองกับตัวละครในนิยายทับซ้อนสลับกันไปมาแบบนี้ มันทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งดื่มด่ำไปกับเรื่องราวได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างน่าแปลกใจ
อย่างไรก็ดี ข้อเสียของนิยายคือความยาวของเรื่อง ขนาดสองเล่มจบ อาจไม่ได้ดูเยิ่นเย้อยืดยาวมากนัก แต่ระหว่างที่อ่านเรื่องราวความรักของมิจิรุและจิอากิที่ค่อยเป็นค่อยไปนั้น บางช่วงบางตอน ผมก็จะมีความคิดแผลงๆ ขึ้นมาบ้างว่าทำไมมันเรื่อยๆ จัง มันน่าจะกระชับกว่านี้ไหม แม้ความเรื่อยๆ ที่ว่านั้นเป็นความเรื่อยๆ แบบที่มาเรียงๆ คือมันก็ทำให้เราพลิกหน้าหนังสือต่อไปได้ไม่หยุด แต่มันจะมีอารมณ์สะดุดในใจหน่อยๆ ว่าหากกระชับกว่านี้ น่าจะเข้มข้นกว่านี้ เช่นเดียวกับปมปัญหาที่เป็นปมขัดแย้งหนักๆ ในตอนท้ายเรื่องคือประเด็นเรื่องการยอมรับการคบหากับจิอากิของครอบครัวของมิจิรุ ที่ผมแอบคิดว่ามันง่ายและรวดเร็วเกินไปหน่อย แม้จะไม่ถึงกับตกม้าตาย แต่ก็ทำให้ติดอยู่ในใจนิดหน่อยว่าถ้าจะยอมรับง่ายๆ แบบนั้นก็ไม่เห็นต้องเล่นใหญ่เกินเบอร์ตั้งแต่แรกเลยอะไรประมาณนี้ แต่ข้อเสียพวกนี้ไม่ได้ทำให้อรรถรส และความอิ่มเอม หรืออารมณ์ที่ทำให้ยิ้มกริ่มในนิยายหมดรสไปหรอกนะครับ
“เธออยู่ร้อยปี ฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี” เป็นสำนวนโบราณของญี่ปุ่น มีความหมายว่าขอให้อายุยืนยาว ได้ความมาว่าคนเขียนไปพบสำนวนนี้และอยากเขียนเรื่องรักที่พูดถึงความรักของคนสองคนที่ลึกซึ้งและมั่นคง ซึ่งเรื่องราวในเรื่องก็ถ่ายทอดประเด็นนี้ได้ลงตัวดี นิยายเรื่องนี้ยังมีอีกเรื่องที่อยู่ในจักรวาลเดียวกัน ชื่อ “ไม่พบหนึ่งวันเหมือนหนึ่งร้อยปี” ที่เป็นเรื่องราวของอุเอฮาระ มินาโตะ และโมริยามะ ยูกะ (ซึ่งใน “เธออยู่ร้อยปี ฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี” คนอ่านจะได้เห็นสองคนนี้แต่งงานและมีลูกแฝดด้วยกันแล้ว และมินาโตะคือพี่ชายของมิจิรุนั่นเอง) แน่นอน…ผมมีนิยายเรื่องนี้อยู่ในมือแล้ว จะพลาดได้ยังไง ใช่ไหมล่ะครับ?
#ReadingRoom #เธออยู่ร้อยปีฉันอยู่เก้าสิบเก้าปี #senoritap
โฆษณา