6 มิ.ย. 2021 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การฟื้นตัวแบบรูปตัว K ที่เศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญอยู่
1
วิกฤติโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกตกต่ำอย่างหนัก
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจของบางประเทศก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
บางประเทศก็ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับประเทศไทยเรานั้น
ก็มีทั้งภาคธุรกิจบางส่วนฟื้นตัวแล้ว ขณะที่บางส่วนก็ยังย่ำแย่อยู่
จนนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ไทยกำลังเผชิญหน้ากับ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว “K”
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว K คืออะไร
แล้วสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หน้าที่ของรัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศ คือต้องพยายามกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งและเร็วที่สุด
1
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นรัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย
อย่างที่เห็นในประเทศไทย ก็อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง, เราชนะ, ม33 เรารักกัน ที่มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และให้คนออกไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนธนาคารกลาง ก็ใช้มาตรการทางการเงิน อย่างเช่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนทางการเงินในตลาดการเงิน รวมไปถึงการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ตลาดการเงิน หรือที่เรียกว่ามาตรการ Quantitative Easing (QE)
1
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาและรูปแบบของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ก็จะมีระยะเวลาและรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ตามสถานการณ์ความรุนแรงและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ
1
ซึ่งเราสามารถแบ่งรูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เข้าใจง่าย ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น
- ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หรือ “V-Shaped”
- ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ แล้วฟื้นตัว หรือ “U-Shaped”
- ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัว แต่กลับไปถดถอยใหม่ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง หรือ “W-Shaped”
- ภาวะถดถอยแล้วใช้เวลานานในการฟื้นตัว หรือ “L-Shaped”
2
นอกจาก 4 รูปแบบข้างต้นแล้ว ก็ยังมีวัฏจักรของเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่จะมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว มิหนำซ้ำยังย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ
รูปแบบของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลักษณะนี้ ถูกเรียกว่า “K-Shaped”
ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทย
1
Cr.thairath
สำหรับภาคธุรกิจของไทย ที่ตอนนี้ฟื้นตัวกลับมาได้แล้วอย่างชัดเจน คือ ภาคการส่งออก ที่ถือเป็นหนึ่งภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
เราลองมาดูตัวเลขมูลค่าการส่งออก ในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังที่ผ่านมา
ไตรมาส 2/2563 มูลค่าการส่งออก หดตัว 17.8%
ไตรมาส 3/2563 มูลค่าการส่งออก หดตัว 8.2%
ไตรมาส 4/2563 มูลค่าการส่งออก หดตัว 1.5%
ไตรมาส 1/2564 มูลค่าการส่งออก เติบโต 5.3%
1
ดูจากตัวเลขการส่งออกแล้ว บอกเราว่า ภาคการส่งออกของประเทศไทยนั้น ปรับตัวดีขึ้น
จากที่หดตัวในปีที่ผ่านมา พลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ในไตรมาสล่าสุด
3
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะการส่งออกของไทยนั้น
ได้รับผลบวกจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 โดยเฉพาะคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน
1
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 นั้น มูลค่าการส่งออกจากไทยทั้งหมดเท่ากับ 2.5 ล้านล้านบาท
ซึ่งมาจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา 3.8 แสนล้านบาท และจีน 3.4 แสนล้านบาท
7
2 ประเทศนี้ ถือเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ 2 อันดับแรกของไทย
ที่มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกกว่า 28% จากรายได้ของภาคการส่งออกทั้งหมด
โดยภาคธุรกิจส่งออกที่เติบโตได้ดี ก็อย่างเช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์, ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์, แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน, ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา
3
อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนี้กลับยังมีบางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและยังคงย่ำแย่ ซึ่งเปรียบเหมือนหางตัว K อีกทางที่ชี้ลง
1
หนึ่งในนั้นคือ ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ในปี 2563 มีเพียงประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีมากถึงประมาณ 40 ล้านคน
2
ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่ก่อนหน้านี้ หลายคนหวังจะให้เป็นตัวช่วย ที่ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศได้ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง กลับต้องมาเจอการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นระลอก ๆ ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็ยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่
Cr.sanook
เรื่องนี้ส่งผลให้ ธุรกิจโรงแรม ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว จำนวนผู้มาใช้บริการก็ยังไม่กลับไปเท่าเดิม
โรงแรมหลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว บางรายถึงขนาดต้องขายกิจการทิ้ง ลดจำนวนพนักงานลง
1
โรงแรมหลายแห่งต้องหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อมาใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจ ไม่ให้ล้มละลาย หรือต่อลมหายใจออกไปอย่างน้อยก็อีกสักระยะ
 
ธุรกิจสายการบินก็เป็นอีกธุรกิจที่ยังย่ำแย่ต่อ ซึ่งสะท้อนไปยังหลายบริษัทที่ทำธุรกิจสายการบินในตลาดหลักทรัพย์ยังขาดทุนกันอย่างหนักและต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เมื่อการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศยังไม่กลับมาเป็นปกติ
หลายสายการบินที่ขาดทุนหนักอยู่ก่อนหน้านี้ ก็ต้องขาดทุนหนักกว่าเดิม
ขณะที่หลายสายการบินต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทกันใหม่
1
ยังไม่นับรวมธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาการเดินทางของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารในบางพื้นที่ เช่น ตามสถานที่ท่องเที่ยว, ธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้มาตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในรอบแรก และยังไม่ค่อยฟื้นตัวมาจนถึงวันนี้
1
สรุปแล้ว สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้
มีทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้ว และกำลังเติบโตไปได้ดี อย่างเช่น ภาคการส่งออก
แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีธุรกิจบางส่วนที่ยังย่ำแย่และก็ยังไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจเหล่านี้จะสามารถทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน อย่างเช่น ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
ลองนึกภาพถึงการลากหางของตัว K ให้ยาวออกไปเรื่อย ๆ
ยิ่งลากยาวเท่าไร หางทั้ง 2 ข้างจะค่อย ๆ ถ่าง และยาวออกไปเรื่อย ๆ เท่านั้น
ซึ่งนั่นหมายถึง คนที่ฟื้นตัวหรือเติบโต ก็จะยิ่งเติบโตได้เรื่อย ๆ
ขณะที่ คนที่ย่ำแย่ ก็จะย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ
ซึ่งถ้าเรื่องนี้ยังดำเนินต่อไป ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมีมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม ตามมาในที่สุด
4
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องรีบดำเนินการแก้ไข
ไม่เช่นนั้น เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีคนบางกลุ่มที่ต้องถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง
และพวกเขา อาจไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิม ได้อีกเลย..
2
โฆษณา