5 มิ.ย. 2021 เวลา 13:24 • ท่องเที่ยว
ไปเที่ยววัดเชียงทอง วัดเก่าแก่ที่สุดในหลวงพระบาง ศิลปะล้านช้าง งดงามที่สุดในประเทศลาว
ประเทศบ้านพี่เมืองน้อง ที่ผู้เขียนต้องไปเที่ยวให้ได้ คือประเทศลาว จริงๆแล้ว ไปง่ายเพราะอยู่ใกล้ ซึ่งหลายๆคนคงคิดเหมือนกัน เลยจัดไว้อันดับหลังๆ สำหรับประเทศที่อยากไปเยือน โดยเฉพาะ หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก จึงเพิ่งไปเยือนเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว แล้วก็ไม่ผิดหวัง งดงามจริงๆค่ะ ได้ชมศิลปะล้านช้าง มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก มาชมกันเลยค่ะ
1
เครดิตภาพ: Dr. TC
วัดเชียงทอง
เป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ล้านช้าง ราชวงศ์หลวงพระบาง และราชวงศ์ลาว ตั้งอยู่ในนครหลวงพระบาง ประเทศลาว สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2103 โดยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง
ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างตอนเหนือที่งดงามมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "อัญมณีของศิลปะล้านช้าง"
วัดเชียงทอง   เครดิตภาพ: อ้างอิง 1
ประวัติวัดเชียงทอง
ปี พ.ศ. 2042 ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาเกิดว่างกษัตริย์ พระนางจิระประภามหาเทวีผู้เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์หญิงเพียง1ปี บ้านเมืองก็เกิดระส่ำระส่าย ถูกอาณาจักรรอบข้างรุกราน และในยุคที่บุเรงนองเป็นผู้ชนะ10ทิศ พระนางจิระประภาจึงเชื่อมสัมพันธ์กับอาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรล้านช้างให้แน่นแฟ้น
 
แต่พระองค์ครองราชย์ได้เพียง1ปี จึงสละราชบัลลังก์ และทูลเชิญพระไชยเชษฐาจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง ลงมาปกครองแทน เนื่องจากพระนางยอดคำทิพย์ พระอัครมเหสีในพระเจ้าโพธิสารราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง หรือผู้เป็นแม่ของพระไชยเชษฐา
 
พระราชธิดาของพระนางจิระประภา จึงเห็นว่าหลานชายของตนมีสายเลือดล้านนา จึงให้มาปกครองเชียงใหม่ แต่พระไชยเชษฐาปกครองได้เพียง1ปี พระราชบิดาเกิดสวรรคตกระทันหัน
พระไชยเชษฐาจึงต้องกลับไปเถลิงราชสมบัติครองราชย์ล้านนา พระองค์จึงอัญเชิญ พระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ จากเชียงใหม่กลับไปหลวงพระบางด้วย หลังจากนั้นพระองค์ก็เริ่มสร้างวัดเชียงทองขึ้นในใจกลางกรุงหลวงพระบาง
หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ทั้งอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรอยุธยา ต่างก็ตกเป็นเมืองขึ้นของหงสาวดี พระไชยเชษฐาทรงย้ายเมืองหลวงหนีลงไปสร้าง นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นราชธานีแห่งใหม่
เมืองหลวงพระบางจึงปล่อยทิ้งร้างและหมดบทบาทลง พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญลงมานครหลวงเวียงจันทน์ด้วย ส่วนพระพุทธสิหิงค์ทรงคืนให้กลับเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง, อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์, และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
 
เมืองหลวงพระบางจึงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ไม่ขึ้นตรงต่ออาณาจักรลาว เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ และได้มีการซ่อมแซมวัดเชียงทองเรื่อยมาทุกรัชกาล จึงเกิดลวดลายที่มีเอกลักษณ์ต่างจากนครเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์
 
วัดเชียงทองจึงถึงถือเป็นวัดประจำราชวงศ์ลาวหลวงพระบาง และเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมลาวล้านช้าง มีลวดลายที่วิจิตรตระการตา
พระอุโบสถ   เครดิตภาพ: Dr. TC
พระอุโบสถวัดเชียงทอง
พระอุโบสถวัดเชียงทอง หรือสิมวัดเชียงทอง ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมล้านนา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้นำช่างหลวงไปจากเชียงใหม่ และได้ต้นแบบการสร้างมาจากวิหารวัดโลกโมฬีเชียงใหม่ ราชอาณาจักรล้านนา
พระอุโบสถหลังนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง และกลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา
สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน โดยสิ่งที่โดดเด่นคือหลังคาซ้อน 3 ตับ ซึ่งดัดอ่อนโค้งและลาดต่ำลงมามาก
พระอุโบสถ   เครดิตภาพ: Dr. TC
บนกลางสันหลังคามีการทำช่อฟ้าหรือ สัตตะบูริพัน อันเป็นการจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา ช่อฟ้า 17ช่อ บนหลังคาอุโบสถ (ตามภาพบน) เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นวัดของพระมหากษัตริย์ ซึ่งวัดเชียงทองแห่งนี้ ถูกสร้างโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อปี พ.ศ. 2103 ตามที่กล่าวข้างต้น
หน้าบันแกะสลักเป็นรูปลายดอกตาเว็น หรือลายดวงอาทิตย์
พระอุโบสถแห่งนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2471 บนผนังทั้งด้านนอกและด้านในประดับด้วยลายรดน้ำปิดทองบนพื้นสีดำ เรียกว่า "ลายฟอกคำ" แต่ข้างในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และตำนานเมืองหลวงพระบาง
ภายในพระอุโบสถ  เครดิตภาพ: Dr. TC
ส่วนด้านหลังของพระอุโบสถประดับด้วยภาพประดับกระจกสีเป็นภาพต้นทอง ซึ่งได้สื่อถึงตำนานการสร้างเมืองหลวงพระบาง ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่าเป็นเมืองที่มีต้นทองอยู่มาก โดยเฉพาะที่วัดเชียงทองแห่งนี้ เคยมีต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบอยู่ด้วย
ภาพต้นทอง   เครดิตภาพ: Dr. TC
ดังนั้นเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทอง โดยเจ้าศรีสว่างวัฒนา ก็ได้ให้ช่างทำลวดลายเป็นรูปต้นทองไว้ที่ด้านหลังอุโบสถ เพื่อระลึกต้นทองยักษ์ในอดีตนั่นเอง ซึ่งถือเป็นงานศิลปะ ลวดลาย สีสรรค์ ที่ละเอียด สวยงามจริงๆค่ะ
ภายในพระอุโบสถ งดงามมาก ผู้เขียนได้เข้าไปกราบ พระองค์หลวง พระประธานปางมารวิชัย ซึ่งประดิษฐาน อย่างสวยงามเป็นสง่ามาก ซึ่งพวกเรา นักท่องเที่ยว และพุทธศาสนิกชนได้เข้าไปกราบไหว้กัน
พระองค์หลวง   เครดิตภาพ: Dr. TC
โรงราชรถ หรือหอราชโกศ
 
ด้านหน้าของพระอุโบสถ มีอาคารสำคัญ คือ โรงราชรถ หรือหอราชโกศ ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2505 เพื่อเก็บพระโกศของสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2502
โรงราชรถ    เครดิตภาพ: Dr. TC
หอพระพุทธไสยาสน์
 
ด้านหลังของอุโบสถ เราจะพบ หอพระพุทธไสยาสน์ หรือ หอวิหารแดง หรือหอไหว้สีกุหลาบ เพราะสีของผนังด้านนอกเป็นสีชมพูคล้ายสีกุหลาบจริงๆ แต่ชื่อนี้น่าจะมาเรียกกันในตอนหลัง
หอพระพุทธไสยาสน์นอกจากเป็นมุมถ่ายรูปที่นิยมสุดๆ (ซึ่งผู้เขียนต้องขอเก็บภาพไว้ด้วยค่ะ) แล้ว
เรื่องราวบนฝาผนัง ที่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านกระจกสีชิ้นเล็กๆ เพื่อสืบทอดวรรณกรรมชิ้นเอกของลาว เรื่องท้าวเสียวสวาด นิทานพื้นบ้านที่สั่งสอนเรื่องธรรมะอย่างง่ายๆ เช่น กรรมตามสนอง หรือความกตัญญู แถมยังสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวลาวเอาไว้มากมาย ก็งดงาม และเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน
หอพระพุทธไสยาสน์    เครดิตภาพ: Dr. TC
ภายในหอพระพุทธไสยาสน์ นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์โบราณ ที่งดงาม และมีความอ่อนช้อย ตามแบบสกุลช่างหลวงพระบางในยุคสมัยนั้น อีกทั้งยังเป็นพระนอนโบราณที่มีอายุถึง 400 ปี ด้วย
หอพระม่าน
นอกจากหอวิหารแดง หรือหอไหว้สีกุหลาบแล้ว ยังมีหอไหว้อีกหลังหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ คือ หอพระม่าน หอไหว้หลังเล็กสีชมพูเช่นกัน ซึ่งผนังด้านนอกตกแต่งด้วยกระจกเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านคล้ายกับหอวิหารแดง แต่ภายในประดิษฐานพระม่าน 1 ใน 3 พระพุทธรูปสำคัญของเมืองหลวงพระบาง ร่วมกับพระบางซึ่งอยู่ที่หอพระบาง และพระเจ้าองค์แสนซึ่งอยู่ที่วัดหนองศรีคูนเมือง
โดยปกติพระม่านจะประดิษฐานอยู่ภายในหอพระม่าน และไม่เปิดให้ใครได้ชม ใครอยากชมก็ต้องมองลอดรูเล็กๆ ตรงประตูเข้าไป ทว่าจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกมาปีละ 1 ครั้งช่วงหลังสงกรานต์ ในระหว่างวันที่ 23 – 27 เมษายน โดยจะประดิษฐานภายในวัดเชียงทองให้คนได้สรงน้ำ ซึ่งเราสามารถเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ได้อย่างชัดเจน
พระม่านนี้เชื่อกันว่าสร้างขึ้นโดยชาวพม่า พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้ชื่อว่า พระม่าน เพราะคำว่า ม่าน หมายถึง ชนชาติพม่า (อย่างไรก็ตาม พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะล้านช้าง ตามภาพล่างนี้)
หอพระม่าน    ภาพ: Dr. TC
พระม่าน   เครดิตภาพ: อ้างถึง 3
วัดเชียงทอง ถือเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามสุดในประเทศลาว และยังเป็นวัดที่เก่าแก่สุดใน เมืองหลวงพระบาง อีกทั้งเป็น “วัดประตูเมือง” และเป็นท่าเทียบเรือด้านเหนือ สำหรับการเสด็จประพาสทางชลมารคของกษัตริย์หลวงพระบาง ในสมัยก่อน ดังนั้นถ้าเรามาเยือนหลวงพระบาง วัดเชียงทองเราต้องห้ามพลาดเลยค่ะ
โฆษณา