5 มิ.ย. 2021 เวลา 12:04 • ประวัติศาสตร์
📌 มองย้อนประวัติศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 - จุดเริ่มต้นของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Bnomics ได้นำเสนออนาคตข้างหน้าของอุตสาหกรรมไทยในยุคหลังโควิด-19 ที่จะมีความล้ำสมัยและแตกต่างจากอุตสาหกรรมแบบเดิมที่เราเคยทำในอดีต ซึ่งรับกับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industrial Revolution 4.0 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเน้นการนำเอา Smart Technology เช่น Internet of Things (IOTs) ระบบคลาวด์ หรือปัญญาประดิษฐ์ มาแทนที่วิธีการผลิตแบบเดิมๆ
3
📌 กระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
เริ่มมีแรงส่งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทจำนวนมากทั่วโลกต้องปิดโรงงานของตัวเองลงชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ ทำให้โรงงานต่างๆ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เช่นเดิม ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของสายพานการผลิตในปัจจุบันที่ยังคงขึ้นอยู่กับแรงงานมนุษย์พอสมควร จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมบริษัทและโรงงานต่างๆ จำนวนมากถึงให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Industry 4.0 มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการนำระบบ automation และระบบ robotic มาใช้เพื่อทำให้สายพานการผลิตของตัวเองมีความมั่นคงหรือ Resilient มากยิ่งขึ้นในอนาคต
ในประเด็นนี้ หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็จะพบได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้นกลับมีส่วนที่คล้ายกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ อย่างไม่น่าเชื่อ โดยมีจุดเริ่มต้น คือ
1
📌 กาฬมรณะ - การระบาดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปในครั้งนั้น
ก่อนจะพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง Bnomics อยากชวนทุกคนมองย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้นอีกหน่อย คือ ทวีปยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยช่วงปี ค.ศ. 1346–1353 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคหรือที่รู้จักกันว่า กาฬมรณะ (The Black Death) ขึ้น การระบาดดังกล่าวนับว่าเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 75–200 ล้านคนในทวีปยุโรปและแอฟริกาเหนือ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุโรป
1
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการเกษตร ประชากรของทวีปยุโรปที่ได้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากจากกาฬมรณะ ได้ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในยุคหลังการระบาด ส่งผลให้ชาวยุโรปที่เหลืออยู่ต้องปรับตัวไปตามกัน จากแต่เดิม เคยเน้นไปที่การปลูกพืชพันธุ์ พืชผลต่างๆ เป็นหลัก ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์แทน เนื่องจากการปลูกพืชผลเช่นเดิมนั้นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมากในการไถที่ดิน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต
📌 การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการเกษตร ได้นำไปสู่เทรนด์หญิงแกร่งและหญิงโสด
2
การเปลี่ยนแปลงในด้านเกษตรกรรมนี้เองได้ส่งผลให้บทบาทของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังการระบาด การโยกย้ายจากการปลูกพืชผลแบบเดิม มาเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นหลัก ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เช่นเดียวกันกับผู้ชาย เนื่องจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์มีงานต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และหลายงานในนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานหนักจากผู้ชายแต่อย่างเดียวเหมือนเช่นเคย ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเริ่มหันไปทำงานแทน และกลายเป็นว่ามีความเป็นอิสระมากขึ้น และตัดสินใจแต่งงานช้าลง จนเกิดคำศัพท์ว่า Spinsters ขึ้นมา เพื่อใช้เรียกหญิงโสดที่เลยวัยแต่งงานและอยู่ในตลาดแรงงาน ซึ่งมาจากการที่อาชีพส่วนใหญ่ของผู้หญิงในยุคนั้นคือการปั่นขนแกะ (Spinning wool)
2
กระแสการแต่งงานช้าลง และอายุการแต่งงานเฉลี่ยของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของประชากรในช่วงหลังการระบาดลดลงด้วย ประกอบกับประชากรที่เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากในวิกฤติกาฬมรณะ ทั้งหมดนี้นำไปสู่ค่าจ้างโดยรวมที่สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงลอนดอนและอัมสเตอร์ดัม ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต และด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญ
2
แม้หลังจากนั้น ประเทศในยุโรปจะพยายามแก้ปัญหาหรือ Pain Point ดังกล่าวผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การล่าอาณานิคม เพื่อไปอาศัยต้นทุนการผลิตที่ถูกจากแรงงานจำนวนมากในประเทศโลกที่สาม เช่น กรณีของอังกฤษที่เลือกจะทอผ้าที่อินเดียแทน แล้วจึงค่อยส่งกลับมาขายที่อังกฤษ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ามาก อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ววิธีการต่างๆ เหล่านี้ ที่ได้พยายามทำกันมาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาของต้นทุนการผลิตที่สูงได้อย่างยั่งยืนและถาวร
1
ปัญหาดังกล่าว จึงได้เป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง จากความพยายามของทั้งนักธุรกิจและนักประดิษฐ์ต่างๆ จำนวนมากที่ต้องการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ (ดังคำที่ว่า necessity is the mother of invention) เพื่อช่วยลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์และเพิ่มกำลังการผลิตไปในตัว เช่นในอุตสาหกรรมทอผ้าเอง เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มมีการนำเครื่องทอผ้ามาใช้ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากในเครื่องจักรในยุคแรกนั้นต้องใช้พลังงานน้ำเป็นหลัก จึงสามารถตั้งอยู่ได้ ณ พื้นที่ต่างจังหวัดที่มีแม่น้ำไหลผ่านเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ความสำเร็จในการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ (Steam Engine) ได้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง
1
ก้าวแรกที่สำคัญนั้น เกิดขึ้นเมื่อโธมัส นิวโคเมน (Thomas Newcomen) ชายชาวอังกฤษ ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำแบบบรรยากาศ (Atmospheric Engine) ในปี ค.ศ.1712 ต่อมาได้รับการพัฒนาต่อยอดโดยนักประดิษฐ์และวิศวกรชาวสก็อตแลนด์ที่ชื่อว่า เจมส์ วัตต์ (James Watt) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ.1776 เครื่องจักรดังกล่าวได้กลายมาเป็นต้นแบบของเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอังกฤษและทั่วทวีปยุโรปในช่วงเวลาต่อมา
1
ทั้งนี้ การคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำดังกล่าวได้นำไปสู่การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อีกมากมายที่ใช้เทคโนโลยีของพลังงานไอน้ำ ซึ่งได้เพิ่มกำลังการผลิตและสามารถเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ที่มีต้นทุนสูงได้ เช่น หูกทอผ้าของเอ็ดมันด์ คาร์ทไรท์ (Edmund Cartwright’s Power Loom) ซึ่งทอผ้าได้เร็วเท่ากับคน 200 คน นอกจากนี้ ยังเป็นจุดที่นำไปสู่วิถีการผลิตแบบโรงงาน (Factory System) ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน ที่มีเครื่องจักรนับสิบนับร้อยเครื่องอยู่ในโรงงาน และมีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในแถบทวีปยุโรปเติบโตอย่างก้าวกระโดด หนีห่างออกจากประเทศที่เหลือในโลกอย่างมาก กลายเป็นจุดหักเหที่สำคัญ ที่ส่งผลให้ยุโรปกลายเป็นผู้นำของระบบเศรษฐกิจโลกมาถึงทุกวันนี้
2
เมื่อมองอดีตแล้ว หันกลับมามองปัจจุบัน วิกฤติโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ซ่อนอยู่เช่นเดียวกัน
📌 การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม วิกฤติครั้งนี้ ได้เร่งให้เกิดการเข้าสู่สังคมดิจิทัล หรือ Digitalization อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
2
เมื่อไปถามบริษัทจำนวนมากว่าอะไรเป็นตัวเร่งให้เกิดการ Digitalization ในองค์กรของคุณ ระหว่าง CEO Chief Technology Officer หรือโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็คงจะตอบว่าเป็นโควิดโดยไม่ต้องคิดเลย โดยวิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งดำเนินมาระยะหนึ่งก่อนโควิด สามารถวิ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเสมือนติดเทอร์โบ สิ่งที่เคยคิดว่าต้องใช้เวลาอีก 10 ปีในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี กลับสามารถเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ปีเท่านั้น
จากประวัติศาสตร์ เราเห็นแล้วว่า ครั้งที่ยุโรปต้องเจอกับวิกฤติที่รุนแรงและน่าหนักสาหัส จากกาฬมรณะ สิ่งที่ชาวยุโรปในตอนนั้นทำคือพยายามฉวยโอกาสจากวิกฤติที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็นำยุโรปไปสู่ความรุ่งโรจน์ในที่สุด
1
วิกฤติครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การระบาดของโควิดที่ผ่านมา อาจทำให้เราประสบกับปัญหาต่างๆ ความเสียหายนานับประการ ตลอดจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดไม่ถึง แต่ช่วงเวลานี้ก็ยังเป็นจังหวะเวลาสำคัญที่เราจะต้องมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤติให้เจอให้ได้ และใช้เป็นแรงเหวี่ยงเร่งปรับตัวเพื่อไปสู่อนาคตที่ไฉไลกว่าเดิมในโลกหลังโควิด-19
2
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:
- Allen, Robert C (2009), The British Industrial Revolution in Global Perspective, Cambridge: Cambridge University Press.
- Voigtländer Nico, and Hans-Joachim Voth (2013), “How the West ‘Invented’ Fertility Restriction,” The American Economic Review, 103, 2227-64.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา