6 มิ.ย. 2021 เวลา 04:31 • ท่องเที่ยว
(6) พุกามประเทศ … สังเขปประวัติศาสตร์
Arnold Thynbee นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เคยกล่าววาจาอันเป็นที่จดจำอย่างกว้างขวางไว้ว่า “See Ankor and die” หากแต่ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ชาวไทย กล่าวถึงโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งด้วยอารมณ์เดียวกันว่า “See Bagan and live”
จึงกล่าวกันว่า หากคุณเป็นนักเดินทาง โบราณสถานสำคัญในเอเซียตอนใต้ที่คุณจะต้องเดินทางไปให้ได้สักครั้งในชีวิต นอกจากนครวัด นครธมในเขมร ทัชมาฮาลในอินเดียแล้ว สถานที่แห่งหนึ่งที่คุณต้องไม่พลาดการไปเยือน ก็คือ อาณาจักรพุกามในประเทศพม่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างมหึมานับพัน ที่มีอายุมากกว่าพันปีเช่นกัน … เก่าแก่กว่าสุโขทัย แต่ยังคงสภาพที่ดีเยี่ยม สะท้อนถึงร่องรอยของมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กอร์ปด้วยแสนยานุภาพทางทหาร พลังทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่ง และความรุ่งโรจน์ของศิลปวัฒนธรรมแบบพม่าที่ส่งอิทธิพลถึงกรุงสุโขทัย
ดังนั้นหากอยากจะเรียนรู้ว่าพม่ายิ่งใหญ่เพียงใด ต้องเดินทางมาที่พุกาม ด้วยที่นี่เป็นอาณาจักรแห่งแรก และยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพม่า
พุกามประเทศ … สังเขปประวัติศาสตร์
อาณาจักรพุกาม หรือ อริมัททะนะปุระ เป็นอาณาจักรที่เกรียงไกรในฐานะอรุณรุ่งแห่งชนชาติพม่า และศูนย์กลางของความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาถึง 243 ปี ตั้งอยู่บนพื้นที่กึ่งทะเลทรายทางฝั่งตะวันออกของของแม่น้ำเอยาวดีในพม่าตอนบน
สาเหตุที่พุกามตั้งอยู่ในบริเวณนี้ เชื่อกันว่าเป็นเพราะความเชื่อโบราณที่ต้องการสร้างเมืองอยู่ใกล้กับภูเขาโปปาอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของ “นัต” สัญลักษณ์ของการนับถือภูติผีก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้ามา
อีกความเชื่อหนึ่งกล่าวว่า พุกามตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้อันเป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย ด้วยเหตุที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถควบคุมแม่น้ำเอยาวดี (Ayawadi) อันหมายถึงสามารถควบคุมเส้นทางคมนาคมระหว่างดินแดนทางภาคใต้และทางภาคเหนือได้ทั้งหมด … แม้ว่าจะอยู่ห่างจากที่ราบลุ่มอันเป็นอู่ข่าวอู่น้ำถึงกว่าร้อยกิโลเมตรก็ตาม
พุกามรุ่งเรืองสุดขีดในพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าอโนรธา (King Anawrahta ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1587-1620) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกที่รวบรวมดินแดนพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ชัยชนะครั้งสำคัญของพระเจ้าอโนรธาในการขยายอาณาเขต เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนมารับพุทธศาสนานิกายเถรวาท จากเดิมที่ชาวพม่านับถือนิกายมหายาน …
พระองค์ได้ส่งราชทูตไปเฝ้ากษัตริย์มอญ เพื่อขอพระไตรปิฎกภาษาบาลี เมื่อถูกปฏิเสธจึงเข้าโจมตีเมืองสะเทิม ราชธานีของอาณาจักรมอญทางตอนใต้ได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.1600 (ฟังดูเหมือนยุทธวิธีที่กษัตริย์พุกามหาเหตุที่จะตีเมืองสะเทิม ยึดมอญเพื่อหาทางออกทะเล … เช่นเดียวกับพม่าในสมัยของพระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกจากไทย ในสมัยสมเด็จพระมหาจัดรพรรดิ เพื่อเป็นสาเหตุของการยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา) ยึดพระไตรปิฎกมาได้ 30 ชุด แล้วกวาดต้อนคนมอญมาไว้ที่พุกาม แล้วรื้อทำลายรั้ว วัง ป้อมปราการเมืองสะเทิมเสียหมด
จากนั้นพระเจ้าอโรธายกทัพไปตีเมืองยะไข่ทางตอนเหนือ พวกไทยใหญ่ที่มาตั้งเมืองทางตะวันออกก็ยอมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นโดยดี และปราบอาณาจักรน่านเจ้า ราชอาณาจักรของพุกามจึงกว้างใหญ่ไพศาล มีประเทศราชต่างชาติ ต่างภาษาหลายเมือง จึงกล่าวได้ว่าพระองค์เป็นผู้สร้างจักรวรรดิพม่าขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นที่ครั่นคร้ามอย่างยิ่งของดินแดนต่างๆในแถบนี้
ในช่วงเวลานั้น เขมรเริ่มมีอำนาจมากขึ้น (เป็นยุคก่อนสร้างนครวัด) ได้เริ่มแผ่อำนาจมาทางตะวันออก พระเจ้าอโนรธาจึงเข้ายึดอาณาจักรมอญก่อน จึงนับว่าเป็นจักรวรรดิพม่าแห่งแรกที่รวมกันขึ้นโดยผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา เพื่อต่อต้านผู้รุกรานซึ่งมีกษัตริย์ที่ได้รับสมมุติว่าเป็นพระศิวะเป็นผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาณาจักรมอญจะล่มสลาย แต่มอญกลับเป็นผู้ชนะทางวัฒนธรรม ด้วยวัฒนธรรมมอญได้รับการยกย่องอย่างสูงในราชสำนักพุกาม บาลีกลายเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ภาษาเขียนของพม่าก็ใช้ตัวอักษรมอญ … ที่สำคัญที่สุด ก็คือ สถาปัตยกรรมของพุกามรับอิทธิพลมาจากศิลปะมอญ ไม่ว่าจะเป็นวิหาร หรือสถูป
เพียงช่วงเวลาราว 200 ปีหลังจากที่พระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์ พุกามก็สะพรั่งด้วยวิหาร สถูป และเจดีย์สูงใหญ่ทั้งรูปทรงและขนาด จำนวนเกือบห้าพันองค์ อีกทั้งภายในสถาปัตยกรรมบางแห่งมีภาพสีปูนเปียกที่ตกทอดมาให้ประจักษ์แก่สายตาเราจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดของพม่าที่จะอยู่ในความทรงจำได้เท่ากับพระเจ้าอโนรธา ด้วยนอกจากจะเป็นนักการทหารที่สามารถแล้ว ยังทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่ากษัตริย์ใดๆในพม่า จนถึงกับมีคำกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชบำรุงพุทธศาสนาในอินเดียฉันใด พระเจ้าอโนรธามหาราชก็บำรุงพุทธศาสนาในพม่าฉันนั้น
วาระสุดท้ายของพุกาม : พุกามเจริญรุ่งเรืองมาอักนับร้อยปี จนกระทุ่งเข้าสู่รัชสมัยของพระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1797-1830) พระองค์เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนที่อาณาจักรพุกามจะตกเป็นของมองโกล
ภายหลังที่จักพรรดิ์กุบไลข่านนำกองทัพมองโกลเข้ายึดประเทศจีน พระองค์ได้ส่งผู้แทนมาทวงบรรณาการจากรัฐต่างๆ แต่เมื่อผู้แทนมองโกลมาถึงพุกาม พระเจ้านรสีหบดีปฏิเสธ และสั่งประหารชีวิตผู้แทนของมองโกลทั้งหมด
นับตั้งแต่นั้น สงครามระหว่างพุกามและมองโกลก็อุบัติขึ้นเป็นเวลาร่วมสิบปี พม่าบุกเข้าโจมตีตอนใต้ของจีนก่อน แต่ถูกทหารม้ามองโกลขับไล่ออกมา … ว่ากันว่าในการรบครั้งนั้น มาร์โคโปโล นักเดินทางชาวเวนิสได้บันทึกสงครามที่เขาเห็นกับตาเอาไว้ด้วย
หลังจากนั้นกองทัพจากยูนนานก็เคลื่อนกำลังเข้าพม่าและทำลายพม่ายับเยิน แต่ยังไม่ทันจะยึดพุกาม จีนก็ถอนกำลังออกไปก่อน เนื่องจากทนอากาศร้อนไม่ไหว อย่างไรก็ตาม กองทัพมองโกลได้บุกเข้ามาอีกครั้ง คราวนี้สร้างป้อมค่ายที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเอยาวดีทางตอนเหนือเพื่อเตรียมบุกพุกามให้แตกหัก
มองโกลยังไม่ทันจะบุกเข้าโจมตี พระเจ้านรสีหบดี เกรงว่าจะถูกจับจึงหลบหนีออกจากเมืองหลวงไป พระองค์จึงได้รับฉายาว่า “กษัตริย์ผู้วิ่งหนีชาวจีน”
นับจากนั้นอาณาจักรพุกามก็แตก อำนาจการปกครองจากส่วนกลางล่มสลาย ยะไข่ทางตอนเหนือประกาศอิสรภาพ มอญทางตอนใต้ก่อการจลาจล ดินแดนทางตอนเหนือและทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีอาณาจักรของคนไทยเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน คือ อาณาจักรเชียงใหม่ และอาณาจักรสุโขทัย
หากต้องการเห็นหลักฐานของการที่มองโกลบุกยึดพุกาม คงต้องเดินทางไปดูที่วัดถ้ำจันสิทธะ ซึ่งเป็นวัดสำหรับพระทำสมาธิ ที่ผนังถ้ำยังมีภาพทหารมองโกลถือธนู มีเหยี่ยวเกาะที่มือ … ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า เป็นภาพที่เขียนขึ้นตอนที่กองทัพมองโกลบุกพุกามราว พ.ศ1830 เราไม่มีเวลาพอเลยไม่ได้ไปเห็นค่ะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา