8 มิ.ย. 2021 เวลา 12:15 • ประวัติศาสตร์
การสืบสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ตามการวิเคราะห์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล - เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร วันที่ 9 มิถุนายน 2564
“วิวาทะเรื่องในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ในปี 2477 (ปฏิทินเก่า) เพราะทรงอยู่ลำดับแรกสุดตามหลักการสืบสันตติวงศ์ของกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว หรือเพราะการสนับสนุนของรัฐบาลคณะราษฎรในขณะนั้น โดยเฉพาะของปรีดี พนมยงค์ เป็นผลพลอยได้ (by-product) ของการวิวาทะเรื่องกรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 โดยฝ่ายที่สนับสนุนปรีดีเองเสนอว่าคณะราษฎรโดยเฉพาะปรีดีเองเป็นผู้สนับสนุนให้อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันท์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หลังจากรัชกาลที่ 7 (ซึ่งทรงไม่มีรัชทายาท) สละราชสมบัติ
.
ทั้งๆ ที่พระองค์เจ้าอานันท์อาจมิได้อยู่ในลำดับแรกของการสืบราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล การเสนอเช่นนี้มีนัยยะว่า เพราะฉะนั้นปรีดีจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะเกี่ยวข้องกับการสวรรคต ขณะเดียวกันฝ่ายนิยมเจ้า (Royalists) กลับยืนกรานว่าพระองค์เจ้าอานันท์ทรงอยู่ในลำดับแรกสุดของการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว ผู้สนับสนุนปรีดีจึงไม่สามารถอ้างเรื่องนี้เป็นความดีความชอบของปรีดีได้”
ข้อความข้างต้น เป็นบทนำของบทความเรื่อง “ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาลหรือเพราะปรีดีสนับสนุน ?” โดย ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขณะเป็นอาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ใน ปราโมทย์ พึ่งสุนทร และเปรื่อง ศิริภัทร์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส 1 พฤษภาคม 2515.
บทความดังกล่าวนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ค้นคว้าและตีความ เพื่อพิสูจน์ว่า พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นรัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรีด้วยเหตุผลอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง 1) เป็นไปตามลำดับขั้นทางกฎมณเฑียรบาล กับ 2) เป็นไปโดยการสนับสนุนของคณะราษฎร โดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้บรรยายลำดับการขึ้นครองราชย์นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สวรรคต เนื่องจากว่าพระราชโอรสผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายสาย ตามพระมารดาซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กลาง), สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง(ขวา) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(ซ้าย)
ตามพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ 6 ที่ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ โดยเฉพาะข้อหลังสุดที่พระมหากษัตริย์ที่กำลังทรงราชย์ทรงมีสิทธิ์ที่จะตั้งพระองค์ใดก็ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ถัดไป
.
ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 9 (8) ผู้ที่เป็นอันดับแรกที่จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 ต้องเริ่มนับที่พระอนุชาร่วมพระมารดาของรัชกาลที่ 7 (ถ้ามี) จึงกล่าวได้ว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งเป็น “ตัวเต็ง” ในขณะนั้น หมดสิทธิ์ในราชบัลลังก์ลำดับที่ 8 ไปโดยปริยาย
ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 9 (11) ก็ต้องเปลี่ยนเป็นพิจารณาสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี (ในกรณีนี้คือพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5) คือ ย้ายไปตามลำดับยศของพระชนนีสมเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชานั้น
สำหรับสายแรกคือ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ
.
1) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
.
2) สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
.
3) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย และ
.
4) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
.
ซึ่งล้วนสวรรคต/สิ้นพระชนม์/ไม่มีสิทธิ์ กันไปหมดแล้ว
สายต่อมา คือพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระองค์ที่มีสิทธิ์ตามลำดับพระอนุชาและพระโอรสในเวลานั้น ได้แก่
.
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งในขณะนั้นสิ้นพระชนม์ไปแล้ว สิทธิ์ในพระราชสมบัติจึงลำดับลงมาที่พระโอรสพระองค์แรก อันได้แก่ "พระองค์เจ้าอานันทมหิดล"
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ซ้าย), พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก(กลาง) และพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช (ขวา)
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จึงได้สรุปว่า “...ต้องยอมรับว่าฝ่ายนิยมเจ้า (Royalists) พูดถูกว่าพระองค์เจ้าอานันท์เป็นอันดับแรกของการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตามกฎมณเฑียรบาล
แต่การให้เหตุผลโต้แย้งของสุพจน์ ด่านตระกูล และปรีดี พนมยงค์ ก็ยังอาจจะมีส่วนถูกครึ่งหนึ่งได้ เพราะความเป็นจริงก็คือ
.
หลัง 24 มิถุนายน 2475 การเลือกผู้จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎมณเฑียรบาลเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น การสนับสนุนของรัฐบาลและปรีดีจึงยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญของการขึ้นครองราชย์ของในหลวงอานันท์ก็เป็นได้”
โฆษณา