9 มิ.ย. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
จากบทความก่อน นำไปสู่ประเด็นซึมเศร้าซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นหรือเคยเป็น
ผมเองเป็น introvert มาตลอดชีวิต เคยมีอาการซึมเศร้า (depression)​ ช่วงหนึ่งราวสามสิบปีก่อน ยังจำความโหดร้ายของมันได้
3
ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่า depression รู้แต่ว่ามันทรมาน
โชคดีที่ผมเป็นพวกที่เมื่อมีปัญหา ก็ศึกษาค้นคว้า
หลังจากศึกษาทำความเข้าใจกับมันอย่างละเอียด ก็เข้าใจดีขึ้น และเมื่อเข้าใจ ก็ดีขึ้น หรือคุมมันได้ดีขึ้น
7
ผมยอมเล่าเรื่องส่วนตัว 'ออกอากาศ' เพราะเห็นว่าคนที่ซึมเศร้าต้องการเพื่อน
และคนซึมเศร้าจำนวนมากไม่คิดหาความรู้หรือสาเหตุของปัญหา ปล่อยชีวิตลอยไปตามยถากรรม
1
ปัญหาหนึ่งคือคนที่จิตตก ซึมเศร้าชอบคิดว่ามันคือโรคร้าย หรือโยงเข้ากับอาการวิกลจริต ทำให้หลายคนที่จิตตกเครียดกว่าเดิม เพราะกลัวว่าตัวเองเข้าข่ายคนบ้า ความจริงแล้ว จิตตกหรือซึมเศร้าไม่ใช่บ้า
พวกบ้าคือพวกที่วันๆ ด่าทุกเรื่อง กับพวกที่โยงทุกเรื่องเข้ากับการเมือง
สิ่งที่คนจิตตกหรือซึมเศร้าควรรู้คือ จิตตกไม่ใช่โรค มันเป็นเพียงอาการ เราไม่เรียกอาการปวดท้องว่า โรคปวดท้อง เรียกอาการปวดหัวว่าโรคปวดหัว เรียกการเจ็บหัวแม่ตีนว่าโรคหัวแม่ตีน
1
จิตตกก็เหมือนมีอาการท้องไส้ปั่นป่วนที่เกิดขึ้นที่สมอง
จิตแพทย์หลายคนเรียกสภาวะซึมเศร้าว่า 'a common human experience'
บางสถาบันใช้คำว่า disorder หรือ illness
3
ก็แค่ไม่สบาย เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป
ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกบอกว่ามีชาวโลกที่จิตตกถึง 350 ล้านคน
สิ่งแรกที่ต้องทำคือยอมรับก่อนว่าเป็น แล้วหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น
ก็เป็นแล้วนี่นา จะไปบ่นหรือสาปแช่งชะตาทำไม
ข่าวดีคือมันรักษาหรือบรรเทาได้
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค : ทำความเข้าใจ หาจุดของปัญหา แล้วแก้ไข
4
เท่าที่ศึกษาเรื่องนี้มานาน ดูเหมือนความอ่อนแอทางจิตไม่ใช่ทางเลือก แต่คือภาคบังคับทางกายภาพ มันคือการทำงานของสมอง
กินเวลานานหลายปีกว่าผมจะเข้าใจว่าระดับของสารเคมีในสมองเป็นปัจจัยสำคัญต่อสภาวะจิตตก
มนุษย์เรามีสามองค์ประกอบ ร่างกาย (เนื้อหนัง กระดูก) ความคิด (สิ่งที่แล่นในสมอง) และจิต (สิ่งที่ปรุงแต่งจากความคิด)
‘ตัวตน’ ของมนุษย์เราก็คือสมองและสารเคมีในสมอง นิวรอน (เซลล์สมอง) ทำงานโดยใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็น neurotransmitter หรือฮอร์โมน สารเคมีต่าง ๆ ในสมองมีบทบาทมากถึงขั้นรับผิดชอบต่อการกำหนดความสุขความทุกข์ของมนุษย์
คนที่นึกภาพไม่ออกลองนึกถึงตัวเองเวลาหงุดหงิดหรือโมโหเมื่อหิว อาการโมโหหิว (hangry = hunger + angry)
6
ก็คือการทำงานของสมองนั่นเอง เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำ สมองตีความว่าเป็น ‘อันตราย’ และมีปฏิกิริยาออกมาในรูปของความก้าวร้าวโดยที่เจ้าตัวคุมตัวเองไม่ได้
1
หากเรายังไม่สามารถคุมแม้แต่อารมณ์ที่เกิดจากความหิว ลองคิดดูว่ามันยากเพียงใดที่จะคุมจิตตก
ถ้าเราขาดวิตามินซีอาจมีอาการเลือดออกตามไรฟัน ถ้าขาดวิตามินดีอาจเกิดภาวะกระดูกเปราะบางและหักง่าย เช่นกัน คนที่ขาด ‘วิตามิน’ บางชนิดในสมอง ก็เกิดอาการจิตตก
1
‘วิตามิน’ ที่ว่านี้ก็คือสารเคมีและฮอร์โมนที่ดีต่อใจ ถ้ามีมากพอ จิตก็ชื่นบาน ถ้ามีน้อยก็หดหู่ ถ้าหนักหน่อยก็จิตตก แรงกว่านั้นก็อาจต้องการหนีไปจากโลก
สารเคมีที่กำหนดความสุขของเรามีสี่ชนิด ได้แก่ Dopamine, Oxytocin, Serotonin, Endorphins เรียกรวมกันง่าย ๆ ว่า DOSE
2
ถ้าปริมาณโดพามีนต่ำกว่าปกติ เราจะขาดความกระตือรืนร้น ถ้าเอนดอร์ฟินต่ำ จะรู้สึกหงุดหงิด ซึมเศร้า เครียด ไม่มีความสุข ถ้าขาดออกซีโทซิน ความสุขในชีวิตคู่และปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอาจลดลง และถ้าเซโรโทนินต่ำอารมณ์ก็หงุดหงิด หงอยเหงา และกลัว
4
ย่อมมีคนถามว่า ถ้าเราแก้ปัญหาการขาดวิตามินได้ เราก็น่าจะทำอย่างเดียวกันกับสมองได้ซี หนามยอกเอาหนามบ่ง คือเพิ่มเคมีที่ดี
1
คำตอบคือใช่ เราทำอย่างนั้นได้ และนี่ก็คือหลักการที่แพทย์สายตะวันตกจ่ายยาปรับสมดุลสารเคมีในสมองให้คนจิตตกบางราย ยาในตระกูล SSRI ออกแบบมาให้ปรับเซโรโทนินโดยตรง หลายคนก็ได้ผลดี
2
ถ้าหมอบอกว่าจำเป็นต้องใช้ยา ก็ใช้ ถ้าเราช่วยตนเองได้ผ่านเทคนิคอื่นๆ ก็ลองดู
แต่หากเราเข้าใจวิธีทำงานและหน้าที่ของสารเคมีแต่ละชนิด เราก็อาจหาทาง ‘ผลิต’ สารเคมีนั้น ๆ ขึ้นมาเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่ยา แต่การเติมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการกินใส่ปากอย่างเดียว
การออกกำลังกายเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผล
เราชาวพุทธโชคดีที่มีเทคนิคหนึ่งที่เราเรียนมาแต่เด็ก ก็คืออานาปานัสสติ
มันก็คือกระบวนการบำบัดจิตของการแพทย์ตะวันตก ที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy หลักการคือ รู้ตัว รู้อารมณ์ ตามมันให้ทัน แล้วเปลี่ยนความคิดลบเป็นความคิดบวก
6
ท่านพุทธทาสภิกขุก็มีวิธีรักษาคนจิตตกครบกระบวนการกาย-จิต วิธีรักษาของท่านคือ สั่งให้คนจิตตกมาก ๆ ไปแบกอิฐแบกปูนในวัดทั้งวันจนหมดแรง เหนื่อยจนไม่มีแรงเหลือกระทั่งจะมาจิตตก!
4
นี่ได้ผลสองต่อ หนึ่ง การจดจ่อจิตไปที่งานคือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง สอง การออกกำลังกายเพิ่มสารเคมีที่ดีในสมอง ทำให้อารมณ์ดีขึ้น
3
ทั้งการออกแรงและทำสมาธิสร้างสารเคมีที่ดีในสมอง
จากประสบการณ์ ผมมีข้อแนะนำเป็นคำทางพุทธสองคำ เป็นหลักที่ใช้ได้ในการบำบัดจิต แต่ไม่ว่าคนศาสนาความเชื่อใดหรือคนที่จิตปกติเข้มแข็งก็ใช้ได้
สองคำมหัศจรรย์นี้คือ ‘ตื่นรู้’ และ ‘ปล่อยวาง’
5
ตื่นรู้คือการใช้สติกำกับ รู้ว่าเกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว รู้และตามทันความคิดที่กำลังถูกปรุงแต่งเป็นอารมณ์ เฝ้าดูอารมณ์ และปล่อยให้อารมณ์นั้นดับไป
ตื่นรู้คือเข้าใจและตามทันร่างกาย เข้าใจว่าเมื่อไรควรพัก เมื่อไรควรนอน เมื่อไรควรเติมสารเคมีดี ๆ เข้าไป
4
ส่วนปล่อยวางคือไม่แบกทุกอย่าง ยอม ๆ เสียบ้าง มองโลกขำ ๆ บ้าง ลดการใส่ขยะในหัว ลดการเสือกเรื่องชาวบ้านลง หัดรู้จัก “ช่างแม่ง!”บ้าง
8
เมื่อละได้ ตัวก็เบาขึ้น ใจก็เบาขึ้น
จิตตกได้ก็ขึ้นได้
ทำความเข้าใจกับสมองและร่างกายของตนเอง ดูแลกายภาพและจิต ทางกายคือกินอาหารให้ถูก นอนให้พอ ออกกำลังกายมากพอ ทางใจคือตื่นรู้และปล่อยวาง ทำได้อย่างนี้ ก็จะไปไม่ถึงขั้นอยากตายแน่นอน
3
คนที่จิตตกง่ายอาจจะไม่หายขาด แต่ก็เหมือนโรคหวัด เราอยู่กับมันได้
นี่แปลว่าควรมีสติตื่นรู้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ มันจะตามทันความเปลี่ยนแปลงทางใจ
อย่าปรุงแต่งความเครียดจนเกินพอดี อย่าแบกโลกนานไป อย่าปล่อยให้ตัวเองเหนื่อยนานไป
3
Don't worry, be happy.
เพราะเดี๋ยวก็ตายแล้ว
อย่างที่ ไอแซค อสิมอฟ ว่า "พยายามเอนจอยชีวิตที่เหลืออยู่หน่อย"
.
[ติดตามข้อเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันที่เพจ https://bit.ly/3amiAvG และ blockdit.com]
3
โฆษณา