7 มิ.ย. 2021 เวลา 10:00 • ท่องเที่ยว
หับ โห้ หิ่น (โรงสีแดง) และ Street Art สงขลา
ย่านเมืองเก่าสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบริเวณที่มีประวัติความเป็นมาและมีอายุยาวนานมากว่า 200 ปีเลยทีเดียว
หากจะมองกลับไปในรอยอดีต ... กล่าวกันว่า เมื่อราว 200 ปีก่อน ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบเรียกว่า "เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน" จนกระทั่ง พ.ศ. 2385 จึงขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยาง เรียกกันว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง"
ช่วงเริ่มแรกมีถนนสองสาย คือ ถนนนครนอก อันเป็นถนนเส้นนอกที่ติดกับทะเลสาบ และถนนนครในเป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมามีการตัดถนนสายที่สามเรียกว่าถนนเก้าห้อง หรือย่านเก้าห้อง เพื่องานสมโภชเสาหลักเมืองต่อมาก็เรียกกันว่าถนนนางงามนั่นเอง
บริเวณเมืองเก่า .. ประกอบไปด้วยอาคารและสถาปัตยกรรมที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่งดงาม มีห้องแถวไม้เก่าแก่แบบจีน ตึกคลาสสิคสไตล์ ชิโนโปรตุกีส ศาลเจ้าพ่อกวนอู โรงแรมนางงาม โรงแรมไม้เก่าแก่ประดับลายฉลุไม้วิจิตรบรรจง และยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกันทั้งสองฟากฝั่งถนน ซึ่งแม้อาคารหลายหลังมีการปรับปรุงทาสีใหม่แต่ก็ยังคงมีเอกลักษณ์น่าสนใจดุจเดิม
ถนนที่สำคัญมี 3 สายด้วยกัน คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงามที่จะพาเราย้อนรอยไปสู่ความรุ่งเรืองในอดีตของสงขลาที่เปี่ยมด้วยบรรยากาศของวันวานสุดคลาสสิก น่าค้นหา และเป็นจุดเริ่มต้นของการนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสู่อดีตที่น่าหลงใหล
ถนนนครนอก ... จะเป็นถนนที่อยู่ติดกับฝั่งทะเลสาป ในอดีตนั้น บริเวณนี้น่าจะเป็นท่าเทียบเรือเพื่อค้าขายและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศค่ะ เพราะสังเกตได้จาก โรงสีข้าวขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่า หับโห้หิ้น หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันว่า โรงสีแดง นั่นเองค่ะ
หับ โห้ หิ้น “โรงสีแดง” จังหวัดสงขลา
ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเล เป็นดินแดนที่อยู่บนคาบสมุทรที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยะธรรม คือ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบอาหรับปอร์เซีย และ ประเทศแถบชวา-มาลายู
พ่อค้าชาวแขกมัวร์ ได้ใช้เส้นทางนี้เดินทางค้าขายทางเรือระหว่างอินเดียและจีน โดยอาศัยลมสินค้าในสมัยโบราณ .. เมืองท่าชายฝั่งภาคใต้ของไทย ถูกใช้เพื่อจอดซ่อมแซมเรือ เติมน้ำจืดและอาหาร รวมถึงขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรกลางทางในรอบปี
ทำให้เมืองท่าต่างๆในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในสมัยที่มีการเดินเรือทะเล มีความเจริญรุดหน้า จากการค้าขายเป็นอันมากมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
โรงสีข้าวแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาปสงขลา .. ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พศ. 2457 โดย รองอำมาตย์ขุนราชกิจการี (จุ่นเลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) ให้ชื่อว่า “หับ โห้ หิ้น” เป็นภาษาฮกเกี้ยน หมายถึง ความสามัคคี ความกลมเกลียว ความเจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านเรียกว่า “โรงสีแดง” ด้วยเหตุที่อาคารทั้งหลังทาด้วยสีแดง
ในระยะเริ่มกิจการเป็นเพียงโรงสีขนาดเล็ก สั่งเครื่องจักรที่เป็นมอเคอร์ในการสีข้าวมาจากปีนัง ต่อมาได้ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ทพำให้โรงสีสามารถเดินเครื่องด้วยพลังไอน้ำ โดยสั่งเครื่องจักรมาจากอังกฤษ ใช้คนงานราว 30-50 คน ทำงานเป็นกะตลอด 24 ชั่วโมง ... ซึ่งนับว่าเป็นโรงสีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น
โรงสี หับโห้หิ้น ได้รับซื้อข้าวจากพื้นที่ปลูกข้าวรอบๆทะเลสาบสงขลา สามารถผลิตข้าวจำหน่ายให้แก่ประชาชนในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง และยังเหลือส่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่นเปรัดและอีโปในประเทศมาเลเซีย
ในปี 2490 พื้นที่รอบนอกของจังหวัดสงขลามีการสร้างโรงสีขนาดเล็ก จึงทำให้มีข้าวเปฃือกส่งมาที่โรงสีแดงน้อยลง จึงได้ยุติการทำโรงสี หันมาทำโรงน้ำแข็งขนาดเล็กจำหน่ายในชุมชน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสถานที่เก็บยางพารา เพื่อลำเลียงขนถ่ายไปยังเรือเดินสมุทรที่จอดอยู่ที่เกาะหนู และขนส่งไปยังประเทศต่างๆต่อไป
เมื่อมีท่าเรือน้ำลึกสงขลา .. การขนส่งยางพาราด้วยเรือลำเลียงจึงได้ยุติลง กลายมาเป็นท่าเทียบเรือขชนาดเล็ก และกลายเป็นตำนานในความทรงจำของชาวสงขลา
ด้านหลังอาคารติดทะเลสงขลา ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือประมง เป็นอีกหนึ่งจุดในย่านเมืองเก่าสงขลาที่ไม่ควรพลาด
ปัจจุบัน .. อาคารของโรงสีถูกปรับปรุง และดัดแปลงให้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่องราวเมืองเก่าสงขลา
แสดงภาพถ่ายเก่าแก่ของสงขลา รวมทั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่ เพื่อจะได้รู้ถึงประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จนถึงปัจจุบัน
Street Art ในถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม
... แม้ว่าสถาปัตยกรรมของที่นี่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้อยู่ แต่ก็ถูกรวมไปกับธุรกิจของในสมัยนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหารเก่าแก่ หรือ ร้านอาหารสไตล์ฟิวชั่น ส่วนสำคัญที่ทำให้ที่แห่งนี้ยังคงมีเอกลักษณ์และเรื่องราวคงอยู่ ก็คงจะเป็นการเพิ่มสีสันของตึกเหล่านี้ด้วยการมี Street Art ที่น่าสนใจ
Street Art ที่ปรากฏในสายตา สะท้อนวิถีชีวิตของคนสงขลาในอดีตและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในย่านเมืองเก่านี้
ภายในซอยเล็ก ซอยน้อย .. จะพบภาพสตรีทอาร์ท แอบซ่อนอยู่หลายภาพ
ภาพเหล่านี้ หลายภาพท้าทายคนที่ความคิดสร้างสรรค์ในการโพสต์ท่าให้เข้ากับภาพที่วาดบนผนัง ใครมีท่าสวยๆ ก็เป็นโอกาสที่จะงัดออกมากันประชันกัน หริอหากจะแทรกตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพ สร้างสตอรี่ ก็ย่อมทำได้
ภาพสภากาแฟ พิกัดถนนนางงาม
ภาพแสดงออกถึงภาพชีวิตชาวบ้านธรรมดาๆ … ออกมานั่งคุยอัพเดทเรื่องราวในชุมชน ขณะตอก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ
ภาพชีวิตเรียบง่าย .. แต่เล่าเรื่องราวได้ชัดเจน
ภาพใกล้ๆโรงสีแดง ถนนนครนอก
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา