7 มิ.ย. 2021 เวลา 10:37 • ท่องเที่ยว
(7) พุกาม … ดินแดนแห่งทะเลเจดีย์
นักท่องเที่ยวรู้จักพุกาม จากความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์ และเจดีที่มีอยู่หลายพันองค์ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของอารยะธรรมที่สำคัญของประเทศพม่าที่ควรค่าแก่การศึกษา
พุกามเป็นที่ตั้งของอาณาจักรแห่งแรกของพม่า มีเจดีย์เก่าที่หลงเหลือจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 1975 และการกัดเซาะของแม้น้ำราวสองพันสองร้อยองค์เศษ จากเดิมที่นักประวัติศาสตร์พม่าระบุว่า พุกามในสมัยยุคเจริญรุ่งเรือนั้น มีเจดีย์อยู่มากมายถึง 4,446 องค์ …
เจดีย์เหล่านี้กระจายกันอยู่ตามฝั่งแม่น้ำเอยาวดี บนพื้นที่กว่าสามหมื่นไร่ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
หลายครั้งที่ฉันเดินทางไปเยือนศิลานครของเขมรที่ปราสาทนครวัด ฉันตื่นตลึงกับความใหญ่โต โอ่อ่า ที่ผู้คนขอมโบราณเห่อเหิมทะเยอทะยานแสดงความจงรักภักดีต่อเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ ด้วยการสร้างปราสาทศิลาให้เป็นทิพย์วิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ (กษัตริย์ขอมโบราณ) อีกทั้งจำนวนของโบราณสถานที่มีมากมาย จนทำให้คิดว่า เขมรน่าจะเป็นดินแดนที่มีศาสนสถานรวมกันมากที่สุดในดินแดนแถบนี้ของโลก …
หากแต่เมื่อฉันได้ก้าวเท้าเดินทางมายังดินแดนอีกแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งผู้คนมีศรัทธามุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ในการจะสร้างบุญกุศลด้วยการก่อเจดีย์ขึ้นมากมาย จนแทบจะนับไม่ถ้วน เพื่อพุทธศาสนาที่พวกเขานับถือบูชา … ฉันจึงได้เปลี่ยนแนวคิด และได้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างศรัทธาของผู้คน 2 กลุ่ม
ปราสาทขอมมีขนาดใหญ่โตกว่าเจดีย์ของพม่า หากแต่ถ้านับจำนวน ต้องยกให้ป่าเจดีย์ที่พุกามแน่นอน ปัจจุบันแม้จะพังทลายจากแผ่นดินไหว และการกัดเซาะของแม่น้ำเอยาวดีไปมากมาย จากเกือบห้าพันองค์ ตอนนี้เหลือสองพันกว่าองค์ … ซึ่งก็ยังทำให้ใครที่หวังว่าจะได้ดูจนครบ ต้องทบทวนว่าจะมีแรงกายทำได้หรือไม่ และหากจะทำดังใจหวังจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน
หากจะมองดูด้านแรงจูงใจที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งก่อสร้างที่น่าอัศจรรย์ทางศาสนาทั้งสองแห่ง คือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ในช่วงเวลาที่ต่างกันไม่มากนัก ก็สามารถพูดได้ว่า ทั้งขอมและพม่ามีความทะเยอทะยานไม่แพ้กัน … แต่ด้วยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างมากมาย
ขอมสร้างนครวัด ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็น“ทิพยวิมาน” ของเทพเจ้าในโลกมนุษย์ แต่การสร้างเทวะสถานขนาดใหญ่ด้วยศิลาล้วนๆ ก็เป็นเหตุให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกณฑ์แรงงานข้าทาสจำนวนมหาศาลมาทำงาน กว่าปราสาทแต่ละหลังจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลานานหลายปี จนบางกรณีกษัตริย์ที่ให้สร้างสิ้นพระชนม์ไปก่อนที่ปราสาทจะสร้างเสร็จก็มี
ส่วนการสร้างเจดีย์ในพุกามนั้นเกิดจากศรัทธาสามัญและบริสุทธิ์ของชาวพม่าโบราณ … เพื่อเป็นทางข้ามสำหรับไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งมวลจะเร่งข้ามไป กระทั่งบรรลุถึงนิพพาน … จึงไม่จำเป็นต้องกะเกณฑ์แรงงานมาสร้าง (ยกเว้นธรรมะเจดีย์) การสร้างก็ทำอิฐ จึงมีขนาดไม่ใหญ่โตเท่ากับมหาปราสาทในเขมร
… แต่มีจำนวนมากมายอยู่ทั่วไปทุกมุมเมือง ด้วยถือว่าเจดีย์คือตัวแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และที่สำคัญกษัตริย์พุกามสร้างเจดีย์ด้วยเจตนาให้เสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยของพระองค์ และต้องการทอดพระเนตรเห็นเจดีย์ที่พระองค์ดำริให้สร้าง
พุกาม อยู่ติดกับแม่น้ำเอยาวดี ที่คนพม่าเรียกกันว่า เอยาวดี หากแต่อยู่ในภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย อากาศแห้งแล้งมาก เป็นบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย และทางตะวันตกมีเทือกเขาอาระกันขวางกั้นอยู่ ทำให้ลมประจำถิ่นไม่สามารถพัดพาความชุ่มชื้นเข้ามาได้ …
… ช่วงเดือนมีนาคม ถึง ตุลาคมอุณหภูมิอาจสูงถึง 42 องศาเซลเซียส จึงอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ตัดพุกามออกจากการไปมาหาสู่ของโลกภายนอก
อากาศที่แห้งแล้ง อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผลดีต่อเจดีย์มากมายของพุกาม กล่าวคือ นอกจากการเรียงอิฐเป็นโครงสร้างสำคัญ ทำให้โบราณสถานเหล่านี้แข็งแกร่ง อายุยืนยาวมาจนปัจจุบัน
“ความชื้น” อันเป็นตัวการสำคัญของโบราณสถานทั่วๆไป มีน้อยมากที่พุกาม ทำให้บรรดาต้นไม้ต่างๆ เช่นต้นไทร ต้นโพธิ์ฯ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จะมีบ้างก็เพียงหญ้าเท่านั้น โบราณสถานจึงไม่ผุพังไปตามกาลเวลาเหมือนที่อื่น
ประวัติศาสตร์ของการสร้างวัด สร้างเจดีย์ สะท้อนถึงรากลึกในเรื่องพุทธธรรม และความเกี่ยวพันทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างพม่า มอญ และอินเดีย …
… ชาวพม่าให้ความเคารพโบราณสถานมากมายและเคร่งครัด และหวงแหนไม่ยอมให้ใครมาทำลาย แม้จะเป็นวัดร้างก็ไม่มีใครไปล่วงเกิน ไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดเสียรพระพุทธรูป หรือขโมยวัตถุศักดิ์สิทธิ์ รูปเคารพ … ความรู้สึกของชาวพม่าต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงช่วยให้พุกามมีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเจดีย์มากที่สุดในโลก ไม่เฉพาะที่พุกาม แต่ในทุกหัวเมืองทั่วประเทศ อันเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างหนึ่งว่า คนพม่าอยากให้มีศาสนาอยู่ใกล้ตัว เพื่อจะได้สวดมนต์ทุกเวลาที่ต้องการ และไม่จำเป็นว่าจะต้องสวดมนต์หลายๆคนพร้อมๆกัน
เราจะเห็นคนพม่าทั้งคนหนุ่มสาวไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ แวะเวียนกันมาสวดมนต์ที่หน้าเจดีย์ โดยไม่สนใจว่าจะมีใครเดินผ่านไปมาหรือไม่
วิหารและเจดีย์ส่วนใหญ่ในพุกาม จะมีพระและคณะกรรมการวัดคอยดูแล ประชาชนชาวพุกามไปทำบุญไหว้พระกันสม่ำเสมอ ใช้วัดเป็นที่ประกอพิธีทางศาสนาสืบเนื่องกันมานับพันปี พร้อมกับช่วยกันดูแลวัดไปด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
อีกทั้ง ผู้สร้างเจดีย์ จะได้รับความเคารพนับถือและได้รับเกียรติ์ในสังคม คำว่า “เจดีย์” และคำว่า “เกียรติยศ” ตรงกับภาษาพม่าคำเดียวกัน คือ “พญา” การจะได้บุญหรือเกียรติยศนั้น จะต้องเป็นการ “สร้างเจดีย์” ไม่ใช่ การซ่อมหรือบูรณะเจดีย์ …
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเจดีย์มากมายอยู่ในพุกาม … แม้แต่อาณาจักรพุกามจะล่มสลายไปนานแล้วกว่า 700 ปี แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป ได้ตอกย้ำความหมายของพุกามในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมทีทรงคุณค่าของโลกให้หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ
พุกามอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งราว 688 กิโลเมตร บนพื้นที่ของเมืองยองอู (Nyaung-Oo) .. ฉันกับเพื่อนอีกคนเดินทางมาที่พุกามด้วยการใช้บริการรถโดยสาร ปกติของพม่า โดยออกเดินทางเวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็น ผ่านถนนที่มีสภาพแย่ค่อนข้างมาก มาถึงพุกามเวลาประมาณตีห้าของวันรุ่งขึ้น …
… ด้วยความยากลำบากของการเดินทาง เมืองเก่าแห่งนี้จึงแทบถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แม้แต่คนพม่าเองก็ใช่ว่าจะมีโอกาสมาที่เมืองเก่าแห่งนี้ได้ง่ายๆ
Mystical Bagan … พุกาม อัญมณีแห่งกาลเวลา
ศาสนสถานในพุกาม ที่เรามักจะเรียกรวมๆกันว่า “เจดีย์” หรือ Pagoda ในภาษาอังกฤษนั้น อันที่จริงจำแนกได้ ดังนี้
สถูป (Stupa) ในภาษษพม่าเรียกว่า Zedi เช่น ชเวสิกองเซดี มิงกลาเซดี ชเวซานดอว์เซดี ฯลฯ เป็นเจดีย์ก่ออิฐตัน มีบันไดให้เดินขึ้นชั้นบนได้ แต่เข้าไปข้างในเจดีย์ไม่ได้ ผู้คนสามารถกราบไหว้บูชาอยู่รอบๆเท่านั้น รูปทรงเจดีย์มีทั้งแบบทรงระฆังคว่ำ และทรงกรวย
วัด (Temple) ในภาษาพม่าเรียก Zedi Phya เช่น อานันทวิหาร
สัพพัญญูวิหาร ธัมมะยังจีวิหาร ฯลฯ เป็นศาสนสถานแบบ “เจดีย์
วิหาร” คือ มีสถานะเป็นทั้งเจดีย์สำหรับกราบไหว้บูชา และวิหารสำหรับทำพิธีทางศาสนา คือเป็นวัดด้วย ภายในจึงมีห้องคูหา สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปให้คนเข้าไปกราบไหว้บูชา นั่งสมาธิ หรือทำพิธีกรรมต่างๆ เจดีย์วิหารจึงมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา
(ข้อมูลจาก หนังสือ “ท่องเจดีย์ไพรใน พุกามประเทศ โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล”)
โบราณสถานและวัดต่างๆในพม่า ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในจิตวิญญาณของชาวพม่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าข้าแผ่นดิน หรือประชาชน ทุกคนจึงแสดงความเคารพโดยการถอดรองเท้า
ดังนั้นสิ่งที่ผู้มาเยือนทุกคนควรรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเหมือนๆกัน คือ ต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า (Foot wear) ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นกลางวัน กลางคืน แดดออก ฝนตกหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม
ด้วยคนพม่าถือว่าโบราณสถานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวธรรมดาๆ … ชาวพม่าพยายามให้ผู้มาเยือนรู้สึกว่าตนเป็นนักจาริกแสวงบุญ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาโพสท่าถ่ายรูปกันอย่างเดียว
หากใครลืมถอดถุงเท้ารองเท้า จะได้รับการเตือนทันที คนพม่าไม่ได้เอาใจนักท่องเที่ยวมากมาย แต่พวกเขาจะมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า ที่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต้องทำตามกฎที่วางไว้ ห้ามลบหลู่หรือล่วงเกินเด็ดขาด จึงไม่เคยมีข่าวที่นักท่องเที่ยวแสดงกิริยาไม่เคารพพระพุทธรูปหรือสถานที่ให้ได้ยิน
เราเริ่มการเดินทางเพื่อเที่ยวชมวิหารและเจดีย์ที่มีมากมายในพุกามราว 10 โมงเช้าของวันแรกที่เรามาถึง อากาศเริ่มร้อนแรงขึ้นเมื่อโมงยามและเวลาของยามเช้าเคลื่อนผ่านไป …
จากคู่มือและหนังสือที่อ่านมาบ้างก่อนเดินทาง ทำให้ฉันกับเพื่อนรู้ว่าการปั่นจักรยานตะลุยเข้าไปในเขตที่แห้งแล้ง ท่ามกลางอากาศร้อนระอุของภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย เต็มไปด้วยฝุ่นดินแดน และห่างไกล คงไม่ทำให้การเดินทางชมทะเลเจดีย์รื่นรมย์มากนัก และเราคงชมเจดีย์ได้ไม่กี่แห่ง เราจึงเลือกที่จะจ้างเหมารถม้าในการเดินทางตลอดทริปนี้แทน (12 USD หรือ 12,000 จั๊ดต่อวัน หากเป็นการออกเดินทางเช้ามืดเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้น คิดเพิ่มเป็นหนึ่งเท่าครึ่งของราคาปกติ)
ฝีเท้าม้าขณะลากรถไปตามถนน ผ่านตัวเมือง ส่งเสียง กุบๆกับๆ … ฉันตื่นตา ตื่นใจกับประสบการณ์ใหม่ในการนั่งรถม้า
… และเพียงเวลาไม่นาน ฉันกับเพื่อนก็ตระหนักว่า การนั่งบนรถม้าออกไปเที่ยวชมเจดีย์ และวิหารของพุกามนั้นวิเศษเพียงใด
อีกทั้งยังมีเวลาได้รำลึกถึงช่วงยังเป็นเด็กที่บ้านนอก ที่เสียงกุบกับของฝีเท้าม้าที่กระทบกับพื้นถนน สอดประสานกับเสียงวิหค นกกา ที่มีมากมายในบรรยากาศรอบๆตัวนั้น เป็นเสียงที่เสนาะโสตได้มากมายเพียงใด อีกทั้งยังได้ความรู้สึกได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และชาวเมืองที่นี่
เราผ่านประตูเมืองพุกาม ที่ว่ากันว่ามีอายุกว่าพันปี ปัจจุบันเหลืออยู่พียงประตูเดียวทางทิศตะวันออก เรียกกันว่า “ประตูสารภา” Tharaba … มีรูปปั้นของ “มึงมหาคีรีนัต” ประดับซุ้มประตูทั้ง 2 ข้าง ข้างขวาเป็นนัตพี่ชายผู้สง่างาม ส่วนด้านซ้ายเป็นนัตน้องสาว หรือ นัตหน้าทอง (จะเล่าเรื่อง “นัต” ต่อเมื่อเราเข้าไปนมัสการมหาเจดีย์ชเวสิกองค่ะ)
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา