8 มิ.ย. 2021 เวลา 01:30 • บ้าน & สวน
9 ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมสำหรับการสร้างบ้าน
🏠 Tambaan.co วันนี้จะมาแชร์ค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านที่เจ้าของบ้านควรรู้
มีใครให้มากว่า 9 ข้อ คอมเม้นท์มาเล้ย 😆
หลายๆท่านยังเข้าใจผิดคิดว่าเตรียมเงินตามใบ BOQ แค่นั้นพอ แอดขอเตือนเลยว่าตัวเลขใน BOQ ที่ผู้รับเหมาตีราคามานั้นแค่ปลายของภูเขาน้ำแข็ง❗
ดังนั้น การเตรียมงบแบบละเอียดก็เพื่อป้องกัน "บ้าน" ไม่ให้ "บาน" และช่วยเสริมสภาพคล่องของเจ้าของบ้านในระหว่างการทำบ้านด้วย
และที่สำคัญ “ของดีมักจะไม่ถูก ของถูกมักจะไม่ดี” อย่าหาว่าแอดไม่เตือนนะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันทีละข้อเลย 💨
1. ค่าที่ดิน (ค่าที่ + ค่าถมที่)
ถ้ามีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เจ้าของบ้านจะประหยัดงบในการสร้างบ้านไปมากเลยทีเดียว แต่ไม่ว่าจะมีที่หรือไม่มีที่ ส่วนใหญ่ต้องมีการปรับสภาพผิวดินหรือถมที่เพิ่มก่อนการสร้างบ้านเสมอ ซึ่งค่าถมที่ขึ้นอยู่กับว่าบ้านมีบริเวณขนาดไหน และต้องถมที่สูงขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่ หากที่บ้านมีดินที่สามารถไปขุดมาถมได้ ก็จะช่วยลดค่าถมที่ลงไปได้มาก
โดยส่วนมาก ค่าใช้จ่ายในการถมที่สำหรับบ้านเดี่ยวหนึ่งหลังมีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนเลย
2. ค่าออกแบบ
ค่าออกแบบ คือค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับสถาปนิกในการออกแบบบ้าน ค่าบริการของสถาปนิกส่วนใหญ่อยู่ที่ 5-10% ของค่าก่อสร้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขอบเขตของสัญญาซึ่งมีแตกต่างกันไป เช่น บางบ้านเอาแค่แบบบ้าน ไม่ต้องการการคุมงาน บางบ้านให้สถาปนิกออกแบบบ้าน รวมตกแต่งภายใน บางบ้านรวมสวนเข้าไปด้วย โดยราคาก็จะแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ หากต้องการให้บ้านออกมาตรงตามแบบ แนะนำให้รวมค่าใช้จ่ายในการคุมงานเข้าไปด้วย
3. ค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการ
หลักๆจะมีสองช่วง ดังนี้
⚠️ ก่อนการสร้างบ้าน เจ้าของบ้านต้องเตรียมเอกสารเพื่อไปยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานราชการ พร้อมจ่ายค่าดำเนินการให้กับทางราชการ
⚠️ ในช่วงเดือนสุดท้ายของการก่อสร้าง จะเป็นช่วงที่เจ้าของบ้านดำเนินการขอติดตั้งน้ำประปาและมิเตอร์ไฟฟ้า
แม้ว่าค่าดำเนินการขออนุญาตในการก่อสร้างจะราคาไม่แพง (หลักร้อยถึงพัน) แต่เอกสารที่ต้องเตรียมค่อนข้างเยอะ แนะนำให้เจ้าของบ้านโทรไปสอบถามหน่วยงานราชการว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ปรึกษาสถาปนิก (ส่วนใหญ่แล้ว สถาปนิกจะเป็นคนเตรียมเอกสารให้เจ้าของบ้านไปยื่น) และเผื่อเวลากว่าจะได้รับการอนุมัติไว้ด้วย
ในส่วนของน้ำประปา การดำเนินการค่อนข้างรวดเร็ว และราคาไม่แพง ไม่เหมือนกับการติดมิเตอร์ไฟฟ้าที่ราคาจะสูงกว่า นอกจากนี้ หากที่ตั้งของบ้านไม่มีเสาไฟฟ้าไปถึง เจ้าของบ้านอาจจะต้องติดไฟเพิ่ม โดยราคาอาจถึงหลักแสนได้เลย
4. ค่าก่อสร้าง
ค่าก่อสร้าง คือ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับผู้รับเหมา โดยจะแบ่งเป็นงวดๆ ขึ้นอยู่กับสัญญา ทั้งนี้ การเบิกจ่ายอาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น บางช่วง งานอาจเสร็จเร็วหรือเสร็จช้า ทำให้การจ่ายเงินไม่ตรงตามแผนซะทีเดียว
5. ค่าทำสวนและงาน landscape ภายนอก
นอกจากการก่อสร้างอาคารและตกแต่งภายในแล้ว ภูมิทัศน์รอบๆบ้านก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน อย่าลืมเผื่อเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย เช่น การทำสนามหญ้า ค่าต้นไม้ การติดตั้งระบบน้ำ หรือทำทางเดินในสวน เป็นต้น
นอกจากนี้ เช็คใบ BOQ ให้ดี เพราะบางครั้งไม่รวมค่าคอนกรีตตรงลานจอดรถ ดังนั้น เจ้าของบ้านอาจต้องมีจ่ายในส่วนนี้เพิ่ม (คอนกรีตเทพื้นตรงที่จอดรถราคาไม่ถูกเลย เพราะต้องการความคงทนแข็งแรงสูงมาก)
6. ค่าเฟอร์นิเจอร์
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับว่าก่อนการสร้างบ้านมีเฟอร์ฯจากบ้านเก่าอยู่แล้วมากน้อยขนาดไหน และต้องซื้อเพิ่มมากน้อยเท่าไหร่
เจ้าของบ้านอาจค่อยๆทยอยซื้อหลังย้ายเข้าอยู่แล้วก็ได้ ไม่จำเป็นจ้องซื้อให้ครบทุกชิ้นเลยทีเดียว
7. ค่ามุ้งจีบ-ค่ามุ้งลวด
ค่ามุ้งจีบ-ค่ามุ้งลวด มีเพื่อกันแมลง สัตว์มีพิษ และให้อากาศในบ้านถ่ายเทได้สะดวก อย่าลืมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ราคามีตั้งแต่หลักพันยันหลักหมื่นเลย
ถ้าเลือกติดมุ้งจีบ ราคาก็จะสูงขึ้นอีกประมาณ 1 - 2 เท่าตัว แต่ก็ได้เรื่องความสวยงาม ลองจัดสรรงบให้ดีๆ
8. ค่าม่าน
อย่าลืมเตรียมเงินสำหรับการติดม่าน เพื่อกันแดด กันอันตราย และให้ความเป็นส่วนตัวหลังการเข้าอยู่ ราคาผ้าม่านขึ้นอยู่กับชนิดของม่านและผ้าที่เลือกใช้ ราคามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นปลายๆเลย
9. เงินสำรอง
หลังจากคำนวณรายจ่ายข้อ 1 - 8 เรียบร้อยแล้ว แนะนำให้เตรียมเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วยอีกประมาณ 5 - 10% ของงบทั้งหมด เผื่อไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด เช่น อาจมีการเปลี่ยนแบบบ้านและไม่ได้อยู่ในแบบตั้งแต่แรก ทำให้ต้องใช้เงินเพิ่ม เป็นต้น
Tambaan.co พัฒนาระบบจ้างงานผู้รับเหมา แก้ปัญหาการโกงในงานก่อสร้าง
#ทำบ้าน #Tambaan #ช่างโกง #ผู้รับเหมาโกง #ช่างโกงต้องหมดไป #ผู้รับเหมาโกงต้องหมดไป #แฉ #ขึ้นทะเบียนช่าง #ช่างดีมีอยู่จริง
โฆษณา