8 มิ.ย. 2021 เวลา 01:30 • การศึกษา
รีวิว วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ (Tool Engineering) / สาขาวิชาวิศวกรรมแม่พิมพ์ และเครื่องมือ (Tool & Die Engineering)
โดยปกติทั่วไปแล้ว ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต หรือ องค์กร ทั่วๆไป นั้น ต้องมี ช่าง หรือ วิศวกร ประจำอยู่ ซึ่งจะมีจำนวนมาก หรือจำนวนน้อย ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของ องค์กร ถ้าองค์กรใด หรือ โรงงานอุตสาหกรรมใด มีจำนวน วิศวกร ประจำอยู่ ในจำนวนที่มาก และหลากหลายสาขา ก็แสดงให้เห็นได้เลยว่า องค์กรนั้นๆ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม นั้นๆ มีประสิทธิภาพสูง เช่นเดียวกัน
สำหรับ น้องๆ หลายๆ คน ที่มีความสนใจที่อยากศึกษา ในสายวิศวกรรมศาสตร์ หรือ เพื่อนๆ พี่ๆ อยากจะให้บุตรหลาน หรือคนรู้จัก เขามาศึกษาในสายวิศวกรรมศาสตร์ แต่อาจจะยังไม่รู้รายละเอียด ของแต่ละสาขาวิชา ว่าทำการศึกษาเกี่ยวกับอะไรบ้าง เรียนจบมาแล้วจะได้ทำงานหรือเปล่า เรียนจบมาแล้วจะไปทำอะไรได้บ้าง มีรายได้ยังไงบ้าง
ผมเลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ ที่ทำงานเป็น วิศวกร มาหลายปี อยู่ในหลากหลายองค์กร และหลากหลายธุรกิจ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้ทุกๆ ท่าน ได้รับรู้รายละเอียด ให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกสาขาวิชาเรียน และเป็นตัวกำหนดสายงานอาชีพของตัวเอง ในอนาคตอีกด้วยนะครับ
เพราะถ้าหากเรานั้น ทำการตัดสินใจ เลือกสาขา วิชาที่เราไม่ชอบ ไม่ถนัด มันก็อาจจะส่งผลต่อ อนาคตของเราเลยก็ว่าได้นะครับ บางทีอาจจะเสียเวลาในการเรียน จบมาแล้วก็ไม่ได้ทำงานตามที่ตัวเองชอบ ที่ตัวเองรักเป็นต้นนะครับ
ยังไงก็อยากจะฝาก น้องๆ ทุกคนไว้นะครับ ว่าก่อนจะตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนต่อ เลือกมหาวิทยาลัยที่จะศึกษาต่อนั้น ต้องทำการพิจารณาดีๆ เลือกในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบ และต้องเหมาะสมกับตัวเราด้วยเช่นกันนะครับ ยังไงก็ขออวยพรให้ น้องๆ ทุกๆ คน สมหวัง และประสบความสำเร็จกัน ทุกๆคนเลยนะครับ ขอบคุณครับผม
ผมจะมาพูดเกี่ยวกับ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิศวกรรมเครื่องมือ (Tool Engineering) หรือ สาขาวิชาวิศวกรรมแม่พิมพ์ และเครื่องมือ (Tool & Die Engineering) เดี่ยวเราไปดูรายละเอียด กันได้เลยนะครับผม
วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ (Tool Engineering) หรือ สาขาวิชาวิศวกรรมแม่พิมพ์ และเครื่องมือ (Tool & Die Engineering) เป็นสาขาที่มีความต้องการเป็นอย่างมากๆ และเป็นสาขาที่มีบุคคลากรน้อยมากๆ ในวงการอุตสาหกรรม หากถามว่า ทำไม สาขาวิชานี้ ถึงเป็นที่ต้องการในวงการอุตสาหกรรม เป็นอย่างมาก คำตอบก็คือ ในกระบวนการ การผลิต ผลิตภัณฑ์ ขึ้นมาได้นั้น สิ่งที่สำคัญ ในกระบวนการ การผลิต นั้นก็คือ แม่พิมพ์ Jig Fixture และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต ซึ่งจะหาบุคคลากร ที่จบมาทางด้านนี้โดยตรงนั้น มีน้อยมากๆ
สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ นั้น จะทำการศึกษาเกี่ยวกับ การออกแบบเครื่องมือ กระบวนการผลิตเครื่องมือ และการเลือกใช้เครื่องมือ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และมีคุณภาพที่สุด สำหรับเครื่องมือที่ต้องทำการศึกษา ได้แก่ เครื่องมือตัดเฉือน เครื่องมือวัด เครื่องมือช่วยในการนำทาง หรือ Jig อุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน หรือ Fixture แม่พิมพ์ขึ้นรูปวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โลหะ พลาสติก ยาง เซรามิกส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ นั้นต้องทำการศึกษาเกี่ยวกับ เทคโนโลยี ที่ทันสมัย ในการออกแบบ และกระบวนการผลิตเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ ด้วย เช่น เครื่อง CNC Machining Center, เครื่อง EDM , CNC Lathe, Wire Cut, โปรแกรม Unigraphics, Mold Flow Analysis, Finite Element และ อื่นๆ รวมถึงการ เครื่องมือ และวิธีการทดสอบการขึ้นรูปวัสดุ เครื่องจักรต่างๆ ในการขึ้นรูป เช่น Die Casting Machine, Plastic Injection Machine, Stamping Machine และ เครื่องจักรอื่นๆ
สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ Tool Engineering นั้น ทำการเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในประเทศไทย โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ภายใต้ชื่อ สาขาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ทำการแยกภาควิชา สาขาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ ออกเป็น 2 สาขา คือ วิศวกรรมเครื่องมือ หรือ Tool Engineering กับ วิศวกรรมวัสดุ หรือ Material Engineering และก็ได้ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน มาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดทำการเรียนการสอนในสาขาเครื่องมือและแม่พิมพ์ ณ ปัจจุบันนี้ ยังมีน้อยมากๆ เนื่องจากว่า เครื่องจักร และอุปกรณ์ การเรียนการสอนนั้น มีราคาที่สูงมากๆ
1. สาขาวิศวกรรมเครื่องมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2. สาขาวิชาวิศวกรรมแม่พิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
3. สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือและแม่พิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
4. สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือและแม่พิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
5. สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
6. สาขาวิศวกรรมเครื่องมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7. สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตและออกแบบแม่พิมพ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
และยังมีอีกหลายๆ มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐบาล และเอกชน ที่มีการปิดการเรียนการสอนในสาขา เครื่องมือ และแม่พิมพ์ ถ้าน้องๆ มีความสนใจก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลกันได้เลยในเว็บไซด์ของแต่ละ มหาวิทยาลัยได้เลยนะครับผม
แม่พิมพ์เปรียบเสมือนหัวใจหลักของอุตสาหกรรมการผลิต และนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างเร่งด่วน และต่อเนื่อง ในการรองรับความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ
แม่พิมพ์ก็มีหลากหลายด้าน เช่น แม่พิมพ์พลาสติก แม่พิมพ์โลหะ แม่พิมพ์ยาง และอื่นๆ สำหรับองค์กร ที่ทำการพัฒนาวงการแม่พิมพ์ ในประเทศไทยเรา นอกจากทางมหาวิทยาลัยแล้วก็จะมี หลักๆ ดังนี้
สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย
ก่อตั้งขึ้นโดย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ได้รวมตัวกันก่อตั้งชมรมขึ้นเมื่อปี 2532 และได้มีการยกฐานะขึ้นเป็นสมาคมเมื่อปี 2537 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ก็คือจะเป็นแกนกลางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ทุกแขนง เพื่อรองรับความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย
สถาบันไทย-เยอรมัน
จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันเป็นหน่วยงานที่มี ประสิทธิภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงสู่ภาคอุตสาหกรรมไทยการดำเนินงานของสถาบันฯ มีลักษณะการบริหารงานเป็นอิสระ และอยู่นอกระบบการศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิมารองรับการดำเนินงาน
ศูนย์เทคโนโลยีแม่พิมพ์ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-ไต้หวัน (บีดีไอ)
"โครงการศูนย์เทคโนโลยีแม่พิมพ์" มุ่งมั่นให้บริการทางวิชาการ การฝึกอบรม สร้างสรรค์โครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาครู บุคลากร นักเรียนและนักศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ วัฒนธรรมองค์กร และประสบการณ์จริงในภาคอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้มีศักยภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือของ บริษัทกรุงเทพ ไดแคสซ์ติ่ง แอนด์ อินแจ๊กชัน จำกัด, วิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-ไต้หวัน (บีดีไอ), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม (RDiPT) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝ่ายแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก
ศูนย์ RDiPT เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้ จึงได้จัดตั้งฝ่ายแม่พิมพ์ขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางด้านแม่พิมพ์โดยมุ่งเน้นไปที่แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกเป็นหลัก และช่วยยกระดับความรู้ความสามารถของวิศวกร ช่างเทคนิคและบุคลากรทางด้านแม่พิมพ์ฉีดให้มีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ฉีดได้ ตลอดจนให้คำปรึกษาบริการแนะนำด้านเทคนิค และให้ความช่วยเหลือโครงการวิจัยทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น แผนกออกแบบแม่พิมพ์, แผนกผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ และแผนกประกอบและซ่อมแม่พิมพ์
เดี๋ยวเรามาดู สำหรับรายวิชาที่ทาง สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ ต้องเรียนนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะแตกต่างกันไม่มากนะครับ ซึ่งก็จะสามารถแบ่งออกเป็นหลักๆ ดังนี้
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ก็คือ วิชาทั่วๆไป ที่ต้องปรับพื้นฐานที่มาจากระดับ มัธยม นั้นเองครับ เช่น กลุ่มวิชาทางด้านภาษา กลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์ และสังคม กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ถัดไปก็จะเป็นวิชา
2. หมวดวิชาเฉพาะ ก็คือ หมวดวิชาเฉพาะที่ทาง สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ ต้องเรียนนั้นเองครับ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น หมวดวิชาย่อยๆ ดังนี้
2.1 กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ ก็คือ วิชาที่นักศึกษาที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ทุกคนต้องเรียน ส่วนใหญ่ก็จะได้เรียนคล้ายๆกันในทุกๆ สาขาวิชา แต่ก็จะมีแตกต่างกันเล็กน้อยไปตาม สาขาวิชาที่เรียนนะครับ เช่น วิชาวัสดุวิศวกรรม, วิชากลศาสตร์วิศวกรรม, วิชาเขียนแบบวิศวกรรม, วิชากลศาสตร์ของไหล หรือ วิชาการเขียนแบบคอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกร เป็นต้น
ถัดไปเป็น
2.2 กลุ่มวิชาบังคับทางวิศวกรรมศาสตร์ ก็คือ วิชาที่มีเรียนเฉพาะ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยบังคับให้เราต้องเรียน ยกตัวอย่าง เช่น วิชาการออกแบบเครื่องมือตัด, วิชามาตรวิทยา, วิชาวิศวกรรมเครื่องมือ จิ้ก และฟิกเจอร์, วิชาการขึ้นรูปโลหะ, วิชาการออกแบบแม่พิมพ์, วิชาวิศวกรรมเครื่องมืออัตโนมัติ, วิชาเครื่องมือกล, วิชาไตรบอโลยีในงานขึ้นรูปโลหะ เป็นต้น วิชาบังคับทางวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีความแตกต่างกันนิดหน่อยนะครับ
ถัดไปก็จะเป็น
2.3 กลุ่มวิชาเลือกทางวิศวกรรมศาสตร์ ก็คือ วิชาเลือกที่เราสามารถเลือกเรียนได้ ตามความต้องการของเรา ตามที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นมา ซึ่ง ความรู้ทาง สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ นั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้ กับหลากหลาย สาขา ซึ่งวิชาเลือกที่เราจะเลือกเรียน ก็ต้องเลือกตามที่ตัวเรามีความสนใจ เช่น วิชาการออกแบบแม่พิมพ์หล่อแบบฉีด, วิชาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม, วิชาการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว, วิชากรรมวิธีการอัดรีด, วิชาวิศวกรรมความเที่ยงตรง, วิชาการขึ้นรูปร้อนวัสดุโลหะ, วิชาการกำหนดรูปทรงเรขาคณิตและการเผื่อ เป็นต้น
3. หมวดวิชาเลือกเสรี ก็คือ เป็นวิชาที่เราสามารถเลือกเรียนได้ตามที่เราชอบ และที่ทางมหาวิทยาลัยทำการเปิดการเรียนการสอนได้เลยนะครับ
ซึ่งรายละเอียด ของหลักสูตร หรือรายวิชาที่เรียน ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีความแตกต่างกัน นิดหน่อย น้องๆ เวลาจะเลือกเรียนต่อ ก็ลองอ่านหลักสูตรดูก่อนนะครับว่า ชอบหรือไม่ชอบ เหมาะกับเราหรือเปล่า เราได้ประโยชน์ในการเรียนไหม เพราะการเรียนนั้น เราต้องเรียนให้รู้และสามารถนำมาใช้งานได้จริง ไม่ใช่ว่าเรียนเพื่อต้องการให้จบๆ ไป นะครับ เพราะถ้าคิดแบบนี้ หลังจากมาทำงานก็อาจจะมีปัญหาได้นะครับ ยังไงน้องๆ ก็ลองเปิดเปรียบเทียบหลักสูตรของแต่ละแห่ง ดูก่อนนะครับผม ก่อนจะตัดสินใจ
สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ เรียนจบมาแล้ว สามารถเข้าไปทำงานได้หลากหลาย องค์กร ทั้งหน่วยงานของรัฐบาล หรือ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน และโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต เช่น โรงงานผลิตแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ เรียนจบมาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ในหลายๆ ด้าน เช่น วิศวกรควบคุม และวางแผนการผลิต Process Engineer, Production Engineer, Quality Engineer, Design Engineer, Lab Engineer, วิศวกรออกแบบเครื่องมือ, วิศวกรออกแบบแม่พิมพ์, Sale Engineer, Purchasing Engineer, นักวิจัย หรืออาจารย์ เป็นต้น
ต่อไปมาดูเงินเดือนเริ่มต้น ของ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ กันนะครับ จริงๆ เงินเดือนเด็กจบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ แต่ละสาขาก็จะใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมาก เงินเดือนก็จะเริ่มอยู่ที่ประมาณ 18,000 – 35,000 บาทต่อเดือน และหากมีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 – 3 ปี เงินเดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 22,000 – 50,000 บาทต่อเดือน และหากมีประสบการณ์ ตั้งแต่ 3 – 5 ปี เงินเดือนก็จะอยู่ที่ประมาณ 35,000 – 75,000 บาทต่อเดือน และหากมีประสบการณ์ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เงินเดือนก็ควรจะมากกว่า 55,000 บาทต่อเดือน ขึ้นไปนะครับ เงินเดือนจะได้มาก หรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ ประสบการณ์ และโครงสร้างเงินเดือนของบริษัท ด้วยนะครับ
เป็นไงบ้างครับ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกๆท่าน พอจะมองภาพของ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือ หรือ แม่พิมพ์ ได้ชัดเจนมากขึ้นบ้างไหมครับ หากมีคำถาม หรือ ต้องการที่จะรู้รายละเอียดของสาขาวิชาไหน ก็สามารถ เขียนคอมเม้นมา ได้เลยนะครับ ยังไงก็ฝาก ติดตามกันไปเรื่อยๆ นะครับ ขอบคุณมากๆ ครับผม
โฆษณา