8 มิ.ย. 2021 เวลา 09:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิธี Cut Loss, Let Profit Run [ยู ศิระ]
นักลงทุนระยะยาวมักจะไม่ได้ใช้วิธีนี้ เพราะพวกเขาจะสนใจแค่ธุรกิจยังดีอยู่ไหม? ราคาหุ้นแพงไปรึยัง? เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ประเมินได้
แต่นักลงทุนบางคน (อย่างพี่ฮง สถาพร ช่วงที่พอร์ตยังไม่ใหญ่เท่าตอนนี้) ก็จะใช้วิธีนี้ร่วมกับการวิเคราะห์ธุรกิจด้วย
แต่ที่แน่ๆ สำหรับ “นักเก็งกำไร” ที่หวังทำกำไรในระยะสั้น นี่คือสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้..
www.facebook.com/HappyWithYuSira
Cut Loss, Let Profit Run คือการเล่นกับความน่าจะเป็นของราคาสินทรัพย์
เช่น คุณกำหนดจุดตัดขาดทุนที่ -10% ถ้าหุ้นที่ซื้อราคาตกลงมาถึงจุดนั้น คุณก็จะขายมันออกมาและขาดทุน -10% หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย
แต่ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้น คุณจะไม่ขายมัน และปล่อยให้กำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการลงทุน 1 ครั้งของคุณ ก็คือ
คุณมีโอกาสขาดทุนประมาณ -10% แต่มีโอกาสได้กำไรไม่จำกัด
มาจำลองสถานการณ์กันดีกว่า..
วันที่ 1
คุณซื้อหุ้นที่ราคา 100 บาท กำหนดจุดตัดขาดทุนที่ -10% (หรือที่ 90 บาท) ปรากฏว่าพอจบวัน ราคามันตกลงมาที่ 92 บาท ยังไม่ถึงจุดตัดขาดทุนที่ตั้งไว้ ดังนั้น #คุณไม่ขาย
วันที่ 2
โชคดี ราคาหุ้นพุ่งแรงไปปิดที่ 105 บาท เกินราคาต้นทุนคุณที่ 100 บาทแล้ว (กำไร 5 บาท หรือ +5%)
แต่คุณจะยังไม่ขายทำกำไร เพราะ “Let Profit Run”
นอกจากนั้น คุณเขยิบจุดตัดขาดทุนใหม่ขึ้นมาเป็น 95 บาทแทน
วันที่ 3
โชคดีอีกรอบ ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปปิดที่ 120 บาท
คุณก็ยังไม่ขาย และเปลี่ยนจากจุดตัดขาดทุนเป็น #จุดหยุดกำไร แทนที่ 110 บาท
วันที่ 4
ราคาหุ้นขึ้นไปปิดที่ 130 บาท คุณเลยเขยิบจุดหยุดกำไรขึ้นมาใหม่ที่ 120 บาท
วันที่ 5
ราคาหุ้นตกลงมาเหลือ 115 บาท เลยจุดหยุดกำไรของคุณที่ 120 บาทไปแล้ว ทีนี้ทำไงล่ะ?
“ขาย” สิครับ..
แนวคิด Cut Loss, Let Profit Run ก็ประมาณนี้
คนที่จะสำเร็จจากวิธีนี้ได้ต้องมี #วินัย ที่จะขายขาดทุนเมื่อถึงจุดที่ตั้งไว้
ไม่ใช่ว่าพอถึงจุดตัดขาดทุนแล้ว กลับทำใจขายไม่ลง เลยปล่อยมันไว้อย่างงั้น แล้วหวังว่าสักวันราคามันจะเด้งกลับมา
ผันตัวเองเป็น #นักลงทุนระยะยาว ซะงั้น..
ถ้าทำแบบนั้น คุณก็มีโอกาสจมลึกไปกับการขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาจะกลับมาที่ต้นทุน หรือมันอาจไม่กลับมาที่เดิมอีกเลยก็ได้
โดยเฉพาะถ้าหุ้นที่คุณเลือก ไม่ได้มาจากการวิเคราะห์พื้นฐานทางธุรกิจตั้งแต่แรก
แต่กลับเป็นหุ้นตามกระแส, หุ้นปั่น, หุ้นเก็งกำไร
นอกจากนั้น ระหว่างที่ทุนจมอยู่กับหุ้นที่ไม่กล้าขาย คุณยังจะเสียโอกาสเอาเงินไปเก็งกำไรกับหุ้นตัวอื่นอีกด้วย (หรือแม้แต่กับหุ้นตัวเดิม ที่ราคาต่ำกว่าเดิม)
พี่ฮง สถาพร แนะนำว่าให้มองการ Cut Loss เป็นเหมือนการซื้อประกัน เพื่อไม่ให้พอร์ตของคุณเสียหายหนัก ในกรณีที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันกับหุ้นในพอร์ตของคุณ
พี่กวี ชูกิจเกษม (ไอดอลนักวิเคราะห์ขวัญใจมหาชน มี FC มากมาย ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) บอกว่า คนส่วนใหญ่ที่ไม่สำเร็จในการเก็งกำไร ก็เพราะไม่มีวินัยในการ Cut Loss
ตัวพี่กวีเอง เขาไม่ได้ใช้วิธี Cut Loss, Let Profit Run นะครับ
พี่เขาเป็นนักลงทุนระยะยาว ที่ซื้อขายหุ้นตามพื้นฐานกิจการเป็นหลัก
แต่เขาจะแนะนำวิธี Cut Loss, Let Profit Run กับลูกค้าของเขาที่เป็น #นักเก็งกำไร ไม่ใช่นักลงทุน
สำหรับพี่ฮง สถาพร (เซียนหุ้นอัจฉริยะ) ผมก็ไม่แน่ใจ ว่าเดี๋ยวนี้เขายังใช้วิธีนี้อยู่รึเปล่า (สมัยก่อน พี่ฮงกำหนดจุดตัดขาดทุนที่ -8% และใช้กราฟเพื่อดูจังหวะซื้อขายหุ้นด้วย)
เห็นล่าสุดแกบอกว่า เปลี่ยนวิธีลงทุนเป็นแบบเน้นพื้นฐานกิจการถึง 99%
เพราะด้วยพอร์ตที่ใหญ่ระดับหมื่นล้าน เลยทำให้เขาซื้อขายหุ้นไม่คล่องตัวเหมือนสมัยที่พอร์ตยังเล็กอยู่
ผมเอง ก็ไม่ได้ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เพราะไม่อยากต้องมาปวดหัวเช็คราคาหุ้นรายวัน
และไม่อยากต้องตัดสินใจซื้อขายหุ้นบ่อยๆ (แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว)
เลยเลือกลงทุนตามพื้นฐานกิจการ แบบนักลงทุนระยะยาวส่วนใหญ่ดีกว่า
1
แต่หากคุณค้นพบตัวเอง ว่าชอบแนวทางนี้ ผมก็จะบอกคุณว่า..
“รักที่จะเก็งกำไร ต้องใจเด็ด”
ติดตามเพจผม :)
โฆษณา