8 มิ.ย. 2021 เวลา 07:51 • ท่องเที่ยว
(8) พุกาม .. มหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Zedi) เจดีย์ทองเชื้อสายมอญ
เราเดินทางด้วยรถม้าออกไปเที่ยวชมเจดีย์ และวิหารของพุกาม เสียงกุบๆกับๆของฝีเท้าม้าที่กระทบกับพื้นถนนที่เข้ากับบรรยากาศของเมืองอย่างมาก …
เมื่อแรกเข้าไปในบริเวณเจดีย์ชเวสิกอง ด้านหน้าจะเห็นสิงห์ไถ่บาปสีขาวตั้งตระหง่านใหญ่โต อันเป็นธรรมเนียมของทางเข้าเจดีหรือวัดส่วนใหญ่ในพม่า ดังที่เคยเล่าประวัติของสิงห์ไถ่บาปให้ฟังมาแล้ว
ด้านข้างนอกกำแพงบริเวณที่ตั้งเจดีย์ จะเป็นเหมือนสวน มองผ่านเลยกำแพงเข้าไปจะเห็นเจดีย์สีทองสูงชะลูดขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งเดี๋ยวเราจะเข้าไปดูข้างในกันค่ะ
ก่อนจะเดินเข้าไปยังที่ตั้งของเจดีย์ชั้นในทุกคนต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าวางไว้ด้านนอก ทั้งคนพม่า และชาวต่างชาติ ...
ก่อนถึงลานชั้นใน เราผ่านร้านค้าของที่ระลึกประเภทที่เป็นเอกลักษณ์ของพุกาม ทั้งเครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เครื่องเขินต่างๆ รวมไปถึง ลูกเป้ง หรือลูกตุ้มชั่งน้ำหนักแบบโบราณ ที่ทำด้วยโลหะผสมสูตรสำริด ในรูปร่างของสัตว์ในจินตนาการ เช่น หงส์กับสิงห์ …
ซึ่งฉันทราบมาว่าในสมัยก่อนกษัตริย์พม่าจะมีพระบรมราชโองการฯ ให้ราษฎรใช้ลูกตุ้มวัดน้ำหนักขนาดต่างๆ ซึ่งทางราชสำนักจะเป็นผู้ออกแบบและผลิตขึ้นเป็นมาตรฐานเพื่อใช้กับตราชั่ง เพื่อชั่งน้ำหนักสิ่งของทั่วไป หากแต่เมื่อการค้าฝิ่นรุ่งเรือง เลยถูกใช้ในการชั่งฝิ่นด้วย
เจดีย์ชเวสิกอง หรือ “เจดีย์แห่งชัยชนะ” .. สัญลักษณ์ของชัยชนะที่พม่ามีต่อมอญ ..ถือว่าเป็น 1 ใน 5 ของมหาเจดีย์สถานที่สำคัญของพม่า … ส่วนอีก 4 แห่ง คือ พระเกศธาตุที่เมืองย่างกุ้ง พระมุเตาที่เมืองหงสาวดี พระพุทธรูปมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์ และพระมหาธาตุชเวสันดอที่เมืองแปร
เจดีย์ชเวสิกอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพุกาม เป็นมหาเจดีย์องค์แรกที่สถาปนาโดยมหาราชองค์แรกของราชวงศ์พุกาม เมื่อราว 1,500 ปีเศษที่ผ่านมา คือ พระเจ้าอโนรธามหาราช วีรกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรพุกาม แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของพระเจ้าจันสิตตา ซึ่งรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของงานสร้างสรรค์ศิลปะสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ เทียบได้กับยุคนครวัด นครธมของเขมร และบุโรพุทธโธ ของชวา
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พระเจ้าอโนรธามหาราช ได้รับชัยชนะจากการสู้รบกับมอญ ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกมายังเมืองพุกาม พร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย โดยอัญเชิญมาบนหลังช้าง หากช้างหมอบลงที่ใด ก็ให้สร้างพระเจดีย์ที่ตรงนั้น สถานที่แห่งแรกที่ช้างหมอบคือ ที่บริเวณพระเจดีย์ชเวซิกองแห่งนี้นั่นเอง
ลักษณะ เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ตั้งบนฐาน 3 ชั้น ยอดฉัตรเป็นบัวกลับถลา ก่อเป็นรูปกรวยแหลมกลมไปถึงยอด รอบระเบียงมีภาพแผ่นเคลือบปั้นเป็นรูปชาดก รอบฐานเจดีย์มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ องค์เจดีย์งดงามด้วยเฟื่องอุบะ และแถบคาด “รัดอก” รอบองค์ระฆัง
.. ถือกันว่าเป็นเจดีย์รุ่นแรกๆที่ได้รับอิทธิพลจากมอญ รูปทรงเจดีย์นี้ภายหลังใช้เป็นแม่แบบในการสร้างเจดีย์ชเวดากองแห่งเมืองย่างกุ้งในเวลาต่อมา … เวลาแหงนหน้ามองยอดเจดีย์ รู้สึกได้ว่าเจดีย์แห่งนี้งดงามจริงๆ สีทองอร่ามตา ยิ่งยามต้องแสงแดด ยิ่งสวยเหลือเกิน
มีผู้ที่รวบรวมลักษณะอันโดดเด่นของเจดีย์องค์นี้ อันถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ 9 อย่าง คือ
1. เงาของเจดีย์จะไม่เปลี่ยนทิศทาง
2. ทองคำเปลวที่ติดองค์เจดีย์ไม่ว่าจะอยู่สูงแค่ไหน จะไม่มีวันปลิวร่วงออกนอกบริเวณที่ตั้งขององค์เจดีย์
3. ไม่ว่าจะมีผู้แสวงบุญมานมัสการองค์เจดีย์มากเท่าใด ก็สามารถรองรับผู้คนไว้ได้ทั้งหมด
4. บาตรพระที่วางอยู่รอให้คนมาใส่บาตร จะไม่มีใครสามารถตักบาตรถวายองค์พระเจดีย์เป็นคนแรกได้
5. เสียงกลองที่ตีจากอีกฟากหนึ่งของเจดีย์ จะไม่มีวันได้ยินถึงอีกฟากของเจดีย์ได้
6. ทั้งๆที่เจดีย์ประดิษฐานอยู่บนพื้นที่ราบ แต่เมื่อมองดูกลับมองเห็นเหมือนตั้งอยู่บนเนินสูง
7. ไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด จะไม่มีหยดน้ำฝนค้างอยู่บนเจดีย์
8. มีต้นพิกุลซึ่งออกดอกทั้งปี
9. ยอดฉัตรของเจดีย์ไม่มีตะปูหหรือเหล็กหยึกเลยสักชิ้นเดียว
ฐานเจดีย์มีรูปปูนปั้นสิงห์ ได้รับการยกย่องว่ามีความสง่างามมากแห่งหนึ่งในบรรดาเจดีย์ทั้งหลายของพม่า ที่มาของสิงห์มีเค้าเรื่องมาจากตำนาน “สีหพาหุ” ที่เล่ามาแล้วนั่นเอง … สิงห์ที่เจดีย์แห่งนี้ทีก้น 2 ก้นค่ะ แปลกดี
ชเวสิกองถือว่าเป็นมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่าในขณะนั้น ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอโนรธา ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เป็นพระทันตธาตุ ไว้ในพระเจดีย์ที่ห่อหุ้มด้วยแผ่นทองสุดปลั่ง ที่มีความสูงถึง 160 ฟุต
ตามประวัติ พระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้ามังระ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ก็เคยปฏิสังขรณ์มหาเจดีย์องค์นี้มาก่อน … ประวัติศาสตร์จึงชวนให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนี้
ศาลา Yokesone ที่มีงานแกะสลักไม้ที่สวยงามมาก จะมีภาพเล่าเรื่องราวที่เรียกว่า Widuya Story หรือ รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 550 เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้านั่นเอง
รอบๆเจดีย์ประดับด้วย “แจกันแห่งความอุดมสมบูรณ์” หรือ “ปูรณะฆฏะ” เป็นสัญลักษณ์มงคลที่ชาวพุทธนิยมประดับไว้กับรูปคนแคระ ซึ่งเป็นบริวารของท้าวกุเวร เทพแห่งความมั่งคั่ง เมื่อเรามากราบไว้ ก็ประหนึ่งเราจะได้รับความมั่งคั่งกลับไปด้วย
“ฉัตรเสี่ยงทาย” ภายในอาคารทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์เจดีย์ มีฉัตรที่เคยครอบองค์เจดีย์ที่ตกลงมาเพราะเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ ปี พ.ศ. 2473 ภายหลังถูกนำมาไว้เป็น ฉัตรเสี่ยงทาย โดยติดมอเตอร์ให้องค์ฉัตรหมุนได้ ตั้งบาตรพระไว้รอบฉัตร เหนือบาตรมีป้าย หากปรารถนาสิ่งใดก็ให้โยนเหรียญหรือธนบัตรบริจาคลงในบาตรนั้น เช่น ขอให้ร่ำรวยและสุขภาพแข็งแรง ขอให้พบคนที่รัก และอื่นๆ
แต่คำขอที่ฉันชอบมากคือ คำขอที่ว่า … ขอให้แคล้วคลาดจากบาปทั้ง 5 คือ น้ำท่วม ไฟไหม้ โรคภัย โจรผู้ร้าย และผู้ปกครองที่อธรรม … ฉันอธิษฐานแล้วโยนเหรียญลงในบาตรนี้ค่ะ ขออย่าให้ผู้ปกครองที่คดโกงทุกรูปแบบเพื่อตัวเองและคนรอบข้าง ได้กลับมาปกครองบ้านเมืองของเราอีกเลย เมืองไทยบอบช้ำมากเกินพอแล้ว
ฉันเห็นคนพม่านิยมมาเสี่ยวทายกันล้นหลามค่ะ เข้าไปถามไกด์แถวนั้น เขาบอกว่าส่วนใหญ่จะขอให้สุขภาพแข็งแรง สำหรับคำถามถึงคำขอให้แคล้วคลาดจากบาปทั้ง 5 นั้น ไกด์บอกว่าไม่รู้ที่มาแน่ชัด อาจจะเป็นเพราะว่ามหันตภัยทั้ง 5 อย่างนั้นมีแนตรายใหญ่หลวง คนพม่าจึงไม่อยากพานพบ ... น่าสนใจคะ
“หลุมสมดุล” บนพื้นบนลานหน้าเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออก มีแอ่งน้ำเล็กๆ สำหรับให้เราได้คุกเข่าเพ่งมองเงาสะท้อนของเจดีย์ที่ส่องกระทบผิวน้ำ …
หลุมที่เราเห็นในวันนี้เป็นหลุมทีทำขึ้นใหม่ แต่ชาวพุกามเชื่อว่าตรงนี้เคยมีหลุมตั้งแต่โบราณแล้ว โดยช่างสมัยนั้นใช้ดูสมดุลไม่ให้พระเจดีย์เอียงขณะก่อสร้าง …
แต่บางความเชื่อก็ว่า ด้วยเหตุที่พระเจดีย์มีความสูงมาก จึงทำหลุมไว้ให้กษัตริย์มองเห็นยอดของพระเจดีย์ผ่านเงาสะท้อน อีกทั้งต้องคุกเข่า เป็นการแสดงการคารวะพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
ปัจจุบัน แอ่งน้ำศักดิสิทธิ์นี้มีผู้คนมานั่งสมาธิปฏิบัติกัมมัฏฐานเพ่งมองดูพระเจดีย์กันทุกวัน
ภายในบริเวณมหาเจดีย์มีโบราณวัตถุที่สำคัญอีก คือ ศิลาจารึกของ พระเจ้าจันสิตตา รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์พุกาม 2 หลัก เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม
“ .. พระองค์ทรงเช็ดน้ำตาและน้ำมูกจากหน้าทุกหน้าที่กำลังร้องไห้ จากทุกคนที่กำลังมีทุกข์ในหัวใจ พระองค์ทรงแผ่เมตตาด้วยความรักบริสุทธิ์ พระหัตถ์ขวาจะทรงยื่นข้าวและขนมให้แก่ทุกคน พระหัตถ์ซ้ายจะยื่นของแต่งตัวและของจำเป็นอื่นๆให้ ประชาชนทุกคนจะมีความสุขภายใต้การปกครองของกษัตริย์ เสมือนเด็กที่แอบอิงอยู่กับอกแม่ฉะนั้น ..” แต่เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาค่ะ
ในบริเวณมหาเจดีย์ยังมีสถูปชุดหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อบูชา “นัต” ทั้ง 37 ตน … “นัต” .. คือภูติที่ชาวพม่านับถือมาตั้งแต่ดั้งเดิมมี 36 ตน มีหัวหน้าชื่อ “มังมหาคีรีนัต” เป็นนัต 2 พี่น้องซึ่งถูกกษัตริย์ใจโหดจับมัดกับต้นจำปาแล้วเผาทั้งเป็นจนตาย จึงเชื่อว่าวิญญาณของ "มังมหาคีรีนัต" สิงสถิตที่ต้นจำปา ตนพี่คือเจ้ามหาคีรี ตนน้องคือ นัตหน้าทอง เป็นหัวหน้านัตที่ภูเขาโปปา ใกล้เมืองพุกาม … ซึ่งตอนที่เราผ่านประตูเมืองก็จะเห็นรูปปั้นนัตทั้ง 2 ตนอยู่ทีซุ้มประตู
นอกจากนี้ยังมีนัตที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น โบโบยีนัต ที่คอยปกป้องมหาเจดีย์ชเวดากอง เป็นต้น
ช่วงเวลาหลังจากพระเจ้าอโนรธาสถาปนาพุทธศาสนาเถรวาทเป็นครั้งแรก และพุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลในพุกาม พระเจ้าอโนรธาพยายามที่จะให้ประชาชนเลิกล้มความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ โดยการทำลายลัทธิบูชานัต ทำลายศาลนัตที่มีอยู่ในทุกบ้าน (คงคล้ายกับวัดในบ้านของชาวบาหลี)
ยกเลิกพิธีไหว้ผีนัตที่ภูเขาโปปา ลดบทบาทของนัตจากการดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน ลดบทบาทของมึงมหาคีรีนัตให้เป็นเพียงรองหัวหน้า แล้วตั้ง “ตะจังมึง” คือ "พระอินทร์" เป็นหัวหน้าเหล่านัตทั้งหลายแทน พร้อมทั้งย้ายรูปปั้นนัตทั้งหมดมารวมกันไว้ที่ “หอนัต” ภายในบริเวณมหาเจดีย์ชเวสิกอง แmนสัญลักษณ์ว่า ต่อนี้ไป นัตมีหน้าที่ดูแลปกป้องพระพุทธศาสนา คุ้มครองเมืองแทนการดูแลชาวบ้าน … ให้ประชาชนหันมาปกปักรักษาพุทธศาสนาแทน และยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งหมด เพราะอิทธิพลความเชื่อทางไสยศาสตร์ยังมีอิทธิพลสูงในหมู่ชนชาวพม่าทุกระดับชนชั้น ดังนั้นจึงต้องประนีประนอมกับพิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิม … ซึ่งแม้ในปัจจุบัน ก็ยังมีการบูชา นัต เคียงคู่กับศาสนาพุทธอยู่ทั่วไป
ที่ศาลาด้านตะวันตกเฉียงเหนือขององค์เจดีย์ มีรูปปั้นนัต 2 ตนพ่อลูก … นัตผู้พ่อ ชื่อ Shwenyothin ส่วนนัตลูก ชื่อ Shwesagar
ฉันแอบฟังไกด์ชาวพม่าที่กำลังอธิบายเรื่องของพุทธศาสนาในพุกามให้กับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกฟัง ทำให้ฉันหวนคิดถึง คำพูดของ หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า ว่า….
“… พุทธศาสนามิได้สอนให้คนมองโลกในแง่ร้าย ความจริงข้อนี้เห็นได้จากการที่ชาวพม่าในสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มองชีวิตอย่างสงบ แม้ในท่ามกลางชัยชนะต่อแว่นแคว้นอื่นๆรอบด้าน …. วิหารต่างๆที่พุกามนั้น ไม่ได้เกณฑ์แรงงานคนมาสร้าง เป็นศรัทธาที่บริสุทธิ์และง่ายๆ … ทั้งสถูปและวัดตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆที่มั่นคง ปลายยอดแหลมทำให้วัดแลเสมือนพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า ดังนั้นวัดและแห่งจึงแสดงลักษณะของชาวพุกาม คือเท้ายืนบนพื้นอย่างเข้มแข็ง แต่วิญญาณมุ่งตรงสู่สวรรค์ ..”
พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่วางให้ผู้คนที่เลื่อมใสกราบไหว้บูชา ณ สถานที่ต่างๆ รายรอบศาลาของวัด จะสังเกตุว่าพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่นี่แตกต่างกัน อันบ่งชี้ว่าถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาต่างๆ
หญิงสูงอายุหลายคนที่ฉันเห็นสูบบุหรี่มวนโต ที่ฉันว่าใหญ่กว่าซิการ์เสียอีก …
คุณยายมานั่งให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก และคุณยายไม่ขัดข้องที่ฉันจะถ่ายรูปค่ะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา