8 มิ.ย. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
ทุเรียนไทย ได้รับกำลังภายใน จากชาวจีน
1
เนื้อสีเหลือง รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และมีกลิ่นที่สามารถแยกผู้คนออกเป็น 2 ฝั่ง
ถ้าไม่ชื่นชอบจนคลั่งไคล้ก็จะไม่ชอบไปเลย คือคุณสมบัติเด่นของราชาแห่งผลไม้ หรือ ทุเรียน
4
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ทุเรียน” จัดเป็นสินค้าส่งออกที่ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจ
ของผลไม้จากประเทศไทยและความมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวจีน ที่นิยมบริโภคทุเรียนเป็นอย่างมาก
สังเกตได้จากปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1
โดยหากมาดูมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน
ทั้งทุเรียนสดและแช่แข็งจะพบว่า
ปี 2016 มูลค่าส่งออก 10,090 ล้านบาท
ปี 2020 มูลค่าส่งออก 53,459 ล้านบาท
หรือมีการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 52% ต่อปี
 
โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2021
มีมูลค่าการส่งออกไปจีน 25,086 ล้านบาท
ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 มีมูลค่าการส่งออกไปจีน 19,041 ล้านบาท
เติบโต 32% หรือคิดเป็นสัดส่วน 47% ของยอดส่งออกในปี 2020 ทั้งปี
2
แล้วถ้าไปดูจากทางฝั่งประเทศจีนก็จะพบว่า ปริมาณการสั่งซื้อทุเรียนของจีนในปี 2020 นั้น มีมูลค่า ประมาณ 69,000 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศไทยถึง 78% เป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือมาเลเซีย
ซึ่งสาเหตุที่จีนมีการนำเข้าทุเรียนจากไทยในสัดส่วนที่มากกว่าประเทศอื่น
ก็เพราะว่ารสชาติและชื่อเสียงของทุเรียนไทยที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
อีกทั้งทุเรียนเป็นพืชที่มีลักษณะเฉพาะ
สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น
2
อีกข้อหนึ่งก็คือระยะเวลาขนส่งจากประเทศไทยที่ใช้เวลาสั้นกว่าคู่แข่งอย่าง อินโดนีเซียและมาเลเซีย ทำให้สินค้าที่ถึงมือผู้บริโภคมีความสดใหม่กว่าประเทศอื่น ๆ
จากข้อมูลข้างต้นก็บอกได้ว่าไทยและจีน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของตลาดทุเรียนร่วมกัน
มากเกินกว่าที่จะแยกขาดจากกันได้
จนอาจกล่าวได้ว่าทิศทางของตลาดทุเรียนไทย ขึ้นอยู่กับจีนเป็นหลัก
เพราะไทยมีการบริโภคภายในประเทศเพียง 40% ของผลผลิตทั้งหมด
และส่งออกไปจีน 73% ของยอดการส่งออกรวม
5
แล้วถ้าหากเราเป็นเกษตรกร ที่จะลงทุนปลูกทุเรียนเพื่อเกาะกระแสการเติบโตดังกล่าว
ก็ต้องพิจารณาถึงแนวโน้มของตลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการลงทุนนี้ว่าสามารถเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีตามภาวะการเติบโต คือ
1. เติบโตในทิศทางเดิม ในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง
เกิดขึ้นได้จากการบริโภคในประเทศเอง และการส่งออกมีการขยายตัว
สามารถรองรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการเติบโตในตลาดหลักอย่างประเทศจีน
รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายและคุณภาพสูงขึ้น
2. การเติบโตชะลอตัว หรือไม่เติบโต
เกิดจากผู้นำเข้ามีการปรับลดสัดส่วนปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทย และคู่แข่งสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดนั้นไปได้มากขึ้น
เช่น คู่แข่งสามารถปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตให้มีคุณภาพที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
การปรับปรุงการขนส่งให้สามารถประหยัดเวลาในการส่งมอบ
การพัฒนาแพ็กเกจจิงให้สามารถถนอมอาหารและคงความสดของทุเรียนได้ดียิ่งขึ้น
หรือแม้กระทั่งการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรฐานสินค้าในการนำเข้า
2
3. การเติบโตติดลบ
อาจเกิดได้จากประเทศผู้นำเข้าสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือพัฒนาสายพันธ์ุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่เกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO : Genetically Modified Organism)
ให้สามารถเพาะปลูกในประเทศตนเองได้โดยที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
จนสามารถนำมาทดแทนในส่วนของการนำเข้าจากต่างประเทศ
Cr.บ้านสวนจงเจริญ
เมื่อพิจารณาจากทั้ง 3 กรณีและข้อมูลที่ได้กล่าวมา
ก็อาจจะพอตอบได้ว่าตลาดของราชาแห่งผลไม้ ยังคงมีอนาคตที่ดูสดใสจากตัวเลขการเติบโตที่น่าประทับใจในระยะอันใกล้นี้ ซึ่งความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กล่าวมาต้องใช้เวลาในการก่อตัว ทำให้ผู้ผลิตมีเวลาที่จะปรับตัวได้ทันและหาทางป้องกันและรับมือ ก่อนที่จะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น
1
แล้วอะไรบ้าง ที่เราสามารถทำได้เพื่อรับมือกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
1
- แปรรูปหรือต่อยอด ให้มีความหลากหลายเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าและสินค้าใหม่ ๆ
เช่น ทุเรียนเคลือบช็อกโกแลต หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากทุเรียน
- ปรับปรุงสายพันธ์ุหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน
เช่น การพัฒนาสูตรปุ๋ยที่ใช้ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือปรับปรุงพันธ์ุให้มีเปลือกบาง เนื้อแน่น
- หาตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาแค่ผู้บริโภคชาวจีนเป็นหลัก
เช่น ยุโรป หรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งจากหลากหลายวิธีที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับทุเรียนไทย
แต่เมื่อเรากลับมามองที่มูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
และมีแนวโน้มที่จะเติบโตถึงหลักแสนล้านบาทในอนาคต
ก็อดคิดไม่ได้ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความถนัดทางด้านการต่อยอดและพัฒนาอย่างประเทศจีน จะยอมทนดูเงินไหลออกนอกประเทศอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน
แต่ที่แน่ ๆ เกษตรกรไทย ก็คงได้รู้จักกับคำว่า “ล้งจีน”
หรือโรงคัดบรรจุผลไม้ที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน
ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะกับทุเรียน
2
แต่ยังเกิดขึ้นกับผลไม้อื่น ๆ อีกหลายชนิดที่ส่งออก
และติดฉลากว่าเป็นผลไม้จากประเทศไทย..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในปี 2020 จีนได้เริ่มกระบวนการประเมินเพื่อรับรองความปลอดภัยของพืช GMO ซึ่งพัฒนาขึ้นในประเทศมาแล้ว 3 สายพันธุ์สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่จีนเริ่มผลักดันให้ปลูกพืช GMO เชิงพาณิชย์
โฆษณา