8 มิ.ย. 2021 เวลา 21:12 • ประวัติศาสตร์
แรด
แรด คือสัตว์ป่า หนังหนา มีนอ
นอที่งอกเหนือจมูกเป็นลักษณะเฉพาะของแรด
ดังนี้จึงเรียกสัตว์และผลไม้บางอย่างที่มีสัณฐานแบบนอปรากฏอยู่ว่าแรดด้วย
ปลาน้ำจืดพันธุ์หนึ่งที่ตัวผู้มีปุ่มตรงสันหัวคล้ายนอแรด เรียกว่า ปลาแรด
มะม่วงพันธุ์หนึ่งที่ตรงใกล้ขั้วผลเป็นปุ่มนูนคล้ายนอแรด เรียกว่า มะม่วงแรด
วรรณคดีมักเรียกแรดว่า “ระมาด” พากย์เขมรว่า "รมาส" ดังตัวอย่าง
“...ขคฺคสฺส ควยสฺส จ ระมาดผาดแผง แรดรายเรียง ศับทสำเนียงเปรี้ยงในดง...” (มหาชาติคำหลวง)
“...พยัคฆาพยัคฆีเล่นแปม สุนัขในไล่แนม ละมั่งระมาดผาดผยอง...” (พระรถคำฉันท์)
เทพปรณัมตามคติขอมกล่าวว่าแรดเป็นสัตว์พาหนะของพระอัคนีหรือพระเพลิงเทพเจ้าแห่งไฟ ดังตัวอย่าง
“...พระศุลีเลอหลังโคทรง เดโชธำรง ระมาดมหิทธิพาหน...” (คำฉันท์กล่อมพระยาช้าง)
“...เคารพพระเพลิงเชิงชาญ ฤทธิรุ่งเรืองราญ ระมาดเปนอาศน์อัมพร...” (ฉันท์กล่อมพระเสวตวรวรรณ)
กระบวนรูปสัตว์ในงานพระเมรุสมัยโบราณจึงทำรูปแรดตั้งบุษบกเพลิงเข้าไปในริ้วด้วย นัยว่าเป็นการเชิญเทพเจ้าแห่งไฟไปยังพระเมรุ
สมัยอยุธยา คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตอนหนึ่งว่า
"...กระบวรแห่พระบรมศพมีม้านำริ้ว ๑ คู่ แล้วมีธงต่างๆ และมีเครื่องผ้าย่ามทำบุญแห่หน้าด้วย ถัดมามีรูปสัตว์แรตรับบุษบกไฟ มีคันชิงหน้าแรต คู่ ๑..."
สมัยรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่กล่าวถึงรูปแรดในกระบวนสัตว์หิมพานต์ตอนทำศพนางเกสรว่า
"...แล้วชักรูปแรดจรมาก่อนพลัน บนหลังนั้นมรฎปใส่โคมไฟ..." (ลักษณวงศ์)
แรดเป็นสัตว์ดุร้ายและอันตรายมาก
กวีจึงมักแนบคำว่า “ร้าย” ไว้เมื่อพรรณนาถึงแรด ดังตัวอย่าง
“...แรดร้ายกรายเที่ยวไปริมธาร หมีทะยานขึ้นไม้ไพรระหง...” (กลอนจารึกเรื่องสร้างภูเขาวัดราชคฤห์)
“...บ้างขี่คชาม้ามิ่ง อูฐกระทิงแรดร้ายควายเปลี่ยว...” (บทละครเรื่องอุณรุท)
“...ป่ากว้างช้างเสือก็น่ากลัว แรดร้ายควายวัวคะนองทาง...” (ขุนช้างขุนแผน)
แต่ให้ร้ายกาจอย่างไรก็ต้องแพ้พ่ายแก่มนุษย์ผู้สรรเสาะแสวงกิน
หนังสือ "ตำรากับเข้า" ของซ่มจีน (ราชานุประพันธ์) บอกว่าแกงคั่วส้มเนื้อหมูสามชั้นกับปลิงทะเล ใส่ “หนังแรด” เคี่ยวให้เปื่อยแทนปลิง "...มีรศแปลกไปได้อีกรศหนึ่ง..."
ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (Jean-Baptiste Pallegoix) หรือพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำสยามสมัย ร.๔ เป็นคนหนึ่งที่เคยได้ลิ้ม “รสแปลก” นี้หลายครั้งหลายหน
ท่านบันทึกวิธีปรุงในหนังสือพากย์ฝรั่งเศสเรื่อง "Description du Royaume Thai ou Siam" และสันต์ ท. โกมลบุตร แปลเป็นพากย์ไทยชื่อ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ว่า
“...เขาปิ้งหนังนั้นเสียก่อน ครั้นขูดรอยไหม้เกรียมออก แล้วก็หั่นเป็นชิ้นๆ และต้มเข้ากับเครื่องเทศให้นานหน่อย จนกระทั่งเปื่อยเป็นยางเหนียวและใส ข้าพเจ้ากินหลายหนเหมือนกัน...”
นอกจากนี้ท่านยังกล่าวถึงวิธีล่าแรดที่เมืองจันทบุรีไว้อย่างน่าสยดสยองมาก
แรดคงเคยชุกชุมในทุ่งโล่งป่าโปร่งป่าทึบของไทยมาช้านาน
เพราะปรากฏคำว่า “แรด” หรือ “ระมาด” ในชื่อชุมชนทั่วไป เช่น บางระมาด (กรุงเทพ) แม่ระมาด (ตาก) ปลักแรด (พิษณุโลก) ดอนแรด (สุรินทร์)
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของแรดคือมีระยะเวลาในการ “ทับ” หรือร่วมเพศเพื่อสืบพันธุ์ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น
คือทับกันครั้งละครึ่งค่อนชั่วโมงและทับซ้ำแล้วซ้ำอีกติดต่อกันเป็นสัปดาห์
1
พรานไพรและผู้คนรุ่นก่อนอาจเห็นพฤติกรรมของแรดสาวที่ยอมให้แรดหนุ่มทับจนหนำใจนี้กันเจนตาก็ได้
จึงมีคำภาษาปากเรียกหญิงที่มีกิริยาวาจาและความประพฤติในทางชู้สาว--แบบประเจิดประเจ้อว่า “แรด” ด้วย
หญิงผู้ชอบทําเอาหน้าหรือชอบเสนอหน้าเข้าไปทําธุระให้คนอื่นโดยเขาไม่ได้ขอร้องก็เรียก “แม่รีแม่แรด”
ผมเป็นเด็กยังเคยได้ยินเพื่อนผู้หญิงเท้าเอวด่ากันว่า “อี 11 รอดอ” ก่อนที่อีกฝ่ายจะย้อนกลับมาทันควันว่า “มึงก็ 66 รอดอ” อยู่หนาหู
1
เมื่อเรียนวรรณคดีจึงซาบซึ้งว่าภาษาสัญลักษณ์ "11 รอดอ" หรือ "66 รอดอ" ของเด็กในวัยนั้นนับเป็นชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ที่สูงส่งมาก
1
ปัจจุบันมีคำเรียกหญิงที่มีกิริยาวาจาและความประพฤติในทางชู้สาว--แต่ไม่ประเจิดประเจ้อด้วย
“เขาเรียกว่าอะไร--” จริตจะก้านขณะถามดูก็รู้ว่าดัดให้งาม
“แรดหลบใน”
“อุ้ย--ไม่เคยได้ยิน” น้ำเสียงเหมือนเด็กไร้เดียงสาแต่ใครๆ ก็รู้ว่าที่จริงผ่านอะไรมามาก
“ยังมีอีก”
“มีอีกเหรอ” ถามแล้วแกล้งเสไปมองทางอื่นทำเป็นไม่สบตาไม่อยากฟัง
“เขาเรียก--แรดเงียบ!!!”
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ศัพทานุกรมวรรณคดีไทย # Lexicon of Thai Literature #วรรณคดี #วรรณกรรม #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #มหาชาติคำหลวง #พระรถคำฉันท์ #คำฉันท์กล่อมพระยาช้าง #ฉันท์กล่อมพระเสวตวรวรรณ #คำให้การขุนหลวงหาวัด #ลักษณวงศ์ #กลอนจารึกเรื่องสร้างภูเขาวัดราชคฤห์ #บทละครเรื่องอุณรุท #ขุนช้างขุนแผน #ตำรากับเข้า #เล่าเรื่องกรุงสยาม #แม่รีแม่แรด #แรดหลบใน #แรดเงียบ #แรด
ขอบคุณความรู้เรื่องแรด จากคุณประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล Qiạmħvirijaqkul Ban Praqbandhẋ
ขอบคุณภาพจาก illustrations.blogetv.com
โฆษณา