9 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Bioengineering เทคโนโลยีดาวรุ่งเปลี่ยนโลก
เทคโนโลยี่ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 เช่น Pfizer และ Moderna
2
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Bnomics ได้นำเสนอเรื่องราวของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่ได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราไปพอสมควร และจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกเราไปอีกมากในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่ง่ายๆ เช่น โดรน หรือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็ตาม วันนี้จะขอโอกาสพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอีกเทคโนโลยีที่เป็นดาวรุ่งที่จะเติบโตไปได้อีกไกล อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยยุติวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ว่าคือ ชีววิศวกรรม หรือ Bioengineering
6
📌 Bioengineering คืออะไร
2
ชีววิศวกรรม ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1954 เมื่อนายไฮนส์ วูลฟ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ประดิษฐ์คำว่า “Bioengineering” ขึ้นมาและให้คำนิยามเอาไว้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างสาขาวิชาด้านชีววิทยาเข้ากับสาขาวิชาทางด้านวิศวกรรม กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นการประยุกต์หลักการและการออกแบบวิศวกรรมเข้าไปในระบบชีววิทยา ทั้งนี้ ตัวอย่างของเทคโนโลยีด้านชีววิศวกรรมมีตั้งแต่ เครื่องมือต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนอวัยวะจำลอง เช่น ไตเทียม ไปจนถึง การฉายภาพทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคอย่าง MRI หรือ แม้แต่การตัดต่อพันธุกรรม (Gene editing) อีกด้วย
2
📌 จุดพลิกผันที่เปลี่ยนแปลง Bioengineering
หากมองย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่า การทดลองและศึกษาด้านชีววิศวกรรมในยุคเริ่มแรกนั้น แตกต่างจากยุคนี้ค่อนข้างมาก ทั้งมีประสิทธิภาพน้อยกว่า แม่นยำน้อยกว่า และยุ่งยากกว่า จุดหักเหสำคัญที่ได้เปลี่ยนแปลง Bioengineering Technology คือ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ทำให้กระบวนการต่างๆ ที่แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน ถูกแทนที่โดยการคำนวณ และจำลองโดยใช้ศักยภาพของคอมพิวเตอร์แทน
1
ตัวอย่างของชีววิศวกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากคือ เรื่องการลำดับดีเอ็นเอ (DNA Sequencing) โดยในช่วงต้นปี 1990 มีการร่วมมือกันระดับนานาชาติเพื่อริเริ่มโครงการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ The Human Genome Project ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อลำดับดีเอ็นเอ และค้นหาคู่เบสที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของดีเอ็นเอมนุษย์ โครงการดังกล่าวใช้เวลาทั้งสิ้น 13 ปีและใช้งบประมาณไปกว่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่น่าเชื่อว่าด้วยพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ตอนนี้ เราสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงและใช้เงินเพียงแค่ไม่กี่พันเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น
3
พัฒนาการในเทคโนโลยีต่างๆ นี่เองที่ทำให้เทคโนโลยีชีววิศวกรรมได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะว่า นอกเหนือจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว การปรับแต่งพันธุกรรม หรือแม้แต่การสร้างอวัยวะจำลองขึ้นมาก็สามารถทำได้โดยง่ายในตอนนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี Bioengineering ที่มีความสำคัญขึ้นมาอย่างมาก
📌 Bioengineering Technology มีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตคนจำนวนมากให้รอดพ้นจากวิกฤติการระบาดครั้งนี้
แม้แต่ในวิกฤติโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เทคโนโลยีด้านชีววิศวกรรมเองก็ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยยุติการระบาด นั่นก็คือความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนประเภท mRNA (messenger RNA) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาผ่านวิธีการ Genetic Engineering โดยอาศัยการป้อนคำสั่งไว้ในวัคซีน โดยเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายของเรา เซลล์ภูมิคุ้มกันก็จะใช้คำสั่งดังกล่าวในการสร้างโปรตีนแบบเดียวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะตอบสนองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสขึ้นมา ซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบใหม่ที่ล้ำสมัยกว่ากรรมวิธีการผลิตวัคซีนแบบเดิม ที่ใช้เชื้อตายหรือเชื้อที่อ่อนแอ ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน อีกทั้ง ประสิทธิผลในการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อก็ยังสูงกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมอีกด้วย!
8
นอกจากนี้ ความสำเร็จดังกล่าวยังถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จุดประกายให้เกิดความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้อีกมากมายเต็มไปหมด ตั้งแต่การพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ หรือ วัณโรค ไปจนถึงโรคที่รักษายาก เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น
📌 อนาคตของ Bioengineering
เทคโนโลยีชีววิศวกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขล็อคปัญหาต่างๆ มากมายในอนาคต โดยในงานวิจัยชื่อ Point of View: Bioengineering horizon scan 2020 ซึ่งจัดทำโดยศูนย์เพื่อศึกษาความเสี่ยงต่อการอยู่รอด (Centre of Study for Existential Risk) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ 38 คนจากทั่วโลก มาร่วมพูดคุยถึงอนาคตของชีววิศวกรรมในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยในภาพอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้วาดเอาไว้นั้น ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีหลายอย่างที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง เช่น การคิดค้นพืชผลที่สามารถทนทานต่อ Climate Change หรือการสังเคราะห์วัตถุดิบชนิดใหม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ทดแทนวัตถุดิบเดิมที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาเราก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่น ที่เราวาดฝันไว้ได้
2
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีทางชีววิศวกรรมอื่น ๆ อีก เช่น การออกแบบและตัดแต่งโปรตีนซึ่งอาจสามารถนำไปสู่การรักษาโรคที่ดื้อต่อการรักษาปกติได้ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งระยะสุดท้าย รวมไปถึง การออกแบบเครื่องมือที่สามารถตรวจวัดสุขภาพของเราได้ ซึ่งสามารถนำไปประเมินเพื่อทำให้สุขภาพกายและจิตของเราดีขึ้นได้ด้วย
2
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพอนาคตข้างหน้าของเทคโนโลยีชีววิศวกรรมจะดูเต็มไปด้วยความเป็นไปได้นานัปการ ในขณะเดียวกัน เมื่อเทียบในบรรดาของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกแล้ว ชีววิศวกรรมก็ดูจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายมากที่สุด ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากคำถามที่ตามมาอีกมากมายตั้งแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีชีววิศวกรรมต่อระบบนิเวศโดยรวม ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลทางสุขภาพของแต่ละคน ไปจนถึงสิทธิและความรับผิดชอบในการตัดแต่งและเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเราซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังเราได้ นอกจากนี้ ความท้าทายดังกล่าวยังรวมไปถึงการตั้งกฎเกณฑ์และควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดต่อศีลธรรม หรือตกไปอยู่ในมือของอาชญากรอีกด้วย
6
มิเช่นนั้น พล็อตหนังดัง ๆ หลายเรื่องที่เคยวาดภาพอนาคตที่โหดร้ายไว้จากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีชีววิศวกรรมอาจมาปรากฏในชีวิตจริงก็ได้
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
2
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา