9 มิ.ย. 2021 เวลา 14:40 • การศึกษา
“ทำงานข้าราชการ ก็ไม่เป็นหนี้ มีเงินเก็บได้”
คนที่เข้ามาปรึกษา มีหลายเคสที่ทำงานเป็นข้าราชการ มีทั้งครู👩‍🏫 พยาบาล👩‍⚕️ ทหาร💂‍♂️หรือเจ้าพนักงาน👩‍💻 จะพบปัญหาเหมือนๆ กันคือ
- เป็นหนี้
- เงินเดือนไม่พอใช้
ในส่วนของเรื่อง หนี้ ทำไมข้าราชการจึงเป็นหนี้กันหลายคน ในขณะที่ยอดหนี้บางคนก็สูงมาก
1. ข้าราชการเข้าถึงการกู้ได้ง่าย เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง หลายแบงค์ก็ให้เครดิต แต่พอกู้หลายแบงค์เข้า หนี้จึงรวมกันเป็นก้อนใหญ่
2. ข้าราชการมี “สหกรณ์” ปัจจุบันสหกรณ์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เมื่อมีการกู้สหกรณ์ แต่ทางสถาบันการเงินไม่รับรู้ ยอมปล่อยกู้ให้เต็มจำนวน จึงอาจเกินกำลังในการส่งหนี้
3. มีการค้ำประกันในการกู้สหกรณ์ และเป็นการค้ำไขว้กัน เสี่ยงที่เราจะต้องรับผิดชอบหนี้ที่เราไม่ได้ก่อ ในอนาคต
4. คนเข้ามารับราชการเพราะสวัสดิการที่ดี แต่ด้วยเงินเดือนที่อาจไม่สูงเท่าเอกชน และไม่ได้วางแผนบริหารจัดการเงินไว้ก่อน ทำให้หมุนเงินไม่ทัน ต้องกู้มาใช้จ่ายอุปโภคบริโภค
เมื่อรู้สาเหตุกันแล้ว วิธีการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เป็นหนี้ ก็จะง่ายขึ้นมาก
1. อย่ากู้จนเกินกำลัง เมื่อรวมยอดผ่อนหนี้ต่อเดือน ไม่ควรเกิน 40% ของเงินเดือน
แม้เครดิตเราจะยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก แต่พึงระลึกไว้ว่า “เท่านี้ก็หนักแล้ว” ได้เงินเดือนมา เราต้องเอาเงินเกือบครึ่งให้เจ้าหนี้ ถ้ามากกว่านี้เราจะไหวเหรอ?
ที่สำคัญ **อย่ากู้เพราะแค่ดอกเบี้ยถูก โดยไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร**
2. อย่าค้ำประกันให้ใคร ถ้าคนๆนั้นไม่ใช่คนที่สำคัญในชีวิตเราจริงๆ เช่น ลูก, พ่อแม่, สามี-ภรรยา โดยเฉพาะถ้าเป็นแค่เพื่อนร่วมงาน ถ้าเขาลาออกไป หนี้นั้นเราต้องรับผิดชอบแทน
“ถ้าเราค้ำประกัน เราต้องทำงาน เพื่อหาเงินมาใช้หนี้แทนคนอื่น” เตือนสติตัวเองไว้
3. ถ้าไม่อยากเกิดเหตุการหมุนเงินไม่ทัน เราต้องวางแผนการใช้เงิน !!!
10 ข้อ การวางแผนการใช้เงินของข้าราชการ
1. List รายรับทั้งหมด และรายจ่ายทั้งหมด ออกมาเป็น”รายเดือน”
(อันไหนมาเป็นรายปี หรือช่วงนึงของปี เช่น ประกัน หาร 12 ได้เลยค่ะ หรือ ค่าเทอมลูก มาปีละ 2 ครั้ง ก็รวมกัน หาร 12 ไว้เลย แล้วกันเงินส่วนนั้นทุกเดือน ไว้เพื่อจ่ายเมื่อถึงกำหนด)
2. ลองดูฝั่งรายจ่ายว่า มีตัวไหนเป็นรายจ่ายไม่จำเป็น เราจะตัด หรือลดลงมาได้หรือไม่ ตัดได้ตัดทิ้ง
3. ถ้าตึงมาก รายจ่ายมากกว่ารายรับ และไม่สามารถลดรายจ่ายใดๆ ได้อีก ก็ต้องเจรจาประนอมหนี้ หรือหารายได้เพิ่ม
4. ทำยังไงก็ได้ให้ “รายรับต่อเดือน สูงกว่า รายจ่ายต่อเดือน” นี่คือหัวใจสำคัญ ไม่เช่นนั้นแต่ละเดือนเงินจะไม่พอ ต้องกู้ไปเรื่อยๆ เมื่อกู้ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เพิ่มมาทุกเดือนคือ “ดอกเบี้ยที่ไม่จบสิ้น”
5. รายรับส่วนที่สูงกว่ารายจ่าย นำส่วนนั้นมาเป็นเงินออม ตัดเงินออมตั้งแต่วันแรกที่ได้เงินเดือนมา ไม่ควรรอให้เหลือแล้วค่อยออม (เพราะมันจะไม่เหลือ)
6. หรือถ้ากลัวเราจะถอนมาใช้ ก็เพิ่มการออมของ กบข. แทนก็ได้ค่ะ ได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มด้วย ออมให้เท่ากับเงินส่วนที่เราตั้งใจจะออม (เปลี่ยน%การออม ได้ที่แอพ My GPF)
7. เงินส่วนที่เหลือหลังจากตัดออม เอามาแบ่งเป็นสัดส่วน แล้วใช้ตามที่เรากำหนด ไม่ให้เกินงบ ควบคุมการเงินของตัวเอง จดบัญชีรายรับ-รายจ่าย
8. ถ้าโชคดี เดือนนั้นเหลือ เอามาออมเพิ่มได้อีก เปิดบัญชีกองทุนที่เสี่ยงต่ำๆ ก่อน เช่น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนผสม หากมีความรู้ และมีเวลาอีกนาน ก็มองไปที่กองทุนหุ้นได้
9. วันหวยออก ที่ทำงานพูดกันแต่เรื่องหวย.. หากอยากลุ้น แต่ไม่อยากเสียเงินฟรี ซื้อสลากออมสินแทนก็ได้ค่ะ เป็นการออมอย่างหนึ่งด้วย (อย่าลืมว่าหวย มีโอกาสในการถูกเพียง 1.4168%)
10. เมื่อคุณสะสมเงินออมได้จำนวนหนึ่ง คุณจะอยากเก็บมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเอง
บทความนี้
ไม่อยากให้ข้าราชการถอดใจ ทุกคนมีเงินออมได้ วางแผนการเงินได้ ปราศจากหนี้ได้!!!
เป็นกำลังใจให้นะคะ ❤️
อ้อ
โฆษณา