10 มิ.ย. 2021 เวลา 02:53 • สุขภาพ
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย กับวัคซีน
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Immune System)
ร่างกายของมนุษย์มีกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเป็นการต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายแล้วก่อให้เกิดโรคหรืออวัยวะต่าง ๆ เกิดการบาดเจ็บ ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ประกอบด้วยโครงสร้างและกระบวนการทางชีวภาพที่หลากหลาย แบ่งเป็นระบบย่อย 2 ระบบ คือ ระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate หรือ Natural immunity) และระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสิ่งแปลกปลอม (Adaptive หรือ Acquired Immunity) ทั้งสองระบบจะทำงานโดยอาศัยสารน้ำและแบบอาศัยเซลล์
ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate immunity) เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จัดเป็นกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะเจาะจง ได้แก่ พื้นผิวที่สัมผัสโดยตรง คือ ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในการป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมและไม่จดจำเชื้อโรค (memory) ซึ่งส่วนใหญ่คือเชื้อโรคออกไปจากร่างกาย ดังนี้
ผิวหนัง เชื้อโรคไม่สามารถบุกรุกผิวหนังปกติที่ไม่มีบาดแผลและความเป็นกรดของไขมันที่ผลิตออกมาจากต่อมไขมันที่ผิวหนัง ได้แก่ lactic acid และ fatty acid จะช่วยยับยั้งและทำลายเชื้อโรค หากผิวหนังชั้นนอกเปิดออก เช่น มีบาดแผล เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่ผิวหนังก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบ หากเป็นแผลเล็ก ๆ ระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อออกไป เพียงล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลให้แห้ง ก็หายเป็นปกติได้
เยื่อบุหลอดลม มีเซลล์ที่มีขน (hairy cell) คอยพัดโบกเชื้อโรคให้ออกไปจากหลอดลม และมีเซลล์ผลิตเสมหะ(goblet cell) ที่เหนียวหนืด ไว้คอยดักจับเชื้อโรคคล้ายกาวจับแมลงวันเพื่อไม่ให้เข้าสู่เยื่อบุหลอดลม
น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา มีหน้าที่ชะล้างเชื้อโรคออกไปจากเยื่อบุ อีกทั้งในสารคัดหลั่งเหล่านี้ยังมี enzyme ที่มีคุณสมบัติในการย่อยทำลายเชื้อโรคอย่างอ่อน ๆ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือเยื่อบุตาอักเสบ ต่อมน้ำตาจะหลั่งน้ำตาเป็นปริมาณมากออกมาขับไล่สิ่งแปลกปลอมออกไป หรือเมื่อสิ่งแปลกปลอม สารระคายเคืองเข้าจมูกหรือเป็นหวัด เยื่อบุจมูกจะหลั่งน้ำมูกออกมาก และจามบ่อย เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม
การไอ ช่วยขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เราสำลักเข้าไปในหลอดลมและปอด หากสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดการระคายเคืองมาก เราก็ยิ่งไอนาน ไอจนกว่าจะหลุดออกมา ในผู้สูงอายุระบบต่าง ๆ ทำงานเฉื่อยลงรวมถึงการไอด้วย
สารคัดหลั่งในช่องคลอด มีฤทธิ์เป็นกรดสามารถช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้
ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ(Adaptative immunity ) หรือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired immunity) เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคสามารถผ่านระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดเข้าสู่ใต้เยื่อบุหรือผิวหนังที่มีบาดแผลได้แล้ว เซลล์ต่าง ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้ออกไปพ้นจากร่างกาย เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตมาจาก stem cell อันเป็นเซลล์ต้นตอในไขกระดูกซึ่งเติบโตแปรสภาพไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดต่าง ๆ เมื่อเซลล์เหล่านี้โตเต็มที่แล้วจึงออกมาสู่กระแสเลือดไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายตามหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไปของเซลล์แต่ละชนิด โดยร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อโรคอย่างจำเพาะเจาะจงผ่านเม็ดเลือดขาว โดยมีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญคือ B lymphocyte ซึ่งจะสร้าง Antibody และ T lymphocyte ซึ่งจะสร้าง T cells ที่สามารถสร้างการตอบสนองที่หลากหลายทั้งต่อเชื้อในเซลล์และนอกเซลล์ การตอบสนองแบบ Adaptive มีคุณสมบัติในการจดจำเชื้อโรคได้ ทำให้การตอบสนองในครั้งหลังรวดเร็ว มีประสิทธิภาพดีและมีปริมาณมากกว่าการตอบสนองในครั้งแรก
วัคซีน (vaccine) เป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์หรือส่วนประกอบของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีกลไกนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่เฉพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ กล่าวคือ มีฤทธิ์ในการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะกับโรค วัคซีนโดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค แล้งทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ตาย หรือใช้ส่วนที่เป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง (toxoid) โดยวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้จดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรคซึ่ง คุณสมบัติการจดจำแอนติเจนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้สามารถกำจัดแอนติเจนหากเมื่อได้รับอีกในเวลารวดเร็วยิ่งขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
วัคซีนชนิดตัวตาย (Killed Vaccine) เป็นวัคซีนวิธีการแรก ๆ ที่นำมาใช้ในการผลิตวัคซีนประกอบด้วยจุลินทรีย์ตายทั้งตัวหรือส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นแอนติเจน อาทิ แคปซูล ฟิลิ หรือไรโบโซม วัคซีนชนิดนี้ผ่านการเลี้ยงเชื้อในสภาวะที่มีความรุนแรงสูงและนำจุลินทรีย์มาฆ่าด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้ความร้อน, การใช้แสงอุลตร้าไวโอเลตและการใช้สารเคมีอย่างฟีนอลหรือฟอร์มาลีน การนำวัคซีนชนิดนี้มาใช้งานต้องมีขนาดการใช้สูงเนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ตายแล้วและไม่อาจเพิ่มปริมาณในร่างกายผู้ให้วัคซีนได้ รวมถึงการออกฤทธิ์วัคซีนประเภทนี้จะสั้นซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการใช้สารจำพวกแอตจูแวนต์ (Adjuvant) หรือใช้วิธีการฉีดกระตุ้นให้ระดับแอนติบอดีสูงพอที่จะป้องกันโรคได้
วัคซีนชนิดตัวเป็น (Live Attenuated Vaccine) ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ไม่ก่อโรคในร่างกายมนุษย์แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้โดยการคัดเลือกตัวผ่าเหล่า ของจุลินทรีย์ที่มีความรุนแรงต่ำโดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การทำให้แห้ง, การเลี้ยงในสภาวะผิดปกตินอกโฮสต์, การเลี้ยงจนอ่อนฤทธิ์และการใช้เทคโนโลยีรีคอมบีแนนต์เข้าร่วม ซึ่งข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ประการหนึ่งคือการสามารถเจริญและเพิ่มจำนวนในร่างกายได้ ทำให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้เป็นเวลานานและระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าในวัคซีนชนิดตัวตาย สามารถให้ในปริมาณที่น้อยได้และยังเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติอีกด้วย
อย่างไรก็ตามวัคซีนชนิดตัวเป็นยังมีปัญหาหลายประการ ได้แก่ ความรุนแรงในการอ่อนฤทธิ์ของไวรัสคือ ต้องมีขนาดพอเหมาะ ความรุนแรงต่ำต้องไม่ต่ำจนกระทั่งไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ คือ สูญเสียคุณสมบัติแอนติเจน และเชื้อผ่าเหล่าที่ได้รับการคัดเลือกจำต้องมีความคงตัว นอกจากนี้ปัญหาการปนเปื้อนไวรัสจากการเลี้ยงเชื้อในสภาวะอื่นอาจมีไวรัสปะปนในเซลล์ที่นำมาเลี้ยง อาทิ WI-38 ซึ่งเป็นเซลล์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงแทนเซลล์เนื้อไตลิงที่มีปัญหาการปนเปื้อนไวรัสสูง หากแต่ยังมิได้รับการยอมรับในหลายประเทศ
การให้วัคซีนชนิดตัวเป็นสองชนิดขึ้นไปในเวลาใกล้เคียงกันอาจก่อให้เกิดปัญหา "Interference Phenomenon" ขึ้น จากการไม่ตอบสนองตอบของร่างกายต่อวัคซีนตัวหลังที่ให้ เพราะวัตซีนตัวแรกก่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายที่ออกฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสอย่างไม่จำเพาะเจาะจงทำให้ป้องกันวัคซีนตัวหลังที่ให้ด้วย นอกจากนี้การเก็บรักษาวัคซีนประเภทนี้ต้องเก็บในตู้เย็นหรือที่ควบคุมอุณหภูมิในช่วง 2-8 องศาเซลเซียสเท่านั้น
โฆษณา