10 มิ.ย. 2021 เวลา 13:29 • การเมือง
เอกสิทธิ์ ส.ส. หมายถึงอะไร ?
เอกสิทธิ์ หรือ Privilege นั้น หมายถึง สิทธิพิเศษที่ให้แก่บุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ก็คือ สิทธิเด็ดขาดของสมาชิกรัฐสภาที่จะแสดงความคิดเห็น หรือการกระทำอย่างอื่นโดยมิให้บุคคลอื่นสอดมาเกี่ยวข้องโดยการเก็บเอาไปฟ้องร้องว่ากล่าวในทางใด ๆ ทั้งนี้ เอกสิทธิ์ จะมีลักษณะตลอดไป กล่าวคือ เมื่อเป็นเอกสิทธิ์แล้ว ก็ไม่อาจนำเรื่องนั้นไปฟ้องร้องอีกไม่ว่าในเวลาใดก็ตาม
เอกสิทธิ์ ส.ส. หมายถึงอะไร ?
เอกสิทธิ์ (รวมถึงความคุ้มกันด้วย) เป็นแนวคิดที่มีต้นกำเนิดมาระบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักร เนื่องจากในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษโดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาสามัญ (House of Common) มักถูกจับกุมและฟ้องร้องในข้อหากล่าวคำใส่ร้ายป้ายสีเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
โดยเฉพาะในรัชสมัยพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ได้มีการจับกุมและฟ้องร้องให้ลงโทษผู้แทนราษฎรซึ่งเสนอร่างกฎหมายลดค่าใช้จ่ายในราชสำนักของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ต่อสภา ในข้อหาทรยศต่อกษัตริย์ โดยอ้างว่า “เสรีภาพในการพูด ซึ่งได้ให้แก่พวกท่านไม่ได้หมายความว่าจะให้ท่านพูดตามที่ท่านประสงค์ท่านมีสิทธิ์แต่เพียงจะกล่าวคำว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น” แม้สมาชิกรัฐสภาจะทัดทานอย่างไรพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ก็ทรงเพิกเฉยไม่นำพา
จนกระทั่งใน ค.ศ. 1688 หรือราว พ.ศ. 2231 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ หรือ Bill of Rights ขึ้น เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดว่า ในการพูดและอภิปรายรวมตลอดถึงการดำเนินการใด ๆ ในรัฐสภาตามอำนาจหน้าที่นั้น ไม่อาจนำไปฟ้องร้องในศาลใดศาลหนึ่งได้เลย นอกจากจะเป็นการกระทำนอกรัฐสภา
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาสามารถทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย แสดงความคิดเห็น อภิปราย และตรวจสอบการงานของฝ่ายบริหารได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการฟ้องร้องดำเนินคดีใด ๆ เพราะหากปราศจากเอกสิทธิ์ดังกล่าวนี้แล้ว การจะกล่าวถ้อยคำหรือกระทำการใด ๆ ในการทำหน้าที่ ย่อมมีข้อจำกัดตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะทำให้การทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่พึงมี
หลักการจาก Bill of Rights นี้ เป็นที่ยอมรับทั้งในวงวิชาการ และรัฐสภาเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ในเวลาต่อมารัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ก็ได้นำเรื่องนี้ไปบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน
สำหรับการนำหลักเอกสิทธิ์และความคุ้มกันมาใช้ในประเทศไทยนั้น มีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติองคมนตรีพ.ศ. 2470 ขึ้นแก้ไขเพิ่มเติมหลักการเรื่องที่ปรึกษาในพระองค์ ตามพระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิล (privy council) เดิมให้ดีขึ้น ในการนี้ทรงเห็นว่าเหตุที่ปรีวีเคาน์ซิลไม่ได้ผลเท่าใดนัก เพราะสมาชิกแห่งสภานั้นอภิปรายแสดงความเห็นได้ไม่เต็มที่ จึงทรงพระราชดำริที่จะให้หลักประกัน แก่สมาชิกองคมนตรีสภาในการแสดงความคิดเห็นให้เต็มที่ไม่ต้องหวาดเกรงภัยใด ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราบทบัญญัติในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัตินี้ว่า
“กรรมการองคมนตรีไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำใดๆ ที่ได้กล่าว หรือแสดงเป็นความเห็น หรือในการออกเสียงลงคะแนน ในที่ประชุมสภาองคมนตรีผู้ใดผู้หนึ่งจะว่ากล่าวฟ้องร้องกรรมการองคมนตรีเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่ อนึ่ง บุคคลที่สภาได้เชิญมาชี้แจงหรือออกความเห็นนั้นก็ให้ได้รับยกเว้นดุจกัน”
สำหรับประเทศไทยนั้น หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ได้มีการรับหลักการเรื่องเอกสิทธิ์ของผู้แทนราษฎรเอาไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรก กล่าวคือ ตั้งแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งมาตรา 24 บัญญัติว่า “สมาชิกไม่ต้องรับผิดชอบในถ้อยคำใด ๆ ที่ได้กล่าว หรือแสดงความเห็นในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม ผู้หนึ่งผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องเพราะเหตุนั้นหาได้ไม่
ปัจจุบัน หลักการเรื่อง เอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 124 ว่า “ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใด ๆ มิได้...
❤️วันนี้ผมขอจบบทความนี้แต่เพียงเท่านี้ก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า ฝากติดตามเป็นกำลังใจให้กันต่อไปด้วยนะครับ Thank you very much 🙏🏻😊
📌สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ จากเพจความรู้คู่ความโง่ (Stupid with Knowledge) ✔ทุกคนจะฉลาดมากขึ้น หากเกิดข้อสงสัย ตั้งคำถาม และหาคำตอบให้กับเรื่องนั้นๆ 🙂🐻
💓 อย่าลืมกด " Like " กด " Share " เป็นกำลังใจให้แอดมินด้วยนะครับ
📝 Feedback ให้แอดมินได้เสมอนะครับ ทางเพจยินดีน้อมรับทุกคำติชมจากทุกท่าน 💙
Please Support & Follow us ♥️✍🏻
โฆษณา