10 มิ.ย. 2021 เวลา 23:45 • ท่องเที่ยว
(10) พุกาม .. อานันทวิหาร (Ananda Phaya) อัญมณีแห่งพุกาม
อานันทวิหาร ได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่งดงามมากที่สุดในพุกาม และได้รับยกย่องว่าเป็น “เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม” … เป็นวัดที่สร้างในสมัย พระเจ้าจันสิตตา (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1672-1655) กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พุกาม พระองค์เคยเป็นทหารคู่พระทัยของพระเจ้าอโนรธามหาราช อีกทั้งได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง
มีเรื่องเล่าว่า กาลครั้งหนึ่ง อินเดียซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนาถูกกองทัพชาวมุสลิมเข้าโจมตี ทำลายพระพุทธศาสนา พระภิกษุอินเดียบางส่วนหนีภัยเข้ามายังพุกามประเทศ ในจำนวนนั้นมีพระภิกษุ 8 รูปที่พร้อมด้วยจริยาวัตรงดงาม เดิมอาศัยอยู่ที่วิหาร “นันทมูล” บริเวณเทือกเขาหิมาลัย จึงพรรณนาถึง นันทมูลวิหารอยู่บ่อยๆ …
พระเจ้าจันสิตตาทรงทราบเรื่องจึงเกิดความเลื่อมใส และเกิดแรงบันดาลใจให้พระองค์ดำริจะสร้างวิหารนี้ขึ้น จึงทรงขอให้พระภิกษุเหล่านั้นร่างภาพวิหารนันทมูลขึ้นมาเป็นแบบ แล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารตามแบบนั้นในปี พ.ศ. 1634 ขนานนามว่า “อานันทวิหาร” ซึ่งคำว่า “อนันต์” มีความหมายว่า วิหารนี้จะคงอยู่คู่พุกามตลอดไป
อานันทวิหารได้ชื่อว่างดงามที่สุดเพราะเต็มไปด้วยเชิงชั้นทางศิลปะครบทุกแขนง เป็นวิหารที่มีอิทธิพลของอินเดียอยู่มาก วิหารสร้างในรูปแบบทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 175 ฟุต สูงจากฐานชั้นล่างถึงยอดฉัตร 172 ฟุต
ตัววิหารที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขเด็จยื่นออกไปเท่ากันทั้ง 4 ทิศ เช่นเดียวกับผังกางเขนกรีก หลังคายกระดับทีละชั้น จนถึงจุดกึ่งกลางจึงประดิษฐ์ฐานส่วนยอดซึ่งเป็นรูปเจดีย์เอาไว้ ซึ่งสัดส่วนของเจดีย์นั้นงดงามได้สัดส่วนไม่มีที่ติ … เมื่อมองจากภายนอกแล้วคล้ายมี 2 ชั้น
เทคนิคการก่อสร้างนั้นสุดยอดด้วยการสร้างที่ใช้วิธีถ่ายเทน้ำหนัก โดยตรงกลางวิหารสร้างเป็นแกนสี่เหลี่ยมทึบขึ้นไปรับยอดวิหาร และสร้างซุ้มประตูโดยเรียงอิฐโค้งแบบ Arch ซึ่งถือเป็นแบบของพุทธศิลป์ของพม่าในยุคต่อมา …
… และในกาลต่อมา สถาปัตยกรรมและศิลปะแบบพุกามก็แผ่อิทธิพลมาถึงอาณาจักรสุโขทัยที่เกิดขึ้นภายหลัง
ดร. สันติ เล็กสุขุม ผู้เชี่ยวชาญศิลปะพุกามเคยกล่าวเรื่องแนวคิดการก่อสร้างของพม่าเอาไว้ว่า “พม่าเป็นเยี่ยมในเรื่องของการก่อสร้างขนาดใหญ่ แกนทึบสี่เหลี่ยมเป็นระบบเสากลางรับน้ำหนักของหลังคาวิหาร เพราะฉะนั้นภายในวิหารจึงสามารถที่จะขยายกว้าง มีระเบียง เจาะเป็นช่องเข้าสู่แกนกลางได้ทั้งสี่ช่องทางเดิน แต่ละช่องคูหามีพระพุทธรูปยืนอยู่ เพราะโครงสร้างเป็นอย่างนั้นจึงเจาะทั้งสี่ช่องได้ แต่ถ้าเป็นโครงสร้างของพวกขอม เขาใช้ผนังรับน้ำหนัก ซึ่งต่างจากพม่าที่ใช้แกนกลางรับน้ำหนัก ”
1
สถาปัตยกรรมขอมใช้หินเป็นส่วนใหญ่ และได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศในการใช้หินก่อสร้าง ในขณะที่สถาปัตยกรรมพม่าใช้อิฐเป็นส่วนใหญ่ และได้รับการยอมรับว่ามีความก้าวหน้าในการก่อสร้างด้วยอิฐเช่นกัน …
… อิฐพม่าที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะเรียง ช่างจะขัดอิฐให้เรียบ พอนำมาประกบกันจึงแทบจะไม่เห็นรอยต่อ และพุทธศิลป์แบบนี้ต่อมาได้ส่งอิทธิพลเข้าถึงดินแดนลานนาของไทย แต่ย่อส่วนลงมา จะเห็นได้จาก วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
เราเดินผ่านมุขด้านทิศเหนืออันเป็นประตูที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ สองข้างทางจะมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองจำพวก เครื่องเขิน หุ่นชักต่างๆ
มองเห็นงานศิลป์โบราณวางอยู่ตามมุมต่างๆ .. สวยมาก
ประตูไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งมีการระบุเอาไว้ว่า บุเรงนองเป็นผู้สร้างตอนมาบูรณะวิหารแห่งนี้
ตอนเราเข้าไปครั้งแรกรู้สึกค่อนข้างจะมืด แต่เย็นสบายดี อาจจะเป็นเพราะตัวของวิหารทึบ แต่สร้างให้มีช่องระบายลมระบายอากาศที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม … ภายในวิหารจึงไม่หนาวหรือร้อนเกินไป และเมื่อยืนอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูปจะแลเห็นพระพุทธรูปสุกปลั่ง ด้วยต้องแสงที่ลอดมาจากช่องแสงสว่าง ..
ภายในวิหารมีลักษณะเป็นอุโมงค์เดินถึงกันโดยรอบ แต่ละด้านมีซุ้มคูหา เป็นที่ประทับของพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักจากไม้ ขนาดสูง 31 ฟุต ตามคติความเชื่อของชาวพม่าที่ว่า โลกของเรามีพระพุทธเจ้ามาแล้ว 3 พระองค์ แล้วเพิ่มพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่สี พระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศแต่ละองค์จะวางพระหัตถ์แตกต่างกัน และไม่เหมือนกับพระปางใดๆของไทย มีชื่อเรียกแทนพระพุทธเจ้า คือ
ทิศเหนือ พระกกุสันโธพุทธเจ้า
ทิศตะวันออก พระโกนาคมน์พุทธเจ้า
ทิศใต้ พระกัสสปพุทธเจ้า
ทิศตะวันตก พระโคตมพุทธเจ้า
“พระกกุสันโธพุทธเจ้า”พระพุทธรูปประจำทิศเหนือ … ปกติพระพุทธรูปองค์นี้จะประจำทิศตะวันออก ยกเว้นที่อานันทวิหาร ที่มาอยู่ทางทิศเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าจันสิตตา ที่จะให้พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ “พระพระโคตมพุทธเจ้า” อยู่ตรงกับพระราชวังที่ประทับ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอานันทวิหาร จึงต้องให้พระกกุสันโธพุทธเจ้าย้ายมาทิศเหนือ พระโกนาคมน์พุทธเจ้ามาทางทิศตะวันออก พระกัสสปพุทธเจ้ามาทางทิศใต้ เพื่อพระโคตมพุทธเจ้าจะได้อยู่ทางทิศตะวันตก
พระกกุสันโธพุทธเจ้า เป็นพระพุทธรูปองค์ดั้งเดิมของอานันทวิหาร ถือเป็นศิลปะพุกามยุคแรกที่นิยมแกะสลักให้จีวรแนบพระวรกายขององค์พระ ปลาจีวรหยักเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ ลักษณะการวางพระหัตถ์ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาของไทย
ฉันเดินช้าๆเวียนขวาไปตามทางเดินภายในพระเจดีย์ที่เป็นทางเชื่อมระหว่างพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ … บนกำแพงที่สูงค่อนข้างมาก มีการเจาะซุ้มจระนำ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดย่อมๆหน้าตักประมาณด้วยตาคงไม่เกิน 1 ศอกอยู่เต็มผนัง รวมๆแล้วมีถึง 1,800 องค์เลยทีเดียว
“พระโกนาคมน์พุทธเจ้า” พระพุทธรูปประจำทิศใต้ … เป็นพระพุทธรูปที่สร้างแทนองค์เดิมที่ถูกไฟไหม้ ลักษณะการวางพระหัตถ์คล้ายพระปางเปิดโลกของไทย พุทธลักษณะที่พระพักตร์และจีวรบ่งบอกว่าไม่ใช่ศิลปะพุกาม
ตอนนี้เราอยู่ตรงหน้า “พระกัสสปพุทธเจ้า” พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่เป็นของดั้งเดิม องค์นี้มีสิ่งที่น่าทึ่ง บ่งบอกถึงความลุ่มลึกชาญฉลาดของช่างพุกามที่ปั้นพระพักตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ …
… หากเรามองในระยะห่าง จะเห็นว่าพระพักตร์ขององค์พระยิ้มให้เราอย่างมีเมตตา หากเมื่อเดินเข้าไปใกล้ขึ้นจะเห็นพระพักตร์เรียบเฉยอย่างมีสมาธิ และเมื่อเข้าใกล้มากขึ้น พระพักตร์จะบึ้งตึง …
1
… มีผู้อธิบายว่า เป็นเพราะแสงที่ลอดช่องวิหารเข้ามากระทบพระพักตร์ทีสัมพันธ์กับมุมที่เรายืนดู ทำให้เรามองเห็นพระพักตร์ต่างกัน … พระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่มาของสมญานาม “พระบึ้ง-พระยิ้ม” ลักษณะการวางพระหัตถ์คล้ายปางปฐมเทศนาของไทย
“พระโคตมพุทธเจ้า” พระประจำทิศตะวันตกเป็นพระที่สร้างขึ้นแทนองค์ที่ถูกไฟไหม้ ลักษณะการวางพระหัตถ์คล้ายพระพุทธรูปปางประทานอภัยผสมกับปางคันธาราษฎร์ของไทย มีซุ้มจระนำทั้งด้านซ้ายและขวาขององค์พระพุทธรูป
… ซุ้มด้านขวาประดิษฐานรูปปั้นพระชินอรหันต์ ผู้นำศาสนาพุทธเถรวาทมาสู่พุกาม และผู้สวมมงกุฎถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแด่พระเจ้าจันสิตตา ..
… ซุ้มด้านซ้ายมือประดิษฐานพระรูปพระเจ้าจันสิตตาในท่าทรงจบพระหัตถ์นมัสการพระโคตมพุทธเจ้า
ฉันกราบพระ และใช้เวลานั่งมององค์พระอยู่เนิ่นนาน อดทึ่งไม่ได้กับฝีมือช่างพุกาม ที่สร้างพุทธศิลป์ได้งดงามจนสุดพรรณนา ต้องมาเห็นด้วยตาจึงจะซาบซึ้ง …
… แม้จะมีผู้รู้เคยเล่าให้ฟังว่าพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศนั้น มีเพียงองค์ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ที่เป็นของโบราณ ส่วนอีก 2 องค์เป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นใหม่ เนื่องจากองค์เดิมถูกไฟไหม้หมด …
… แต่ฉันว่าถึงจะเป็นการทำขึ้นใหม่ แต่องค์พระนั้นงดงามจนดูไม่ออกว่าองค์ไหนองค์เดิม และองค์ไหนทำใหม่ ฉันจึงไม่ลังเลที่จะถ่ายรูปพระพุทธรูปที่งดงามเหล่านี้มามากมาย
องค์เจดีย์ก็เช่นกัน … เจดีย์องค์เดิมได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อคราวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2518 พระเจดีย์พังทลายลงมา แต่การปฏิสังขรณ์ทำได้ดีมาก ชนิดที่ใครๆก็ยอมรับว่าออกมาเหมือนเดิมไม่มีที่ติ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงทางด้านสถาปัตยกรรม หรือกรรมวิธีในการก่อสร้าง กรมศิลปากรพม่าจึงได้รับคำชมเสมอว่าบูรณะโบราณสถานไก้ถูกหลักและผลงานดีเยี่ยม
ที่มุขด้านทิศตะวันตกยังมีรอยพระพุทธบาท 2 รอย ประดิษฐานอยู่เหนือฐาน แต่ละรอยประดับมงคล 108 ประการ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสมัยพุกาม
ความงามของอานันทวิหาร แบบเต็มองค์ เมื่อมองจากด้านนอก … ซุ้มประตูและหน้าต่างของวิหาร เป็นตัวอย่างที่ดีและสมบูรณ์ของซุ้มศิลปะพุกาม ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “เคล็ก” (Clec) หมายถึงซุ้มก่ออิฐวงโค้ง ประดับแถวครีบสูง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปะพุกาม ซึ่งส่งผลต่อศิลปะของพม่าทุกสมัย รวมถึงแพร่หลายในอาณาจักรสุโขทัย ที่เรียกว่า “ซุ้มฝักเพกา”
ความศรัทธาของคนพม่าต่ออานันทวิหารนั้นมากมาย เห็นได้จากการที่วิหารแห่งนี้ไม่เคยร้างผู้คนเลยตั้งแต่สร้างขึ้นมา ทั้งชาวต่างชาติอย่างพวกเราที่มาเดินชมโบราณสถานและกราบไหว้พระ และชาวพม่าเองที่มาสวดมนต์ ไหว้พระ ..
…. เวลาที่เราเดินอยู่ภายในวิหารจะมองเห็นแสงเทียนและได้กลิ่นธูปที่ผู้คนจุดบูชาพระทั้ง 4 ทิศตลอดเวลา อีกทั้งเงินที่เต็มตู้บริจาคก็เป็นเครื่องยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อกลับมาทางทิศเหนืออีกครั้ง สุดทางเดินมีหลังคาคลุม ทางซ้ายมือมีทางเดินสู่มณฑปหลังหนึ่ง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องวิถีชีวิตและศิลปะวัฒนธรรมในสมัยพุกามประดับอยู่โดนรอบ ทำให้ทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพุกามโบราณ
ชั้นในสุดของมณฑปมีจิตรกรรมฝาผนังประดับโดยรอบเช่นกัน สันนิษฐานว่าเป็นห้องทำสมาธิของพระสงฆ์
โบราณสถานที่เห็นในถาพด้านบน ไม่ทราบว่าคืออะไร … ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิหาร
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา