11 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เกษตรกร Slow Life ดีต่อใจ หรือแค่พออยู่ไปวันๆ ?
2
มนต์รักหนองผักกะแยง ละครไทยฟีลกู๊ดเบาสมอง ที่มีพล็อตเรื่องสูตรสำเร็จให้ บักเขียว (ณเดชน์ คูกิมิยะ) เป็นหนุ่มอีสานจากบ้านหนองกะแยง ที่ประสบกับปัญหาชีวิตที่กรุงเทพฯ จนต้องกลับมาที่บ้านหนองกะแยง ที่ๆ ครั้งหนึ่งเขาเคยลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่กลับมาอีก แต่สุดท้ายด้วยความเอื้ออาทรของคนในหมู่บ้าน เขาได้เริ่มเรียนรู้การทำไร่ และกลับมารักบ้านเกิดของเขาอีกครั้ง
2
มนต์รักหนองผักกะแยง เกษตรกร Slow Life หรือแค่พออยู่ไปวันๆ ?
ละครเรื่องนี้ได้รับเรตติ้งสูงเป็นการทวงคืนเรตติ้งให้กับช่อง 3 และมียอดผู้ชมออนไลน์ทะลุหลักแสน เนื่องจากนักแสดงนำที่เล่นได้เข้าถึงบทบาท มีการฉายภาพชนบทและสอดแทรกวัฒนธรรมอีสาน เช่น งานบุญผะเหวด งานบุญเบิกบ้าน ประเพณีบุญบั้งไฟ ฯลฯ รวมไปถึงวิถีชีวิตการกินอยู่ของภาคอีสานที่ครอบครัวนั่งล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกัน ผ่านเมนูพื้นบ้านต่างๆ ที่ยายเพียรและแม่พิไล ได้พิถีพิถันในการปรุงในแต่ละเมนู เช่น แกงหน่อไม้ใส่ผักกะแยงน้ำปลาร้า แกงปลาช่อนใส่ผักกะแยง ส้มหมูย่าง (แหนมย่าง) ปลาซิวน้อยคลุกเกลือ ข้าวเหนียวหัวหงอกที่ทำจากข้าวเหนียวใหม่ ฯลฯ ทำให้คนอีสานไกลบ้าน เกิดคิดฮอดอิพ่อ อิแม่ ขึ้นมาเลยทีเดียว จึงทำให้ละครนี้โดนใจผู้ชมได้ง่าย
1
แต่ภาพในละครอาจจะถูกหยิบยกมาเล่าให้สวยงามเกินจริงและมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างไปเสียหน่อย ที่จริงแล้วชีวิต Slow Life มันจะสวยงามอย่างที่ละครเล่าไว้หรือไม่ วันนี้ Bnomics จะพาผู้อ่านไปรับชมละครเรื่องนี้ผ่านมุมมองของการพัฒนาเศรษฐกิจกัน
แม้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน จะเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย และมีประชากรมากถึงหนึ่งในสาม แต่กลับมีส่วนในมูลค่าการผลิตเพียง 10% ของประเทศเท่านั้น
ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ภาพจำของอีสานในสายตาของคนเมืองหลวง คือ ภูมิภาคที่ยากจน แห้งแล้ง ห่างไกลความเจริญ ในละครเราจะเห็นว่าเมื่อบักเขียวไปเรียนในกรุงเทพฯ จึงถูกเพื่อนล้อว่าเป็นพวกบ้านนอก จนทำให้เขาฝังใจเกลียดบ้านเกิดของตัวเอง
📌 ทำไมคนอีสานจึงมีรายได้ต่ำ?
จากงานของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ นักมานุษวิทยาที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรในชนบทอีสานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 (ราวๆ พ.ศ. 2503) พบว่าอีสานในยุคนั้นเป็นสังคมแบบเครือญาติ มีการทำเกษตรแบบผลิตเพื่อยังชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเนื่องจากถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนผ่านนโยบายการพัฒนาของภาครัฐที่ไปกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ
จนเมื่อปี 2504 แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกถูกเขียนขึ้นมาในยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ โดยมุ่งเน้นเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาให้ประเทศมีความทันสมัยตามแนวทางทุนนิยม
รัฐบาลในยุคนั้นมีความกังวลเรื่องประชาชนจะหันเหเข้าลัทธิคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะในภูมิภาคอีสาน จึงได้จัดสรรงบประมาณและร่างแผนพัฒนาสำหรับภาคอีสานโดยเฉพาะ โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
นั่นจึงเป็นการเปิดฉากของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอีสาน ทั้งการพัฒนาถนนหนทาง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง การขยายตัวด้านการศึกษา
การพัฒนาเหล่านี้ค่อยๆ เปิดโลก และโอกาสของชาวอีสานให้กว้างไกลขึ้น ถนนหลายสายได้นำผลผลิตของชาวอีสานให้ออกไปสู่ตลาดภายนอกได้เร็วขึ้น
1
📌 “ภัยแล้ง” ภัยตอกย้ำ ซ้ำเติมชีวิตเกษตรกร
ต่อมาในระหว่างปี 2510 – 2520 เกิดการขาดแคลนน้ำซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการทำเกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรชาวอีสานประสบความลำบากอย่างมากเนื่องจากพึ่งพาการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว
หนทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัวดีขึ้นได้ในตอนนั้น คือ การอพยพออกไปเป็นแรงงานต่างถิ่นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ถนนหนทางที่สร้างไว้จึงได้กลายเป็นเส้นทางที่นำพาคนในชนบทหนีออกจากความยากจนไปหางานในภาคอุตสาหกรรม
ในตอนแรกก็มีแต่ผู้ชายที่ออกไปทำงานต่างถิ่น ต่อมาจึงเริ่มมีผู้หญิงอพยพออกไปเป็นแรงงานในเมืองหลวง หรือเป็นสาวโรงงาน แล้วเก็บออมเงินส่งเงินกลับมาให้คนที่บ้าน
ทิ้งให้อีสานเหลือเพียงคนแก่กับเด็ก และผืนนาที่ว่างเปล่า ดังเช่นในละครที่พ่อแม่ของตะขบไปทำงานที่กรุงเทพฯ และทิ้งลูกให้อยู่กับตายายแต่ไม่ค่อยได้ส่งเสียเงินมาให้
เมื่อคนในชนบทอีสานขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ส่งผลให้เด็กอีสานขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาตามไปด้วย
จากข้อมูลในปี 2555 พบว่าอีสานเป็นภูมิภาคที่เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาต่ำที่สุด เนื่องจากปัจจัยทางด้านรายได้และอาชีพของผู้ปกครองที่เป็นเกษตรกรฐานะยากจน ซึ่งส่วนใหญ่ต่อให้ส่งลูกเรียนก็มักจะไม่ได้เรียนสูงนัก
นอกจากนี้การที่ผู้ปกครองต้องย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ ทำให้เด็กที่ต้องตามผู้ปกครองได้รับการศึกษาอย่างไม่ต่อเนื่อง และอาจจะร่วงหล่นไปจากระบบการศึกษาในที่สุด จนไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้สักที
หลายตอนในละครเรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่าตัวละครต่างเห็นค่าของการศึกษา ว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังเช่นตอนที่ส้มแป้นพูดตัดพ้อว่าตัวเองจบแค่ ม.3 จึงไม่มีโอกาสเจอคู่ครองดี ๆ หรือการที่เธอยอมที่จะขายที่นา เพื่อนำเงินไปส่งเสียให้ลูกแฝดของเธอได้เรียนสูงๆ
หรือครอบครัวของเขียวที่ส่งลูกไปเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยม เนื่องจากครอบครัวมีฐานะดีกว่าคนอื่น พื้นเพเดิมของพ่อเขียวเป็นคนทองหล่อ
แต่นั่นก็สะท้อนให้เราเห็นว่าคุณภาพของการศึกษาในชนบทอีสานยังไม่ดีเท่าที่ควร หลายครอบครัวจึงพยายามส่งลูกไปเรียนในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะแลกมาด้วยค่าใช้ที่จ่ายสูงมากก็ตาม บางครอบครัวต้องขายที่นา เพื่อส่งเสียลูกให้ได้เรียนหนังสือในระดับที่สูงขึ้น หากครอบครัวไหนส่งลูกเรียนแล้วได้ดี มักจะเปรียบเทียบว่า “ขายนาส่งลูกเรียน”
1
การผลิตแบบเพื่อยังชีพจึงอาจไม่เพียงพอในโลกทุนนิยม เพราะถึงแม้เกษตรกรจะทำงานอย่างหนัก แต่ยังเผชิญปัญหาทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน ปัญหาพ่อค้าคนกลางที่กดราคาผลผลิตทางการเกษตร
ทำให้แม้เกษตรกรจะคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของแรงงานในประเทศ แต่กลับสร้าง GDP ได้เพียงเล็กน้อย และไม่เพียงพอที่จะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนไปได้
เกษตรกรหลายคนจึงจำต้องขายที่ดินของครอบครัว กู้หนี้ยืมสิน และกลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไม่รู้จบจากรุ่นสู่รุ่น
1
เมื่อการคมนาคมขนส่งและระบบการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อีสานเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น
แรงงานหลายคนที่ไปทำงานในเมืองหลวง เมื่อกลับบ้านก็ได้นำเอาวิถีชีวิตแบบคนในเมืองเข้ามาด้วย
คนชนบทจึงเริ่มจินตนาการถึงการมีชีวิตที่ดีขึ้น และต้องการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิด “เงินสด” เพื่อบริโภคแบบคนในเมืองบ้าง
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้สังคมอีสานเริ่มเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบยังชีพ ไปสู่เศรษฐกิจแบบพาณิชย์ที่ผลิตเพื่อขายให้ได้เงินมา บางส่วนเมื่อถึงวัยแรงงานก็อพยพออกไปขายแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ตามแต่ว่าช่วงนั้นจะนิยมไปทำงานที่ไหนกัน
ในปัจจุบัน สังคมเกษตรกรรมในอีสานได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากตอนที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ความยากจนยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของชุมชนเกษตรกรอีสาน
1
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิวัติทางเทคโนโลยี รวมทั้งการอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลาย ๆ ด้าน ได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด และแนวทางการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ชาวอีสานไม่ได้ผูกติดกับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมอีกต่อไปและเริ่มมีแนวคิดแบบสมัยใหม่เข้ามาแทน...
วิถีชีวิตในละครเรื่องนี้ จึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนของอีสานเมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่ยังใช้ชีวิตแบบที่คนสมัยใหม่เรียกว่าเป็นวิถี ”Slow Life” เสียมากกว่า
1
หากใครที่รับชมละครเรื่องนี้แล้วปรารถนาจะ “ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ต้องสะดวกสบาย ลำบากหน่อย เหนื่อยหน่อย อยู่แบบบ้านๆ อยู่แบบพอเพียง แบบอีสานบ้านเฮา” ดังที่ครูริชได้กล่าวไว้ ก็สามารถทำได้ แต่โปรดอย่าลืมว่าคนในชนบทอีสานก็อาจปรารถนาถึงชีวิตที่สะดวกสบาย ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับคนเมือง มีการคมนาคมสะดวกเหมือนคนกรุงเทพฯ เช่นกัน ถึงได้พยายามออกไปหางานทำในที่ๆ เขาสามารถหาเงินได้เยอะกว่า
2
จึงน่าจะเป็นเรื่องดีที่รัฐจะช่วยเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาผ่านนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างทั่วถึง (เช่น โดรน แอป การพัฒนาพืชและสัตว์สายพันธุ์ใหม่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร) เพื่อให้ชาวอีสานมีชีวิตที่ดีขึ้น และเด็กๆ มีโอกาสที่จะเลือกได้ว่าอยากไปเรียนต่อ ไปทำอาชีพอื่น หรือจะทำอาชีพเกษตรกรเหมือนบรรพบุรุษ
2
เพราะนั่นเป็นภูมิภาคที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาและต้องอยู่อาศัยกันต่อไป
1
อย่างไรก็ดี การเข้ามาของเทคโนโลยี และความทันสมัย ไม่ได้เป็นการปิดฉากความเป็นชุนชนเกษตรกรอีสานลงเสมอไป
ความเป็นชุมชนเกษตรกรของชาวอีสานยังดำรงอยู่ผ่านอัตลักษณ์ของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันของคนอีสาน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งสุขกันยามมั่งมี เฉลี่ยทุกข์กันยามลำบาก อัตลักษณ์นี้เป็นสิ่งที่คนอีสานยังนำพาติดตัวไปด้วยไม่ว่าจะอพยพไปอยู่ภูมิภาคใด และไม่ว่าสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่ควรค่าต่อการถนอมไว้ เพราะสุดท้ายแล้ว “ชุมชนที่เข้มแข็ง คือ คำตอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน”
3
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Slowlife #เกษตรพอเพียง #เกษตรกร #คิดถึงบ้าน #วิถีพื้นบ้าน #มนต์รักหนองผักกะแยง #ผักกะแยง #บักเขียว #ชมพู่ #ณเดชน์ #โบว์เมลดา #แฟนโบว์ #ช่อง3กด33 #การศึกษาไทย #GDP #ภาคอีสาน #นโยบายภาครัฐ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา