11 มิ.ย. 2021 เวลา 13:21 • ถ่ายภาพ
ในตำราตีความภาพถ่ายอย่าง Camera lucida (1980) โรลองต์ บาร์ธส์ กล่าวว่าการถ่ายภาพถูกหลอกหลอนจากจิตวิญญาณของจิตรกรรม และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งภาพ Sunday on the Banks of the River Marne (1938) ของ Henri Cartier-Bresson ศิลปินชาวฝรั่งเศสก็มีส่วนของความคล้ายคลึงกับงานจิตรกรรมจำพวกอิมเพรสชั่นนิสม์ หรือโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์อยู่ก้ำกึ่งกัน เช่น งานของ Edgar Degas (1834–1917) และ Georges-Pierre Seurat (1859–1891) ชี้ความคล้ายด้วยลักษณะการฉีกกรอบการสร้างสรรค์ภาพผลงานในสตูดิโอออกไปยังพื้นที่โล่งแจ้ง เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สามัญธรรดาที่สุดให้เปิดเผยมุมมองที่ไม่สามัญ นำเสนอความงามแบบธรรมดาที่พบได้ในชีวิตนี้หาใช่ความงามในอุดมคติ การปิกนิคของคน 4 คนนี้จึงเป็นภาพชีวิตในวันหยุดอันสามัญธรรมดาที่ถูกนำเสนอให้เกิดการมุมมองและการตีความที่ไม่ธรรมดา
ความไม่ธรรมดาในภาพถ่ายที่แสนธรรมดานี้อยู่ที่วัตถุและองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพและไม่ได้อยู่ในภาพ ทั้งสองประการนี้หล่อหลอมให้เกิดคำถามจากคำถามแรกที่ตั้งไว้คือเรื่องของความสัมพันธ์ซึ่งไม่ปรากฏในภาพ ต่อมาคือสิ่งที่ปรากฏในภาพ ได้แก่ การรินไวน์ในมือชายวัยกลางคนด้านซ้ายของภาพ ในฐานะที่ไวน์ของสิ่งสำคัญทางวัฒนธรรมชาวคริสต์ที่อาจถูกเชื่อมโยงไปสู่ความนัยต่าง ๆ ในวันของพระเจ้า และเรือตกปลาในแม่น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ที่ว่าด้วยการเดินทางและความตาย ตลอดจนอากัปกริยาการหันหลังของบุคคลทั้ง 4 ในภาพถ่าย วัตถุต่างๆ นี้สามารถบอกเล่าความเชื่อมโยงถึงสัมพันธภาพและความหมายไว้ ซึ่งการพักผ่อน หรือปิคนิคของบุคคลทั้ง 4 คนที่เกิดขึ้นในเวลาว่างจากวันหยุดงานที่สามารถบอกเล่าถึงสามัญลักษณะที่พวกเขาจะพบเจอ นั่นคือ “ความตาย” หรือการพักผ่อนอันยาวนานหลังการทำงานชั่วชีวิต
ผลงานภาพถ่ายของ Henri Cartier-Bresson มักเป็นภาพข่าว-สารคดี เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เป็นภาพธรรมดาสามัญที่พบเห็นในชีวิตจริงในพื้นที่ และเวลาหนึ่งๆ ภาพถ่ายของ อ็องรีการ์ตีเย-แบรซง เน้นการตอบสนองของสมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สัญชาตญาณ สุนทรีศาสตร์ความรู้เรื่องบริบทของสังคมการเมือง การรอคอย และเลือกที่จะบันทึกมุมมองหนึ่ง ๆ ของตนโดยการตัดสินใจในเศษเสี้ยวของวินาที (The Decisive Moment) เพื่อบันทึกเรื่องราว ณ ขณะจิตนั้นให้ตรงตามโลกทัศน์ที่เขามอง หรือเห็นมากที่สุด เพราะเขาตระหนักได้ว่าความสามารถของการถ่ายภาพนั้นสามารถบันทึกความเป็นนิรันดร์ของเรื่องราวเอาไว้ได้ และด้วยความที่เขาเกิดเป็นชนชั้นกลางที่มีอันจะกินทำให้เขาสามารถเดินทางไปยังที่อื่นๆ และมีส่วนร่วมสำคัญต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกเสมอ
ด้วยความที่แบรซงถ่ายภาพแนวข่าว หรือสารคดีที่ให้ข้อเท็จจริงเขาใช้เทคนิค “ถ่ายแบบตัวแบบไม่รู้ตัว” (candid) ทำให้เห็นอารมณ์ที่ชัดเจนของคน ดังนั้นใน Sunday on the Banks of the River Marne. 1938 เขาปล่อยให้กิจกรรมของตัวแบบดำเนินไปแล้วกดชัตเตอร์ โดยจัดวางองค์ประกอบให้คล้ายกับงานจิตรกรรมแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (แบรซงเป็นคนที่ชื่นชอบวานรูป และงานจิตรกรรม) แรกทันทีที่มองภาพ มันก็คือเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน คน 4 คนหรือ 5 คนในภาพอาจเป็นสามีภรรยาหรือเพื่อนที่มานั่งปิคนิกกันในวันหยุดงาน สิ่งที่เป็นกำแพงปิดกั้นความเข้าใจในรูปภาพคือช่วงเวลาที่ฉาบทับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และพื้นเพตัวแบบในภาพ
อย่างไรก็ตามไขมันที่ย้วยออกมาจากตัวแบบ ชวนให้ข้าพเจ้านึกถึงชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ใช้เวลาสบายๆ ริมแม่น้ำในกรุงปารีส แต่ผิดถนัด! นั่นเป็นภาพการพักผ่อนหย่อนใจของ ”ชนชั้นแรงงาน” ในฝรั่งเศสที่เพิ่งจะได้รับการประกาศให้มีวันหยุดอย่างเป็นทางการ
อ่านเพิ่มในลิ้งข้างล่างนี้
โฆษณา