12 มิ.ย. 2021 เวลา 03:00 • ครอบครัว & เด็ก
“คุณครูของหนู” (ส่งลูกเรียนโรงเรียนไหนดี ตอนที่ 2/3)
ครูดี กับครูเก่ง ต่างกันค่ะ จริงอยู่ที่ผู้ปกครองก็ล้วนอยากได้ครูเก่งๆมาสอนลูกหลานของตน บางคนอาจจะ คิดว่า ถ้าครูสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ลูกเราอยากเรียนไม่ได้ แล้วจะสอนลูกเราให้สอบเข้าได้อย่างไร ครูเก่งอาจจะมี ความรู้ที่แน่น เทคนิคการสอนที่สนุก แต่ไม่ใช่ครูเก่งทุกคนจะ ใส่ใจผู้เรียน และเข้าใจผู้เรียนเสมอไป (Korthagen, 2004) ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงบริบทที่ส่งผลต่อการสอนของครูด้วยนะคะ เช่น ถ้าโรงเรียนประเมินครูจากคะแนนสอบ O-Netอย่างเดียว ครูเองคงจะไม่มีเวลาห่วงอย่างอื่นนอกจากการอัดเนื้อหาO-Netให้นักเรียน ทำข้อสอบออกมาได้ คะแนนดีๆ
ผู้เขียนขอนิยามครูที่ดี คล้ายๆกับที่Matti Koskenniemi (นักการศึกษาชื่อดังของฟินแลนด์) เรียกว่า “Pedagogy of Love” ค่ะ (Sahlberg, 2014). ครูที่ดีใส่ความรักลงไปในการสอน สอนเพราะอยากพัฒนาผู้อื่น ทำงานเป็นครูเพราะรักอาชีพ ครูจริงๆ ถ้าครูมอง นักเรียนที่เกรด หรือความประพฤติที่เรียบร้อยในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เราอาจจะพลาด โอกาสเห็นอัตลักษณ์ และความสามารถที่หลากหลายของนักเรียนได้ แต่ถ้าเป้าหมายของครูคือพัฒนานักเรียน ของตน มั่นสังเกตนักเรียน ว่ามีจุดใดที่ทำได้ดี จุดใดที่ยังต้องพัฒนา แล้วพยายามหาinterventionที่ช่วยเสริมทักษะ เหล่านั้นให้นักเรียนได้ ผู้เขียนคิดว่าเขาเป็นทั้งครูที่ดีและเก่งค่ะ
ครูที่เก่ง เราอาจจะรู้ได้จากการอ่านprofileครูในเว็บไซต์ของโรงเรียน เอ๋… แล้วครูที่ดีหละ จะรู้ได้อย่างไร ตอบก่อนเลยค่ะว่า “ยาก” เราไม่สามารถที่จะประเมินครูที่ดีภายในหนึ่งหรือสองเหตุการณ์ได้ ยิ่งเมื่อปีที่แล้วมีข่าวครูโรงเรียนดังทำร้ายร่างกายเด็กๆ ยิ่งทำให้พ่อแม่รู้กังวล และหนักใจกับประเด็นนี้ ความรู้สึก “ไว้วางใจ” (trust) จึงมีผลสูงมากค่ะ เรากำลังหา บ้านหลังที่สองให้กับลูกของเรา ครูควรเป็นคนที่เราไว้ใจให้ ดูแลแก้วตาดวงใจของเราค่ะ
ผู้ปกครองอาจจะเริ่มด้วยการไป school visit ขอเยี่ยมชมการสอน ลองคุยกับครู หรือแม้แต่คุยกับครูใหญ่ ครูใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์ ก็มักจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงเรียน ทั้งเรื่องวิชาการ อบรมครู กำหนดวัฒนธรรมองค์กร มันต่างกันนะคะครูใหญ่ที่สั่งให้ครูเลือกนักเรียนที่เก่งที่สุดมานำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนเวลามีผู้ใหญ่ของกระทรวงมาตรวจ กับครูใหญ่ที่จัดสรรทุนส่งเสริมให้ครูทำโครงการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในภายโรงเรียน เพื่อให้นักเรียน (เด็กเรียนดี หรือไม่ก็ตาม) มีโอกาสค้นคว้า สนุกกับวิทยาศาสตร์ และแข่งขันในระดับ เขต จังหวัด ประเทศ หรือแม้ในต่างประเทศ
พ่อแม่หลายคนมักกังวลว่า ลูกของฉันจะทำข้อสอบเข้าได้มั้ย โรงเรียนจะประเมินผู้ปกครองอย่างไร แต่อย่าลืม นะคะว่า โรงเรียนไม่ได้เลือกลูกของเราเพียงอย่างเดียว เรากำลังเลือกโรงเรียนที่ “ดี” ให้กับลูกด้วย เพราะฉะนั้น การคุยกับครูประจำชั้น ให้เห็นถึงทัศนคติจึงมีความสำคัญค่ะ อาจจะลองถามคำถาม เชิง scenario-based เช่น ครูมีวิธีการช่วยนักเรียนที่ยังอ่านหนังสือไม่คล่องอย่างไร; ถ้ามีในห้องที่ซนมากในห้อง และรบกวนการเรียน ครูมีวิธีการจัดการอย่างไร; คำถามเหล่านี้อาจจะช่วยเราประเมินได้คราวๆว่าครูมีทัศนคติ และเทคนิคในการช่วย พัฒนาบุตรหลานของตนอย่างไร แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เราไม่สามารถประเมินความดีของครูได้จากหนึ่ง หรือสองเหตุการณ์ แต่ต้องมองจากหลายๆปัจจัยและช่วงเวลาค่ะ ทั้งนี้ผู้ปกครองควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครู และโรงเรียนเพื่อประเมิน และสังเกตในระยะยาว
อ่านย้อนหลังตอนแรก “โรงเรียนวิชาการดี” ได้ที่ https://web.facebook.com/PlutoParents8.5/photos/a.111987814424955/112506331039770/
และ แน่นอนว่า โรงเรียนนอกจากจะมีคุณครูแล้ว
ก็มีสังคมรอบข้าง นั่นคือ “เพื่อนๆ” นั่นเอง
ตอนต่อไป เราจะคุยกันเรื่อง “เพื่อนที่ดี” ค่ะ
ดร.สวรส ธนาพรสังสุทธิ์ (อาจารย์สาม)
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Columbia University
Doctor of Education in Instructional Technology & Media
อ้างอิง
Korthagen, A. (2004). In search of the essence of a good teacher: Towards a more holistic
approach in teacher education. Teaching and teacher education, 20(1), 77-97.
The Importance of Diversity in the Classroom. https://www.teachtci.com/the-importance-of-
diversity-in-the-classroom/
Sahlberg, P. (2014). Finnish lessons 2.0: What can the world learn from educational change in
Finland?. Teachers College Press.
Schleicher, A. (2019). PISA 2018: Insights and Interpretations. https://www.oecd.org/pisa/
PISA%202018%20Insights%20and%20Interpretations%20FINAL%20PDF.pdf
โฆษณา