12 มิ.ย. 2021 เวลา 03:09 • ปรัชญา
กำลังของทาน
วันนี้พระท่านแนะนำมาให้พูดกำลังของทาน คือว่าท่านบอกว่า กำลังของทานในศาสนาของเรามีการทำบุญอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. ทาน
๒. ศีล
๓. ภาวนา
พระประธานในพระอุโบสถ วัดตูมราชวรวิหาร จ,พระนครศรีอยุธยา
วันนี้ให้ถือกำลังของทานเป็นสำคัญ ก็จะขอนำพระสูตรๆ หนึ่งที่เรียกกันว่าท่านปูติคัตติสสะ ความมีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี เวลานั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปรารภ พระปูติคัตติสสะเถระ ตรัสพระธรรมเทศนาว่า อะจีรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสะติ เป็นต้น เนื้อความมีอยู่ว่า
ในเมืองนั้นปรากฏว่า มีกุลบุตรคนหนึ่งขณะที่ได้ฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวาระแรก ก็มีความเลื่อมใส เมื่อมีความเลื่อมใสก็ตั้งใจถวายตนในพระพุทธศาสนา นั่นก็หมายความว่าต้องการจะบวชตลอดชีวิต เมื่อตัดสินใจแบบนั้นแล้ว ก็ขออุปสมบทบรรพชาจากพระพุทธเจ้า เมื่อบวชเป็นพระแล้วไม่นานนัก ก็มีกำลังขั้นฌานโลกีย์ทรงตัวได้บ้าง ทรงตัวไม่ได้บ้าง กำลังยังไม่มั่นคง
ต่อมาโรคร้ายก็ปรากฎกับร่างกายของท่าน มันเป็นตุ่มเล็กๆ นิดๆ ทั่วตัว ต่อมาเจ้าตุ่มนั้นก็โตขึ้นเท่าเม็ดถั่วเขียว จากเม็ดถั่วเขียวเท่าเม็ดถั่วเหลือง จากเม็ดถั่วเหลืองก็เท่าผลส้ม หนักเข้าๆ ก็โตเท่าผลมะตูม มันเต็มตัวไปหมด พอเม็ดต่างๆ พองใสโตเท่ามะตูมมันก็แตก แตกทั้งหมดเป็นน้ำเหลืองเยิ้มทั้งร่างกาย ท่านก็ลุกไม่ไหว
บรรดาพระทั้งหลายก็ปฏิบัติตามกำลังต่อมาไม่ช้าไม่นานนักกระดูกของท่านก็แตก คำว่ากระดูกแตกนี่ตามบาลีไม่ได้บอกว่าแตกส่วนใดส่วนหนึ่ง คงจะแตกทั้งกาย ผ้าก็เลอะเทอะไปทั้งน้ำเหลือง บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายปฏิบัติไม่ไหว เมื่อปฏิบัติไม่ไหวก็พากันทิ้ง ปล่อยรอความตาย
ท่านบอกว่า คืนวันที่พระทิ้ง สมมุติว่าทิ้งวันนี้นะ เวลาเช้ามืดพระพุทธเจ้าตรวจอุปนิสัยของสัตว์ ตามลีลาการตรวจอุปนิสัยสัตว์ของพระพุทธเจ้านี่ ตามพระสูตรๆ นี้บอกว่ามี ๒ เวลา คือ ถ้าเวลาเช้ามืดท่านตรวจจากขอบจักรวาลเข้ามาถึงที่อยู่ของพระองค์ ถ้าเวลาตอนเย็นพระองค์ก็ตรวจจากที่อยู่ของพระองค์ไปหาขอบจักรวาล แต่วันนี้เป็นเวลาตรวจอุปนิสัยของสัตว์ในตอนเช้ามืดจากขอบจักรวาลเข้ามา ในสถานที่อื่นก็ยังไม่เห็นว่าใครจะบรรลุมรรคผลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
ต่อมาเมื่อทรงตรวจใกล้เข้ามาเขตวิหารของพระองค์ พระปูติคัตติสสะนี่อยู่วิหารของพระพุทธเจ้า อยู่วิหารเดียวกัน ปรากฎว่าท่านก็เห็นพระปูติคัตว่ามีนิสัยเป็นอรหันต์ในวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ พระดิสสะ หรือปูติคัตติสสะ ปูติคัต เขาแปลว่า เน่า พระดิสสะผู้มีร่างกายเน่า ในวันพรุ่งนี้จะได้บรรลุมรรคผลคืออรหันต์พร้อมกับนิพพาน และก็ทรงทราบว่าเวลานี้บรรดาพระลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายพากันทอดทิ้ง เธอมีร่างกายเน่าไปทั้งตัว ผ้าก็เต็มชื้นไปทั้งน้ำเหลืองเกรอะกรังทั้งร่างกาย ทั้งผ้า กระดูกร่างกายก็แตกขยับร่างกายไม่ไหว ก็ทรงดำริต่อไปว่านอกจากตถาคตเสียแล้ว ไม่มีใครเป็นที่พึ่งแก่เธอได้
พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยม
ฉะนั้น เวลาเช้าหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ ก็เสด็จออกจากวิหารของพระองค์ ทำเป็นว่าเที่ยวไปในวิหาร เรียกว่าเดินไปเดินมาก็แวะห้องของพระติสสะ ทรงเอากาน้ำมาตั้งที่เตาต้มให้ร้อน แล้วเอาผ้าที่เปื้อนน้ำเหลืองของเธอมาหวังจะซัก ก็พอดีพระสงฆ์เห็นเข้าก็บอกว่า งานนี้ข้าพระพุทธเจ้าทำเองพระพุทธเจ้าข้า ท่านก็เลยหยิบผ้าที่มีน้ำเหลืองมาบอกว่าต้มน้ำให้ร้อนเอาผ้านี้ต้มขยี้ให้หมดน้ำเหลือง แล้วท่านก็เอาผ้าผืนหนึ่งไป ชุบน้ำร้อนมา ค่อยๆ เช็ดตัวของพระติสสะที่น้ำเหลืองกรังทั้งตัว เช็ดจนกระทั่งน้ำเหลืองแห้งหมด ร่างกายสะอาด
เวลานั้นพระติสสะก็มีความเบาใจ ชื่นใจ มีอาการปลอดโปร่งขึ้นมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ที่ทำให้นั้นก็คือพระพุทธเจ้า กำลังก็เกิดมาก ต่อมาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัส เห็นเธอมีกำลังเบาใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"ภิกษุ ร่างกายของเธอนี้ มีวิญญาณไปปราศแล้ว หาประโยชน์มิได้ จะนอนทับแผ่นดินเหมือนกับท่อนไม้ที่ไม่มีประโยชน์" และต่อมาก็ตรัสเป็นคาถาว่า อะจีรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสสะติ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า "ภิกษุ ไม่นานนักหนอร่างกายนี้จะมีวิญญาณไปปราศแล้ว จะนอนทับผืนแผ่นดินที่บุคคลทั้งหลายเขาจะทอดทิ้งไป เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์" พอท่านฟังเพียงเท่านี้ ท่านบรรลุอรหัตผลพร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณ แล้วก็นิพพานทันที
กฏของกรรม
ทีนี้ก็มาว่าถึงกฎของกรรม เมื่อพระติสสะ คำว่าปูติคัตแปลว่าเน่า เติมเข้ามา เมื่อพระปูติศัตติสสะนิพพานแล้ว บรรดพระสงฆ์ทั้งหลายก็รับคำสั่งจากพระพุทธเจ้าให้ทำเจดีย์ พระพุทธเจ้าสั่งเผาร่างกายแล้วเอากระดูกบรรจุเจดีย์เข้าไว้
ต่อมาบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็กราบทูลถามองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า"กันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า พระติสสะทำกรรมอะไรไว้จึงมีร่างกายเน่าและกระดูกแตก"
ความจริงท่านถามไว้สองตอน ฉันขอรวบรัด และก็ในที่สุดได้บรรลุอรหัตผลพร้อมปฎิสัมภิทาญาไปนิพพานได้
องค์สมเด็จพระจอมไตรคือพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า"ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การที่ปูติคัตติสสะ หรือพระติสสะอย่างเดียวก็ได้ในชาติก่อนโน้นเธอเป็นพรานผ่านก คือดักนกบ้าง ยิงนกบ้าง เอามาขายกับอิตถรชนที่มีสตางค์บางวันถ้ายังขายไม่หมด มีนกน้อยๆ ก็ย่างเก็บไว้ขายในวันพรุ่งนี้ บางวันก็นกเหลือมากก็ย่างบ้าง ส่วนที่ยังเหลือจะขายสดในวันพรุ่งนี้ ถ้าจะปล่อยไว้เฉยๆ ก็เกรงว่านกจะบินหนีไป ก็เลยหักขาบ้าง หักกระดูกบ้าง ป้องกันนกบิน"
ท่านกล่าวว่าเพราะกรรมอย่างนี้ป็นปัจจัยให้ติสสะให้มีกายเน่าและก็มีกระดูกแตก
ผลของทาน
ต่อไปข้อที่สองที่พระถามว่า ผลบุญอะไรจึงได้สำเร็จอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณและก็นิพพานในเวลาเดียวกัน
ข้อนี้ญาติโยมฟังแล้วจำไว้ด้วยนะ เพราะมีพระจำนวนมากบอกผลของทานไม่สามารถจะไปนิพพานได้ แต่ว่าเรื่องนี้ยืนยันว่า ผลของทานไปนิพพานได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยมื่อติสสะผ่านกขาย วันหนึ่งปรากฎว่ามีพระขีณาสพ (พระขีณาสพ ก็คือ พระอรหันต์) มาบิณฑบาตในเวลาเช้า นายพรานนกเห็นเข้าก็นิมนต์ ท่านยืนอยู่ก็รับบาตรมา มีความรู้สึกว่าเขาทำบาปทุกวันไม่เคยทำบุญเลย แต่เขาก็ไม่รู้ว่าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันด์ ก็สั่งคนในบ้านให้ทำกับข้าวให้รสอร่อยที่สุดที่ชอบที่สุด เอาเนื้อนกนั่นแหละทำ เมื่อทำเสร็จก็นำไปใส่บาตรพระ จนเต็มเป็นที่พอใจของตนเอง"
ท่านบอกว่าได้ผลบุญ คือถวายทานกับพระขีณาสพนื่เอง คำว่าขีณาสพคือพระอรหันต์ มาชาตินี้ชาติสุดท้ายเป็นปัจจัยให้บรรลุอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ
นี่ที่ท่านบอกว่าให้ปรารกเรื่องทานเป็นสำคัญ เพราะว่าการทำบุญในพระพุทธศาสนามี ทาน ศีล ภาวนา จะได้ทราบกันว่า การให้ทานหรือทำทานนี่ สามารถเป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานได้
ทีนี้ก็ขอย้ำกล่าวถึงบุญ การถวายทานนี่มีอานิสงส์ไม่เสมอกัน ถวายทานเป็นส่วนบุคคลก็มีอานิสงส์ตามลำดับ ก็ขอตัดเอาชั้นสูงเลย ที่ท่านบอกว่า ถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง มีอานิสงส์ไม่เท่าถวายทานแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง ถวายทานแด่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่าถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง ถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายวิหารทาน ๑ ครั้ง
1
ทานขั้นสูงสุด
และต่อมาท่านต่อว่า สัพพะทานัง ธัมมะหานัง ชินาติ "การให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทุกอย่าง" ก็หมายดวามว่า การสร้างหนังสือธรรมะ การให้วิชาความรู้ หรือว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่สอนธรรมะเแก่คนก็ดี สอนกรรมฐานแก่คนก็ดี นี่เป็นธรรมทาน สอนกรรมฐานเป็นทานขั้นสูงสุด ฉะนั้น เวลานี้ท่านแนะนำให้บอกญาติโยมตามตรง ว่าการที่วัดนี้จัดให้มีการถวายสังฆทานชุดเล็กก็ดี ชุดใหญ่ก็ตาม และชุดหนึ่งคนเดียวก็ตาม จะหลายคนร่วมกันทำก็ย่อมมีอานิสงส์ในการถวายสังฆทาน และสังมทานของท่านมีอานิสงส์มากกว่าพระติสสะถวายแด่พระขีณาสพ เพราะว่าพระขีณาสพเป็นพระอรหันต์องค์เดียว
ตามบาลีท่านบอกว่า
การถวายทานแก่พระอรหันต์เอง ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ครั้ง
ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง
ถวายทานแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง
อานิสงส์สูง ฉะนั้น ทุกคนให้มั่นใจในทานที่ถวายแล้ว สวัสดี
คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
ติดตามคำสอนหลวงพ่อที่
Youtube : หลวงพ่อเล่าให้เราทำ
โฆษณา