12 มิ.ย. 2021 เวลา 03:22 • ประวัติศาสตร์
คอย
“คอย” นิยามทั่วไปหมายถึงรอ
วรรณคดีใช้ซ้อนกับ “เคร่า” (รอ,คอย) เป็น “เคร่าคอย”
เช่น “...ปานนี้พระองค์ทรงธรรม์ จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา...” (อิเหนา รัชกาลที่ ๒)
หรือใช้เป็น “คอยเคร่า” ก็มี
เช่น “...ความดีใจประหนึ่งได้วิมานปาน แต่นับวารคอยเคร่าทุกเช้าเย็น...” (นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน)
นิยามหนึ่งหมายถึงเฝ้า เฝ้าดู เช่น “...ติเล็กติน้อยคอยนินทา ค่อนว่าพิไรไค้แคะ...” (สังข์ทอง)
นิยามหนึ่งหมายถึงหอสูงสำหรับดูเหตุการณ์
เช่น “...คนที่คอยส่องกล้องมองเขม้น พอแลเห็นเรือไฟใบสล้าง...” (นิราศลอนดอน)
อีกนิยามหนึ่งมีความหมายเหมือนกับคำว่า “ด่าน” คือที่คอยระวังเหตุ
ปรากฏหลักฐานคำว่า “ด่าน” และ “คอย” ในเอกสารประวัติศาสตร์ ดังตัวอย่าง
“...แลตั้งนายขนอนคอยด่านทางให้หมั้นดูผลูร่องรอยรอบด่านแดน อย่าให้ข้าศึกศัตรูเข้ามาแปลกปลอมได้...” (พระอายการอาญาหลวง)
“...หนังสือนายควรรู้อัฎ นายเวนมหาดไทย มาเถิงผู้รักษาเมือง กรมการพระหลวงขุนหมื่นนายบ้านนายอำเภอ ด่าน คอย ทุกตำบล...” (สำเนาท้องตราปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ฉบับที่ ๙)
ที่พบในวรรณคดีมีตัวอย่างดังนี้
“...สั่งกำชับกรมการด่านคอย อายัติซ่องใหญ่น้อยไว้แน่นหนา...” (ขุนช้างขุนแผน)
“...ล่วงทางบางใหญ่บ้าน ด่านคอย...” (โคลงนิราศสุพรรณ)
บางครั้งปรากฏร่วมกับคำว่า “ค่าย” ก็มี ดังตัวอย่าง
"...แตกยับกระจัดพลัดพราย ทั้งค่ายคอยน้อยใหญ่ไม่ต่อตี...” (นิราศท่าดินแดง)
สมัยโบราณถือว่า “ด่าน” และ “คอย” เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของบ้านเมือง
เพราะมีหน้าที่ระวังป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะก้าวล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต
บริเวณแดนต่อแดนหรือริมขอบเขตแดนจึงมักมี “ด่าน” และ “คอย” ตั้งอยู่
ทางบก เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ ด่านแม่สอด ดังตัวอย่าง
“...ล่วงลุด่านเจดีย์ สามองค์มีแห่งหั้น แดนต่อแดนกันนั้น เพื่อรู้ราวทาง...” (ลิลิตตะเลงพ่าย)
ทางน้ำ เช่น ด่านเมืองนครเขื่อนขันธ์ ด่านเมืองสมุทรปราการ ดังตัวอย่าง
“...ทรงจัดแจงให้ก่อป้อมกำแพง เมืองนครเขื่อนขันธ์เมืองสมุทรปราการเปนเมืองด่านน้ำ...” (จาฤกแผ่นศิลาพระสมุทเจดีย์)
นอกจากนี้ยังพบคำเรียกผู้กำกับดูแลด่านและคอยอยู่หลายคำ เช่น นายด่าน ชาวด่าน นายคอย ชาวคอย ดังตัวอย่าง
“...แล้วพานายด่านอรัญวา ไปพระโรงรัตนาอำไพ...” (บทละครเรื่องอุณรุท)
“...ถึงด่านชาวด่านชุลมุน ว้าวุ่นมาถวายบังคมคัล...” (บทละครเรื่องพระลอ)
“...นายคอยหอคอยมีกลอง นั่งเมียงมุ่งมอง บให้อริแปลกปน (ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์ เล่ม ๑)
เฉพาะคำว่า “ชาวคอย” พบหลักฐานเก่าสุดสมัยอยุธยาตอนต้นในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก๑๐๔ ต้นฉบับของหอสมุดวชิรญาณ ดังนี้
“...ขณะนั้นชาวคอยก็มาบอกแก่สิวะภักดีๆ ก็ให้บอกแก่พญาแสนๆ ก็ทูลแต่สมเด็จพร(บรมราชา)ธิราชเจ้า...”
ที่น่าสนใจคือร่ายวรรคหนึ่งในลิลิตพระลอ วรรณคดีร่วมยุคกับเหตุการณ์ข้างต้น กล่าวถึง "คอย" ว่า
“...โองการเชื้อสองพี่ คิดที่เราจะไป ก็ให้ผูกกระไดข่าวคอย ผู้รู้รอยชาวด่าน หว่านความรักชักชิด ครั้นเข้าสนิธไมตรี จึงบอกคดีโดยปอง...”
แผนกแบบเรียน กองวิชาการ ผู้จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ไขคำ “ผูกกระไดข่าว” ว่าเป็นสำนวนหมายถึงทอดบันไดเข้าไป, ทอดสะพานเข้าไปสืบข่าว
ข้อชวนตั้งข้อสังเกตคือเป็นไปได้หรือไม่ที่ร่ายวรรคนี้อาจเป็นผูกกระได “ชาวคอย”
หมายถึงเข้าไปติดต่อทำความสนิทสนมกับพวกชาวคอย
เพราะวรรคถัดมามีคำที่เป็นดุลภาคกันคือผู้รู้รอย “ชาวด่าน”
อนึ่ง ชื่อท้องที่ของไทยช่วยสะท้อนให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งชุมชนด้วย
เฉพาะคำว่า “คอย” ปรากฏตัวอย่างชื่ออำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ดังนี้
อำเภอ เช่น อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ตำบล เช่น ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
หมู่บ้าน เช่น บ้านโพธิ์คอย ตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
ที่จังหวัดสุโขทัยมีอำเภอหนึ่งเป็นแดนต่อแดนกับลำปาง ตาก และกำแพงเพชรชื่อ “บ้านด่านลานหอย”
ชื่อที่แท้จริงคือ “บ้านด่านลานคอย”
"บ้านด่าน" คือชุมชนชาวด่าน
"ลานคอย" คือชุมชนชาวคอย
น่าเสียดายว่าเมื่อรวมสองตำบลนี้เข้าตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ คำว่า "ลานคอย" ได้กลายเป็น "ลานหอย" ไปแล้ว
ชื่อที่ผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปรไปนี้สร้างความเสียหายด้านภูมินามวิทยาอย่างฉกาจฉกรรจ์มาก
เพราะนอกจากจะลบร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ออกจากทำเนียบนามท้องถิ่นแล้ว
ยังพรากบทบาทหน้าที่ของบรรพชนชาว “ด่าน-คอย” ให้หายไปจากความทรงจำแผ่นดินด้วย
ราว ๒๐ กว่าปีมาแล้วนับจาก พ.ศ. ๒๕๖๔
ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยผู้ตระหนักในความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคนหนึ่งเดือดร้อนใจกับเรื่องนี้มาก
เขารวบรวมหลักฐานมากมายเพื่อนำไปเสนอหัวหน้าส่วนคนหนึ่งให้ช่วยทำหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎรตามระเบียบ
เรื่องขอแก้ไขชื่ออำเภอเป็น "บ้านด่านลานคอย"
หน่วยงานนั้นปฏิเสธข้อเสนออย่างไร้เยื่อใยและสำรอกกากคำที่ไม่ควรออกจากปากผู้บังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอได้
“เขาว่าอย่างไรครับ ?” เวลาผ่านไปนานมากแล้วผมจึงกล้าถาม
แต่ผมคิดผิดเพราะความดาลเดือดของเสียงจากปลายสายยังอยู่อย่างเข้มข้น
“มันว่าอีกหน่อยสระออยก็จะกลายเป็นสระอวย!!!”
ผมนิ่งอยู่พักหนึ่งเพราะตกใจเขาจึงพูดให้สิ้นกระแสความ
“--ผมโมโหจัดเลยย้อนไปคำหนึ่งแล้วเดินออกจากห้องแบบไม่ไหว้ลาด้วย”
“ว่าอย่างไรครับ” ได้สติแล้วผมหยอดเหรียญให้เครื่องเดินต่อ
“คนเขาเรียก ‘แก่งคอย’ มาเป็นร้อยๆ ปี--“
น้ำเสียงโกรธเกรี้ยวเฉียวฉุนเปลี่ยนเป็นเยือกเย็นเมื่อจะ 'เน้น' และ 'ย้ำ' ประโยคสุดท้าย
“--ไม่เห็นมีใครเรียก ‘แก่งค_ย’ เหมือนนายว่าเลย”
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันพุธที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ศัพทานุกรมวรรณคดีไทย # Lexicon of Thai Literature #วรรณคดี #วรรณกรรม #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #อิเหนารัชกาลที่ ๓ #นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน #สังข์ทอง #นิราศลอรดอน #พระอายการอาญาหลวง #สำเนาท้องตราปีมะเมียพ.ศ.๒๓๑๗ฉบับที่๙ #ขุนช้างขุนแผน #โคลงนิราศสุพรรณ #นิราศท่าดินแดง #ลิลิตตะเลงพ่าย #จาฤกแผ่นศิลาพระสมุทเจดีย์ #บทละครเรื่องอุณรุท #บทละครเรื่องพระลอ #ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์เล่ม๑ #พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกหมายเลข๒/ก๑๐๔ต้นฉบับของหอสมุดวชิรญาณ #ลิลิตพระลอ #เคร่าคอย #คอยเคร่า #นายด่าน #ชาวด่าน #นายคอย#ชาวคอย#แก่งคอย #ท่าคอย #โพธิ์คอย #บ้านด่านลานหอย #บ้านด่าน #ลานคอย #คอย
กราบขอบพระคุณ
คุณสมชาย เดือนเพ็ญ Somchai Duenpen
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ Santi Pakdekham
อ.ธนโชติ เกียรติณภัทร ธนโชติ เกียรติณภัทร
คำบรรยายภาพ
ตัวอย่าง "บอก" สำหรับใส่ "ใบบอก" ของพวก "ด่าน-คอย" ปรัชญาถ่ายอัง๘มิถุนา๒๕๖๔
โฆษณา