12 มิ.ย. 2021 เวลา 08:40 • ข่าว
#อินโดนิเซียสปีดด่วน
#เร่งฉีดAZ_4_แสนโดสก่อนหมดอายุ
#หมอแคนาดาแนะทริค_วันหมดอายุยืดได้
นับเป็นความท้าทายสกิลด้านการบริหารจัดการอย่างยิ่งยวดทีเดียว สำหรับโครงการวัคซีนระดับโลก เพื่อพิชิต Covid-19 ที่นอกจากที่ต้องเร่งผลิตให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว การกระจายส่งให้ดูไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง และการจัดโปรแกรมฉีดวัคซีนถึงประชาชนให้ได้เร็วที่สุด หรืออย่างน้อยต้องให้ทันวันหมดอายุ ทุกขั้นตอนล้วนสำคัญทั้งนั้น
แต่ทั้งนี้ ขั้นตอนผลิต กับขั้นตอนจัดส่ง ถ้าเราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิต หรือเจ้าของวัคซีน มันก็ทำอะไรไม่ได้มาก แต่สำหรับขั้นตอนการกระจายฉีด หลังจากที่วัคซีนมาอยู่ในมือเราเรียบร้อยนี่แหละ ที่เป็นความรับผิดชอบของประเทศใคร ประเทศมัน พลาดแล้วไม่มีใครให้ด่า นอกจากด่าตัวเอง
หลายคนก็อาจสงสัยว่า เวลานี้วัคซีนขาดแคลนมา กถึงขนาดนี้ มันจะมีหรือที่ได้วัคซีนมาแล้วไม่ยอมฉีด หรือฉีดไม่ทันจนต้องทิ้งเพราะหมดอายุ
คำตอบคือ มี! และมีเยอะมากจนน่าตกใจ
ดังเช่นในอินโดนิเซียตอนนี้ กำลังวุ่นวายเรื่องการจัดการวัคซีน AstraZeneca ค้างสต็อก กว่า 400,000 โดสที่กำลังจะหมดอายุภายในเดือนมิถุนายนนี้
อินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และก็ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หนักที่สุดเช่นกัน ซึ่งทางอินโดนิเซียก็ได้เร่งฉีดวัคซีนเป็นชาติแรกๆในอาเซียนเสียด้วย จนถึงตอนนี้มีชาวอินโดเกือบ 20 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว
ซึ่งวัคซีนตัวหลักที่ฉีดในอินโดนิเซียคือ Sinovac ที่ได้สั่งจองไปแล้วเกือบ 85 ล้านโดส รองลงมาคือ AstraZeneca ที่ได้จากโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก กับสั่งซื้อเอง ที่จองไว้กว่า 8 ล้านโดส
แต่ปัญหาอยู่ที่วัคซีน AstraZeneca ล็อตที่ได้รับปันส่วนจากโครงการ Covax ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2021 นี้ จำนวน 448,480 โดส ในทะเบียนล็อต CTMAV547 จากจำนวนทั้งหมด 3.85 ล้านโดส ที่ WHO ได้กระจายส่งไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งผลิตโดยบริษัท The Serum Institute of India ที่ระบุวันหมดอายุของวัคซีนชุดนี้ไว้ที่เดือนมิถุนายน 2021
แต่มันก็มีเรื่องให้วัคซีน AZ ล็อตนี้ยังไม่ได้ฉีด เพราะหลังจากที่เริ่มนำวัคซีนล็อตนี้ออกมาทยอยฉีดในเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่าพบชายหนุ่มวัย 22 ปีเสียชีวิตหลังรับวัคซีนเข็มแรกไปเพียงวันเดียว และยังมีรายงานข่าวผลข้างเคียงของวัคซีนจากหลายประเทศ รัฐบาลอินโดนิเซียจึงสั่งระงับการใช้วัคซีน AZ ล็อตนี้ที่ยังเหลือกว่า 4 แสนโดสไปก่อน
แต่ต่อมาหลายประเทศที่เคยลังเลที่จะฉีดวัคซีน AZ ก็เริ่มกลับมาฉีดใหม่ และพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ทางรัฐมนตรีสาธารณสุขก็เลยเปิดกรุ AZ ค้างสต็อกชุดนี้ขึ้นมาใหม่ แล้วเร่งให้รัฐบาลอนุมัติการฉีดด่วนที่สุด เพราะเดือนมิถุนายนนี้มันก็จะหมดอายุแล้ว
ก็เลยเป็นที่มาของการเร่งกระจายฉีดวัคซีน AZ กว่า 4 แสนโดสให้หมดภายในเดือนนี้ แต่ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถ เพราะรัฐบาลอินโดนิเซียกำลังเร่ง Speed การฉีดวัคซีนทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าฉีดให้ได้ถึง 1 ล้านโดสต่อวันให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งรัฐบาลอินโดนิเซียยอมรับว่าใช้โปรแกรมวัคซีนของจีนมาเป็นโมเดล ที่ตอนนี้ฉีดได้มากถึง 19 ล้านโดสต่อวัน
ก็ต้องยกความดี ความชอบกับการบริหารจัดการวัคซีนที่มีของรัฐบาลอินโดนิเซีย ที่ยังรู้ตัวทัน เข็นวัคซีนเก่าออกมาใช้ได้ก่อนวันหมดอายุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะสามารถทำได้อย่างอินโดนิเซีย ด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดของบุคลากรการแพทย์ และการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก อธิบายว่า วัคซีนของ AstraZeneca ตามมาตรฐานจะมีอายุใช้งานนาน 6 เดือนนับจากวันที่ผลิต ซึ่งก็ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย และองค์การอนามัยโลกก็เป็นผู้ที่จัดสรรวัคซีน AZ ที่ผลิตจากบริษัท The Serum Institute of India เข้าโครงการ Covax ไปสู่ประเทศยากจนในอาฟริกาไปแล้วเกือบ 1 ล้านโดส ตั้งแต่ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา
แต่หลังจากส่งวัคซีนไปแล้ว กลับพบว่ามีวัคซีน AZ จำนวนมากที่ไม่ได้นำไปฉีดให้แก่ประชาชนจนตอนนี้เลยวันหมดอายุไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้มีวัคซีนเป็นจำนวนมากต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
1
ปัญหาที่พบคือ การขนส่งวัคซีนจากศูนย์กลาง ไปถึงชุมชนในประเทศโลกที่ 3 ของทวีปนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะบุกป่าฝ่าดง บางเขตเป็นพื้นที่สีแดง บางหมู่บ้านไม่ถูกกัน บุคลากรการแพทย์มีจำกัด เป็นอุปสรรคในการจัดการวัคซีน
แต่ปัญหาอีกเรื่องที่ใครเจอก็ขำไม่ออกเหมือนกัน คือ "วันหมดอายุ" โดยทางองค์การอนามัยโลกบอกเองว่าได้ทยอยส่งวัคซีน AZ ให้กับชาวอาฟริกาตอนช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งตัววัคซีนระบุวันหมดอายุไว้วันที่ 14 เมษายน 2021 เหลือเวลาให้ชาวอาฟริกาเกณฑ์คนมาฉีดไม่ถึงเดือน ระยะเวลากระชั้นขนาดนี้ ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศยังเกณฑ์คนมาฉีดไม่ทันเลย
ตัวอย่างก็อยู่ไม่ไกล ประเทศแคนาดานี่ไง ที่ตอนนี้ก็มีปัญหาวัคซีน AZ หมดอายุกับเขาเหมือนกัน
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขแคนาดาได้ออกประกาศเลื่อนวันหมดอายุของวัคซีน AZ ที่ค้างสต็อกอยู่ถึง 45,000 โดส ไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่ระบุว่าจะต้องหมดอายุภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ให้สามารถฉีดได้จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2021
1
โอ้..วันหมดอายุประกาศเลื่อนได้ด้วยเหรอ??
ผู้เชี่ยวชาญในแคนาดายืนยันว่าทำได้สิ เพราะเราเก็บวัคซีนดี อุณหภูมิถูกต้อง และก็มีการสุ่มตัวอย่างวัคซีนหลังหมดอายุแล้ว พบว่ายังมีประสิทธิภาพคงที่ สามารถใช้ฉีดได้จริงๆ
ซึ่งคำประกาศนี้จะไม่ได้มีผลกับเฉพาะวัคซีนหมดอายุ 45,000 โดสนี้เท่านั้น แต่จะมีผลต่อวัคซีนล็อตถัดๆไปที่กำลังจะหมดอายุด้วย ที่ต้องโดนรัฐบาลสั่งเลื่อนวันหมดอายุเพิ่มไปอีก 1 เดือนซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญอ้างว่า จะช่วยลดการทิ้งวัคซีนที่ฉีดไม่ทันโดยเปล่าประโยชน์ได้อีกเป็นจำนวนมาก
1
แต่ก็ไม่แน่ใจว่าชาวแคนาดาจะซื้อไอเดียนี้ของรัฐบาลหรือเปล่า เพราะกระแสตอบรับเรื่องการเลื่อนวันหมดอายุวัคซีนก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะวัคซีน ไม่เหมือนกับข้าวที่เราแช่ตู้เย็น ที่สามารถคิดเหมารวมได้ว่า อะไรก็ตามที่มันอยู่ในตู้เย็น หมายความว่ามันจะไม่เสีย
1
อ่านถึงตรงนี้แล้วอาจฟังดูขำ หรือไกลตัว เพราะบ้านเราตอนนี้ปริมาณความต้องการเกินจำนวนวัคซีนที่ได้มากๆ ยังไงก็ฉีดหมด แต่ลองนึกภาพว่า หลังจากที่ฉีดวัคซีนไปได้สักช่วงหนึ่ง จนมีคนจำนวนมากเกินครึ่งได้รับวัคซีนไปแล้ว และเริ่มมีวัคซีนที่เราจองๆกันไว้ตอนที่ panic สุดๆ เพิ่งทยอยส่งมาทีละ 10 ล้านโดสบ้าง 20 ล้านโดสบ้าง ถึงตอนนั้นก็จะรู้ว่า การจัดการกับวัคซีน ที่มีวันหมดอายุไล่หลังอยู่นี้ มันท้าทายขนาดไหน 😀
1
แหล่งข้อมูล
โฆษณา