13 มิ.ย. 2021 เวลา 01:59 • กีฬา
“ฮวน เซบาสเตียน เวรอน”
พ่อมดน้อยผู้แพ้ทางอิงลิช ซินโดรม
12 กรกฎาคม 2000 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดตัวฮวน เซบาสเตียน เวรอน มิดฟิลด์จอมเทคนิคจากลาซิโอ มาร่วมทีมด้วยค่าตัว 28.1 ล้านปอนด์ เป็นสถิติสูงสุดของอังกฤษในยุคนั้น
การซื้อตัวครั้งนี้สร้างความสุขให้กับแฟนบอลปีศาจแดงอย่างมาก เพราะรู้ดีว่าเวรอนสุดยอดแค่ไหนในวันที่อยู่ในอิตาลี
แต่การมีแดนกลางที่ดีมากอยู่แล้ว ทั้งพอล สโคลส์, รอย คีน, เดวิด เบ็คแฮม, ไรอัน กิ๊กส์ รวมทั้งนิคกี้ บัตต์ ที่เติบโตมาด้วยกัน และเล่นด้วยกันมาจนกลมกลืน ประกอบกับความแตกต่างกันของสไตล์ฟุตบอล ทำให้นักเตะฉายา “พ่อมดน้อย” ไม่ได้โดดเด่นอย่างที่คาดหวัง
เวรอนให้สัมภาษณ์กับสื่อตั้งแต่ช่วงแรกที่ย้ายไปค้าแข้งในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด ว่า “ผมไม่กลัวพรีเมียร์ลีก”
เพลย์เมกเกอร์อาร์เจนไตน์เริ่มต้นได้ดี ยิง 3 ประตู จาก 4 เกมที่ลงสนามในเดือนกันยายน ได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำเดือนของพรีเมียร์ลีก เหมือนทุกอย่างจะไปได้สวย แต่หลังจากนั้นผลงานก็เริ่มถอยหลัง เพราะปรับตัวเข้ากับความเร็วของฟุตบอลอังกฤษไม่ได้
ซีซั่นแรกอาจจะพิสูจน์อะไรได้ไม่มาก เพราะยังอยู่ในช่วงปรับตัว แต่ฤดูกาลถัดมา ผลงานในลีกก็ดูจะไม่มีอะไรน่าสนใจ ตรงกันข้ามกับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ยิง 4 ประตูในรอบแบ่งกลุ่ม แต่กลับมาในลีกก็เงียบเหมือนเดิม จนถูกสื่อวิจารณ์อย่างหนัก ถึงขั้นเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนฯยูต้องออกมาตอบโต้ว่า “เวรอนเป็นนักเตะที่เก่งชิบหาย แต่พวกนักข่าวต่างหากที่บัดซบ”
เวรอนบาดเจ็บยาวในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง มีปัญหาเรื่องความฟิต สุดท้ายแมนฯยูก็ต้องยอมขายให้เชลซีในฤดูกาลถัดมา ด้วยค่าตัวที่ขาดทุนครึ่งหนึ่งจากที่จ่ายไป
กับเชลซีก็ยังเจอปัญหาเดิม อาการเจ็บ สไตล์การเล่นที่ไม่เข้ากัน ก่อนจะปิดฉากการค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ย้ายกัลไปอยู่กับอินเตอร์ มิลาน ที่อิตาลี และถูกยกให้เป็นหนึ่งใน 50 การซื้อตัวที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีกยุคนั้น
เวรอนบอกว่า ไม่เคยเสียใจที่เลือกย้ายไปแมนฯยู เพราะตอนนั้นมีปัญหาเรื่องพาสปอร์ตปลอมในอิตาลี(ปลอมแปลงพาสปอร์ตให้เป็นนักเตะโควต้าสหภาพยุโรป) ก็เลยคิดว่าอยากจะลองเปลี่ยนบรรยากาศเผื่อจะดีกับสภาพจิตใจมากขึ้น ก่อนย้ายไปคิดในแง่ลบกับการเล่นในอังกฤษพอสมควร เพราะเห็นนักเตะจากลาติน อเมริกาหลายคนไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่การย้ายไปสโมสรระดับแมนฯยูที่มีคนพร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือมากมาย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่ออังกฤษไปโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญมีช่วงเวลาดีๆ 2 ปีกับแมนฯยู ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก และเจอเพื่อนร่วมทีมดีๆ หลายคน
“ปัญหาของผมที่อังกฤษ คือ สภาพร่างกายที่ต้องเตรียมตัวหนักมากก่อนเกม ยิ่งเล่นถี่ฟอร์มก็ยิ่งดร็อป ผลงานไม่สม่ำเสมอ มีหลายเกมที่เล่นดี แต่บางแมตช์ก็เล่นแย่ ต่างกับที่อิตาลีที่เล่นได้ดีสม่ำเสมอ ช่วงเวลาที่อังกฤษถือว่าไม่ดีเท่าไร ภาษาก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน ถึงผมจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมทีม แต่ผมผิดเองที่ไม่สนใจจะเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่สโมสรหาครูมาสอนส่วนตัว แต่พอเรียนไป 2 ครั้งก็ขอเลิกเรียน อาจจะเป็นช่วงอายุตอนนั้น ผมโฟกัสแต่ฟุตบอล ไม่ได้สนใจคุณค่าของชีวิตนอกสนามเลย พอมองย้อนกลับไปทำให้คิดว่าการมีช่วงเวลานอกสนามร่วมกับเพื่อนร่วมทีม เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ”
ส่วนการไปอยู่กับเชลซีนั้น ปัญหาเดิมๆ ยังอยู่ แต่ก็มีเรื่องการปรับตัวในการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างลอนดอนเพิ่มมาอีก
“เป็นเรื่องดีที่สโมสรอยากได้ผมไปร่วมทีม เชลซีไม่ผิดอะไรเลย แต่การที่ผมมาจากลา ปลาต้า เมืองเล็กๆ ในอาร์เจนตินา พอไปอยู่ลอนดอน มันยิ่งยากกว่าการอยู่แมนเชสเตอร์อีก ผมหวังว่าจะได้อยู่กับแมนฯยูนานกว่านั้น เพราะผมเชื่อว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างให้ทีมได้อีกมาก ถ้าผมยังอยู่แมนเชสเตอร์ต่อ ไม่ไปลอนดอนผมคงทำผลงานในสนามได้ดีกว่าตอนอยู่กับเชลซี”
ถึงจะกลับไปอิตาลีหรืออาร์เจนตินา แต่พ่อมดน้อยก็ไม่เคยแผลงฤทธิ์ได้ยอดเยี่ยมเท่าที่เคยทำได้กับปาร์ม่าหรือลาซิโออีกเลย
เวรอนแขวนสตั๊ดในปี 2014 กับเอสตูเดียนเตส แต่กลับมาลงเล่นอีกครั้งในปี 2017 กับต้นสังกัด แต่ก็ไม่ได้เป็นนักเตะตัวหลัก หลังจากนั้นก็ขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร ปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นประธานสโมสร ก่อนส่งไม้ต่อให้เดยาน ลูกชายทำหน้าที่เป็นนักเตะรุ่นที่ 3 ต่อจากปู่และพ่อ ในทีมเอสตูเดียนเตส
โฆษณา