13 มิ.ย. 2021 เวลา 07:03 • ปรัชญา
ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ
(พระยานรรัตนราชมานิต)
วัดเทพศิรินทราวาส
กรุงเทพมหานคร
นามเดิม
ตรึก จินตยานนท์
กำเนิด
5 ก.พ. 2440
สถานที่เกิด
กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท
อุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2468 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(ญาณวรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์
สมณศักดิ์
-
มรณภาพ
8 ม.ค. 2514 อายุ 74 ปี 46 พรรษา
ภายหลังจากที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนัก ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการ ไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า "คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่อง"
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ต้องตายแทนกันได้" ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพ
ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระแท้ ที่หาได้ยากยิ่ง เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้
คนเราเมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ เมื่อมียศก็มีเสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ ถึงจะชั่วแสนชั่วมันก็ชม นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดายังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกะธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่าเขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไรเราคิดแล้วว่า ไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราและคนอื่นเราจึงทำ เขาจะนินทาว่าใส่ร้ายอย่างไร ก็ช่างเขา บุญเราทำ กรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวน กลัวใครติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่า ๆ
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
คัดลอกจาก
บันทึกประวัติจากความทรงจำ
โดย
ตริ จินตยานนท์
หลังจากท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) ท่านเจ้าคุณพี่ได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ มีท่านส่วนมากที่คุ้นเคยเคารพนับถือเลื่อมใสในเจ้าคุณพี่ ท่านอยากทราบถึงชีวประวัติรายละเอียด ได้ขอให้เขียนประวัติของท่านไว้ในฐานะที่เป็นน้องชายคนเดียวของท่านที่ใกล้ชิดสนิทสนม การเขียนประวัติของท่านเพื่อให้ผู้ที่เคารพเลื่อมใสในตัวเจ้าคุณพี่และอนุชนรุ่นหลังจะได้รู้ เพื่อเป็นเกียรติของชาติศาสนาในเมืองไทย เพราะท่าน “ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ” เป็นผู้ที่มีผู้เคารพนับถือของบรรพชิตและฆราวาสและอุบาสก อุบาสิกา และชาวต่างประเทศ และประชาชนทั่วไป ที่รู้เรื่องของท่านตลอดมา ทั้งอยากจะให้ประวัตินี้ได้อยู่ยืนยงอยู่ต่อไปตลอดกาลนาน
ข้าพเจ้ายังลังเลใจอยู่นาน เพราะยังไม่สันทัดในการเขียน ยังไม่แน่ใจว่าความทรงจำจะได้รายละเอียดเพียงพอหรือไม่ แม้ข้าพเจ้าเป็นน้องชายของเจ้าคุณพี่คนเดียวก็จริง แต่เกิดภายหลังท่านเกือบหนึ่งรอบ เพราะท่านเกิดปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ แต่ข้าพเจ้าเกิดปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ ห่างกันถึง ๑๑ ปี เมื่อเวลาเป็นเด็ก ความใกล้ชิดกับเจ้าคุณพี่มีน้อย เพราะเวลานั้นข้าพเจ้ายังเล็กมาก คุณแม่จึงต้องคอยเลี้ยงดู ยังช่วยตัวเองไม่ได้ และคุณแม่ก็ต้องติดตามไปอยู่กับคุณพ่อซึ่งรับราชการเป็นนายอำเภออยู่หัวเมือง ส่วนเจ้าคุณพี่นั้นเติบโตมากับคุณยาย จึงอยู่บ้านหลังวัดโสมนัสตลอดมา ฉะนั้นเจ้าคุณพี่จึงอยู่ใกล้ชิดกับคุณยายมาก ส่วนข้าพเจ้าเมื่อยังเด็กอยู่ใกล้ชิดคุณพ่อคุณแม่มากเพราะเป็นลูกคนสุดท้อง
ยังจำได้ว่า เมื่อข้าพเจ้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เวลานั้นเจ้าคุณพี่ก็ได้เข้าไปรับราชการอยู่ในวังหลวงแล้ว เวลานั้นข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๖ ขวบเท่านั้น เจ้าคุณพี่เมื่อรับราชการ ก็ค้างคืนอยู่แต่ในวังตลอดอายุราชการ จะมีเวลากลับบ้านก็เพียงแต่เวลาออกเวรกลางวัน กลับมากินอาหารเย็นที่บ้านแล้วก็กลับเข้าวัง ถวายอยู่งานล้นเกล้าฯ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตแล้ว ต่อมาก็อุปสมบท เพื่อถวายพระราชกุศลต่อล้นเกล้าฯ ตลอดมาจนมรณภาพ
ฉะนั้นความจำที่ได้เขียนขึ้นนี้ อาจมีขาดตกบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ตามที่คิดไว้ แต่ก็ได้พยายามเขียนเท่าที่ความสามารถและความจำได้นึกได้ ทั้งที่ได้รู้ได้เห็นด้วยตนเอง และได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ในวงญาติ และได้เคยซักถามท่านบ้าง ท่านเล่าให้ฟังบ้าง ฉะนั้นหากท่านที่รู้ดีกว่าที่ข้าพเจ้าได้เล่าได้เขียนขึ้นนี้ หากมีข้อบกพร่องตอนใดข้อใด อาจมีอยู่ไม่น้อย ก็โปรดให้อภัยด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง
ข้าพเจ้าจำวันเกิดของเจ้าคุณพี่ได้ดีเพราะท่านผู้ใหญ่เคยพูด และคุณยายก็มีความรักและภูมิใจในตัวหลานชาย เจ้าคุณพี่ตั้งแต่เล็กๆ และพูดยกย่องเจ้าคุณพี่ และพูดถึงวันเกิด ข้าพเจ้าจึงจำวันเกิดของเจ้าคุณพี่ได้ดี ว่าเกิดในวันมาฆะบูชา เป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนา เจ้าคุณพี่เกิดในเวลาเช้า พระสงฆ์กำลังออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ คือไม่เช้าไม่สาย จวนเวลากลับวัด วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๕๙ คือตรงกับวันเสาร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ คืนนั้นเป็นวันเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง เจ้าคุณพี่เกิดที่บ้าน ตำบลหลังวัดโสมนัส ท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร คุณยายเลี้ยงดูตลอดมาจนเติบโต และชื่นชมยินดีในหลานชายท่านผู้นี้มาก เคยพูดเสมอตามธรรมเนียมของผู้ใหญ่ในสมัยนั้นว่า หลานของยายคนนี้จะต้องได้พึ่งฝากผีฝากไข้ เพราะมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ไม่มีวันตกต่ำ เมื่อครั้งคุณพ่อรับราชการเป็นนายด่านภาษีอยู่ที่มหาชัย ลูกชายเพื่อนของคุณพ่อได้ไปซ้อมรบเสือป่าด้วย และเขากลับมาแวะส่งข่าวให้คุณยายทราบว่า ในหลวงท่านได้รับเจ้าคุณพี่ไปไว้ใช้ในวัง พอคุณยายทราบข่าวก็ตกใจมาก เข้าใจว่าในหลวงจับเอาตัวหลานชายไป ถึงกับบนบานศาลกล่าวกันยกใหญ่ ต่อมาจึงเข้าใจดี เมื่อเจ้าคุณพี่รับราชการ เวลาจะออกจากบ้านเข้าวัง ก็ไปกราบเท้าคุณยาย ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดเวลา แม้จะติดตามเสด็จล้นเกล้าฯ ไปประทับแรมไกลห่างจากพระนคร เจ้าคุณพี่ก็เป็นห่วงคุณยายตลอดเวลาที่อยู่ห่าง ต้องคอยมีจดหมายมาขอร้องให้ข้าพเจ้าและคนทางบ้าน ช่วยกันเอาใจใส่ดูแลปฏิบัติคุณยายเพราะท่านแก่แล้ว ให้ท่านมีความสุขสบาย ดังจดหมายถึงข้าพเจ้าหลายฉบับ เมื่อครั้งยังเป็นจ่ายง สมกับความรักและความเป็นห่วงที่คุณยายมีต่อเจ้าคุณพี่ และเจ้าคุณพี่ก็รักและกตัญญูต่อคุณยายเช่นกัน
ข้าพเจ้าขอลำดับญาติดังต่อไปนี้
คุณพ่อ - สทฺธมฺมวิจาโร ภิกฺขุ พระภิกษุ พระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์)
คุณแม่ - อุบาสิกา นางนรราชภักดี (พุก จินตยานนท์)
คุณตา - แห รับราชการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
คุณยาย - นิล
คุณปู่ - ขุนบำเรอราชา (อ้น) สังกัดกรมมหาดเล็กพระราชวังบวรฯ
คุณย่า - กลัด
คุณพ่อ-คุณแม่ มีลูก ๕ คน
๑. เจ้าคุณพี่ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)
๒. พี่สมบุญ (หญิง) ถึงแก่กรรมเมื่ออายุราว ๖-๗ ขวบ
๓. พี่เลื่อน (หญิง) นางสรรพกิจโกศล (เลื่อน ปัทมสุนทร)
๔. เด็กชาย ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ยังไม่มีชื่อ
๕. นายตริ จินตยานนท์
เจ้าคุณพี่เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดโสมนัส ไปต่อจบมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ต่อจากนั้นไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ศึกษาภาษาอังกฤษพิเศษกับคุณครูเพลิน ซึ่งต่อมาได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษกลางคืน ชื่อ โรงเรียน “เศนีเศรษฐดำริ” สำเร็จก่อนเข้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) ในปีนั้นมีผู้สำเร็จพร้อมกัน ๑๒ นาย คือ
๑. นายฮกไถ่ พิศาลบุตร
๒. พระตราษบุรี (จำรัส)
๓. นายตรึก จินตยานนท์
๔. นายปริก
๕. นายสวัสดิ์
๖. นายชิ้น วรคามิน
๗. นายชุบ สุขรูป
๘. นายแฉล้ม สุมิตมาน
๙. นายแจ่ม นารายนมิน
๑๐. นายจำรัส รัตนประทีป
๑๑. นายกิมไล้ ปัทมสุนทร
๑๒. นายสาย นทิคามิน
(คัดจากหนังสือ “รัฐศาสตร์อนุสรณ์” เนื่องในงานประชุมรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๐๑)
ในปีที่สอบไล่ได้แล้วนี้ ภายหลังการสอบไล่แล้ว นักเรียนต้องไปซ้อมรบเสือป่าที่จังหวัดนครปฐม ในฐานะนักเรียนเสือป่ารักษาพระองค์ เมื่อกลับจากราชการซ้อมรบแล้ว จึงจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นนายอำเภอต่อไป จำได้ว่าท่านเจ้าคุณพี่ เป็นนักเรียนเสือป่าหลวงเหล่าสื่อสาร ขี่รถจักรยาน ๒ ล้อ (มีหลักฐานรูปถ่ายหมู่ร่วมกับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ แต่งนักเรียนเสือป่า ที่บ้านโป่ง ในปีที่ได้รับเลือกเข้าไป) ในระหว่างซ้อมรบอยู่นี้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มีพระราชประสงค์จะได้นักเรียนเสือป่าเข้าไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ (นักเรียนปีสุดท้าย) จึงให้ข้าราชบริพารไปคัดเลือกเด็กหน้าตาดีๆ คล่องแคล่วเข้ามาสัก ๔-๕ คน (สำหรับจำนวนนี้จำไม่ได้แน่นัก) ซึ่งในจำนวนนี้ เจ้าคุณพี่ได้รับเลือกเข้าไปด้วย
ในตอนแรก จะเขียนระยะชีวิตแต่เด็ก เริ่มรับราชการ ออกจากราชการ และอุปสมบทกระทั่งมรณภาพ ส่วนต่อไปจะเขียนรายละเอียดอื่นๆ เท่าที่จำได้ สำหรับประวัติรับราชการ ได้คัดมาจากเอกสารของสำนักพระราชวัง ซึ่งได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้
ต่อไปนี้เป็นประวัติรับราชการจนถึงกับมรณภาพ
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗
โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในกรมมหาดเล็ก แผนกตั้งเครื่อง ยศ มหาดเล็กวิเศษ
๑ เมษายน ๒๔๕๘
เงินเดือน เดือนละ ๔๐ บาท
๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๘
ยศ บรรดาศักดิ์ รองหุ้มแพร นายรองเสนองานประภาษ เงินเดือนเพิ่ม ๒๐ บาท รวม ๖๐ บาท
๑ เมษายน ๒๔๕๙
ย้ายไปอยู่กองห้องที่พระบรรทม
๓๐ สิงหาคม ๒๔๕๙
บรรดาศักดิ์ หุ้มแพร นายเสนองานประภาษ
๑ กันยายน ๒๔๕๙
เงินเดือนเพิ่ม ๔๐ บาท รวม ๑๐๐ บาท
๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๐
ยศ บรรดาศักดิ์ จ่า นายจ่ายง
๑ มกราคม ๒๔๖๐
เงินเดือนเพิ่ม ๑๐๐ บาท รวม ๒๐๐ บาท
๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๑
ยศ บรรดาศักดิ์ รองหัวหมื่น หลวงศักดิ์นายเวร
๑ มกราคม ๒๔๖๑
เงินเดือนเพิ่ม ๑๐๐ บาท รวม ๓๐๐ บาท
๑ เมษายน ๒๔๖๓
เงินเดือนเพิ่ม ๔๐ บาท รวม ๓๔๐ บาท
๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
ยศ บรรดาศักดิ์ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี
๑ เมษายน ๒๔๖๕
เงินเดือนเพิ่ม ๑๖๐ บาท รวม ๕๐๐ บาท
๑ ธันวาคม ๒๔๖๕
เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม
๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๕
บรรดาศักดิ์ พระยานรรัตนราชมานิต
๑ กรกฎาคม ๒๔๖๗
องคมนตรี ร. ๖
๑ มกราคม ๒๔๖๗
ยศ จางวางตรี
๑ เมษายน ๒๔๖๘
เงินเดือนเพิ่ม ๒๐๐ บาท รวม ๗๐๐ บาท
๔ เมษายน ๒๔๖๙
องคมนตรี ร.๗
๑ เมษายน ๒๔๖๘
โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งหน้าที่ราชการกรมมหาดเล็กหลวง ให้รับพระราชทานบำนาญ เดือนละ ๘๔ บาท ๖๖.๒/๓ สตางค์
๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘
วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณวร ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธวิริยากร เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร และพระอุดมสีลคุณ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บรรพชาอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระเพลิงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พร้อมด้วยพระอุปัชฌาย์
๘ มกราคม ๒๕๑๔
ถึงมรณภาพ ด้วยความชรา (บันทึก ส.น.ว. ที่ ๓๑๔ ล.ว. ๑๑ ม.ค. ๒๕๑๔)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และสิ่งของที่ได้รับพระราชทาน
๒๑ มกราคม ๒๔๕๗
เหรียญราชรุจิทอง
๒ มกราคม ๒๔๕๘
เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๕
๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙
ตรามงกุฎสยาม ชั้น ๕
๑๘ เมษายน ๒๔๖๐
ตราวชิรมาลา
๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๐
เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ๕
๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๑
ตรามงกุฎสยามชั้น ๔
๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓
๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๕
ตราตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๖
ตราทุติยจุลจอมเกล้า
๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
ตรามงกุฎสยาม ชั้น ๑ (ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม)
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘
เหรียญบรมราชาภิเษกทอง (รัชกาลที่ ๗)
๔ เมษายน ๒๔๗๕
เหรียญเฉลิมพระนคร ๑๕๐ ปี เงินกาไหล่ทอง
ปรากฏตามประวัติรับราชการว่า เริ่มเข้ารับราชการแผนกตั้งเครื่องเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ รับราชการอยู่ ๑ ปี กับ ๑ เดือนเศษ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ห้องที่บรรทม
สกุล “จินตยานนท์” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยพระราชทานให้แก่เจ้าคุณพี่ ดังนี้
พระปรมาภิไธย วชิราวุธ ปร.
ขอให้นามสกุลของ มหาดเล็กวิเศษ ตรึก (บุตร ขุนชาญสุพรรณเขตร) ประจำกรมมหาดเล็กตั้งเครื่อง ว่า “จินตยานนท์” (เขียนเปนตัวอักษรโรมันว่า “Chintayanonda”) อันเป็นมงคลนาม
ขอให้สกุลจินตยานนท์ มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน
พระที่นั่งพิมานปฐม
วันที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
เรียบเรียงโดย ท. เลียงพิบูลย์
ท่านผู้ให้แสงสว่างทางปฏิบัติ
วันหนึ่งเพิ่งจะผ่านวันต้นปีใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ไปได้ไม่กี่วัน อยู่ในเขตของต้นเดือนมกราคม จำได้ว่าเป็นบ่ายวันเสาร์ วันนั้นข้าพเจ้าอยู่บ้าน เวียงโทรศัพท์ดังขึ้น เมื่อยกขึ้นมาแนบหูฟังก็ทราบว่าคุณประยงค์ ดาวมณี เป็นผู้พูดมา และเมื่อรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้รับ ก็ได้ยินพูดอย่างร้อนรนละล่ำละลักว่า
“คุณได้ทราบข่าวหรือยังว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ท่านสิ้นเสียแล้ว” (คำว่าเจ้าคุณนรรัตนฯ ซึ่งเป็นที่เจนหู เพราะเราสนใจท่านมาก่อน เป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ทั้งบูชาในความกตัญญูอันสูงยิ่ง และยกย่องในการปฏิบัติหลักธรรมอย่างบริสุทธิ์สะอาดของท่านอยู่ก่อนแล้ว เป็นที่ขึ้นใจของเราตลอดมา จึงไม่มีข้อสงสัยจะเป็นอื่นไปได้นอกจากภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) เป็นข่าวที่ใหญ่สำหรับข้าพเจ้า ทำให้ตื่นเต้นและขนลุก รีบบอกไปว่า “ผมยังไม่ทราบข่าว ท่านสิ้นเมื่อไหร่” เสียงคุณประยงค์ฯ ตอบอย่างเร่งร้อนมาว่า “ผมเองก็เพิ่งรู้ก่อนหน้านี้ จึงรีบโทรศัพท์มาบอกให้รู้ก่อน ทราบว่าท่านสิ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๘ นี่เอง บ่ายวันพรุ่งนี้จะมีการพระราชทานรดน้ำศพ (วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔) ที่ศาลาละมุนนิรมิต เวลาบ่าย ๔ โมง” ข้าพเจ้ารับฟังด้วยความเศร้าสลด ใจคอหดหู่ คิดว่างานรดน้ำศพต้องมีเจ้านายผู้ใหญ่และข้าราชการพ่อค้ามากมายเข้าไม่ถึง เพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ที่ทราบถึงการสละกิเลสของท่าน ข้าพเจ้าอาลัยท่านมาก ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีผู้เสียน้ำตาเพราะยังปลงไม่ตก ว่าตามธรรมชาติของสังขารย่อมแตกดับเป็นธรรมดา ไม่มีผู้อยู่ได้ตลอดไปไม่รู้ดับ แต่เพราะท่านเป็นตัวอย่างปฏิบัติทางหลักธรรมที่ดียิ่ง เท่าที่ข้าพเจ้ารู้ ในยุคปัจจุบันนี้หาได้ยาก ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาย่อมจะมีความรู้สึกเสียดายแทนส่วนรวมทั่วไป ข้าพเจ้าคิดว่าพุทธจักรได้สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เพราะความดีของท่านที่ปฏิบัติตนอยู่ในหลักธรรมอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีราคี ซึ่งการปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง สมควรแก่พระภิกษุสงฆ์ชาวพุทธ อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย และจะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนที่กำลังจะศึกษาการปฏิบัติธรรมต่อไป
แม้ว่าตัวข้าพเจ้าจะไม่คุ้นเคยและรู้จักท่านมาก่อนก็ดี แต่ความดีของท่านที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว ทำให้ผู้รู้เห็นต่างก็ยกย่องสรรเสริญทั่วไป แม้ท่านจะไม่เคยเทศน์สั่งสอนเผยแพร่ทางธรรมให้แพร่หลาอกไปก็ดี แต่ท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติหลักธรรมซึ่งเป็นตัวอย่างที่หาได้ยาก เพราะท่านพูดน้อย แต่ท่านปฏิบัติมาก อันผู้ปฏิบัติตนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ปลดเปลื้อง รูป รส กลิ่น เสียง และ ดับความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังเช่น ภิกษุพระยานรรัตนฯ นี้ แม้จะไม่เคยรู้จักคุ้นเคยมาก่อน แต่เมื่อรู้ถึงการปฏิบัติหลักธรรม ที่ท่านได้เสียสละหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็มีความศรัทธาเกิดขึ้นทางใจ ทำให้เกิดความเคารพนับถือ ผิดกับบางท่าน แม้จะยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อได้ยินข่าวความชั่วร้ายของมนุษย์ใจบาปหยาบช้า มัวเมาหลงอยู่ในกิเลสตัณหา เราก็นึกรังเกียจ ไม่อยากพบเห็นเกิดขึ้นทางใจเช่นกัน
สำหรับข้าพเจ้า เป็นผู้สนใจในกรรมดีของผู้ทำความดี อยากจะเทิดทูนเขียนไว้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้รู้ และมีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบพิจารณาถึงนิสัยแต่ละท่าน แม้ท่านผู้นั้นจะเป็นบรรพชิตหรือจะเป็นฆราวาส อาจารย์ผู้ทรงความรู้ เชี่ยวชาญเป็นปราชญ์ที่มีผู้ยกย่องนับถือทั่วไป เป็นผู้สอนธรรม ข้าพเจ้าก็มักชอบพิจารณ์ทดลองพิสูจน์
หากได้รู้ได้เห็นท่านผู้นั้นยังมีอารมณ์ฉุนเฉียวโกรธง่าย แสดงกิริยาออกท่าทางหรือทางระบายอารมณ์ออกมาทางคำพูดหรือหนังสือก็ดี ข้าพเจ้าหมดความสนใจ เพราะถือว่าท่านผู้นั้นรู้เพียงทฤษฎีเท่านั้น ยังปฏิบัติไม่ได้ เมื่อยังไม่สามารถดับอารมณ์ข่มความโกรธของตนเองลงได้ แม้จะมีความรู้ความสามารถเพียงใด ก็ถือว่าผู้นั้นยังอยู่ในกิเลสหนา เพราะทางพระศาสนาท่านได้ดับความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ แต่ความโกรธเป็นกิเลสหยาบๆ ไม่ละเอียดอ่อนตามอารมณ์รุนแรงนั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะแสดงให้เห็นได้ง่าย เมื่อโกรธแล้ว ส่วนมากจะระงับอารมณ์อัดไว้ไม่อยู่ ย่อมจะระเบิดอกมาทางกิริยาและคำพูด ตลอดทั้งตัวอักษร ส่วนความโลภ ความหลงนั้น ละเอียดอ่อน มองเห็นช้า แต่เมื่อด่านแรกสำคัญ คือ ความโกรธระงับไม่อยู่แล้ว สิ่งต่อไปก็ไม่ต้องพูดถึง นี่เป็นความรู้สึกของข้าพเจ้า แต่ผู้อื่นจะเห็นอย่างใดนั้น แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน หากจะกระทบกระเทือนผู้ใดโดยข้าพเจ้าไม่เจตนา ก็ต้องขออภัยด้วย
ขอย้ำความรู้สึกอีกครั้งว่า ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ท่านมีความบริสุทธิ์ในศีล สมาธิ กำจัดความโลภ โกรธ หลง ห่างไกลจาก รูป รส กลิ่น เสียง สละทรัพย์สิน สมบัติทางโลกตลอด ตัดขาดจากตัณหาราคะกิเลส ทำลายความลุ่มหลงงมงมยออกไปได้ เป็นเหตุจูงใจให้พวกเราและศาสนิกชนทั้งหลาย พากันนิยมยกย่องบูชา นับถือด้วย กาย วาจา ใจ เกิด ศรัทธาขึ้นมาเอง แม้ท่านจะไม่ได้ออกจากวัดไปเที่ยวเผยแพร่เทศนา สั่งสอนอบรมศีลธรรมประชาชนชาวพุทธทั้งหลาย เช่น สงฆ์ที่ท่านออกเผยแพร่พระศาสนาทั่วไปอย่างปัจจุบันนี้ แต่การปฏิบัติของท่านเป็นตัวอย่างที่ประเสริฐยิ่ง ในโลกยุคนี้หายาก ควรแก่การที่บรรพชิตผู้บวช แต่กายจิตใจยังอยู่ทางโลก และฆราวาส อาบาสก อุบาสิกา ที่สนใจในหลักปฏิบัติควรที่จะนำมาพิจารณาศึกษา
ข้าพเจ้ายังรู้สึกเสียดายที่ยังไม่เคยไปพบเห็นและนมัสการท่านมาก่อน ฉะนั้นจึงได้ระลึกถึงคุณความดีของท่านอยู่แต่ภายในความรู้สึก ข้าพเจ้าไม่กล้าพอที่จะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านได้ เพระรู้ดีว่าท่านมีทุกสิ่งซึ่งได้บรรลุธรรมอย่างเพียบพร้อม เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ตนเองก็คือยาจก ไม่สามารถจะมีสิ่งใดอุทิศ เมื่อท่านอยู่เหนือทุกข์ทั้งปวงทางโลก ข้าพเจ้าก็ได้แต่ขอน้อมกาย วาจา ใจ ขอนนมัสการท่านผู้บริสุทธิ์สะอาด ผู้ซึ่งหลุดพ้นจากความโลภ รัก โกรธ หลง ห่างไกลจากกิเลสตัณหา ไปสู่ความสุขสงบอันสูงยิ่ง ความรู้สึกของข้าพเจ้าเคยคิดไว้ก่อนว่า ทุกยุคทุกสมัยย่อมจะมีผู้บรรลุพระอรหันต์ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาถึงหลักปฏิบัติของธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าท่านอาจได้ถึงซึ่งความสุขสงบสุดยอดในทางพระศาสนาแล้ว นี่เป็นความรู้สึกของข้าพเจ้าผู้อ่อนทั้งความรู้ทางพระศาสนาและทั้งปัญญา อาจผิดถูกประการใดที่ในความเห็นไม่ตรงกับผู้อื่น ข้าพเจ้าก็ขออภัยด้วย
เมื่อข่าวการสูญเสียท่านผู้ปฏิบัติหลักธรรมด้วยความบริสุทธิ์สะอาดได้แพร่ออกไป ทำให้พุทธศาสนิกชนพากันเศร้าสลดใจ และต่อมาข้าพเจ้าก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณนายน้อม พูดเรื่องของท่าน “ธมฺมวิตกฺโก” ท่านผู้ปฏิบัติหลักธรรมบริสุทธิ์สะอาด กำจัดพ้นจากความโลภ โกรธ ความหลง และหลุดพ้นจาก รูป รส กลิ่น เสียง ในสิ่งที่ก่อให้เกิดตัณหา สละทั้งทรัพย์สิน สมบัติ ถวายวัดเพื่อบำรุงพระศาสนาต่อไป
ที่สุดคุณนายน้อม ก็ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนประวัติของท่าน ข้าพเจ้าจึงเรียนคุณนายน้อมให้ทราบว่า ข้าพเจ้าคงไม่สามารถที่จะเขียนประวัติของท่านได้ เพราะท่านได้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง เกินความรู้ความสามารถของข้าพเจ้าที่จะเข้าถึง อาจจะทำให้ประวัติอันดีงามมัวหมองเป็นมลทินในการเขียนของข้าพเจ้า คุณนายน้อมรับว่า จะนำรายละเอียดมาให้ ข้าพเจ้าก็หนักใจ เพราะรู้ความสามารถของตนเองยังไม่ถึงขนาดที่จะอาจเอื้อมไปเขียนประวัติท่านผู้ปฏิบัติธรรมขาวสะอาด ไม่มีราคี ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้ทรงความรู้สูง ยกย่องท่านว่าเป็นเหมือนพระอรหันต์องค์หนึ่ง ฉะนั้นข้าพเจ้าก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ รู้ว่าคุณนายน้อมท่านเป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในท่านภิกษุพระยานรรัตนฯ และทั้งคุณนายน้อมยังเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสในหลักธรรม และสร้างบุญบริจาคทานมีชื่อผู้หนึ่ง
เมื่อข้าพเจ้าพูดโทรศัพท์กับคุณนายน้อมแล้ว ก็ต้องใช้ความคิดว่าควรจะทำอย่างใดในความหวังดีและให้เกียรติอันสูงแก่ข้าพเจ้า แต่แล้วต่อมา จำได้ว่าเป็นปลายเดือนมกราคมปีนั้น ข้าพเจ้าก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ จากธนาคารกรุงเทพ บอกกับข้าพเจ้าว่า “ธนาคารกรุงเทพได้จองสวดศพเจ้าคุณนรรัตนฯ วัดเทพศิรินทราวาส ในนามของธนาคารกรุงเทพ กับคณะ ท. เลียงพิบูลย์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ผมไม่ได้บอกคุณ ท. ให้ทราบล่วงหน้า เพราะกลัวจะจองไม่ทัน” ข้าพเจ้าได้ฟังก็ตื่นเต้น เพราะมีความศรัทธาเคารพท่านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และบอกไปกับคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ ทางโทรศัพท์ว่า “ผมขอขอบคุณที่ได้กรุณาให้เกียรติอันสูงที่ได้พ่วงไปด้วย ผมยินดีมาก เพราะผมและเพื่อนๆ ทุกคนก็เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ อยู่แล้ว คืนไหนที่จองเป็นเจ้าภาพ ผมจะได้จดไว้”
เสียงคุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ ตอบมาทางโทรศัพท์ว่า วันที่ ๑๓ มีนาคม” ข้าพเจ้ามาคิดดูยังมีเวลาอีกเกือบสองเดือน จึงถามไปว่า “ทำไมช้านัก กว่าจะถึงเวลาอีกนาน” เสียงคุณณรงค์ฯ ตอบมาว่า “ระยะใกล้ๆ จองไม่ได้ เพราะมีผู้จองไว้หมดแล้ว ถ้าไม่รีบจองก็ต้องช้าไปกว่านี้อีกมาก ต้องรอคิว”
หลังจากวันคืนได้ผ่านไป เมื่อถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๔ ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ ก็ไปร่วมเป็นเจ้าภาพกับธนาคารกรุงเทพ เมื่อข้าพเจ้าไปถึง ก็เห็นมีท่านที่มาก่อนหน้าข้าพเจ้ามากท่าน คุณณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ ได้แนะนำให้รู้จัก คุณชิน โสภณพาณิช และมากท่านที่ยังไม่รู้จักและจำไม่ได้หมด ข้าพเจ้าขึ้นบนศาลาเห็นโกศตั้ง แต่หลังโกศมีโลงบรรจุศพของท่านพระภิกษุเจ้าคุณนรรัตนฯ แทนที่จะอยู่ในโกศ เห็นจะเป็นเพราะท่านสร้างโลงไว้ก่อนแล้วและสั่งไว้ ข้าพเจ้าได้ตรงเข้าไปจุดธูป แล้วก็กราบลงน้อมจิต นมัสการด้วยกาย วาจา ใจ ระลึกถึงท่านผู้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง ห่างไกลจาก รูป รส กลิ่น เสียง ซึ่งก่อกวนให้เกิดกิเลสทั้งหลาย ได้สิ้นสุดลงแล้ว เป็นตัวอย่างผู้ปฏิบัติแสวงหาแสงสว่างแห่งดวงธรรม เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ซึ่งมนุษย์อีกมากมายในโลกยังอยู่ในห้วงแห่งความหลง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนผู้ที่จะได้ตัวอย่างปฏิบัติต่อไป
คืนนั้นข้าพเจ้าได้ทราบว่า มีหลายท่านร่วมงานสวด และบางท่านก็อุตส่าห์มาจากต่างจังหวัด มีหลายท่านซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักในคืนนั้น
ข้าพเจ้าได้รับเกียรติสนทนากับท่านเจ้าคุณใหญ่ พระธรรมธัชมุนี ท่านเจ้าอาวาส และท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ท่านได้มอบพระเครื่องแก่ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นความกรุณาอย่างสูง และคุณลิ้นจี่ ได้กรุณามอบของหลายสิ่ง พร้อมทั้งพระเครื่อง ข้าพเจ้าต้องกราบขอบพระคุณ และมีมากท่านที่สนใจในกฎแห่งกรรม ท่านเหล่านี้ข้าพเจ้าเพิ่งรู้จักในคืนนั้น ความจริงข้าพเจ้ารู้จักชื่อเสียงของท่านมานาน แต่ยังไม่เคยพบตัวท่าน คืนนั้นหลังจากพระสวดเสร็จแล้ว เพื่อนได้พาข้าพเจ้าไปแนะนำให้รู้จัก ท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน (มหาอำพัน บุญ-หลง) ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือมาก่อนที่จะพบ และท่านผู้หนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เคารพนับถือ อาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน (มหาอำพัน บุญ-หลง) ซึ่งพวกเราจำนวนไม่น้อยได้เป็นศิษย์ของท่านมาก่อน แต่ข้าพเจ้าก็พึ่งจะรู้จักตัวท่านในคืนนั้น และได้พบทั้งคุณตริ จินตยานนท์ ซึ่งเป็นน้องท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ ซึ่งอยู่ในที่นั้นกับท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกราบนมัสการท่านอาจารย์ในคืนนั้น ความจริงท่านอาจารย์มหาอำพัน บุญ-หลง ซึ่งชื่อนี้ข้าพเจ้าได้เรียกจนติดปาก ข้าพเจ้ารู้จักท่านแต่ชื่อ และมีความเคารพนับถือตั้งแต่ยังไม่เคยพบตัวท่านมาก่อน เคยมีแต่จดหมายและเคยพูดโทรศัพท์บางครั้งเท่านั้น ทั้งได้ทราบว่าท่านเกิดในตำบลเดียวกับข้าพเจ้า เมื่อได้ทราบ ได้พบท่านอาจารย์ก็เกิดความปีติยินดีขึ้นทางใจ คืนนั้นข้าพเจ้าได้สนทนากับท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน คุณตริฯ และเพื่อนอีกหลายท่าน หลังจากเสร็จงานสวดแล้ว เราก็ยังอยู่สนทนากันอีกนาน
มีอีกหลายท่าน ทั้งอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน และคุณตริ จินตยานนท์ ได้ปรารภอยากให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องของพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ และคุณตริ จินตยานนท์ ซึ่งเป็นน้องชายผู้ใกล้ชิดกับท่านเจ้าคุณผู้พี่ ยินดีร่วมให้ข้อความอย่างละเอียดพอที่จะหยิบยกขึ้นมาเขียน
ข้าพเจ้ากล่าวขอบคุณทุกท่านที่ได้สนับสนุนให้ข้าพเจ้ารับเขียนเรื่องนี้ นับว่าเป็นเกียรติอันสูงยิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับ ที่ได้มีโอกาสเขียนในความเป็นอยู่ของพระภิกษุที่ชาวบ้านชาวเมืองตลอดจนเจ้านายและพระสงฆ์ชั้นสูง ทั้งชาวต่างประเทศเคารพนับถือยกย่องว่าท่านได้ปฏิบัติดี พร้อมทั้งสูงด้วยความกตัญญูกตเวที ท่านเป็นผู้มักน้อย หลุดพ้นจากความโลภ รัก โกรธ หลง ตัดสิ้นสุดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สละทรัพย์สินสมบัติจนสิ้น ไม่มีสิ่งใดห่วงกังวลต่อไป สละทุกสิ่งไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสมบัติของตน
ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าที่จะรับปากแน่นอนว่า ข้าพเจ้าจะสามารถเขียน เรียบเรียง เรื่องเหล่านี้ได้เพียงไหน เพราะรู้สึกหนักใจ หากข้าพเจ้าเรียบเรียงเขียนขึ้นได้เพียงครึ่งหนึ่งที่ความดีของท่านได้ทำไว้ ข้าพเจ้าก็พอใจแล้ว ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงรับว่าจะพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน เหตุการณ์เหล่านี้ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าก็มีภาระที่จะต้องทำอีกมาก
จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ คุณประยงค์ ดาวมณี โทรศัพท์มาถามว่า ว่างหรือยัง ท่านอาจารย์อยากจะพบ บังเอิญเวลานั้น ข้าพเจ้าต้องรีบเขียนเรื่องสำหรับ ส.ค.ส. ปีใหม่ ๒๕๑๕ จะต้องเร่งส่งต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์ เร่งให้ทางโรงพิมพ์เข้าเล่มให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเดือนธันวาคม ก่อนถึงวันปีใหม่อย่างน้อยหนึ่งเดือน จึงตอบไปว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ตรวจแก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะรีบไปนมัสการท่านอาจารย์
เมื่อข้าพเจ้าได้นัดไปพบท่านอาจารย์ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เวลา ๑๔.๐๐ น. วันนั้น ท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภน (มหาอำพัน บุญ-หลง) และคุณตริ จินตยานนท์ และคุณประยงค์ ดาวมณี ได้คอยอยู่ก่อนแล้ว
เรามีเวลาสนทนากันเพียงได้ทราบงานที่จะจัดพระราชทานเพลิง พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต กำลังใกล้เข้ามาแล้ว จะเริ่มตกลงวันงานในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ นี้ คุณ ตริ จินตยานนท์ ได้กรุณาให้ความรู้รายละเอียดข้าพเจ้ามากมาย ที่จะเป็นประโยชน์ในการเขียนครั้งนี้ แต่วันนั้นเวลาบ่าย ข้าพเจ้ามีเวลาไม่มากนัก เราก็นัดต่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เวลาบ่าย ครั้งนี้ได้รายละเอียดพอที่จะนำมาเล่าเขียนเป็นคำให้สัมภาษณ์ของคุณตริ จินตยานนท์ และข้าพเจ้าจะนำเอาคำของเพื่อนๆ และท่านที่เคารพนับถือ ที่เคยสนทนากับท่านพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ ที่เกิดประโยชน์ในข้อคิดรวบรวมลงไปด้วย
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อถึงวันเวลา ข้าพเจ้าก็ได้มาพบกับ คุณตริ จินตยานนท์ ที่กุฏิท่านอาจารย์ เราก็เริ่มสนทนาถึงเรื่องการงานเพื่อไม่ให้เวลาเสียไป คุณตริ จินตยานนท์ ได้เล่าถึงความจำในเรื่องอดีตของพระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต ครั้งเมื่อท่านเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกจนใกล้ชิดพระยุคลบาท ล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว จนเป็นที่โปรดปราน ไว้วางพระราชหฤทัย เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ถ้าจะนับย้อนหลังจาก พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็ประมาณ ๕๗ ปีผ่านมา นับว่าเป็นประวัติในอดีตที่น่ารู้น่าศึกษา
เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะรู้ว่า อันดวงชะตาชีวิตของมนุษย์เรานี้ แต่ละบุคคลย่อมจะมีสิ่งที่ผิดแปลกแตกต่างแล้วแต่กรรมดีกรรมชั่วในอดีตหนุนนำ บางครั้งดวงชะตาชีวิตก็เล่นตลกขบขันกลับพาชีวิตให้ไปสู่ความรุ่งโรจน์อย่างนึกไม่ถึง ซึ่งเวลานั้นพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตยังเป็นนายตรึก จินตยานนท์ อยู่ในวัยหนุ่ม ได้รับตำแหน่งหน้าที่เชิญเครื่องเสวยครั้งแรกรับใช้เมื่อในหลวงร่วมโต๊ะเสวยพร้อมกับข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่าน นายตรึกฯ มีหน้าที่เปิดน้ำโซดา รินในแก้วถวายในหลวง และรินให้ข้าราชการผู้ใหญ่ทั่วกันในที่นั้น
จะเป็นเพราะความไม่ชำนาญ หรือประหม่าเมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จึงเปิดน้ำโซดาที่บรรจุขวด สมัยนั้นขวดโซดาหรือน้ำมะเน็ดใช้แบบเดียวกัน ใช้ขวดทำพิเศษ คอขวดคอดข้างหนึ่งและโป่งออกมาข้างหนึ่ง สีขวดแก้วไม่ขาวเป็นสีค่อนข้างเขียวอ่อนๆ แต่ความหนาเป็นพิเศษ มีลูกแก้งกลมๆ แทนจุกขวดอัดขึ้นมาดันแหวนยางตอนปากขวดไว้แน่น เวลาเปิดปิดใช้ไม้สำหรับเปิด กดดันลูกแก้วให้ลงไป หรือมือแข็งก็ใช้หัวแม่มือกดดันลูกแก้วให้ลงไป ก็จะเกิดเสียงดังฟู่ ด้วยแรงดันของลมอัดไว้ภายในพุ่งขึ้น จะเป็นฟอง เมื่อเวลาเทน้ำในขวดไหลลงแก้ว แต่ก็ต้องตะแคงขวดให้ลูกแก้วลงไปค้างอยู่ในช่องทำไว้โดยเฉพาะ มิฉะนั้น เวลารินน้ำในขวด ลูกแก้วก็จะตกลงมาปิดปากขวดเทน้ำไม่ออก
นายตรึก จินตยานนท์ ในเวลานั้น จะขาดความชำนาญ หรือความประหม่า เมื่อเปิดออกแล้วยกขวดโซดารินลงแก้วแล้วตะแคงผิดทาง ลูกแก้วก็กลับตกลงมาอุดปากขวด แล้วยกขึ้นตั้งตรงลูกแก้วก็ตกลงแล้วเทใหม่ แต่ก็เข้าแบบเก่า นายตรึกฯ ตกใจกลัวมากทำอะไรไม่ถูก คนเรายิ่งกลัวก็ลนลานก็ยิ่งผิด ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็เอานิ้วชี้อีกมือหนึ่งแหย่เข้าไปในปากขวด ดันลูกแก้วไว้ไม่ให้ปิด แล้วก็รินน้ำโซดาออกมา แต่ลงแก้วไม่มาก ไหลกระจายไปข้างๆแก้ว ทำให้บริเวณนั้นเปียกแฉะ โซดาหกเลอะผ้าปูโต๊ะ นายตรึก จินตยานนท์ มีความหวาดกลัวในหลวงจะทรงกริ้วยิ่งนัก นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเคารพนับถือยึดมั่นเวลานั้นในพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ หลวงพ่อพระแก้วมรกต วัดพระแก้ว หลวงพ่อพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศน์ และหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร เมื่อคับขันไม่มีทางออก ก็นึกถึงพระเป็นที่พึ่ง จึงได้นึกอธิษฐานจิตอยู่ในใจ ขอความช่วยคุ้มครองจากหลวงพ่อทั้งสามองค์ จะเป็นด้วยบารมีของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ หรือบารมีของกรรมดีที่เคยสร้างสมไว้แต่อดีต จะเป็นวาสนามีความรุ่งเรืองใกล้ชิดพระยุคลบาท จึงทำให้ในหลวงทรงเอ็นดู
ตามปกติธรรมดาแล้ว ในหลวงท่านจะต้องทรงกริ้วมาก แต่เมื่อเห็นกิริยาท่าทางของนายตรึก จินตยานนท์ ตื่นกลัว พระองค์กลับทรงพระสรวลเห็นเป็นเรื่องขบขัน ทรงหันไปรับสั่งกับเจ้าพระยารามฯ ว่า “เจ้าเด็กคนนี้มาจากไหน” เจ้าพระยารามฯ กราบบังคมทูลว่า “เป็นนักเรียนเสือป่าที่ทรงโปรดเกล้าให้คัดเลือกมาเมื่อคราวซ้อมรบ พระเจ้าข้า” ต่อจากนั้นมา ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้นายตรึก ฯ เข้าไปประจำห้องที่พระบรรทม นี่ก็จะเห็นได้ว่าชะตาชีวิตนี้เป็นสิ่งลี้ลับ การทำสิ่งใดลงไปจะเป็นการบกพร่องเพราะไม่สันทัด มิได้มีเจตนาให้บกพร่อง พยายามทำดีที่สุด บางครั้งก็ทำให้ผู้ใหญ่เห็นความซื่อและให้ความเอ็นดู บางครั้งก็ถูกตำหนิโทษ ไม่มีสิ่งใดแน่นอน ชะตาชีวิตได้ผลักดันให้นายตรึก จินตยานนท์ เข้าไปรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาท จนเป็นที่โปรดปรานเจริญในหน้าที่ราชการ จนเป็นเจ้ากรมห้องที่บรรทม ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เป็นตำแหน่งสำคัญและสูงในราชสำนัก จนได้บรรดาศักดิ์ตามลำดับมาถึงเป็นพระยานรรัตนราชมานิต เป็นชั้นพระยาพานทองเมื่ออายุยังน้อย ตลอดเวลาราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทไม่เคยถูกในหลวงกริ้วเลย พระยานรรัตนราชมานิตสูงด้วยความกตัญญู มีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอุปัชฌาย์อาจารย์ บิดามารดและคุณยายผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ทะนุถนอมรักใคร่มาแต่เล็กจนเติบใหญ่ เพราะคุณแม่ติดตามคุณพ่อซึ่งไปรับราชการอยู่ตามหัวเมือง ดังที่คุณตริ จินตยานนท์ ได้บันทึกความทรงจำ นับแต่เริ่มแรก เท่าที่รู้จนบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และศึกษาธรรมจนมองเห็นทุกข์เวทนาของสัตว์โลกที่ยังหลงงมงายติดอยู่ในวัฏฏไม่สิ้นสุด ท่านได้ศึกษาปฏิบัติจนบรรลุธรรมชั้นสูงเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวพุทธทั่วไป ดังข่าวของผู้รู้ธรรมทั้งหลายลือกันว่า ท่านสำเร็จเป็นองค์อรหันต์ตลอดเวลาการปฏิบัติ ท่านรู้ถึงเวลามรณภาพ นี่เป็นความรู้สึกของผู้เขียนและจากคำบอกเล่าของคุณตริ จินตยานนท์ แต่ข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นบันทึกความทรงจำของคุณตริ จินตยานนท์ โดยตรง ดังต่อไปนี้
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
จาก
บันทึกประวัติจากความทรงจำ โดย ตริ จินตยานนท์
ตามปกติเจ้าคุณพี่เป็นคนมีรูปร่างผอมบาง ไม่แข็งแรง แต่เมื่อเข้าไปประจำทำงานในห้องที่พระบรรทม มีหน้าที่ถวายอยู่งานนวดเวลาในหลวงบรรทมเป็นประจำจนกว่าจะบรรทมหลับ ซึ่งกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ บางวันถ้ามีอาการทรงประชวรเล็กน้อย ก็ต้องนวดอยู่ตลอดเวลา วางมือไม่ได้ ถ้าวางมือก็จะตื่นบรรทม การมีร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง ทำให้เจ้าคุณพี่ต้องปรับปรุงตนเอง เพื่อจะได้ สนองพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ให้ได้เต็มที่ โดยการฝึกออกกำลังกายใช้เครื่องช่วยประกอบ เช่น ซันดาวน์ ดัมเบล กริ๊บ อินเดียนคลับ บาร์ จนมีร่างกายแข็งแรงผิดกว่าเดิมเป็นคนละคน ยิ่งกว่านั้น โดยที่ล้นเกล้า ฯ ทรงมีพระวรกายอ้วน เส้นสายอยู่ลึก จะต้องจับนวดแรงๆ จึงจะถูกเส้น การบีบขยำสุ่มไป ก็ไม่ถูกเส้นสายย่อมไม่ได้ผล เจ้าคุณพี่จึงพยายามที่จะศึกษาในเรื่องสรีระวิทยาเกี่ยวกับเส้นเอ็นในร่างกายของคน จึงไปหาเจ้าคุณดำรง แพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในสมัยนั้น เพื่อขอศึกษาโดยดูการผ่าศพ พยายามไปพิจารณาศึกษา จนพอจะเรียนรู้เส้นเอ็นต่างๆ ในร่างกายมนุษย์บ้าง จนสามารถนำความรู้มาเป็นประโยชน์ ได้ถวายการนวดเฟ้นล้นเกล้า ฯ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย และโปรดปรานได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษ ความจงรักภักดีของเจ้าคุณพี่ที่ถวายต่อล้นเกล้า ฯ นั้น เป็นผลสนองทำให้ล้นเกล้า ฯ ทรงมีพระเมตตาห่วงใยเป็นพิเศษ มักจะรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า “สำหรับพระยานรรัตน ฯ ฉันขอใครอย่าไปรบกวนแกเป็นอันขาด เพราะแกตั้งใจปฏิบัติรับใช้ฉันแต่ผู้เดียว”
ระหว่างรับราชการอยู่นี้ เจ้าคุณพี่ค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องการดูลายมือตามตำราต่างประเทศ อ่านตำราโยคี และใช้เวลาว่างราชการศึกษาวิชาสะกดจิต เพ่งกสิณ ซึ่งการเพ่งกสิณนี้เป็นเรื่องที่คุณพ่อศึกษาอยู่แล้ว เจ้าคุณพี่เห็นว่าจะทำความสงบให้กับจิตใจได้ก็ศึกษาบ้าง ปรากฏว่าห้องพักของเจ้าคุณพี่บางคราวที่มีคนรบกวนติดต่อบ่อยๆ จึงติดป้ายเขียนไว้หน้าห้องว่า “เจ้าของห้องต้องการความสงบ ไม่มีราชการห้ามติดต่อ” การศึกษาในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ล้นเกล้า ฯ ทรงทราบ รับสั่งเตือนด้วยความเป็นห่วงว่า พระยานรรัตน ฯ อย่าหมกมุ่นอยู่กับวิชาเหล่านี้นักเลย จะเป็นบ้า หาเวลาพักผ่อน ควรหาความสุขสำราญเสียบ้าง แต่เจ้าคุณพี่ก็ยังคงใช้เวลาว่างจากราชการ พอมีเวลาก็ศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่เรื่อย ๆ ตามนิสัยชอบ จ้าคุณพี่มีความรู้ความชำนาญภาษาต่างประเทศมาก
เรื่องการขอพระราชทานที่ดินและบ้าน เจ้าคุณพี่ก็มิได้กระตือรือร้นที่จะขอพระราชทานแต่อย่างใด จนกระทั่งในหลวงรับสั่งว่า “เขาขอที่ดินกันทั้งนั้น ทำไมแกไม่ขอไว้สำหรับลูกหลานจะได้อยู่ต่อไป” เจ้าคุณพี่ก็ปล่อยเรื่อยมา จนในตอนสุดท้ายก็นึกถึงที่ดินของหลวงหลังวัดโสมนัสวิหารซึ่งเป็นที่ดินเดิมเคยอยู่มาก่อนย้ายมาอยู่วัด จึงถวายหนังสือกราบบังคมทูลบอที่โต๊ะเสวย ซึ่งมีเจ้าคุณราม ฯ นั่งรวมอยู่ด้วย ในหลวงทรงรับหนังสือแล้วส่งให้เจ้าคุณราม ฯ พิจารณาถวายความเห็นเช่นรายอื่นๆ ตามปกติ เจ้าคุณราม ฯ กราบบังคมทูลว่า ที่ดินแปลงที่ขอนี้เป็นมรดกของพระองค์เจ้าดิลก ฯ พระราชทานให้ผู้ใดมิได้ เป็นอันว่าเจ้าคุณพี่ไม่สนใจจะขอพระราชทานอีก เรื่องเลยมาอีกระยะหนึ่ง ต่อมาในหลวงทรงพระกรุณาพระราชทานที่ดินอยู่ที่สี่แยกราชเทวี เชิงสะพานหัวช้างเนื้อที่ ๕ ไร่ พร้อมกับพระราชทานเงินปลูกบ้านหนึ่งหมื่นสองพันบาท โดยไม่ได้กราบทูลขอแต่อย่างใด
ก่อนที่คุณพ่อจะรับแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระนรราชภักดีนั้น แต่เดิมคุณพ่อรับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีบรรดาศักดิ์ชั้นประทวนโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงแต่งตั้งเป็นขุนชาญสุพรรณเขตร ภายหลังย้ายสังกัดไปอยู่กรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิพัฒน์ศุภผล ในการซ้อมรบสนามจันทร์ นครปฐม ล้นเกล้า ฯ รับสั่งกับเจ้าคุณพี่ว่า จะเลื่อนยศจากบรรดาศักดิ์เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมมหาดเล็กห้องที่พระบรรทม จะทรงแต่งตั้งให้เป็นพระยา ฯ แต่เจ้าคุณพี่กราบบังคมทูลว่า สูงเกินกว่าผู้บังเกิดเกล้ามาก เพราะผู้บังเกิดเกล้ายศเพียงขุน ล้นเกล้า ฯ รับสั่งว่า ลูกเป็นพระยา พ่อเป็นขุนเท่านั้นหรือ ทรงรับสั่งให้คุณพ่อเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งกับเจ้าคุณพี่ว่า ข้าจะแต่งตั้งพ่อเจ้าเป็นพระยานรราชภักดี ลูกเป็นพระยานรรัตนราชมานิต กลับไปคราวนี้ให้ไปรับสัญญาบัตรที่ในวังเป็นพิเศษ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า (คุณพ่อเล่าว่า เมื่อเข้าเฝ้าที่สนามจันทร์ คุณพ่อไว้หนวดเพราะเป็นข้าราชการมาแต่แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งนิยมไว้หนวด ในหลวงรับสั่งว่า อ้อ ไว้หนวดด้วยหรือ แต่พอเข้าเฝ้ารับสัญญาบัตร คุณพ่อโกนหนวดออก พอเงยหน้าถวายบังคม ในหลวงรับสั่งว่า อ้าว ตัดหนวดทิ้งเสียแล้วหรือ)
เมื่อคุณพ่อออกจากราชการแล้ว ข้าพเจ้าพบแบบ ส. ขอรับบำนาญอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือ จึงถามคุณพ่อว่า ทำไมแบบ ส. เขียนแล้วไม่ได้ยื่น คุณพ่อบอกว่า เจ้าคุณพี่ของเจ้าเขาไม่ให้ยื่น โดยให้เหตุผลว่า ในหลวงอุปการะเลี้ยงดูเจ้าคุณพี่ของเจ้าแล้ว พี่เจ้าจะจ่ายค่าเลี้ยงดูให้พ่อเอง ไม่จำต้องรบกวน ขอให้สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง เรื่องนี้ก็เป็นการแสดงความจงรักภักดีในล้นเกล้า ฯ ของเจ้าคุณพี่อีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อเจ้าคุณพี่ได้อุปสมบทที่วัดเทพศิรินทร์แล้ว ต่อมาภายหลังคุณพ่อก็อุปสมบทที่วัดโสมนัส ฯ เจ้าคุณพี่ขอร้องไม่ให้คุณพ่อไปเยี่ยมที่วัดเทพศิรินทร์ เพราะตามวิสัยสงฆ์นั้น จะแก่อ่อนอายุทางโลกนั้นไม่สำคัญ ให้ถือวันบวชก่อนหลัง แก่และอ่อนพรรษา ผู้อ่อนพรรษาจะต้องเคารพผู้แก่พรรษากว่า เจ้าคุณพี่แก่พรรษากว่า จึงอยากเทิดทูนคุณพ่อ ป้องกันความไม่สบายทางจิตใจ วินัยสงฆ์กับวินัยทหารทางโลกก็คลายกัน เคยเห็นพ่อเป็นเพียงจ่า แต่ลูกเป็นชั้นนายพัน เมื่ออยู่ในเครื่องแบบในงานต่างๆ พ่อก็ต้องทำความเคารพลูกตามวินัยทหารเช่นกัน
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วว่า ตั้งแต่เริ่มรับราชการจนกระทั่งล้นเกล้า ฯ สวรรคต ไม่เคยถูกกริ้วเลย ทั้งที่ล้นเกล้า ฯ กริ้วผู้อื่นบ่อยที่สุด เคยเล่าว่า ตามปกติเวลารับสั่งหา หรือเข้าเฝ้า เวลากริ้วอยู่ก่อน เจ้าคุณพี่มักอธิษฐานบนบานศาลกล่าว ส่วนมากก็อ้อนวอนขอความคุ้มครองจาก พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศน์ พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร และพระแก้วมรกต พร้อมทั้งเพ่งกระแสจิตขอให้มีพระเมตตา ไม่กริ้วแล้วกราบลง พอเงยหน้าขึ้นสบพระเนตรก็มักจะหายกริ้ว นี่ก็เป็นกรณีหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นเรื่องบุญเก่าคู่บารมีที่คงเคยสร้างสมไว้แต่ปางก่อน จึงทำให้ถูกพระราชหฤทัยไปทุกอย่าง มีเรื่องชวนขบขันเรื่องหนึ่ง คราวหนึ่งเสด็จไปในราชพิธีซึ่งจะต้องทรงเครื่องจอมทัพเรือ ในการนี้เจ้าคุณพี่ก็ได้จัดเครื่องทรงติดเหรียญตรากับหุ่นและถวายการตบแต่งจนเสร็จ คงเหลือแต่การเกาะขอกระบี่กับเข็มขัดอย่างเดียว ซึ่งกระบี่ทหารเรือนี้ ก็มีอยู่องค์เดียว ซึ่งเคยทรงอยู่เป็นประจำ เจ้าคุณพี่เห็นว่าส่วนสำคัญอื่นๆ ก็ได้จัดถวายเรียบร้อยแล้ว จึงถอยออกจากที่นั่น ไปมอบภาระการติดกระบี่ไว้แก่มหาดเล็กรองลงมา พอจะพ้นจากห้อง ก็ได้ยินเสียงทรงกริ้วตวาดมหาดเล็กว่า “ทำไมสั้นเต่อขึ้นมาอย่างนี้” เจ้าคุณพี่หันกลับเข้าไปด้วยความตกใจ ก้มลงกราบเพ่งจิตวิงวอนเช่นเคยปฏิบัติ แล้วก็เอามือจับสายกระบี่ดึงขึ้นดึงลงพอเป็นพิธี ซึ่งไม่ทำให้สายกระบี่ยาวลงมาเลย ล้นเกล้า ฯ ก้มดูและรับสั่งว่า เออ เอาละค่อยยาวลงไปหน่อย ใช้ได้แล้ว เรื่องเช่นนี้ภาษาชาวบ้านก็คงจะว่าเพราะชะตาตรงกันหรืออย่างไรแน่
ข้าราชการในราชสำนัก ซึ่งอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทส่วนมาก ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระราชพินัยกรรม เจ้าคุณพี่ก็ได้รับเช่นเดียวกัน ในพระราชพินัยกรรม พระราชทานไว้เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท บำนาญต่างหาก แต่เมื่อสวรรคตแล้ว อภิรัฐมนตรีรัชกาลที่ ๗ พิจารณาตัดทอนให้เหลือรวมทั้งบำนาญด้วยเดือนละ ๗๐๐ บาท เท่าเงินเดือนที่ได้รับอยู่ แต่ต่อมาเงินบำนาญซึ่งได้รับทางสำนักพระราชวัง ๘๔ บาท ๖๖ ๒/๓ สตางค์ ก็มีอานิสงค์เพิ่มขึ้นเป็น ๖๘๕ บาท ส่วนพระราชพินัยกรรมซึ่งได้รับทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ได้เพิ่ม คงเดิม
ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อตอนเด็กๆ เคยไปค้างในวังกับเจ้าคุณพี่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกตอนรับราชการใหม่ๆ ไปค้างที่พระที่นั่งอัมพรฯ ตอนเช้าในหลวงยังไม่ตื่นบรรทม ได้ลงไปเดินดูดุสิตธานี ส่วนรายละเอียดห้องพักของเจ้าคุณพี่ จำไม่ได้ว่าอยู่ใกล้ชิดกับในหลวงเพียงใด ส่วนในคราวที่ประทับอยู่วังพญาไท เคยไปกลางวัน ดูดุสิตธานี ซึ่งขนย้ายไปจากพระที่นั่งอัมพรฯ ครั้งสุดท้ายจำได้แน่นอนเพราะโตมากแล้ว จำได้ว่า โรงเรียนเปิดเทอมตรงกับงานเฉลิมพระชนม์พรรษา หยุดอยู่กับบ้านหลายวัน เจ้าคุณพี่เห็นว่ารบกวนคุณแม่มาก จึงพาไปค้างด้วย และให้อ่านภาษาอังกฤษให้ฟัง จำได้ว่าหนังสือแบบหัดอ่านภาษาอังกฤษ บีโอ คาร์ดไร๊ท เจ้าคุณพี่พาไปค้างในวังหลวง พระที่นั่งบรมพิมานซึ่งเป็นที่ประทับในหลวง ห้องเจ้าคุณพี่อยู่ติดห้องพระบรรทม ตรงเฉลียงมีประตูเปิดถึงห้องพระบรรทมและห้องทรงพระอักษร เจ้าคุณพี่กำชับเป็นหนักหนาว่าอย่าเปิดประตูนี้เป็นอันขาด เคราะห์หามยามร้ายเปิดไปพบในหลวงเข้าพูดจาไม่เป็นจะยุ่ง ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้ประตูนั้นเลย ปีนั้นเป็นปีที่พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลภาเทวี ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครราชเทวี งานเฉลิมพระชนม์พรรษาปีนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าราชการแต่งแฟนซี ส่วนมากแต่งแขกอินเดียแบบมหาราชา เพราะในหลวงและพระอัครราชเทวีทรงเครื่องมหาราชาและมหาราชินี การประกวดแฟนซีนี้ จัดทำกันที่โรงโขนหลังพระที่นั่งบรมพิมาน สลับฉากกับการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “สกุนตลา” แสดงโดยข้าราชการกรมมหรสพ จำได้ว่าหลวงยงเยี่ยมครูแสดงเป็นท่าวทุษยันต์ การแต่งกายแฟนซีคราวนี้ เจ้าคุณพี่แต่งงิ้ว เป็นตัวเต๊กเช็ง ขุนนาง ฝ่ายบุ๋นผู้ซื่อสัตย์ของพระเจ้ากรุงจีน ไปเช่าเครื่องและแต่งตัวที่ท่าน้ำราชวงศ์ การแต่งงิ้วนี้เรื่องมาก ใส่หมวกหน้ากระจังมังกร ๒ ตัวชูลูกแก้ว มีหางนกยูงยาวๆ ติดอยู่บนหมวกสองข้างโค้งลงมา ดูรุ่มร่ามไปหมด ระหว่างเข้าเครื่องขุนนางจีนรอการเข้าประกวดนั้น กระจังหน้าซึ่งสวมศีรษะคับ มีบางส่วนบีบขมับอยู่จนทนปวดไม่ไหว เจ้าคุณพี่ถึงกับเป็นลมเหงื่อแตก คุณน้าขุนบริรักษ์พิมาน (สาหร่าย กระแศร์เสวต) ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่กรมชาวที่ ต้องช่วยถอดกระจังออก ให้ดมยาดม ตากพัดลมอยู่พักใหญ่จึงทุเลา และสวมกระจังใหม่เมื่อใกล้เวลาจะเข้าเดินผ่านถวายตัว จำได้ว่า เวลาเข้าไปถึงหน้าที่ประทับ ตรงคุกเข่า ใช้สองมือจับไม้งาโบกโค้งไปข้างหน้า ๓ ครั้ง ถวายบังคมแบบขุนนางจีน แล้วกราบทูลเป็นภาษาจีนว่า “หวาจู๊บ้วนส่วย บ้วน บ้วน ส่วย” จะแปลเป็นไทยว่าอย่างไรไม่ทราบ เพราะเจ๊กเจ้าของเครื่องงิ้วสอนมาอย่างนั้นอดูเหมือนเจ้าคุณพี่ได้รับการตัดสินเป็นที่ ๒ ที่ ๓ ไม่แน่นัก เท่าที่เล่ามานี้ ก็เพียงเพื่อให้ทราบความใกล้ชิดซึ่งคนสามัญธรรมดาไม่มีพวกมีพ้องสนับสนุนอย่างเจ้าคุณพี่ ได้เข้ามาใกล้ชิดพระยุคลบาทล้นเกล้า ฯ ตลอดถึงการแต่งแฟนซี ซึ่งมีจุดประสงค์ แสดงถึงการเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนตงฉิน ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์
อีกเรื่องหนึ่งที่ทราบมาก็คือ เรื่องที่ตอนล้นเกล้า ฯ ทรงมีพระชายาและพระราชินี ระยะนี้ข้าราชการในสำนักงานส่วนมากก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่งงานกันเป็นส่วนมาก สำหรับเจ้าคุณพี่ยังคงเป็นโสด ไม่ขวนขวายในเรื่องการหาคู่ครองแต่อย่างใด ตนล้นเกล้า ฯ ทรงปรารภว่า ใครๆ เขาก็มีเมียกันทั้งนั้น พระยานรรัตน์ ฯ ไม่คิดบ้างหรือ เจ้าคุณพี่ก็กราบบังคมทูลว่า จะขอถวายการปฏิบัติล้นเกล้า ฯ แต่พระองค์เดียวโดยไม่ให้มีเรื่องกังวลใจในทางครอบครัว ไม่อยากห่างล้นเกล้า ฯ เท่าที่อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทก็มีความสุขมากเพียงพอแล้ว เรื่องนี้ถึงกับล้นเกล้ามีพระราชหัตถ์ชี้แจงเหตุผลในการที่เห็นสมควรให้เจ้าคุณพี่มีครอบครัว และเจ้าคุณพี่มีหนังสือกราบบังคมทูลเหตุผลที่ไม่สมควรจะมี เพราะเป็นการตัดทอนความสุขที่จะถวายแก่ล้นเกล้า ฯ การโต้ตอบโดยจดหมายนี้มีจำนวนหลายฉบับ ไม่ทราบว่าเจ้าคุณพี่เก็บไว้ที่ใด หรือทำลายแล้วข้าพเจ้าไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าตอนจบ ล้นเกล้า ฯ รับสั่งว่า ฉันตั้งใจให้แกมีความสุขอย่างฉันและคนอื่นบ้าง แต่เมื่อแกไม่เห็นด้วยก็ตามใจ เรื่องนี้ก็เป็นอันยุติลงที่เจ้าคุณพี่ไม่ยอมแต่งงาน
เมื่อตอนที่ล้นเกล้า ฯ ทรงประชวรหนัก เจ้าคุณพี่มีความห่วงใยในพระอาการทรงประชวรมาก ต้องถวายการพยาบาลประจำตลอดเวลา นอกจากเช้าพอมีเวลาก็รีบปลีกตัวออกมาเข้าห้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าอย่างรีบร้อน แล้วรีบกลับขึ้นไปถวายการพยาบาลล้นเกล้า ฯ ไม่จำเป็นไม่ยอมห่าง โดยมีกล้วยหอมหิ้วติดมือขึ้นไปวันละ ๑ หวี เพื่อกินแก้หิว โดยให้ทางบ้านจัดหาส่งไปให้เช่นนี้ทุกวัน เมื่อล้นเกล้า ฯ ประชวรใกล้สวรรคต เจ้าคุณพี่ทุกข์ร้อนหนัก ห่วงกังวลในพระอาการประชวรมาก แทบไม่เป็นอันกินอันนอน ในระยะนี้มีข้าราชบริพารไปชุมนุมกันอยู่มาก บางคนก็สูบบุหรี่ควันฟุ้งห้องพระแท่นบรรทม ทั้งๆ ที่แพทย์ต้องการให้ห้องมีอากาศบริสุทธิ์ เพราะล้นเกล้า ฯ ประชวรถึงต้องเจาะพระนาภี มีกลิ่นหนองไหลออกมา ต้องใช้น้ำหอมดับกลิ่น ต้องใช้สำลีชุบน้ำหอมโอเดอโคโลนค่อยๆ เช็ดบริเวณรอบ ๆ แผลที่เจาะพระนาภี เมื่อในห้องเหม็นควันบุหรี่ทำให้อากาศในห้องไม่บริสุทธิ์ บางคนก็ลงไปหาความสนุกเฮฮา เล่นไพ่กันแถวโรงโขนข้างพระที่นั่ง แทนที่จะมาคอยเฝ้าดูพระอาการแสดงความวิตกห่วงใย ทำให้เจ้าคุณพี่อารมณ์เสีย คิดว่าล้นเกล้า ฯ ทรงประชวรหนัก ไม่ได้ถวายความจงรักภักดีแล้ว ยังมาแสดงความสนุกสนานทำเสียงดังได้ยินขึ้นมาถึงห้องทรงประชวร ทั้งบางคนก็ยังเข้ามาสูบบุหรี่ในห้อง เจ้าคุณพี่โกรธมากทนไม่ไหว ถึงกับเที่ยวไล่ด่า เตะต่อยข้าราชบริพารบางคนกระจัดกระจายไป ในเย็นวันเกิดเหตุนี้ คุณท้าวอินทร์ได้รีบมาหาคุณแม่ที่บ้าน และขอให้รีบเข้าไปในวังด่วน เพื่อปลอบใจเจ้าคุณพี่ที่กำลังเสียใจจนเป็นบ้าแล้ว คุณแม่ก็ตกใจรีบไปด่วน พอไปถึงในวัง เจ้าคุณพี่เห็นคุณแม่ไปหา ก็เข้ามากราบเท้าและบอกว่า ลูกไม่ได้เป็นบ้าเป็นหลังอย่างที่เล่าลือกัน เท่าที่ทำไปเพราะทนการกระทำของคนบางคนไม่ได้ ที่ชั่วก็มีที่ดีก็มาก เวลาในหลวงดีๆ ก็ประจบสอพลอหาประโยชน์ส่วนตัวกัน เวลาประชวรหนัก แทนที่จะแสดงความจงรักภักดีห่วงใย กลับสนุกสนานเฮฮากัน ทนไม่ไหวจึงต้องว่ากล่าวเอะอะเสียบ้าง เพื่อให้สำนึกผิด ลูกรู้สึกตัวดีทุกอย่างเท่าที่กระทำไป เมื่อคุณแม่ทราบเช่นนั้น ก็กลับบ้าน มาเล่าให้ทางบ้านฟัง ในเรื่องความจงรักภักดีและห่วงใยในล้นเกล้า ฯ นี้ ในระยะหนึ่งล้นเกล้า ฯ สลบไปจนมีข่าวลือออกมาภายนอกว่าสวรรคต ต่อมาก็ทรงฟื้นขึ้นและทรงพระชนม์ต่อมาได้อีกระยะหนึ่ง ตอนฟื้นจากสลบ ครั้งนี้เจ้าคุณพี่รีบปลีกเวลาด่วนออกมาบ้าน และให้ทางบ้านกว้านซื้อพวงมาลัยเปียดอกมะลิสด ร้อยพวงขนาดกลางๆ ไม่ใช่เล็กจิ๋วอย่างที่ขายกันในท้องตลาดเป็นจำนวน ๓๐๐ พะวง เพื่อนำไปแก้บนพระแก้วมรกต เพราะบนไว้ตอนในหลวงสลบ เจ้าคุณพี่บนขอให้ในหลวงฟื้นขึ้นมา อย่าเพิ่งจากไปเลย จะแก้บนด้วยพะวงมาลัย ทางบ้านต้องให้คนช่วยเที่ยวกว้านซื้อหลายตลาด เพราะต้องการด่วนเวลามีน้อย แต่ก็ได้ครบ ๓๐๐ พะวง แล้วเจ้าคุณพี่ก็นำไปถวายพระแก้วมรกต โดยผูกเป็นราวยาวร้อยพวงมาลัยแขวนถวายหน้าพระอุโบสถพระแก้วในเย็นวันนั้น
ข่าวเจ้าคุณพี่เป็นบ้านี้ยังมีเรื่อยมาอีก แม้หลังในหลวงสวรรคตแล้ว เจ้าคุณพี่ให้คนเก็บหญ้าแพรกมาล้างน้ำสะอาดแล้วใส่ถาดมาเคี้ยวกิน แล้วบอกกับผู้คนที่มาพบเห็นว่า เมื่อสิ้นในหลวงแล้วจะไม่ง้อใคร กินหญ้าก็ไม่ตาย ช้างม้าวัวควายกินหญ้าก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างแข็งแรง จากนั้นมาเจ้าคุณพี่ก็เริ่มไม่รับประทานอาหารที่ต้องปรุงแต่งด้วยเนื้อสัตว์ เริ่มทดลองกินถั่วงาและผักให้เห็นว่าเมื่อสิ้นบุญล้นเกล้า ฯ แล้ว เจ้าคุณพี่ก็ยังนึกถึงพระมหากรุณา ไม่ยอมกินดีอยู่ดี เพื่อจะได้ระลึกถึงล้นเกล้า ฯ ตลอดเวลา จึงกินอยู่ง่าย ๆ ไม่ต้องรบกวนผู้ใด ก่อนบวชไปลาเจ้าคุณราม ฯ ท่านยังถามว่า “เจ้าคุณจิตใจปกติหายดีแล้วหรือ”
ส่วนเรื่องการหมั้นคุณครูชุบ เมนะเศวต เกิดขึ้นเมื่อล้นเกล้า ฯ สวรรคตแล้ว เนื่องจากเวลานั้น เจ้าคุณพี่กำลังมีความเสียใจมาก ในการพลัดพรากจากไปของล้นเกล้า ฯ โดยทางผู้ใหญ่เห็นว่า หากให้เจ้าคุณพี่มีครอบครัวแล้ว คงจะค่อยๆ คลายความโศกเศร้าเสียใจที่ล้นเกล้า ฯ เสด็จสวรรคตลงได้ ทั้งบ้านคุณครูชุบอยู่ใกล้กับบ้านข้าพเจ้า เจ้าคุณพี่และคุณครูได้พบปะคุ้นเคยสนิทสนมกันมาก่อน ผู้ใหญ่จึงได้ตกลงจัดการหมั้นกันไว้ ยังไม่กำหนดจะแต่ง แต่เจ้าคุณพี่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะบวชถวายพระราชกุศลก่อน ผู้ใหญ่คิดว่าสึกออกมาแล้วก็ตั้งใจจะจัดการให้แต่งงานกัน แต่ผลสุดท้ายเมื่อบวชแล้ว เจ้าคุณพี่ก็ผลัดการสึกเรื่อยมา จาก ๑ พรรษา เป็น ๓ พรรษา และจาก ๓ พรรษาเป็นไม่มีกำหนด ซ้ำยังอบรมสั่งสอนธรรมะชักจูงจนคุณครูชุบได้บวชชี เป็นอุบาสิกาอยู่ในบวรพุทธศาสนาระยะหนึ่ง เป็นเวลาหลายปี แต่โดยความจำเป็นของชีวิตเกิดความไม่สะดวกในการที่จะครองความเป็นชีได้โดยตลอด จึงสึกออกมาผจญกรรมในโลกต่อไป แต่ก็ยังครองชีวิตเป็นโสด เป็นแม่พิมพ์ของชาติ มีอาชีพเป็นครูสอนเด็กตลอดมา คงเคารพบูชาซื่อสัตย์สุจริต เด็ดเดี่ยวต่อเจ้าคุณพี่ตลอดมาไม่เสื่อมคลาย นับว่าเป็นสตรีที่น่าเคารพนับถือผู้หนึ่ง
เรื่องเกี่ยวกับในรั้วในวัง เท่าที่นึกได้และเขียนไว้ตามสติปัญญาของข้าพเจ้าเห็นจะมีเพียงนี้ ส่วนความพิสดารต่างๆ ที่นึกและเขียนไม่ได้ยังคงมีอยู่บ้าง เพราะยังนึกไม่ออก
ต่อไปนี้เป็นเรื่องทางบ้านต่อเรื่อยไปจนถึงระยะที่บวชอยู่ เขียนตามความนึกคิดและสติปัญญาของข้าพเจ้าเท่าที่นึกได้
ก่อนอื่นเพื่อกันลืม ขอเขียนเกร็ดเล็กน้อยที่จำได้แต่ยังเด็กๆ ไว้เสีย ๒ เรื่อง เรื่องแรก คือ ปกติตอนเด็กๆ เจ้าคุณพี่เคารพนับถือคุณยายมาก เพราะคลุกคลีอยู่กับคุณยาย คุณพ่อรับราชการอยู่หัวเมือง คุณแม่ก็ติดตามไปอยู่หัวเมืองด้วย ความคุ้นเคยอย่างใกล้ชิดนี้ ทำให้เจ้าคุณพี่รักเคารพคุณยายมาก ตอนเข้าทำงานใหม่ๆ ในหลวงประทับพระที่นั่งอัมพร เย็นวันหนึ่งออกเวรกลับมาบ้าน และเล่าว่า เมื่อวันออกเวรกลับมาบ้านครั้งที่แล้ว ขากลับพบยายแก่นั่งขอทานอยู่ข้างสะพานมัฆวานรังสรรค์ รูปร่างท่าทางเหมือนคุณยายไม่ผิดเพี้ยน ระลึกถึงพระคุณของคุณยายแล้วจิตเกิดความสงสารมาก เงินที่มีติดตัวอยู่ ๕ บาทให้ไปหมด เมื่อเดินเลยคุณยายไปเล็กน้อย หยุดเหลียวดูยังได้ยินคำให้ศีลให้พรไม่หยุดปากว่า “ขอให้พ่อเจริญ เป็นเจ้าคนนายคนเถิดพ่อคุณ” คงเป็นเพราะว่าการให้ทานด้วยเงิน ๕ บาทในสมัยนั้น จะเป็นของหายากสักหน่อยในความนึกคิดของคุณยายผู้นั้น อีกเรื่องหนึ่ง ขณะในหลวงประทับอยู่พระราชวังพญาไท เจ้าคุณพี่เล่าว่า เมื่อวันออกเวรมากินข้าวที่บ้านครั้งที่แล้ว ตามปกติเจ้าคุณพี่ไม่เคยค้างที่บ้านเลย ค้างวังตลอดมา ครั้งนั้นขากลับดึกไปหน่อย นั่งรถเจ๊ก (รถลากสมัยก่อน) พอมาถึงแถวสะพานยมราช สมัยก่อนถนนแถวนั้น ขนาดทุ่มสองทุ่มก็หาคนเดินยาก จึงนึกสนุกขึ้นมา บอกให้เจ๊กวางคานลง ส่วนเจ้าคุณพี่ก็ถอดเสื้อนอกสีขี้ม้าออก ถลกผ้านุ่งสีกรมท่าขึ้นในลักษณะถกเขมร แล้วสั่งให้เจ๊กขึ้นไปนั่งแทน ตอนแรก เจ๊กตกใจ เจ้าคุณจึงบอกว่า อั๊วลองดูว่า ความรู้สึกขณะลากรถจะเป็นอย่างไร ผลที่สุด เจ๊กก็ต้องยอมขึ้นนั่งให้เจ้าคุณพี่ลากรถไปจนเกือบถึงวังพญาไท ก็วางรถจัดผ้านุ่งใหม่ แล้วขอเสื้อนอกจากเจ๊กซึ่งฝากไว้มาสวม ให้เจ๊กลากต่อจนถึงที่ แล้วให้รางวัลเจ๊ก ไป ๕ บาท เล่นเอาเจ๊กตะลึงงง นึกสงสัย คงแปลกใจ เกิดมายังไม่เคยพบคนเช่นนี้เลย เข้าใจว่าคงเอาไปเล่าให้พรรคพวกฟังเป็นของแปลก ไม่ค่อยเคยปรากฏ สองเรื่องนี้แสดงอัธยาศัยอย่างหนึ่งของเจ้าคุณพี่
เจ้าคุณพี่เป็นบุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทีสูงมาก โดยเฉพาะกับคุณยายและคุณแม่ เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ เจ้าคุณพี่เคารพบูชาอย่างยิ่ง ทุกคราวที่มาถึงบ้านและกลับไปเข้าวังจะต้องกราบที่เท้าคุณแม่และคุณยายทั้งขามาและขากลับไม่ขาดเลย ปกติราชการที่ปฏิบัติอยู่ก็มักอยู่เวร ๑ วัน ออกเวร ๑ วัน ฉะนั้นโดยมากก็มาบ้านเย็นหนึ่ง เว้นเย็นหนึ่งเป็นนิจ เมื่อมาถึงบ้านก็ถอดเครื่องแต่งกาย อาบน้ำ และรับประทานอาหารเท่าที่ชอบ เพราะเครื่องเสวยและอาหารในวังโดยมากเป็นของดีๆ ส่วนเจ้าคุณพี่เคยรับประทานอาหารแบบชาวบ้านธรรมดา เมื่อเจอ หมูเห็ดเป็ดไก่ กับข้าวฝรั่ง ของหวานแบบฝรั่ง ลูกไม้ของเมืองนอกก็ไม่ถูกปาก การไม่นิยมของนอกนี้จนกระทั้งมาบวชแล้วก็ไม่ชอบฉัน บอกว่าลูกไม้ของเมืองไทยเราดีกว่าของนอกมากนัก ราคาก็ถูกกว่า ส่วนมากชอบมะละกอ และส้มโอ ตอนเด็กๆ เมื่ออยู่บ้านก็อยู่กับคุณยายและคุณน้าชุ่ม (น้าผู้หญิง น้องสาวคุณแม่) ซึ่งเป็นคนสมัยเก่า อาหารที่ทำรับประทานก็มีแต่อาหารธรรมดา ไม่วิจิตรพิสดาร เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงมาหาของชอบรับประทาน เป็นต้นว่า แกงเผ็ดไม่ใส่กะทิ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะขามเปียก มะขามอ่อน ต้มยำปลากรอบ ต้มโคล้งปลาสลิดกับใบมะขามอ่อน น้ำปลาหวาน ผักชี พังพวย ปลาดุกย่าง น้ำปลา แมงดา ยำใบบัวบก ยำกะทือ แกงขี้เหล็ก (ที่เรียกว่าแกงต้มเปอะ) แกงเลียงยักต่างๆ อย่างดีที่สุดก็ ไข่จารเม็ดใส่หอมซอยและมังคุด สำหรับอาหารที่เจ้าคุณพี่ชอบเหล่านี้ บางคราวที่เสด็จประพาสพักแรมตามหัวเมือง เช่นพระราชวังบางปะอิน ถึงกับต้องหาคนแก่ จำได้ว่าชื่อลุงสิทธิ์ ติดตามไปเป็นคนครัว มีเตาหุงต้ม หม้อแกง ครก สาก พร้อม เพื่อทำอาหารให้รับประทาน เพราะการไปพักแรมนานวัน ไม่ได้มารับประทานอาหารที่บ้าน ทำให้ต้องขวนขวายจัดหาอาหารที่ถูกปากรับประทาน
การแต่งกายก็แต่งอย่างมัธยัสถ์ธรรมดา ปกติทำงานในวังก็นุ่งกางเกงผ้าขาว เหน็บผ้าเช็ดหน้าขาว เสื้อผ้าขาวเป็นประจำ เมื่อออกจากวังกลับบ้าน ก็นุ่งผ้าพื้นสีกรมท่า เสื้อนอกสีขี้ม้า (สีทหารรุ่นเก่า) ถ้าสวมหมวกก็สวมหมวกฟางนักเรียน รองเท้าหนีบอย่างรองเท้าพระ โดยมากใช้รองเท้าพม่าทำด้วยหนังแพะไม่มีเชือกเย็บ ใช้หนังเย็บไปในตัว แม้จะมีผ้าม่วงหางกระรอกละเสื้อแพรสำรองไว้ก็ไม่ค่อยได้ใช้เลย เพราะตามปกติไม่ยอมทิ้งงานไปไหน มีหน้าที่แต่งพระองค์และถอดเครื่องถวายอยู่งานนวด และมารับประทานอาหารเย็นที่บ้าน ไม่เคยเห็นเจ้าคุณพี่ไปงานรับเชิญเลี้ยงที่ใดๆ เลย แม้แต่งานตามเสด็จในพิธีต่างๆ ก็ไม่เคยเห็น นอกจากตามเสด็จเวลาไปประทับต่างจังหวัด ซึ่งจะต้องเป็นผู้ถวายการปฏิบัติในหลวงเท่านั้น จำได้แน่นอนว่า เคยเห็นนุ่งผ้าม่วงหางกระรอกสีชมพู สวมเสื้อนอกแพร ถุงน่องรองเท้าขาว เมื่อไปทอดกฐินที่วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง)
วันหนึ่งเจ้าคุณพี่เล่าว่า กำลังเดินจากวังหลวงจะมาบ้าน ระหว่างทางถนนราชดำเนินเลยสะพานผ่านพิภพมาทางสี่แยกตึกดิน ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐาน นุ่งผ้าม่วง สวมถุงน่องรองเท้า นั่งรถยนต์ผ่านมาพบ ก็หยุดรถทันที ลงมายกมือไหว้ถามว่า ท่านเจ้าคุณจะไปไหน เจ้าคุณพี่ตกใจ บอกว่า เวลาพบผมนอกเวลาราชการ ในลักษณะเช่นนี้ คราวหลังอย่าได้ทักทายเลย ดูสาระรูปคุณ กับผมแตกต่างกันมากมาย ใครที่เขาได้เห็นเข้า คุณจะอายเขา ขอตัว เวลานอกหน้าที่ราชการ ผมแต่งตัวอย่างนี้ คุณแต่งตัวโก้ นั่งรถยนต์ คราวหน้าขอเสียที
สำหรับเครื่องยศที่ได้รับมานั้น ไม่เคยเห็นแต่งเลย นอกจากเครื่องเสือป่าที่ตามเสด็จหัวเมืองบางคราว และถ่ายรูปมาให้เก็บไว้ที่บ้าน โดยมากเท่าที่เห็นก็เป็นรูปหมู่ สำหรับเครื่องยศตามปกติเมื่อได้รับพระราชทาน ทางห้างผู้ตัดเครื่องแบบก็ตัดใส่หีบมาให้ เพราะข้าราชการในราชสำนักวัดตัวไว้แล้วทุกคน ใครได้ยศอะไรใหม่ ก็ตัดส่งมาให้ เท่าที่จำได้ก็มี ห้างฮารี แบดแมน แอนด์โก (กรมประชาสัมพันธ์เดี๋ยวนี้) ห้างยอนด์ แซมสัน แอนด์ ซัน (กรมโยธาเทศบาลเดี๋ยวนี้) ห้างไวท์อะเวย์ เล็ดลอ และสุนทรภัณฑ์วิริยะสถาน เมื่อรับมอบมา ก็เอามาเก็บไว้บ้านไม่เคยเห็นแต่งเลย คุณแม่ก็เป็นผู้เก็บรักษา ขยายออกมาตากเดือนละครั้ง
ในคราวได้รับสายสะพายและทำพิธีรับพระราชทานที่วัดพระแก้ว เจ้าคุณพี่เล่าว่า มีข้าราชการผู้ใหญ่สูงอายุเดินคุยกันมาข้างหลัง แต่เสียงดังมากไปหน่อย บอกว่า ดูซิ ในหลวงทำไมจึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศถึงสายสะพายให้เด็กๆ วานซืนนี้ได้ เจ้าคุณพี่ได้ยินเข้าจึงหันกลับไปยกมือไหว้ท่านข้าราชการผู้นั้น และบอกว่า กระผมเองไม่ได้ดิ้นรนขอร้องให้ในหลวงท่านพระราชทานดอกขอรับ แต่เมื่อท่านโปรดเกล้า ก็ไม่ทราบว่าจะทัดทานประการใด กระผมเพียงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ และจงรักภักดีโดยเต็มความสามารถเท่านั้น โปรดอภัยแก่กระผมด้วย เพราะมิได้ตั้งใจจะทะเยอทะยาน ทำให้ข้าราชการสูงอายุ ๒ ท่านนั้นเห็นใจ วันเดียวกันนั้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ถอดเครื่องลงหีบที่ในวัง ขนมาบ้านในตอนเย็น พอเปลื้องเครื่องผ้าพื้นสีกรมท่าและเสื้อนอกสีขี้ม้าออก นุ่งผ้าขาวม้าแล้วเปิดหีบเครื่องยศที่ได้รับพระราชทานวันนี้ออก หยิบสายสะพายยออกมาคล้องให้คุณแม่ดู และบอกว่า สายสะพายนี้ได้รับพระราชทานวันนี้ ถ้าผมคล้องอย่างนี้ออกไปข้างนอก ตำรวจคงจับฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแน่ เป็นอันว่าทางบ้านไม่เคยเห็นเจ้าคุณพี่แต่งเครื่องยศที่ได้รับพระราชทานเลย เห็นก็เพียงรูปถ่ายแต่งเสือป่าธรรมดาและแต่งเครื่องสากล และเอามาเก็บไว้ที่บ้าน ไม่เคยเห็นที่แต่งตัวจริงๆ เลย หรือจะมีงานสำคัญนานๆ แต่งครั้งก็ได้ที่ข้าพเจ้าไม่เห็น
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
จาก
บันทึกประวัติจากความทรงจำ โดย ตริ จินตยานนท์
2
โดยที่เจ้าคุณพี่ถือว่าคุณแม่เป็นที่เคารพสูงสุด ตั้งแต่เริ่มทำงาน เงินเดือนที่ได้รับจะนำมามอบให้คุณแม่ครบจำนวนทุกเดือน แล้วขอไปใช้ส่วนตัวเท่าที่จำเป็น จะทำบุญทำทานอะไรก็มอบภาระความเป็นใหญ่ในเรื่องการเงินทั้งหมดไว้กับคุณแม่ สุดแต่จะเห็นสมควร ตลอดระยะเวลาที่รับราชการจนออกจากราชการกระทั่งมาบวช
สำหรับผู้มีอุปการคุณแต่เด็กๆ มีคุณยาย คุณน้าชุ่ม (น้าผู้หญิง) คุณน้าขุนบริรักษ์พิมาน เมื่อทำงานมีเงินเดือนก็อุปการะโดยสม่ำเสมอผ่านทางคุณแม่ มีอยู่รายหนึ่งชื่อหม่อมปราง (ดูเหมือนจะเป็นหม่อมละครเจ้าพระยามหินทร์ ฯ) เรียกกันตามปกติทั่วไปที่บ้านข้าพเจ้าว่า หม่อมยาย บวชเป็นชีอยู่ข้างบ้าน เคยเลี้ยงดูเจ้าคุณพี่มาแต่เล็กตลอดมาจนถึงข้าพเจ้า โดยมาช่วยคุณแม่เลี้ยงทุกวันจนเย็นค่ำ พอเจ้าคุณพี่เริ่มทำงานได้เงินเดือนก็ขอให้คุณแม่จ่ายเงินเดือนให้หม่อมยายเดือนละ ๔ บาท ตลอดมา จำได้ว่าเช้าๆ ข้าพเจ้าจะต้องเป็นคนเอากับข้าวไปให้หม่อมยายทุกวันเป็นประจำ จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรมด้วยความชรา นี่เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีส่วนหนึ่งของเจ้าคุณพี่
เรื่องเกี่ยวกับของหลวง ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นของหลวงมีในบ้านแม้แต่ชิ้นเดียว เจ้าคุณพี่กำชับเด็กรับใช้ที่อยู่ด้วยในวังเป็นหนักหนา มิให้นำอะไรติดมือมาบ้านเลย ตอนหลังเมื่อในหลวงสวรรคตแล้ว พบช้อนกาแฟมีตรา ร.ร. ๖ อยู่ที่บ้าน ๑ อัน เจ้าคุณพี่ถึงกับสอบสวนหาคนที่เอามาและให้รีบเอาไปคืนทันที
นึกขึ้นได้อีก เจ้าคุณพี่ติดบุหรี่มาแต่เด็ก เพราะได้รับการควบคุมน้อย ห่างพ่อห่างแม่ก็ถลำสูบจนติด สมัยนั้นสูบบุหรี่ตรานกอินทรีย์ สูบเรื่อยมาจนกระทั่งไปทำงานในวังจึงได้พยายามอด ก็อดยากเพราะสูบมานาน ต้องใช้วิธีขบเม็ดแตงโมแข่งกัน คือซื้อเม็ดแตงดมมาไว้มากๆ พออยากสูบบุหรี่ก็เรียกเด็กๆ คนใช้ในวังของตนเองบ้าง ของคนอื่นบ้าง มาขบเม็ดแตงโมแข่งกันว่าใครจะขบได้กองโตกว่ากัน พอให้ลืมอยากบุหรี่ ทำอย่างนี้อยู่ไม่นานจึงอดบุหรี่ได้ เรื่องการอดบุหรี่นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่ต้องการให้ได้ชื่อว่า ทำงานในวังสูบบุหรี่ของหลวง เพราะบุหรี่ที่ในหลวงทรงนั้นมีมากมายหลายอย่าง มีบริษัทบุหรี่ชื่อ ชีปาปายาโนบูโร๊ส ตั้งอยู่ที่ถนนสี่พระยา เป็นผู้สั่งผ่านเข้ามา บุหรี่ซิกาแรตตัวแบนๆ ก้นหุ้มแพรสีแดง จำชื่อได้ชนิดหนึ่ง ชื่อ “ชวนชื่น” ส่วนบุหรี่ซิการ์ ก็มีปลอกตราครุฑ ตรามงกุฎ และตราคิงยอร์ช เคยเห็นเด็กเก็บปลอกมาให้ดู โดยที่เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาท ถ้าจะซื้อสูบของตนเอง ตามชนิดที่ชอบในท้องตลาดก็คงป้องกันการครหานินทาไม่ได้ว่าสูบบุหรี่ของหลวง เจ้าคุณพี่จึงเลิกสูบแต่นั้นมา เจ้าคุณพี่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์มั่นคง ไม่ยอมเห็นประโยชน์ส่วนตัว อุทิศชีวิตเพื่อราชการ ภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา มิได้หาความสุขส่วนตัวเป็นใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ขึ้นเสวยราชย์ ทรงพิจารณาเห็นว่า พระยานรรัตนราชมานิตเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์มั่นคงทั้งสูงด้วยความกตัญญูกตเวที ทั้งมีความรู้สูงสมควรเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงได้ทรงแต่งตั้งให้เข้ารับราชการ ดังที่ข้าพเจ้าได้อัญเชิญบางตอนในสัญญาบัตรตอนหนึ่งมีใจความว่า “ขอประกาศแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงฤๅผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งจะได้พบอ่านคำประกาศนี้ ให้ทราบว่า เราได้ตั้งให้ จางวางตรีพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ป.ม., ท.จ., ว.ม.ล., ว.ป.ร. ๓ ซึ่งเป็นที่รักใคร่ไว้วางใจของเรา เป็นองคมนตรี รับปรึกษาราชการในตัวเรา เพิ่มศักดินาเพิ่มขึ้นอีก ๑,๐๐๐ เพื่อจะได้ช่วยเรา คิดทะนุบำรุงแผ่นดิน ให้เป็นคุณประโยชน์มีความเจริญสมบูรณ์ ฯลฯ” แต่เจ้าคุณพี่ยึดมั่นในทางสัจธรรมหลัดพระพุทธศาสนา อุทิศถวายตัวถวายชีวิตแก่ทางศาสนาเสียแล้ว จึงไม่ได้ยินดีลาภยศสรรเสริญในทางโลก แม้จะใหญ่โตเพียงใด ก็ยังต้องอยู่ในกองทุกข์ หนีไม่พ้น นอกจากทางหลักสัจธรรม มี ศีล สมาธิ ปัญญา ที่สามารถจะหลุดพ้นความทุกข์ไปได้ เพราะตัดขาดทางโลก ไม่ยินดี ยินร้ายในสิ่งใด จึงไม่ได้รับตำแหน่งตามพระราชประสงค์ที่ทรงพระกรุณาแต่งตั้งตามสัญญาบัตร
เจ้าคุณพี่มีนิสัยมัธยัสถ์ โดยเฉพาะสำหรับตนเองแล้ว ไม่ยอมให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เคยสอนว่า การกินข้าวต้องกินให้หมด ไม่ให้เหลือติดช้อนชามแม้แต่เมล็ดเดียว สำหรับมื้อหนึ่ง ถ้าทุกคนเห็นว่าเล็กน้อย ถ้ามากคนลองคิดดู อาหารก็เหมือนกัน ทำให้เหมาะกับคนกิน อย่ามากอย่าน้อย อย่าต้องทิ้งให้สิ้นหมดเปลืองไปเพราะเรากินทิ้งกินขว้าง ต้องทำพอกินให้หมดอย่าเหลือทิ้ง เป็นเศษอาหาร อย่างน้อยก็ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้อื่น แม้แต่สัตว์ก็ยังดี หากคนทั้งชาติไม่ประหยัด ทำอย่างเดียวกัน นานเข้าเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี จะเพิ่มปริมาณเป็นทวีคูณ ลองคิดดูว่า จะเป็นจำนวนเท่าใด เจ้าคุณพี่เมื่อบวชแล้ว ก็ทำตัวอย่างให้ญาติพี่น้องเห็นการปฏิบัติในเรื่องประหยัด เช่นของที่ส่งไปกับอาหาร มีไม้กลัด ใบตอง เชือกกล้วย เป็นต้น ไม้กลัดก็ส่งกลับไปและชี้แจงว่า ไม้กลัดมีปลายแหลม ใช้กลัดได้ ๒ ทาง ถ้ายังไม่ทู่ ก็ขอให้ใช้เรื่อยไป จนกว่าจะแทงไม่เข้า ส่วนเชือกกล้วยนั้น ถ้ากรอบ ชุบน้ำก็จะเหนียวขึ้น ใช้ผูกต่อไปจนกว่าจะเปื่อย สำหรับใบตองที่ล้างส่งกลับ ถ้ายังไม่แตกถึงกับแห้งกรอบ ก็ให้ใช้ห่อส่งกลับมาได้อีก สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่าท่านปฏิบัติอย่างเห็นประโยชน์ของความประหยัด ไม่ควรเสียก็อย่าให้เสีย ของขบฉันที่ส่งไปถวายที่กำหนดไปให้พอดีไม่ให้เหลือทิ้ง ท่านบอกว่าอาหารที่ท่านฉันบางอย่างเหลือให้หมายังไม่กิน เพราะฉะนั้นให้ทำไปเท่าที่สั่งไปพอดี อย่าต้องให้เหลือทิ้งสิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์ ตัวอย่างนี้ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าทุกคนได้ปฏิบัติก็จะมีคุณค่าช่วยประเทศชาติได้มากมาย ซึ่งมนุษย์ในยุคนี้การกินอยู่อย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายในสิ่งไม่จำเป็น เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติ
นิสัยมานะอดทนพยายามของเจ้าคุณพี่มีมาก ทำอะไรจริงไม่ท้อถอย ร่างกายอ่อนแอ ผอมก็พยายามปรับปรุงให้แข็งแรงตามต้องการ ไม่เคยเป็นหมอนวดก็หัดนวดจนเก่ง สมารถถวายการนวดแก่ล้นเกล้า ฯ จนเป็นที่โปรดปราน หัดเป็นหมอดูจนเก่งเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปในสมัยนั้น เว้นแต่บวชแล้วก็งดไม่ดูให้ใครเลย ตอนข้าพเจ้าบวชเจ้าคุณพี่ให้ท่องปาฏิโมกข์ ข้าพเจ้าท่องไปได้หน่อยเดียวไม่ทันจบก็สึก ต่อมาระยะหนึ่งข้าพเจ้าไปฟังเทศน์วันอาทิตย์ที่โบสถ์วัดเทพศิรินทราวาสได้พบเจ้าคุณพี่ ท่านบอกว่าฉันท่องแทนให้เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระอุปัชฌาย์ประทานไตรแพรให้ ๑ ไตรถวายพระอื่นไปแล้ว สำหรับการท่องสวดมนต์จนแตกฉาน (สวดมนต์ ๑๒ ตำนาน) ประกอบการเพ่งจิต ซึ่งเจ้าคุณพี่ฝึกจากตำราโยคี เมื่อเจ้าคุณพี่ไปเผาศพคุณยายที่วัดมกุฎกษัตริยาราม ในงานศพคราวนี้ได้ถวายเงินวัดไป ๕๐๐ บาท ท่านเจ้าคุณพระศาสนโสภณ (แจ่ม) เจ้าอาวาสถวายหนังสือสวดมนต์แปล ซึ่งท่านจัดแปลและพิมพ์ขึ้นเองให้มา ๑ เล่ม เจ้าคุณพี่เริ่มท่องจนจบ เมื่อจบแล้วก็ส่งหนังสือไปเก็บที่บ้าน โดยบอกว่า “หนังสือสวดมนต์ที่เจ้าคุณศาสนโสภณประทานมาให้ พยายามท่องบ่นจนจบทุกตัวอักษรเก็บไว้ในสมองแล้ว จึงส่งมาเก็บไว้ในตู้พระไตรปิฎก” การท่องทบทวนในเวลากลางคืนโดยที่ในกุฏิไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ถ้าเกิดท่องผิดตอนใดก็จุดเทียนดู เมื่อดูแล้วก็ดับเทียนท่องทบทวนต่อไป นับว่าเป็นความพยายามที่ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่เจ้าคุณพี่ท่านจำเก่งแม่นและลืมยากการฉันอาหารซ้ำซากไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากงดอาหารเจต่อมา ๒๕ ปี เท่าที่ข้าพเจ้าทำ นำไปถวายตลอดมา เจ้าคุณพี่บอกว่ายังต้องใช้ความพยายามถึง ๓ เดือน จึงสำเร็จ เพราะร่างกายกับจิตใจทะเลาะกัน ใจจะกลืนแต่ความรู้สึกทางร่างกายไม่ยอมรับ ต้องพยายามทำใจให้เข้มแข็งตลอดเวลา ไม่ยอมอ่อยแอให้ความรู้สึกเอาชนะทางร่างกายภายใน โดยการพิจารณาตามหลักพุทธศาสนา จนทางร่างกายกับจิตใจเข้ากันได้สำเร็จ จึงฉันได้เป็นปกติเรื่อยตลอดมา จากนั้นมา ท่านได้ถวายพระราชกุศลคือ ในวันสำคัญทางพุทะศาสนา ท่านจะงดเว้นไม่ฉันอาหารตลอดวัน คือในวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และวันถวายเพลิงพุทธสรีระ ตัดกังวลเรื่องกินในวันนั้น มุ่งจิตให้บริสุทธิ์และนั่งฟังเทศน์อยู่ในอุโบสถตลอดคืน โดยนั่งอยู่ท่าเดียวไม่เปลี่ยนอิริยาบถจนรุ่งแจ้งวันใหม่ จึงฉันอาหาร สำหรับวันพระต่อมาท่านฉันแต่กล้วยน้ำว้าสุกอย่างเดียว ไม่ฉันอาหารอื่น บอกว่าต้องการเพื่อล้างท้องในระยะ ๗ วันต่อครั้ง
ระยะหนึ่งที่กรามข้างแก้มบวมเป็นแผลในปาก เจ้าคุณพี่บอกอาจเป็นมะเร็ง เพราะคุณย่าเป็นมะเร็งกรามช้าง เป็นกรรมพันธุ์ แต่ก็ไม่ขาดลงโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์เลย ระหว่างกลัดหนองยังไม่แตก มีอาการทรมานมาก พูดสวดมนต์ลำบากอ้าปากไม่ขึ้น เวลาสวดมนต์กว่าจะอ้าปากเป็นเสียงออกมาได้ก็กินเวลานาน แต่ก็พยายามโดยไม่ขาดลงโบสถ์เลย เมื่อแผลแตก มีหนองออก อาหารที่ส่งไปถวายก็ให้เอากลับไม่ฉันหลายวัน ๕-๗ วัน โดยสั่งว่าหนองแตกแล้ว ถ้าฉันอาหารก็จะพาเอาหนองลงไปในกระเพาะอาจเกิดโทษ ต้องงดฉัน แต่ก็ให้นำอาหารไปทุกวัน เพราะไม่รู้ว่าหนองจะแห้งเมื่อใดในระยะที่แผลแตกมีหนองไหลนี้ นอนไม่ได้ต้องนั่งหลับโดยเอาหมอนกองสูงถึงอก ก้มหน้าหนุนบนหมอน อ้าปากให้หนองไหลลงกระโถน พอรีดดูหนองแห้ง จึงรับอาหารไว้ฉัน บอกว่าหนองแห้งหมดแล้ว เมื่อหายแล้วยังปรากฏแผลเป็นที่แก้มเป็นรอยบุ๋มเห็นชัด เจ้าคุณพี่มีความอดทนต่อเวทนาที่เจ็บปวดแสนสาหัส แม้อดอาหารก็ไม่ยอมขาดการลงโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์เลย ไม่ได้อาศัยหยูกยาเป็นเครื่องช่วย
เมื่อพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับปากและฟันแล้ว ก็ขอเล่าเรื่องฟันไว้ด้วย คือฟันที่เจ้าคุณพี่ส่งกลับไปบ้านทุกซี่ไม่มีรอยผุเป็นแมงเลย หลุดออกมาเฉยๆ เข้าใจว่าเหงือกไม่ดี เพราะผลจากการเล่นมวยวัยหนุ่ม ถูกนวมต่อยจนเหงือกกับฟันเกาะกันไม่แน่น เมื่อฟันหลุดออกมาเมื่อใด เจ้าคุณพี่จะใส่กลักไม้ขีดไฟส่งไปบ้านโดยเขียนหนังสือกำกับไปว่า “ฟันซี่นี้หลุดออกมาเมื่อเวลา.....น. วันที่.......เดือน.........พ.ศ.............ส่งมาให้ดูเพื่อระลึกปลงสังขารว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ชำรุดทรุดโทรม และจะดับไปในที่สุด”
สำหรับเรื่องถูกงูกัด สมเด็จพระอุปัชฌาย์อนุญาตให้งดการลวโบสถ์ ๑ วัน ในวันนั้นท่านเล่าว่า ค่ำวันหนึ่งท่านไปสรงน้ำหลังกุฏิ เพราะมืดแลไม่เห็น จึงไปเหยียบงูๆ กัดท่าน เรื่องคางคกโขก รายละเอียดในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบจากท่านพระครูปัญญาภรณ์โศภน (พระมหาอำพัน บุญ-หลง) ท่านเจ้าคุณพี่ได้เล่าให้ท่านอาจารย์ฟังว่า เย็นวันหนึ่งท่านเดินจะไปลงโบสถ์ ได้เห็นต้นไม้ในกระถางต้นหนึ่งรู้สึกว่าเฉาเหี่ยว ท่านนึกว่าก่อนจะสรงน้ำภายหลังลงโบสถ์แล้ว ท่านจะเอาน้ำมารดต้นไม้ในกระถางนั้น เมื่อถึงเวลาจะสรงน้ำท่านได้เอาน้ำมารดต้นไม้ในกระถางนั้น ในขณะที่รดรู้สึกว่าถูกสัตว์กัดบนหลังเท้า ๔ เขี้ยว ท่านนึกว่าคงเป็นงู เมื่อผู้ที่อยู่ข้างเคียงกับท่านเอาไฟฉายมาส่อง เห็นมีคางคกอยู่ข้างกระถางตัวหนึ่ง ท่านนึกว่า “คางคกกัดกันได้” เมื่อถูกกัดมีอาการปวดมาก ท่านได้ไปเรียนให้ท่านเจ้าคุณธรรมไตรโลกาจารย์ทราบว่า ท่านถูกคางคกกัด ท่านเจ้าคุณธรรมไตรโลกาจารย์เรียนท่านว่าจะบอกให้อาตมา (พระมหาอำพัน) ทราบ ท่านห้ามไม่ให้บอก เพราะเกรงว่าอาตมา (พระมหาอำพัน) จะเอาหมอมาฉีดยาท่านท่านได้ไปถามนายชิตคนรักษาโบสถ์ว่า คางคกกัดเป็นอย่างไร นายชิตตอบว่า ตายครับ ท่านเลยบอกนายชิตว่า ถ้าพรุ่งนี้ท่านไม่ลงมาจากกุฏิ ท่านก็ตายนะ ภายหลังนั้นท่านก็สรงน้ำ ขึ้นไปข้างบนกุฏิ แล้วเอาผ้ารัดเข่าซ้ายแน่น แล้วก็ใช้วิธี Inhibiting Pain ขับไล่ความปวด ท่านได้ปฏิบัติต่อสู้จนรุ่งสว่างจึงหายปวด ส่วนขาข้างซ้ายใต้เข่าลงมายังบวมอยู่ ท่านคงปฏิบัติต่อไป บวมลดลงมาทางปลายเท้าจนแห้งหายเป็นปกติ วิธีบำบัดโดยทางโยคะ Inhibiting Pain นี้แจ้งอยู่ในตำรา The Hindu-Yogi “Science of Breath” by Yogi Ramacharaka หน้า ๕๗
อีกครั้งหนึ่งท่านอาจารย์เล่าว่า วันหนึ่ง ท่านพระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิตเล่าให้ท่านฟังว่า หลังจากฟังเทศน์ในวันพระ เมื่อท่านเดินกลับกุฏิ กำลังจะก้าวขึ้นบันไดไปห้องชั้นบน รู้สึกว่าร่างกายซีกซ้ายของท่านหมดแรง คล้ายจะเป็นอัมพาตไปแถบหนึ่ง ทรงตัวต่อไปไม่ได้ ท่านมีสติ จึงทรุดลงนั่ง ท่านเอามือข้างขวาคลำตรงหัวใจ และตรวจดูชีพจรก็ยังเต้นดี ท่านจึงใช้ Directing of Circulation มายังซีกซ้าย ต่อมารู้สึกค่อยๆ ร้อนขึ้นจากปลายนิ้ว และร่างกายทางซีกซ้ายก็ค่อยๆ อบอุ่นขึ้นเป็นปกติ แล้วก็ขึ้นไปห้องชั้นบนได้ ท่านบอกว่า ตอนบ่ายกลับจากลงโบสถ์ก็มีอาการอย่างเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง และตอนค่ำอีกครั้งหนึ่ง แต่ท่านใช้วิธีเดียวกันก็หายได้ผลเป็นปกติ นับแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอีก
วิธี “Directing of Circulation” มีแจ้งอยู่ใน “Science of Breath” หน้า ๕๗
ในยุคนี้มีฝรั่งชาวต่างประเทศสนใจในพระพุทธศาสนา และบางท่านก็ได้เข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ส่วนมากเป็นชั้นปัญญาชน บางท่านก็มีปริญญาและเป็นผู้ดีมีฐานะมั่งคั่งและได้พิจารณา เกิดเลื่อมใสในหลักธรรมทางพุทธศาสนา เพราะมีหลักปฏิบัติทางจิตใจไปสู่ความสงบอันแท้จริง ห่างไกลจากกิเลสตัณหา ส่วนมากท่านได้ปฏิบัติไปอยู่ห่างไกลจากชุมชน ไปหาความวิเวกตามป่าเพื่อหาความสงบทำสมาธิ หากมีเรื่องขัดข้องยังไม่รู้จะปฏิบัติอย่างใด ท่านก็มักจะนึกถึง “ท่าน ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ “ มาขอความเห็นความรู้เพื่อแก้ไขเหตุการณ์ทางปฏิบัติให้ปลอดโปร่ง เพราะรู้ว่าท่านเป็นผู้ปราดเปรื่องในภาษาตะวันตก สามารถจะชี้แจงในหลักธรรมที่ละเอียดอ่อนในภาษาตะวันตกให้เข้าใจได้ดี ทั้งท่านก็เป็นพระฝรั่งรู้ภาษาไทยไม่มากนัก จึงจำเป็นที่จะต้องหาผู้ชำนาญทางภาษาตะวันตก และมีความรู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น มีความสามารถแก้ปัญหาธรรมได้ ได้ทราบจากท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภณ (มหาอำพัน บุญ-หลง) ท่านเล่าว่าครั้งหนึ่ง ท่านพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตทำวัตรในโบสถ์เรียบร้อย ก็มีพระฝรั่งรูปหนึ่งคอยเวลาหาโอกาสที่จะเข้าพบสนทนากับท่าน เมื่อเห็นว่าท่านได้สวดมนต์ไหว้พระทำวัตรเรียบร้อยแล้ว พระฝรั่งรูปนั้นคอยเวลาอยู่แล้วก็เข้าไปก้มลงกราบท่านพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ แล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า “ท่านอยากจะได้ความรู้ในการปฏิบัติ ระงับกามวิตก เพื่อจิตสงบ ท่านเองได้เข้าไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า หาความสงบแล้ว แต่ก็ยังมีกามวิตกเข้าไปรบกวน ก่อความไม่สงบ เป็นนิวรณ์แก่สมาธิ จึงได้มาขอความกรุณา ขอให้ท่านพระภิกษุ เจ้าคุณนรรัตน ฯ บอกวิธีกำจัดเพื่อระงับการก่อกวนของกามวิตกนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมด้วยความสงบต่อไป” ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ ก็ได้ให้โอวาทในเรื่อง “หน่ายกาม” และได้อธิบายบอกวิธีปฏิบัติเป็นภาษาอังกฤษ จนเป็นที่เข้าใจของพระฝรั่งองค์นั้นแล้ว พระฝรั่งองค์นั้นกราบนมัสการลาท่านไปด้วยความปีติ
เมื่อจากท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภณ (มหาอำพัน บุญ-หลง) ได้ฟัง ท่านชอบเรื่องหน่ายกามนี้มาก จึงขอร้องให้ท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ เป็นผู้บอก ท่านอาจารย์เป็นผู้เขียนจดเป็นภาษาอังกฤษ และขอให้ท่านบอกเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อบันทึกไว้ควบคู่กันไป จะได้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน ท่านอาจารย์บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ท่านให้โอวาทเรื่องหน่ายกามแก่พระฝรั่ง ท่านบอกให้จด แล้วก็ขอร้องกำชับให้ท่านอาจารย์ นำข้อความภาษาไทยนี้ไปให้ท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ตรวจก่อน หากจะมีการจัดพิมพ์ขึ้นภายหลัง ท่านอาจารย์ก็มอบเรื่องหน่ายกามมาให้ทั้งภาษาอังกฤษและแปลเป็นไทยเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้ (ดูภาคผนวก)
เจ้าคุณพี่ มีนิสัยไม่ชอบการทำบาปมาแต่ไหนแต่ไร เพราะได้เห็นตัวอย่างจากคุณยายและคุณแม่ซึ่งไม่ประกอบปาณาติบาตเลย ซื้อปลาที่ยังไม่ตายดีมาต้องแช่นำไว้ก่อนถ้าไม่ตายก็ปล่อยไปไม่ต้องทำกิน เมื่อรู้สึกว่าตนได้ประกอบกรรมไว้ กรรมนั้นก็เกาะกินจิตใจอยู่ เจ้าคุณพี่ เล่าว่าเมื่อเด็กๆ ครั้งหนึ่งไปหัวเมืองกับคุณพ่อ ด้วยความซนทำให้ลิงซึ่งเลี้ยงผูกไว้ที่ชานเรือนห้อยคอแขวนทิ้งไว้ ลิงไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ พอไปวิ่งเล่นเพลิน นึกขึ้นได้ก็วิ่งกลับมาดู ปรากฏว่าลิงตัวนั้นตาย เพราะหายใจไม่ออกด้วยถูกโซ่รัดหลอดลม เหตุที่ซุกซนจนเป็นเหตุให้ลิงตายโดยไม่เจตนานี้เป็นนิวรณ์กินใจอยู่เรื่อยๆ ประกอบกับเรียนหมอดูลายมือทำให้ห่วงว่าจะต้องตายด้วยอุบัติเหตุ เจ้าคุณพี่บอกว่า ไม่ว่าทำบุญอะไรต้องอุทิศกุศลให้ลิงตัวนั้นเสมอไม่มีเวลาลืมได้เลย นี่เป็นบาปเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าทราบมา
เหตุที่เจ้าคุณพี่มาบวชถวายพระราชกุศลที่วัดเทพศิรินทร ฯ สำหรับความตั้งใจเดิมที่จะบวชถวายในสันพระราชทานเพลิงนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบละเอียด ทราบมาว่า ตามปกติการทำบุญถวายพระราชกุศลพระบรมศพล้นเกล้า ฯ นั้น มีการถวายสลากภัต โดยกำหนดให้ข้าราชบริพารชั้นพระยาพานทองสายสะพาย รับเป็นผู้จับสลากถวายคนละองค์ เจ้าคุณพี่ จับสลากถูกสมเด็จพระอุปัชฌาย์สมัยยังเป็นพระศาสนโสภณ พอใจเกิดศรัทธาในบุคลิกลักษณะของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ พอเสร็จพิธีวันนั้นก็ตามไปวัดและขอบวชในวันถวายพระเพลิงล้นเกล้า ฯ และสั่งทางบ้านให้จัดการเครื่องอัฐบริขารในเรื่องอุปสมบทจนเรียบร้อย
เมื่อบวชแล้วมีแขกเหรื่อมารบกวนมาก บางคนก็นำเอาอาหารและสิ่งของอื่นมาถวาย บางคนก็มาขอร้องให้ดูดวงชะตา บางคนก็มาปรับทุกข์เรื่องต่าง ๆ เจ้าคุณพี่ ก็บอกให้นำของที่นำมาถวายท่านนั้นไปถวายพระข้างกุฏิองค์อื่น โดยบอกว่าท่านมีพอแล้ว ถวายองค์อื่นก็ได้บุญพอ ๆ กัน เพราะถือศีล ๒๒๗ ข้อเหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเหตุให้บางคนนำเรื่องไม่ยอมรับแขกนี้ไปฟ้องสมเด็จพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอุปัชฌาย์ถึงกับต่อว่าเจ้าคุณพี่ที่ในพระอุโบสถว่า มีคนมาต่อว่า ว่าทำไมไม่รับแขกและไม่รับของถวายที่มีผู้ศรัทธา เจ้าคุณพี่ กราบเรียนว่า การที่มาบวชนี้ก็เพื่อถวายพระราชกุศลล้นเกล้า ฯ และศึกษาหลักสัจธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการส่วนตัว และยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงแตกฉานในธรรมะซึ่งเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ต้องการความสงบเวลาศึกษาพิจารณาให้ถึงแก่นแท้ เพื่อให้เข้าถึงเมื่อได้ปฏิบัติ ถ้าหากมัวแต่รับแขกมากมาย ก็หาเวลาจะทำกิจที่ควรปฏิบัติไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีแต่เรื่องยุ่ง ๆ ทั้งนั้น มีทั้งหญิงและชาย ขอให้ดูหมอบ้าง เล่าเรื่องยุ่ง ๆ ให้ฟังบ้าง เป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนมากทางโลก ทางมัวเมาตัณหา ที่ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ทั้งเสียเวลาในการที่จะศึกษาธรรมด้วย ตนเองก็ยังปฏิบัติไม่ได้ผลอะไร จึงกราบเรียนของดการรับแขก มุ่งปฏิบัติเพื่อส่วนตัว สมกับที่มุ่งเข้ามาบวช เพื่อถวายพระราชกุศลแด่ล้นเกล้า ฯ สมเด็จพระอุปัชฌาย์ทราบเหตุผลที่กราบเรียนแล้วก็เห็นใจ จึงไม่ฝืนใจเจ้าคุณพี่ ตอนที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ด้วย กุฏิโล่งเตียน มีเพียงหนังสือ จีวร ที่จำวัด โลงศพ โครงกระดูกมนุษย์เท่านั้น
ในกุฏิของเจ้าคุณพี่ไม่มีของอะไรที่มีค่า ท่านมักจะอยู่แต่ในกุฏิและลงกลอนไม่รับแขก จะพบท่านได้ก็ตอนลงโบสถ์ สวดมนต์เสร็จเรียบร้อย มีเวลาสนทนาบ้าง หรือบางท่านที่ศรัทธา ก็คอยเวลาที่ท่านผ่าน เมื่อมีของมาถวายท่าน ก็รับไว้อย่างไม่ขัดศรัทธา แล้วท่านก็คืนให้ บอกว่าอาตมาฝากให้ไปถวายพระองค์อื่น ฉะนั้นในกุฏิของท่านจึงไม่มีอะไร นอกจากของจำเป็นใช้ และไม่ยอมรับสิ่งใดเช้าในกุฏิ เรื่องโครงกระดูกมนุษย์ ข้าพเจ้าทราบดีจากที่มาว่า ด่อนอุปสมบท เจ้าคุณพี่รู้จักกับนักเรียนแพทย์คนหนึ่ง เรียนแขนงสรีระวิทยา จึงสั่งไว้ว่าเมื่อเรียนสำเร็จแล้วขอให้จัดทำโครงกระดูกให้สักโครงหนึ่ง เพื่อเป็นการทดลองความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมา เมื่อเสร็จแล้วขอให้แจ้งให้ทราบ ต่อมาราวปี ๒๔๗๓ ข้าพเจ้าสึกแล้ว และออกมารับราชการ นักเรียนแพทย์ผู้นั้นเรียนสำเร็จ ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลศิริราช นมัสการไปให้เจ้าคุณพี่ทราบว่า ได้ประกอบโครงกระดูกให้เรียบร้อยแล้ว นัดให้ไปรับได้ที่โรงพยาบาลศิริราช ข้าพเจ้าก็ไปตามนัด ขึ้นไปตึกชั้น ๓ ผ่านห้องเรียนสรีระวิทยา มีเครื่องมือการทดลอง ผ่ากะโหลก เลื่อยกระดูก มีอ่างน้ำประจำเป็นที่ ๆ สำหรับนักเรียน ขณะที่ข้าพเจ้าไปเป็นเวลาเที่ยงวัน จึงไม่มีนักเรียน คงพบแต่แพทย์ผู้นั้น และโครงกระดูกส่วนต่าง ๆ เต็มไปหมด แพทย์ผู้นั้นพาไปห้องทำงานและเปิดม่านสีดำออก ก็เห็นโครงกระดูกสำเร็จร่างทั้งตัว ห้อยอยู่กับไม้แขวนแกว่งดังก๊อกแก๊ก แพทย์ผู้นั้นชี้แจงให้มานมัสการให้เจ้าคุณพี่ทราบว่า เหตุที่ล่าช้าเพราะหาคนรูปร่างใหญ่ๆ อุทิศร่างบริจาคให้โรงพยาบาลยากเต็มที กว่าจะได้ศพขนาดที่ต้องการก็กินเวลาเป็นปี เมื่อได้แล้วกว่าจะประกอบเสร็จก็เสียเวลามาก เพราะสมัยนั้นยังจะต้องเอาศพหมกทรายไว้จนเน่าเปื่อย และหมั่นคุ้ยพลิกกลับไปกลับมาเป็นเวลานาน จนกว่าเนื้อหนังจะล่อนเหลือแต่กระดูก แล้วยังต้องเอามาต้มด้วยน้ำยาให้สะอาด ขัดถูให้เรียบร้อย จึงเอามาประกอบเป็นโครง และจัดทำส่วนที่ขาดหายไปด้วยไม้ก๊อกจนคราทุกชิ้น โดยเฉพาะกระดูกนิ้วมือ นิ้วเท้า และกระดูกซี่โครง ต้องทำเพิ่มเติมหลายชิ้น ถึงกระนั้นก็ยังไม่ดีเท่าของนอก เพราะเขามีเครื่องมือดี และมีโรงงานประกอบโครงกระดูกโยเฉพาะ ของเขาสะอาดเป็นเงาเลยทีเดียว ส่วนของเราสีเทา ๆ น้ำยากัดก็ไม่มีอย่างดี ข้าพเจ้าจำได้ว่าดูเหมือนทางโรงพยาบาลคิดราคา ๓๐๐ บาท เวลาเอามาก็ถอดจากขอแขวนกองลงใส่ไปในกล่องใส่หมวก ปิดฝากล่องผูกเรียบร้อย ส่วนไม้แขวนก็ถือมาต่างหาก นำไปถวายเจ้าคุณพี่เป็นเสร็จการ และแขวนอยู่ที่กุฏิชั้นล่างเป็นอสุภกรรมฐานของเจ้าคุณพี่ตลอดมา
พูดถึงโครงกระดูก ก็เลยพูดถึงเรื่องหัวกะโหลก ตามปกติเจ้าคุณพี่มีหัวกะโหลกคน ไว้ที่กุฏิ ๑ หัว ไม่ทราบที่มา เมื่อข้าพเจ้าบวช เจ้าคุณพี่อยากได้อีกจึงสั่งให้หา ลูกชายคุณน้าขุนบริรักษ์ ฯ ชื่อสมัย ไปหาได้จากวัดที่เผาศพของโรงพยาบาลศิริราช ๓ หัว เอามาถวาย เจ้าคุณพี่ให้ใส่ปีบไว้ในตู้หลังกุฏิ เอาน้ำใส่จนท่วมทั้ง ๓ หัว เอาโซดาใส่ลงไป เมื่อฉันเพลแล้วก็ให้ข้าพเจ้าและพระพร ช่วยกันติดไฟต้มเพื่อให้เนื้อหนังหลุด ปรากฏว่า น้ำที่ต้มกระเด็นถูกมือ สบง อังสะ และตามตัว เพราะต้มไปก็ต้องเขี่ยพลิกกลับ เมื่อน้ำกระเด็นมาถูกก็เหม็น อาบน้ำถูสบู่อย่างไรก็ไม่หมดกลิ่น เล่นเอาข้าพเจ้าฉันอาหารไม่ลงไปหลายวัน ถึงกับคุณโยมทางบ้านทักว่า ทำไมผอมหน้าตาซีดเซียว ข้าพเจ้าก็บอกว่า ฉันอาหารไม่ลงเหม็นกลิ่นหัวกะโหลกอยู่เรื่อย เจ้าคุณพี่รู้เข้าเลยให้เลิกต้ม ให้เอากลับไปไว้ที่เดิม แต่ปรากฏว่าสมัยเอาไปทิ้งไว้โคนต้นโพธิ์ข้างโบสถ์วัดแคนางเลิ้ง เด็ก ๆ แถวนั้นที่ซน ๆ เอาก้อนอิฐขว้างปาล้อเลียน จนถึงกับลือกันว่า ผีหัวกะโหลกหลอกหลอนคนอยู่เป็นเวลานาน
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
จาก
บันทึกประวัติจากความทรงจำ โดย ตริ จินตยานนท์
อีกเรื่องหนึ่ง ก็เรื่องโลงใส่ศพซึ่งบรรจุท่านเจ้าคุณพี่เมื่อมรณภาพแล้ว เพราะเดิมเมื่อต่อโลงนี้เสร็จแล้ว เจ้าคุณพี่ สั่งว่า ถ้าฉันตายไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ไม่ต้องอาบน้ำศพ ไม่ต้องมัด เพียงแต่ยกวางลงในโลงปิดฝา แล้วก็ยกโลงยัดเข้าในฮวงซุ้ยข้างกุฏินี่ เพราะฉันขอเจ้าของฮวงซุ้ยไว้แล้ว ต่อจากนั้น จะคิดอะไรกันต่อไปก็ว่ากันใหม่ อย่าให้ยุ่งยากโกลาหล เพราะคนตายอย่างที่ทำกันทั่วไป แต่ครั้นมรณภาพจริง ๆ เข้า ทางวัดและญาติก็ทำอย่างท่านสั่งไม่ได้ เพราะอย่างน้อยก็มีผู้คนเคารพนับถือมากมาย ทั้งสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงโปรดพระมหากรุณา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมอาพาธถึง ๒ ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ โลงศพนี้ต่อในระยะที่พระครูวรวงศ์ (จรูญ) ยังบวชอยู่ ได้จ้างเจ๊ก (ดูเหมือนชื่อจุ่น) ช่างไม้มาทำการก่อสร้างในวัด เจ้าคุณพี่ เห็นว่าฝีมือดี จึงว่าจ้างขอให้ต่อโลงศพขนาดเท่าใส่ท่าน ๑ โลง โดยให้ตากไม้ให้แห้งไม่มีการหดตัวอีกแล้ว เจ๊กผู้นั้นก็ต่อให้ ดูเหมือนราคา ๒๕ บาท เสร็จแล้วก็เอามาตั้งไว้ในกุฏิชั้นล่าง บนขาไม้ ๒ ตัว ห้องเดียวกับโครงกระดูก วันหนึ่งเจ้าคุณพี่มารับบิณฑบาตที่บ้านเล่าว่า เมื่อวานนี้ทดลองลงในโลงที่ต่อไว้ว่าจะเข้าได้ดี ฝาปิดสนิทหรือไม่ จึงครองผ้าพาดสังฆาฏิ ลงนอนปิดฝาโลง ให้พระภิกษุบังสุกุลแบบศพจริงๆ เรียบร้อยแล้วจึงค่อยเปิดฝา ปรากฏว่า พอเปิดออก กระดิกตัวไม่ได้ เพราะหายใจไม่ออก หมดความรู้สึก อากาศในโลงหมดด้วย โลงปิดสนิทมาก เล่นเอาพระที่ชักบัวสุกุลตกอกตกใจกันอยู่พักหนึ่ง จึงฟื้นขึ้นมา นี่เป็นเครื่องพิจารณามรณานุสสติของเจ้าคุณพี่
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต มีข้าราชบริพารผู้จงรักภักดีบวชถวายพระราชกุศลองค์หนึ่ง บวชอยู่วัดราชบพิตรจนตลอดชีวิต (ดูเหมือนจะชื่อพระยาสีหราชฤทธิไกร) เป็นนายทหารแต่ก็ไม่แน่ใจนัก สืบดูที่วัดราชบพิตรอีกก็จะดี) แต่ท่านผู้นี้มีบุตรภรรยาแล้ว สละครอบครัวออกบวช เจ้าคุณพี่เห็นว่า ท่านเจ้าคุณองค์นั้นบวชอุทิศพระราชกุศลถวายพระพุทะเจ้าหลวง (พ่อ) และท่านบวชอุทิศพระราชกุศลถวายพระมงกุฎเกล้า ฯ (ลูก) จึงอยากได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ให้ข้าพเจ้าไปติดต่อกับร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ พาช่างไปถ่ายที่วัดราชบพิตร (รูปปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติซึ่งยุวพุทธิกษมาคมชลบุรีพิมพ์จำหน่าย) ท่านเจ้าคุณผู้นั้นได้รับความยกย่องให้เป็นพระชั้นฐานานุกรม ได้รับพระราชทานพัดยศสมถ (พัดยอด) เข้าใจว่าได้รับในรัชสมัยล้นเกล้า ฯ พระมงกุฎ ต่อมาเมื่อเจ้าคุณผู้นั้นมรณภาพแล้ว ทางราชการได้นำพัดยศสมถมาถวายเจ้าคุณพี่ แต่ท่านสละสิทธิ์ไม่ขอรับ เพราะท่านต้องการจะปลดเปลื้องภาระให้หมดสิ้นไป ขอในทางปฏิบัติอย่างเดียว คงจะมีความแน่วแน่ใจว่า จะปฏิบัติในทางสัจธรรมโดยไม่ออกจากเขตวัดไปแห่งใดตลอดเวลาต่อมา และไม่ต้องการให้มีอะไรในกุฏิ มีสมบัติอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเป็นข้อผูกพัน ท่านตั้งใจไว้ว่าจะไม่รับนิมนต์ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ และท่านก็ได้ปฏิบัติมาแล้ว
ตอนข้าพเจ้าสึกแล้วถวายนาฬิกาไว้ให้ดูเวลา ๑ เรือน เจ้าคุณพี่ เอาไส้ใช้อยู่พักหนึ่ง ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าท่านส่งนาฬิกานั้นกลับคืนมาเมื่อใด จำได้แต่ท่านบอกว่า ไม่ต้องใช้ต่อไปแล้ว ความรู้สึกจะบอกตัวเอง คือเช้ามืดรู้สึกตัวตื่นขึ้นจะเป็นเวลานั้น เมื่อรู้สึกจะไปห้องน้ำ หรือปัสสาวะจะเป็นเวลานั้น รู้สึกง่วงจะจำวัดจะเป็นเวลานั้น ความรู้สึกของร่างกายที่ฝึกดีแล้วนี้ จะบอกเวลาได้ไม่ผิด นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งในการพยายามฝึกความรู้สึกของร่างกายจนไม่ต้องอาศัยนาฬิกา
ในระยะบวชใหม่ ๆ เจ้าคุณพี่ ไปรับบิณฑบาตที่บ้านทุกวัน โดยเดินออกทางหน้าวัด ผ่านยศเส มหานาค สะพานขาว สะพานเทวกรรม ผ่านหน้าวัดโสมนัส ฯ เข้าบ้านทางตรอกข้างวัด ขากลับมาทางถนนจักรพรรดิ์ ผ่านหน้าวัดสระเกศ เลี้ยวซ้ายสี่แยกแม้นศรี ผ่านโรงเลี้ยงเด็ก เลี้ยวถนนพลับพลาไชย เข้าถนนหลังวัดเทพศิรินทร์ การไปรับบิณฑบาตที่บ้านนี้จำได้ไม่แน่นัก แต่เข้าใจว่า หยุดไปภายหลังเมื่อคุณยายถึงแก่กรรมและเผาแล้ว เมื่อปี ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีที่ข้าพเจ้าบวช ก็ไปบิณฑบาตด้วยกันทุกวัน เวลามีคนจะใส่บาตร ท่านก็ชี้ให้ใส่พระองค์ที่มาข้างหลัง คือข้าพเจ้าและพระพร เพราะถึงแม้รับมาเอง ก็ไม่ได้ฉัน เพราะฉันเฉพาะอาหารเจ ไม่มีเนื้อสัตว์ ซึ่งทางบ้านทำถวาย ตอนที่เลิกบิณฑบาต ก็เนื่องจากความไม่สะดวก เพราะบวชอยู่นาน ก็มีผู้สนใจเกิดศรัทธาท่านมากขึ้น เขาเจตนาจะถวายท่าน จัดไว้โดยเฉพาะท่านองค์เดียว แต่พระองค์อื่นที่ท่านไม่ทราบก็แย่งตัดหน้าไปรับ ทำให้ผู้ที่ตั้งใจ ศรัทธาต่อท่านก็ไม่พอใจ แต่จำใจต้องใส่ เพราะมาเปิดฝาบาตรตรงหน้า ทั้งที่ใจไม่เลื่อมใสพระองค์นั้น ท่านก็เกิดสังเวชขึ้นมา ทั้งอาหารที่รับมามาก ก็ฉันไม่ได้ ถึงเป็นอาหารที่พอฉันได้ ก็มากเกินความจำเป็นคิดว่าควรจะให้พระภิกษุอื่นรับไปดีกว่า เพราะอาหารที่บ้านถวายมาพอดีกับความต้องการแล้ว อย่าให้มากเกินไป ต่อจากนั้นท่านก็เลยเลิกออกบิณฑบาต จึงให้ทางบ้านจัดอาหารตามสั่งมาถวายที่วัดเท่าที่จำเป็น ไม่มาก ไม่น้อย
อีกประการหนึ่งการถึงแก่กรรมของคุณยาย เป็นการพลัดพรากจากไปของผู้ที่เจ้าคุณพี่เคารพบูชาอย่างสูงอีกครั้งหนึ่ง (ครั้งแรก ล้นเกล้า ฯ) ถึงกับปรารภว่าอยากจะออกธุดงค์ไปตามป่า ทางบ้านได้ทำกลดธุดงค์ แต่ก็ไม่ได้ออกธุดงค์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีบางส่วนเก็บไว้ที่บ้าน เพราะหลังจากเผาศพคุณยายแล้ว เจ้าคุณพี่ก็เริ่มไม่ยอมออกจากวัดเลย คุณพ่ออาพาธ พระราชทานเพลิงศพคุณพ่อ คุณแม่เจ็บ เผาศพคุณแม่ ก็ไม่ไป ระหว่างอาพาธและเจ็บ ก็เขียนข้อธรรมไปให้ข้าพเจ้า และญาติผู้ปฏิบัติพยาบาลไข้ ขอให้ช่วยอ่านให้ฟัง เวลาพระราชทานเพลิงและเผา ก็สั่งการให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินการ คุณพ่อพระราชทานเพลิงที่วัดโสมนัส ฯ คุณแม่เผาที่วัดมกุฎ ฯ โดยที่วัดโสมนัส ฯ ยังไม่มีเมรุเผาศพถาวร เจ้าคุณพี่ จึงสั่งการให้จัดสร้างเมรุใช้วางบนที่ลานหินหน้าวัด โดยทำเป็นเมรุสำเร็จ ถอดได้ประกอบตั้งขึ้น ไม่มีการขุดดินเลย เป็นการไม่เบียดเบียนสัตว์ ซึ่งไม่รู้ไม่เห็น ก็จะต้องตายไป เนื่องจากขุดดิน เป็นเวรกรรมผูกพันกันต่อไป เมรุชุดนี้ เมื่อถอดออกเก็บไว้ที่วัดโสมนัส ฯ แล้ว ต่อมาทางวัดได้ขอไปจัดสร้างเป็นเมรุถาวรในต่างจังหวัด การไม่ไปเยี่ยมไข้คุณพ่อคุณแม่ ตลอดจนไม่ไปงานพระราชทานเพลิงศพ และเผาศพคุณพ่อคุณแม่นี้ เข้าใจว่าเนื่องจากการเริ่มจะปฏิบัติไม่ออกจากวัด และไม่รับนิมนต์ต่อไป ผู้นิมนต์ก็คงจะเกรง เห็นแล้วว่า โยมคุณพ่อคุณแม่ของท่านเองก็ยังไม่ไป เพราะท่านรู้แจ้งว่าการพลัดพรากจากกันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน จากนั้น แม้ใครจะนิมนต์ไปในเรื่องอื่น ๆ เจ้าคุณพี่ก็ไม่รับนิมนต์
เจ้าคุณพี่ ประกอบการกุศลเพื่อให้คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ เกิดความปีติปราโมทย์ในผลบุญซึ่งเกิดจากการบริจาค เสียสละ เป็นผลดีแก่จิตใจ ก่อให้เกิดความเมตตา เผื่อแผ่ บรรเทาครามโลภ สืบต่อไปภายหน้า ข้าพเจ้าไม่อยากเขียนจนกลายเป็นเรื่องโอ้อวดเกินไป จะเขียนไว้พอเป็นสังเขป
ตอนก่อนอุปสมบท ทอดกฐินวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง)
เมื่อถึงเวลาก็อ่านหนังสือธรรมะให้คุณยาย คุณแม่ฟังทุกวัน
ได้จัดให้คุณแม่ตักบาตรในพรรษา วันละ ๑๐๐ องค์ หลังจากออกพรรษาแล้ว จำนวนพระที่มารับบาตรน้อยลง (ปกติตอนข้าพเจ้าเด็ก ๆ คุณแม่ตักบาตรวันละ ๑๕ องค์)
วันโกนให้ทานชี ตั้งแต่เช้าถึงเพล บ่ายให้เรื่อยไป คอยจนไม่มีชีผู้มารับอีก
ตอนคุณแม่ร่างกายไม่แข็งแรงตามวัยชรา บางวันถึงวันพระ ไม่สามารถเดินทางไปฟังเทศน์ที่วัดได้ เจ้าคุณพี่ ก็ให้สร้างพระพุทธรูปไว้บูชากราบไหว้ที่บ้าน ๓ องค์ เท่าตัวเจ้าคุณพี่ องค์หนึ่ง เท่าคุณแม่องค์หนึ่ง เท่าคุณพ่อองค์หนึ่ง จารึกชื่อประจำไว้ทุกองค์ (จำได้ว่า สร้างที่บ้านนายอู๊ด บ้านช่างหล่อ องค์ละ ๕๐๐ บาท) และสร้างองค์เล็ก ๆ เป็นพระขัด จารึกชื่อ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อีกด้วย (ดูเหมือนองค์ละ ๘๐ บาท) ทั้งนี้เพื่อให้คุณแม่ทำวัตรไหว้พระแทนไปไหว้ในโบสถ์ที่วัด
ทำบุญอายุ ๕ รอบ ๖๐ ปี คุณพ่อ เป็นการกุศลครั้งใหญ่ มีหนังสือแจกเป็นเทศนาของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิตร ซึ่งเป็นสมเด็จพระอุปัชฌาย์คุณพ่อ กับเทศนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ และเทศนาของพระพุทธวิริยากร เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร คู่สวดของคุณพ่อ กับมีประวัติของคุณพ่อซึ่งเจ้าคุณพี่เป็นผู้เขียนเอง (ข้อความได้ตีพิมพ์ไว้หน้าต้นแล้ว)
ในระยะที่ข้าพเจ้าบวชราวปี ๒๔๗๑ คุณพ่อได้อุปสมบทที่วัดโสมนัสวิหาร ในปีนี้ถึงกับมีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่าบวชทั้งสกุล (จำได้ว่า นายฉอ้อน อำพล หนังสือพิมพ์เดลี่เมล์ เป็นผู้มาถ่ายรูปที่หน้าโบสถ์วัดโสมนัส ฯ เสียดายไม่ได้เก็บรูปนั้นไว้ ไม่นึกว่าจะได้มาคุ้ยเขี่ยเขียนขึ้น) เจ้าคุณพี่ ได้จัดสร้างพระไตรปิฎก (พระธรรม) ๙ ผูก ๙ ตู้ ถวายตามพระอารามต่างๆ รวม ๙ พระอารามเป็นที่ระลึก ที่บานประตูแทนที่จะใช้กระจก กลับใช้ไม้ทึบลงรักสีดำ ติดพระบรมรูปล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖ ตรงกลางในกรอบกระจก ขอบล้อมไม้ แกะเป็นพญานาค ๒ ตัว ทรงเครื่องแบบจอมทัพเรือ ในปกพระไตรปิฎกทุกเล่มมีกระดาษพิมพ์ที่เจ้าคุณพี่ออกแบบเอง เป็นรูปโพธิ์ทอง ตรงกลางมีแก้ว ๓ ดวง หมายถึงรัตนตรัย ลอยอยู่ มีรัศมีรอบสีเหลือง แท่นฐานโพธิ์เขียนว่า “จินตยานนท์อุทิศ” ข้างแท่นเป็นรูปต้นและดอกพุทธรักษา และต้นและดอกบานไม่รู้โรย มีความหมายว่า ร่มโพธิ์พระพุทธเจ้าปกปักรักษาตลอดไปไม่รู้ร่วงโรย ใต้ต้นโพธิ์ลงมาเป็นกรอบเขียนชื่อผู้บวชในคราวนั้น แบ่งเป็น ๒ แถบ แถบซ้ายเป็นฝ่ายชาย แถบขวาเป็นฝ่ายหญิง ฝ่ายชายมี สทฺธมฺมวิจาโรภิกฺขุ (พระนรราชภักดี) ตรอง ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ (พระยานรรัตนราชมานิต ) ตรึก ภูริธมฺมตกฺโกภิกฺขุ (ตริ) สุธมฺมวโร ภิกฺขุ (พร) ฝ่ายหญิงมี อุบาสิกา นางชี นรราชภักดี (พุก) นางชีชุ่ม นางสาวชี ชุบ (รูปโพธิ์ทองที่ท่านออกแบบนั้น บัดนี้ได้มาเป็นรูปหน้าปกหนังสือเล่มนี้)
ถวายที่ดิน ๒ แปลง แปลงหนึ่งรับจำนำไว้หลุด เนื้อที่ ๗ ไร่ อยู่ข้างวัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม ถวายวัดเสน่หา อีกแปลงหนึ่งที่พระราชทาน อยู่สี่แยกราชเทวี ซ้ายมือที่จะไปสะพานหัวช้าง เนื้อที่ ๕ ไร่ เวลานี้มีป้ายชื่อว่า “ซอยนรรัตน” ถวายวัดเทพศิรินทร์ พร้อมด้วยเงิน พระราชทานเพื่อปลูกบ้าน ๑๕,๐๐๐ บาท (พระราชทานไว้ ๑๒,๐๐๐ บาท ได้ดอกเบี้ยจากแบงก์ที่ฝากไว้ ๓,๐๐๐ บาท รวมเป็น ๑๕,๐๐๐ บาท) ขอเขียนรายละเอียดเพิ่มเล็กน้อย เมื่อได้รับพระราชทานที่ดินแล้ว ก็ให้เจ๊กเช่าทำสวนผักอยู่เช่นเดิม ที่ดินเป็นร่องผักขวาง – ที่เรียงลึกเข้าไป เจ้าคุณพี่กะว่าจะปลูกบ้าน โดยที่มีนิสัยชอบต้นผลไม้ จึงให้คุณพ่อเพาะมะม่วงพันธุ์ดี ๆ แล้วเอาไปลงปลูกไว้ตอนหน้าที่ดินเป็นระยะ ๆ เว้นห่างเพื่อเป็นถนนผ่านกลางที่เข้าไป ส่วนตอนในทิ้งที่ว่างไว้เพื่อปลูกบ้าน ต้นมะม่วงที่ปลูกไว้ โตจนมีผล ซิ้มหลี่ผู้เช่าที่ดินเคยเก็บมาฝากเป็นกำนัล พร้อมกับขอผัดส่งค่าเช่าที่ดินซึ่งถูกที่สุดตามที่หลวงเคยเก็บอยู่แล้ว ขณะนี้ผู้เช่าที่ดินของวัดก็คงได้เก็บผลมะม่วงที่คุณพ่อกับข้าพเจ้าและคุณพรช่วยกันเพาะ และปลูกไว้ นอกจากต้นที่กีดขวางการปลูกสร้างอาคารก็ต้องถูกตัดทิ้งไป
ต่อไปนี้เป็นเรื่องอาหารที่จัดถวายเป็นระยะ ๆ
ระยะแรก ออกบิณฑบาต เจ้าคุณพี่ฉันอาหารมื้อเดียวตั้งแต่เริ่มบวชตลอดมา อาหารที่ทางบ้านจัดถวายเป็นอาหารไม่มีเนื้อสัตว์เจือปนเลย ในระยะแรกที่รับบิณฑบาต อาหารที่จัดก็เป็นอาหารเจอย่างที่คนจีนนิยมทำกัน ผู้ทำอาหารคือพี่เชื้อ (นางพิทักษ์ประชาชน) จันทรวณิก เป็นผู้ค้นคว้าจัดทำ คุณน้าชุ่ม คุณครูชุบ เมนะเศวต น้าม้วน ดุลยะเตมีย์ และนางสาวแสงจันทร์ จันทรวณิก ช่วยกันค้นคว้า ช่วยกันปรุงแต่งอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ เช่น ฟองเต้าหู้ แป้ง เป็นเครื่องประกอบ น้ำปลาก็ใช้น้ำปลาถั่ว ทำเป็นแกงจืด ผัด ยำต่างๆ เช่นเดียวกันกับข้าวทั่วไป มีเครื่องหลน เครื่องจิ้ม แต่ไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเลย ของหวานส่วนมากก็ใช้ผลไม้และขนมไทย ๆ มีมะละกอ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะปราง มะม่วง น้อยหน่า ขนมก็มีตะโก้ ขนมหม้อแกง เผือก ถั่วกวน เผือกกวน เป็นต้น และที่ประจำวันคืออ้อยควั่น กำหนดข้อให้ได้เคี้ยวทั้งทางฟันแถบซ้ายและขวาข้างละเท่า ๆ กัน เช่น ๑๒ ข้อ ก็เคี้ยวแถบละ ๖ ข้อ ๑๘ ข้อ ก็เคี้ยวแถบละ ๙ ข้อ เป็นการออกกำลังฟัน เช้าตื่นนอน ตักเกลือใส่ปากอมไว้ก่อน จนอาบน้ำเสร็จจึงสีฟัน
อาหารสำหรับฉัน ถ้าเป็นของน้ำ ใช้ใบตองฉีกสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลนไฟให้อ่อนตัวแตกยาก ซ้อน ๒ ชั้น ห่อขยุ้มโดยวางใบตองลงในชาม ทำให้มีความบุ๋มตรงกลางแล้วตักแกงใส่ รวบริมใบตองขึ้น ผูกมัดด้วยเชือกกล้วยให้แน่น แล้วตัดเหนือจุกที่มัดไว้ให้เรียบร้อย ถ้าเป็นของแห้งก็ห่อใบตองธรรมดา กลัดไม้กลัดแล้วก็ใส่มาในบาตร ส่วนข้าวก็ใช้หุงข้าวไม่เช็ดน้ำ ใส่ลงในก้นบาตรก่อนของอื่น (อยากเล่าเรื่องข้าวไม่เช็ดน้ำสักเล็กน้อย เดิมที่บ้านก็หุงข้างเช็ดน้ำธรรมดา เจ้าคุณพี่บอกว่าในหลวงเสวยข้าวหุงไม่เช็ดน้ำ รับสั่งว่าของดี ๆ ในข้าวกลับเอาไปให้หมากิน คนกลับกินกาก เจ้าคุณพี่มาสั่งให้ทางบ้านหุงข้าวไม่เช็ดน้ำบ้าง แม้ข้าวหุงใส่บาตรเช้าก็ให้หุงไม่เช็ดน้ำ เล่นเอาข้าพเจ้าและเด็ก ๆ ที่มีหน้าที่หุงข้าวแย่ไปพักหนึ่งกว่าจะชำนาญ ซ้ำร้ายระยะนั้นใช้หม้อทองเหลืองหุงข้าวด้วย กว่าจะหมุนดงจนข้าวสุก ทุลักทุเลอย่างยิ่ง บางวันง่วงนั่งหลับหน้าเตาไฟไม่ทันหมุนตอนข้าวเดือด ข้าวไหม้ทั้งหม้อ ต้องรับเหมากินข้าวไหม้เป็นการลงโทษ) เวลาฉันของเจ้าคุณพี่ปกติลงมือ ๔ โมงเช้า (๑๐.๐๐ น.) กว่าจะเสร็จก็ราว ๕ โมงครึ่ง (๑๑.๓๐ น.) นับเป็นเวลานานพอดู ทั้งนี้เพราะเจ้าคุณพี่ต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเท่าที่จะเคี้ยวได้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยกระเพาะไม่ให้ต้องทำงานหนัก ถ้าอาหารหยาบ กระเพาะก็เหนื่อยมากเสียเวลา จึงยอมเสียเวลาเสียแต่ตอนในปากดีกว่า
ระยะต่อมา เมื่อไม่ได้มาบิณฑบาตที่บ้าน ก็คงใช้อาหารตามที่กล่าวมาแล้ว ใช้ภาชนะขันอลูมิเนียมใบใหญ่ ๆ ตัดใบตองรองก้นขัน แล้วตักข้าวใส่ลงไป ส่วนกับข้าวและของหวานก็ห่อวางลงไปข้างบนเช่นเดียวกับที่ใส่บาตร เมื่อจัดของลงขันเรียบร้อยแล้ว ก็ตัดใบตองกลม ๆ ปิดปากขัน ห่อด้วยผ้าเหลืองสี่เหลี่ยมชั้นหนึ่ง แล้วห่อทับด้วยผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง ให้เด็กนำไปถวายตอนก่อนลงโบสถ์ หรือออกจากโบสถ์ตอนเช้า ใช้ขันสองใบสับเปลี่ยนกัน
ระยะต่อมา เริ่มแต่พ.ศ. ๒๔๙๘ เจ้าคุณพี่ฟันชำรุดมากขึ้น ไม่สะดวกในการขบเคี้ยว ประกอบกับเห็นว่า การทำอาหารเจเป็นภาระไม่น้อยไปกว่าอาหารธรรมดา เป็นภาระแก่ผู้จัดทำ จึงให้จัดทำอาหารใหม่ เป็นอาหารข้าวกับถั่ว สำหรับข้าวนั้น ใช้ข้าวสารล้างสะอาด ถั่วเขียวล้างสะอาดเช่นกัน ส่วนละเท่ากัน ล้างแล้วตากแดดให้แห้งบดเป็นผง เวลาจะทำให้สุก ตวงข้าว ถั่วบดผง ปริมาณเท่าที่สั่ง ใส่กระทะทองใส่น้ำพอควร กวนให้สุก แล้วตักใส่ปิ่นโตอลูมิเนียมนึ่งอีกครั้งหนึ่งใช้แทนข้าว ส่วนกับก็ใช้ถั่วต่าง ๆ มี ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วลิสง ต้มรวมกัน กะว่าจะใช้ได้สัก ๖-๗ วัน ต้มเปื่อยดีแล้ว โม่ให้ละเอียด ใส่กระทะกวน ปรุงรสเปรี้ยว เค็ม หวาน ด้วย ส้มมะขามเปียก เกลือ น้ำตาลทรายแดง ปรุงรสให้กลมกล่อม กวนจนแห้ง อาหารกวนนี้ ใช้แทนกับข้าว สำหรับของหวาน ใช้กล้วยน้ำว้า ๓ ผล และผลไม้อย่างอื่นที่ไม่แข็ง เช่น มะละกอ มะม่วงสุก ส้มโอ ส้มเขียวหวาน นอกจากนี้ก็มีมะนาว ๖ – ๙ กลีบ สุดแต่ผลเล็กใหญ่ แกะเอาแต่เนื้อ และมีใบไม่สีเขียวตำ มีขนาดผลมะนาวขนาดกลาง อาหารที่เปลี่ยนใหม่นี้ ไม่ใช้ภาชนะขันอลูมิเนียม เปลี่ยนเป็นกะโหลกขนาดเขื่อง (หามะพร้าวขนาดที่ต้องการ ปอกเปลือก ขัดสะอาด เลื่อยตัดทางที่มีรูออก ทำเป็นฝา ขูดเนื้อทิ้ง ขัดภายในตัวกะโหลกและฝาให้สะอาด และฝาที่มีรู ใช้เทียนสีผึ้งอุด) การบรรจุอาหารลงกะโหลก ใส่ข้าวกับถั่วที่ใช้แทนข้าวลงไปก่อนก้นกะโหลก เอาใบตองปิดรองลงไป เอาถั่วกวนที่ใช้แทนกับข้าวใส่ลงไป เอาใบตองรองคั่นอีก วางกล้วยและผลไม้ที่ใช้เป็นของหวานลงไปพร้อมกับมะนาว ส่วนฝาปิดที่เอาใบไม้สีเขียวตำให้ละเอียดใส่กดลงไป ปิดฝากะโหลก ห่อผ้าสองชั้น มัดด้วยเชือกสีเหลือง ระยะนี้มีการขลุกขลักอยู่บ้าง ผู้ส่งเป็นเด็กข้างบ้าน ชื่อ นายพรหม ๆ ใช้จักรยานขี่มาส่ง โดยเอากะโหลกผูกวางบนตะแกรงท้ายรถ โดยที่กะโหลกมีลักษณะก้นเป็นส่วนโค้ง วางไม่แนบสนิทกับตะแกรงรถ บางวันผูกไม่แน่นดี กะโหลกก็คลายจากเชือก ตกหล่นลงไปกลิ้งอยู่กลางถนน ตอนจะเอาไปถวายอาหารก็ปนกันเละเทะ ต้องเอากลับไปบ้านรีบทำไปถวายใหม่ นับเป็นวิบากพอดู กะโหลกก็ใช้สองใบสลับเปลี่ยนกัน
ระยะต่อมา คือระยะสุดท้าย ส่วนมากผู้ส่งเป็นนักเรียน เจ้าคุณพี่ จึงสั่งให้ทำภาชนะใส่อาหารใหม่ เป็นกล่องอลูมิเนียมรูปแบน เหมาะที่จะใส่รวมไปในกระเป๋าหนังสือ ส่วนอาหารก็เปลี่ยนบ้างเล็กน้อย ซึ่งอาหารระยะหลังนี้ เนิ่นนานมาถึงรวม ๒๕ ปี จนถึงวันก่อนมรณภาพ
อาหารประกอบด้วย
๑. มะนาว ผลขนาดกลาง แกะเอาแต่เนื้อเป็นกลีบ ๆ ๖ – ๙ กลีบ (เพิ่มลดตามขนาดของผลเล็กหรือใหญ่)
๒. ใบไม้สีเขียว (ใบไม้ที่ใช้รับประทานได้) ตำละเอียด ใช้ขนาดประมาณเท่าผลมะนาวขนาดกลาง (โดยปกติใช้ใบฝรั่ง เพราะมีต้นอยู่ที่บ้าน แต่จะใช้ใบไม้อื่น เช่น ใบสะเดา ใบกระถิน ใบมะม่วง ใบมะยม ใบมะเฟือง ใบก้ามปู ฯลฯ ก็ได้)
๓. อาหารกวน ใช้แทนข้าว
๔. ถั่วเขียวและข้าวสาร ส่วนผสมเท่ากัน โม่ละเอียด ใช้แทนข้าว
๕. มันเทศนึ่ง
๖. กล้วยน้ำว้า
๗. ของหวาน ขนมกวนแห้ง ๆ เช่น ถั่วกวน เผือกกวน มันกวน ข้าวตู ฯลฯ
อาหารกวน ข้อ ๓ ประกอบด้วย ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วเหลือง และถั่วลิสง ส่วนละเท่า ๆ กัน รวมต้มให้เปื่อย โม่ให้ละเอียด ใส่กระทะกวน ผสมเกลือ น้ำตาลทรายแดง และส้มมะขามเปียก ปรุงรสให้กลมกล่อม กวนจนแห้ง คราวหนึ่ง ๆ เก็บไว้ใช้ได้ประมาณ ๑ อาทิตย์
ภาชนะใส่อาหาร กล่องอลูมิเนียมมีฝาปิด สี่เหลี่ยมผืนผ้า หนาประมาณ ๑ นิ้ว กว้างประมาณ ๖ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๐ นิ้ว
เตรียมอาหารเพื่อจัดลงกล่องในตอนเช้า มันเทศล้างสะอาด ไม่ปอกเปลือก ตัดเป็นชิ้น ๆ พอใส่กล่องได้ ๙ ชิ้น ใส่ลังถึง
ตวงถั่วเขียวผสมข้าวสารที่โม่ละเอียดไว้ตามข้อ ๔ ราว ๓ ถ้วยตะไลขนาดใหญ่ ผสมน้ำพอสมควร ใส่กระทะทองกวนจนสุก ตักใส่ปิ่นโตอลูมิเนียมวางลงในลังถึง นึ่งรวมกับมันเทศ ปิดฝาลังถึง นึ่งจนมันเทศสุก
มะนาว
ใบไม้ตำ กล้วยน้ำว้า
มันเทศนึ่ง อาหารกวน
ถั่วเขียว - ขนมหวาน
ผสมข้าวสาร
ใช้ใบตองรองกล่องเสียก่อน กะแบ่งกล่องเป็น ๓ ช่องเท่ากัน แล้วจัดอาหารกล่อง ดังนี้
ช่องซ้าย วางมันเทศนึ่ง ๙ ชิ้น
ช่องกลาง วางมะนาวสดลงตรงกลาง กลบด้วยใบไม้ตำ กลบด้วยอาหารกวนตามข้อ ๓ กลบด้วยถั่วเขียวผสมข้าวสาร ตามข้อ ๔ ซึ่งนึ่งสุกแล้ว
ช่องขวา ตอนบนวางกล้วยน้ำว้าปอกแล้ว ตัดแบ่งไม่ไห้ขาดจากกัน ผลละ ๓ ท่อน รวม ๓ ผล ตอนล่างวางของหวาน ๙ คำ
เสร็จแล้วตัดใบตองปิดอาหารที่จัดเสร็จเรียบร้อยแล้วนี้ ปิดฝากล่อง ฝากล่องจะสูงกว่าพื้นกล่องราวครึ่งนิ้ว เสร็จแล้วห่อด้วยผ้าเหลือง มัดด้วยเชือกสีเหลือง ห่อด้วยพลาสติกสีขาว มัดด้วยเชือกสีแดง ใส่ลงในถุงพลาสติก (เพราะระยะนี้ใช้ถุงพลาสติก) รัดยางเรียบร้อย ส่งมาถวายเป็นประจำทุกวัน ในเวลา ๘.๐๐ น.
สำหรับอาหารกวน ที่ใช้แทนกับข้าวในข้อ ๓ ต่อมาภายหลัง ปรากฏว่าในระยะวันที่ ๖ – ๗ มักจะไม่ค่อยดี เพราะเป็นของกวน พอกระทบอากาศร้อนจัด จะเป็นเหงื่อ กลิ่นรสเปลี่ยนไป จึงต้องเปลี่ยนเป็นใช้น้ำตาลทราย เกลือป่น น้ำพริกเผาห่อใบตองแยกออกเป็นห่อ ๆ รวม ๓ ห่อแทน และเพิ่มปริมาณข้าว – ถั่วเขียวกวนที่ใช้แทนข้าวขึ้นบ้างเล็กน้อย
ต่อมาก็มีข่าวเล่าลือว่า เจ้าคุณพี่ ปลุกเสกพระเครื่อง มีท่านที่เคารพนับถือเจ้าคุณพี่ส่วนมากมีความสงสัย เพราะเจ้าคุณพี่ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เมื่อทราบว่าท่านปลุกเสกพระ ซึ่งขัดกับความไม่ยึดถือ ข้าพเจ้าก็ไปนมัสการถามถึงเรื่องนี้ ท่านก็บอกว่า พระที่ปลุกเสกนั้นท่านไม่ได้เป็นผู้ทำขึ้น เพราะท่านเชื่อในหลักธรรม ใครทำกรรมดี ผลของความดีก็คุ้มครองอยู่แล้ว สิ่งอื่นนั้นไม่ใช่เนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา ท่านไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะปลุกเสก แต่มีพระในวัดและฆราวาสไม่น้อย ที่เคารพนับถือเจ้าคุณพี่ มีเจตนาดีทำขึ้น ได้นำมาขอร้องให้ช่วยใช้พลังปลุกเสก เพื่ออนุชนรุ่นหลังมีไว้เป็นอนุสรณ์ และทั้งจะขายนำเงินไปสร้างโบสถ์ และโรงเรียนเป็นการสร้างกุศล
เมื่อได้ทราบจากเจ้าคุณพี่เช่นนี้แล้ว ก็นึกว่า หากตัวข้าพเจ้าเอง เป็นอย่างที่เจ้าคุณพี่มีเหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ข้าพเจ้าก็นึกไม่ออก เพราะท่านเคยปฏิเสธเรื่องเครื่องรางของขลัง เมื่อมีผู้มาขอก่อนแล้ว ว่าท่านไม่มี ของดีอยู่ที่ตัวที่ใจของเราทุกคน แต่นี่ท่านไม่ได้ทำเอง มีผู้ทำมาด้วยความหวังดี เพราะรู้ว่าระยะนี้ท่านเจ้าคุณพี่สู้สึกจะเบื่อสังขาร หากเมื่อท่านทิ้งสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ ผู้ทำอยากให้มีอนุสรณ์ของท่านอยู่ไว้ในแผ่นดินไทย ทั้งยังมีประโยชน์แก่ชาติ และแก่ผู้ยังไม่บรรลุทางศาสนา ยากได้ไว้เคารพบูชา จึงได้เห็นดีเห็นชอบ พากันสร้างพระให้ท่านใช้กำลังปลุกเสก ทั้งชี้แจงให้เหตุผลว่า ยุคนี้บ้านเมืองคับขัน ชาวไทยส่วนมากต้องการกำลังใจ เพื่อป้องกันรักษาชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ หากมีสิ่งยึดถือเป็นพลังใจที่จะช่วยชาติได้ทางอ้อม ทั้งจะเป็นเครื่องคุ้มกันให้กำลังเข้มแข็งขึ้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ พระเจ้าคุณนรรัตน ฯ จึงได้เกิดขึ้น ถึงแม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังมีอนุสรณ์แทนตัวท่านตลอดไป และจะจำหน่ายนำเงินมาสร้างบุญกุศล สร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียน นี่เป็นต้นเหตุที่ข่าวว่า ท่านเจ้าคุณพี่สร้างพระ
บุตรชายคนที่สามของข้าพเจ้าได้ไปหาเจ้าคุณลุง เพื่อขอพระที่ปลุกเสก แต่ท่านบอกว่าไม่ใช่พระของท่าน ถ้าอยากได้ก็ไปซื้อ เขาทำขายไม่ได้ทำแจก ตกลงลูกชายข้าพเจ้าก็ต้องไปซื้อเช่นเดียวกันกับผู้ที่อยากได้ ส่วนข้าพเจ้าตกหนัก เพราะเป็นน้องชายคนเดียวของท่าน พบหน้าคนรู้จักก็มักจะขอแต่พระเจ้าคุณพี่ปลุกเสก และคนส่วนมากนิยม เพราะถือว่าท่านบริสุทธิ์ มีพลังจิตสูง คงจะเป็นพระที่ดีต่อไป ผลที่สุด ข้าพเจ้าก็ต้องลงทุนซื้อเช่นเดียวกัน แต่เพื่อสำหรับไว้แจกเพื่อนที่คอยทวง ข้าพเจ้าคิดว่าการปลุกเสก เจ้าคุณพี่ คงไม่ยินดียินร้าย แต่คนส่วนมากคิดว่าเพียงแต่ท่านแตะต้องก็ศักดิ์สิทธิ์ เพราะท่านมีพลังจิตสูง ใจบริสุทธิ์ จึงมีผู้นิยมมาก นับว่าเป็นของขลังในเวลานี้
เมื่อเจ้าคุณพี่เริ่มอาพาธ โดยเป็นเม็ดที่คอ ก็ส่งอาหารมาถวายตามปกติเรื่อยมา วันหนึ่ง อาหารที่ส่งมาถวาย ไม่ฉัน ส่งกลับไป ในตอนเย็น ข้าพเจ้าจึงไปวัด ทราบว่า เม็ดที่คอแตกเป็นแผล และมีโกศลและคุณหมอไพบูลย์ปฏิบัติอยู่ เจ้าคุณพี่ บอกว่า อาหารแห้งที่เคยฉันอยู่เดิม ฉันไม่สะดวก กลืนยาก พี่เลื่อนได้จัดทำอาหารน้ำ ๆ เป็นซุป และอาหารอ่อน ๆ ส่งมาถวาย คุณตริ ฯ ทำถวายมานานแล้ว ให้พี่เขาทำถวาย เป็นการฉลองศรัทธาเสียบ้างก็ดี จะอยู่ฉันได้อีกไม่กี่วัน ถ้าจะทำถวายมา ก็ให้ทำอาหารอย่างเหลว ๆ ใช้หลอดดูดได้ ข้าพเจ้าก็ยังจัดทำอาหารแบบซุบ ถวายไปแทนอาหารเดิม ระยะหลังนี้มีเวลา ๕๐ วันเศษ
นึกและเขียนมาได้เพียงนี้
ตริ จินตยานนท์
๒๘ พ.ย. ๒๕๑๔
เมื่ออนุสรณ์ “ธมฺวิตกฺโก ภิกฺขุ” พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ได้แจกในวันพระราชทานเพลิงเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ครั้งนั้นมีเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้ลง ยังไม่สมบูรณ์ เป็นโอกาสควรนำมากล่าวรวมในครั้งนี้
ข้าพเจ้าทราบข่าวเพิ่มเติมภายหลังเมื่อหนังสือเย็บเล่มเรียบร้อยแล้ว จะถึงหมายกำหนดวันงาน แก้ไขอะไรไม่ได้ เพียงเตือนให้คุณตริ ฯ บันทึกไว้ด้วย เพื่อข้าพเจ้าจะนำเข้าชุดกฎแห่งกรรม ก็จะเพิ่มเติมออกไป เพราะขาดประวัติสำคัญตอนหนึ่งที่ควรนำมากล่าว คุณตริ ฯ ก็ได้ทวนความจำและบันทึกมาว่า
เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากประเทศไทยเราได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ชาติไทยเราจึงตกอยู่ในฐานะสงคราม ต่างถือว่าเป็นข้าศึกศัตรูต่อกัน เพราะรัฐบาลไทยเราได้ยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านและเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย คุณตริฯ บอกว่า จำได้ว่า เที่ยงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เสียงสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้นอย่างโหยหวน บางท่านได้ยินแล้ว ความหนาวเย็นเข้าจับขั้วหัวใจ เหมือนจะเป็นไข้จับสั่น มันเป็นเสียงสัญญาณของมรณภัยจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ไม่ทราบว่าใครจะถึงฆาต เพราะการทิ้งระเบิดทุกครั้ง ต่างก็ย่อมจะมีความหวาดหวั่นกลัวอันตรายอยู่แทบทุกตัวคน เพียงแต่มีความรู้สึกมากหรือน้อยเท่านั้น มิใช่ห่วงแต่ตัวเองฝ่ายเดียว ยังห่วงถึงญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่อยู่ในเขตพระนครแต่อยู่คนละตำบล
เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณภัยแล้ว ไม่มีใครนิ่งนอนใจ ต่างก็วิ่งเข้าหาที่กำบังหลบให้พ้นภัยอันตราย หลุมหลบภัยสาธารณะก็มีคนวิ่งเข้าไปหลบจนแน่นล้น เพราะต่างก็รู้ถึงอำนาจของลูกระเบิดดีว่าร้ายแรงเพียงใด ต่างก็กลัวความตายด้วยกันทุกคน ไม่ช้าประชาชนก็หลบหายไป ตามถนนหนทางเงียบสงบพระนครเหมือนเมืองร้าง แม้สุนัขเคยวิ่งเล่นกันเพ่นพ่านอยู่กลางถนนก็หายไปหมดโดยสัญชาตญาณ จากนั้นเสียงสัญญาณภัยก็สงบลง ในพระนครก็เงียบอย่างเยือกเย็น ทุกคนต่างก็คอยฟังว่าเครื่องบินข้าศึกจะเข้าโจมตีทางทิศทางใด จิตใจเต้นระทึกคอยฟังว่าเมื่อไหร่จะได้ยินเสียงระเบิด และเสียงปืนต่อสู้อากาศยานยิงจากพื้นดินสกัดเครื่องบิน ไม่นานเสียงเครื่องบินบี ๒๙ ได้บินมาแต่ไกลและค่อยๆ ดังขั้นเมื่อใกล้เข้ามา ไม่นานเสียงเข้ามาใกล้ ไม่ช้าเครื่องบินก็บินอยู่บนอากาศเหนือกลางใจเมืองหลวงแล้ว เครื่องบินเป็นฝูงๆ บินไปบินมาเหนือพระนคร เสียงดังกึกก้องท้องฟ้าทั่วไป เป็นเสียงที่รบกวนประสาทสำหรับผู้ที่หวาดกลัวอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้เคราะห์ร้ายเคราะห์ดี เวลานั้นเขตพระนครมีจุดเป้าหมายหลายจุดที่จะทิ้งระเบิดทำลาย เสียง ป.ต.อ. ภาคพื้นดินตามจุด ได้ยิงเพื่อสกัดกั้น แต่ก็ไม่สู้จะได้ผลนัก
ครั้งนั้น เครื่องบิน บี ๒๙ ฝูงหนึ่งบินวนเวียนมุ่งหน้าหาจุดหมายที่จะทิ้งระเบิด รู้สึกว่า ข้าศึกตั้งใจจะทำลายสถานีหัวลำโพงและโรงรถจักรของกรมรถไฟ ที่พักสินค้าเพื่อตัดกำลังขนส่ง เมื่อเครื่องบินได้วนเวียนอยู่เหนือท้องฟ้าเบื้องบนกลางกรุงแล้ว ไม่ช้าก็ปล่อยลูกระเบิดลงมา แต่เครื่องบิน บินสูงเกินไป ไม่สามารถจะทิ้งลงถูกตรงจุดเป้าหมาย เพราะไม่กล้าบินลงระยะต่ำ เพราะหน่วยปืนต่อสู้เครื่องบินทางอากาศจากภาคพื้นดิน ได้ระดมยิงสกัดกั้นการโจมตีอย่างหนัก เสียงระเบิดดังกึกก้องในพระนคร เสียงสั่นสะท้านทั่วไป เป็นเสียงที่น่าสยดสยองอันน่าสะพรึงกลัว เขย่าขวัญของประชาชนชาวบ้านชาวเมือง ทั้งหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ ทั้งหญิงชายที่อยู่ในขอบเขตของเสียง ต่างขวัญหนีดีฝ่อด้วยความหวาดกลัว เพราะทุกครั้งลูกระเบิดตกลงในกลางกรุง เสียงกึกก้องของระเบิดเหมือนเสียงมฤตยูที่เอื้อมมาปลิดชีวิตมนุษย์ทุกครั้งไปมากบ้างน้อยบ้าง
ครั้งนั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดของข้าศึก ได้บินวนเวียนอยู่เหนือท้องฟ้าระยะสูง เพื่อพ้นระยะปืน ป.ต.อ. เป้าหมายจะทิ้งตรงจุดสถานีรถไฟหัวลำโพง และขบวนรถไฟที่จอดอยู่ในเขตสถานี แต่การทิ้งระเบิดครั้งนั้นพลาดเป้าหมาย ลูกระเบิดตกลงในเขตบริเวณวัดเทพศิรินทราวาส ระเบิดดังกึกก้อง ได้ทำลายกุฏิในบริเวณวัดหลายหลัง เวลานั้นพระสงฆ์สามเณร และอุบาสกอุบาสิกาส่วนมากได้หลบออกจากบริเวณวัดไปก่อนแล้ว บริเวณนั้นไม่มีใคร นอกจากพระภิกษุ “ธมฺวิตกฺโก ภิกฺขุ” พระยานรรัตนราชมานิตท่านอยู่ในเขตบริเวณนั้นองค์เดียวและเข้ากุฏิ มิได้หวาดกลัวมหาภัยจากลูกระเบิด
คุณตริ ฯ ได้บอกว่า วันนั้นเครื่องบินเข้าโจมตีทิ้งระเบิดสถานีหัวลำโพง และทราบว่าทิ้งพลาด ลูกระเบิดตกลงในเขตบริเวณวัดเทพศิรินทราวาส เพราะบินสูง ถ้าบินต่ำก็กลัวปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งระดมยิงอย่างหนาแน่นจากภาคพื้นดิน เพราะอยู่สูงจึงขาดความแม่นยำ ในเวลานั้น ผมอยู่ที่กระทรวงการคลังในวังหลวง ผมมีความร้อนใจวิตกเป็นห่วงเจ้าคุณพี่มาก จึงรีบวิ่งบ้างเดินบ้างจากวังหลวงมุ่งหน้าจะให้ถึงวัดเทพฯ เร็วที่สุดเพราะใจร้อน แต่ขณะนั้นยังไม่มีสัญญาณปลอดภัยทางอากาศ ยวดยานทุกชนิดต้องหยุดข้างถนนหมดทุกคัน นอกจากรถเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยทางอากาศ ผมจึงหาทางเดินลัดตัดตรงเข้าไปถึงทางจะเข้าวัด แต่ผมก็เข้าไปในเขตวัดไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหารคอยกันไม่ยอมให้ผู้คนเข้าไปในบริเวณที่ถูกระเบิด เพราะเกรงกลัวว่ายังมีลูกระเบิดทิ้งลงมายังไม่ทันระเบิดตกค้างอยู่ แต่ผมคุ้นกับทางเข้าในเขตวัดหลายทาง จึงได้พยายามเล็ดลอดเข้าไปทางหลังเมรุ แล้วปีนกำแพงลอดลูกกรงแถวกุฏิท่านพระครูปลัดวรเข้าไปได้ ในวัดเงียบสงัดไม่มีผู้คนในบริเวณนั้น ผมร้อนใจและตกใจวิ่งตรงไปกุฏิเจ้าคุณพี่ เห็นกุฏิอื่น ๒ - ๓ หลังถูกระเบิดก็ใจหาย เวลานั้นเงียบจากเสียงเครื่องบิน แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณปลอดภัย
เมื่อผมไปถึงกุฏิเจ้าคุณพี่ ก็ได้พบเจ้าคุณพี่อยู่ในกุฏิครองจีวรพาดสังฆาฏิเรียบร้อย ท่านนั่งทำสมาธิอยู่ใกล้กำแพง ตรงหน้าต่างมีเศษผงปูนขาวและผงอิฐที่หล่นเกลื่อนจากแรงระเบิดติดตามตัว หน้า แขนของท่านและจีวรเต็มไปหมด ความแรงของระเบิดสั่นสะเทือน ทำให้กุฏิของเจ้าคุณพี่ท่านชำรุด กระเบื้องมุงหลังคารวน บริเวณใกล้โรงเรียนเทพศิรินทร์ตอนหน้าวัด คณะเหนือพังไปหลายหลังด้วยแรงระเบิดและสั่นสะเทือนของระเบิด รวมทั้งกุฏิที่อยู่ของท่านอาจารย์ ภายหลังคุณนายทองพูน ภรรยาหลวงแผ้วพานชน ผู้เลื่อมใสเจ้าคุณพี่ มีจิตศรัทธามาซ่อมหลังคากุฏิของเจ้าคุณพี่ และกุฏิข้างเคียงอีก ๔ หลัง การทิ้งระเบิดครั้งนั้น ทำให้ตึกวิทยาศาสตร์ ตึกแม้นนฤมิตพัง โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนพระเณร (ตึกนิภานพดล) ก็โดนแรงระเบิดชำรุดเสียหายไม่น้อย เมื่อเงียบเสียงเครื่องบินแล้วเสียงสัญญาณปลอดภัยก็ดังขึ้น ท่านอาจารย์มหาอำพัน บุญ-หลง บอกว่า กลับมาดูกุฏิ เห็นถูกระเบิดพังทลายหมด ต้องไปอาศัยศาลาหน้ากุฏิอยู่ชั่วคราว เย็นวันนั้นท่านพระภิกษุเจ้าคุณนรรัตน ฯ ได้มาชวนท่านอาจารย์ลงโบสถ์ไหว้พระทำวัตรเย็นเพียงสององค์เท่านั้น
การที่พระนครได้ถูกโจมตีด้วยทิ้งระเบิดทางอากาศ เจ้าคุณพี่ ท่านมีจิตมั่น ไม่หวั่นไหวหวาดกลัว มิได้หลบภัยไปไหน อยู่ใกล้เคียงกับที่ระเบิดลง เมื่อเครื่องบินวนเวียนอยู่บนท้องฟ้าเหนือวัดเหนือสถานีรถไฟ โปรยลูกระเบิดลงมาถูกบริเวณวัดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ท่านบอกว่า ท่านแผ่เมตตาจิต ขอให้มีแต่มิตรไม่มีข้าศึกศัตรู อย่าฆ่ากันเลย ขออย่าให้เป็นเวรกรรมต่อกันและกัน จิตของท่านแน่วแน่มั่นคง ไม่สนใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าร้ายหรือดี เห็นจะเป็นเพราะท่านได้สละสิ้นทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง กิเลส ตัณหา ความโลภ รัก โกรธ เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ บริจาคทรัพย์สมบัติทั้งสิ้น อุทิศหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดทั้งชีวิตก็อุทิศเพื่อพระศาสนา ปฏิบัติศีลธรรมสม่ำเสมอ มิได้ขาดตกบกพร่อง ตลอดลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ก็มิได้ขาดตลอดมา ไม่ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามหรือเวลาสงบ ท่านก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน จิตใจจึงบริสุทธิ์ใสสะอาดไม่มีราคี
มีหลายท่านทราบว่า ข้าพเจ้าจะเกี่ยวข้องกับการเขียนประวัติของท่าน “ธมฺวิตกฺโก” จึงถามข้าพเจ้าว่า “จริงไหม เขาลือกันว่าท่านบรรลุขั้นพระอรหันต์” ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วก็งง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เกินความสามารถความรู้ที่ข้าพเจ้าจะตอบได้ ก็ได้แต่เปรียบให้ท่านฟังว่า ข้าพเจ้ามีความรู้เพียง ก.ข. ถ้าจะให้ตอบความรู้ชั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่มีทางจะตอบได้ เรียนไม่ถึง แต่ก็ได้ยินท่านผู้มีความรู้ทางธรรมสูง ท่านพูดเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าเดาว่าจะผิดหรือถูก
แต่ข้าพเจ้าแน่ใจว่า เมื่อยังมีพระพุทธศาสนา มีพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตราบใด ตราบนั้นแผ่นดินจะไม่ว่างเว้นพระอรหันต์ แต่เราไม่สามารถจะรู้จะทราบได้ว่า องค์ใดท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น
ข้าพเจ้ามิได้เขียนในเรื่องเกี่ยวกับอภินิหาร และเรื่องกายทิพย์อย่างที่ข่าวเล่าลือกันมากมาย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เมื่อท่านได้รับและได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงจะทราบแล้วว่า บัดนี้ สังขารของท่าน พระธมฺวิตกฺโก กำลัง หรือได้แปลงสภาพเป็นเถ้าถ่านอัฐิไปหมดแล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงพระราชทานเพลิง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย เหลือไว้แต่ความดีที่ท่านได้ปฏิบัติเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้เราท่านได้ระลึกถึงตลอดไป
ส่วนอัฐิของท่าน พวกเจ้าภาพได้ตกลงกัน จะรวบรวมทั้งหมดบรรจุไว้ในเจดีย์ทองแดงรูปทรงพระปฐมเจดีย์ซึ่งสร้างไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป นับว่าชาติไทยและพวกชาวพุทะทั้งหลายได้สูญเสียพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและสูงด้วยความกตัญญู ซึ่งพวกเราไม่สามารถจะลืมท่านได้ตลอดกาล
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
จาก
บันทึกประวัติจากความทรงจำ โดย ตริ จินตยานนท์
๔ (ต่อ)
หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชทานเพลิง “ธมฺวิตกฺโก ภิกฺขุ” พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ทั้งสองพระองค์ งานได้ผ่านไปแล้วคุณตริ จินตยานนท์ ผู้น้องท่านเจ้าคุณ ฯ ก็ได้พยายามบันทึกนำมาให้ข้าพเจ้าช่วยจัดการต่อเติม เพื่อให้สมบูรณ์ตรงกับความจริงเหตุการณ์ต่อจากฉบับเดิม เพราะประวัติเรื่องของท่านธมฺวิตกฺโก ฉบับที่แจกในวันพระราชทานเพลิงนั้น ตอนท้ายข้าพเจ้าได้เขียนว่า
“ส่วนอัฐิของท่านธมฺวิตกฺโก (ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) เจ้าภาพได้ตกลงจะรวบรวมทั้งหมดบรรจุไว้ในเจดีย์ทองแดง รูปทรงพระปฐมเจดีย์ ไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาส“ นั้นบัดนี้ข้อความต้องเปลี่ยนแปลงบางตอน เพราะได้รับพระมหากรุณาของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมอัฐิและอังคาร เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาส ข้าพเจ้าทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ และมานึกดูว่า พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ท่านสูงด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อราชวงศ์จักรี มุ่งหน้าจะปฏิบัติธรรมด้วยศีลบริสุทธิ์สะอาดมิได้เห็นแก่ลาภ ยศ สรรเสริญ ยากที่บุคคลในยุคปัจจุบันนี้จะปฏิบัติได้ ทุกครั้งนึกถึงความกตัญญูแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องนึกถึงท่านเป็นตัวอย่างที่ดี เยี่ยมยอดแก่อนุชนรุ่นหลัง ฉะนั้นความดีที่ท่านได้ปฏิบัติเป็นที่ซาบซึ้งแก่บรรพชิต อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไป ทั้งชาวต่างประเทศ ตลอดทั้งองค์พระประมุขของชาติก็ทรงยกย่อง ผลแห่งกรรมดีนั้นย่อมเป็นเงาอยู่ตลอดไป นึกถึงครั้งใด ก็เห็นความดีของท่านในทางความรู้สึก ดังข้อความต่อไปนี้เป็นบันทึกของคุณตริ จินตยานนท์
บ่ายวันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ก่อนวันจะพระราชทานเพลิง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธี มีสวดมนต์และเทศน์ ผมสังเกตดูตลอดเวลา รู้สึกทอดพระเนตรที่โกศและรูป แสดงพระอิริยาบถทรงเป็นห่วง
รุ่งเช้าวันที่ ๒๒ มีการเลี้ยงพระที่สวดมนต์วันก่อน เช้าวันนั้น สมเด็จ ฯ มิได้เสด็จพระราชดำเนินมาเจ้าหน้าที่พระราชวังจึงให้ผมประเคนอาหาร และเครื่องไทยธรรมของหลวง แล้วกรวดน้ำ เสร็จพิธีตอนเช้า
หลังจากเสร็จพิธี คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ได้เรียกผมไปพบบอกว่า “สมเด็จ ฯ มีพระราชเสาวนีย์ ให้มานมัสการ ท่านเจ้าอาวาสและบอกญาติ ๆ ท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ ด้วยว่า อัฐิของท่านเจ้าคุณ ฯ นั้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ห้ามแบ่งแยกออกไปเป็นอันขาด ภายหลังจะโปรดเกล้า ฯ จัดสร้างอนุสาวรีย์พระราชทาน ส่วนอังคารนั้นสุดแต่ญาติจะจัดการตามแต่จะเห็นควร”
ผมจึงเบาใจ หายหนักอกที่ไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องอัฐิ เพราะข่าวมีผู้คอยจ้องต้องการกันมากราย เมื่อมีพระราชเสาวนีย์ก็หายห่วงในเรื่องอัฐิ คงเหลือแต่เรื่องอังคาร ความหนักใจก็เบาบางลงบ้าง ก็ตั้งใจคิดว่าจะแบ่งปันกันในหมู่ญาติ และท่านที่เคารพนับถือคนละเล็กละน้อย แต่ก็อดนึกวิตกกลัวจะไม่ทั่วถึง แล้วจะเกิดร้อนใจที่ไม่เพียงพอ เพราะมีผู้ต้องการกันมากมาย
ตอนบ่ายวันนั้น เมื่อถึงกำหนดได้เวลา ๑๔.๐๐ น. ก็เคลื่อนโกศเฉพาะลองในขึ้นประดิษฐานบนเลี่ยง ทางการมอบให้ผมเชิญเครื่องทองน้อยเดินตามโกศ ริ้วขบวนมีราชวัตรฉัตรธง ปี่กลองชนะ เวียนรอบเมรุ ๓ รอบ แล้วเชิญโกศขึ้นสู่เมรุ ตั้งบนจิตกาธาน เพื่อรอเวลา ๑๗.๐๐ น. ตามกำหนดหมาย คุณลออ วาสภูติ ก็ได้พาพี่เลื่อนและผมขึ้นบนพลับพลา แนะนำซักซ้อมการเข้าเฝ้าล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ สอนกิริยาท่าทางเพื่อเข้าทูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือ นอกจากหนังสือแล้ว ยังมีพระเครื่องชุดไตรภาคีของยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ๒ ชุด (๔ องค์) ใส่ถุงขอให้ร่วมนำขึ้นทูนเกล้า ฯ ถวายด้วย เมื่อซักซ้อมกิริยาท่าทาง เมื่อเวลาเข้าเฝ้าเป็นที่เข้าใจดีแล้ว ก็กลับลงมาคอยรอรับเสด็จพระราชดำเนินอยู่ ณ ที่จอดรถพระที่นั่ง
พอได้เวลา รถพระที่นั่งซึ่งมีตำรวจนำ ก็มาจอดตรงอัฒจันทร์ขึ้นพลับพลา ล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับบนพลับพลา แล้วพระราชทานผ้าไตรทอดบังสุกุล
พอได้เวลากำหนดหมาย ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่เมรุ พระราชทานเพลิง เสร็จแล้วเสด็จกลับขึ้นประทับบนพลับพลา
เมื่อได้โอกาส พี่เลื่อนกับผมก็เข้าเฝ้าตามที่ซักซ้อมกันไว้ก่อนแล้ว เพื่อทูนเกล้าถวายหนังสือและพระ พี่เลื่อนเข้าเฝ้าสมเด็จ ฯ ส่วนผมเข้าเฝ้าในหลวง หมอบอยู่เฉพาะพระพักตร์ ในหลวงรับสั่งถามถึงของในถุงที่ทูนเกล้าถวาย ผมก็กราบบังคมทูลว่า “พระเครื่อง” จากนั้นก็รับสั่งว่า “ศพเจ้าคุณนั้น มีผู้ให้ความเห็นสองอย่าง คืออย่างหนึ่งให้เก็บไว้ อีกอย่างหนึ่งก็คือเผา แต่ฉันเห็นว่า การเก็บไว้นั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย” ผมก็กราบบังคมทูลว่า “ถ้าเก็บไว้โดยมากก็เพื่อหาผลประโยชน์” ในหลวงรับสั่งว่า “ผู้ที่ไม่หาประโยชน์ก็มี หวังจะเก็บไว้บูชากราบไหว้จริง ๆ แต่ก็มีทั้งผลดีและไม่ดี ส่วนการเผานั้นมีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ เราเก็บอัฐิรวมไว้แห่งเดียวกันเหมือนเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่”
ผมนึกได้ว่า คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ บอกกับผมไว้เมื่อตอนเช้า ผมจึงกราบบังคมทูลว่า “อังคารนั้น……” พอเอ่ยปากกราบบังคมทูลคำแรกยังไม่ทันจบประโยค ก็ทรงรับสั่งทันทีว่า “อังคารก็เก็บรวมไว้ด้วยกับอัฐิ ไม่แบ่งแยก เก็บรวมไว้ให้ผู้เคารพนับถือกราบไหว้ การแบ่งแยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปนั้น ผู้นำไปเก็บไว้บางราย ก็ทำให้เกิดบาป ไม่เป็นกุศล สู้เก็บรวบรวมไว้แห่งเดียว และสร้างอนุสาวรีย์ไว้เคารพกราบไหว้ไม่ได้”
เมื่อทรงรับสั่งเช่นนั้น ผมก็หมดห่วง หายวิตกในเรื่องอัฐิและอังคาร เพราะล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ทรงคุ้มครองทั้งสิ้น มิฉะนั้นผมก็คงยุ่งยากใจ แก้ปัญหาของผู้ที่อยากได้ทั้งหลายที่มุ่งหมายไว้แต่เริ่มต้น บัดนี้ก็เป็นอันสิ้นสุดลง
ต่อจากนั้น พี่เลื่อนและผมก็หมอบเฝ้าอยู่ครู่ใหญ่ ก็ถวายบังคมและถอยออกมา สักครู่ใหญ่ ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ
หลังจากข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย พ่อค้าประชาชนขึ้นเมรุทำการเคารพบูชา วางดอกไม้ธูปเทียน ทำพิธีเผาตามประเพณีนิยมแล้ว แขกผู้ใหญ่ก็กลับกัน ส่วนมากที่รอคอยเผาจริงก็มีไม่น้อย เมื่อเห็นเวลาสมควร เจ้าหน้าที่เคลื่อนศพกำลังจะเข้าสู่เตาเผาจริง พนักงานได้รับพระราชเสาวนีย์ว่า สมเด็จจะเสด็จมาพระราชทานเพลิงเผาจริงด้วยพระองค์เอง (นอกหมายกำหนดการ) ขอให้รอไว้ก่อนอย่าเพิ่งลงมือเผาจริง ประชาชนและญาติ ๆ จำนวนมากต่างก็คอยรอรับเสด็จ ครู่หนึ่ง เสียงสัญญาณตำรวจจราจร และรถตำรวจ นำรถพระที่นั่งของสมเด็จ ฯ ก็เข้ามาเทียบหน้าเมรุ ปรากฏว่า สมเด็จ ฯ ได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่เมรุพระราชทานเพลิงเผาจริงอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้น ประชาชนและศิษยานุศิษย์และญาติ ๆ จำนวนมาก ก็ทยอยกันขึ้นเผาจริง ส่วนสมเด็จ ฯ เสด็จประทับอยู่หน้าพลับพลาข้างล่าง ทอดพระเนตรจนไฟมอดลงแล้วจึงมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำพิธีบัวสุกุลบนจิตกาธาน (ตามธรรมดาสามัญเรียกว่าบังสุกุลกองฟอน) ซึ่งตามหมายกำหนดการไม่มี เห็นจะเป็นด้วยสมเด็จ ฯ ทรงเป็นห่วงกลัวอัฐิของท่านเจ้าคุณพี่จะกระจัดกระจาย จึงรีบเสด็จมาทรงควบคุมอย่างใกล้ชิด การเสด็จครั้งนี้เป็นการส่วนพระองค์ นอกหมายกำหนดการ เจ้าหน้าที่ต้องรีบโทรศัพท์ไปให้ร้านที่รู้จักคุ้นเคย รีบนำผ้าไตรมาด่วน ๓ ไตร เพื่อทรงทอดผ้าบังสุกุล เมื่อได้ผ้าไตรแล้ว ก็เสด็จขึ้นเมรุ ทรงทอดไตรบังสุกุล เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินลงทางบันไดหลัง เพื่อประทับรถพระที่นั่งซึ่งมาจอดคอยอยู่ เมื่อเสด็จจวนถึงรถ ฯ เจ้าหน้าที่ก็เปิดประตู แต่ไม่เสด็จขึ้นประทับ เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทางเก่า และทรงปรารภกับพี่เลื่อนว่า ได้กลิ่นหอมเหมือนกลิ่นร่ำอยู่ตลอดเวลา ใครได้กลิ่นบ้างไหม พี่เลื่อนก็กราบบังคมทูลตามความรู้สึก ทรงรับสั่งอยู่นานจึงเสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
จกนั้นเจ้าหน้าที่จัดการเรื่องอัฐิและอังคาร เตรียมพร้อมไว้เพื่อรุ่งขึ้นตอนเช้าจะได้ทำพิธีสามหาบ ในคืนนั้น ทางการได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ความอารักขาอัฐิและอังคาร ผลัดเปลี่ยนกันตระเวนทั้งรอบนอกและรอบใน มีตำรวจถึง ๔ หน่วย มีโรงพักพลับพลาไชย และพระราชวัง กองปราบ และสอบสวน โดยมีหน่วยบัญชาการอยู่ในบริเวณสุสาน มีข่าวจากนายตำรวจว่า เกรงจะมีผู้คอยแย่งอัฐิ เพราะมีคนให้ราคาแต่ละชิ้นสูงมาก จึงต้องระวังอย่างกวดขัน ควบคุมกันเป็นการใหญ่ ก่อนหน้านี้ผมไม่นึกว่าทางการจะจัดการเข้มแข็งถึงเพียงนี้ จึงได้ขอร้องคุณครูชุบบอกพ่อประทีปน้องชายคุณครู ขอแรงเพื่อน ๆ มาคอยเฝ้าระวังสัก ๗ – ๘ คน พอประมาณก่อนเวลา ๔ ทุ่ม พวกเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังซึ่งมีหน้าที่แปรรูปอัฐิให้เรียบร้อย เช้าจะได้ไม่ขลุกขลักตามที่เคยทำมาก่อน ยังไม่ทันจะจัดการอย่างใดลงไป ก็พอดีมีโทรศัพท์มาจากในวังว่า สมเด็จ ฯ มีพระราชเสาวนีย์ไม่ให้แตะต้องอัฐิ ให้ทุกคนออกจากห้องเตาเผา แล้วใส่กุญแจให้เรียบร้อย ให้เฝ้าอยู่แต่ภายนอก ย่ำรุ่งจะให้คุณพูนเพิ่มมาควบคุมการแปรรูป กลางคืนไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด คืนนั้นผมได้สั่งอาหารและเครื่องดื่มน้ำอัดลมมาเลี้ยงตำรวจและเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ผมได้ถามพนักงานพระราชวังผู้จะทำการแปรรูปผู้นั้น ก็ได้ความว่า ไม่มีหน้าที่โดยตรง มีหน้าที่กั้นพระกลด สมเด็จ ฯ มีพระราชเสาวนีย์ให้มาทำงานนี้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ฐานเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย แต่ก็ไม่ต้องทำ เพราะทรงห้ามไว้แล้ว สมเด็จ ฯ ไม่เคยทรงเป็นห่วงและใส่พระราชหฤทัยเหมือนครั้งนี้
หลังอาหารแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้นั้นยังลงมานั่งคุยอีก ๒ -๓ ชั่วโมง จึงกลับขึ้นไปพักผ่อน ปล่อยหน้าที่เฝ้าให้เป็นของตำรวจ
การกำหนดพิธีสามหาบในตอนเช้านั้น หมายกำหนดการเดิม พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล เสด็จแทนพระองค์ แต่ตอนดึกโทรศัพท์มาว่า สมเด็จ ฯ เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ตอนเช้าเวลา ๗.๐๐ น.
เช้ามืด คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ และพนักงานเจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ มาเตรียมงาน คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ก็ได้มาจัดการควบคุมการแปรรูปอย่างใกล้ชิด เก็บอัฐิและอังคารไม่ยอมให้หลงเหลือไปในที่ใด ผมได้เข้าไปสังเกตอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ในการทำพิธี คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน เรียบร้อย แม้ผ้าขาวคลุมกองอัฐิและอังคารก็มิให้เอาไปที่อื่นพ้นสายตา เกรงว่าผงละอองของอังคารและอัฐิจะติดไปด้วย กองอัฐิและอังคารกองอยู่บนผืนผ้าขาวปูอยู่บนจิตกาธานคลุมด้วยผ้าขาวอีกผืนหนึ่ง แล้วเอาผ้าเยียรบับสีเงินคลุมไว้บนผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง เพื่อความเรียบร้อยและสวยงาม
เมื่อถึงเวลาห้าโมงเช้า สมเด็จ ฯ พระบรมราชินีนาถก็เสด็จมาถึง เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง แล้วเสด็จขึ้นเมรุ ทรงพิจารณาดูความเรียบร้อยแล้วก็ทรงจัดพิธี ทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองบนกองอัฐิและอังคาร (การโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองได้ทราบว่าปกติใช้กับเจ้านายชั้นสูง) นับว่าเจ้าคุณพี่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานเกียรติอันสูงยิ่ง เวลานั้นผมรู้สึกตื่นเต้น ตื้นตันใจที่สุดในชีวิต เมื่อเห็นองค์สมเด็จ ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเก็บอัฐิด้วยพระหัตถ์จุ่มลงสรงในขันน้ำอบ แล้วทรงหย่อนลงในโกศรูปเจดีย์สำหรับใส่อัฐิ เมื่อทรงสรงน้ำอัฐิส่วนต่าง ๆ ทุกชิ้นแล้ว หากมีผงอัฐิและอังคารนอนก้นอยู่ในขัน ก็ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์เขี่ยผงป่น ๆ ปาดลงในโกศรูปเจดีย์ จนแน่พระทัยว่าสะอาดแล้ว แสดงว่ามิได้ทรงรังเกียจ แม้แต่หลังจากนั้นก็มิได้ทรงล้างพระหัตถ์แต่อย่างใด เพียงแต่เอาพระหัตถ์ซ้ายขวาทรงถูกันแล้วเช็ดพระหัตถ์เท่านั้น
ตอนเปิดผ้าขาวคลุมอัฐิ พนักงานผู้หนึ่งได้นำผ้าขาวไปทางเตาเผา คุณพูนเพิ่มต้องวิ่งไปนำเอากลับมา และดุว่าบอกแล้วไม่ให้เอาออกไปจากที่นี่ ให้รวมกันใส่ไว้ในเจดีย์ เมื่อเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ห่ออัฐิและอังคาร รวมทั้งผ้าขาวที่รองและผ้าคลุมใส่ลงในโกศรูปเจดีย์ทั้งหมด
สมเด็จ ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับทอดพระเนตร จนเจ้าพนักงานจัดการเรียบร้อยแล้ว ทรงโปรดให้ผนึกด้วยครั่งตามรอยฝาครอบใต้เจดีย์โดยรอบ แล้วได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ผู้เชิญเจดีย์โลหะบรรจุอัฐิเดินบนลาดพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้กลดกั้นเจดีย์โลหะบรรจุอัฐิ โดยใช้กลดสำหรับกั้นพระองค์ นำเสด็จพระราชดำเนินเชิญไปตั้งบนพลับพลา มีรับสั่งให้ข้าราชบริพารฝ่ายในและญาติเข้าไปคารวะ เริ่มพิธีเลี้ยงพระสามหาบ เสร็จแล้วทรงโปรดให้เจ้าหน้าที่ไปนิมนต์ท่านเจ้าคุณอุดม ฯ ขึ้นไปเฝ้าบนพลับพลา รับสั่งกับเจ้าคุณอุดม ฯ นานพอควร แล้วเจ้าคุณอุดม ฯ ก็ถวายพระพรลาออกจากพลับพรากลับลงมา
สมเด็จ ฯ เสด็จพระราชดำเนินออกมาที่เฉลียงหน้าพลับพลา ทรงชะโงกพระพักตร์รับสั่งกับผู้อยู่ข้างล่างว่า “ใครได้กลิ่นหอมเหมือนแป้งร่ำบ้าง” พระองค์ทรงรับสั่งว่า ได้กลิ่นแต่วานนี้ตลอดมา เมื่อประทับอยู่ในวังก็ยังได้กลิ่น บัดนี้ก็ยังได้กลิ่น ยังหอมตลอดเวลา
แล้วทรงโปรดให้เชิญเจดีย์โลหะบรรจุอัฐิ และอังคารเดินขึ้นบนลาดพระบาท ไปขึ้นรถยนต์ นำไปเก็บฝากไว้ที่กุฏิท่านเจ้าอาวาส โดยอ้อมไปขึ้นทางหลังวัด โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้กลดกั้นเจดีย์บรรจุอัฐิ โดยใช้กลดติดสำหรับกั้นพระองค์เช่นเดียวกับเมื่อเชิญเจดีย์จากเมรุมาบนพลับพลา
โปรดเกล้าให้คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นผู้นำไปนมัสการและมอบกับท่านเจ้าอาวาสรักษาไว้ โดยจะจัดตู้มาใส่เจดีย์โลหะอีกชั้นหนึ่ง และได้จัดตำรวจมาเฝ้ากลางวันหนึ่งนายและกลางคืนสองนาย เพื่อรอเวลาจะสร้างอนุสาวรีย์ต่อไป เมื่อรับสั่งแล้วสมเด็จ ฯ ก็เสด็จกลับ ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยตามรับสั่ง
รุ่งขึ้นจากวันนั้น ผมได้ไปนมัสการเรียนถามท่านเจ้าคุณอุดม ฯ ว่า สมเด็จ ฯ ทรงรับสั่งอะไรบ้าง
เจ้าคุณอุดม ฯ ก็บอกว่า สมเด็จ ฯ รับสั่งว่า ทรงเสียดายภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต เพราะทรงมีพระคุณต่อพระองค์ท่านและเจ้าฟ้าชายมาก ได้สอนให้เจ้าฟ้าชายได้รับประโยชน์ทางธรรมมากมายหลายอย่าง ส่วนสมเด็จ ฯ พระองค์ท่านก็ได้อาศัยหลักธรรมะปฏิบัติ ทำให้จิตใจสงบ บัดนี้สิ้นท่านไปแล้วก็คงเหลือพอที่จะพึ่งหลักธรรมะทางใจได้ ก็คือเจ้าคุณศาสนโสภณอีกองค์หนึ่ง
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้าคุณพี่อย่างเหลือล้น ทำให้ผมมีความรู้สึกตื้นตันใจนึกถึงครั้งใด เกิดปีติน้ำตาแทบไหล นับว่าเป็นศิริมงคลอันสูงยิ่งแก่ตระกูล “จินตยานนท์” ตลอดชั่วลูกหลานสืบไป ไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ขอจารึกไว้เป็นประวัติอนุสรณ์ของตระกูล “จินตยานนท์” ต่อไปภายหน้า สำหรับญาติพี่น้องของผมทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ต่างก็รู้สึกตื้นตันใจที่ไม่สามารถจะบรรยายออกมาเท่าความรู้สึกภายในจิตใจในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ในครั้งนี้ตลอดไปอย่างไม่มีวันลืม
ตริ จินตยานนท์
๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕
เมื่อจบตอนบันทึกของคุณตริ จินตยานนท์ เพียงเท่าที่บันทึกแล้ว ข้าพเจ้ามาคิดดูก็อยากทราบว่า มีผู้ใดที่ได้ไปรู้เห็นเวลาที่ท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ มรณภาพ อยากจะได้ความรู้เพิ่มเติมลงในบั่นปลายของเรื่องให้สมบูรณ์เรียบร้อย
ข้าพเจ้าจึงได้ไปนมัสการเรียนถามท่านอาจารย์พระครูปัญญาภรณ์โศภณ ที่วัดเทพศิรินทราวาส ก็ได้ทราบว่า นายแพทย์ไพบูลย์ บุษปธำรง เป็นนายแพทย์ผู้เดียวที่ท่านยอมให้ทำแผล ได้เข้าไปในกุฏิท่านพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตกับพระมาหาเพิ่ม และคุณโกศล ปัทมสุนทรในวันที่ท่านมรณภาพ
เมื่อทราบเช่นนั้น ข้าพเจ้าอยากทราบจากปากของนายแพทย์ไพบูลย์ และได้ไปที่สำนักแพทย์ไพบูลย์คลินิก ซึ่งอยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ครั้งแรกข้าพเจ้าไปแต่ไม่พบหมอและไม่ทราบว่าเมื่อไหร่หมอจะกลับมา ครั้นจะรอก็ไม่มีเวลา ทั้งไม่แน่ใจว่าจะได้พบหรือไม่
ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้ไปที่สำนักงานแพทย์ไพบูลย์คลินิกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. ก็ได้ทราบว่าหมอจะมาประมาณ ๑๗.๐๐ น. หรืออาจช้าไปบ้าง ข้าพเจ้าจึงตกลงใจ ต้องรอเวลาพบหมอให้ได้ แม้จะต้องคอยนาน
ในที่สุดเย็นวันนั้น ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสได้พบ พ.ต. นายแพทย์ไพบูลย์ บุษปธำรง ตามที่ได้ตั้งใจไว้ เมื่อหมอทราบความตั้งใจที่ข้าพเจ้าขอทราบเรื่องในการมรณภาพของท่านพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ แล้ว หมอก็มีความยินดีและกรุณาเล่าแต่เริ่มต้นครั้งแรกว่า
เวลานั้นเป็นหมอประจำอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฯ และคิดอยากบวช จึงได้ถามท่านผู้รู้ดีในการบวชเรียนว่าจะบวชวัดไหน เพื่อเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ทางธรรม ฉะนั้นจึงอยากหาอาจารย์ผู้ฝึกสอน ให้ความรู้ ชี้ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะการบวชเรียนเพียงระยะสั้น แต่ต้องการศึกษาธรรมให้มาก ให้รู้เท่าที่สามารถจะเรียนได้ ตามปกติส่วนมากผู้บวชมักจะนิยมวัดที่รู้จักกับพระดี หรือผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยนับถือกับท่านสมภารเจ้าอาวาสวัดนั้น หมอเล่าต่อไปว่า แต่ผมอยากศึกษาเล่าเรียนหลักสัจธรรม จึงอยากหาวัดที่ดี อาจารย์ดี สอนดี เข้าใจดี เมื่อมีผู้ชี้แนะว่า ควรบวชวัดโน้นวัดนี้เพื่อศึกษาธรรมที่มีชื่อหลายวัด แต่ผมก็ไม่รู้จักพระตามวัดที่มีผู้แนะนำสักวัดเดียว
ต่อมาพลโท สมุท ชาตินันท์ อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารบกได้กรุณาพาผมมาฝากท่านพระครูปัญญาภรณ์โศภน และผมได้บวชอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาสมเอ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นพระนวกะภิกษุ และผมเคารพท่ารพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ เมื่อทราบถึงประวัติการปฏิบัติธรรมของท่าน มีความสะอาดบริสุทธิ์ มีพลังจิตเข้มแข็ง เช้าเย็นลงโบสถ์ไม่เคยขาด ผมก็เข้าไปกราบท่าน ก็ได้รับศีลรับพรจากท่านทุกครั้ง และผมก็เคารพบูชาท่านด้วยจิตใจเลื่อมใส ผมสังเกตว่าท่านเป็นเม็ดริมคอข้างซ้าย จึงคิดสงสัยว่าเป็นเนื้อร้าย แต่ท่านไม่ยอมให้แตะต้อง ไม่ยอมให้รักษา ท่านพูดว่าเมื่อเป็นเองก็หายเอง เม็ดนั้นก็ค่อยโตใหญ่ขึ้น พอกลางปี ๒๕๑๓ ฝีก็แตก ผมรู้ว่าท่านไม่ยอมให้รักษาและให้ทำแผล ท่านกลัวว่าจะไปทำลายเชื้อบัคเตรีก็จะเป็นบาป ผมจึงถวายยาเหลืองให้ท่านแต่ท่านไม่ยอมรับ ผมต้องอธิบายเรียนให้ทราบว่า ยานี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อไม่ได้รักษาให้หาย เพียงแต่ทำให้ทุเลาความเวทนาเท่านั้น ผมได้พยายามอธิบายให้ท่านทราบถึง ๓ ครั้ง ท่านจึงรับยาเหลืองไว้ สังเกตดูว่า หากเราพยายามขอร้องท่าน จะขอทำแผลให้ท่าน และได้อ้อนวอนท่านครั้งที่ ๓ โดยเรียนให้ท่านทราบว่า การทำแผลก็ไม่ได้ทำให้หาย เพียงแต่บรรเทาความเวทนา และความสังเวชลงเท่านั้น ท่านก็ยอม ผมได้พบก้อนเนื้อเท่าปลายหัวไม้ขีด หลุดออกมาตามขอบริม ๆ ในระหว่างที่ถวายการทำแผลให้ท่าน ผมได้นำมาให้นายแพทย์ภิญโญ สิริยพันธ์ ที่สถาบันพยาธิทหารบก ปรากกว่าเป็นเนื้อร้าย SQUAMOUS CELL CARCINOMA ก่อนที่จะทำแผล ผมได้พบกับคุณจำเนียร ปัทมสุนทร หลานสะใภ้ท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผมบอกว่า เวลานี้แผลที่คอพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ ใหญ่ขึ้น เย็นวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ผมรีบไปคอยท่านที่จะลงโบสถ์สวดมนต์เสร็จแล้ว ผมจึงได้ขอทำแผล เพราะรุ้สึกจะเป็นเนื้อร้าย ครั้นจะบอกตรง ๆ ว่าเป็นมะเร็งก็กลัวพระเณร อุบาสก อุบาสิกา และท่านทีเคารพจะพากันตื่นตกใจ
ท่านได้พูดกับผมว่า อาตมาให้หมอทำเป็นขวัญมือ เป็นคนแรก และให้ทำเป็นคนสุดท้าย จะไม่ให้ใครทำอีก พูดเสร็จท่านก็เอนกายลงกับอาสนสงฆ์ วันนั้นผมได้เห็นแผลที่คอท่านนั้น หากเป็นบุคคลธรรมดาสามัญแล้ว จะเจ็บปวดสาหัส ไม่สามารถจะทนได้ ที่จะไม่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนทารุน และต้องล้มหมอนนอนเสื่อ สังขารไม่สามารถจะทนเดินไปไหนได้ แต่ท่านก็ยังมีอาการปกติ เหมือนเป็นธรรมดา คล้ายว่า ไม่มีความรู้สึกทรมานในการเจ็บปวดครั้งนี้ เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ที่ผมได้เห็นได้พบมา เมื่อผมถาม ท่านก็บอกว่า ไม่รู้สึกเจ็บปวด เฉย ๆ เพียงรู้ว่า เป็นเหมือนมีก้อนอะไรมาติดอยู่
เมื่อทำแผลให้ท่านเสร็จเรียบร้อย ท่านก็สวดมนต์อุทิศแผ่ส่วนกุศลถวายแก่พระมหากษัตริย์ในวงศ์จักรีทุกพระองค์ เสร็จแล้วท่านยังนั่งพูดกับผู้ที่ยังไม่กลับ มีทั้งพระและฆราวาสยังอยู่ในโบสถ์ ท่านยังพูดกับผมว่า “หมอ อันความตายและความพลัดพรากจากกันนั้นเป็นธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติเขาตายกัน นับแต่ครั้งปู่ย่าตายาย แต่โบราณกาลตลอดมา ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างคนส่วนมากคิด คนเราเกิดมาก็ต้องมีสังขารเป็นที่อาศัย สังขารก็มีเวลาอยุ่อย่างจำกัด ย่อมจะมีเสื่อมมีทรุดโทรมเป็นไปตามกาลเวลา ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่หายไปไหน หากเป็นเพียงเปลี่ยนจากภพหนึ่งไปเกิดอีกภพหนึ่ง อุปมาเหมือนหมอกับอาตมาซึ่งอยู่ในเวลาปัจจุบันเดี๋ยวนี้กำลังสนทนา เวลาดับผ่านไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอได้ทำแผลให้อาตมา ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้าน และอาตมาก็กลับไปกุฏิ และทุกคนก็พากันกลับไปที่อยู่ของตน
นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราต้องจากกัน เราได้พลัดพรากกัน แต่เรายังมีชีวิต มีสังขารร่างกาย เมื่อเราไปแล้ว แต่ที่นี่ ที่เราได้มาร่วมสนทนา ก็จะว่างเปล่า ไม่มีหมอ ไม่มีอาตมา และไม่มีใคร เพราะต่างแยกกันไป รุ้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ทุกคน อาตมาก็อยู่กุฏิหลังจากที่ได้นั่งสนทนากัน แต่เวลานั้นก็ได้ผ่านดับไป ตามโมงยาม เวลาไม่กลับมาอีก เป็นอดีต หมอก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องนึกว่าวันนี้ ได้ไปทำแผลให้อาตมา และได้สนทนากันในโบสถ์ทีวัดเทพศิรินทราวาส แต่เวลานั้นได้ผ่านไปเป็นอดีต ไม่กลับมาใหม่ เราก็มีแต่ความทรงจำเหลือไว้เท่านั้น แต่เราก็คิดถึงกันได้ทางใจ การตายก็เหมือนกัน เป็นการจากไป ไม่ได้สูญไปไหน ยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยนสภาวะปัจจุบันนี้ ไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็ยังสามารถระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้น มีอยู่ตลอดเวลา”
ผมได้พิจารณาดูแล้ว คำพูดของท่านนั้น รู้สึกว่าท่านกำลังจะเบื่อสังขารที่จะอยู่ต่อไป
ต่อมาได้ทราบตอนเช้าวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ หลานของท่านอาจารย์ได้นำอาหารมาส่งเวลา ๘.๐๐ น. ได้เห็นท่านยืนอยู่บนกุฏิตรงหน้าต่างและโบกมือแล้วท่านสั่งว่า ให้เอาอาหารนั้นให้เอากลับไปเถิด วันนี้ท่านไม่ฉันอาหาร และสั่งให้ช่วยบอกพระที่อยู่ใกล้กุฏิของท่านว่า วันนี้ท่านจะไม่ลงโบสถ์ การไม่ลงโบสถ์ของท่านนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้พระเณรและประชาชนที่เลื่อมใสเคารพนับถือบูชาท่านด้วยจิตศรัทธาพากันวิตกไม่สบายใจ
และเมื่อตอนเย็นท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ ท่านก็ยังไม่ลงโบสถ์ พระเณรและประชาชนต่างก็เป็นทุกข์ เพราะท่านเคยบอกว่า ถ้าท่านขาดทำวัตรเมื่อใด ก็หมายถึงอาตมาสิ้นลมเมื่อนั้น ฉะนั้น เย็นวันศุกร์ที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็มีผู้วิตกเป็นห่วงท่านมาก เวลานั้นมีผมที่ไปเยี่ยมท่านอยู่ด้วยและเป็นหมอคนเดียวที่ท่านเคยกล่าวย้ำถึง ๓ ครั้งว่า หมอคนเดียวที่จะทำแผลให้อาตมเป็นคนแรกและเป็นคนสุดท้าย ยังดังก้องอยู่ในหูไม่รู้ลืม ทำให้ผมรู้สึกวิตก ยิ่งเป็นโรคเนื้อร้าย หรือมะเร็งแล้วก็ไม่มีเว้นว่าตนดีคนชั่ว ฉะนั้นผมกับคุณโกศล ปัทมะสุนทร หลานชายท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ และพระมหาเสริม ซึ่งพระมหาเสริม ท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ สั่งให้เข้ากุฏิได้ถ้ามีอะไรผิดปกติ สำหรับผมในฐานะเป็นหมอ เคยทำแผลให้ท่าน ส่วนพระเณรและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็ยังอออยู่หน้ากุฏิ คอยฟังข่าวอาการของท่านด้วยความเป็นห่วงและร้อนใจ เพราะท่านห้ามผู้อื่นเข้าทุกคน ก็เคารพคำสั่งของท่านไม่ละเมิด
พระมหาเสริมเมื่อเข้าไปแล้ว ในกุฏิของท่านไม่มีไฟใช้นอกจากจุดเทียนส่อง ท่านมหาเสริม ต้องใช้ไฟฉายส่องทาง ท่านมหาก็เปิดมุ้งของท่านเข้าไปดู นึกว่าท่านคงหลับ ก็เห็นท่านจำวัดในท่าปกติหงายมือคงจะพนมอยู่เหนืออกก่อนหมดลม เมื่อพิจารณา มหาเสริมสะดุ้งตกใจ เวลาผ่านไปสักครู่ท่านก็ตั้งสติได้ มาตามให้ผมเข้าไปในกุฏิเป็นคนที่ ๒ ติดตามด้วยคุณโกศล เมื่อผมได้เข้าไปตรวจดู ก็รู้ว่าท่านสิ้นลมไปนานแล้ว เพราะมือที่พนมอยู่ ตกห่างจากตัวแต่ก็ยังมีท่าพนมมือ เราต่างก็หันมามองดูตากันว่าเราจะทำอย่างไรดี แล้วตกลงกันว่า เราจะต้องปิดเป็นความลับไว้ก่อนอย่าเพิ่งเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ เรารู้กันแต่เพียง ๓ คน และควรปิดคุณจำเนียรไม่ให้รู้เรื่องนี้ เพราะผู้หญิงหากรู้เรื่องอย่างนี้แล้ว คงเสียอกเสียใจปิดความลับไม่อยู่ เรื่องก็จะแตก ความตั้งใจที่จะปอดเป็นความลับก็จะเสียหมด การที่เราตกลงใจปิดเป็นความลับก่อนเหตุผลก็คือ ในวันรุ่งขึ้นที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ พวกสานุศิษย์ของท่านพระครูอุดมคุณาทร มีมุทิตาจิตจัดงานฉลองแสดงความยินดีที่ท่านอาจารย์พระครูอุดมคุณาทร ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอุดมสารโสภณ ฉะนั้นหากท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณทราบเรื่องการมรณภาพของพระภิกษุพระยานรรัตน ฯแล้ว ท่านคงไม่ยอมให้พวกศิษย์มีการฉลองเด็ดขาด เพราะท่านเจ้าคุณอุดม ฯ ท่านเคารพนับถือพระภิกษุพระยานรรัตน ฯ มาก ทั้งถือว่าภิกษุพระยานรัตน ฯ มีพระคุณกับท่านมากมาย งานที่ลูกศิษย์ลูกหาเตรียมการลงทุนลงแรงไว้อย่างใหญ่โตก็จะต้องเลิกล้ม เสียพิธีและเสียน้ำใจแทนที่จะแสดงความยินดี
เมื่อคิดแล้วว่า ถึงเวลาจำเป็นที่จะยอมให้ข่าวนี้แพร่ออกไปก่อนงานฉลองไม่ได้ ผมจะต้องแสดงละครฉากพิเศษ ซึ่งเราทั้งสามจะต้องร่วมใจกัน แต่คิดว่าท่านมหาเสริมท่านเป็นสงฆ์ ท่านไม่ต้องร่วมแสดง เพียงแต่ไม่ต้องพูด ผมรับบทแทนทุกอย่าง แต่การแสดงครั้งนี้ เพื่อยังประโยชน์ส่วนรวม เมื่อเราตกลงกันแล้ว ผมก็ต้องเป็นตัวเอกในฐานะผมเป็นแพทย์จะต้องแสดงกิยาท่าทางให้แนบเนียน เพื่อมิให้พระเณร และผู้ที่เคารพทั้งชายหญิงที่กำลังรอคอยฟังข่าวอย่างร้อนรนที่หน้ากุฏิ ซึ่งต่างก็มีความรู้สึกไปต่าง ๆ การแสดงของผมในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่คำพูดและกิริยาท่าทางกับจิตใจไม่ตรงกัน แต่ก็ต้องแสดงด้วยความจำเป็น เมื่อผมได้แง้มประตูค่อย ๆ เดินออกมาเป็นคนแรก ทั้งพระทั้งเณรและพวกสัปบุรุษและสีกากำลังกระหายที่จะรอฟังข่าวรายงานของผม ถึงอาการท่านเจ้าคุณ ฯ จะเป็นอย่างใด
เมื่อผมเดินออกมาก็ต้องแสดงกิริยาและสีหน้ายิ้มย่อง แสดงในปฏิกิริยา เพื่อแสดงให้ทราบว่า ไม่มีอะไรน่าวิตกทุกข์ร้อน เมื่อเห็นกิริยาท่าทางของผมแล้วก็มีเสียงถามถึงอาการ ผมก็บอกไปว่า หายเป็นห่วงได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนไปเลย ผมทำแผลให้ท่านแล้ว ท่านต้องการพักผ่อนอีกวันก่อน ขออย่าให้ทุกคนรบกวนท่านโดยทำเสียงดัง ความจริงก็มีหลายท่านเป็นห่วง เพราะท่านไม่ได้ฉันอาหาร แต่การอดอาหารสำหรับท่านเจ้าคุณนร ฯ นั้นเกือบจะเป็นของธรรมดา ผิดแต่ที่ท่านไม่ลงโบสถ์เช้าเย็นเท่านั้น ฉะนั้นการที่จะพูดเพื่อให้เข้าใจจึงไม่ยากนัก เพียงบอกว่าพรุ่งนี้เช้าก็จะไม่ให้ลงโบสถ์ เย็นก็พอจะทราบว่าท่านลงโบสถ์ได้หรือไม่ คำพูดพร้อมด้วยหน้าตายิ้มแย้มไม่มีอะไรแฝงไว้ให้สงสัย น้ำหนักคำพูดของผมผู้เป็นหมอทำให้ทุกท่านที่ที่นั้นต่างก็โล่งใจ คลายวิตก เชื่ออย่างสนิทสนม ตลอดทั้งท่านท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ก็ไม่ได้สงสัย เมื่อผมได้พูดและบอกตามบทละครที่แสดงด้วยความจำเป็นแล้ว ผมก้ออกมาขึ้นรถกลับบ้าน แสดงให้เห็นว่าผมไม่มีอะไรเป็นห่วง หน้าตายิ้มแย้ม ผู้คอยฟังข่าวอาการของท่านก็ทยอยกันกลับ คลายความเป็นห่วงลงบ้าง นับว่าละครที่ผมแสดงฉากนั้นด้วยความไม่สบายใจแต่ก็สำเร็จเรียบร้อย ทำให้ทุกคนเชื่อได้
เมื่อผมขับรถออกมาแล้วก็นึกคิดและละอายใจที่จำเป็นต้องปิดบังความจริงไว้ ผมไม่ได้กลับบ้านอย่างผมแสดง ผมพยายามขัวรถวกเวียนถ่วงเวลาจนเกือบเที่ยงคืน แล้วผมก็วกกลับมาที่วัด จอดรถไว้ห่างไกล เป็นเวลาเงียบสงัด ผู้คนในวัดหลับนอนกันแทบหมดแล้ว ผมต้องคอยแอบไปหาท่านเจ้าคุณใหญ่ ท่านเจ้าอาวาส และท่านพระครูปัญญาภรณ์โศภน ได้แจ้งให้ท่านทราบเหตุผลว่า ผมได้ปิดบังเรื่องของเจ้าคุณนรรัตน ฯ ท่านได้มรณภาพแล้ว
ท่านเจ้าคุณใหญ่ฟังด้วยความสงบและเห็นใจที่ต้องทำเช่นนั้น เพื่อให้งานฉลองท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณผ่านไปก่อน เพราะพวกลูกศิษย์ต่างก็กำลังชื่นชมยินดี เมื่อรุ่งขึ้น งานเริ่มแต่เช้าถึงเวลาบ่าย งานฉลองท่านเจ้าคุณอุดม ฯ ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงคิดว่าถึงเวลาแจ้งข่าวการมรณภาพของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ ให้ทราบ แล้วต่างก็ได้แพร่ออกมาภายนอกในบ่ายวันเสาร์ที่ ๙ นั่นเอง
ความจริงท่านมหาเสริมกับผม ไปเห็นท่านนอนหงายอยู่ในท่าสงบ ผมได้พิจารณาดูสิ่งแวดล้อมและเหตุผลแล้ว เห็นร่างท่านอยู่บนเสื่อมีผ้าห่ม เอามุ้งลงและมีไม้ทับไว้ทุกด้านเป็นระเบียบเรียบร้อย เหมือนท่านจะรู้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ตอนเช้า ๘.๐๐ น. ท่านยังยืนที่หน้าต่างบอกกับหลานผู้ส่งอาหารว่า วันนี้งดฉันให้เอากลับไป ทั้งท่านยังให้ช่วยบอกพระที่อยู่ใกล้เคียงให้บอกว่า วันนี้ท่านงดไม่ลงโบสถ์ ท่านคงมรณภาพหลังจาก ๘.๐๐ น. ไปแล้ว
ข่าวลือกันต่อ แพร่ออกมาจากผู้ไม่รู้ ไม่เห็น ได้แต่เดาผิด ๆ ว่าท่านมรณภาพในห้องน้ำทั้งยังบอกว่า พระมหาเสริมกับผมได้พรางเรื่องไว้ โดยจัดแจงช่วยกันยกร่างที่หมดลมของท่านขึ้นไปชั้นบน เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง พระมหาเสริมกับผมไม่ได้เคลื่อนไหวร่างของท่านเลย ผมขอรับรองด้วยความสัตย์จริง คนที่ไม่ได้เห็นมักจะเดาผิด ๆ ทำให้คนเข้าใจผิด ๆ ถ้าไปได้เห็นภายในกุฏิของท่านแล้วคงจะไม่พูดเช่นนั้น ผมขอพูดด้วยเกียรติลูกผู้ชาย เราไม่ได้ยกร่างของท่านเคลื่อนที่ไปไหนเลย ในกุฏิไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแต่เทียน เวลานั้นประมาณ ๑ ทุ่ม แม้จะเดินตัวเปล่าก็แทบจะคลำกันแล้ว ดีไม่ดี หกล้ม นี่แหละครับ มีคนมักจะกุข่าวให้เข้าใจผิด ไม่นึกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ข้าพเจ้าฟังหมอเล่าแล้วพิจารณาดูก็เห็นใจจึงบอกว่า “ผมเชื่อที่หมอพูดนั้นเป็นความจริง เพราะคนพูดเขาไม่ได้เห็น คนที่เห็นเขาคงไม่พูด ผมเชื่อเพราะเหตุผลอขงหมออย่างหนึ่ง และอีกอย่าง ที่ผมแน่ใจว่า ท่านเป็นพระปฏิบัติธรรม บรรลุชั้นสูง ท่านรู้เวลา ท่านมาถอดกลอนไว้ล่วงหน้าก่อน ซึ่งตามปกติท่านจะใส่กลอน แสดงว่าท่านได้เตรียมพร้อมจะสละร่างไป ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีสติ ย่อมไม่มรณภาพในห้องน้ำแน่นอน ฉะนั้นผมจึงคิดว่า คนที่พูดไม่เห็น คนที่เห็นไม่พูด หากผู้ฟังแล้วคิด พิจารณาด้วยสติปัญญา หาเหตุผลด้วยตนเองแล้ว ไม่มีใครเชื่อ หากผู้ฟังแล้วไม่คิด มักเป็นคนเชื่อง่ายก็คงมี เป็นเรื่องธรรมดาของแต่ละบุคคล และส่วนมากในยุคปัจจุบัน ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น”
ประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
ประวัติบางส่วน บันทึกจากความทรงจำ
โดย
ชุบ เมนะเศวต
คัดลอกจาก
หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ โดย พระมหาสงัด สุวิเวโก
พิมพ์เป็นวิทยาทาน อุทิศกุศล บูชาพระคุณ
ในงานพระราชทานเพลิงเผาธาตุ
พระคุณเจ้า ธมฺวิตกฺโก
[พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์
วันอังคาร ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
คำนำโดยพระมหาสงัด สุวิเวโก
อนึ่งประวัติของพระคุณท่านตอนสำคัญ ซึ่งเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนที่พระคุณท่านจะตัดสินใจเข้าสู่ร่มโพธิพุทธศาสนา จนถึงระยะเวลาเข้ามอบตัวเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท ว่ามีการตระเตรียมเรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพียงใด กับทั้งความเป็นไปในระหว่างวงศาคณาญาติ ซึ่งไม่สามารถจะหาอ่านได้จากที่ไหน และก็ยังไม่มีใครเคยเขียนไว้ นอกจากคำบอกเล่าของคุณชุม เมนะเศวต ซึ่งเป็นผู้รับสนองอย่างใกล้ชิดลิขิตเขียนไว้ให้เท่านั้น อาตมภาพจึงขออนุญาตนำมากล่าวไว้ในตอนท้ายต่อจากประวัติในราชการ ขอท่านผู้อ่านได้โประพิจารณาเรื่องราวด้วยความเป็นธรรม เพราะผู้เขียนนี้มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น หรือมุ่งจะอวดตัวว่าเป็นผู้ใกล้ แต่อาตมภาพขอให้เขียนขึ้นไว้ ก็เพื่อประโยชน์ที่จะมิให้เรื่องราวตอนสำคัญ ๆ ของพระคุณท่านต้องผ่านไปหรือสูญไปกับผู้ที่รับรู้เรื่องราวเป็นอย่างดี แต่มิได้มีการขีดเขียนไว้ จึงขอให้ช่วยขีดเขียนขึ้นไว้ ซึ่งมีใจความดังนี้
ท่านมหาสงัดขอให้ดิฉันเขียนเรื่องราวของท่านเจ้าคุณ ซึ่งดิฉันไม่เคยคิดที่จะเขียน อยากแต่จะเป็นผู้อ่านของผู้อื่น เพราะดิฉันเคยเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับท่าน ก่อนอุปสมบท ประมาณ ๓ เดือนเศษ และเมื่ออุปสมบทแล้ว ดิฉันก็ได้เป็นผู้ปฏิบัติรับใช้ในกิจการกุศลทุกอย่าง ในระยะ ๑๐ พรรษาเท่านั้น
โอวาทที่ดิฉันเคยได้รับจากท่านเจ้าคุณทั้งก่อนอุปสมบทและอุปสมบทแล้วมีมาก แต่จะขอเขียนไว้สัก ๗ ข้อ
๑. ถ้าถูกอิจฉา อย่าเสียใจ หรือโกรธผู้อิจฉา แสดงว่าเราจะต้องดีกว่าเขา เพราะไม่มีผู้ใดจะอิจฉาคนที่เลวกว่าตน และเราก็อย่าไปอิจฉาผู้อื่น
๒. อย่าลืมตัว ผู้ที่ลืมตัว ไม่ควรคบ
๓. จงตั้งมั่นในสัจจะบารมี และกตัญญูกตเวที เพราะผู้ที่ไม่มีสัจจะ หรือขาดกตัญญูกตเวทีก็ไม่ใช่คน
๔. อย่าหวั่นไหวต่อการนินทา หรือสรรเสริญ
๕. ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน
๖. จงช่วยกันสร้างสมอบรมวาสนาบารมี
๗. การอยู่ร่วมกันไม่ใช่ความรัก เป็นการเบียดเบียน การอยู่อย่างนี้ เป็นความรักที่เป็นอมตะ
เมื่อระลึกถึงโอวาทข้อที่ ๔ ของท่าน ก็เลยลองเขียนดูเพื่อสนองความประสงค์ของท่านมหา ซึ่งดิฉันเพิ่งได้รู้จักท่าน หลังจากการมรณภาพของท่านเจ้าคุณ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว มีข่าวว่าท่านเจ้าคุณไม่สู้สบาย พี่ชายของดิฉัน หลวงประสิทธิ์กลมัย (ประสิทธิ์ เมนะเศวต) ผู้ซึ่งเคยเป็นเพื่อนนักเรียนกับท่านในวัยเด็ก ขณะที่เรียนอยู่โรงเรียนวัดโสมนัส ได้ไปเยี่ยมท่านที่บ้าน แต่ไม่พบ ต่อมาท่านได้มาเยี่ยมตอบ จึงเป็นเหตุให้ดิฉันได้พบท่าน
วันหนึ่งในเดือนมกราคม ๒๔๖๘ ท่านได้นัดจะนำไปถวายบังคมพระบรมศพพร้อมกับคุณโยมทั้งสองของท่าน และได้ส่งรถมารับในตอนเช้า ซึ่งคืนนั้นท่านไปอยู่ที่พระบรมศพ พอรถถึงพระราชฐานชั้นใน ท่านก็ลงจากพระที่นั่ง และบอกว่า “ชุบ พี่ขอบวชถวายพระราชกุศลก่อนนะ” แล้วจึงนำขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ และอธิบายให้ฟังถึงเครื่องประดับพระบรมศพทุกอย่าง เสร็จแล้วจึงไปเก็บข้าวของของท่าน แล้วกลับบ้านด้วยกัน
ท่านได้รับพระราชทานพินัยกรรมเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท พอเพียงแล้ว ท่านจึงไม่คำนึงถึงบำนาญ คุณพ่อของดิฉันเห็นว่า บำนาญเป็นส่วนของการรับราชการ ควรจะขอไว้ ท่านจึงใช้ให้ดิฉันเป็นคนเขียนเรื่องราว โดยท่านบอกให้ ดิฉันจึงได้ทราบประวัติย่อของท่านดังต่อไปนี้
เข้ารับราชการ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ อายุ ๑๘ ปี ในกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ แผนกกองตั้งเครื่อง เดือนละ ๔๐ บาท
เมษายน ๒๔๕๘
มหาดเล็กกองตั้งเครื่อง กรมมหาดเล็ก เงินเดือน ๔๐ บาท
พฤศจิกายน ๒๔๕๘
“ “ เงินเดือน ๖๐ บาท
เมษายน ๒๔๕๙
มหาดเล็กกองห้องที่พระบรรทม
กันยายน ๒๔๕๙
“ “ เงินเดือน ๑๐๐ บาท
มกราคม ๒๔๖๐
“ “ “ ๒๐๐ บาท
มกราคม ๒๔๖๑
“ “ “ ๓๐๐ บาท
เมษายน ๒๔๖๓
“ “ “ ๓๔๐ บาท
เมษายน ๒๔๖๕
“ “ “ ๕๐๐ บาท
เมษายน ๒๔๖๘
เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม “ ๗๐๐ บาท
๒๔ / ๑๑ / ๕๗
มหาดเล็กกองตั้งเครื่อง กรมมหาดเล็ก เงินเดือน ๔๐ บาท
๑๐/๘/๕๘
รองหุ้มแพร นายรองเสนองานประภาษ
๑/๑/๕๙
มหาดเล็กห้องที่พระบรรทม กรมมหาดเล็ก
๓๑/๙/๖๐
จ่า นายจ่ายง
๓/๙/๖๑
รองหัวหมื่น หลวงศักดิ์นายเวร
๑๐ /๙/๖๔
ยศ บรรดาศักดิ์ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี
๑/๙/๖๕
เจ้ากรมห้องที่พระบรรทม
๓๐/๙/๖๕
พระยานรรัตนราชมานิต
๑/๔/๖๗
องคมนตรี
๑/๑๐/๖๗
ยศ จางวางตรี
(หมายเหตุ ผู้เขียนใช้เลขเดือนตามสมัยนั้นคือ เดือนเมษายน เป็นเดือน ๑)
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้รับเลือกเข้าเป็นมหาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ มีพระราชดำรัสตรัสถามว่า “พ่อเจ้าเขาให้เจ้าไปอยู่มหาดไทย ก็เพราะเขาอยากจะให้เจ้ากินพานทอง แต่พานทองอยู่ที่ข้า มาอยู่กับข้าก่อน ถ้าอยากไปมหาดไทย จึงค่อยไปทีหลัง”
หลังจากการหมั้นแล้ว ท่านได้พาไปกราบท่านบิดามารดาของท่าน เจ้าคุณอนุรักษ์ราชมณเฑียร เพื่อฝากฝังให้ได้รู้จักกับท่านเจ้าคุณ ด้วยความเป็นห่วงว่าดิฉันจะเหงา ท่านไปลาบวช ๔ แห่งในวันเดียวกัน โดยพาดิฉันไปด้วย ๑. บ้านนรสิงห์ ๒. บ้านบรรทมสินธุ์ ๓. บ้านมนังคศิลา รถผ่านเข้าไป พอทราบว่าไม่อยู่ ท่านก็ลากลับ แล้วไม่ได้ไปอีก ลาได้แห่งเดียวคือ คุณท้าวอินทร์สุริยา
การอุปสมบทของท่านไม่มีพิธีรีตอง ไปปลงผมที่ฐานต้นโพธิ์ นุ่งขาวห่มขาว เข้าขอบรรพชา ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิง ในเย็นวันนั้น ท่านได้ไปถวายพระเพลิงพร้อมกับพระอุปัชฌาย์ และสั่งให้ดิฉันไปถวายพระเพลิง ให้อดทนรอจนได้โอกาสขึ้นไปให้จงได้
พรรษาแรกสั่งดิฉันกลับไปอยู่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยท่านได้เขียนจดหมายฝากอาจารย์ใหญ่ มีใจความว่า ขอฝากให้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม โดยระหว่างท่านอุปสมบทมีกำหนด ๘ เดือน ครั้นได้ ๒ - ๓ เดือน ท่านก็ขอต่อไปให้ครบปี แล้วก็ต่อไปจนไม่มีกำหนด ในที่สุดท่านก็มีความสุขในธรรม อยู่ได้ตลอดมาจนมรณภาพ นับเวลาอุปสมบทได้ ๔๕ พรรษา เสมอด้วยพระชนมายุของล้นเกล้า ฯ เจ้าเหนือหัวของท่านพระองค์เดียว
พรรษาที่ ๑ – ๒ ท่านบิณฑบาตทั้งที่บ้านคุณโยมและบ้านดิฉัน ย่างขึ้นพรรษา ๓ ท่านได้เชิญชวนให้คุณโยมหญิงนุ่งขาว และขอให้ดิฉันบวชด้วย ซึ่งในเวลานั้น ไม่ค่อยเห็นแม่ชีในวัยเดียวกับดิฉัน แม่ชีสมัยนั้นมีแต่แม่ชีมีอายุ วันโกนก็ออกภิกขาจาร ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ แต่ดิฉันก็ยินดีปฏิบัติตาม คุณน้าของท่านศรัทธาขอบวชด้วย จึงมีอุบาสิกาเป็น ๓ ในครอบครัวของท่าน ด้วยการรับศีลจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อครั้งยังทรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนโสภณ ในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์ สิ่งที่ยังประทับใจดิฉันอยู่ คือเช้าวันนั้นคุณพ่อคุณแม่ของดิฉันต้องไปที่บ้านท่าน ท่านมานั่งเป็นประธาน ให้คุณน้าโกนศีรษะของดิฉันจนเสร็จ แล้วท่านรดน้ำมนต์ให้คุณโยมทั้งสองของท่าน แล้วคุณพ่อคุณแม่ของดิฉันรดต่อจากท่านตามลำดับ แล้วห่อผมที่โกนออกด้วยใบบัว ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าขาวอีกชั้นหนึ่ง วางลงบนฝาบาตรของท่าน ท่านนำไปไว้ ณ โคนโพธิ์วัดเทพศิรินทร์
จากพรรษาที่ ๓ ถึง ๑๐ พรรษา ท่านได้บำเพ็ญกุศลหลายอย่าง เท่าที่ดิฉันจำได้ เพราะเป็นผู้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามความประสงค์ของท่าน
ต่อมาท่านได้เชิญชวนคุณโยมผู้ชายของท่านอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศาสนโสภณ (วัดเทพ ฯ ) พระพุทะวิริยากร (วัดโสม ฯ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้บูรณกุฏิเป็นที่อยู่ของหลวงพ่อรื้อโรงรถไปปลูกเป็นศาลายาใกล้ ๆ กุฏิ มียาปฐมพยาบาลสำหรับภิกษุสามเณรในวัด
บรรพชานายตริ จินตยานนท์ น้องชายเป็นสามเณร เพราะอายุยังไม่ครบ จำได้ว่างานนี้ท่านสั่งให้พิมพ์สมุดปกอ่อน สมุดโน้ต หน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร. ๖ ถวายพระภิกษุสามเณร พออายุครบให้อุปสมบทพร้อมกับนายพร เผ่าจี๋จีน คนรถของท่าน ในครอบครัวของท่านจึงมีภิกษุ ๔ องค์ อุบาสิกา ๓
สร้างพระพุทะรูปเท่าตัวคุณโยมทั้งสอง และของท่าน รวม ๓ องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ คืบ อีก ๔ องค์ โดยให้คุณพ่อของดิฉันจัดหาช่าง นายอู๊ดบ้านช่างหล่อ วัดระฆัง เป็นผู้สร้าง ดัดแปลงเรือนหลังของหลวงพ่อ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่จนทุกวันนี้ ทุกเช้าที่ท่านมาบิณฑบาต ท่านจะอ่านหนังสือธรรมะ ให้คุณโยมฟัง สวดมนต์ให้พร รับบาตรแล้วกลับวัด วันพระ วันอาทิตย์ ดิฉันก็ติดตามคุณแม่, คุณน้า ไปฟังเทศน์ เทศน์กัณฑ์บ่าย เสร็จแล้วยังต้องไปฟังเทศน์จากท่านที่กุฏิอีก แล้วต้องกลับมาบันทึกถวายให้ท่านดูในตอนเช้า ขณะที่มาบิณฑบาต และห้ามไม่ให้จดมาจากวัดด้วยต้องจำมาบันทึกที่บ้าน
สร้างพระไตรปิฎก ๙ ชุด พร้อมทั้งตู้ ๓ ด้านเป็นกระจก อีกด้านเป็นไม้แกะรูปพญานาค ซึ่งเป็นปีพระราชสมภพ ปิดทองทำเป็นกรอบ มีพระบรมฉายาลักษณ์ หนังสือทุกเล่มปิดรูป พิมพ์เป็นต้นโพธิ์ มีแก้ว ๓ ดวง ข้างต้นโพธิ์ มีต้นพุทธรักษา และดอกบานไม่รู้โรย ที่ฐานมีชื่อภิกษุทั้ง ๔ และอุบาสิกาทั้ง ๓
สั่งให้มีการฉลองพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บ้านถวายภัตตาหาร พร้อมทั้งสำรับคาวหวาน จตุปัจจัยไทยธรรม แด่พระภิกษุ ๔๕ องค์ ปัจจัยองค์ละ ๑๕ บาท เสมอด้วยปีที่พระมงกุฎ ฯ เสวยราชย์ เสร็จแล้ว ให้อัญเชิญพระไตรปิฎกไปถวายพระอารามหลวงดังต่อไปนี้ (ในงานนี้ท่านไม่มา)
๑. วัดราชบพิธ
๒. วัดราชา
๓. วัดเทพศิรินทร์
๔. วัดมกุฎกษัตริย์
๕. วัดโสมนัส
๖. วัดมหาธาตุ
๗. วัดเบญจมบพิตร
๘. วัดปรินายก หรือวัดบรมนิวาส (จำไม่ได้)
๙. หอพระสมุดวชิราวุธ ที่วัดมหาธาตุ
เมื่อหลวงพ่อมีอายุครบ ๖๐ ปี ท่านก็จัดบำเพ็ญกุศลถวาย สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ ๙ องค์ เจริญพระพุทะมนต์ในพระวิหารวัดโสมนัส พระสงฆ์วัดโสมนัส ๖๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ และฉันเพลที่วิหารคด ถวายอาสนะพนักพิงติดกัน แด่พระราชาคณะ อาสนะหมอนอิงธรรมดาแด่พระสงฆ์ ต้องทำนุ่นกันเป็นการใหญ่ ถวายภาชนะของใช้ในการเลี้ยงพระทุกอย่างสำหรับเลี้ยงพระได้ ๖๐ องค์ มีถาดช่องคาวหวานอย่างลุ ๖๐ ใบ จานกระเบื้อง โถข้าว ซ่อมช้อน คนโทน้ำ กระโถน ผ้าเช็ดมือ พร้อมทั้งตู้สำหรับเก็บของทุกอย่างนี้ด้วย กับพัดลมอีก ๙ พัด สำหรับไว้ในพระวิหาร
มีคำสั่งให้จัดเครื่องไทยธรรมที่บ้านคุณโยม บ้านดิฉันเป็นโรงครัว วันนั้นเชิญเครื่องไทยธรรมผ่าน ที่บ้านขนอาหารคาวหวานตามกระบวนของถวายพระ ข้ามสะพานเมนะเศวต เข้าในวิหารคด ในงานนี้ท่านมาอยู่ด้วยจนตลอดงาน ฉันแต่ซุบ ๑ แก้วเท่านั้น
งบประมาณค่าใช้จ่ายในงานนี้ ดิฉันจำได้ว่า ๖,๐๐๐ บาท พิมพ์หนังสือทั้งปกแข็งปกอ่อน แจกในงานนี้ด้วย ในหนังสือมีรูปสมเด็จพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ ทั้ง ๒ และรูปหลวงพ่อ
ถวายที่ดินที่ได้รับพระราชทาน เงินในธนาคารแก่วัดเทพศิรินทร์ รถยนต์ถวายสมเด็จพระอุปัชฌาย์ของท่าน ถวายที่ดินแก่วัดเสน่หา ที่จังหวัดนครปฐม ทุกอย่างท่านให้ดิฉันมีส่วนร่วมด้วยทุกครั้ง
เมื่อคุณยายของท่านถึงแก่กรรม ตั้งศพไว้ที่บ้าน ครบ ๑ ปี สั่งให้ทำการฌาปนกิจ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งเวลานั้นยังต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย ในงานนี้ดิฉันได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าคุณ พระศาสนโสภณ เป็นล้นพ้น
เปิดศพบำเพ็ญกุศล ๓ วัน เชิญขึ้นรถศพงามที่สุดที่หาได้ในสมัยนั้น ตามด้วยอุบาสิกาวัดโสมนัส ถือไตรคนละ ๑ ไตร เพื่อบังสุกุลทั้งวัดมกุฎ ฯ และวัดโสมนัส ฯ
ส่วนอุบาสิกาวัดโสมนัส ฯ เชิญมารับประทานเพลที่บ้าน แล้วจัดผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าตัดเสื้อ ๑ ตัว ผ้าห่มพับให้เหมือนไตรให้แม่ชีบังสุกุลทุกคน
ในงานนี้ ท่านมาเดินตามศพ และอยู่จนงานเสร็จเรียบร้อย ของชำร่วยในงานนี้ มีทั้งหนังสือ และผ้าเช็ดหน้าพับเป็นตัวหนู ซึ่งเป็นปีเกิดของคุณยาย ดิฉันจำได้ว่าเป็นวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๗๕
วันที่ ๒๓ เก็บอัฐิ สวดมนต์เย็น วันที่ ๒๔ เลี้ยงพระ ตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี
หลังจากงานศพคุณยายแล้ว ได้ขอให้คุณโยมหญิงใส่บาตรวันละ ๑๐๐ องค์ ซึ่งการใส่บาตรนี้คุณแม่ท่านก็ใส่เป็นประจำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เป็นจำนวน ๕ องค์ ๑๐ องค์ ตามลำดับของท่าน
กิจวัตรของพวกเรา บริวารของท่านสนุกสนานด้วยการบำเพ็ญกุศล ช่วยกันตัดใบตอง เช็ดใบตอง เตรียมห่อทั้งคาวหวาน แม้แต่แกง พี่เชื้อแกก็ห่อกระจุกด้วยตองตานี ฉีกแผ่นสี่เหลี่ยม ลนไฟ ซ้อนกัน ๒ แผ่น มัดด้วยเชือกกล้วย ถ้าเป็นสมัยนี้คงสะดวกมากเพราะมีถุงพลาสติกใช้ ตำรับตำราของท่าน ก่อนอุปสมบทก็มีมากมาย อุปสมบทแล้วยังใช้ให้สั่งจากต่างประเทศอีกหลายสิบเล่ม บางเล่มก็ส่งมาให้ดิฉันอ่าน ศัพท์ที่ยากเกินไปท่านก็จดส่งมาให้ ความจำของท่านเป็นอัศจรรย์ ทั้งที่อ่านมากมายหลายสิบเล่ม ยังจำได้ สั่งให้ดิฉันดูที่หน้านั้น จะมีใจความว่าอย่างนั้น ๆ
งานประจำปี วันวิสาขะ วันถวายพระเพลิง และวันมาฆะ อุบาสิกา เพื่อนบ้านใกล้เคียงย่านถนนพะเนียง วัดโสมนัส จะมาช่วยกันจีบพลู เจียนหมาก ต้มน้ำอัฐบาน ไปจัดถวายทั้งวัดโสมนัส ฯ และวัดมกุฎกษัตริย์ ฯ รุ่งเช้าเลี้ยงข้าวต้ม ผลไม้ และขนมหวาน
การต้มข้าวต้ม ก็ต้องต้มอย่างมีพิธี ใช้เตาอั้งโล่ใหญ่ ๙ เตา ตั้งที่นอกชาน หน้าห้องพระ ต้มพร้อมกันครั้งละ ๙ หม้อ ส่งไปเลี้ยงพระทั้ง ๒ วัด แจกเพื่อนบ้านใกล้เคียง เหลือจากพระแจกขอทาน เหลือจากขอทาน เทลงเลี้ยงปลาในคลองผดุง ฯ หน้าวัด
วันที่ ๒๓ ตุลาคม กับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสวรรคตของทั้งสองรัชกาล สั่งให้ทำทอฟฟี่เป็นการใหญ่ น้องสาวเป็นคนทำ พี่น้องลูกหลานไปช่วยกันปั้น ช่วยกันห่อ เพราะต้องถวายองค์ละ ๔๕ ก้อนทั้งวัด ปีหนึ่งน้ำท่วม ต้องพายเรือไปช่วยกันทำ ด้วยความสนุกสนาน อนุโมทนาในการกุศลของท่าน
ดิฉันจำได้ว่า ท่านออกบิณฑบาต โดยเจตนาจะมาโปรดญาติโยมไม่น้อยกว่า ๗ พรรษา แต่ท่านไม่เคนรับนิมนต์ไปที่ไหน ๆ เลย ออกจากวัดก็มาบ้าน จากบ้านก็กลับถึงวัด
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ดิฉันดำริจะทอดกฐิน จึงกราบเรียนท่าน ท่านถามว่า การงบประมาณเท่าไร เรียนว่า ๑๐ ชั่ง ท่านได้ขอจตุปัจจัยจากคุณโยมให้ดิฉัน ๗ ชั่ง เพื่อดิฉันจะได้คงทำแค่ ๓ ชั่ง แต่ดิฉันก็ทำตามความตั้งใจ และยังเพิ่มเติมอีก สั่งให้พิมพ์หนังสือแจกกฐิน ด้วยปกสีเหลือง ๕๐๐ เล่ม เวลาแจกต้องใส่พานด้วยความคารวะ กับผ้าเช็ดหน้าขาวด้วย และท่านได้กรุณามาแสดงพระธรรมเทศนาฉลองกฐิน อาราธนาธรรมด้วยตนเอง
ท่านฉันเอกาและอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ ตั้งแต่วันอุปสมบทตลอดมา ญาติของท่าน นางพิทักษ์ประชาชน (เชื้อ จันทรวณิค) เป็นผู้ทำตามท่านสั่ง และจะฉันซ้ำอย่างนั้นทุกวันเป็นระยะ ๆ แล้วก็สั่งเปลี่ยนแปลง พี่เชื้อเคยบอกดิฉันจดตำรากับข้าวของท่านไว้ แต่ดิฉันก็ไม่ได้ทำ ซึ่งถ้าหากจดไว้ ก็คงจะพิมพ์เป็นเล่มขนาดพอสมควร นึกแล้วก็เสียดาย แต่อาหารของท่านในระยะนั้น พวกเราพอจะทานกันได้ ภาชนะที่ใส่อาหารก็เปลี่ยนต่าง ๆ เป็นกะโหลก เป็นขัน รายหนึ่งเป็นปิ่นโตอาลูมิเนียม ๒ ชั้น ทุกอย่างต้องห่อผ้าขาว เย็บถุงใส่กันฝุ่นละออง ระยะหนึ่งคุณแม่ท่านบัญชาให้ดิฉันเป็นผู้ทำ เป็นโอกาสที่ดิฉันได้สนองพระเดชพระคุณเป็นเวลาสัก ๓ เดือน เห็นจะได้ ทั้ง ๆที่ ดิฉันไม่เคยทำกับข้าวเลย แต่ก็ได้พยายามทำ นอกจากอาหารประจำของท่านแล้ว ทำพิเศษเพิ่มเติมได้อีก ตอนนี้ได้ถวายเนยสด แซนด์วิช โรตี บาเยีย ผลไม้ ในระยะ ๑๐ ปีที่ท่านฉัน มีหลายอย่าง ส้มดอ อ้อย สับปะรด มะละกอ กล้วยน้ำว้า เป็นประจำทุกวัน ถึงหน้าผลไม้ มีเงาะ มังคุด ยังเพิ่มเติมได้บ้าง
หลวงพ่ออายุได้ ๗๐ ปี ท่านก็มรณภาพ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่กุฏิวัดโสม ฯ ตามประเพณี ครบ ๑ ปี เจ้าอาวาสอนุญาตให้สร้างเมรุโดยเฉพาะที่หน้าวัด งานนี้คุณตริ น้องชายเป็นผู้รับคำสั่งปฏิบัติงาน
หลังจากหลวงพ่อสิ้นแล้วได้ ๒ ปี คุณแม่ก็ถึงแก่กรรม ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ครบ ๑ ปี กระทำฌาปนกิจที่วัดมกุฎกษัตริย์ ฯ ตอนนี้ท่านไม่ได้ออกจากวัดแล้ว จึงไม่ได้มาทั้งสองงาน ระหว่างป่วย เวลาไปส่งอาหารก็ส่งอาการแก่ท่าน ท่านก็ส่งหนังสือธรรมมาให้ลูกหลานอ่านให้ฟัง สั่งให้ทำเจดีย์สีทองใส่อัฐิและอังคารของคุณพ่อ สีเงินใส่ของคุณแม่ และยังสั่งน้องชายว่า ถ้าของท่านให้เอาสีนาก
ต่อมาญาติของท่านถึงแก่กรรม บริวารก็ร่อยหรอไป ตลอดจนเพื่อนบ้าน ตายไปบ้าง ย้ายที่อยู่ไปบ้าง ค่าของเงินก็ถูกลง ท่านเองก็ชรา การบำเพ็ญกุศลเจริญขึ้นสูงทางจิตใจ ทางทานบารมีจึงลดลง
คุณตริน้องชาย พร้อมทั้งครอบครัว จึงทำหน้าที่ถวายอุปการะท่านตลอดมา งานประจำปีคืองานสมเด็จพระอุปัชฌาย์ ใส่บาตรข้าวต้ม วันมาฆะ วิสาขะ ทำทอฟฟี่ ทั้งน้องสาวและน้องชายของท่านร่วมกันทำตลอดมาจนถึงที่สุด เป็นเวลาประมาณ ๓๐ กว่าปี
เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นวันที่ท่านมีชนมายุครบ ๖ รอบบริบูรณ์ ดิฉันได้ส่งเครื่องสักการะ มีดอกไม้ธูปเทียนกับรองเท้า ๑ คู่ ให้น้องชายนำไปถวาย ท่านลงมารับ แล้วส่งคืน กำชับน้องว่า ให้บอกชุบว่ารับแล้ว แต่ต้องการให้นำไปบูชาไว้ที่หัวนอน ส่วนรองเท้านั้นบอกว่าดี และรับไว้
ต่อมาอีก ๔ เดือน ดิฉันได้ไปพบท่านที่กุฏิ เดินลงมาจากพระอุโบสถโดยไม่ใส่รองเท้า จึงเรียนถามท่านว่า รองเท้าเป็นอย่างไร ท่านจึงไม่ใช้ ท่านตอบว่า ไม่ชอบใส่ จะเอากลับคืนไปก็ได้ ดิฉันได้เรียนว่า ท่านรับไว้ก็ดีแล้ว ดิฉันไม่ต้องการรับคืน ขณะนั้นฝียังไม่แตก แต่โตมาก วันนั้นได้รับพรจากท่านมากมาย ระหว่างนี้ดิฉันไปฟังข่าวคราวจากบ้านน้องสาวของท่านเสมอ จนวันหนึ่งได้รับทราบว่า ท่านต้องการใส่รองเท้า แต่ใส่ไม่ได้เพราะเท้าบวม ให้ปลัดโกศลไปตัดหนังที่รองด้านในออก ก็ยังใส่ไม่ได้ ดิฉันได้ไปจ้างช่างตัดโดยตั้งใจจะสนองรองบาทอีกสัก ๑ คู่ แต่ที่ไหนได้ วันที่ดิฉันไปรับรองเท้าเป็นวันศุกร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ ซึ่งท่านมรณภาพแล้ว รุ่งขึ้นวันเสาร์ได้นำไปที่บ้านน้องสาวของท่านเพื่อจะฝากไปถวาย พร้อมกับเตรียมไปวัดในงานฉลองสมณศักดิ์ของเจ้าคุณอุดม ฯ จึงได้รับข่าวมรณะของท่าน ตามมาวัดได้ขึ้นไปกราบศพพร้อมกับน้องสาวและน้องชายของท่าน รองเท้าคู่ใหม่นี้จึงได้ใส่กัณฑ์เทศน์ ในวันบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร เพื่อน้อมอุทิศถวายท่าน
เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พรรณนามานี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พอสิ้นท่านทำให้หวนระลึกถึงอดีต เรื่องราวต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นอีก แล้วจะต้องดับไปพร้อมกับผู้เขียนอย่างไม่กลับมาอีก
ท่านเป็นยอดในความกตัญญูกตเวที ยอดแห่งความอดทน ยอดในความเพียร ยอดแห่งการเสียสละ และเป็นผู้ที่ปราศจากความโลภ ความหลง ด้วยคุณธรรมของท่าน ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ตลอดกาล และยังมีผู้ศรัทธาบำเพ็ญบุญกุศลถวายอีกมากมาย
นอกจากพระคุณบิดามารดาบังเกิดเกล้าแล้ว ท่านเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้น สุดที่จะพรรณนา ซึ่งดิฉันจะต้องปฏิบัติตามโอวาทของท่านที่เคยสั่งเสมอว่า “จงประกอบแต่กรรมดีนะ” ฯ
นมัสการท่านที่เคารพ
เรื่องราวต่าง ๆ ที่ดิฉันเขียนมานี้ ขอให้ท่านคิดว่า เป็นการที่ดิฉันเล่าถวายให้ท่านฟัง เพราะเป็นเรื่องของท่านในระหว่าง ๑๐ พรรษแรก ถ้าท่านจะเขียนขึ้นก็ขอให้เป็นสำนวนของท่าน ที่กลั่นกรองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ดิฉันเขียนแล้วก็เรื่อยเปื่อยไป เพราะสิ่งใดที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการเทิดเกียรติของท่าน ดิฉันก็อนุโมทนา แต่ถ้าจะเป็นการเสื่อมเสียก็ไม่ควรทำ แต่ทุกอย่างต้องเป็นความจริง สำหรับดิฉันมองไม่เห็นความเสื่อมเสียของท่านเลย เห็นแต่คุณความดีของท่าน ซึ่งยากที่ผู้ใดจะปฏิบัติตามได้
นมัสการด้วยความเคารพ
ชุบ เมนะเศวต
เกร็ดประวัติ ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
[พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
โดย
พระมหาสงัด สุวิเวโก
คัดลอกจาก
หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ โดย พระมหาสงัด สุวิเวโก
พิมพ์เป็นวิทยาทาน อุทิศกุศล บูชาพระคุณ
ในงานพระราชทานเพลิงเผาธาตุ
พระคุณเจ้า ธมฺวิตกฺโก
[พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)]
ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์
วันอังคาร ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
คำนำโดยพระมหาสงัด สุวิเวโก
ประวัติของพระคุณเจ้า ธมฺวิตกฺโก ที่อาตมภาพได้เขียนออกมานี้ อาตมภาพเขียนขึ้นจากประสบการณ์และการติดต่อเกี่ยวข้องกับท่านโดยตรงเท่านั้น ส่วนเรื่องของบุคคลอื่นนั้น อาตมภาพไม่ทราบแน่ชัด เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เขียนออกไปก็อาจไม่ถูกไม่ตรงความเป็นจริง จึงของด ไม่เขียนเรื่องของคนอื่น ๆ แม้ของที่ระลึกเกี่ยวกับท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ก็พูดหรือแสดงตัวอย่างเฉพาะที่อาตมภาพจัดขึ้น สร้างขึ้นเท่านั้น เพราะรู้แน่แก่ใจว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนของที่ระลึกต่าง ๆ ที่บุคคลอื่น ฝ่ายอื่นจัดทำขึ้นนั้น อาตมภาพไม่มีความรู้ คือรู้ไม่แน่ว่าอะไรเป็นอะไร พูดไปก็ไม่ถูกไม่ต้อง จึงของดไว้ เอาเฉพาะที่รู้ ที่ทราบ และที่จัดขึ้นเท่านั้น
จึงเจริญพรเพื่อทราบ
พระมหาสงัด สุวิเวโก
กุฏิ น. ๑๐
วัดเทพศิรินทราวาส
พระคุณเจ้า ธมฺวิตกฺโก หรือหลวงพ่อนรรัตน์ ฯ นั้น ในความรู้สึกของภิกษุสามเณรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ในวัดนี้หรือวัดไหนก็ตาม ตลอดทั้งบุคคลภายนอกทั่งไปที่มีความสนใจในตัวท่าน ต่างก็มั่นใจและเลื่อมใสในคุณธรรมและความเป็นอยู่ของตัวท่าน บางคนก็พูดกันไปในลักษณะว่าท่านเป็นอริยะ คือผู้ประเสริฐด้วยการประพฤติบัติ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ดำเนินไปตรงจุดที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ทุกประการ ในด้านส่วนตัว ท่านเป็นผู้ที่รักสันโดษ ยินดีในที่สงบสงัด ไม่รับรู้ในอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ใด ๆ คือโลกธรรมไม่ครอบงำท่านได้ มีความประพฤติสม่ำเสมอ บำเพ็ญกิจวัตรเป็นประจำไม่ทำให้ขาดตกบกพร่อง เช่นการลงโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเป็นต้น ท่านถือเป็นกิจวัตรที่สำคัญ เวลาท่านสวดมนต์มีเสียงนำ ท่านจำแม่น จำได้มาก เป็นหลักประกันของภิกษุสามเณรได้ว่า ถึงเวลา ๒ โมงเช้าก็ดี ถึงเวลา ๕ โมงเย็นก็ดี จะต้องได้พบ ได้เห็นท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ อย่างแน่นอน
ที่เรียกท่านว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ นั้น มีบางคนยังเข้าใจผิด คิดว่าท่านได้รับแต่งตั้งเป็นชั้นเจ้าคุณทางพระสงฆ์ (อย่างที่เห็น เดี๋ยวองค์นั้นได้เป็นพระครู เดี๋ยวองค์นี้ได้เป็นเจ้าคุณ เป็นต้น) ความจริงท่านไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ จากทางคณะสงฆ์เลย และถึงจะได้ ท่านก็ไม่รับ เพราะท่านว่า “พอแล้ว” ท่านได้รับมามากแล้ว คือท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึง พระยานรรัตนราชมานิต ใกล้ชิดเจ้าเหนือหัว ฯ เมื่อท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยานรรัตนราชมานิต นั้น อายุท่านยังไม่เต็ม ๒๕ เลย และท่านเคยเล่าให้อาตมภาพฟังว่า “ในหลวงรับสั่งว่า ข้าจะให้เจ้าเป็นถึง เจ้าพระยาด้วยซ้ำไป แต่เจ้าอายุไม่ถึง ๓๐ “ ฯ เพราะฉะนั้น ที่ส่วนมากเรียกท่านว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ นั้น ก็คือเอายศชั้นพระยาของท่านซึ่งได้รับพระราชทานไว้เมื่อก่อนท่านบวช มาใช้เรียกว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ (ท่านบวชเมื่ออายุย่าง ๒๙ ปี)
ท่านชอบศึกษาทางจิต อบรมฝึกฝนทางกระแสจิตมามาก จึงมีจิตใจเข้มแข็งและอดทนเป็นยอด ฯ แม้ท่านจะได้รับทุกขเวทนามากมายเพียงใดท่านก็มิได้แสดงอาการอะไรให้ผิดแปลกไปจากธรรมดา คงรักษาปกติกิริยาไว้ได้อย่างอัศจรรย์ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย ซึ่งทุกคนที่รู้ที่เห็น และได้ทราบ ท่านก็จะต้องคิดเห็นว่า ท่านนี้ไม่เหมือนใคร และใครก็ไม่เหมือนท่าน ในด้านความอดทนนับว่าเป็นยอด ท่านใช้พลังจิตของท่านเข้าต่อสู้กับศัตรูคือโรคภัยไข้เจ็บที่มาเบียดเบียนท่าน ให้หายไปได้โดยมิต้องใช้ยารักษา อาตมภาพเคยเรียนถามท่านว่า ได้ทราบว่า ท่านเคยเป็นโรคมะเร็งกรามช้าง แล้วทำอย่างไรจึงหายได้ ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เคยเป็นโรคมะเร็งกรามช้างจริง เป็นทั้งสองข้าง กินแก้มทะลุเน่าเฟะ ฟันร่วง เวลาฉันน้ำ ๆ จะไหลออกทางแก้ม ได้เรียนถามท่านว่า เป็นอยู่นานเท่าไร และได้หยุดลงโบสถ์หรือเปล่า ท่านว่าเป็นอยู่ประมาณเกือบ ๒ เดือน (เป็นก่อน พ.ศ. ๘๐) และระหว่างที่เป็นอยู่ก็มิได้หยุดลงโบสถ์ คงลงโบสถ์ทำวัตรเป็นประจำ จนเจ้าพระคุณสมเด็จพระอุปัชฌาย์ท่านว่า “นี่ คุณ ๆ อย่าทรมานสังขารให้มากนักเลย ให้หมอเขาดูเสียบ้างเถอะ” แต่ท่านก็มิได้ให้หมอที่ไหนดูแลรักษา คงใช้รักษาโรคด้วยพลังจิตของท่าน จนโรคร้ายหายสนิทได้อย่างอัศจรรย์ ฯ
ท่านเป็นอยู่อย่างปกติ และเป็นอยู่อย่างธรรมชาติจริง ๆ จะมีใครบ้างไหมที่มีความเป็นอยู่เหมือนท่าน เช่น บนกุฏิของท่านไม่มีแสงสว่างใช้เลย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตะเกียง ไม่มีแม้กระทั่งแสงเทียน ท่านอยู่อย่างธรรมชาติจริง ๆ ท่านว่า แสงสว่างของโลกเขาส่องมาให้แล้ว ตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ถึง ๖ โมงเย็น ก็มีแสงพระอาทิตย์ ถ้าจะต้องการอ่านหนังสือก็อ่านเสียในตอนนี้ ไม่จำเป็นจะต้องมาจุดไฟอ่านในเวลากลางคืน ตอนกลางคืนท่านอยู่มืด ๆ นั่งเข้าที่เจริญสมาธิภาวนาตามอัธยาศัย ฯ
อนึ่ง ภายในกุฏิ ก. ๕ ที่ท่านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ต้น ก็มีสิ่งของประดับประดาไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนท่าน คือสิ่งประดับกุฏิของท่านมีหัวกะโหลก โครงกระดูก และอีกสิ่งที่ท่านชอบและใช้อยู่เสมอก็คือหีบศพ ซึ่งท่านได้สั่งญาติของท่านต่อเตรียมไว้สำหรับท่าน และตั้งอยู่ในกุฏินั้น ท่านเคยลงไปนอนในหีบศพนั้นเป็นบางโอกาส ท่านเคยเล่าว่า เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๘ เวลามีเรือบินมาโจมตีพระนคร เปิดหวอหลบภัย ท่านจะลงไปนอนในหีบศพนั้นทุกครั้ง ท่านว่า ถ้าลูกระเบิดตกลงมาตรงนี้ก็ดีทีเดียว ไม่ต้องให้ใครมายกลงหีบ เพราะท่านนอนอยู่ในหีบแล้ว ฯ
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๕ อุบาสิกาปรึกษ์ นาคสารน์ เป็นชีอยู่สำนักสงบจิต วัดปทุมวนาราม ได้มาปรารภกับอาตมภาพว่า อยากจะได้รูปโครงกระดูกไว้พิจารณากรรมฐานบ้าง อาตมภาพก็ไปเรียนขออนุญาตท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ขออนุญาตถ่ายรูปโครงกระดูกของท่าน ซึ่งท่านก็อนุญาตให้ถ่ายได้ตามประสงค์ ท่านได้เปิดประตูให้เข้าไปยกเอาโครงกระดูกนั้นออกมาตั้งอยู่ที่หน้าประตู เอาผ้าดำบังด้านหลัง ตั้งกล้องถ่ายรูปถ่ายภาพที่ประสงค์ ครั้นถ่ายเสร็จแล้ว ท่านได้กรุณาช่วยจับ ช่วยยกเอาเข้าไปตั้งไว้ตามเดิมด้วยความเมตตาอย่างยิ่ง
ท่านเป็นพระที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาก ยิ่งมาในระยะหลัง ก่อนที่ท่านจะสิ้นไม่กี่เดือน ศรัทธาปสาทะของคนภายนอกยิ่งหนักขึ้น จะเห็นได้ว่า ตอนเย็น ๆ มักจะมีคนมาหาท่าน มาเยี่ยมท่าน มาขอพร มาขอน้ำมนต์ท่าน อย่างผิดปกติ
แม้สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระคุณท่าน ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมท่านเป็นการส่วนพระองค์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๓ เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา สมเด็จ ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่พระอุโบสถ ได้เสด็จประทับและตรัสถามข้อธรรมบางประการกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาส และท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ เป็นเวลานานประมาณชั่วโมงเศษ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ ฯ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๓ สมเด็จ ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าชาย ฯ ได้ตรัสถามถึงเรื่องต่าง ๆ และข้อธรรมที่ทรงสนพระทัยกับท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ พอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ นับว่าสมเด็จ ฯ ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสและทรงสนพระทัยในข้อวัตรปฏิบัติของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ เป็นกรณีพิเศษ
แม้เมื่อท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ได้ถึงมรณภาพดับขันธ์ล่วงไปแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงมีพระเมตตากรุณา เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ อีก ๒ ครั้ง ครั้งแรก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๒ วัน คือวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา สมเด็จ ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธี มีพระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระราชาคณะ ถวายพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ ครั้นจบแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ วันรุ่งขึ้น ๓ มีนาคม สมเด็จ ฯ มิได้เสด็จพระราชดำเนินมา ทรงให้ผู้แทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล มีถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ที่ได้รับอาราธนาสวดพระพุทธมนต์ไว้ในวันก่อน
อนึ่งในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๔ สมเด็จ ฯ ก็ได้ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะ เสด็จพระราชดำเนินมาพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าชาย ฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ ทรงประกอบพิธีวันเดียว คืออาราธนาพระสงฆ์เท่าจำนวน ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว รับพระราชทานฉันภัตตาหารเพล ทรงประเคนไทยธรรม เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ และตระกูล จินตยานนท์ เป็นล้นพ้น
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ท่านได้รับอาราธนาให้เป็นพระอาจารย์เข้าทำพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ทางวัดได้จัดงานบำเพ็ญกุศลฉลองอายุเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) ในวาระที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ มีชนมายุครบ ๗๑ ปี ในงานนี้มีสร้างของเป็นที่ระลึกคือ เหรียญสมเด็จสรงน้ำ เป็นรูปใบเสมารมดำ และพระผงสมเด็จสรงน้ำ บรรจุเส้นเกศาของเจ้าพระคุณสมเด็จด้วย
เรื่องการสร้างพระผงสมเด็จสรงน้ำนี้ มีพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เป็นแม่งานควบคุมการสร้าง ตั้งแต่ผสมผง ตำผง และพิมพ์องค์พระ จำนวนที่สร้างในครั้งนั้น ประมาณว่าบรรจุเต็มบาตรเกือบ ๑๐ บาตร ได้นิมนต์พระเถระผู้ใหญ่มาในพิธีเป็นจำนวนมาก พิธีปลุกเสกเริ่มตอนค่ำไปจนเกือบตลอดรุ่ง มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ ฯ เป็นองค์ประธานปลุกเสก ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ท่านได้เข้าร่วมพิธีปลุกเสกด้วยเป็นครั้งแรก (พระผงรุ่นนี้ก็เป็นที่นิยมกัน หากันตลอดมาจนถึงเวลานี้) ครั้งที่ ๒ ท่านนั่งปลุกเสกพระผงสมเด็จสรงน้ำรุ่น ๒ (รุ่นเกาหลี) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ สงครามเกาหลีปีแรก สำหรับแจกทหารหาญ ครั้งนี้ท่านได้นั่งบนธรรมาสน์เล็ก ชิดเสาร์โบสถ์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ได้ทำพิธีปลุกเสกองค์เดียวถึง ๔ ทุ่มเศษ จึงเสร็จพิธี
ครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นพิธีบริกรรมปลุกเสกครั้งสำคัญ เพราะจัดทำกันตลอดรุ่ง วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น มีพระกริ่งใหญ่ – เล็ก ขันน้ำมนต์ และเหรียญสมเด็จ พ.ฆ.อ. รูปไข่ ในครั้งนี้มีพระคณาจารย์มาก นั่งปลุกเสกสับเปลี่ยนกันตลอดรุ่ง แต่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ท่านนั่งชิดประตูหน้าโบสถ์ด้านขวาองค์เดียว ไม่สับเปลี่ยนกับองค์ใดจนตลอดรุ่ง โดยมิได้ลุกขึ้นเลย (มีรูปถ่าย ๒ รูป ที่อาตมภาพถ่ายไว้ในครั้งนั้นให้ดูด้วย) เรื่องนั่งทนยืนทนของท่านเห็นจะไม่มีใครเกิน
ปฏิปทาอีกข้อหนึ่งของท่าน ที่นำความเชื่อความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นแก่สาธุชนทั่วไป ที่ได้รู้ได้เห็น ได้แก่การบำเพ็ญศาสนกิจในวันพิเศษ คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชาและวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีรธาตุ ๓ สมัยกาลนี้ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ท่านจะบำเพ็ญมหากุศลเป็นกรณีพิเศษ คือเมื่อท่านเดินเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เสร็จแล้ว ก็เข้าสู่ภายในพระอุโบสถ เริ่มพิธีสวดมนต์ทำวัตรค่ำ และต่อจากนั้น ท่านจะนั่งฟังเทศน์ฟังสวดบรรยายธรรม ตั้งแต่หัวค่ำไปจนตลอดรุ่งสว่าง ไม่เคยลุกขึ้นจากที่เลย ท่านได้ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เวลาที่ท่านนั่งอยู่กับที่นั้น เห็นมียุงมาเกาะแขนท่านเต็มไปหมด อาตมภาพเคยเอาผ้าเช็ดหน้าไปโบกไล่ยุงให้ท่าน ท่านพูดว่า “ไม่ต้องดอก ปล่อยให้เขากินให้อิ่ม วันนี้สละเลือดเนื้อเป็นพุทธบูชา” นับว่าท่านเป็นยอดในการอดทน เสียสละ และยอดกตัญญู
ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กรุณาเล่าให้อาตมภาพฟังว่า เมื่อถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน อันเป็นวันสวรรคตของล้นเกล้า รัชกาลที่ ๖ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ท่านจะงดฉันอาหาร ๑ วัน และนั่งทำสมาธิ เพื่อน้อมจิตอุทิศบุญกุศลถวายล้นเกล้า ฯ เจ้าพระเดชนายพระคุณของท่าน ตั้งแต่หัวค่ำ ไปจนตลอดรุ่ง ท่านทำเป็นประจำทุก ๆ ปี ที่ถึงวาระ และได้สั่งให้ทางญาติของท่านทำทอฟฟี่มาถวายพระวัดเทพ ฯ ด้วยเป็นประจำ นับว่าท่านเป็นยอดกตัญญู หาได้ยาก
เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ มีอายุครบ ๖ รอบแล้ว อาตมภาพได้ขออนุญาตท่านเพื่อจัดสร้างเหรียญที่ระลึกอายุครบ ๖ รอบเป็นรุ่นพิเศษ วัตถุประสงค์เพื่อจะรวบรวมปัจจัยไปสมทบสร้างโบสถ์วัดอุทยาน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งยังกำลังก่อสร้างค้างอยู่ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เมื่อท่านทราบวัตถุประสงค์เช่นนี้แล้ว จึงอนุมัติให้จัดสร้างได้ และท่านยังบอกว่า ท่านก็ไม่เคยสร้างโบสถ์เหมือนกัน
เหรียญที่ระลึกอายุ ๖ รอบรุ่นพิเศษ ๑ นั้น มีลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ครึ่งองค์เห็นด้านซ้าย มีใหญ่ มีเล็ก สร้างจากกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ และท่านได้กรุณาปลุกเสกให้เมื่อวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๓ เหรียญรุ่นนี้มีเรียกกันหลายอย่าง เรียกว่ารุ่นเสาร์ ๕ บ้าง ว่ารุ่น ๖ รอบบ้าง บางคนเรียกเหรียญข้าง เพราะเห็นด้านข้าง
อันที่จริงวัดอุทยานนี้ก็เคยได้รับอุปการะจากพระคุณท่านมาตั้งแต่ต้นแล้ว คือเริ่มแต่งานวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์มาแล้ว ในครั้งนั้น พ.ศ. ๒๕๑๑ อาตมภาพได้จัดสร้างพระผงสมเด็จอุทยานขึ้น (แบบสมเด็จวัดระฆัง) มีจำนวน ๕,๐๐๐ องค์ และมีพระแบบอื่นอีกบ้าง รวมกันประมาณหมื่นองค์ เมื่อจัดสร้างขึ้นเรียบร้อย ก็บรรจุหีบห่อ แล้วได้ขนเข้าไปในโบสถ์ วางไว้บนชุกชี แล้ววงสายสิญจน์โดยรอบ ได้มอบกลุ่มสายสิญจน์ถวายท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ เรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ ท่านได้กรุณาทำพิธีปลุกเสกให้ตลอด ๗ วัน ๗ คืน นับว่าพระคุณท่านได้ให้ความเมตตาเป็นอย่างสูง
ครั้นต่อมา วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๓ อาตมภาพได้ไปเรียนขออนุญาตท่าน เพื่อจัดสร้างเหรียญที่ระลึกอายุ ๖ รอบรุ่นพิเศษ ๒ ของท่านอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นได้ขอประทานเส้นเกศาของท่านไว้ เพื่อจะได้จัดสร้างต่อจากเหรียญรุ่นพิเศษ ๒ นี้ เมื่อพระคุณท่านทราบจุดมุ่งหมายแล้ว ก็อนุญาตให้สร้างได้ และในวันรุ่งขึ้น ๑๐ กรกฎาคม ๑๓ ก็ได้กรุณานำเส้นเกศาของท่านมามอบให้อาตมภาพในพระอุโบสถ ต่อหน้าพระภิกษุสามเณรได้รู้ได้เห็นกันหลายองค์ นับว่าพระคุณท่านได้ให้ความเมตตากรุณาเป็นอย่างสูง ครั้นต่อมาในเดือนธันวาคม พระคุณท่านได้บอกให้ทราบว่าจะทำพิธีปลุกเสกให้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว กำหนดไว้ว่า วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ วันเสาร์เป็นวันตัวของท่าน และเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาด้วย ท่านบอกว่าวันนี้เป็นวันดี ที่ในพระราชวัง พระสงฆ์เถระทั้งหลายก็ได้เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว ทางนี้ก็ทำพิธีพุทธาภิเษก ปลุกเสกของที่ระลึก ท่านได้ทำให้คราวนี้นับว่าเป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ และร่วมกันหลายฝ่าย ทุก ๆ ฝ่ายก็ได้จัดสร้างของที่ระลึกในแบบต่าง ๆ กัน ของอาตมภาพนั้น ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกอายุครบรอบ รุ่นพิเศษ ๒ เป็นเหรียญกลม เหมือนเหรียญบาทเหรียญสลึง และได้สร้างเหรียญขนาดใหญ่พิเศษ เรียกว่าเหรียญโภคทรัพย์เอาไว้ด้วย นอกจากนี้ ก็มีพระบูชา พระแก้ว แหวนตราและผงพิเศษต่าง ๆ เป็นต้น ฝ่ายท่านเจ้าคุณอุดม ทางสุสานหลวงนั้น ก็จัดสร้างเหรียญหลายแบบ มีแบบนั่งสมาธิปรกโพธิ และเหรียญรูปสี่เหลี่ยมเป็นต้น วัตถุประสงค์ เพื่อจะรวบรวมปัจจัยไปสร้างโรงเรียนที่จังหวัดนครนายก ทางฝ่ายโรงพยาบาลพระมงกุฎ ฯ ก็สร้างเหรียญท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ มีรูป ร. ๖ อยู่ด้านหลัง ฝ่ายจเรตำรวจ ก็สร้างเหรียญรูปพระนาคปรก เป็นต้น รวมความว่า ทุกฝ่ายต่างได้เตรียมการในงานพิธีปลุกเสกครั้งสุดท้ายนี้ กับทั้งยังมีบุคคลภายนอก ได้นำวัตถุมงคลเข้ามาร่วมในพิธีนี้อีกเป็นอันมาก
พอถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ ท่านก็ได้ทำพิธีพุทธาภิเษก ปลุกเสกวัตถุมงคลให้อย่างเต็มที่เป็นครั้งสุดท้าย และก็สุดท้ายจริง ๆ เพราะต่อจากนี้ไปก็ไม่ได้ทำพิธีปลุกเสกใหญ่อันใดอีก
เกียรติคุณทางพลังจิตของท่านแผ่ไปเป็นที่รู้กันทั่วถึง ทราบว่าทางกรมการรักษาดินแดนจะสร้างเหรียญที่ระลึก ร. ๖ ยังเคยมานิมนต์ท่านให้ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษก แต่ท่านมิได้ไปร่วมในพิธี ได้แต่ส่งกระแสจิตไปร่วม วัดอรุณราชวราราม จะทำการปลุกเสกเหรียญที่ระลึก ยังเคยมาติดต่อขอนิมนต์ท่านไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกของที่ระลึก ท่านก็มิได้ไปร่วมในพิธี ได้แต่ส่งกระแสจิตไปร่วมพิธี ซึ่งทางวัดอรุณนี้ก็ได้ตั้งอาสนะรับรองท่านไว้เป็นอันดับที่ ๑๙ เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนี้ มีกล่าวขวัญกันอยู่ทั่ว ๆ ไป
อนึ่งเหรียญที่ระลึกรุ่นต่าง ๆ ที่พระคุณท่านได้อนุญาตให้จัดสร้างขึ้น และได้กรุณาปลุกเสกให้เป็นกรณีพิเศษหลายคราวนั้น ผู้ที่ได้รับไปบูชา ก็ได้ประสบผลสำเร็จเห็นประจักษ์แก่ตามาแล้วมากต่อมาก ไม่จำเป็นต้องกล่าวให้ยาวความ ส่วนรูปถ่ายของพระคุณท่าน (คือรูปสมาธิอธิษฐาน ซึ่งอาตมภาพได้ถ่ายท่านไว้ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ถ่ายในขณะที่พระคุณท่านเข้านั่งสมาธิอธิษฐานปลุกเสกพระกริ่ง ขันน้ำมนต์ เหรียญสมเด็จ พ.ฆ.อ. รูปไข่ ในครั้งนั้น) อาตมภาพ ได้นำมาอัดขยายทำเป็นรูปอธิษฐาน แล้วได้ถวายให้พระคุณท่านดูด้วย ก่อนจะได้นำเข้าพิธีปลุกเสกพร้อมกับเหรียญที่ระลึกอายุครบ ๖ รอบรุ่นพิเศษของท่าน เมื่อวันเสาร์ ๕ ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๓ นั้น เมื่อพระคุณท่านได้ดูแล้ว ก็พูดขึ้นว่า รูปที่เขาให้เป็นที่ระลึกกันนั้น ต้องเป็นรูปที่ถ่ายชัดเจนสวยงาม แต่นี่โมเดิ้ลอาร์ต เป็นรูปขลัง ท่านพูดดังนี้ ก็สมจริงดังที่พระคุณท่านพูดไว้ทุกประการ เพราะผู้ที่ได้รับไปบูชาทุกคน ต่างก็ได้ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาเป็นจำนวนมาก โดยนำไปติดร้านค้าบ้าง ติดรถยนต์บ้าง ติดตัวบ้าง ว่าดีทั้งนั้น จากคำบอกเล่าของบุคคลอื่นจะไม่นำมาเล่าในที่นี้ แต่จะขอนำเอาถ้อยคำที่พระคุณเจ้า ธมฺวิตกฺโก ท่านได้เล่าให้อาตมภาพฟัง มากล่าวไว้สัก ๒ เรื่องคือท่านได้เล่าว่า
วันหนึ่ง ท่านกำลังเดินจะไปลงโบสถ์ทำวัตร มีหญิงคนหนึ่งเดินมาหาท่านแล้วถามท่านว่า กุฏิท่านอาจารย์นร ฯ อยู่ที่ไหนคะ ท่านกล่าวว่า อาจารย์นร ฯ วัดนี้ไม่มีดอก มีแต่พระยานรรัตน์ ฯ มาบวชที่วัดนี้มี หญิงนั้นถามอีกว่า แล้วกุฏิท่านอยู่ที่ไหนเล่าคะ ท่านก็พยักหน้าไปทางกุฏิที่ท่านอยู่ แล้วท่านถามหญิงนั้นว่า มีธุระอะไรจะพบท่านรึ หญิงนั้นก็ตอบว่า แหม รูปของท่านศักดิ์สิทธิ์เหลือเกินค่ะ ท่านก็ถามว่า ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร หญิงนั้นก็เล่าว่า ยังงี้ค่ะ คือที่บ้านฉันนะ มีคนคอยแกล้งอยู่เสมอ คือกลางคืนมันเอาอุจจาระมาทาที่ประตูบ้านดิฉัน พอเช้าขึ้นดิฉันก็ต้องคอยไปล้างอุจจาระ ตกกลางคืนมันก็เอามาทาอีก เช้าขึ้นดิฉันก็ต้องไปล้างอีก เป็นอย่างนี้มาหลายวันแล้ว ครั้นพอดิฉันได้รูปของท่านไปบูชา ดิฉันจุดธูปบูชา ขอให้ท่านช่วย แหม รูปของท่านศักดิ์สิทธิ์เหลือเกินค่ะ ตั้งแต่ดิฉันได้รูปของท่านไปบูชาแล้ว ไม่มีใครมาแกล้งดิฉันอีกเลยค่ะ เมื่อหญิงนั้นเล่าจบแล้ว พระคุณท่านก็เดินไปลงโบสถ์ทำกิจวัตรประจำวันต่อไป ครั้นเสร็จธุรกิจจากโบสถ์แล้ว ท่านก็เดินกลับกุฏิของท่าน ปรากฏว่าหญิงนั้นคอยพบท่านอยู่ที่หน้ากุฏินั่นเอง พอท่านเดินไปถึง หญิงนั้นจึงเข้ามากราบท่านแล้วพูดว่า อ้อ ท่านเองแหละ ดิฉันไม่ทราบ แล้วจึงกราบลาจากไป ท่านเล่าให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้ม ๆ ด้วยนึกขำ ฯ
ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังที่หน้ากุฏิของท่าน ในตอนนั้นมียืนพูดและฟังอยู่กับท่าน ๒ – ๓ คน แต่นึกไม่ออกว่าใคร เป็นเวลาเย็นออกจากโบสถ์มาแล้ว ท่านได้เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งมาหาท่าน จะนำพวงมาลัยมาคล้องที่ประตูกุฏิท่าน ท่านก็บอกเขาว่า ให้เอาไปบูชาพระที่ในโบสถ์ ประตูโบสถ์ยังเปิดอยู่ รีบไปเถิด ผู้ชายนั้นก็ยังยืนรี ๆ รอ ๆ อยู่ ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า รีบไปเถอะ ประเดี๋ยวประตูโบสถ์เขาจะปิดแล้ว ผู้ชายนั้นก็พูดขึ้นว่า ผมจะเอามาบูชาหลวงพ่อครับ ท่านก็ถามเขาว่า จะเอามาบูชาทำไม เขาก็บอกว่า เคยได้รูปหลวงพ่อไปติดที่รถ ผมขับรถแท็กซี่ครับ ผมแคล้วคลาดดีเหลือเกินครับ บางคราวถึงไฟแดงผมเบรกไม่ทัน ผมขับผ่านไฟแดงไปเลยครับ หลายหนแล้วครับ ตำรวจยังเฉย ๆ ท่านได้เล่าให้อาตมภาพและที่ยืนอยู่ฟังดังนี้แล้ว จึงหันหน้ามาทางอาตมภาพแล้วพูดว่า นี่แน่ะ เที่ยวเอารูปไปอัดขยายแจกใครต่อใคร ทำให้เขาผิดกฎจราจรกันวุ่นไป ขณะที่ท่านพูด มีใบหน้ายิ้มละมัย อาตมภาพก็สบายใจ เพราะทุกสิ่งที่ทำไปด้วยเจตนาดี ย่อมมีผลในทางที่ดี มีคุณมีประโยชน์แก่ผู้นำไปใช้ไปบูชา จึงกล้าพูดกล้าเขียนออกสู่กันฟัง
พระคุณท่านได้มองเห็นความสำคัญในการสร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียน เป็นต้นว่า เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและศาสนาอย่างมหาศาล โบสถ์เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล มีสวดมนต์ทำวัตรของภิกษุ สมาเณรและอุบาสกอุบาสิกา โบสถ์เป็นสถานที่บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรพุทธชิโนรส ผู้จะดำรงวงศ์พระสัทธรรมสืบอายุพระพุทธศาสนาให้สถาพรต่อไป โรงเรียนเป็นที่อบรมบ่มนิสัยคน สอนคนให้มีความรู้ความสามารถ และเฉลียวฉลาดในอันที่จะปกครองประเทศชาติให้วัฒนาสถาพร รักษาความเป็นไทยอยู่ตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน เมื่อพระคุณท่านได้มองเห็นความสำคัญดังนี้แล้ว แม้ว่าสังขารร่างกายของท่านจะถูกโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนเพียงใด ท่านก็ไม่รู้สึกหวั่นไหวไปตามอาการของโรคร้ายที่มาบีฑา กลับมีจิตเมตตากรุณา ทำให้ ปลุกเสกให้ตามความประสงค์ เท่ากับพระคุณท่านได้ฝากความสำคัญที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาให้สาธุชนผู้สนใจได้นำไปประพฤติปฏิบัติตาม อันจะเป็นความดีและความสุขความเจริญแก่ตน เพราะต่อจากวาระพิธีการนั้นมาอีกเพียง ๓๔ วัน พระคุณท่านก็ถึงมรณภาพดับขันธ์ สละโลกนี้ไปอย่างที่ไม่มีใครนึกใครฝันว่าจะกะทันหันถึงเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านั้น คือวันที่ ๗ มากราคม ๒๕๑๔ ท่านก็ยังมีอาการดีอยู่ แต่ดูเหมือนจะมีลักษณะบวมตามมือตามเท้าบ้างแล้ว ตอน ๒ โมงเช้า ท่านยังไปลงโบสถ์ทำวัตรได้ ตอนเย็น ๕ โมงเย็น ท่านก็ยังลงโบสถ์ทำวัตรเย็นเป็นอย่างธรรมดา ยังพูดจากับสาธุชนที่มาเยี่ยมท่าน ยังหยิบหนังสือแจกให้คนนั้นคนนี้อยู่อย่างปกติธรรมดา แต่อนิจจา รุ่งขึ้นวันที่ ๘ มากราคม ๒๕๑๔ เวลา ๒ โมงเช้า เป็นเวลาลงโบสถ์ทำวัตรตามปกติ เช้าวันนี้ ภิกษุสามเณรทั้งหลายที่มาลงโบสถ์ ต่างก็ไม่เห็นไม่ได้ยินเสียงสวดมนต์ของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ เลย ทุก ๆ องค์ก็คงคิดเอาว่า วันนี้ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ คงไม่สบายมาก จึงมิได้ลงโบสถ์ เพราะตามปกติแล้วท่านจะไม่ยอมขาดการลงโบสถ์ทำวัตรเลย และท่านเคยพูดว่า “ถ้าไม่ลงโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์ ก็ตายเสียดีกว่า”
เคยมีอยู่ ๒ – ๓ วัน ที่ท่านไม่ได้ลงโบสถ์ ครั้งนั้นท่านถูกงูกัด เท้าบวมเดินไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเหลือเกินเพราะเดินไม่ได้ อาตมภาพเคยเห็นท่านเป็นโรครูมาติซั่ม โรคไขข้ออักเสบ หัวเข่าข้างขวาบวมแดง ท่านยังอุตส่าห์ใช้ไม้เท้ายันกาย เดินเขยกมาลงโบสถ์จนได้ ยอดบูชาเหลือเกิน อาตมภาพได้เห็นกับตา ไม่ใช่มีใครมาเล่าให้ฟัง แต่แล้วอีกไม่กี่วัน โรคนั้นของท่านก็หายเป็นปกติ ท่านไม่ได้ฉันยา ไม่ได้ทายาอะไรทั้งสิ้น ท่านว่า มันเป็นขึ้นมาเอง ก็ให้มันหายไปเอง และก็จริงอย่างที่ท่านว่าไว้ หายสนิท ฯ
ท่านเป็นโรคชนิดหนึ่ง เมื่อประมาณเดือน เมษายน ๒๕๑๓ ท่านเคยบอกว่า เป็นฝีสบาย มันมีอายุ ๕ ปี ถ้าแตกก็จะต้องตาย ตอนนั้นท่านเคยให้อาตมภาพจับดู ก็รู้สึกว่าเป็นไต เป็นก้อนแข็งอยู่นิดหน่อย ขนาดเท่าลูกมะไฟ เคยเรียนถามท่านว่ารู้สึกเจ็บบ้างไหม ท่านว่า ไม่เจ็บ แต่โรคของท่านนี้รุ้สึกเจริญเร็วมาก พอเดือน พฤษภาคม เจริญเจิบโตขึ้นมาเท่าขนาดลูกหมากดิบเขื่อง ๆ เห็นจะได้ โปรดดูรูปถ่ายที่ท่านกำลังเดินเวียนเทียนวันวิสาขะบูชา ดูที่คอด้านซ้ายของท่าน จะเห็นได้ชัดเจน
พอถึงเดือนตุลาคม ๑๓ ใกล้จะออกพรรษาแล้ว ฝีร้ายนี้ก็แตกออก มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลซึมอยู่เสมอ ตอนนั้นท่านเอากระดาษชำระกระดาษม้วนซับน้ำเหลืองไว้ แม้เวลามาลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำ ท่านก็มีกระดาษติดมือมาคอยชำระอยู่เสมอ บางครั้งขณะกำลังไหว้พระสวดมนต์ น้ำเลือดน้ำเหลืองนั้นก็หยดลงมาเปรอะสังฆาฏิและจีวรของท่าน ทำให้เป็นรอยเกรอะกรัง แต่อำนาจพลังจิตอันยิ่งใหญ่ สิ่งอันใดเล่าจะมาสู้ เวลาที่ท่านกลับไปกุฏิแล้ว ก็ต้องไปซักจีวรเตรียมไว้ เพื่อการลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ในโอกาสต่อไป เพราะท่านใช้จีวรเพียง ๓ ผืนเท่านั้น ปีหนึ่งจึงเปลี่ยนกันใหม่หมดหนหนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องไตรจีวรนี้ เคยมีผู้นำมาถวายท่านตามนามบัตร คือ พ.อ. จิตต์ ธนะโชติ นำมาถวายท่านที่กุฏิ วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓ ท่านเรียกให้อาตมาภาพไปรับมอบไว้ที่กุฏิของท่าน ต่อมา พ.ต.อ. จำชื่อไม่ได้ นำมาถวายท่านอีกไตรหนึ่ง ในโบสถ์ ท่านก็มอบให้อาตมภาพไว้ แล้วพูดว่า เอาไปเถอะ จะไปทอดผ้าป่าไม่ใช่รึ เอาไปทำบุญอะไรก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร แต่อาตมภาพคิดเห็นว่า ผ้าไตร ๒ ไตรนี้ เป็นของที่ท่านได้มอบให้กับมือท่าน จัดว่าเป็นสิริมงคล จึงเก็บรักษาไว้ และในที่สุด ก็อธิษฐานจิตขออนุญาตทำเป็นผ้ายันต์ที่ระลึกแจกกันไปตามสมควร
อนึ่งท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่ชอบรบกวนใครให้ลำบาก ทั้งไม่ทำองค์ท่านให้ลำบากด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจึง ไม่ฉันหมาก ไม่สูบบุหรี่ ไม่ฉันน้ำชา ไม่ฉันกาแฟ ไม่ฉันน้ำอัดลม และไม่ฉันเครื่องดื่มอะไรทั้งสิ้น ปกติของท่าน ฉัน “น้ำฟ้า” เป็นประจำ ต่อมาในระยะหลังสุด ก่อนท่านจะสิ้นไม่กี่เดือน จึงผ่อนให้ โดยท่านรับของถวายให้ฉัน เป็นน้ำส้มบ้าง น้ำโกโก้ใส่เนย บ้าง และอย่างอื่นบ้าง เป็นครั้งคราว ถึงกระนั้น ท่านก็ยังพูดว่า “อย่าต้องลำบากเลย” คุณธรรมของท่านประเสริฐแล้ว
ครั้นตอนเย็น เวลา ๕ โมงเย็น เป็นเวลาลงโบสถ์ ทำวัตรค่ำ ได้ทราบว่า ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ ก็มิได้ลงโบสถ์ตอนเย็นเหมือนเช่นเคยอีก ตกลงว่าวันนี้ (ที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔) ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ฯ มิได้ลงโบสถ์ทำวัตรทั้งเช้าทั้งเย็นเหมือนเช่นเคย ทำให้ภิกษุสามเณรที่มีจิตใจห่วงใยต่อท่าน ต่างไม่สบายใจไปตาม ๆ กัน หวนไปนึกถึงถ้อยคำที่ท่านเคยพูดไว้ว่า “ถ้าไม่ลงโบสถ์ไหว้พระสวดมนต์ ก็ตายเสียดีกว่า” แต่ก็ยังไม่แน่แก่ใจว่าท่านจะมีอาการมากน้อยเพียงใด ท่านคงจะทนทรงสังขารไม่ไหวอยู่แล้ว แต่ก็ทนจนถึงที่สุด
ก่อนหน้านั้นได้เคยถวายน้ำอัฐบานและอาหารอ่อนให้ท่านฉันติดต่อกันอยู่หลายวัน มีน้ำซุบข้าวโพดบ้าง ซุบถั่วเขียวบ้าง ตามที่ท่านสั่ง ถวายให้ฉันในตอนสาย ประมาณ ๙ น. น้ำส้มคั้นบ้าง โกโก้ใส่เนยบ้าง ถวายให้ฉันในตอนเย็น ประมาณ ๑๘ น.เศษ ได้ถวายท่านอยู่หลายวัน แต่พอมีอาการบวมที่มือที่เท้าแล้ว ท่านจึงของด ฯ
ตอนเย็นประมาณ ๑๘ น. เศษ ของวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ นั้น คุณหมอไพบูลย์ ผู้เคยมาทำแผลฝีให้ท่านติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว และพระมหาผู้รับปฏิบัติได้พากันไปที่กุฏิ ก. ๕ อันเป็นที่อยู่ประจำของท่าน ตามปกติท่านเข้าทางด้านหลัง ก็ทราบว่าท่านถอดกลอนประตูไว้แล้ว (เพราะท่านรู้ล่วงหน้าก่อนแล้ว) และเมื่อจะขึ้นไปบนกุฏิของท่าน ก็จำเป็นจะต้องมีสายไฟไปด้วย เพราะบนกุฏิท่านไม่มีไฟฟ้าใช้ดังกล่าวแล้ว ท่านอยู่มืด ๆ มาจนเคยชินหลายสิบปีแล้ว เมื่อคุณหมอและพระผู้รับปฏิบัติขึ้นไปบนกุฏิแล้ว ก็ได้เอาไฟฉายส่องตรวจดู จึงรู้ว่าท่านนอนอยู่ในมุ้งในลักษณะที่ห่มจีวรอยู่เรียบร้อยแล้ว แสดงว่าท่านรู้ตัวรู้วาระของท่าน ครู่หนึ่ง คุณหมอได้เอื้อมมือลอดมุ้งเข้าไปสัมผัสเท้าของท่าน ฉับพลันก็รู้ได้ว่า ท่านถึงมรณภาพแล้วอย่างแน่นอน เพราะลักษณะอาการบ่งชัดเจน คือเท้าท่านเย็นและรู้สึกว่าจะเริ่มแข็งกระด้าง คุณหมอได้ลงความเห็นว่า ท่านจะต้องดับจิตจากโลกนี้ไป ประมาณได้ ๘ ชั่วโมงล่วงแล้ว คือท่านดับจิตเมื่อเวลาประมาณ ๑๐ โมงเช้าเศษอย่างแน่นอน เป็นอันว่า พระคุณเจ้า ธมฺวิตกฺโก ท่านได้ถึงมรณภาพดับขันธ์ ละโลกนี้ไปแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกาเศษ ฯ
บัดนี้ พระคุณท่านได้สละโลกที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน จากมนุษยโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบสุข และอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งทุก ๆ คนที่ได้รู้ได้ทราบปฏิปทา ความประพฤติปฏิบัติอันยอดเยี่ยมของท่าน ก็คงจะเชื่อมั่นและลงความเห็นกันว่า พระคุณท่านจะไม่หวนกลับมาสู่มนุษยโลกนี้อีกอย่างแน่นอน สิริรวมอายุของท่านได้ ๗๒ ปี ๑๑ เดือน กับ ๓ วัน ๔๕ พรรษา
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๔ เป็นวันที่สรงน้ำศพพระคุณท่าน (โดยเก็บท่านไว้หลังจากที่ท่านได้มรณภาพแล้ว ๒ วัน ๒ คืน) ในการนี้ได้มีสาธุชนที่มีความเคารพนับถือในพระคุณท่าน ได้พากันมากราบศพและสรงน้ำศพของพระคุณท่านอย่างมากมาย ตั้งแต่เช้าจนสายและถึงตอนเย็นเป็นกำหนด และหลังจากที่ท่านได้รับพระราชทานน้ำสรงศพของหลวงเสร็จแล้ว ศพของท่านก็ได้ถูกบรรจุลงในหีบน้อยใบดั้งเดิมตามคำสั่งของท่าน แต่พระคุณท่านได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกศของหลวง โกศโถทองรองธาตุ ประกอบเครื่องสูงเป็นเกียรติยศ ซึ่งประดิษฐานงามตระหง่านอยู่ ณ ท่ามกลางศาลาเรือนกระจก ลมุลนิรมิต ในสุสานหลวง เป็นเวลา ๑ ปี ๑ เดือน กับ ๑๔ วัน
จากนั้น ก็ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ รับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และได้ทรงพระมหากรุณา เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพเป็นเกียรติแก่ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ณ เมรุ หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ ทั้งสองพระองค์ ฯ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ แก่ตระกูลจินตยานนท์ เป็นล้นพ้น ขอถวายพระพร ฯ
รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตํ น ชีรติ
รูปกายของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป แต่ชื่อเสียง วงศ์ตระกูลและคุณงามความดี ยังมิเสื่อมสูญไป
พุทธศาสนสุภาษิต
พระมหาสงัด สุวิเวโก
วัดเทพศิรินทราวาส
ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก
คัดลอกบางส่วนจากหนังสือ :
ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก พระอรหันต์กลางกรุง
* * * * * * * * * * *
โพสท์ในลานธรรมเสวนากระทู้ที่ 11669 โดย: mayrin 18 มี.ค. 47
เมื่อท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ได้อุปสมบทเป็นพระธมฺมวิตกฺโกภิกฺขุ แล้ว ท่านได้ประพฤติธรรมโดยเคร่งครัด มีศีลอันบริสุทธิ์ ไม่เคยล่วงศีลข้อใดเลย ท่านไม่ยอมแม้แต่จะมีเด็กไว้รับใช้ด้วยเกรงว่าจะขาดประเคน อันเป็นการล่วงศีล และไม่ต้องการจะเบียดเบียนใครแม้แต่กำลังกายของเขา ในเมื่อท่านสามารถทำเองได้
ท่านได้ออกบิณฑบาตเช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย และใช้เวลานี้ไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมโยม เมื่อกลับมาก็จะเอาอาหารบิณฑบาตถวายสมเด็จอุปัชฌาย์เป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด นอกจากนี้แล้วท่านยังไม่เคยออกไปไหน ต่อมาภายหลัง เมื่อท่านปฏิบัติธรรมเคร่งครัดมากขึ้น ท่านไม่ออกจากวัดอีกเลย
ส่วนเรื่องการบิณฑบาตนั้นภายหลังท่านได้งดออกบิณฑบาตนอกวัด โดยครั้งแรกท่านเบื่อหน่ายที่มีผู้มีศรัทธามาดักคอยถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่าน เป็นการไม่ถูกต้องกับความประสงค์ของท่านที่ต้องการจะได้อาหารบิณฑบาตตามแต่จะได้เช่นภิกษุอื่น ๆ ต่อมาภายหลังท่านได้ตัดสินใจไม่ออกบิณฑบาตอีกเลย เพราะเกิดความสลดใจ
ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านได้ออกบิณฑบาตตามปกติ ขณะที่จะเดินเข้ารับภัตตาหารจากที่มีผู้ถวายเป็นประจำนั้น ได้มีพระภิกษุอื่นเดินตัดหน้าท่านไปรับภัตตาหารนั้นก่อน ท่านจึงหยุดรอ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นรับภัตตาหารแล้วท่านได้ยินเสียงเพื่อนของคนที่ตักบาตรที่ยืนอยู่ข้าง ๆ พูดว่า "หมายังไม่แย่งกันอย่างนี้ ทำไมพระจึงแย่งกัน"
ด้วยคำพูดที่ท่านได้ยินท่านจึงเกิดความสลดใจ และเห็นว่าท่านเองถ้าไม่ออกบิณฑบาตก็ยังมีทางได้รับอาหารจากทางบ้าน แต่พระภิกษุอื่นอาจจะไม่มีทางจะได้อาหารจากที่อื่นนอกจากอาหารบิณฑบาต และอาจจะมีความจำเป็น เช่นมีลูกศิษย์มาก ถ้าท่านงดบิณฑบาต ก็จะมีอาหารเพิ่มสำหรับพระภิกษุอื่นอีกหนึ่งองค์
นอกจากนี้ท่านได้บิณฑบาตมาถวายสมเด็จอุปัชฌาย์อยู่หลายปีแล้ว แม้จะงดถวายก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสมเด็จอุปัชฌาย์ ท่านจึงงดออกบิณฑบาต และให้ทางบ้านท่านส่งอาหารมาถวายแทนโดยใช้เงินของท่านที่ได้รับทุกเดือน ทำอาหารมาถวายท่าน และท่านใช้บาตรรับอาหารที่กุฎิแทน
ต่อมาท่านได้เริ่มฉันอาหารมื้อเดียว คือตอนเพล ส่วนอาหารนั้นเป็นอาหารประเภทผักทั้งสิ้น ไม่มีอาหารประเภทเนื้อ ฉะนั้น อาหารของท่านจึงมีเพียง ข้าว ถั่ว และงา ท่านบอกว่าบางครั้งท่านก็ฉันใบตอง โดยให้ตำมาให้ก่อนพอจะเคี้ยวได้ ส่วนอาหารประจำของท่านคือ มะนาว ที่ท่านฉันอาหารอย่างนี้ท่านบอกว่าจะได้สะดวกแก่คนทำถวาย ไม่ต้องไปหามาลำบาก เพราะเป็นสิ่งหาง่ายไม่สิ้นเปลืองมาก
เมื่อท่านฉันอาหารมื้อเดียวท่านเล่าว่า บางวันก็ไม่ได้ฉัน เพราะหลานท่านเอามาถวาย บางวันด้วยความเป็นเด็กไปเล่นกับเพื่อนเพลินจนลืมท่าน เอาอาหารมาถวายตอนบ่าย ท่านบอกว่ามาเคาะประตูเรียกท่านว่า "หลวงลุงครับ" ท่านเปิดประตูออกมาถามว่าทำไม หลานท่านบอกว่าเอาอาหารมาถวาย ท่านก็ตอบว่า "มึงเอามาทำไมตอนนี้ เอากลับไป" ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นอันว่า วันนั้นท่านไม่ได้ฉันอาหาร
ส่วนเรื่องงดออกนอกวัดนั้น ผมไม่ได้เรียนถามท่านแน่นนอนว่า ท่านงดออกนอกวัดในวันเดือนปีใด ผมเชื่อแน่ว่าท่านต้องจำได้หรือจดไว้ เพราะปกติท่านจะจดวันเดือนปีเกี่ยวกับเรื่องของท่านไว้เสมอ แต่ท่านเคยบอกว่า ท่านงดออกจากวัดก่อนสร้างสะพานพุทธฯ หรือก่อสร้างเสร็จ เพราะท่านบอกว่าท่านไม่เห็นสะพานพุทธฯ ว่าเป็นอย่างไร นอกจากรูปถ่ายที่มีผู้เอามาถวายให้ท่านดู
ผมเคยเรียนถามท่านว่า แล้วท่านอยากไปดูไหม ท่านบอกว่าไม่อยากไปดู เพราะถึงอย่างไรก็เป็น เรื่องของสังขาร ล้วนเป็นอนิจจังทั้งสิ้น ส่วนที่กุฏิของท่านนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ ท่านบอกว่าไม่ใช่เพราะต้องการจะอวดคุณวิเศษอะไรดอก แต่เพราะเมื่อท่านบวช กุฏิท่านไม่มีไฟฟ้า เพราะการไฟฟ้าวัดเลียบยังไม่จ่ายกระแสไฟฟ้ามา ภายหลังทางการไฟฟ้าจ่ายกระแสไฟฟ้ามาท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็น
เพราะท่านไม่มีการงานอะไรที่จะต้องทำเวลากลางคืน หากจะอ่านหรือเขียนหนังสือ ท่านก็ใช้เวลากลางวันได้และเพียงพอแล้ว หากจำเป็นจริง ๆ ก็จุดเทียนทำได้ ส่วนเวลากลางคืนนั้น ก็ใช้เป็นเวลาปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว การปฏิบัติธรรมนั้นท่านบอกว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อต้องการแสงสว่างในจิตใจ ไม่จำเป็นต้องใช้แสงสว่างภายนอกมาช่วยแต่อย่างใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงไม่ได้ขอต่อกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในกุฏิเรื่อยมา นอกจากที่ท่านบอกให้ฟังแล้ว ผมคิดว่าอาจจะมาจากนิสัยประหยัดและเสียสละของท่านด้วย เพราะท่านธมฺมวิตกฺโก เป็นผู้ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย และอีกอย่างหนึ่ง คือเสียสละ เมื่อท่านไม่จำเป็นต้องใช้ก็ควรจะให้คนอื่นที่จำเป็นได้ใช้ดีกว่า ท่านพูดเสมอว่า คนเราควรรู้จักประหยัดและเสียสละ เพื่อประเทศชาติจะได้เจริญ
ท่านบอกว่าอย่างโครงการวางแผนครอบครัวที่ทำกันทุกวันนี้ ถ้าทำตามที่พระพุทธเจ้าวางไว้จะมีประโยชน์กว่า ผมไม่เข้าใจจึงถามท่านว่า พระพุทธเจ้าวางไว้อย่างไร ท่านก็อธิบายว่า คนเรานั้นเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้วคู่สมรสก็ควรถือศีลห้า เพื่อให้ครอบครัวอยู่เป็นสุข เพราะศีลจะทำให้ผู้รักษาศีลนั้นเป็นสุขและร่มเย็นเสมอ
เมื่อมีลูกพอแก่ความต้องการแล้วก็เปลี่ยนมาถือศีลแปด การถือศีลแปดหรืออุโบสถศีลนี้ นอกจากจะไม่มีลูกเพิ่มแล้ว ยังไม่เปลืองอาหารมื้อเย็นอีกมื้อหนึ่งด้วย ประเทศไทยคงมีอาหารสมบูรณ์กว่านี้ เมื่ออธิบายจบท่านก็สรุปว่า เรื่องนี้ทำยาก แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านบอกว่า ถ้าทำได้ก็ประเสริฐประเทศชาติจะร่มเย็นเป็นสุข และได้เล่าว่า เมื่อสมัยพุทธกาลมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลังจากมีบุตรแล้วก็ปฏิบัติธรรมแข่งขันกัน จนกระทั่งภายหลังสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปทั้งสองคน
ท่านธมฺมวิตกฺโก เป็นผู้อดทน มีความเพียร เมื่อทำสิ่งใดก็ทำสม่ำเสมอ อย่างการทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ท่านก็ทำโดยตลอดไม่เคยขาด มีงดอยู่วันเดียว วันนั้นท่านอาพาธเพราะถูกงูกัด สมเด็จอุปัชฌาย์ได้มาบอกว่าให้งดสักวันเถิด ท่านก็งดวันนั้นเพียงหนึ่งวัน ตลอดเวลา ๔๐ ปีกว่า ท่านงดทำวัตรเพียงหนึ่งวัน
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าท่านมีความอดทนและความเพียรเพียงใด คนที่ทำอะไรได้ทุกวัน โดยสม่ำเสมอเป็นเวลา ๔๐ กว่าปี นี้เป็นเรื่องน่าคิดและน่าสรรเสริญเพราะยากนักจะทำได้ และตลอดเวลา ๔๐ กว่าปี มิใช่ว่าท่านจะแข็งแรงมีสุขภาพดีมาโดยตลอดก็หาไม่ ท่านก็ป่วยเจ็บเช่นคนทั้งหลาย
แต่ด้วยความอดทน ท่านก็พยายามทำไม่ยอมขาด และการป่วยเจ็บของท่านนี้ ท่านบอกว่าเมื่อตัดสินใจจะปฏิบัติทางจิตแล้วก็ต้องทำให้ได้โดยอาศัยอำนาจจิตมารักษา เมื่อรักษาไม่ได้ก็ตายไป ไม่ขออาศัยยาแก้เจ็บแก้ไข้ ท่านบอกว่าคนที่ปฏิบัติทางจิตนี้ ต้องการสังขารเพียงเพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมวินัย ต่อไปเท่านั้น ไม่ต้องการสังขารที่สุกใส เปล่งปลั่ง
ท่านพูดเสมอว่า ช้างพี ฤาษีผอม หมายถึงช้างที่ดีควรจะอ้วน ส่วนฤาษีอันหมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมควรจะผอม ต่อมาท่านได้ถูกคางคกไฟกัดอีก แต่ครั้งหลังนี้ท่านไม่ได้ขาดทำวัตร เรื่องคางคกไฟนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ท่านเองก็บอกว่าไม่เคยมีใครพบในกรุงเทพฯ ทราบแต่ว่ามีทางปักษ์ใต้ ทำไมจึงมากัดท่านได้
ท่านชี้ตำแหน่งให้ดูที่หลังเท้าว่ากัดจนจมสองเขี้ยว และท่านเห็นตัวด้วย ว่าตัวใหญ่กว่าคางคกธรรมดาและสีแดง ท่านบอกว่าคืนนั้นบวมมาก และค่อย ๆ ปวดขึ้นมาจนเข้าหัวใจ ท่านพยายามอดทน และขับไล่ความเจ็บป่วยนั้น จนรุ่งเช้าบวมเฉพาะขาทั้งท่อนล่างและท่อนบน แม้อย่างนั้นท่านก็ยังไม่ยอมขาดทำวัตร
นอกจากนี้ท่านยังป่วยเป็นโรคมะเร็งกรามช้าง ฉันอาหารไม่ได้เกือบเดือน นอนก็ไม่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านต้องนั่งก้มหน้าเอากระโถนมารองไว้ให้น้ำหนองไหล และพอฟันซี่ใดหลุดท่านก็จดวันที่และเวลาที่ฟันหลุดไว้ จนกระทั่งฟันหลุดหมดปาก ระยะนี้โยมพ่อได้มาเยี่ยมท่านและบอกว่าท่านคงไม่รอดแน่
ท่านจึงวานโยมพ่อไปต่อหีบศพให้ท่าน ช่างที่ต่อเป็นชาวจีนชื่อจุ่นอยู่หลังวัดเทพศิรินทร์ ใช้ไม้สักทั้งหีบ ราคาสิบกว่าบาท เมื่อต่อเสร็จก็นำมาไว้ในกุฏิแต่ปรากฏว่าท่านไม่ตาย หีบศพนั้นก็อยู่กับท่านเรื่อยมา เรื่องหีบศพของท่านนี้ ผมจำได้ว่าท่านเล่าให้ฟังว่าท่านป่วยด้วยโรคมะเร็งกรามช้าง ๒ ครั้ง และการต่อหีบศพนี้เป็นการต่อในการป่วยครั้งแรกของท่าน เมื่อท่านบวชได้ไม่กี่พรรษา
หลังจากเป็นมะเร็งกรามช้างแล้วท่านบอกว่าท่านยังเป็นอัมพาตอีก โดยที่ขาของท่าน เป็นข้างขวามากกว่าข้างซ้ายทำให้เดินไม่ไหว เวลาไปลงโบสถ์ทำวัตรต้องใช้มือช่วยยกเท้าเดินไป ต่อมาเป็นมากท่านใช้ไม้ผูกเชือกตอนปลายแล้วไปผูกกับนิ้วหัวแม่เท้าแล้วใช้มือช่วยยกเท้าไปลงทำวัตรจนได้
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าท่านอดทนเพียงไร เพื่อที่จะได้ไม่ขาดทำวัตร ต่อมาภายหลัง ท่านก็หายจากอัมพาต แต่เวลาเดินเท้าข้างขวายกสูงไม่ได้ จนกระทั่งมรณภาพ ทำให้ท่านเดินหกล้มบ่อยหากเดินไปสะดุดอะไรเข้า เพราะยกเท้าไม่พ้น และการที่ท่านหายนี้ด้วยบุญบารมีของท่านเอง ไม่เคยฉันยาเลย ดังที่ท่านบอกว่าตั้งแต่บวชมาไม่เคยฉันยาสักครึ่งเม็ด
ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก
คัดลอกบางส่วนจากหนังสือ :
ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก พระอรหันต์กลางกรุง
* * * * * * * * * * *
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)
ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ วัดเทพศิรินทร์ กทม.
.....(พูดกับคุณโกศล ปัทมะสุนทร) โกศล ตายแล้วก็สามารถช่วยคนได้ดีกว่าอยู่อีกนะ ขอเพียงแต่เราอธิษฐานจิตถึงกันและกัน กระแสจิตเปรียบเหมือนเครื่องส่งวิทยุนะ ถ้าจูนเครื่องตรงกัน ก็สามารถติดต่อกันได้ ถ้าเครื่องส่งมีกำลังส่งมากเพียงไร แต่ถ้าเครื่องรับไม่จูนเครื่องให้ตรงกันก็ไม่สามารถรับได้ .....
.....ร่างกายเป็นรังของโรค ต้องป่วยเจ็บอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย อย่าเศร้าหมองตาการเจ็บป่วยนั้น ทำใจให้ปรอดโปร่ง และให้นึกเสมอว่าการเจ็บการตายไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้อย่าประมาท อย่ารั้งรอตอ่การทำความดี ในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี จะได้ไม่ต้องเสียใจแม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม .....(แล้วท่านเจ้าคุณก็มักจะกล่าวกลอนนี้เสมอ)
ถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่แพ้
ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนา
กายนี้มันจะเน่าเราก็ลา
ไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอย...
ท่านเจ้าคุณเป็นโรคมะเร็งที่ลำคอ จนมีขนาดดังรูป โดยท่านไม่เคยแสดงอาการเจ็บปวดให้ผู้ใดเห็น แม้พระราชินีทรงประสงค์จะส่งหมอมารักษา ท่านก็ได้ปฏิเสธพระองค์ และมีแพทย์หลายท่านประสงค์ที่จะมาทำการรักษา ท่านก็บอกว่าปล่อยให้มะเร็งมันตายไปกับท่าน ภาพถ่ายนี้ถ่ายตอนนายแพทย์มาทำความสะอาดแผลมะเร็งที่แตกแล้ว โดยท่านเจ้าคุณบอกให้ถ่ายไว้
ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก
คัดลอกบางส่วนจากหนังสือ :
ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก พระอรหันต์กลางกรุง
* * * * * * * * * * *
นอกจากการลงโบสถ์เพื่อทำวัตรเช้าและเย็นแล้ว ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา และวิสาขบูชา เป็นต้นนี้ ทางวัดจะมีเทศน์ตลอดคืนให้พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาฟัง ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็จะมาฟังเทศน์ด้วย และท่านจะฟังตลอดคืนจนรุ่งเช้า โดยนั่งพับเพียบพนมมือตลอดจะพลิกเปลี่ยนข้างก็เพียงหนึ่งครั้ง
ผมเคยถามท่านถึงเรื่องนี้ ท่านบอกว่าไม่ยาก อยู่ที่การฝึก นี่เป็นเครื่องแสดงว่าท่านได้ฝึกตนเองมาอย่างดีแล้ว และท่านยังบอกอีกว่า ท่าฝึกนั่งสมาธิ ถ้าจะเริ่มหัดท่านั่งพับเพียบนี้เป็นท่านั่งที่ดีที่สุด เหมาะแก่ผู้ที่เริ่มนั่ง แม้ท่านเองก็หัดนั่งสมาธิจากท่านั่งพับเพียบ ต่อมาจึงค่อยเปลี่ยนเป็นท่านั่งขัดสมาธิ
นอกจากนั่งฟังเทศน์โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถแล้ว ท่านผู้อ่านก็ทราบแล้วว่า นครหลวงของเรายุงชุมเพียงไร ครั้งแรกผมคิดว่ายุงคงไม่กัดท่าน ท่านจึงนั่งอยู่ได้โดยไม่ต้องไล่ยุง ผมเลยเข้าไปดูท่านใกล้ ๆ ปรากฏว่า ยุงก็กัดท่านแล้วตกอยู่รอบตัวท่านเต็มไปหมด คงจะบินไม่ไหวเพราะกินอิ่มก็เป็นได้ แต่ไม่เห็นท่านจะรู้สึกเจ็บหรือคันแต่อย่างใด ท่านเป็นผู้มีความอดทนอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นผู้ที่ฝึกตัวเองไว้แล้วอย่างดีเลิศ
เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทร์ก็อพยพ แต่ท่านธมฺมวิตกฺโก ไม่ได้ไปไหนเลย ท่านที่อยู่กุฏิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้ ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่าทางด้านหลังวัดซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวงได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด และอาบน้ำในสระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม
ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง โดยเห็นว่าเป็นวัดไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้ วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่าจะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลาให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่าท่านไม่ยอมหลบ แต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ เวลาประมาณหลังเที่ยงวัน มีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดู เห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบและที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา
ท่านได้ร้องถามในใจว่า "Do you kill me, my friend ?" แล้วก็มองดูลูกระเบิดปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และตึกที่ทำการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และตึกที่ทำการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟพังพินาศ ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด
ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป ท่านบอกว่าพระเชียงแสนและพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั้นระเบิดขึ้นมาโบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก ท่านผู้อ่านที่นับถือท่านอาจจะคิดว่าที่ลูกระเบิดด้านไปเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่สำหรับผมไม่ขอวิจารณ์ด้วย สำหรับท่านเองท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่า ความตายคือมิตรที่ดีที่สุด
นำความสงบมาให้และเป็นมิตรที่ซื่อตรง จะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอนไม่ว่าจะมั่งมียากจน ดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น นอกจากนี้การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย ถึงตอนนี้ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็ยกเอากลอนในอุทานธรรมมากล่าวว่า
ระลึกถึงความตายสบายนัก
มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธการ
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ
ท่านธมฺมวิตกฺโก อยู่ในวัดเทพศิรินทร์ตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อเอามาให้แล้วใช้จีวรคลุมบนหีบศพต่างมุ้ง ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมาเวลาคนมาเก็บศพก็ไม่ลำบาก ท่านไม่ยอมออกจากวัดจริง ๆ การไม่ยอมออกจากวัดนี้เป็นความตั้งใจเด็ดขาดของท่าน แม้เมื่อโยมพ่อและโยมแม่เสียชีวิตท่านก็ไม่ยอมออกไปเยี่ยมศพ เพียงแต่สั่งการให้ใครทำอะไร และทำอย่างไรเท่านั้น นอกจากนี้ ท่านบอกว่าท่านได้นั่งสวดอุทิศส่วนกุศลไปให้
ท่านธมฺมวิตกฺโก มีหนังสือไว้สำหรับแจกผู้ที่ไปหาท่าน ชื่อหนังสือสันติวรบท โดยมีคำสอนของท่าน ๙ ข้อ นอกจากนั้นก็เป็นบทสวดมนต์และอื่น ๆ ผมได้เคยรับแจกจากท่านตั้งแต่คำสอนของท่านยังมีเพียง ๖ ข้อ ต่อมาเมื่อท่านพิมพ์เพิ่ม ผมก็ได้รับแจกจากท่านเรื่อยมา จนเล่มสุดท้ายที่ท่านพิมพ์มีคำสอนของท่าน ๙ ข้อ มีคำสอนข้อหนึ่งท่านใช้ชื่อว่าดอกมะลิ ตอนนั้นยังไม่พิมพ์รวมในเล่มเดียวกัน แต่ท่านพิมพ์ในแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยม
ท่านได้แจกแก่ผมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พร้อมกับกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง เป็นรูปดอกบัวมีแปดกลีบและมีรูปเพชร ๓ เม็ดอยู่บนดอกบัวนั้น ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า ดอกบัวที่มีแปดกลีบหมายถึงอริยมรรคอันมีองค์แปด และเพชรหมายถึงพระรัตนตรัย นอกจากนี้ดอกบัวเป็นดอกไม้อันเกิดมาแต่โคลนตมแต่น้ำ แต่ดอกบัวก็ไม่ติดโคลนติดน้ำ เพชรเกิดมาแต่หินแต่เพชรก็ไม่ติดหิน
ฉันใดก็ดี คนเราที่เกิดมาในโลก็ไม่คิดติดโลกฉันนั้น และภาพอันเกิดจากจินตนาการของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ผมได้เอามาเป็นภาพปกของหนังสือเล่มนี้ แต่เขียนขึ้นใหม่ เพราะภาพเดิมหายไป ส่วนคำสอนที่มีชื่อว่า ดอกมะลิ ต่อมาท่านได้พิมพ์รวมในหนังสือสันติวรบท ท่านบอกว่าหนังสือสันติวรบทนี้ ท่าน พลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ได้พิมพ์ถวาย และคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นคนตรวจแก้ถวาย
ขอให้เก็บให้ดีเอาไว้ที่หัวนอน เวลานอน จะได้อ่านจะได้เอาธรรมะเป็นเพื่อนนอน เวลาท่านจะให้ใคร ถ้าเป็นผู้ชายท่านจะเอาใส่กระเป๋าเสื้อให้ ถ้าเป็นผู้หญิงท่านจะวางให้บนศีรษะ ถ้าเสื้อใครไม่มีกระเป๋าบางครั้งท่านก็ไม่ให้โดยบอกว่าวันหลังค่อยมาเอา ท่านจะสั่งว่าให้ไปทำปกให้ดี อย่าปล่อยให้ชำรุดเสียหาย
ถ้านิยมความศักดิ์สิทธิ์ก็ให้ถือเอารูปพระที่หน้าปกหนังสือ ถ้ามีศรัทธาในเรื่องกรรมก็ให้ถือเอาคำสั่งสอนในหนังสือนั้นไปประพฤติปฏิบัติ เพราะผู้ใดปฏิบัติธรรมแล้ว ธรรมจะรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติไว้ ไม่ให้ตกต่ำเป็นของแน่นอนยิ่งกว่าความศักดิ์สิทธิ์ใดในโลกนี้
หนังสือสันติวรบทนี้เล่มแรกที่ข้าพเจ้าได้รับเป็นปกสีเหลืองไม่มีรูปอะไร ต่อมาท่านได้ทำเป็นรูปพระแก้วองค์เดียว และต่อมาเพื่อพิมพ์ครั้งหลังท่านได้เพิ่มรูปพระพุทธชินราช พระพุทธสิงหิงค์ เป็นรูปพระสามพระองค์ อันนับได้ว่าเป็นพระประจำเมืองของเรา ใครที่ได้รับหนังสือของท่านผมมั่นใจว่า หนังสือนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าพระเครื่องใด ๆ ของท่าน
ถ้าจะนับถือความศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เก็บรักษาไว้ให้ดีเถิด บัดนี้ ท่านก็ละโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้รับหนังสือนี้จากท่านอีกต่อไป ท่านธมฺมวิตกฺโก ไม่เคยสอนให้ใครเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ แต่สอนให้เชื่อในเรื่องกรรม ให้หมั่นทำความดี เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ ก็ไม่อาจทำให้ผู้เชื่อถือหรือปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ได้
การเขียนประวัติของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ แต่เดิมผมตั้งใจจะเขียนถึงท่านในด้านเดียว คือการเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานของท่าน เพื่อจะให้มีผู้มีศรัทธาในผลการปฏิบัติของท่าน ได้ถือเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ ถ้าอยากจะเจริญรอยตามท่าน ซึ่งในเรื่องนี้ท่านก็ได้กรุณาเล่าให้ฟัง นับแต่เริ่มแรกการปฏิบัติของท่านแต่บวชทีเดียว
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผมได้ฟังแต่ตอนแรกอยู่ไม่กี่ครั้ง ภายหลังท่านมีกิจธุระคือมีผู้มาเยี่ยมเยียนท่านมาก เมื่อก่อนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ จนไม่มีเวลาได้พบท่าน ให้ท่านเล่าเรื่องดังกล่าวต่อ หลังจากวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ ผมเกือบไม่ได้พบท่านเลย ที่ผมบอกว่าเกือบจะไม่ได้พบนี้ คือ ผมได้พบครั้งเดียวเท่านั้น และในครั้งนั้นไม่ได้คุยถึงเรื่องการเจริญสมถะวิปัสสนากันเลย แม้จะได้คุยกับท่านเป็นเวลานานมากก็ตาม
ผมเองไม่เคยคิดว่าท่านจะมรณภาพเร็วอย่างนี้ คิดอยู่เสมอว่าท่านจะต้องอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ ๒ - ๓ ปี แม้ท่านจะได้พูดเสมอว่าท่านจะอยู่อีกไม่นานท่านจะจากไปแล้ว เช่น "โรคที่อาตมาเป็นไม่หายหรอก จะหายพร้อมกับตาย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะสังขารเป็นที่อาศัยของจิตเท่านั้น" หรือ "คุณไม่ต้องกังวลเรื่องความเจ็บป่วยของอาตมา เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่าร่างกายเป็นรังของโรค มะเร็งก็เหมือนกับกาฝากที่เกาะต้นไม้ ถ้าต้นไม้แข็งแรงกาฝากก็ตาย
คุณดูต้นประดู่ที่ข้างกุฎิอาตมาซี กาฝากมาเกาะเมื่อไรก็ตายหมด เพราะประดู่แข็งแรงกว่า แต่อาตมาตอนนี้แก่แล้วร่างกายไม่แข็งแรง คงจะแพ้กาฝาก" เป็นต้น ผมก็ไม่เคยเฉลียวใจ คิดอยู่ว่าท่านจะต้องผ่านการเจ็บป่วยไปได้เหมือนทุกครั้งที่ท่านเจ็บป่วย และคงจะมีเวลาไต่ถามท่านเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาต่อไป
อีกอย่างหนึ่งแม้ท่านจะป่วยเจ็บอย่างไร ท่านก็ไม่เคยแสดงว่าท่านต้องทุกขเวทนาอยู่ ท่านสดชื่น แข็งแรง เหมือนปกติ แม้บางครั้งจะมีเลือดไหลออกจากแผลตลอดเวลา ท่านก็ไม่ร้อนใจแต่อย่างใด บอกแต่ว่าเป็นเรื่องธรรมดา
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ทำให้ผมไม่อาจเขียนเรื่องการเจริญสมถวิปัสสนาของท่านอย่างละเอียดได้ นอกจากจะเขียนได้แต่เฉพาะตอนต้น ๆ ที่ท่านเล่าให้ฟังเท่านั้น ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไป โดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่งจนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต
และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้ การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ
ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่าท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่านโดยเอาหัวกะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ ๔ หัว ข้างที่นอนของท่าน เมื่อเตรียมการเสร็จแล้วก็รวบรวมอำนาจจิต นั่งสมาธิอยู่หน้าหัวกระโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิต ปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิสดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน
ลอยเข้ามาหาท่านบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านั้นผ่านเลยไปแล้ว ท่านก็ได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ซึ่งยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น นี่เป็นเพียงการทดลองอำนาจจิตที่ฝึกไว้ของท่านเท่านั้น และก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ท่านก็ได้เล่าให้ผมฟังเพียงเท่านี้ แล้วก็ไม่ได้มีโอกาสจะซักถามให้ท่านเล่าต่ออีกเลย
ความหวังของผมที่จะเขียนถึงการเจริญสมถวิปัสสนาของท่านก็เป็นอันล้มเหลวไป นับเป็นเคราะห์กรรมของผมเอง และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก เพราะเมื่อครั้งที่ผมได้ให้ท่านเล่าเพื่อจะได้เอามาเขียนหลังท่านมรณภาพแล้วนั้น ท่านได้บอกว่า "ไม่มีประโยชน์ดอกเพราะไม่คิดว่าคุณจะเขียนได้" เมื่อผมนึกขึ้นมาครั้งใด อดคิดไม่ได้ว่าท่านสามารถหยั่งรู้กาลอนาคตได้ว่า ผมไม่มีทางจะเขียนได้ละเอียดเลย เมื่อผมได้ฟังเพียงเท่านี้ ก็ขอเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเพียงเท่านี้
บัดนี้ ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ละจากโลกไปแล้ว แต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. เหลือเพียงประวัติชีวิตอันบริสุทธิ์ มีแต่ความดีงามไว้ให้ทุกคนได้ดำเนินตาม ท่านเป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุข อันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต
ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ไม่มีความอยากใด ๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากจะหาใครมาทัดเทียม นับแต่นี้ต่อไป แม้จะไม่มีสังขารของท่าน ธมฺมวิตกฺโก แต่คุณงามความดีของท่านก็จะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสลาย
ท่านเคยบอกฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโก นั้นมีความหมายถึง การระลึกถึงธรรม หรือ การตรึกถึงธรรม อันเป็นนามเดิมของท่าน เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านเคยบอกเสมอว่า "ถ้าคิดถึงอาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะธมฺมวิตกฺโก คือ การระลึกถึงธรรม เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้ว ธมฺมวิตกฺโก ก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ ไม่จำเป็นจะต้องมาหาอาตมา
เพราะเมื่อมาหาก็มาเห็นแต่สังขาร ซึ่งวันหนึ่งก็จะเน่าเปื่อยและเสื่อมสิ้นไป จงระลึกถึงธรรมดีกว่า จะมีคุณค่าต่อชีวิตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ศีลและธรรมเป็นหลักของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นสุขก็โดยศีลและธรรม หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วมนุษย์ก็จะมีค่าเสมอกันกับสัตว์" พวกเราทั้งหลายที่มีจิตศรัทธาต่อท่านธมฺมวิตกฺโก จงมาระลึกถึงท่านด้วยการระลึกถึงธรรม ดังที่ท่านปรารถนาเถิด
เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อท่าน และเมื่อพวกเราทั้งหลายได้ระลึกถึงธรรม และปฏิบัติธรรมกันแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้น จะช่วยคุ้มครองให้ถึงซึ่งความสุขอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน อย่างมิต้องสงสัย
คัดลอกบางส่วนจาก: ตามรอย ธมฺมวิตกฺโกพระอรหันต์กลางกรุง
เรื่อง พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ
จากหนังสือ ประวัติ
พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต ธมมวิตกฺโกภิกขุ
วัดเทพศิรินทราวาส
โดย ท. สิริปญฺโญ ภิกฺขุ
วัดอุดมรังสี หนองแขม กรุงเทพ
พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ ๙ ค่ำ
เกร็ดประวัติของพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ ท่านปลัดโกศลได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ท่านเจ้าคุณธมมวิตกโกได้มอบไว้ให้แก่ครอบครัวของท่าน ปรกติท่านเจ้าคุณฯมิได้สนใจในเรื่องเครื่องรางต่าง ๆ นัก แต่เนื่องจากมีผู้ที่นับถือท่านฯ ได้ขออนุญาตจากท่านสร้างพระเครื่องรางต่าง ๆ มอบให้ท่านฯ อธิษฐานจิตให้ และเป็นที่น่าประหลาดมาก โดยเฉพาะการปลุกเสกพระเครื่อง ท่าน ฯ มิได้เคยหันหน้าเข้าทำพิธีอย่างพระคณาจารย์อื่น ๆ ท่าน ฯ จะนั่งหันหลังให้ คือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ต่อจากนั้นท่านก็จะสวดแผ่เมตตาจิตให้
ท่าน ฯ เคยได้กล่าวไว้ว่าท่านไม่สามารถที่จะเสกพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบประดุจบิดา และพระองค์ ก็เป็นผู้ประเสริฐ ฉะนั้นพิธีต่าง ๆ ที่ทางลูกศิษย์ได้จัดขึ้น ท่านจงเป็นเพียงแต่อธิษฐานให้เท่านั้น แต่สำหรับพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุนั้น ท่านฯ ได้เจาะจง โดยท่านฯ ได้สั่งให้คุณปลัดโกศล ซึ่งเป็นหลานชายของท่านฯ และคุณปลัดผู้นี้ก็เคยเป็นผู้ที่ส่งอาหารให้ท่านฯ ตั้งแต่ครั้งที่คุณปลัดยังเรียนอยู่ ชั้น ม. ๑-๒ ครั้งหลังที่คุณปลัดได้ศึกษาจบและได้เข้ารับราชการ จึงไม่ค่อยมีเวลา คุณปลัดจึงได้ให้ทางคุณน้ารับช่วงส่งอาหารแทน แต่ครั้งหลังตอนท่านฯ ป่วย คุณปลัดจึงได้ปฏิบัติท่านอีก คือทำอาหารซุปส่งให้เป็นประจำ ท่านฯ ได้เคยถามคุณปลัดว่า เหนื่อยไหมหลาน เพราะระยะทางจากบ้านซึ่งจะต้องนำอาหารมาส่งที่วัดนั้น มีระยะทางไกลพอสมควร ส่วนซุปซึ่งเป็นอาหารชนิดอ่อนนั้นท่านฯ ได้เป็นผู้สอนโดยจดแต่ละประเภทของอาหารรวมกันมีหลายชนิด คือ
๑. ผักขม ๒. ถั่วฝักยาว ๓. หัวผักกาดขาว ๔. หัวผักกาดเหลือง ๕. ถั่วเขียว ๖. ถั่วลิสง๗. ถั่วเหลือง ๘. มันฝรั่ง ๙. ผักกาดเขียว ๑๐. มะขามเปียก ๑๑. เกลือ ๑๒. น้ำตาลมะพร้าว๑๓. มันฮ่อ ๑๔. หัวหอม ๑๕. มะนาว
โดยนำถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถัวลิสง มันฝรั่ง เคี่ยวให้เปื่อยแล้วบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด แล้วนำผักต่าง ๆ ต้ม พอสุกแล้วใช้เครื่องบดให้ละเอียดเช่นกันแล้วนำมาผสมกันใส่เครื่องปรุงมีน้ำตาล เกลือ มะขามเปียก มะนาว แล้วตั้งไฟให้เดือดอีกครั้งเป็นอันเสร็จ ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำบรรจุโถพลาสติกนำไปส่งที่วัด พร้อมด้วยผลไม้ตามที่ท่านจะสั่งแต่ละวัน แต่ที่จะต้องมีประจำได้แก่ผลฝรั่งทั้งเปลือกฝานเอาแต่ผิว แล้วนำมาบดด้วยเครื่องให้ละเอียดผสมเกลือลงไปเล็กน้อย ใส่โถพลาสติกเช่นกัน และกล้วยน้ำว้าสุก ๓ ผล ส่วนผลไม้อื่น ๆ สุดแต่ปลัดโกศลและภรรยาจะนำไปถวาย เท่าที่ทราบได้แก่ ชมพู่สาแหรก สับปะรด ลูกพลับสด สาลี่ ฯ ล ฯ โดยบดให้ละเอียดเช่นกัน และกว่าจะออกจากวัดไปทำงานต้องใช้เวลานานมากจึงจะถึงที่ทำงาน แต่คุณปลัดและภรรยาคือคุณนายจำเนียร ก็ได้ทำซุปเองทุกวัน ซึ่งกว่าจะเสร็จก็เป็นเวลา ๒๓.๐๐-๒๔.๐๐ น. ทุกวัน ซึ่งทั้งคุณปลัดและคุณนายก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกปลื้มปีติในความมานะพยายามอันเป็นมหากุศลของคุณปลัดและคุณนายทั้งสองคน
ก่อนที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ (ธมฺมวิตกฺโก) ท่านจะมรณภาพ เหมือนว่าท่านจะรู้ตัวมาก่อน ท่านจึงพูดกับคุณปลัดผู้เป็นหลานว่า หลานจงไปเก็บก้อนกรวดที่บางบ่อมา ลุงจะทำของดีให้ คุณปลัดจึงได้เรียนถามท่านว่า ผมจะเก็บที่อื่นได้ไหม ท่าน ฯ บอกว่าไม่ได้ คุณปลัดจึงสงสัยว่าเหตุใดท่านฯ จึงมีความประสงค์เช่นนั้น
ดูเหมือนท่าน ฯ จะรู้ว่าคุณปลัดมีความสงสัย ท่าน ฯ จึงได้อธิบายว่า อันธรรมตากรวดที่อำเภอบางบ่อนั้น ชื่ออำเภอก็เปรียบเหมือน บ่อเงิน บ่อทอง และถือเคล็ดว่าจังหวัดสมุทรปราการด้วย คำว่าปราการ เปรียบเหมือนเป็นเกราะป้องกันภยันตรายต่าง ๆ นั้น บางครั้งท่านจะเรียกก้อนกรวดว่า “เพชร-พลอย” และท่านยังได้อธิบายต่อไปว่าก้อนกรวดนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเรียกว่า “คดดิน” ตามธรรมดามนุษย์เราจะถือว่าของที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่น “คดปลวก” ที่เกิดขึ้นในจอมปลวก คนโบราณท่านถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกจึงได้เจาะจงให้หลานชายท่านไปเก็บของสิ่งนี้มา
ในรุ่งขึ้นคุณปลัดก็ลืมเสียท่านฯ จึงได้ย้ำอีกว่าจงรีบไปหาเก็บมานะ เดี๋ยวจะไม่ทันการ คุณปลัดเองก็ไม่ได้สังหรณ์ใจในคำพูดเช่นนี้ คุณปลัดได้กราบเรียนท่าน ฯ ว่า ผมผ่านไปมาทุกวันไม่เห็นมีกองกรวดที่ไหนเลย ท่านฯ จึงพูดว่าไปหาให้ดีเถอะ มีแน่ ๆ ที่บางบ่อ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ที่ท่านฯ ไม่เคยออกจากวัดไปไหนมาก่อนเลย เหตุไฉนท่านฯ จึงรู้ว่ามีกองกรวดอยู่ คุณปลัดเองก็ขับรถเข้าออกอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่เคยเห็น หรืออาจจะเป็นเพราะคุณปลัดไม่ได้เอาใจใส่เองก็อาจจะเป็นได้ และที่ท่านได้เอ่ยปากว่าจะทำของดีให้นั้น ก็ทำให้คุณปลัดรู้สึกประหลาดใจบ้าง เพราะตามปกติท่านก็ไม่เคยให้สิ่งใดแก่คุณปลัดไว้บูชาเลย และตนเองก็เคยทราบว่าท่านมักจะไม่ปลุกเสกของให้ใครง่าย ๆ เพราะท่านเคยพูดกับคุณหมอสุพจน์ ศิริรัตน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งคุณหมอสุพจน์ได้นำผงสมเด็จจากกรุวัดจักรวรรดิ (สามปลื้ม) บดละเอียดใส่บาตรไปไว้ทิศใต้ฐานชุกชีในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์ ฯ เป็นเวลา ๑ ไตรมาส ตอนเอากลับท่านได้พูดกับคุณหมอสุพจน์ว่า ผงนี้ท่านปลุกเสกให้สำเร็จแล้ว ถ้าจะนำไปทำพระ ก็ไม่ต้องนำมาให้อาตมาปลุกเสกอีก เพียงแต่นำไปเข้าพิธีที่ไหนก็ได้ จะได้ผลเท่ากัน อาตมาเองก็ไม่อยากที่จะปลุกเสกให้นัก เพราะถ้าพระของอาตมา ที่ปลุกเสกให้ตกไปอยู่กับใคร ถ้าผู้นั้นประกอบแต่กรรมดี ผู้นั้นก็จะได้รับแต่ความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าผู้ใดที่ประพฤติในทางที่ไม่ชอบจะเป็นกำลังหนุนให้ประพฤติมิชอบยิ่งขึ้น แต่ไม่นานก็ได้รับผลกรรมนั้น ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงไม่อยากปลุกเสกให้กับผู้ใด นอกจากท่านพระครูอุดมคุณาทรเท่านั้น (ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ)
ฉะนั้นเมื่อคุณปลัดโกศลมานึกถึงคำนี้ ก็ให้แปลกใจเป็นอันมาก ที่จู่ ๆ ท่านก็ให้ไปเก็บก้อนกรวดให้ และบอกว่าจะทำของดีด้วย ก็คิดว่าจะต้องมีอะไรเป็นพิเศษแน่ ๆ ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่เร่งเร้าเป็นอันขาด และของดีที่ท่านได้เคยปลุกเสกให้ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ซึ่งสมัยยังเป็นพระครูอุดมฯ อยู่ ก็ก่ออภินิหารศักดิ์สิทธิ์มากแก่ผู้ที่ได้รับไปบูชา จนเป็นที่เลื่อมใสในศรัทธาแก่มหาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งในต่างประเทศก็เคยปรากฏว่าฝรั่งถึงกับนั่งเครื่องบินมาขอบูชาพระเครื่องของท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณก็ยังเคยมี และคุณปลัดเองก็เคยมาขอกับเจ้าคุณลุงเหมือนกัน แต่ท่านได้บอกว่าเฉพาะที่ตัวท่านแล้วไม่เคยมีพระเครื่องเลย ถ้าอยากได้ก็ให้ไปขอท่านเจ้าคุณอุดมฯ ซึ่งเป็นผู้สร้าง และท่านยังกำชับอีกด้วยว่า อย่าไปเอาของเขาฟรี ๆ นะ ต้องบริจาคเงินด้วยเพื่อเขาจะได้นำไปสร้างกุศล นี่ก็เป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกไม่ยอมให้ญาติพี่น้องหรือลูกหลานของท่านไปรบกวนคนอื่น ๆ
ในวันรุ่งขึ้นตรงกับวันอาทิตย์ คุณปลัดโกศล พร้อมด้วยภรรยาคือคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร และ พ.อ. วรสนธิ วรเสียงสุขา (เดิมชื่อ พ.อ.สนธิเสียงสุขา) แต่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ท่านได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ใหม่โดยเติม วร เข้าที่หน้าชื่อและนามสกุล ทั้งสามได้นำเอารถส่วนตัวออกเที่ยวตระเวนหาก้อนกรวดจนทั่วท้องที่บางบ่อก็ยังไม่พบเลยสักก้อน จนกระทั่งขับรถจะออกมาทางบริเวณปากทางจะเข้าตัวอำเภอบางบ่อ ซึ่งตรงนั้นใกล้กับสะพานคลองเจ้า (พระองค์เจ้าไชยยานุชิต) จึงพบกองทรายเข้ากองหนึ่ง ทั้งสามจึงจอดรถเข้าไปค้นหาดูก็พบ
คุณปลัดรู้สึกดีใจมาก จึงเลือกเก็บก้อนกรวดเป็นนาน และได้มาทั้งหมดประมาณ ๒ กำมือ ใส่ถุงพลาสติกเล็ก ๆ ได้ ๓ ถุง จึงนำไปชำระล้างจนสะอาดดี
รุ่งขึ้นตรงกับวันจันทร์ที่ ๔ มกราคม จึงได้นำก้อนกรวดใส่ภาชนะ คือพาน และมีผ้าขาวปักดอกไม้ต่าง ๆ ปูรองอยู่ใต้พาน นำก้อนกรวดวางไว้จำนวน ๙ ก้อน ซึ่งคุณปลัดได้กะไว้สำหรับครอบครัวพอดี ตามจำนวนที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกท่านสั่งไว้ คือของบุตรคุณปลัด ๗ คน และคุณปลัดพร้อมด้วยภรรยาอีกรวมเป็น ๙ คนพอดี
ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ได้ปลุกเสกให้โดยรับไว้ในมือ เสกอยู่นานประมาณ ๑๘ นาที จึงเป็นอันเสร็จพิธี ท่านได้มอบให้กับคุณปลัดโกศล และบอกให้ไปเลี่ยมให้ลูก ๆ ห้อยคอไว้ จะเกิดสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ และท่านได้สั่งให้ปลัดโกศลไปนำก้อนกรวดมาอีกท่านจะเสกให้
รุ่งขึ้นในวันอังคารที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๔ คุณปลัดก็ได้สั่งภรรยา คือคุณจำเนียร ปัทมสุนทร (ซึ่งเป็นหลานสะใภ้ของท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก) ซึ่งคุณจำเนียรได้เดินทางไปพร้อมกับภรรยาของข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งแห่งอำเภอบางบ่อ (สำหรับผู้นี้ไม่ประสงค์จะออกนาม ด้วยเกรงว่าจะถูกรบกวน เรื่องปฐวีธาตุ) เพียง ๒ คน เพราะคุณปลัดโกศลไม่ว่างเพราะติดราชการ จึงได้มอบหมายให้ภรรยาจัดการแทน ซึ่งเก็บได้อีก ๑ ถุงพลาสติก และได้นำไปชำระล้างอีกอย่างเคยพร้อมกับนำใส่ถาดพลาสติก และรวมทั้งของที่เก็บไว้เมื่อครั้งก่อนอีก ๓ ถุง รวมเป็น ๔ ถุง จากนั้นจึงได้นำไปให้ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกปลุกเสกอีก
ภายหลังจากที่ท่านได้ทำวัตรเย็นเสร็จเรียบร้อยและได้รับการชำระแผลจากนายแพทย์ไพบูลย์เป็นที่เรียบร้อย คุณปลัดโกศลจึงได้นำมาให้ท่านช่วยปลุกเสกให้ภายในพระอุโบสถ โตยท่านใช้เวลาบริกรรมปลุกเสกให้อย่างตั้งใจ เป็นเวลาเท่ากับครั้งแรก และครั้งนี้ท่านก็ได้อธิบายให้คุณปลัดโกศลฟังว่า “ของดีที่มีคุณค่ามาก” เรียกว่า “พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ” หมายความว่ามีจิตเมตตา ถึงใครจะเหยียบย่ำทำสิ่งใดก็ไม่ว่า ประดุจพ่อแม่ของเราที่รักลูก จะมีแต่ความเมตตากรุณาต่อลูกทุกคน แม้ลูกจะกระทำสิ่งใดผิดก็จะให้อภัยเสมอ ฉะนั้นก้อนกรวดนี้จึงมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก หากจะมอบให้กับใคร ก็จงให้แก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาเท่านั้น เพราะสิ่งของนี้มีค่ายิ่งกว่าเพชรพลอย และให้ผู้ที่เขารับไป จงนำก้อนกรวดนี้วางไว้ตรงกลางรูปใบโพธิ ส่วนรูปใบโพธินั้นให้เอากระดาษแข็งหรือจะเป็นโลหะ ทองเหลืออง ทองแดง เงินหรือทองคำก็ได้ ให้ตัดเป็นรูปใบโพธิ ให้เขียนเป็นตัวอักขระขอมตัว “อุณาโลม ๙ ชั้น” อยู่ด้านบน หางตัว “อุ” ชี้ตรงไปจดปลายใบโพธิ ส่วนใต้ตัว “อุ” ลงไปให้เขียนเป็นอักขระภาษาไทยก็ได้ว่า “น” สำหรับใต้ตัว “น” ลงไปก็ให้เขียนชื่อของผู้ที่เป็นเจ้าของก้อนกรวดนั้น พร้อมกับนามสกุลด้วย แล้วจึงนำก้อนกรวดวางลงตรงกลางใบโพธิที่เขียน แล้วนำไปเลี่ยมห้อยคอ จะเกิดสิริมงคลแก่คนห้อย
สำหรับพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุท่านได้ย้ำเสมอว่า มีทั้งหมด ๙ คำด้วยกัน พร้อมกันนั้นท่านยังได้นับนิ้วมือให้ดูอีกด้วยดังนี้:-
๑. พระ
๒. พ่อแม่
๓. ธอ
๔. ระ
๕. ณี
๖. ปะ
๗. ฐะ
๘. วี
๙. ธาตุ
และเป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ท่านชอบทำอะไรต้องลง ๙ เสมอ เช่น การบูชาพระ ท่านชอบบูชาด้วยดอกบัว ๙ ดอก รูปก็ ๙ ดอกเช่นกัน ท่านอาจจะถือเคล็ดการก้าวหน้าเสมอก็เป็นได้ เช่นการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของท่าน ท่านจะไม่ละความพยายามที่จะให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปเสมอ ท่านไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ เลย ถึงแม้ท่านจะได้รับความทุกขเวทนาจากโรคภัย แต่ท่านก็ยังยิ้มเสมอ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีความอดทนอย่างยอดเยี่ยมไม่มีพระภิกษุองค์ใดจะมีความมานะอย่างท่าน
และเป็นที่น่าแปลกใจยิ่ง ที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกรู้สึกกระวนกระวายมาก ที่จะให้คุณปลัดโกศลไปนำก้อนกรวดมาในครั้งนี้ แถมยังกำชับเสียหนักแน่น ไม่ให้ไปเอาจากที่อื่น จำเพาะจะต้องที่อำเภอบางบ่อแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งท่านได้ย้ำอย่างผิดสังเกตมาก แต่ก่อนมีแต่จะถูกผู้อื่นขอร้อง รบกวนให้ปลุกเสกของตลอดมา จนบางครั้งท่านยังตำหนิเอา เช่นเมื่อคราวที่พระมหารูปหนึ่ง ได้นำเหรียญกลมใส่ตะลุ่มแล้วเอาผ้าปิด เพื่อกันผู้อื่นเห็น เข้าไปขอร้องให้ท่านช่วยอธิษฐานให้ในพระอุโบสถ ตอนหลังจากทำวัตรเรียบร้อย ขณะนั้นคุณปลัดโกศลและภรรยา และผู้อื่นอีกหลายท่านอยู่ในที่นั่นด้วย ท่านได้ตำหนิเอาว่า เอ ท่านมหานี้รบกวนจริง ๆ ปลุกเสกไม่รู้จักหมดจักสิ้นกันเสียที บางรายก็จะถูกถามเอาว่า จะปลุกเสกเอาไปเพื่อประโยชน์อะไร ?
แต่ถ้าเพื่อการกุศลทางศาสนา ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ท่านก็ยินดีที่จะปลุกเสกให้ เพราะท่านเคยพูดไว้ตอนหนึ่ง เมื่อคราวที่ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ (สมัยยังเป็นพระครู) ได้นำพระเครื่องใส่พานไปให้ท่านอธิษฐานจิตให้ ท่านได้พูดกับพระมหาองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่และอยู่ในที่นั้นด้วยว่า คุณไม่มีความสามารถที่สร้างได้สำเร็จเหมือนพระครูอุดม ฯ เขา ที่ท่านพูดดังนี้ เพราะพระมหารูปนี้ได้เคยไปขอร้องให้ท่านปลุกเสกของให้ และมหารูปนี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ แต่ผู้เขียนจะไม่ขอออกชื่อ ท่านยังบ่นอีกว่า แหม พวกคุณนี่รบกวนกระทั่งคนเจ็บคนป่วย แต่ถ้ามีผู้ใดจะให้ปลุกเสกของเพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาหรือสาธารณประโยชน์ ท่านจะไม่ปริปากบ่นเลย สำหรับผู้ต้องการจะหาประโยชน์ใส่ตน ต้องถูกท่านไล่ให้กลับไปอย่างไม่ไว้หน้า ฉะนั้นพระที่ต้องการจะสร้างพระไปให้ท่านอธิษฐานจิตให้ เมื่อรู้ดังนี้จึงไม่ค่อยมีใครที่จะเข้าใกล้ท่าน เพราะท่านเองก็ไม่เคยจัดสร้างพระเครื่องเลย ไม่เหมือนกับคณาจารย์อื่น ๆ
โดยปรกติท่านก็ไม่เคยมีพระเครื่องไว้แจกผู้อื่นเลย แม้แต่ญาติพี่น้องหรือลูกหลานของท่าน ท่านก็ไม่มีให้ซึ่งเราก็ย่อมรู้ได้ว่าท่านเป็นพระที่ไม่ยอมสร้างสมอะไรทั้งสิ้นไม่ บางท่านได้ทราบมาว่าท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกเคยแจกพระเครื่องเป็นรูปเหรียญด้านข้างรูปไข่ เรื่องนี้ผู้เขียนขอค้าน เพราะท่านไม่เคยมีเหรียญไว้แจกเลย อาจจะเป็นการเข้าใจผิดก็ได้ ผู้เขียนต้องขออภัยด้วย และยังมีบางท่านว่าท่านได้มอบพระเครื่องไว้ให้โดยล้วงออกมาจากในย่ามตอนลงพระอุโบสถ และลงใบหนังสือพิมพ์เสียด้วย แต่ผู้เขียนมาคิดดูและไตร่ตรองอยู่เป็นนานก็คิดไม่ตกว่าจะเป็นจริง เพราะตามธรรมดาผู้เขียนไม่เคยเห็นท่านถือย่ามเลย แม้แต่รูปถ่ายท่านก็ไม่เคยถือย่าม ดังนั้นเหตุใดท่านจะถือย่ามลงทำวัตร แม้แต่พระที่มีกิจธุระเวลาทำวัตร ท่านก็ยังไม่ถือย่ามเข้าพระอุโบสถ นอกจากพระคณาจารย์ที่มาจากที่อื่น โดยได้รับการนิมนต์มานั่งปรกท่านจึงจะถือมา ดังนั้นผู้ที่ว่าท่านได้ล้วงย่ามนำพระออกมาแจก ผู้เขียนเข้าใจคงมีการเข้าใจกันผิดก็เป็นได้
แต่ว่าในกรณีที่ท่านได้สั่งปลัดโกศลหลานท่านให้รีบไปนำก้อนกรวดมาให้ แล้วท่านก็ยังติดตามผลที่ท่านสั่งเสมอ เหมือนกับว่าท่านยังมีห่วงกังวลอะไรสักอย่าง ตั้งแต่ท่านได้ปลุกเสกพระเครื่องตลอดมา ท่านไม่เคยได้พูดอวดอ้างสรรพคุณของที่ท่านปลุกเสกให้ แต่มาคราวนี้ท่านก็ได้อธิบายให้หลานชายท่าน คือ ปลัดโกศลฟัง จะว่าเป็นการอวดอ้างของท่านเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ เป็นของชิ้นแรกที่ท่านได้ให้หลานชายท่านนำมาและเป็นของสิ่งแรกที่ท่านได้ประคองปลุกเสกโดยหันหน้าเข้าหาสิ่งของนั้น แต่.........อะไรจะไม่ตื่นเต้นเท่ากับท่านได้พูดว่า “ก้อนกรวดนี้ขลังมาก สามารถที่จะคุ้มครองป้องกันนิวเคลียร์ได้อีกด้วย” และยังป้องกันไฟได้อีกเช่นกัน พร้อมทั้งยกนิ้วชี้ขึ้นกระดกสำทับอย่างกลัวจะไม่เชื่อ
เมื่อท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกปลุกเสกก้อนกรวดเสร็จในตอนเย็นของวันอังคารที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๔ แล้วท่านก็ได้มอบก้อนกรวดที่ปลุกเสกทั้งหมดแก่คุณปลัดโกศล ขณะนั้นลูกศิษย์ลูกหาที่เฝ้าดูท่านเจ้าคุณธมมฺวิตกฺโกอยู่ในพระอุโบสถที่มีจิตศรัทธาในตัวพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกต่างก็ลุกฮือเข้ามารุมล้อมขอของดีจากคุณปลัดโกศลกันยกใหญ่ ซึ่งปลัดโกศลก็ได้แจกแก่ผู้ที่เข้ามารุมล้อมโดยทั่วหน้ากันทุกคน ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกเห็นดังนั้น จึงบอกแก่ปลัดโกศลให้ไปเอาก้อนกรวดมาอีก ท่านยินดีที่จะเสกให้
รุ่งขึ้นตรงกับวันพุธ ที่ ๖ มกรากม ๒๕๑๔ คุณปลัดโกศลติดราชการ จึงได้มอบหมายให้คุณจำเนียรซึ่งเป็นภรรยาไปเก็บก้อนกรวดแทนอีกเช่นเคย ในครั้งนี้ก็ได้มีผู้ที่ได้ร่วมสมทบไปอีก รวม ๔ ท่านด้วยกัน เท่าที่จำได้ก็คือ คุณจำเนียร ปัทมสุนทร พ.ต.ไพบูลย์ บุษปะธำรง และนายทหารยศร้อยเอกซึ่งเป็นนายแพทย์ทหารบกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าทั้งสองท่าน พร้อมกับผู้สมทบติดตามไปอีก ๑ ท่านแต่จำชื่อไม่ได้ จากนั้นทั้ง ๔ ท่าน จึงขับรถมุ่งไปยังท้องที่อำเภอบางบ่อ . โดยเก็บจากสถานที่จุดเดิมนั่นเอง เหมือนกับจะมีอะไรมาดลจิตใจทำให้แต่ละคนที่ไปด้วยกันต่างก็พยายามจะหาก้อนกรวดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าคงจะไม่มีโอกาสดีเช่นนี้อีกแล้ว ดังนั้นทั้ง ๔ ท่านจึงได้ขอยืมตะแกรงร่อนจากคนงานที่นั่นมาช่วยกันร่อนเอาทรายออก เหลือนอกนั้นจึงคัดเอาก้อนกรวดที่งาม ๆ เท่าที่จะหาได้ เมื่อถึงตอนนี้อดที่จะรู้สึกขำไม่ได้ เมื่อนึกถึงภาพคนที่แต่งตัวดี ๆ มียศเป็นนายทหาร แต่ไปยืนถือตะแกรงร่อนทราย เหมือนกับจะหาสิ่งของที่ทำตกอย่างนั้นแหละ ถ้าผู้ที่ขับรถผ่านไปมาพบเห็นเข้า และรู้ว่าที่มาร่วมกันเพื่อต้องการแต่เพียงก้อนกรวด เขาก็จะคิดว่าพวกนี้คงจะเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์ คงจะมาค้นคว้าอะไรสักอย่างเป็นแน่ และคงจะเป็นที่สงสัยแก่ชาวบ้านในย่านนั้นและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา มีบางคนสงสัยมากถึงกับเข้าไปถามก็มี และก็ได้รับคำตอบจากคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทรไปว่า “ท่านให้มาเก็บ” ซึ่งคุณจำเนียรก็อดที่จะสงสารคนที่สงสัยไม่ได้ เพราะคำตอบที่ได้รับคนฟังย่อมไม่รู้เรื่อง ก็ได้แต่ดูเขาเก็บเพชรพลอยกันโดยมิได้เสียดายแม้แต่น้อย
เมื่อเก็บได้จนเป็นที่พอใจแล้วจึงได้พากันกลับ พ.ต.ไพบูลย์ บุษปะธำรง แยกส่วนที่เลือกมาได้ไว้เป็นของแต่ละคน โดยหวังที่จะให้ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกปลุกเสกให้ ส่วนคุณนายจำเนียร ปัทมะสุนทร พอถึงบ้านก็จัดเตรียมชำระล้างก้อนกรวดเป็นอย่างดี
พอวันรุ่งขึ้นตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๔ โดยคุณปลัดโกศลก็ได้เตรียมก้อนกรวด แต่คราวนี้ไม่กล้าจะนำไปมาก เพราะเกรงว่าท่านเจ้าคุณลุงจะหนักด้วยเหตุท่านต้องยกไว้ในอุ้งมือตลอดเวลาในการบริกรรม “ปลุกเสก” สำหรับก้อนกรวดนั้นคุณปลัดโกศลได้จัดไว้ในถุงพลาสติกและใส่ไว้ในถาดเหมือนอย่างเดิม และถุงนี้เองที่เป็นถุงสุดท้ายที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกได้พยายามนั่งบริกรรมปลุกเสกให้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมรณภาพ เมื่อปลุกเสกเสร็จท่านก็ปรารภว่า “วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบาย เหนื่อยเหลือเกิน” นั่นคือเสียงสุดท้ายที่ท่านเปล่งไว้ในโบสถ์ แล้วท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกก็รีบรุดกลับกุฏิท่านทันที นี่คือการปลุกเสกก้อนกรวดหรือเพชรพลอยของท่านเป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ โดยไม่มีใครได้เฉลียวใจในคำพูดของท่านเลย ทั้ง ๆ ที่วันนั้นก็มีหลายท่านนั่งร่วมอยู่ในพระอุโบสถด้วย
สำหรับเรื่องปฐวีธาตุนี้คุณปลัดโกศลเป็นคนรอบคอบมาก เพราะเรื่องปฐวีธาตุเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันนี้ และเป็นการยากที่จะดูให้รู้ได้ เพราะก็เหมือนก้อนกรวดธรรมดานั่นเอง ครั้นจะใช้วิธีดูทางในก็เป็นของลึกลับ เดี๋ยวจะพบแบบที่เขาพบกันเมื่อปี พ.ศ..๒๕๐๘ ที่เขาเรียกกันว่า ยำใหญ่ ฉะนั้นคุณปลัดโกศลจึงได้ทำบัญชีหรือที่เรียกกันว่า การขึ้นทะเบียนนั่นเอง เพราะผู้ที่ได้รับไปคุณปลัดโกศลได้จดรายชื่อ นามสกุล ไว้หมด จดแม้กระทั่งของที่ได้รับไปจำนวนเท่าไหร่ วันไหน ซึ่งดูก็รู้ว่าคุณปลัดเป็นบุคคลที่รอบคอบดีจริง แต่รายชื่อนั้นถ้าใครสงสัยว่าจะได้รับของแท้หรือไม่ก็ลองโทรไปถามคุณปลัดโกศลหรือคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทรดูก็ได้ หรือถ้าเป็นการรบกวน ก็โทรไปที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่สามารถที่จะนำรายชื่อของผู้ได้รับมาลงได้ เพราะเจ้าของที่ได้รับปฐวีธาตุบอกว่ากลัวจะมีคนไปรบกวน จึงขอสงวนนาม และเคยมีหลายท่านถามผู้เขียนว่า ปฐวีธาตุนั้นมีจริงเท่าไหร่กันแน่ ผู้เขียนก็ได้เรียนถามไปทางคุณปลัดโกศลดูแล้ว ก็ได้ทราบว่า ปัจจุบันนี้ คุณปลัดมีเหลือทั้งหมดจำนวน ๑ ถุง จะคำนวณออกมาก็หลายร้อยก้อน เพราะเมื่อคราวที่มอบให้ พ.ต.ไพบูลย์ บุษปะธำรง คราวที่เสร็จพิธีครั้งสุดท้าย โดย พ.ต.ไพบูลย์ได้ใช้มือกำมาจากในถาด ๑ กำ เมื่อนับดูได้จำนวน ๕๓ ก้อน ซึ่งถ้าเรามาคำนวณกันจริง คุณปลัดโกศล ปัทมสุนทร ก็ให้ภรรยาไปเก็บมาก็หลายครั้งด้วยกัน ฉะนั้นรวมแล้วก็จำนวนมากพอดู
และคุณปลัดโกศล พร้อมด้วยภรรยา คุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร ก็เป็นผู้มีจิตเป็นมหากุศล คือมีผู้ที่มารับปฐวีธาตุจากคุณทั้งสองและช่วยทำบุญอุทิศ ไปถึงท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกด้วย คุณปลัดโกศล และภรรยาก็ได้นำเงินไปร่วมการกุศลกับท่านเจ้าคุณพระอุดมสารโสภณ รวมทั้งสิ้นก็หลายครั้งด้วยกัน เป็นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นวันเปิดป้ายโรงเรียน “นวมราชานุสรณ์” นครนายก คุณปลัดโกศล พร้อมด้วยคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับพระราชทานเข็มทองคำ จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเกียรติแก่คุณปลัดโกศล และคุณนายจำเนียร และสกุลปัทมสุนทรเป็นอย่างสูงยิ่ง และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ยิ่ง
นี้คือผลแห่งการกระทำความดีของบุคคลในครอบครัว จึงได้รับผลของการกระทำในครั้งนี้ สมดังที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกซึ่งเป็นหลวงลุงของบุคคลทั้งสอง ได้สอนไว้เสมอและไม่ว่าใครก็ตามที่ไปพบและนมัสการท่าน ท่านจะสอนเสมอว่า “จงทำแต่กรรมดีนะ” สำหรับผู้ที่ได้รับปฐวีธาตุครั้งหลัง คุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร ได้ห่อใส่ผ้าไนล่อนบางตาเม็ดพริกไทยสีเขียวใบไม้ ผูกด้วยไหมญี่ปุ่น สีเหลืองสวยงามน่ารักมาก คุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร ได้เล่าว่า เขียวเหลือง นั้นเป็นสัญลักษณ์ของวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเจ้าคุณลุงได้กล่าวไว้
เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ
โดย นิโรธ เกสรศิริ
รวบรวมจากหนังสือ ภาพพระเครื่อง และประวัติท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ ซึ่งเขียนโดย คุณการุณย์ เหมวนิช และคุณเสทื้อน ศุภโสภณ
คึกฤทธิ์สดุดี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผมเพิ่งได้ทราบข่าวเดี๋ยวนี้เองว่า พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ได้มรณภาพเสียแล้วที่ วัดเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 8 ม.ค 14 เมื่อเวลาหลังเพลแล้วเล็กน้อย
นามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ ความจริงพระภิกษุมรณภาพเพียงรูปเดียวเมื่ออายุท่านได้ 74 ปี ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอะไรนัก แต่บังเอิญชีวิตของท่าน และการปฏิบัติธรรมของท่านในภิกขุภาวะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นธรรมอันดีที่ควรส่งเสริมบางอย่าง ผมจึงเขียนถึงท่านไว้ในที่นี้ ผมเคยรู้จักเจ้าคุณนรรัตนฯ เมื่อผมยังเป็นเด็กเล็กคิดดูเดี๋ยวนี้ก็เห็นจะห้าสิบกว่าปีมาแล้ว
ตอนนั้นท่านอายุ 20 กว่า เป็นพระยาและได้สายสะพายแล้วด้วย
ท่านรับราชการมหาดเล็กหลวง และมีตำแหน่งเป็นต้นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หน้าที่ของท่านคืออยู่รับใช้ ใกล้ชิดพระองค์ในที่รโหฐาน และเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กห้องพระบรรทมคนอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายคน
เจ้าคุณนรรัตนฯ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่หอวัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็ต้องไปรับราชการในกรมมหาดเล็กเพื่อศึกษาราชการตามระเบียบ ก่อนที่จะไปรับราชการกรมกองอื่น ๆ
แต่เจ้าคุณนรรัตนฯ ติดอยู่ที่กรมมหาดเล็กและอยู่ที่ห้องพระบรรทมอยู่จนตลอดรัชกาล
ความจำของเด็ก ๆ ซึ่งบัดนี้แก่แล้วจะต้องกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ผมนึกออกเกี่ยวกับเจ้าคุณนรรัตน ฯ
ครั้งหนึ่งเห็นท่านกำลังติดพระตรากับฉลองพระองค์ ซึ่งสวมไว้กับหุ่นช่างตัดเสื้อ ท่านติดจนเสร็จแล้วท่านก็ถอยออกมา นั่งดูอยู่นาน ไม่พูดจากับใคร
อีกครั้งหนึ่งเห็นท่านนั่งชุนกางเกงจีนเก่า ๆ ของใครอยู่ เสือกเข้าไปถามท่านตามวิสัยของเด็กทะลึ่งว่า ท่านชุนกางเกงของท่านเองหรือ
ท่านบอกให้ผมลงกราบกางเกงที่ท่านกำลังชุนอยู่นั่น แล้ว บอกว่าเป็นพระสนับเพลาจีนของพระเจ้าอยู่หัว
แล้วท่านก็บ่นอุบอิบอยู่ในคอว่า
“เป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ชอบนุ่งกางเกงขาด ๆ เก่า ๆ หาใหม่ให้ก็ไม่เอา ครั้นจะปล่อยให้นุ่งกางเกงขาด ก็ขายหน้าเขา”
จำได้ว่าเวลาท่านพูดกับเด็ก อย่างผมแล้วท่านใช้วาจาหยาบคายสิ้นดี พูดมึงกูไม่เว้นแต่ละคำ
แต่ท่านมีทอฟฟี่แจก เด็กก็เมียงเข้าไปบ่อย ๆ
เด็กที่วิ่งอยู่ๆ อยู่ในวังสมัยนั้นมีมาก และบางคน (อย่างผม) ก็เป็นเด็กที่ซุกซนขนาดเหลือขอจริง ๆ ทีเดียว
บางครั้งเข้าไปซุกซนใกล้ที่ประทับจนถูกกริ้วต้องพระราชอาญา มีรับสั่งให้เจ้าคุณนรรัตนฯ เอาไปตีเสียให้เข็ด
เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็ลากตัวเข้าไปในห้องซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับ แล้วเอาไม้เรียวซึ่งเตรียมไว้ มาหวดซ้ายป่ายขวาลงไปกับเก้าอี้บ้าง กระดานบ้างให้มีเสียงดัง
เด็กที่ไม่รู้เคล็ดก็อ้าปากค้าง นั่งดูเฉย ท่านก็ชี้หน้าบอกว่า
“ร้องไห้ดัง ๆ นะมึง ไม่ร้อง พ่อตีตายจริง ๆ ด้วยเอ้า”
เด็กก็ร้องจ้าขึ้นมา
และก็จะได้ยินพระสุรเสียงดังมาจากที่ประทับทันที
“พอที ข้าสั่งให้ตีสั่งสอนมันเพียงหลาบจำ เอ็งตีลูกเขาอย่างกับตีวัวตีควาย ลูกเขาตายไปข้าจะเอาที่ไหนไปใช้เขา”
เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็กระซิบบอกเด็กว่า
“ไหมล่ะ!”
เด็กก็พ้นพระราชอาญาเพียงแค่นี้ และความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาก็จะติดอยู่ในตัวในใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีวันที่จะลืมเลือนได้
ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณนรรัตนฯ ได้อุปสมบทหน้าพระเพลิง อย่างที่สามัญชนเรียกว่า บวชหน้าไฟ
และท่านได้ครองสมณเพศ ตลอดมาจนถึงมรณภาพ
เป็นเวลา 46 ปีเต็ม
สี่สิบหกปีแห่งความกตัญญู อันมั่นคงหาที่เปรียบได้ยาก
ความจริงเมื่อเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ มีทั้งฐานะ ทั้งทรัพย์ และโอกาสที่จะหาความเจริญในโลกต่อไปอย่างพร้อมมูล
ในทางชีวิตครอบครัวท่านก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว
แต่ท่านก็ได้สละสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดออกอุปสมบท และอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระคุณแก่ท่าน
นับวาเป็นตัวอย่างแห่งความกตัญญูซึ่งควรจะจารึกไว้
เมื่ออยู่ในสมณเพศนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ ฉันอาหารวันละหนเท่านั้น
อาหารที่ท่านฉัน มีข้าวสุก มะพร้าว กล้วย เกลือ มะนาว และ ใบฝรั่ง
ท่านลงไปโบสถ์ทำวัตรเช้าและเย็น วันละสองครั้ง ไม่เคยขาด จนมรณภาพ
ดูเหมือนจะขาดอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตและเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์อยู่สั่งให้อยู่ที่กฏิ เพราะท่านอาพาธ
ท่านเป็นพระที่สงบสงัดจากโลกแล้ว ไม่เคยโด่งดัง
แม้แต่ธรรมที่ท่านได้แสดงไว้ เมื่อพิมพ์แล้ว ได้เป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ มีความเพียง 22 หน้ากระดาษ และแบ่งออกเป็นเรื่องรู้น ๆ ได้เพียง 8 บท
บทที่ 7 นั้นมีเพียงเท่านี้ แต่ก็ขอให้ท่านอ่านเอาเองเถิดว่า เป็นความจริงเพียงไร และน่าประทับใจเพียงไร
อานุภาพไตรสิกขา
คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แล จึงชนะข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และ อย่างละเอียด
ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงทางกาย วาจาได้ด้วยศีล
ชนะความยินดียินร้ายและ หลงรัก หลงชังเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วยสมาธิ
ชนะความเข้าใจ รู้ผิด เห็น ผิดจากความเป็นจริงของสังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วยปัญญา
ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติตาม ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้โดยพร้อมมูล บริบูรณ์สมบูรณ์ แล้ว ผู้นำจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย!
เพราะฉะนั้น จึงควรสนใจ เอาใจใส่ ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญานี้ ทุกเมื่อเทอญ
ครั้งหนึ่งผู้คนเขาไปลือว่า ท่านสำเร็จพระอรหันต์แล้ว
ผมพบท่านโดยบังเอิญที่วัดเทพศิรินทร์ก็เข้าไปกราบท่าน แล้วกราบเรียนถามท่านว่า
เขาลือกันว่าได้เท้าสำเร็จ เป็นพระอรหันต์แล้วจริงหรือครับ
ท่านดึงหูผมเข้าไปใกล้ ๆ แล้ว กระซิบว่า
“ไอ้บ้า”
อริยสงฆ์
ทุกวันนี้เมื่อเอ่ยถึง “เจ้าคุณนรรัตน์” หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “เจ้าคุณนรฯ” ซึ่งมีนามฉายา ว่า “ธมฺมวิตกฺโก” แล้ว
วงการพุทธศาสนิกชนในเมืองไทยยอมรับกันว่าท่านเป็น ”สงฆ์” อย่างแท้จริง “อริยสงฆ์” ด้วย มิใช่เป็นแต่เพียง “สมมติสงฆ์” อย่างที่เห็นกันอยู่ ดาษดื่นทั่วไปในยุคนี้
จนถึงกับมีบุคคลมากมาย เชื่อกันอย่างสนิทใจว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์
ปฏิปทาและการปฏิบัติของท่านนั้น มั่นคงและเด็ดเดี่ยวเป็นยิ่งนัก ท่านเป็น “สมณะ” ที่เคร่งครัดต่อศีลาจารวัตรเป็นอย่างยิ่ง
เป็นผู้สะอาด บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยด้วยประการทั้งปวง ทั้งกายและใจ ทั้งภายในและภายนอก
เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง และปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบไหว้อย่างแท้จริงของสาธุชนทั้งหลาย
เป็นการยากที่จะหาพระ ภิกษุรูปใด ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่ว่าในอาณาจักรสงฆ์ไทยเรา หรือในวงการสงฆ์นานาประเทศ
ที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ครบถ้วนตามวินัยบัญญัติอย่างเคร่งครัด เด็ดเดี่ยวเสมอต้นเสมอปลายอย่างท่านได้
วัตรปฏิบัติ ทั้งหลายทั้งปวงของท่านนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจาก “โลกียะ" มุ่งตรงต่อ “โลกุตตระ” อย่างแท้จริง
ซึ่งแตกต่างห่างไกลจากการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ทั่วไปในยุคนี้โดยสิ้นเชิง นับว่าท่านเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่งในโลก
ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเคยบวชอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส และเคยอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าคุณนรรัตน์มาพอสมควร ถึงกับกล่าวว่า
ถ้าหากพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่มาจนถึงบัดนี้ ก็คงจะต้องประทานประกาศนียบัตรในการประพฤติปฏิบัติเป็นเอก ให้แก่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นแน่แท้
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นอัจฉริยบุคคล ผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการประพฤติปฏิบัติที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวสม่ำเสมอ และมีความทรงจำที่แม่นยำอย่างน่ามหัศจรรย์แล้ว ยังมีดวงจิตที่ ทรงพลังอย่างมหาศาลอีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากท่านใช้อำนาจจิตต่อสู้ผจญกับอสรพิษ และโรคร้าย โดยมิต้องใช้หยูกยาใด ๆ ดังเช่นคนทั้งหลาย จนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ จักเป็นที่กึกก้องขจรไกล เป็นที่กล่าวขวัญสรรเสริญติดปากชาวพุทธในเมืองไทยอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน
ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังสถิตสถาพรดำรงคงอยู่คู่ไทย ตราบนั้นนาม “เจ้าคุณนรรัตน์ฯ” อันเป็นมหามงคลนาม
ก็จักยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ติดตรึงอยู่ในดวงใจของชาวพุทธในเมืองไทย ตราบชั่วนิรันดร์กาล
ไม่แพ้พระเถระผู้ทรงวิทยาคมและทรงคุณธรรมเป็นพิเศษรูปใด ๆ ในอดีต เป็นต้นว่าสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงพ่อสุข วัดมะขามเฒ่า ฯลฯ
มงคลสูตร
พระเถระผู้ทรงคุณธรรมเป็นพิเศษในอดีตส่วนใหญ่ เมื่อจะถือกำหนดในครรภ์โยมมารดานั้น มักจะสำแดงนิมิตให้ปรากฏแก่โยมบิดาและโยมมารดาต่าง ๆ กัน
เป็นต้นว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) อดีต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส องค์สำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นสมเด็จอุปัชฌาย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก และเชื่อกันว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลรูปหนึ่งนั้น เมื่อปีที่ท่านจะเกิด โยมบิดาก็ฝันไปว่ามีผู้นำช้างเผือกมาให้
หรือเมื่อตอนที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แต่ครั้งยังเป็นสามเณร จะย้ายเข้าไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น
ก็เล่ากันว่าพระอาจารย์ของท่านฝันในคืนวันที่ท่านจะไปถึง ว่ามีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้าไปกินคัมภีร์พระไตรปิฎกในดู้จนหมด ฯลฯ
โดยเหตุที่เคยมีเรื่องราวเล่ากันมาดังกล่าวนี้ จึงทำให้ผู้เขียนสนใจสืบถามนิมิตเมื่อตอนที่ท่านธมมฺวิตกฺโกจะถือกำเนิดอยู่เหมือนกัน เพื่อจะได้ “เกร็ด” ประวัติตอนสำคัญของท่านมาเผยแพร่ แต่ก็มิได้ความกระจ่างแต่อย่างใด
เคยมีผู้สนใจซักถามโยมบิดาของท่าน (พระนรราชภักดี ตรอง จินตยานนท์) ว่าประพฤติตนเช่นไร สวดมนต์อย่างไร ท่องคาถาบทไหน ฯลฯ จึงได้มีบุตรที่ดี (หมายถึงท่านธมฺมวิตกฺโก) เช่นนี้ โยมบิดาของท่านก็ได้ตอบไปว่า เห็นจะเป็นด้วยเหตุที่ท่านได้ใส่ใจภาวนา สวดพระคาถามงคลสูตรอยู่เสมอนั่นเอง
อันพระคาถามงคลสูตรนี้ ตัวท่านธมฺมวิตกฺโกเอง ก็นิยมท่องบ่นเจริญภาวนาอยู่เสมอเช่นกัน ตลอดทั้งได้แนะนำผู้ใกล้ชิดบางคน เช่น คู่หมั้นของท่าน ให้หมั่นสวดภาวนาทุกวัน ทั้งเวลาเช้าตื่นนอน และเวลาค่ำก่อนเข้านอน
โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า
“มงคลคาถานี้ เป็นพระสูตรที่คัดมาจากพระไตรปิฎก ผู้ใด เล่าบ่นหรือสวดและปฏิบัติตาม ย่อมเป็นสิริมงคลอันประเสริฐ จึงเรียกว่า คาถามงคลสูตร”
กำเนิด
ท่านธมฺมวิตกฺโกภิกขุ หรือ พระยานรรัตนราชมานิต มีนาม เดิมว่า ตรึก จินตยานนท์
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 ตรงกับวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา
ซึ่งวันนั้นเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ เป็นวันมาฆบูชา ท่านเกิดเมื่อเวลา 07.40 น.
ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนที่ท่านจะเกิด โยมแม่ของท่านได้ออกมาตักบาตรตามปกติ
พอตักบาตรพระองค์สุดท้ายเสร็จ ก็เริ่มเจ็บท้องจึงกลับขึ้นบ้าน สักครู่ก็คลอด และเป็นการคลอดง่ายมากทั้งที่ท่านเป็นบุตรคนแรกของโยมแม่
ท่านบอกอย่างขำ ๆ ว่า “อาตมาไม่ได้ทำให้โยมแม่เจ็บนาน” ท่านเกิดที่บ้านใกล้วัดโสมนัส
ท่านเป็นบุตรคนแรกของ พระนรราชภักดี (ตรอง จินตยานนท์) และนางนรราชภักดี (พุก จินตยานนท์)
ท่านมีน้องเป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน น้องของท่านถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์สองคน เป็น 1 และหญิง 1
วัยศึกษา
เมื่อโตขึ้นก็ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่วัดโสมนัส และมาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เมื่อตอนจะจบชั้นมัธยม ท่านสอบได้ที่ 1 ของสนามสอบ
การสอบในสนามสอบนี้เป็นการสอบรวมกันหลายโรงเรียน โดยข้อสอบเดียวกัน
ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าท่านสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทยในสมัยของท่าน
เมื่อท่านจบจากโรงเรียนมัธยมแล้ว ท่านตั้งใจจะเรียนวิชาแพทย์ต่อเพราะท่านสนใจวิชานี้มาก เห็นว่าเป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลต่อผู้ที่ต้องทุกขเวทนา เกี่ยวกับการป่วยเจ็บ
แต่โยมพ่อเป็นนักปกครอง อยากจะให้ท่านได้เป็นนักปกครองตาม จึงให้ท่านเรียนวิชาการปกครองเพื่อจะสืบตระกูล ต่อไป
เมื่อโยมพ่อปรารถนาเช่นนั้นท่านก็ตามใจโดยไปเข้าเรียน โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในสมัยนั้น โรงเรียนนี้ท่านเล่าว่า อยู่ในวังหลวง
ท่านได้เรียนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อท่านเรียนอยู่ปีสุดท้าย โรงเรียนนี้ย้ายมาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปัจจุบัน
และท่านก็จบในปีนั้น นับเป็นบัณฑิตจุฬารุ่นแรก และดูเหมือนท่านจะสอบได้ที่ 1 อีกด้วย
ท่านนิยมความเป็นหนึ่ง ท่านบอกว่าในชีวิตของคนเรา ถ้าทำอะไรให้เป็นหนึ่งแล้วมักจะดีเสมอ
เมื่อจะทำการงาน หรือทำสิ่งใดก็ต้องทำใจให้เป็นหนึ่งมุ่งอยู่ในงานนั้นจนสำเร็จ
แม้การทำสมาธิ ก็คือการทำจิตให้เป็นหนึ่ง คือเอกัคตา
สู่ราชสำนัก
เมื่อท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในสมัยนั้นแล้ว
ได้มีการซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวงอำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี (ท่านบอกว่าเมื่อสมัยนั้นเป็นเขตจังหวัดกาญจนบุรี)
ท่านในฐานะเสือป่าได้เข้าร่วมซ้อมรบครั้งนี้ด้วย ท่านได้รับหน้าที่ให้เป็นคนส่งข่าว โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ
และการซ้อมรบครั้งนี้เอง ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอย่างมากมาย จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง มาเป็นข้าราชสำนัก โดยที่ท่านไม่เคยนึกฝันมาก่อน
เนื่องจากขณะนั้นท่านมีรูปร่างแบบบาง ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงได้รับสั่งถามว่า ตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ถ้านำข่าวไปแล้วถูกข้าศึกดักทำร้ายจะสู้ไหวหรือ ซึ่งท่านก็กราบบังคมทูลว่า ต้องลองสู้กันดูก่อน ส่วนจะสู้ไหวหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
จากคำกราบบังคมทูลนี้ ปรากฏว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงพอพระราชหฤทัยมาก
ถ่ายกับล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ในชุดร่วมฝึกเสือป่า
พระยานรรัตนราชมานิต (คนที่ 4 จากขวา)
เมื่อซ้อมรบเสร็จได้มีการเลี้ยงเนื่องในการซ้อมรบครั้งนี้ และล้นเกล้าฯ ได้โปรดให้รับใช้ใกล้เคียง และได้รับสั่งชวนให้ไปรับราชการในวังก่อน เมื่ออายุมากกว่านี้ จะออกมารับราชการฝ่ายปกครองก็จะโปรดให้เป็นเทศาฯ เสียทีเดียว
เมื่อท่านเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้โอกาสเช่นนี้แล้ว จึงกราบบังคมทูลว่า แล้วแต่จะทรงโปรด ฉะนั้น เมื่อเสร็จการซ้อมรบท่านก็ตามเสด็จเข้าไปอยู่ในวังเลย
อภัยทาน
ท่านเล่าว่าชีวิตของท่าน ระยะแรกที่เข้าไปอยู่ในวังนั้น ท่านถูกตั้งข้อรังเกียจจากชาววังสมัยนั้น
ใคร ๆ ก็ว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเด็กเลี้ยงควาย ถึงกับให้มารับใช้อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา
เช่น เมื่อเข้าเวรก็มีคนเอาน้ำมาราดที่นอนของท่าน เมื่อกลับมาท่านก็นอนไม่ได้เพราะที่นอนชุ่มน้ำหมด
ท่านก็อดทนไม่ปริปากบ่น หรือบอกกับใครถึงการที่ถูกกลั่นแกล้งนี้ แต่การกลั่นแกล้งเช่นนี้ก็ไม่หยุด ท่านจึงหาวิธีแก้ไข โดยไม่นอนบนที่นอน รื้อที่นอนทิ้ง แล้วนอนบนเหล็กแทน
ที่ว่านอนบนเหล็กนี้ เพราะเตียงที่ใช้นอนทำด้วยเหล็กและที่ พื้นเตียงก็เป็นเหล็กเส้นพาดไปมา ส่วนหมอนก็ไม่ใช้ เมื่อท่านทำเช่นนี้ก็ไม่มีใครมาแกล้งได้
ท่านบอกว่าท่านรู้ว่าใครมาแกล้ง แต่ท่านก็ไม่ว่ากระไร แม้เมื่อท่านขึ้นมาเป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม กลุ่มที่แกล้งท่านกลับมาอยู่ใต้บังคับบัญชา
ท่านก็ไม่เคยคิดจะแก้แค้นแต่อย่างใด ท่านให้อภัยทุกคน การให้อภัยทานนี้ ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการทำทานอย่างสูงสุด
แตกฉาน
เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโก ได้เข้ารับราชการแล้ว ท่านก็ขวนขวายหาวิชาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะได้รับราชการสนองคุณได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง
ท่านได้จ้างครูสอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จนสามารถใช้ภาษาทั้งสองนี้ได้ดี
ท่านได้เรียนวิชามวยไทย ฟันดาบ และยูโด โดยท่านจ้างครูที่ชำนาญในวิชานี้มาสอนแต่ละวิชาเลยทีเดียว และท่านได้ศึกษาวิชาต่อสู้นี้จนแคล่วคล่อง ในกระบวนการต่อสู้ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา
นอกจากนี้ท่านยังสนใจวิชาโหราศาสตร์ โดยเฉพาะการดูลายมือ การดูลักษณะ ซึ่งปรากฏว่าท่านสามารถทายลายมือได้แม่นยำมาก
ด้วยความสนใจในวิชานี้ ท่านเคยขอเจ้าคุณพัสดีฯ เข้าไปดูลายมือนักโทษที่จะถูกประหารชีวิต เพื่อเป็นการศึกษาและยืนยันความมีอยู่จริงของวิชานี้
ยังมีอีกวิชาหนึ่งที่ท่านสนใจเป็นพิเศษเช่นกัน คือวิชาโยคศาสตร์ และด้วยวิชานี้สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายท่านจากแบบบางมาเป็นล่ำสันแข็งแรง
เนื่องจากท่านสนใจวิชาแพทย์มาแต่เด็ก เมื่อมารับราชการท่านก็มิได้ละทิ้งความสนใจนี้ ท่านเล่าว่าท่านได้ขอท่านเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ ผ่าศพดูด้วยตนเองเพื่อการศึกษา จนกระทั่งเจ้าคุณแพทย์พงศาฯ มอบกุญแจห้องเก็บศพให้
จากการผ่าศพนี้ ทำให้ท่านมีความรู้ทางกายวิภาคอย่างแตกฉาน และด้วยความรู้นี้ท่านสามารถบรรเทาอาการทุกขเวทนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้
ท่านได้เล่าให้ฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประ ชวรและได้รับการผ่าตัดพระอันตะ (ลำไส้) และหลังจากการผ่าตัดนั้นแล้ว เมื่อเสร็จจากการเสวยพระกระยาหารเกือบทุกครั้งจะปรากฏว่า พระกระยาหารที่เสวยนั้นจะไปติดพระอันตะตรงที่ผ่าตัดนั้น ทำให้ประชวรทรมานมาก
ท่านต้องช่วยด้วยการเอามือนวดไปตามพระอันตะ และค่อย ๆ ดันให้พระกระยาหารที่ติดอยู่ตรงช่วงนั้นเลื่อนเลยไปก็จะหายประชวร ซึ่งไม่มีใครทำถวายได้เลย นอกจากท่านเพียงคนเดียว
คนเป็นคนตาย
ท่านธมฺมวิตกฺโก มีปกตินิสัยชอบความสงบ ท่านชอบคนตาย ท่านบอกว่าคนตายให้แต่ความดีงาม ทำใจให้สงบ เพราะเมื่อเห็นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติว่า ตัวเราก็ต้องตายเช่นนั้นไม่ช้าก็เร็ว
นอกจากนี้คนตายยังให้ความรู้เป็นอาจารย์ทางแพทย์ได้อีกด้วย ไม่เหมือนคนเป็น ซึ่งอาจมีคุณและโทษ ถ้าพบคนเลวก็มีแต่โทษ มีแต่ความลำบากใจไม่รู้จักหยุด
ฉะนั้นด้วยวิสัยนี้ ถ้าตามเสด็จไปบางปะอินครั้งใด ท่านจะ ต้องไปนั่งในป่าช้าเสมอ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ต้องการตัว ท่านจะรับสั่งให้คนไปตามที่ป่าช้า
ท่านไม่นิยมความสนุกสนาน แต่กระนั้นท่านก็บอกว่า ท่านสามารถเล่นโขนและละครได้ ท่านเคยแสดงเป็นทั้งตัวพระและตัวนางหน้าพระที่นั่ง และแสดงได้ดีจนได้รับการยกย่องในสมัยนั้น
จงรักและภักดี
ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับ ท่านธมฺมวิตกฺโก แต่ครั้งยังรับราชการ เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในนามบรรดาศักดิ์พระยานรรัตนราชมานิตนั้น เป็นไปอย่างใกล้ชิดสนิทแน่นยิ่ง
ตำแหน่งเจ้ากรมห้องที่พระบรรทมหรือมหาดเล็กต้นห้อง พระบรรทม ตลอดกระทั่งการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นถึงพระยาพานทอง ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี
และราชทินนามที่ว่า “นรรัตนราชมานิต” อันแปลอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “คนดีที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่อง” นั้น ย่อมเป็นพยานยืนยันอย่างดี ถึงความไว้วางพระราชหฤทัย และความยกย่องให้เกียรติเพียงใด ขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพระยานรรัตนราชมานิต ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
แต่พระยานรรัตนราชมานิต ได้มีความวิริยะอุตสาหะ ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณอย่างดีที่สุด ที่มนุษย์ในโลกนี้จักพึงกระทำได้ต่อผู้มีพระคุณแก่ตนตลอดทั้งความจงรักภักดี และ ความกตัญญูกตเวทีก็มีอยู่อย่างล้นพ้น จนสุดที่จะประมาณได้
ตลอดเวลาที่รับราชการประจำอยู่แต่ในเขตพระราชฐาน เป็นเวลานานเกือบ 10 ปีบริบูรณ์นั้น ท่านได้ตั้งหน้าอุตสาหะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มสติกำลัง และโดยสม่ำเสมอ ไม่รู้จักย่นย่อท้อถอย
หน้าที่อันใดที่บ่าวจักพึงปฏิบัติต่อนาย เป็นต้นว่าตื่นก่อน นอนทีหลัง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานใหญ่ขึ้น นำพระคุณของนายไปสรรเสริญ ฯลฯ เหล่านี้ ท่านสามารถปฏิบัติได้โดยครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีขาดตกบกพร่องใด ๆ
เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นพระบรรทมลืมพระเนตรขึ้นมาคราวใด เป็นต้องได้ทอดพระ เนตรเห็นท่านหมอบเฝ้าคอยถวายอยู่งานแทบทุกครั้งไป
ไม่ว่างานหนักงานเบา งานจุกจิกหยุมหยิมอย่างใด ท่านก็ ยินดีและเต็มใจปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณ จนเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยแทบทุกกรณีไป
กล่าวกันว่าตลอดเวลา 10 ปี ที่รับราชการสนองพระเดชพระ คุณอยู่อย่างใกล้ชิดนั้น ท่านไม่เคยถูกกริ้วเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ทั้ง ๆ ที่โดยปกตินั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอารมณ์ออกจะรุนแรง กริ้วง่ายและกริ้วอยู่เสมอ สำหรับบุคคลอื่น ๆ แต่สำหรับตัวท่านแล้ว กลับตรงกันข้าม จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ ให้แก่ผู้ที่ได้ทราบเรื่องนี้อยู่เสมอ
โดยปกติมหาดเล็กห้องพระบรรทมจะมีหน้าที่อยู่เวรถวายอยู่งานวันหนึ่ง แล้วว่างเว้นวันหนึ่ง สลับกันไป เพื่อจะได้มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง สำหรับจะได้พักผ่อนหรือทำธุรกิจส่วนตัว
แต่สำหรับท่านแล้ว เล่ากันว่าแม้จะเป็นวันว่างเวร ท่านก็มักจะไม่ไปไหน คงประจำอยู่แต่ในห้องพระบรรทมแทบทุกวัน ไม่ว่าวันเข้าเวรหรือออกเวร หากมีธุระส่วนตัวจะต้องออกมาข้างนอกเมื่อใด ก็จะใช้เวลาตอนเสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว หรือเวลาเข้าที่พระบรรทมแล้ว เท่านั้น
อันงานในหน้าที่ของมหาดเล็กห้องพระบรรทมนั้น นับว่าจุกจิกหยุมหยิมมากมายพอดูทีเดียว เริ่มแต่พอเสด็จเข้าที่พระบรรทม ก็จะต้องถวายอยู่งานนวด อยู่งานพัดเรื่อยไป จนกว่าจะทรงบรรทม หลับ
เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใด ๆ ก็จะต้องทำหน้าที่แต่งพระองค์หรือควบคุมการแต่งพระองค์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับพนักงานภูษามาลา คอยติดตามฉลองพระองค์ ฯลฯ บางครั้งท่านยังต้องชุนพระสนับเพลาจีนด้วยตนเองอีกด้วย
นอกจากนี้ ก็ยังต้องคอยควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเสวยพระกระยาหารเช้า และพระเครื่องว่างในเวลาที่ต้องพระราชประสงค์
รวมความว่า งานรับใช้ทุกอย่างภายในห้องพระบรรทมนั้น อยู่ในหน้าที่ดูแลของท่านโดยตลอด
โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ เข้าที่พระบรรทมซึ่งส่วนใหญ่จะประทับประจำอยู่ ณ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นเวลาราว 01.00 น. หรือบางทีก็จน 02.30 น. ล่วงแล้ว และจะไปตื่นพระบรรทมเอา ราว 11.00-11.30 น.
แล้วก็จะเสวยเครื่องเช้า ลำพังพระองค์ที่เฉลียงข้างห้องพระบรรทม จากนั้นจึงจะเสด็จเข้าห้องทรงพระอักษร ทรงปฏิบัติงานราชการแผ่นดิน และทรงปฏิบัติพระราชกิจต่าง ๆ
ในระหว่างเวลาต่อจากนี้ไปแล้ว จึงจะมีเวลาพักผ่อนเอาแรง หรือทำธุรกิจส่วนตัวได้ รวมทั้งตระเตรียมวางงานการบางอย่างไว้ด้วย
ตลอดเวลาที่ท่านรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในวัง เป็นเวลาช้านานถึง 10 ปี นั้นท่านไม่เคยได้กลับมานอนที่บ้านเลย จะออกมาเยี่ยมเยียนบ้านได้บ้าง ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
และไม่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ๆ เลย ไม่เคยได้ตามเสด็จไปในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะภาระงานในหน้าที่ของท่านนั้นบีบรัดอยู่ตลอดเวลา
พอจะเสด็จไปคราวใด ท่าน ก็จะทำหน้าที่แต่งพระองค์โดยตลอด พอเสด็จกลับมาถึง ก็จะต้องรับหน้าที่คอยถอดฉลองพระองค์อีก ซึ่งจะต้องกระทำกันอย่างเร่งรีบรวดเร็วและเรียบร้อยด้วย หลายคนต้องช่วยกันชุลมุนวุ่นวาย
เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงมีพระวรกายอวบอ้วน (ทรงพ่วงพี) จึงทรงเป็นบุคคลชนิดที่เรียกกันว่า ขี้ร้อนเอาการอยู่ทีเดียว กล่าวกันว่าพอเสด็จกลับมาถึงเมื่อใด ก็จะต้องเปิดพัดลมถวายคราวละ 4-5 เครื่องพร้อม ๆ กัน แล้วก็ ช่วยกันระดมถอดกระดุมฉลองพระองค์ ถอดถุงพระบาท ฉลองพระบาทให้ทันพระราชหฤทัย
ก็เมื่องานในหน้าที่รัดตรึงอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ โอกาสที่ท่านจะตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ เยี่ยงข้าราชบริพารและขุนนางคนอื่น ๆ นั้นจึงหาได้ยากยิ่ง
ท่านเคยเล่าว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมในที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากในบ้านในเมือง เนื่องในวาระซ้อมรบเสือป่าทุกคราวนั้น
แม้ทางการจะได้จัดการวางเวรยามรักษาการณ์ถวายอารักขาไว้อย่างเข้มงวดกวดขันเพียงใดแล้วก็ตาม แต่ท่านก็อดมิได้ที่จะต้องเอาเป็นธุระกังวล หมั่นออกตรวจตราตรากตรำ ดูแลกำกับอยู่เสมอทุกครั้งไปโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ความง่วงเหงาหาวนอน ตามความต้องการพักผ่อนของร่างกายแต่อย่างใด
ด้วยความไม่ไว้วางใจ เกรงว่าเวรยามเหล่านั้น อาจจะเผลองีบหลับไปบ้างด้วยความง่วงจัด ในยามดึกสงัด ก็จะเป็นโอกาสของทรชนผู้คอยจ้องหมายปองจะประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้
อันความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเคยกล่าวอยู่ เสมอ ๆ ว่า
“ต้องตายแทนได้!”
ถ้าหากว่าตัวท่านกระทำผิดคิดร้ายใด ๆ ต่อพระองค์ท่าน หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบังเกิดความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในตัวท่านเมื่อใดแล้ว
ท่านก็พร้อมเสมอที่จะน้อมรับพระบรมราชโองการให้เอาตัวไปประหารชีวิต ตัดศีรษะเสีย ตามแบบฉบับของการประหาร ในสมัยนั้นได้ ท่านกล่าวอย่างหนักแน่นในเรื่องนี้ว่า
“เอาหัวเป็นประกันได้เลย!”
แปลว่าท่านมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสุดชีวิตเลยทีเดียว
ส่วนองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น ก็ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัย และทรงรู้ใจในตัว พระยานรรัตนราชมานิตเป็นอย่างดีเช่นกัน
เป็นต้นว่าในยามที่เสด็จ แปรพระราชฐานไปประทับที่ พระราชวังบางปะอินนั้น คราวใดที่พระองค์มีพระประสงค์จะทรงดนตรีร่วมกับข้าราชบริพาร อันไม่ต้องอัธยาศัยของพระยานรรัตนราชมานิต
ท่านก็จะถือโอกาสกราบบังคมทูลปลีกตัวออกไปนั่งสงบอยู่ในป่าช้าแต่โดยลำพัง แต่ก็มิใช่ไปอย่างขาดลอยสบายตัวเลย เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงเรียกใช้สอย หรือ ทรงต้องการตัวเมื่อใด ก็จะต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงแหล่งที่จะไปตามพบตัวได้ทุกเมื่อ
กล่าวคือเป็นที่รู้กันระหว่าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระยานรรัตนราชมานิต
ก็โดยเหตุที่ท่านได้อุตสาหะ ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างสุดกำลัง ไม่ว่าทั้งด้านกายใจ ได้ทุ่มเทอุทิศถวายให้ทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิตและความสุขของตนเอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะซาบซึ้ง ตระหนักชัดในความจงรักภักดี ของมนตรีของพระองค์ผู้นี้เป็นอย่างดีเช่นกัน ถึงกับคราวหนึ่ง เมื่ออยู่ลำพังสองต่อสอง ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับท่านว่า
“ตรึก นี่เราเป็นเพื่อนกันนะ แต่เวลาออกงานออกการแล้ว เราจึงจะเป็นเจ้าเป็นข้ากัน”
พระราชดำรัสทั้งนี้ เป็นที่จับใจพระยานรรัตรราชมานิตเป็นอย่างยิ่ง
ยอดกตัญญู
โดยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจบวชหน้าไฟ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วก็กลายเป็นบวชจนชั่วชีวิต ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ตลอดเวลาที่ท่านบวชอยู่เป็นเวลาช้านานถึง 46 พรรษา คิดเป็นวันก็ได้กว่า 16,000 วันนั้น ไม่มีวันใดเลยที่ท่านจะว่างเว้นจากการกรวดน้ำอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยอดกตัญญูอย่างที่จะหาบุคคลใดมาเทียบได้ยากยิ่ง
ยิ่งกว่านั้น ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ท่านก็จะงดเว้นการฉันอาหาร 1 วัน
และนั่งกระทำสมาธิตั้งแต่หัวค่ำไปจนยันสว่างเพื่อน้อมจิตอุทิศถวายกุศลผลบุญ ที่ได้ปฏิบัติบำเพ็ญมาโดยตลอด แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น
ท่านได้เฝ้าปฏิบัติอยู่เช่นนี้ เป็นประจำทุกปีมิได้เคยมีขาด หรือเว้นเลย
นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลด้วยประการต่าง ๆ เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอีกเป็นอเนกประการ
อันความจงรักภักดีของท่านธมฺมวิตกฺโก ที่มีต่อองค์พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งใหญ่หลวงจริง ๆ
คราวหนึ่ง ในขณะที่มีการประกวดนางงามกันในงานวชิราวุธานุสรณ์ และนางงามผู้ชนะเลิศยังเรียกกันว่า “นางงามวชิราวุธ” ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกเป็น “นางสาวไทย” นั้น ได้การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนี้กันต่อหน้าท่านธมฺมวิตกฺโกในพระอุโบสถ
ทันใดนั้น ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็กล่าวขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในการที่เอาพระปรมาภิไธยของพระองค์ไปใช้เรียกชื่อนางงามที่นุ่งน้อยห่มน้อย เป็นเชิงประกวดขาอ่อนกันเช่นนั้น
ทุกคนที่ได้ฟัง พากันตะลึง และงงงัน
ทันใดนั้น คนหนึ่ง ด้วยความสงสัยเต็มประดา ก็โพล่งถามท่านไปว่า
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต
ผู้บวชถวายราชกุศล ร.6 ถ่ายภาพร่วมกับ
พระภิกษุพระยาสีหราชฤทธิไกร ผู้บวช
ถวายพระราชกุศล ร.5 ณ วัดราชบพิตร
เมื่อพ.ศ.2469
“พระเดชพระคุณได้ติดต่อกับพระองค์อยู่เสมอหรืออย่างไร จึงได้ทราบว่าไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย”
“โธ่” ท่านพยักหน้าตอบ
คำตอบของท่าน เป็นคำตอบอย่างจนมุม สุดที่จะเลี่ยงตอบให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะตามปกตินั้น ท่านก็มักจะไม่พูดถึงเรื่องเร้นลับใด ๆ ให้เป็นการแสดงอวดรู้อวดวิเศษกับบุคคลใด นอกจากเป็นการโดยบังเอิญ ดังเช่นกรณีนี้เท่านั้น
เมื่อท่านพูดสิ่งใดออกไปแล้ว ทุกคนก็ต้องเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น และไม่มีใครกล้าซักถามกันอีกต่อไป ด้วยความกลัวเกรงท่าน แล้วเรื่องก็ยุติลงแต่เพียงแค่นั้น
บวชอุทิศ
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านจึงได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ที่วัดเทพศิรินทราวาส
โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ และพระพุทธวิริยากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์
ท่านได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็จะบวชถวายพระราชกุศล มีตัวอย่างมาเสมอ
แต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตเช่นกัน
พระอุปัชฌาย์
เหตุที่ท่านธมฺมวิตกฺโกเลือกเอาวัดเทพศิรินทราวาส เป็นสำนักเพื่อการอุปสมบท ทั้ง ๆ ที่บ้านท่านก็อยู่ใกล้กับวัดโสมนัส เมื่อแรกเขียนหนังสือก็เรียนอยู่ในวัดโสมนัสฯ ท่านและโยมบิดา-มารดาเคยมีความสัมพันธ์กับวัดโสมนัสเป็นอันดีตลอดมา
ตลอดทั้งการที่ท่านได้เลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการตัดสินใจ “บวชหน้าพระเพลิง” เพื่ออุทิศกุศลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับอย่างปัจจุบันก็จะเป็นปี พ.ศ. 2469 แล้ว) นั้น
นอกจากจะแอบสังเกตดูลายมือของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ใน สมัยนั้น เวลาที่ท่านเข้าประเคนของถวายหรือขอดูโดยตรงจากพระเถระบางองค์ตามที่โอกาสจะอำนวย จนกระทั่งมาพบลายมือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และได้ดูลักษณะทุกอย่าง จึงได้ตกลงใจเลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ)
ยังได้ทราบจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใกล้ชิดของท่านมาอีกทางหนึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่แปลกออกไปจากเรื่องที่ทราบกันมาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้บ้าง
ระหว่างที่มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ได้มีการทำบุญถวายสลากภัตเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเป็นประจำทุก 7 วัน ในพระบรมมหาราชวัง
โดยได้กำหนดให้ข้าราชบริพารชั้นพระยาพานทองสายสะพายรับเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องไทยธรรมถวายพระที่ไปในโอกาสนั้นด้วยการจับสลาก
ท่านธมฺมวิตกฺโกหรือเจ้าคุณนรรัตนฯ ในเวลานั้นบังเอิญจับสลากได้พระดี คือได้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งขณะนี้ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย
ก็เลยเกิดศรัทธาในรูปโฉมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ละม้ายคล้ายพระสิริโฉมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งท่านมีความเคารพและภักดียิ่งชีวิต
กล่าวอย่างธรรมดาสามัญก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีรูปร่างอ้วน ขาว และศีรษะล้าน ละม้ายกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก
จากรูปโฉมนี้เอง เป็นจุดแรกที่โน้มเหนี่ยวให้เกิดศรัทธา กอปรกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์นั้นมีบุคลิกและอัธยาศัยที่สุภาพ สุขุม นุ่มนวลละมุนละไม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น และได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะด้วย
เป็นสมณะที่สงบและเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งรูปหนึ่ง และเป็นพระเถระที่มีเมตตาเป็นอย่างสูงแก่ทุก ๆ คนไม่เลือกหน้าว่าจะมั่งมี หรือยากจน จะเป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำ ฯลฯ
จากรูปโฉมและบุคลิกปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวได้ทำให้เจ้าคุณนรรัตนฯ บังเกิดศรัทธาและเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นยิ่งนัก
ดังนั้นพอเสร็จกิจพิธีถวายสลากภัต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันนั้นแล้ว ท่านก็ตามไปส่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จนถึงวัดเทพศิรินทราวาสเลยทีเดียว
และก็คงจะได้ไปมาหาสู่เป็นประจำวันแต่นั้นมา พร้อมกับได้ตัดสินใจเลือกท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยเชื่อมั่นว่าได้เลือก “พ่อ” ในเพศใหม่คือเพศบรรพชิต ที่เพียบพร้อมเหมาะสมถูกใจเป็นอย่างยิ่งจริง ๆ แล้ว
พอถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 24 มีนาคม 2468 ท่านก็เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส
เพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เป็นการบวชอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บวชหน้าไฟ”
พอบวชเสร็จแล้ว ค่ำวันนั้น ท่านได้ไปร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พร้อมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์
เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ ๒
โดย นิโรธ เกสรศิริ
ทุกข์ซ้อนทุกข์
ท่านบอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะ บวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป
ธมฺวิตกฺโกภิกขุเมื่อบวชปีแรก
เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา ท่านบอกว่า ท่านได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง
สมเด็จฯ ได้สอนเรื่อง อริยสัจสี่ แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข
จนกล่าวได้ว่า ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้น
และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์แท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์
อย่างไรก็ดี ท่านก็บอกว่า ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอด ชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่าน นั้นท่านไม่ได้บวชอย่างขอไปที หรือบวชอย่างที่คนตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะลาสิกขาหรือไม่
ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวัน หนึ่ง ๆ
แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์
ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวด ในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น
และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง
ท่านบอกว่า ท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ 6 ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง
จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไป ใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม อีก
ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไม่เล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น
ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจน คิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดีพนมยงค์ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา
ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน
เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยไม่รู้ว่า ต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ
การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ คิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง
บ้าดี
เรื่องบวชแล้วไม่สึกของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ท่านบอกว่า คนอื่นเขาหาว่าท่านบ้า
ท่านเล่าว่าพระบวชใหม่องค์หนึ่งมาบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ขณะที่มาบวชนี้มีคู่หมั้นอยู่แล้ว เมื่อบวชแล้วได้รู้จักกับท่าน ได้เล่าให้ท่านฟังว่า
ก่อนบวชคู่หมั้นได้สั่งไว้ว่า ไม่ให้มาหามาคุยกับท่านธมฺมวิตกฺโก โดยบอกว่าท่านธมฺมวิตกฺโกบ้า บวชแล้วไม่สึก คู่หมั้นของพระรูปนั้นเกรงว่า ถ้าได้รู้จักกับท่านธมฺมวิตกฺโกแล้วจะไม่สึกตามไปด้วย จึงได้ห้ามไว้เช่นนั้น
เรื่องนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกบอกว่า คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยม ก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูดไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อย่างไรจึงบ้า อย่างไรจึงดี
ท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมานี้มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ คือการทำให้พ้นทุกข์ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่าไร้ประโยชน์ในการเกิดมา เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง
และคนที่มีความประสงค์จะพ้นทุกข์ และพยายามกระทำเพื่อให้พ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจก็ว่าบ้า เหมือนอย่างที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บอกว่า “เมื่อขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี เมื่อขรัวโตดีก็ว่า ขรัวโตบ้า”
อสุภะ
ในกุฏิของท่านธมฺมวิตกฺโก นอกจากจะมีหีบศพแล้ว ยังมีโครงกระดูกแขวนอยู่ เป็นโครงกระดูกเต็มตัว ร้อยไว้อย่างดี ท่านเคยชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นโครงกระดูกผู้หญิง ท่านว่าเป็นคุณหญิงของท่าน
ท่านชมว่าดีแท้ ๆ ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย ไม่เคยบ่น ไม่เคยทำให้กลุ้มใจ มีแต่ให้ประโยชน์ให้สติ ให้รู้ว่า จะต้องตายเช่นนั้น วันหนึ่งก็จะเหลือแต่โครงกระดูกเช่นนี้ ได้พิจารณาทุกวัน
แล้วท่านก็บอกว่าเมื่อมีเนื้อหนังหุ้มโครงกระดูก ก็นิยมกันว่า สวย รักกันอยู่ด้วยกันด้วยความหลงแท้ ๆ หลงว่าจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ตลอด ไปไม่ได้มองลึกลงไป
ไม่ได้เห็นแก่นแท้ว่ามีแต่กระดูก ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด ทำไม่จึงยังหลงมัวเมากันอยู่ได้ แล้วท่านก็จะสรุปว่า “บ่อน้อย เท่ารอยโค หรือจะโผข้ามพ้น เป็นมหาบาเรียนยังเวียนไปหากัน”
กรรมดี
ใครก็ตามที่เคยพบท่านจะต้องเคยได้ยินท่านให้พรว่า “จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ” ซึ่งก็มีที่มาจากอุทานธรรมเช่นกันโดย มีบทเต็มว่า
รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว
จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี
จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดี
จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย
คำให้พรของท่านที่ว่า จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีนั้น แต่บางคนเกิดมาไม่มีโอกาสจะทำกรรมดีเลย เพราะไปเกิดในประเทศที่ไม่สมควร ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร
ท่านบอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สุดแต่บุพกรรม แต่โดยปกติแล้ว คนใจแข็งต้องเว้นจากกรรมชั่ว เลือกทำแต่กรรมดีได้
และท่านได้กรุณาบอกถึงลักษณะของคนใจแข็งว่า จะต้องประกอบด้วย
1. ไม่บ่น
2. ไม่ร้องทุกข์
3. ไม่อยากรู้ความลับของใคร
4. ไม่บอกความลับของตนแก่ใคร
5. ไม่สนใจว่าใครจะเห็นเป็นอย่างไร
6. ไม่กลัวความทุกข์ยาก
7. รู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในชีวิต
ดอกมะลิ
ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุด และขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย
ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุด เช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง 2-3 วัน ก็จะเหี่ยวเฉา
ฉะนั้นขอให้ทำตัวให้ดีที่สุด เมื่อยังชีวิตอยู่ ให้หอมที่สุด เหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบานฉะนั้น
“จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ”
ทำดี ดีกว่าขอพร
“จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ”
เตือนให้เตรียมตัวไว้ดำเนินชีวิตต่อไป เป็นคำแทนคำอวยพรอย่างสูงสุด ประกอบด้วยเหตุผล
เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรอย่างไรก็ดีไม่ได้
ทำชั่วเหมือนโยนหินลงน้ำ หินจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใด ๆ จะมาเสกจะมาเสกเป่า อวยพร อ้อนวอนขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วจะต้องล่มจม ป่นปี้ เสียราศี เกียรติคุณชื่อเสียงเหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ
ทำดีเหมือนน้ำมันเบา เมื่อ เทลงน้ำย่อมลอยเป็นประกายมัน ปลาบอยู่เหนือน้ำ
ทำกรรมดีย่อมมีสง่าราศี มีเกียรติดุณชื่อเสียงมีแต่คนเคารพนับถือยกย่องบูชาเฟื่องฟุ้ง ฟูลอย เหมือนน้ำมันลอย
ถึงจะมีศัตรูหมู่ร้ายจงใจ เกลียดชังมุ่งร้าย อิจฉาริษยาแช่ง ด่าให้จมก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ กลับจะแพ้เป็นภัยแก่ตัวเอง
ขอให้จงตั้งใจกล้าหาญพยายามทำแต่กรรมดี ๆ โดยไม่มีความเกรงกลัวหวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้ที่มีความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ผู้ที่มีโชคดี ผู้ที่มีความสุข และผู้ที่มีความเจริญ ประสงค์ใดสำเร็จสมประสงค์ ก็คือผู้ที่ประกอบกรรม ทำแต่ความดีอย่างเดียวนั่นเอง
ในวันวิสาขบชาวันหนึ่ง หลังจากเวียนเทียนเสร็จ ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเข้าไปกราบท่านธมฺมวิตกฺโก ขณะที่ท่านเดินอยู่
ท่านได้หยุดและถามว่า มีเรื่องอะไรหรือ หนุ่มสาวคู่นั้นได้เรียนท่านว่า มาขอพรขอให้เกิดมาพบกันอีก
ท่านได้ตอบว่า “มีแต่เขาไม่อยากจะมาเกิด นี่ทำไม่อยากมา เกิดอีก อย่างอาตมาถ้าใครแช่ง ให้ไม่รู้จักผุดจักเกิด อาตมาก็จะขอบใจ เอาละเมื่อมาขอพรก็จะ ให้ แต่จะบอกว่า คนเราไม่ได้อะไรง่าย ๆ ด้วยการร้องขอ อยากได้อะไรต้องทำถึงจะได้”
เรื่องการขอพรนี้ มีคนไปขอพรท่านมาก ใครอยากได้อะไร ก็ไปขอ จนท่านได้เขียนโอวาท เป็นข้อสุดท้าย ลงในหนังสือ สันติวรบทของท่านว่า ทำดี ดีกว่าขอพร ท่านบอกว่าพรเป็นเพียงกำลังใจให้คนประพฤติปฏิบัติเท่านั้น
และพระพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่ศาสนาของการสวดอ้อนวอนร้องขออะไร พระบรมศาสดาสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า “ทำดี ดีกว่าขอพร”
สบายใจ
คำว่า “ไม่สบายใจ” อย่าใช้ และอย่าให้มีขึ้นในใจต่อไป ก่อน มันจะเกิดต้องปล่อยให้มันผ่านไป อย่ารับเอาความไม่สบายใจไว้
ถ้าเผลอไปมันแอบเข้ามาอยู่ในใจได้ พอมีสติรู้สึกตัวว่าความ ไม่สบายใจเข้ามาแอบอยู่ในใจ ต้องขับมันออกไปทันที อย่าเลี้ยงเอาความไม่สบายใจไว้ไนใจ มันจะเคยตัว ทีหลังจะเป็นคนอ่อนแอ ออดแอด ทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่สบายใจเคยตัว
เพราะความไม่สบายใจนี้ แหละเป็นศัตรู เป็นมาร ทำให้ใจ ไม่สงบ ประสาทสมองไม่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายผิดปกติ พลอย ไม่สงบไม่สบายไปด้วย ทำให้สมองทึบ ไม่ปลอดโปร่ง
พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส
เป็นความเคยชินที่ไม่ดี เป็น อุปสรรคกีดกันขัดขวางสติปัญญา ไม่ให้ปลอดโปร่งแจ่มใส ต้องฝึกหัดแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ทั้งก่อนที่จะทำอะไร หรือกำลังกระทำอยู่
และเมื่อเวลากระทำเสร็จแล้ว ต้องหัดให้จิตใจแช่มชื่นรื่นเริง เกิดปีติปราโมทย์เป็นสุขสบายอยู่เสมอ สมองจึงจะเบิกบาน จะศึกษาเล่าเรียนก็เข้าใจ จำได้ง่ายเหมือนดอกไม้ที่แย้ม เบิกบานต้องรับหยาดน้ำค้างและอากาศบริสุทธิ์ฉะนั้น
ตายไม่กลัว
เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทร์ก็อพยพ
แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้ไปไหนเลย ท่านที่อยู่กุฏิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้
ตึกแม้นนฤมิตก่อนถูกระเบิด
ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่า ทางด้านหลังวัด ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวง ได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด และอาบน้ำใน สระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้ว สร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม
ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง โดยเห็นว่าเป็นวัด ไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้
วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่า จะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลา ให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่า ท่านไม่ยอมหลบ แต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ
เวลาประมาณหลังเที่ยงวัน มีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดู เห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบและที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา
ปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์ ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
สภาพตึกแม้นนฤมิตหลังถูกระเบิด
ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟพังพินาศ ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป
ท่านบอกว่า พระเชียงแสน และพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั่นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก ท่านผู้อ่านที่นับถืออาจจะคิดว่าที่ลูกระเบิดด้านไปเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านธมฺมวิตกฺโก
สำหรับท่านเอง ท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่า ความตายคือมิตรที่ดีที่สุดนำความสงบมาให้ และเป็นมิตรที่ซื่อตรง จะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมั่งมี ยากจน ดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น นอกจากนี้ การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย
ท่านธมฺมวิตกฺโกอยู่ในวัดเทพศิรินทร์ตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อต่อเอามาให้ แล้วใช้จีวรคลุมหีบศพต่างมุ้ง
ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพ ก็ไม่ลำบาก
เพ่งวงกลม
ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็น ฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไป
โดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่ง จนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต
และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้ มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้
การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ
ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่า ท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่าน โดยเอากะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัว ข้างที่นอนของท่าน
เมื่อเตรียมการเสร็จแล้ว ก็รวบรวมอำนาจจิตนั่งสมาธิ อยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน
เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิต ปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิสดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง
แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไป แล้วท่านได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น
หน่ายกาม
เช่นเดียวกับท่านมหากัสสปเถระในสมัยพุทธกาล ธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ อยู่ข้างจะหายาก เพราะท่านถนัดในการเทศน์ให้ดู มากกว่าเทศน์ให้ฟัง
ตลอดชีวิตแห่งการเป็นภิกษุของท่าน จึงอุทิศให้กับการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มากกว่าที่จะสนใจในการเป็นพระธรรมกถึก
อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ใคร่จะทราบถึงคำสอนของท่านบ้างพอสมควร จะขอนำโอวาทบางตอนของท่านมาลงไว้พอเป็นตัวอย่างบ้าง
โอวาทเหล่านี้จะเห็นได้ว่า สำนวนฟังง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ แต่มีข้อความลึกซึ้ง เพราะท่านได้จากประสบการณ์
อย่างที่เรียกว่า “สันทิฎฐิ โก” คือเห็นและรู้ด้วยตนเอง อย่างแท้จริง ไม่ได้ลอกมาจากตำรา เหมือนนกแก้ว
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างโอวาท ในเรื่องการหน่ายกาม
กามฉันทะหรือกามตัณหา เกิดจากความไม่ฉลาด หลงคิด เห็นอารมณ์ต่าง ๆ เป็นที่ถูกใจ และน่ายินดี กามฉันทะนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถข่มไว้ได้ด้วยวิธี ทั้ง 6 ดังต่อไปนี้
1. เพ่งใจให้เห็นอสุภารมณ์ คืออารมณ์ที่ปฏิกูลน่าเกลียดไม่ งามของสังขารร่างกาย จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความใคร่ หายความกำหนัดยินดี
2. เพ่งพินิจพิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย แยกออกเป็น อาการ 32 ที่เรียกว่า กายคตาสติภาวนา มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น
3. ใช้สติสำรวมอินทรีย์ เฝ้าระวังทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อได้ประ สบพบเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่าให้ความรักใคร่กำหนัดยินดียินร้าย เกิดขึ้นภายในจิตใจ
4. ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหาร อย่าให้อิ่มจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดทางกาย และลุกลามเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความเศร้าหมองด้วยฉันทราคะ
5. ทำการวิสาสะ คบหาสมาคม สนทนาปราศรัย สนิทสนมคุ้นเคย กับกัลยาณมิตร เพื่อนผู้ดีงาม ที่จะชักชวนให้สนทนาไปในทางที่จะให้เสื่อมคลายความรักใคร่กำหนัดยินดี และยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
6. ฝึกฝนตนปฏิบิตในทางที่ถูกต้อง ตรงตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ
กามฉันทะหรือกามตัณหานี้ สลัดกำจัดตัดได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่อเข้าถึงกระแสพระอนาคามีมรรค บรรลุถึงพระอนาคามีผล
เมืองเป็นป่า
“พระเดชพระคุณครับ พระอริยบุคคลในปัจจุบันนี้ยังพอมีอยู่ บ้างไหม?” นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์เอ่ยถามท่านขึ้นมาในตอนค่ำวันหนึ่งในพระอุโบสถหลังจากท่านทำวัตรเย็นตามปกติแล้ว
“มี แต่ท่านไม่ค่อยเข้ามาอยู่ในเมือง” ท่านตอบ “ชอบอยู่ตาม ป่าตามเขากัน เพราะท่านเหล่านั้นไม่ชอบความวุ่นวาย”
จากคำตอบของท่านดัง กล่าวเป็นการยืนยันว่า แม้ในยุค ปัจจุบันนี้ที่โลกของเราเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายร้อยแปดพันประการ พระอรหันต์ พระอนาคตมี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน
ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือ ว่าเป็นพระอริยบุคคลบรรลุธรรมชั้นสูงแล้วนั้น ก็ยังมีอยู่คู่พระศาสนา ซึ่งการได้เป็นดังนี้ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย สมดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาเคยตรัส ไว้ว่า
“บุคคลใดปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดอยู่โดยชอบแล้ว โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์” แต่ท่านเหล่านั้นจะบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงดังกล่าวได้ เกือบทั้งหมดจะต้องทิ้งบ้านทิ้งเมือง หนีจากชุมนุมชน อันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เข้าอาศัยป่าอันเป็นที่สงบวิเวก เพื่อการบำเพ็ญหรือปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น
ปัญหาที่น่าคิดจึงเกิดขึ้นว่า สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโกหรือ ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ นั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านพำนักอยู่ ณ สำนักวัดเทพศิรินทราวาสใจกลางกรุง อยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์ใหญ่หลายโรง แวดล้อมไปด้วยความอึกทึกวุ่นวายนานัปการ แต่ทำไม่ท่านจึงสามารถบำเพ็ญจนสำเร็จธรรมขั้นสูงได้
คำตอบที่ได้มาก็คือ ท่านทำ “เมือง” ให้เป็น “ป่า” สำหรับตัว ท่านนั่นเอง
โดยการ “ตัดโลก” ท่านออกมาจากสังคม ไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับสังคมภายนอกอย่างเด็ดขาด ถึงขนาดโยมบิดามารดาถึงแก่กรรม ก็ยังไม่ไปเผา ได้แต่สั่งการให้น้องรับไปดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นผู้ที่มีความเคารพและกตัญญูในผู้มีพระคุณอย่างยอด
กุฏิเก่าเจ้าคุณนรฯ รื้อไปแล้ว
กุฏิใหม่สร้างในที่เดิม
ท่านไม่ยอมออกจากวัดไปไหนเลย เป็นเวลานานติดต่อกัน ร่วม 40 ปีเต็ม ๆ ท่านไม่เคยไปกุฏิใคร และโดยปกติก็ไม่เคยให้ใครเข้าไปในกุฏิท่าน หากจะออกจากกุฏิก็ตรงมาโบสถ์เลยทีเดียว เพื่อทำวัตรเช้าเย็นวันละสองเวลาเท่านั้น เสร็จธุระแล้วก็กลับ
แม้ในสมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) พระอุปัชฌาย์ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เคยไปที่กุฏิสมเด็จเลย สมเด็จฯ จะพบท่านได้ก็เฉพาะแต่ที่พระอุโบสถเท่านั้น เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ๆ ท่านอยู่ของท่านแต่ลำพังโดยโดดเดี่ยวเอกา
ไฟฟ้าเครื่องให้แสงสว่าง และอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ อย่างที่ เขานิยมใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปนั้น ท่านก็ไม่มีใช้กับเขาเลย แปลว่า ท่านอยู่ของท่านอย่างเหมือนกับอยู่ในป่าดงตามลำพังจริง ๆ
ใครมีธุระไปพบท่านก็ไป พบได้แต่เวลาที่ท่านลงโบสถ์ ภายในโบสถ์เท่านั้น ไม่ว่าคน สามัญหรือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านเคยกล่าวว่า
“คนทั้งหลายที่มาพบนี่ เมื่ออาตมากลับกุฏิแล้ว อาตมาทิ้งหมด ไม่ได้นึกถึงเลย ผีทั้งนั้น”
โดยปฏิปทาของท่านดังนี้เอง จึงทำให้ท่านสามารถทำเพ็ญ เพียรจนบรรลุธรรมขั้นสูงได้
ในระยะแรก ๆ นั้น ท่าน เกือบจะไม่รับแขกเลย ทั้งนี้สันนิษฐานว่าท่านกำลังเพ่งเพียร ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่อย่างขะมักเขม้น จึงไม่ยอมรับแขกมาก แม้เฉพาะแต่ในพระอุโบสถ ดังได้กล่าวมาแล้วก็ตาม
ต่อมาในระยะหลัง ๆ ก่อน ท่านสิ้นไม่กี่ปีจึงได้ยอมให้แขก เข้าพบได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นด้วยท่านได้ความรู้มาก ผ่านประสบการณ์มาก สำเร็จธรรมขั้นสูง มีความมั่นใจได้แล้ว จึงได้ให้โอกาสเพื่อโปรดสัตว์โลกบ้างตามสมควร
เจโตปริยญาณ
เมื่อพูดถึง “เจโตปริยญาณ” คือการหยั่งรู้วาระจิตของบุคคล อื่น การทางใจบุคคลอื่นก็ได้ รู้ถึงความปรารถนาและอัธยาศัยของบุคคลอื่น ซึ่งบางท่านกล่าว ว่าเป็นความหยั่งรู้เบื้องต้นของการได้ทิพจักษุในขั้นต่อไปนั้น
ผู้ที่เคยเข้าพบปะสนทนากับ ท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นอันมาก ทั้ง ฆราวาสและบรรพชิตยอมรับกันว่า ท่านมีเจโตปริยญาณเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง
นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ เล่าว่าได้ทดสอบในเรื่องนี้มาแล้ว กว่า 10 ครั้ง อยากรู้เรื่องอะไร อยากให้ท่านสอนในเรื่องอะไร ท่านก็สอนตามนั้นหมดโดยไม่พัก ต้องเอ่ยปากถาม มีความทุกข์ร้อนขัดข้องสิ่งใดอยู่ในใจท่านรู้หมด พูดออกมาตรงกับที่เรากำลังครุ่นคิดอยู่ได้ถูกต้องอย่างน่าแปลกประหลาด
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คราวหนึ่งนายแพทย์สุพจน์ กำลังนั่งนึกครุ่นคิดอยู่ในใจต่อหน้าท่านในพระอุโบสถว่า ท่านอยู่ของท่านได้อย่างไรหนอ วัน หนึ่ง ๆ เอาแต่ปิดประตูเงียบอยู่แต่ลำพังรูปเดียวในกุฏิ ทันใดนั้นเอง ท่านก็พูดออกมาว่า
“อาตมานี้ กิจวัตรประจำวัน ก็คือเดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป”
พ.อ.จิตต์ ธนะโชติ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอด ได้หาโอกาสเข้าพบท่านธมฺมวิตกฺโก เพื่อให้ท่านช่วยรักษาให้เมื่อปลายปี 2513 ได้บันทึกเรื่องราวไว้น่าฟังหลายตอน เช่น ตอนหนึ่งมีว่า
“ข้าพเจ้าได้พบท่านเจ้าคุณนรฯ หลังจากนั้นรวม 4 ครั้ง แล้ว ท่านก็ได้กรุณากรอกน้ำมนต์ให้ทุกครั้ง และก็คุยกันถึงเรื่องต่างๆ
ซึ่งในบางครั้งเมื่อเก็บมาคิดแล้ว ข้าพเจ้าอดสะดุ้งใจไม่ได้ว่า ท่านทำไม่จึงล่วงรู้จิตใจและเรื่องต่าง ๆ ทั้งของข้าพเจ้าและเรื่องในพุทธกาลได้ดีเช่นนั้น
และเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าท่านหาใช่เป็นพระภิกษุธรรมดาไม่ ท่านต้องเป็นอริยสงฆ์และถึงขั้นอรหันต์ทีเดียว
จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนั้นมีเจโตปริยญาณ สามารถหยั่งรู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดียิ่ง
ผิดหน้าที่
ในเรื่องอริยสัจสี่นั้น ทุกข์ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัย เป็นธรรมที่ควรละ นิโรธ เป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง และ มรรค เป็นธรรมที่ควรทำให้มาก
ฉะนั้นในเรื่องการปฏิบัติ ธรรมในอริยสัจสี่นั้น จึงไม่เหมือนกันดังหน้าที่แต่ละอย่างดัง กล่าว มา
เมื่อปี 2510 มีภิกษุบวชใหม่ที่วัดเทพศิรินทร์ในพรรษานั้นเกิดเรื่องกลุ้มใจด้วยเหตุบางประการ แม้จะฝึกมากแล้ว ก็จำวัดไม่ได้จึงเดินไปตามบริเวณวัด จนกระทั่งผ่านกุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก ขณะนั้นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่พอดี
เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกเห็นเข้า จึงถามว่า “คุณจะไปไหนยังไม่ นอนอีกหรือ” พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบว่า“ ผมกลุ้มใจครับ นอนไม่หลับ” ท่านได้ถามต่อไปว่า แล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่ พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า ยังคิดเรื่องที่กลุ้มใจอยู่
ท่านธมฺมวิตกฺโกได้พูดขึ้นว่า “คุณปฏิบัติธรรมผิดหน้าที่ คุณทำไม่ถูก” พระภิกษุรูปนั้นนิ่งคิดสักครู่ แล้วตอบว่า “ขอบคุณครับ” แล้วเดินกลับกุฏิมานอน หลับทันที
จากคำพูดของท่านธมฺมวิตกฺโกที่พูดว่า “คุณปฏิบัติธรรมผิดหน้าที่” นี้จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นอัจฉริยะอย่างยิ่งในการสอนผู้อื่น
โดยคำพูดเพียงประโยค เดียวที่แทงทะลุไปในจิตใจของผู้ฟัง และผู้ฟังก็เข้าใจแจ่มแจ้งรู้สึกตัวทันที
ในเมื่อสมุทัย คือเหตุแห่ง ทุกข์เป็นธรรมที่ควรละ แต่พระ ภิกษุรูปนั้นกลับครุ่นคิดถึงความทุกข์นั้น ไม่ยอมละจากความคิดนั้น เท่ากับเป็นการทำให้มาก ความทุกข์จะหมดสิ้นไปได้อย่างไร
การปฏิบัติให้มากควรจะ เป็นมรรคหรือทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา ไม่ใช่ทุกขสมุทัย
นับว่าท่านธมฺมวิตกฺโก สั่งสอนธรรมะโดยรู้อุปนิสัยและความคิดของแต่ละบุคคล นับเป็นอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์ทางเทศนาโดยแท้
กระแสจิต
คราวหนึ่งนายประวิทย์ รุ่งวิทยาธิวัฒน์ ซึ่งเรียนจบคณะรัฐศาสตร์มาแล้ว และขณะกำลังทำปริญญาโทอยู่ ได้ฟังข่าวเล่าลือต่าง ๆ นานา ในการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ของท่านธมฺมวิตกฺโก
ก็อยากจะทราบว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อาศัยที่เคยฝึกหัดนั่งสมาธิบ้าง จึงลองนั่งดูโดย “ทางใน” เมื่อเห็นแล้ว ทราบแล้ว ก็บังเกิดความปรารถนาจะได้พบท่าน
ราวบ่าย 2 โมง (14 นาฬิกา) ของวันหนึ่ง เขาจึงตรงไปยังวัดเทพศิรินทร์ตามหากุฏิท่านธมฺมวิตกฺโก แล้วก็ไปยืนเตร่ เมียง ๆ มอง ๆ อยู่แถวบริเวณ ข้าง ๆ กุฏิท่านนั้น เป็นเวลานานพอดู
พระที่อยู่บริเวณกุฏิใกล้เคียงกันนั้น อดสงสัยไม่ได้ จึงถามเขาไปว่า
“คุณจะมาหาใครไม่ทราบ
“ผมจะมาหาท่านเจ้าคุณนรฯ ครับ” เขาตอบ
“คุณมาตอนท่านลงโบสถ์ซิ” พระรูปนั้นท่านชี้แจง “ตอนนี้ ท่านไม่รับแขก”
แต่เขาก็ยังไม่ยอมกลับอยู่นั่นเอง คงเฝ้ายืนอยู่ตรงนั้นต่อไป
แล้วเขาก็ถือโอกาสไปนั่งตรงบริเวณฮวงซุ้ยที่อยู่ข้างกุฏิท่าน แล้วก็ทำสมาธิส่งกระแสจิตระลึกถึงท่าน
พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหากพระอรหันต์ในโลกปัจจุบันยังมีอยู่จริงแล้วไซร้ ก็ขอให้ท่านได้หยั่งรู้จิตใจของเขา และ อนุญาตให้เขาเข้าพบท่านได้
สักครู่ผ่านไป โดยไม่คาดฝัน ท่านก็โผล่หน้าต่างออกมายิ้ม แล้วท่านก็ถามเขาว่า
“คุณมาหาใคร”
“มากราบพระเดชพระคุณ” เขาตอบ
“มีเรื่องอะไรรึ?” ท่านถาม
“ไม่มีเรื่องอะไรหรอกครับ ตั้งใจจะมากราบเท่านั้น”
พอเขาตอบท่านเสร็จ ท่านก็ลงมาที่กฏิชั้นล่าง เปิดประตูหลัง แล้วเรียกให้เข้าไปนั่งคุยกับท่านในกุฏิ ซึ่งไม่เห็นมีอะไรนอกจากโครงกระดูกแขวนต่องแต่ง และโลงตั้งอยู่
เมื่อเข้าไปแล้ว เขาได้เอาภาพถ่ายอธิษฐานขนาดเล็กของท่าน ที่ได้มาจากพระครูปัญญาภรณโสภณ (พระมหาอำพัน บุญ-หลง) ถวายให้ท่านดู พอท่านดูเสร็จแล้ว ท่านก็ส่งคืนพร้อมกับกล่าวว่า
“เอาเก็บไว้เถอะ”
การที่ท่านกล่าวดังนี้ เป็นการอนุญาตให้เก็บไว้ใช้ติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล คุ้มครองป้องกันอันตรายได้
“กระแสจิตของคนเรานี่มันถึงกันได้นะ”
อีกครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ได้ลงข่าวว่า ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้ส่งกระแสจิตไปรักษาฝรั่งคนหนึ่งที่ต่างประเทศ จนฝรั่งคนนั้นหายจากโรคปวดหัว แล้วจึงเดินทางมาตามท่านจนพบ
ผมได้เรียนถามถึงเรื่องนี้ว่า จริงเพียงไร ท่านบอกว่าฝรั่งคน นั้นได้มาหาท่านจริง ส่วนเรื่องที่ท่านจะรักษาเขาจริงหรือไม่ ท่านไม่ทราบ แต่เขามาเล่าอย่างนั้น
ท่านได้บอกว่ากระแสจิตที่ส่งไปเหมือนเครื่องส่งวิทยุ เมื่อ เครื่องส่งได้ส่งออกไปแล้ว เครื่องส่งก็ไม่ทราบว่ามีเครื่องรับอยู่ที่ใดบ้าง
ส่วนท่านธมฺมวิตกฺโกนั้น ท่านนั่งแผ่เมตตาอยู่ทกคืนเป็น ประจำ และเท่าที่ท่านได้สอบถาม ปรากฏว่าฝรั่งคนนั้นเป็นฝรั่งที่สนใจเรื่องอำนาจจิต และได้ฝึกฝนตนมาทางนี้นานแล้ว
เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ๆ มาเป็นอันมากแล้ว เป็นต้นว่า พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ ซึ่งเคยเฝ้าเพียรพยายามที่จะพบท่านอยู่หลายครั้ง
ทันทีที่ได้พบท่านครั้งแรก เมื่อท่านโผล่หน้าต่างกุฏิชั้นบนออกมานั้น ท่านก็ร้องทักเรียกชื่อได้ถูกต้อง รวมทั้งท่านทราบด้วยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ “แว่นส่องจักรวาล” ท่านยังได้ให้คำแนะนำชี้แจงเกี่ยวกับความผิดพลาดในหนังสือนั้นอีกด้วย
ทำให้ พ.ต.อ.ชลอถึงกับพิศวงงงวย และบังเกิดความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าท่านธมฺมวิตกฺโกนี้จะต้องสำเร็จเป็นอรหันต์แน่ ๆ ท่านจึงหยั่งรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ทั่วไปหมด
เคยมีคนไปเล่าให้ท่านฟัง ว่ามีคนเจ็บในโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ นี้เอง เห็นท่านไปเยี่ยมเขาจนถึงเตียงคนไข้ ท่านฟังแล้วก็ยิ้ม ๆ พร้อมกับกล่าวว่า
ก“ระแสจิตนี้เปรียบเหมือนคลื่นวิทยุ ใครรับได้ก็อาจเห็นอาตมาได้
ท่านเคยพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า ท่านได้แผ่เมตตาส่งกระแสจิต ออกไปอยู่เป็นประจำ ใครที่สามารถมี “เครื่องรับ” ตรงกัน ก็อาจเห็นท่านได้
เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมีผู้เคยพบเห็นท่านถึงในสหรัฐอเมริกา ในสมรภูมิเวียดนาม เป็นที่โจษขานกันอยู่ทั่วไป
โฆษณา